นับตั้งแต่บริษัทไอบีเอ็มเริ่มผลิตคอมพิวเตอร์เพื่อการพาณิชย์เป็นครั้งแรกในปี
ค.ศ. 1953 การพัฒนาตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ก็ดำเนินสืบต่อมาเป็นลำดับ ทำให้คอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
มีขนาดเล็กลง และราคาถูกลงไปเรื่อย ๆ คอมพิวเตอร์สามารถเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของงานได้
แม้กระทั่งงานด้านศิลปะ อย่างเช่นจิตรกรรม การประพันธ์เพลง และการออกแบบ
คอมพิวเตอร์ยังสามารถช่วยคนพิการให้ใช้ชีวิตอย่างปกติสุข และเกิดดอกออกผลมากขึ้น
ในขณะที่วิทยาการและความก้าวหน้าแทบจะทุกแขนง ก็จำเป็นต้องอาศัยคอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์ได้ซึมแทรกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างไม่มีทางปฏิเสธได้
คอมพิวเตอร์ใช้งานได้หลากหลายแขนงด้วยคำสั่งที่ต้องเขียนขึ้นมาสำหรับ "สั่ง"
ให้เครื่องทำงานแต่ละอย่าง คำสั่งเหล่านี้ รวมเรียกว่า ซอฟต์แวร์ (SOFTWARE)
โดยที่ตัวเครื่องคอมพิวเตอร์ คือฮาร์ดแวร์ (HARDWARE)
ถ้าหากจะเปรียบฮาร์ดแวร์เป็นหัวใจ ซอฟต์แวร์ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นมันสมอง
ในระยะแรก ๆ ของยุคคอมพิวเตอร์ ธุรกิจการค้าฮาร์ดแวร์สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างเป็นล่ำเป็นสัน
มีการติดตามความเคลื่อนไหวของคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ กันอย่างคึกคัก ทว่าตลอดระยะเวลาหลายปีมานี้
นอกเหนือจากชิปในคอมพิวเตอร์ที่ชื่อว่า เพนเทียม (PENTIUM) ฝีมือการผลิตของบริษัทอินเทล
(INTEL) อันทำให้คอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นด้วยขนาดที่เล็กลงแล้ว
แทบจะหาสิ่งใหม่ ๆ ที่จะเป็นข่าวใหญ่ถึงขนาดที่จะขึ้นมาแข่งกับซอฟต์แวร์ไม่ได้เลย
นอกจากนี้ ผลกำไรเมื่อเทียบกับยอดขายหรือรายได้ของบริษัทผลิตซอฟต์แวร์
ยังสูงกว่าฮาร์ดแวร์อย่างมากด้วย
ทว่าสิ่งสำคัญสำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ คือประโยชน์ใช้สอยในทางปฏิบัติที่เห็นได้ชัดทันทีซึ่งจะเห็นได้จากซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่หาซื้อมาใช้สั่งงานคอมพิวเตอร์
ความสะดวกคล่องตัวในการใช้ฮาร์ดแวร์ขึ้นอยู่กับซอฟต์แวร์เป็นหลักใหญ่
บริษัทซอฟต์แวร์ที่คิด-เขียนโปรแกรมสำหรับใช้สั่งงานคอมพิวเตอร์ มีอยู่นับพันแห่ง
และบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา และในโลกขณะนี้
คือบริษัทไมโครซอฟท์ อันมีวิลเลียม เอช. เกตส์ ที่ 3 เป็นผู้บริหาร
บริษัทไมโครซอฟท์ครองตลาดซอฟต์แวร์ทั้งของสหรัฐและของโลก โดยเฉพาะซอฟต์แวร์ที่เป็นระบบปฏิบัติงาน
หรือซอฟต์แวร์ปฐมภูมิซึ่งเปรียบได้กับระบบประสาทส่วนกลางหรือสมองส่วนกลางของคอมพิวเตอร์
ไมโครซอฟท์ครองตลาดสหรัฐไว้ได้เกือบ 77 เปอร์เซ็นต์ และครองตลาดโลกอยู่กว่า
90 เปอร์เซ็นต์ ส่วนซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่ใช้ต่อเนื่องสำหรับงานเฉพาะอย่าง
ไมโครซอฟท์ก็ครองตลาดโลกไว้ได้เกือบ 1 ใน 4 ซึ่งมากเกินกว่าที่บริษัทใดจะตามทัน
ไมโครซอฟท์กลายเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ซึ่งมีฐานะและอิทธิพลสูงเทียบเท่ากับหรือยิ่งกว่าบริษัทฮาร์ดแวร์อย่างไอบีเอ็ม,
แอ็ปเปิล หรือยูนิกซ์ไปเสียอีก
ในขณะที่เป็นผู้นำด้านซอฟต์แวร์อยู่เช่นนี้ ไมโครซอฟท์ก็กำลังขยับขยาย
มองช่องทางและตลาดในมุมที่กว้างขวางออกไป นับตั้งแต่ต้นปีนี้ไมโครซอฟท์ดำเนินการก้าวใหญ่
ๆ ในการบุกเข้าไปสู่โลกเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ความบันเทิงและการตลาด
อย่างรวดเร็วและหนักหน่วง การตกลงร่วมหุ้นกับบริษัทใหญ่ ๆ ในทิศทางนี้ทั้งภายในและภายนอกประเทศ
สร้างความตื่นเต้นและระวังระไวแก่วงการธุรกิจโดยทั่วไป โดยเฉพาะโครงการดาวเทียม
840 ดวง มูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์ที่มีนัยทางการเมืองอย่างสูง ทำให้โลกต้องหันมาคอยจับตามองว่า
ไมโครซอฟท์กำลังต้องการทำอะไรกันแน่
ไมโครซอฟท์
บริษัทไมโครซอฟท์ มีชื่อเล่นเรียกกันว่า บิ๊กกรีน (BIG GREEN) เพื่อให้เข้าคู่กับบริษัทไอบีเอ็ม
ซึ่งมีชื่อว่า บิ๊ก บลู (BIG BLUE) ชื่อบิ๊ก กรีน ได้มาจากที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทไมโครซอฟท์ในเรดมอนด์
วอชิงตัน ซึ่งอยู่กลางดงไม้เอฟเวอร์กรีนที่เขียวชะอุ่มตลอดปี
บิ๊กกรีนมีอัตราการเติบโตรวดเร็วมาก แม้ว่าจะพยายามเน้นเรื่องการจำกัดพนักงานให้น้อยเข้าไว้เพื่อความคล่องตัว
ปัจจุบันนี้ บิ๊กกรีนมีพนักงานนานาเชื้อชาติในสำนักงานที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วโลก
รวมแล้วประมาณ 14,500 คน (เทียบกับเมื่อปี ค.ศ. 1984 ซึ่งบริษัทไมโครซอฟท์มีพนักงาน
500 คน) รายได้ของบริษัทในช่วง 6 เดือนหลัง นับถึงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
2,100 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากช่วงระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น 20.1 เปร์เซ็นต์
โดยมีกำไรสุทธิ 528 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 18.7 เปอร์เซ็นต์ (เทียบกับปี
ค.ศ. 1984 ไมโครซอฟท์มีรายได้ทั้งปี 50 ล้านดอลลาร์)
อัตราเติบโตนี้ อยู่ในช่วงที่ชะลอลงมาบ้างแล้ว ช่วงสองปีที่ผ่านมา นับจนกระทั่งถึงต้นปีนี้
ไมโครซอฟท์มีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาราว 100 ตัว และเมื่อปีกลายนี้ ไมโครซอฟท์มีรายได้เพิ่มขึ้นเพียง
35 เปอร์เซ็นต์ ลดลงมาจากอัตราเพิ่ม 50 เปอร์เซ็นต์ของเมื่อปีก่อน สำหรับในปีการเงินซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้
มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินของบริษัทโกลด์แมน-ซาคส์ประเมินว่า รายรับจะเพิ่มขึ้นเพียง
30 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับอัตราเพิ่มของปีก่อน
รายรับของบิ๊กกรีนในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งสิ้นสุดลงเมื่อกลางปี 1993 เท่ากับ
3,529 ล้านดอลลาร์ โดยบริษัทซอฟต์แวร์ที่เป็นคู่แข่งที่ตามมาใกล้มากที่สุดคือโนเวลล์
มีรายได้ 1,044.3 ล้านดอลลาร์ มูลค่าตลาดของบริษัทไมโครซอฟท์ตอนกลางปี 1993
เท่ากับ 24,098.3 ล้านดอลลาร์ นับเป็นอันดับที่ 2 ในหมู่บริษัทประเภทไฮ-เท็ค
รองจากบริษัทไอบีเอ็มซึ่งมีมูลค่าตลาด 26,795.8 ล้านดอลลาร์ (อันดับ 3 คือบริษัทฮิวเลตต์-แพ็คการ์ด
19,043.1 ล้านดอลลาร์
บริษัทไมโครซอฟท์ได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารฟอร์จูนว่าเป็น 1 ใน 10 ของบริษัทที่ได้รับความนิยมยกย่องสูงที่สุด
(พิจารณาจากคุณภาพในการบริหาร คุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือบริการความคิดสร้างสรรค์
มูลค่าในแง่ของการลงทุนระยะยาว ความมั่นคงทางด้านการเงิน ความสามารถในการดึงคนที่มีความสามารถมาทำงานอยู่ในบริษัท
ความรับผิดชอบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ของบริษัท)
และเป็นอันดับ 1 ในเรื่องการดึงคนที่มีความสามารถให้ทำงานอยู่ในบริษัทและพัฒนาบุคลากร
กุญแจสำคัญของบิ๊กกรีนในขณะนี้ น่าจะเป็นหน่วยงานที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อ
3 ปีก่อน คือแอ็ดวานซ์ เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ เอทีจี (ADVANCED TECHNOLOGY
GROUP หรือ ATG) ซึ่งเป็นแล็บสำหรับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์มีลูกจ้างทำงานอยู่
500 คน และได้งบประมาณจากบริษัทปีละ 100 ล้านดอลลาร์ เอทีจีมีการแบ่งงานออกเป็นกลุ่มต่าง
ๆ อีกหลายกลุ่มโดยที่แต่ละกลุ่ม มีงานที่ต้องวิจัยและพัฒนาแตกต่างกันออกไป
บิลลี่ เกตส์
หัวเรือใหญ่ของบริษัทไมโครซอฟท์ คือบบุคลที่เป็นข่าวเกรียวกราวอยู่ในหนังสือพิมพ์
และนิตยสารแนวธุรกิจเรื่อยมาเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปีแล้ว วิลเลี่ยม เอช.
เกตส์ ที่ 3 หรือบิลลี่ เกตส์ ตามชื่อที่หนังสือพิมพ์ชอบใช้กัน หรือบิลจี
(BILLG) ตามชื่อที่ใช้ในการติดต่อทางไปรษณีย์อีเล็กทรอนิคส์ (E-MAIL) ผ่านคอมพิวเตอร์
คือภาพลักษณ์ของบริษัทไมโครซอฟท์ที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนแทบจะใช้สลับกันได้โดยไม่เกิดความสับสน
นโยบายของไมโครซอฟท์คือเป้าหมายของบิลลี่ เกตส์ และในเมื่อไมโครซอฟท์เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุด
ไม่ว่าบิล เกตส์จะพูดอะไร คำพูดนั้นจะกลายเป็นข่าวที่ถูกนำมาคัดอ้างเสมอ
ทว่าเรื่องส่วนตัวของบิลลี่ เกตส์ ไม่เป็นข่าวหรืออีกนัยหนึ่ง ไม่มีข่าว
บิลลี่ เกตส์ไม่ชอบพูดถึงตัวเอง อันที่จริงแล้ว ชีวิตส่วนตัวของผู้นำในโลกธุรกิจก็มิใช่เป้าที่นักข่าวหรือนักธุรกิจจะให้ความสำคัญหรือให้ความเอาใจใส่กันนัก
แต่บิลลี่ เกตส์เป็นกรณียกเว้น เขามิใช่นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างเดียวหากเป็น
"คนดัง" ด้วย
วิลเลี่ยม เกตส์ สูง 5 ฟุต 9 นิ้ว เกิดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ค.ศ. 1955
ที่ซีแอ็ทเทิล รัฐวอชิงตัน พ่อของเขา คือ วิลเลียม เอช. เกตส์ ที่ 2 เป็นนักกฎหมายที่มีชื่อเสียง
แม่ชื่อแมรี่ ทำงานในระดับผู้นำผู้บริหารของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน รวมทั้งเป็นกรรมการในองค์การสาธารณชนใหญ่
ๆ อีกหลายแห่งภายในรัฐในลักษณะของอาสาสมัคร บิลลี่ เกตส์ อยู่ในแวดวงของบุคคลระดับหัวกะทิผู้มีอิทธิพลทั้งในด้านการเมืองและด้านวิชาการมาแต่เล็กแต่น้อย
ดังนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่มีนักข่าวของนิตยสารฟอร์บมองเห็นว่า บิล เกตส์มีความเป็นนักการเมืองอยู่ในตัวนอกจากนี้
เขาเองยังพูดอยู่เนือง ๆ เรียกร้องให้คนทั่วไปเห็นความสำคัญหรือลงทุนกับการศึกษาและวิทยาศาสตร์
เกตส์เองเคยบริจาคเงินหลายล้านดอลลาร์ให้กับภาควิชาเทคโนโลยีชีวะ (อันเป็นสาขาวิชาที่ตัวเขาเองสนใจอยู่)
ของมหาวิทยาลัยวอชิงตัน
หนังสือพิมพ์และนิตยสารธุรกิจไม่ได้ให้ความสำคัญกับพื้นเพด้านการศึกษาของนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จโดยทั่วไป
ทำนองเดียวกัน ภูมิหลังด้านการเรียนของบิลลี่ เกตส์ ก็มักจะไม่มีใครเอ่ยถึงนอกจากบางครั้งบางคราว
ที่จะอ้างอิงว่าเรียนฮาร์วาร์ดไม่จบหรือลาออกเสียกลางคันเท่านั้น
ฐานะความเป็นคนที่ร่ำรวยมากที่สุดในสหรัฐในบรรดาคนวัยเดียวกันมาตลอดระยะเวลาอย่างน้อย
10 ปีเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งให้บิล เกตส์ ได้รับการกล่าวขวัญอยู่เสมอ ๆ
เช่นเดียวกับฐานะความเป็นหนุ่มโสดจนกระทั่งมีข่าวหมั้นหมายกับเมลินดา เฟรนช์
ผู้จัดการระดับกลางในบริษัทไมโครซอฟท์เมื่อเกือบ 2 ปีก่อนข่าวเมื่อปีกลายนี้ระบุว่า
เกตส์จะแต่งงานเมื่อบ้านราคา 35 ล้านดอลลาร์ในเนื้อที่ 3 เอเคอร์แล้วเสร็จ
บิลลี่ เกตส์ไม่มีมาดของคนที่มั่งคั่งที่สุดในอเมริกา ในยามที่อยู่ในที่สาธารณะ
จะไม่มีใครเห็นว่าเด่นสะดุดตาแต่อย่างใด นอกจากนี้ เกตย์ยังมิใช่นักพูดที่สามารถปลุกเร้าอารมณ์คนฟังให้คล้อยตามได้
แม้ว่าบางคราวอาจจะสามารถสะกดคนฟังได้เวลาที่เขาต้องการยืนยันถึงเรื่องเกี่ยวกับเทคนิคซึ่งเขาชอบมากจริง
ๆ ยามอยู่ในที่ทำงาน เกตส์แต่งตัวตามสบาย เหมือนกับทุก ๆ คนที่บริษัทไมโครซอฟท์ที่ซึ่งมีบรรยากาศเหมือนมหาวิทยาลัย
เกตส์เป็นนักอ่านตัวฉกาจ เขาอ่านมากและหมกมุ่นในยามที่มีโอกาสโดยไม่สนใจผู้คนที่วุ่นวายอยู่รอบตัว
เขาอ่านหนังสือพิมพ์และวารสารธุรกิจการเงินการลงทุนเพื่อตามข่าวให้ทันเกมส์เช่นเดียวกับนักธุรกิจทั่วไป
หนังสือเล่มที่มีคนเห็นเขาถือติดตัวระหว่างเดินทางบนเครื่องบินเมื่อเร็ว
ๆ นี้ คือ THE INTELLIGENT INVESTOR หนังสือการลงทุนคลาสสิคซึ่งตีพิมพ์ในปี
ค.ศ. 1946 ผู้เขียนคือศาสตราจารย์ด้านการเงิน เบนจามิน เกรแฮม หนังสือเล่มนี้นัยว่าเป็นหนังสือที่มหาเศรษฐีวอร์เรน
บัฟเฟตต์เพื่อนเกลอของเกตส์ แนะนำให้เขาหามาอ่าน
ความประหยัดมัธยัสถ์เป็นคุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของบริษัทไมโครซอฟท์และของบิลลี่
เกตส์ แม้ตัวเขาเองจะไม่ประหยัดเงินของตัวเอง (ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือรถยนต์พอร์ช
959 ราคา 380,000 ดอลลาร์กับบ้านหลังใหญ่) แต่เรื่องเงินของบริษัทแล้ว เกตส์ยังตระหนี่ถี่เหนียวเสมอ
แม้ว่ามันจะหมายถึงความไม่สะดวกสบายของตัวเองและผู้ร่วมทีมในขณะทำงานให้กับบริษัท
งานของบิลลี่ เกตส์ ในบริษัทไมโครซอฟท์นั้นได้แก่การวางยุทธศาสตร์ในระยะยาว
แนะแนวการดำเนินงานอย่างกว้าง ๆ เป็นตัวแทนของบริษัทและส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่งจะเริ่มเปิดตัว
ภาพลักษณ์สู่สายตาสาธารณชนก็จัดอยู่ภายในเครือข่ายของหน้าที่การงานของเขาภายในไมโครซอฟท์เช่นกัน
บิลล์ เกตส์ เคยรำพึงกับผู้สื่อข่าวคนหนึ่งว่าบางเวลา เขาก็นึกอิจฉาโปรแกรมเมอร์ที่มีโอกาสนั่งเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้อย่างสนุกสนาน
แต่นั่นเป็นเพียงความคิดคำนึงชั่วแล่น เพราะขณะนี้เขาเป็นตัวอย่างที่ตัวเองเป็นผู้เลือก
"ผมไม่มามัวเสียเวลานั่งเสียอกเสียใจกับอดีตมากนัก…เรื่องอะไรจะมัวมานั่งคิดว่าตัวเราคงจะเป็นหมอ,
เป็นนักเทนนิส, เป็นเพลย์บอย, เป็นนักเล่นโปกเกอร์ (ฯลฯ) ที่ดีได้…"
ผู้ร่วมงาน
การปฏิบัติงานในบริษัทไมโครซอฟท์ขึ้นชื่อลือชาว่ามีลักษณะไม่เป็นทางการอย่างมาก
ทำให้การทำงานไม่มีกำหนดเวลาตายตัว ทว่าพนักงานส่วนใหญ่ก็ทำงานนานชั่วโมงกว่าที่อื่น
ๆ กันโดยสมัครใจ นอกจากนี้บรรยากาศภายในบริษัทยังช่วยส่งเสริมการแสดงและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกันด้วยโดยเฉพาะในที่ประชุม
ที่ซึ่งพนักงานต่างระดับ ถกเถียงกันได้เหมือนเพื่อนร่วมสถาบัน
ขุนพลมือเอกภายในบริษัทไมโครซอฟท์ ซึ่งมีข่าวปรากฏตามหน้าหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่าง
ๆ ทั้งในฐานะผู้มีความสามารถเฉพาะตัวและในฐานะตัวแทนของไมโครซอฟท์ ได้แก่
เนธัน เมอร์โวลด์ กัปตันทีมคลังสมองด้านเทคโนโลยี หัวหน้าทีมวิจัยและพัฒนา
เอทีจี ของบริษัทไมโครซอฟท์ เมอร์โวลด์อายุ 34 ปี มีตำแหน่งเป็นรองประธานอาวุโส
(SENIOR VICE-PRESIDENT) ได้ปริญญามา 5 สาขา คือคณิตศาสตร์, ธรณีฟิสิคส์,
ฟิสิคส์อวกาศ เศรษฐศาสตร์คณิตศาสตร์ และได้ปริญญาเอกในสาขาฟิสิคสทฤษฎีจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน
ตอนที่ทำปริญญาโท เนธัน เมอร์โวลด์ ได้สตีเฟน ฮ็อว์คกิ้ง นักดาราฟิสิคส์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งเคมบริดจ์เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
เมอร์โวลด์เคยมีบริษัทซอฟต์แวร์ชื่อว่า ไดนามิคัล ซิสเท็มส์ รีเสิร์จ ทว่าได้ขายให้กับไมโครซอฟท์ไปในปี
1986 ตัวเมอร์โวลด์ย้ายมาทำงานให้กับไมโครซอฟท์มาตั้งแต่นั้น
ข่าวล่าสุดเกี่ยวกับเมอร์โวลด์นั้นก็คือข่าวเรื่องว่าเขาจะทำงานร่วมกกับบิลลี่
เกตส์ เขียนหนังสือเกี่ยวกับช่องทางข่าวสารและการสื่อสารที่คนทั่วไปเข้าถึงได้สะดวกและนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่าย
(เรียกกันว่า อินฟอร์เมชัน ไฮเวย์ หรือ อินโฟ-ไฮเวย์ INFORMATION HIGHWAY
หรือ INFO-HIGHWAY) คาดว่าจะเป็นหนังสือขายดีเพราะนอกจากจะเป็นหนังสือที่ประกาศถึงนโยบายของบริษัทไมโครซอฟท์แล้ว
ยังน่าจะได้คะแนนนิยมในแง่ของการมองอนาคต เพราะบิลลี่ เกตส์ ได้ชื่อว่าเป็นคนมีวิสัยทัศน์ที่แม่นยำคนหนึ่ง
วีพี (VICE PRESIDENT) ไมค์ เมเปิลส์ หัวหน้าส่วนผลิตภัณฑ์ ดูเหมือนจะเป็นผู้บริหารอายุมากที่สุด
(52 ปี) เมเปิ้ลส์ทำงานกับไอบีเอ็มมา 23 ปี เขาเป็นกำลังสำคัญของไมโครซอฟท์ที่ทำงานคลุกคลีกับผู้จัดการระดับรองลงไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการพัฒนาบุคลากร
เมเปิ้ลส์เป็นคนหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทและของเกตส์ เมื่อเดือนมีนาคม
เขาเป็นผู้แถลงข่าวโครงการอินโฟ-ไฮเวย์ของไมโครซอฟท์ในยุโรปที่กรุงบรัสเซลล์
ประเทศเบลเยี่ยม
บุคคลระดับวีพีคนอื่น ๆ ได้แก่ พีเทอร์ ฮิกกินส์รับผิดชอบเรื่องระบบซอฟต์แวร์สำหรับปรับใช้กับคอมพิวเตอร์แบบเดสค์ท็อป
จอน ลาซารัส วีพีผู้รับผิดชอบด้านยุทธศาสตร์ของระบบซอฟต์แวร์ แต่วีพีคนที่สำคัญที่สุด
น่าจะเป็นวีพีด้านขาย สตีฟ บัลล์เมอร์ ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่าเป็นบุรุษหมายเลข
2 แห่งไมโครซอฟท์ เขาเป็นหัวหน้าทีมฝ่ายขายซึ่งมีเสน่ห์เฉพาะตัวขณะเดียวกันก็ทำงานอย่างผลักดัน
บัลล์เมอร์เป็นเพื่อนนักเรียนของเกตส์สมัยที่เรียนอยู่ที่ฮาร์วาร์ด
คนสำคัญยิ่งอีกคนหนึ่งเป็นคนเก่าแก่ของไมโครซอฟท์ เธอคือแพม เอ็ดสตอร์ม
หัวหน้าฝ่ายประชาสัมพันธ์
คู่แข่งและหุ้นส่วน
ภายในวงการเทคโนโลยีสารสนเทศ มีการแข่งขันสูงมาก อาจจะยิ่งกว่าในวงการธุรกิจอื่น
ๆ เนื่องจากจำเป็นต้องตามให้ทันกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
และต้องมีการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาป้อนตลาดอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่เข้าสู่ตลาดได้ก่อน
ก็มีโอกาสก่อนที่จะเข้าครองตลาดเอาไว้
แต่ผลิตภัณฑ์ก็ต้องดีด้วย
บริษัทไมโครซอฟท์ยืนยันว่าผลิตภัณฑ์ของตนดีกว่าของบริษัทอื่น ๆ ความเชื่อถือที่ได้รับจากลูกค้า
ทำให้บิ๊กกรีนได้เปรียบบริษัทอื่น ๆ มาก บางครั้งลูกค้าจะรอซื้อผลิตภัณฑ์ของบริษัทไมโครซอฟท์
ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา โดยไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ในประเภทเดียวกันนั้นจากบริษัทอื่น
บริษัทซอฟต์แวร์อย่างไมโครซอฟท์ จำเป็นต้องร่วมมือกับบริษัทฮาร์ดแวร์ อาทิ
เช่น ไอบีเอ็ม, แอ็ปเปิ้ล คอมแพ็ค, เดลส์, อินเทล ฯลฯ เพื่อจะได้สร้างผลิตภัณฑ์ชนิดที่เข้ากับฮาร์ดแวร์นั้น
ๆ ได้ดี สะดวกในการใช้งาน ทว่า บางครั้งบางคราวบริษัทที่ร่วมมือเป็นหุ้นส่วนก็อาจจะเป็นบริษัทคู่แข่งไปในเวลาเดียวกันก็ได้
อาทิ เช่น บริษัทไอบีเอ็ม, แอ็ปเปิ้ลและยูนิกซ์ ซึ่งผลิตฮาร์ดแวร์ ก็ผลิตซอฟต์แวร์ที่เป็น
ระบบปฏิบัติการสำหรับอาร์ดแวร์ของตนด้วยเหมือนกัน
นอกจากนั้น บริษัทซอฟต์แวร์ด้วยกันเองบางครั้งก็มีการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์บางชนิด
เพราะต่างฝ่ายต่างมีดีกันคนละอย่างละแนว แต่จำเป็นต้องใช้ข้อดีของทั้งสองฝ่ายมาร่วมกันพัฒนาให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่จะเป็นที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว
ในขณะเดียวกัน บางครั้งก็จำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อที่จะได้แข็งพอที่จะสู้กับบริษัทซอฟต์แวร์อื่นซึ่งก็อาจจะมีการร่วมมือกันกับบริษัทซอฟต์แวร์อีกแห่งหนึ่งด้วย
บริษัทซอฟต์แวร์สำคัญ ๆ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นคู่แข่งของไมโครซอฟท์ ก็ได้แก่
โนเวลล์, โลตัส, เวิร์ด เพอร์เฟ็คต์, บอร์แลนด์ ฯลฯ โดยเฉพาะสองบริษัทหลังนี้
เพิ่งจะมีการซื้อกิจการกันไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ทำให้เวิร์ด เพอร์เฟ็คต์กลายเป็นบริษัทที่มีศักยภาพในการแข่งขันมากยิ่งขึ้น
นอกเหนือจากการร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในระยะหลังนี้
ผู้บริหารของบิ๊กกรีนดูจะบุกหนักเรื่องการหาทางร่วมมือกับบริษัทต่าง ๆ ในเครือข่ายที่เกี่ยวกับการบันเทิง
การสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ธุรกิจเหล่านี้เกี่ยวโยงกับยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ
ธุรกิจเหล่านี้เกี่ยวโยงกับยุคสารสนเทศซึ่งบิลลี่ เกตส์รวมทั้งนักธุรกิจอีกมากมาย
มองการณ์ไว้ว่าเป็นสิ่งที่โลกจะต้องก้าวไปถึงภายในอนาคตอันใกล้
การเดินหมากของไมโครซอฟท์ที่ซุ่มอยู่ร่วมปีเริ่มดุเดือดขึ้นเมื่อบิลลี่
เกตส์ ประกาศออกมาเป็นระยะ ๆ ว่าจะจับมือร่วมหุ้นดำเนินธุรกิจกับบริษัทต่าง
ๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือไปจากแวดวงคอมพิวเตอร์ การรุกเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม
บริษัทไมโครซอฟท์ประกาศว่าจะจัดป้อนซอฟต์แวร์ให้กับบริษัทเซก้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตวิดีโอเกม
ที่ใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของญี่ปุ่นในระยะเริ่มแรก ไมโครซอฟท์จะพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับการปฏิบัติงานให้กับ
โครงการแซ็ตเทิร์น (SATURN) ของบริษัทเซก้า แซทเทิร์น เป็นโครงการเครื่องเล่นวีดิโอเกมแบบใหม่
ซึ่งใช้ซีดี-รอม ฐานข้อมูลที่ทรงพลังเป็นหลัก ต่อไปข้างหน้า ซอฟต์แวร์ในเครื่องแซ็ตเทิร์น
ก็จะพัฒนาขึ้นเป็นมัลติมีเดีย
นอกจากนั้น เซก้ายังมีโครงการที่จะจัดส่งวีดิโอเกมส์ไปถึงผู้ใช้บริการโดยผ่านดาวเทียมด้วย
อย่างเดียวกับที่ได้ทดลองทำแล้วในญี่ปุ่น ซึ่งจัดทำช่องเซก้าให้ผู้เล่นวีดิโอเกมรับโปรแกรมใหม่
ๆ ไปเล่นกันได้โดยผ่านทางเครือข่ายเคเบิ้ลทีวี
โครงการความร่วมมือระหว่างเซก้ากับไมโครซอฟท์ เป็นการเผชิญหน้าโดยตรงกับโครงการร่วมมือในทำนองเดียวกัน
ระหว่างบริษัทนินเทนโดของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่แข่งของบริษัทเซก้ากับบริษัทซิลิคอน
กราฟฟิคส์ (บริษัทที่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างภาพไดโนเสาร์ระบบตัวเลขที่แสนจะเหมือนจริงในภาพยนตร์เรื่องจูราสสิค
พาร์ค) เพื่อพัฒนาวีดิดอเกมส์ระบบ 3 มิติ ซึ่งมีชื่อโค้ดว่า โครงการเรียลลิตี้
(REALITY) มีกำหนดจะนำออกสู่ตลาดในปลายปี ค.ศ. 1995 เช่นเดียวกับโครงการแซ็ตเทิร์น
และมีโครงการที่จะพัฒนาขึ้นไปเป็นมัลติมีเดียเช่นเดียวกัน
บริษัทอื่น ๆ ที่เริ่มเดินทางไปตามเส้นทางสู่มัลติมีเดียนี้ด้วย ได้แก่
เอทีแอนด์ที, มัตซุชิตะ, ไทม์ วอร์เนอร์, ฟิลิปส์, โซนี่, ไอบีเอ็ม, แอ็ปเปิ้ล,
โมโตโรลาและไซแอนติฟิค-แอตแลนตา โดยมีโครงการที่ปรากฏเป็นข่าวแล้ว 3 โครงการคือ
ทรีดีโอ (3DO) เจเนรัล แมจิค (GENERAL MAGIC) และ คาไลดา แล็บส์ (KALEIDA
LABS)
เมื่อเดือนมีนาคม ไมโครซอฟท์ประกาศร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในด้านเคเบิลทีวี
คือเทเลคอมมิวนิเคชัน อิงค์ หรือทีซีไอ (TELE-COMMINICATION INC. หรือ TCI)
ก่อตั้งบริษัทร่วมหุ้นเพื่อลองสร้างระบบเคเบิลอินเตอร์แอ็คทีฟ (INTERACTIVE)
โดยกำหนดจะแล้วเสร็จพอให้ลูกจ้างของบริษัทไมโครซอฟท์กับทีซีไอได้ทดลองใช้กันภายในปีนี้นี่เป็นโครงการหนึ่ง
อีกโครงการหนึ่งที่จะเริ่มจัดส่งถึงลูกค้าได้ในเดือนเมษายนปีหน้า คือเคเบิ้ลทีวีสำหรับผู้เป็นเจ้าของคอมพิวเตอร์
เป็นโครงการในระบบมัลติมีเดีย (MULTIMEDIA)
ทั้งอินเตอร์แอ็คทีฟและมัลติมีเดีย เป็นแนวการมองการณ์ไกลที่เกตส์เคยประกาศไว้เมื่อหลายปีก่อน
ในท่ามกลางการบุกที่ฉีกแนวไปจากแวดวงซอฟต์แวร์ตามแนวคิดเก่านี้ บิ๊กกรีนก็เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาพร้อมกัน
9 ตัว ในคราวเดียวเป็นซอฟต์แวร์ชนิดที่มุ่งใช้งานและการบันเทิงภายในบ้านล้วน
ๆ ไมโครซอฟท์กำลังมุ่งหมายจะเปิดตลาดในบ้านอย่างสำคัญ
ไม่เพียงเท่านั้น ปลายเดือนมีนาคม เกตส์ใช้เงินส่วนตัว 10 ล้านดอลลาร์
ร่วมลงทุนกับบริษัท เอ็ม. เทล (MOBILE TELECOMMUNICATION TECHNOLOGIES CORP.
หรือ MTEL) เท่ากับ พอล แอลเลน เพื่อนนักเรียนสมัย ไฮ สคูล ก่อตั้งบริษัทเอ็นดับบลิวเอ็น
(NATIONAL WIDE WIRE LESS NETWORK หรือ NWN) ซึ่งเป็นระบบการติดตามตัวแบบไร้สายทั่วประเทศ
แม้ว่าเอ็มเทลจะถือหุ้นใหญ่ถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่ในเมื่อการถือหุ้นเป็นแบบปิด
ทั้งพอล แอลเลนและเกตส์ มีสิทธิ์วีโต้ได้
ชื่อของพอล แอลเลน อาจไม่คุ้นหูเท่ากับชื่อบิลล์ เกตส์ แต่ที่จริงแล้ว
เขาเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดคนหนึ่ง ด้วยวัยเพียง 41 ปี
แอลเลนเป็นเพื่อนเก่าของเกตส์ที่ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์มาด้วยกัน แต่เนื่องจากแอลเลนป่วยเป็นโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองเมื่อปี
1982 จึงได้วางมือออกไปรักษาตัวอย่างเต็มที่เป็นที่น่าสนใจว่า แอลเลนก็บุกหนักในเรื่องการลงทุนในธุรกิจทางหลวงข้อมูลหรือ
อินโฟ-ไฮเวย์ เช่นเดัยวกัน ในระยะ 12 เดือนที่ผ่านมานี้ พอล แอลเลนทุ่มเงินสดของตัวเองกว่า
400 ล้านดอลลาร์ ลงไปกับบริษัทที่ทำธุรกิจในด้านนี้รวม 8 บริษัท
ระบบเอ็นดับบลิวเอ็น จะใช้กันได้กับระบบดาวเทียมเทเลเดซิค (TELEDESIC)
อีกโครงการร่วมหุ้นหนึ่งของบิลลี่ เกตส์
ช่วงปลายเดือนมีนาคมเช่นกัน ที่มีข่าวว่า บิลลี่ เกตส์ ไปเจรจากับบริษัทเอทีแอนด์ที
(AMERICAN TELEGRAPH AND TELEPHONE หรือ NTT ของญี่ปุ่น เรื่องรวมกันพัฒนาระบบการจำหน่ายแผ่นซีดี-รอม
ซึ่งผู้ซื้อจะต้องซื้อสัญญาณถอดระหัสผ่านทางสายโทรศัพท์ด้วยต่างหาก
และในระยะเวลาไล่เลี่ยกันนี้ เกตส์ได้เดินทางไปประเทศจีน เพื่อเปิดตัวซอฟต์แวร์ภาษาจีนซึ่งจัดทำสำหรับใช้งานสำนักงาน
บิ๊กกรีนมีกำหนดจะตั้งบริษัทโดยใช้ทุนของตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ ในประเทศจีนในเร็ววันนี้
อนึ่ง ระหว่างที่อยู่ในจีน วิลเลียม เกตส์ ได้พบปะสนทนากับเจียง เจ๋อหมิน
ประธานาธิบดีของจีนด้วย ทว่ารายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไม่เป็นที่เปิดเผย
อย่างไรก็ตาม การบุกบนทางหลวงข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็ยังไม่เป็นข่าวใหญ่เท่ากับโครงการเทเล
เดซิค ซึ่งบริษัทไมโครซอฟท์ ร่วมมือกับเครก แม็คคอว์ แห่งบริษัทแม็คคอว์
เซลลูลาร์ เจ้าของธุรกิจโทรศัพท์ไร้สายที่ใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่งของสหรัฐอเมริกา
โครงการมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์นี้มีเป้าหมายที่จะส่งดาวเทียม 840 ดวงขึ้นไปตั้งไว้ในอวกาศสำหรับใช้เป็นสถานีรับส่งสัญญาณข่าวสารข้อมูลต่าง
ๆ รวมทั้งเป็นสถานีโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดาวเทียมทั้ง 840 ดวง จะขึ้นไปโคจรอยู่เหนือโลกในวงโคจรภูมิสถิต
(GEOSTATIONARY) ซึ่งหมายความว่า ตัวดาวเทียมจะหมุนรอบโลกด้วยความเร็วเท่าที่โลกหมุนรอบตัวเอง
อันทำให้มันอยู่ในตำแหน่งที่อยู่เหนือโลกตำแหน่งเดิมอยู่ตลอดเวลาดาวเทียมเหล่านี้จะตั้งอยู่ในระนาบต่าง
ๆ กัน 21 ระนาบ ในแนวขนานกับโลก ทำมุมกับศูนย์สูตร 9.5 องศา ในวงโคจรแต่ละระนาบ
มีดาวเทียมทำงานอยู่ 40 ดวง กับอีก 4 ดวง ที่ส่งขึ้นไปตั้งสำรองไว้เผื่อเหลือเผื่อขาด
(หรือเผื่อชำรุดบกพร่อง) ดาวเทียมแต่ละดวงจะสื่อสารถึงกันและกันได้ สามารถส่งผ่านข้อมูลไปให้กันได้
ดาวเทียมเทเลเดซิคซึ่งมีกำหนดส่งขึ้นไปในปี ค.ศ. 2001 นี้ จะเหมือนตาข่ายหรือเครือข่ายที่คุลมฟ้าไว้ทั้งหมด
โครงการเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ บริษัทอื่นก็มีแผนการทำนองเดียวกันนี้อยู่แล้ว
เป็นต้นว่า โครงการของบริษัทโมโตโรล่า ซึ่งหมายจะสร้างระบบอิริเดียม (IRIDIUM)
โดยใช้ดาวเทียมที่มีความซับซ้อน 66 ดวง ขึ้นไปโคจรกระจายไว้รอบโลก สำหรับเป็นสถานีสื่อสารให้บริการแก่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอีกโครงการหนึ่ง
คือ โครงการอ็อร์บคอมม์ (ORBCOMM) ของบริษัทออร์บิทัล ไซแอนซ์ (เวอร์จิเนีย
สหรัฐอเมริกา) ซึ่งมีเป้าว่าจะส่งดาวเทียมขนาดเล็กที่มีคุณสมบัติเรียบง่าย
เอาไว้ใช้ส่งข่าวสารเป็นตัวเลขตามธรรมดา ๆ จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โครงการหลังนี้มีกำหนดจะส่งดาวเทียมสองดาวแรกขึ้นในปีนี้
ส่วนที่เหลือจะทะยอยส่งไปในปี 1996 อีก 3 หน หนละ 8 ดวง
ทว่าสาเหตุที่ทำให้โครงการเทเลเดซิคของเกตส์และแม็คคอว์เป็นข่าวน่าตื่นเต้น
ก็เพราะจำนวนดาวเทียมในโครงการนี้ มากจนชวนให้นึกไปถึงโครงการสตาร์-วอส์
(STAR WARS) ของประธานาธิบดีเรแกน สมัยที่สงครามเย็นระหว่างสหรัฐกับสหภาพโซเวียต
(ประเทศที่กลายเป็นอดีตไปแล้ว) ยังร้อนระอุ โครงการที่รัฐบาลสหรัฐยื่นเสนอต่อสภาคองเกรสส์เป็นโครงการส่งดาวเทียม
1,000 ดวง (เรียกว่า บริลเลียนต์ เพ็บเบิ้ลส์ BRILLIANT PEBBLES) ขึ้นไปตั้งเกลื่อนเอาไว้
โดยหมายจะให้มันเหมือนกับ "ร่มอวกาศ" ด้วยการติดตั้งอาวุธจรวดเอาไว้บนดาวเทียมนั้นพร้อมสรรพ
สามารถยิงจรวดตอบโต้สะกัดกั้นได้ทันท่วงที ในกรณีที่ทางฝ่ายสหภาพโซเวียตยิงจรวดข้ามทวีปเข้าถล่มถึงสหรัฐอเมริกา
โครงการสตาร์วอส์นี้ นอกจากจะมีช่องโหว่หลายแห่งแล้ว ค่าใช้จ่ายยังสูงมากจนสภาคองเกรสส์รับไม่ได้
ทำให้โครงการนี้ต้องล้มเลิกไปทว่าในช่วงนั้น ทางฝ่ายสหภาพโซเวียตออกข่าวประท้วงประนามโครงการนี้อย่างรุนแรง
โดยกล่าวหาว่าเป็นข้ออ้างของสหรัฐที่หมายจะเอาอาวุธขึ้นไปตั้งไว้ในอวกาศ
ด้วยความหวังจะโจมตีสหภาพโซเวียตอย่างไม่ทันรู้ตัว หรืออย่างน้อย ๆ ดาวเทียมจำนวนมากเหล่านี้
ก็มีจุดมุ่งหมายปลีกย่อยเพื่อการจารกรรม
สหภาพโซเวียตให้เหตุผลของการประท้วงอาวุธป้องกันกลางอวกาศของสหรัฐนี้อีกประการหนึ่งว่า
หากเกิดอุบัติเหตุ จรวดบนดาวเทียมระเบิดขึ้นมากลางอวกาศ คนทั้งโลกจะพากันเดือดร้อนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
หากว่าจรวดบนดาวเทียมนั้นติดนิวเคลียร์ ทั้งนี้ สหภาพโซเวียตได้ลงข้อสรุปไว้ด้วยว่า
โครงการของสหรัฐอเมริกา มีจุดมุ่งหมายเพื่อครองความเป็นใหญ่อยู่ในโลก
ข้อกล่าวหาเช่นนี้ คงจะมีควันหลงเหลืออยู่มาก เมื่อเทเลเดซิคของแม็คคอว์และเกตส์
มีนโยบายส่งดาวเทียมขึ้นไปโคจรอยู่ในอวกาศในทำนองเดียวกันแม้จะไม่มีอาวุธติดตั้งอยู่
แต่ก็มีผลทางจิตวิทยาที่ทำให้รู้สึกว่า เทเลเดซิคมีจุดมุ่งหมายเพื่อครองความเป็นใหญ่ในโลก
อนึ่ง หากว่าจะเปรียบข่าวสารข้อมูลในสมัยนี้ (โดยมีดาวเทียมเป็นสื่อ) ก็มีอานุภาพไม่แพ้อาวุธในอดีตที่เพิ่งผ่านพ้นไปไม่นานนัก
เป้าหมายและความหวัง
ดังที่กล่าวแล้วว่า บิลลี่ เกตส์ ถือว่า งานหลักในตำแหน่งหน้าที่การเป็นผู้นำในบริษัทไมโครซอฟท์
คือ กำหนดวิสัยทัศน์ แล้ววางนโยบายของบริษัทให้เหมาะสมที่จะรับมือกับสภาพการณ์ในอนาคตหรือนำหน้าบริษัทอื่น
ๆ ที่จะต้องตกอยู่ในสภาวะเดียวกัน
สภาวะซึ่งบริษัทไมโครซอฟท์และธุรกิจในแวดวงเทคโนโลยีสารสนเทศทั้งมวลจะมีส่วนสร้างขึ้นด้วยนี้
ก็คือยุคแห่งคอมพิวเตอร์ในระบบมัลติมีเดีย ประกอบกับระบบอินเตอร์แอ็คทีฟ
และเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งทุกประเทศทั่วโลก แม้ประเทศที่ยากจน ก็สามารถเข้าถึงได้
บิลจีแถลงว่า ดาวเทียมของเทเลเดซิค จะทำให้ข่าวสารข้อมูลสำหรับคนทั้งปวงอยู่ใกล้เพียงแค่ปลายนิ้ว
ที่จะสัมผัสกับแป้นคอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์ระบบมัลติมีเดีย นอกจากจะมีอุปกรณ์พื้นฐานของคอมพิวเตอร์ คือฮาร์ดแวร์อันประกอบด้วยตัวเครื่องคอมพิวเตอร์
จอภาพหรือจอมอนิเตอร์และแป้นคีย์บอร์ดแล้ว ยังจะมีส่วนพ่วงได้อีกหลายส่วน
(ซึ่งในอนาคตข้างหน้า อาจจะติดตั้งรวมอยู่ภายในตัวเครื่องคอมพิวเตอร์มาเลย)
ได้แก่ซีดี-รอม ที่จะใช้อ่านข้อมูลจากแผ่นซีดี การ์ดหรือโปรแกรมพร้อมเครื่องพิเศษ
สำหรับรับสัญญาณภาพโทรทัศน์ เคเบิ้ลทีวี เคเบิ้ลวีดิโอ และอื่น ๆ กับการ์ดหรือโปรแกรมสำหรับอ่านเสียงที่จะต่อเข้ากับลำโพง
ฯลฯ
นอกจากคอมพิวเตอร์ระบบมัลติมีเดียจะเป็นคอมพิวเตอร์ประกอบกับเครื่องรับโทรทัศน์แล้ว
ยังเหมือนกับมีระบบโทรศัพท์ติดตั้งควบคู่มาด้วย
ระบบอินเตอร์แอ็คทีฟ ก็อาศัยระบบคอมพิวเตอร์แบบมัลติมีเดียนี้สร้างตัวตนของมันขึ้นมา
นั่นคือระบบซึ่งผู้ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ (ซึ่งหมายรวมถึงโทรทัศน์กับโทรศัพท์ที่ควบอยู่ในตัว)
จะสามารถตอบโต้กับเครื่องได้
ความฝันประการหนึ่งที่บิลลี่ เกตส์มองเห็นภาพและได้บรรยายออกมา เป็นเหตุการณ์ในทำนองนี้คือ
คุณนั่งดูโทรทัศน์ระบบอินเตอร์แอ็คทีฟ มีนักร้องรูปหล่อออกมาร้องเพลง คุณสนใจเสื้อตัวที่นักร้องคนนี้ใส่
กดเม้าส์หรือแป้นบังคับ (ซึ่งน่าจะอยู่ในรูปของรีโมทคอนโทรล คล้ายกับที่ใช้ควบคุมโทรทัศน์หรือแป้นสำหรับเล่นวีดิโอเกมส์อย่างที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน)
คุณกดรายละเอียดเรื่องราคา และสี ว่ามีสีอะไรบ้าง ภาพนักร้องบนจอจะหยุดนิ่ง
มีตัวอักษรปรากฏบรรยายถึงสิ่งที่คุณถามและอยากรู้ หากว่าคุณสนใจ ก็ใช้เม้าส์
เลื่อนลูกศรไปยังช่องที่คุณต้องการแล้วกดคำสั่งซื้อ คำสั่งของคุณจะถูกส่งไปถึงบริษัทผู้ขาย
รวมทั้งเลขบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิต ซึ่งจะหักบัญชีให้เสร็จสรรพเมื่อคุณเสร็จธุระเรื่องการซื้อเสื้อที่สนใจตัวนี้แล้ว
ก็กดเม้าส์ ให้นักร้องที่หยุดนิ่งตั้งแต่ตอนที่คุณเริ่มคิดจะซื้อเสื้อ ให้ร้องเพลงต่อไปจากตอนที่คุณหยุด
ลักษณะของระบบอินเตอร์แอ็คทีฟ อาจจะไม่ออกมาในรูปนี้ หากอาจจะวิเศษเลิศเลอหรือแปลกพิศดารยิ่งไปกว่านี้ก็ได้
หรืออีกนัยหนึ่ง อาจจะไม่เกิดขึ้นเลยก็ได้ ทำนองเดียวกับความฝันของบิลลี่
เกตส์เรื่องจะให้สมุดโทรศัพท์หน้าเหลือง เข้ามาอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับคนที่สนใจจะสั่งซื้อสินค้าหรือติดต่อทางธุรกิจ
กับบริษัททั้งหลายได้โดยตรง ความฝันนี้เกตส์พูดเอาไว้เมื่อเกือบปีหนึ่งมาแล้ว
และจนถึงบัดนี้ ยังไม่มีอะไรคืบหน้าให้เห็น
อย่างไรก็ดี หากพิจารณาถึงความสำเร็จของระบบคอมพิวเตอร์โดยรวม ก็จะเห็นว่า
โลกกำลังก้าวหน้าไปอย่างเร่งรุด ในอัตราที่เร็วทวีขึ้นไปเรื่อย ๆ ความสำเร็จทั้งหลายทั้งปวงที่ผ่านมา
นับได้ว่ายิ่งใหญ่และน่าอัศจรรย์ใจยิ่ง สิ่งเหล่านี้ บอกให้เราเชื่อมั่นว่าโลกของเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบคอมพิวเตอร์ในอนาคต
ใกล้กระชั้นเพียงปี ค.ศ. 2000 ที่จะถึงนี้จะต้องมีสิ่งแปลกใหม่อย่างปฏิวัติ
น่าตื่นเต้น น่าตั้งความหวังและรอคอย