Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2537
"ความอับจนของโครงการเขื่อนสาละวิน"             
 


   
search resources

เวิลด์อิมเพ็กซ์
ชาญณรงค์ โตชูวงศ์




ปลายเดือนมกราคมนักธุรกิจไทยกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง รวมทั้ง "ผู้จัดการ" ได้บุกป่าฝ่าดงจากชายแดนไทยด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เข้าสู่เมืองหัวเมืองฐานที่มั่นของขุนส่าในรัฐฉานของประเทศพม่า

ในห้วงแห่งการเดินทาง คำถามประโยคเดียวแต่ให้ความหมาย ที่ต้องการคำยืนยันจากเจ้าถิ่นว่า "ถ้าจะสร้างเขื่อนสาละวินในเขตรัฐฉานจะเป็นไปได้หรือไม่?"

คำตอบจากปากของขางซีฟู (ชื่อจีนของขุนส่า) ราชายาเสพติดของโลก คือ 'ได้' แต่ต้องมาคุยกันในรายละเอียด

คำตอบที่ได้นั้นตรงไปตรงมาอย่างนั้นหรือเปล่า? หรือมีความหมายระหว่างบรรทัดหรือไม่? รวมทั้งจะมีผลในทางปฏิบัติได้สักเพียงใด? ล้วนแล้วแต่เป็นคำถามที่ค้างคาในใจ

กลับมาได้ไม่นานเท่าใด คืนใส ใจเย็น เลขานุการของขุนส่า ส่งโทรสารตามหลังมาว่า ที่ประชุมสภาฟื้นฟูแห่งรัฐฉานได้ตกลงกันว่า สัญญาใด ๆ ก็ตามที่ทำกับรัฐบาลสลอร์คในกรุงย่างกุ้ง หากโครงการนั้นอยู่ในพื้นที่ของรัฐฉานเสียแล้วโครงการนี้ไม่มีผลบังคับ

นั่นเป็นคนกลุ่มแรก ๆ ที่พูดคุยกับขุนส่าในเรื่องการพัฒนาโครงการพลังงานไฟฟ้า เพราะว่าความจริงแล้วทั้งไทยและพม่ามีความสนใจที่จะพัฒนาแหล่งน้ำชายแดนทั้งสองประเทศมาเป็นเวลานาน แต่แนวความคิดที่จะสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าเพิ่งจะก่อตัวขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2531 นี่เองเมื่อผู้แทนของทั้งประเทศได้เจรจากัน ในเวลานั้นมีเพียงหลักการกว้าง ๆ เท่านั้น

เรื่องมาปรากฏเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2532 เลาขาธิการพลังงานแห่งชาติในเวลานั้น (ภายหลังคือกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน) ได้เดินทางไปเยือนกรุงย่างกุ้ง ได้มีการแลกเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาพลังงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของทั้งสองประเทศ ทั้งยังได้ตกลงกันว่าจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมกัน

มีการประชุมของคณะทำงานในเดือนพฤศจิกายนปีเดียวกัน การประชุมครั้งนั้นยกโครงการพัฒนาพลังงานตามแนวชายแดนสองประเทศขึ้นมาถึง 7 โครงการแล้วทั้งสองฝ่ายก็กลับไปพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการ

มีการประชุมคณะทำงานชุดนี้อีกครั้งหนึ่งในเดือนสิงหาคม 2533 ที่กรุงเทพฯ หลายโครงการถูกตัดออกไปเพราะความไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการ แต่โครงการหนึ่งที่เหลืออยู่คือ "โครงการสาละวิน"

เดือนมีนาคมปีถัดมามีการประชุมกันอีกครั้งหนึ่งที่กรุงย่างกุ้ง คราวนี้ได้มีการขอให้บริษัทพัฒนาพลังงานไฟฟ้า (ELECTRIC POWER DEVELOPMENT COMPANY-EPDC) ของญี่ปุ่นทำการศึกษา เดือนพฤษภาคมปี 2534 บริษัทอีพีดีซี ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปยังพื้นที่เป้าหมายที่จะทำโครงการ การศึกษาขั้นต้นแล้วเสร็จในเดือนมีนาคมปีถัดมา

เมื่อผลการศึกษาออกมา การพลังงานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตมีความเป็นแตกต่างกันอยู่บ้าง กล่าวคือในโครงการสาละวินการพลังงานเห็นว่าควรจะมีแค่พื้นที่เดียวในขณะที่การไฟฟ้าเห็นว่าสาละวินควรมีทั้งตอนล่างและตอนบน

ความไม่ราบรื่นทางการเมืองภายในของไทยทำให้โครงการนี้พลอยเงียบหายไปด้วย สาละวินได้รับการหยิบยกขึ้นมาสู่ความสนใจของสาธารณชนอีกครั้งหนึ่งเมื่อมีการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทยพม่าในเดือนกันยายน 2536 ที่กรุงย่างกุ้ง โดย น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้เป็นประธานฝ่ายไทยนำการประชุมในตอนนั้น ซึ่งในที่สุดการประชุมครั้งนั้นได้มีการทำบันทึกความเข้าใจระหว่างกันขึ้นมาฉบับหนึ่งเป็นแนวทางในการพัฒนาโครงการสาละวิน เพื่อประโยชน์ทั้งทางด้านพลังงานไฟฟ้าและทรัพยากรน้ำ

แต่ระหว่างที่กระบวนการทางการทูตของเขื่อนสาละวินระหว่างไทย และพม่ากำลังดำเนินการอยู่อย่างเชื่องช้านั้น บริษัทธุรกิจเอกชนของไทยถึง 3 บริษัทด้วยกันที่เสนอตัวเข้าไปทำโครงการสาละวิน

"บริษัทเวิลด์ อิมเพ็กซ์" ของ ดร. ชาญณรงค์ โตชูวงศ์ เป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่ได้เสนอขออนุมัติโครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินต่อรัฐบาลพม่า เนื่องจาก ดร. ชาญณรงค์ คุ้นเคยทั้งด้านภูมิประเทศทางตอนเหนือของไทยและใกล้ชิดกับกลุ่มพลังต่าง ๆ ในพม่า ด้วยว่าเคยทำงานพัฒนาพื้นที่ในเขตกองทัพภาค 3

ดร. ชาญณรงค์เป็นผู้ที่มีความสัมพันธ์กับกองทัพทั้งของไทยและพม่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพลเอกสุจินดา คราประยูร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในปี 2532 อันเป็นปีเดียวกับที่เขาเสนอโครงการดังกล่าว และยังได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพลเอกสุจินดาก้าวขึ้นเป็นรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ซึ่งนับได้ว่าช่วงเวลานั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยและพม่าเป็นไปอย่างลึกซึ้งในหมู่ผู้นำกองทัพของสองประเทศ นอกจากนี้ ดร. ชาญณรงค์ยังเป็นที่รู้จักดีในกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งชาติและวิทยาลัยการทัพบก ตลอดจนเคยดำรงตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาผู้บัญชาการทหารบกสมัยพลเอกอาทิตย์ กำลังเอกเป็นผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการทหารสูงสุด

นับตั้งแต่การเสนอโครงการสาละวินของเวิลด์ อิมเพ็กซ์ ดูเหมือนว่ายิ่งนานวัน กลับมีผู้ต้องการเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในโครงการนี้มากยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชนรายอื่น ๆ ของไทย แต่จนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีเค้าว่าโครงการสาละวินจะไปสิ้นสุดที่จุดใด

"โครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งนี้มีเป้าหมายที่จะให้ทางพม่าได้ใช้ไฟฟ้าฟรี และแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำของไทยในอนาคต และเพื่อเป็นการล้างกรรมของบรรพบุรุษพม่าที่ได้มาเผาบ้านเผาเมืองของไทยในอดีต" ดร. ชาญณรงค์เปิดเผยความเป็นมาของโครงการกับ "ผู้จัดการ" เมื่อไม่นานมานี้

เริ่มแรกเขาได้ขอให้รัฐบาลพม่าอนุญาตให้สร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในบริเวณรัฐฉาน ประเทศพม่า เหนือเขตแดนจังหวัดเชียงใหม่ที่อำเภอเวียงแหงไปประมาณ 70 กิโลเมตร เพื่อผลิตไฟฟ้าประมาณ 6,000 เมกกะวัตต์ โดย 10% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะจ่ายให้ประเทศพม่าเพื่อใช้ในประเทศโดยเป็นการให้เปล่า ที่เหลือจะขายให้ประเทศไทยในราคาที่เหมาะสม และขอผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินเข้าสู่ประเทศไทยทางต้นแม่น้ำปิงประมาณ 30% โดยไม่กระทบต่อปริมาณที่จะใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า

รายละเอียดในข้อเสนอของบริษัทเวิลด์ อิมเพ็กซ์ ถูกตีกลับและขอให้เปลี่ยนแปลงเป็นระยะ ๆ โดยรัฐบาลพม่า อาทิ การเสนอให้ก่อสร้างเขื่อนแห่งอื่นก่อน คือที่เปาหลวง ใกล้เมืองเปียงมะนาซึ่งอยู่ทางตอนกลางของประเทศพม่า ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดเล็ก พลังไฟฟ้าที่ได้จะใช้สำหรับประเทศพม่าเท่านั้น หรือแม้กระทั่งพื้นที่การสร้างเขื่อนสาละวินที่ข้อเสนอมีว่า ให้เขื่อนนี้เป็นสมบัติระหว่างประเทศอันมีความหมายว่าจะทำให้รัฐบาลพม่าเสียสิทธิเหนือดินแดนอันเป็นที่ตั้งเขื่อนตลอดไป

เวิลด์ อิมเพ็กซ์ จึงขอเปลี่ยนข้อเสนอครั้งสุดท้ายเป็นขอสัมปทานสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำเป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่ที่ได้สร้างเขื่อนเสร็จซึ่งจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ปี และเสนอที่จะจ่ายค่าตอบแทนให้รัฐบาลพม่าเป็นรายปี คือ 10 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีในช่วงการก่อสร้าง หลังการก่อสร้าง 200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีเป็นเวลา 5 ปี หลังจากนั้นปีละ 500 ล้านเหรียญสหรัฐจนกระทั่งหมดสัญญา และเมื่อพ้นระยะเวลา 30 ปี เขื่อนสาละวินนี้จะตกเป็นของประเทศพม่าโดยสมบูรณ์

แต่โครงการดังกล่าวก็ไม่อาจคืบหน้าไปได้มากกว่านั้น เมื่อรัฐบาลพม่า โดยพลจัตวาเดวิด อาเบล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ วางแผน และการคลังสมัยนั้น ได้มีหนังสือลงวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2535 เห็นชอบในหลักการให้บริษัทเวิลด์ อิมเพ็กซ์ดำเนินการสำรวจพื้นที่สร้างเขื่อน แต่ต้องนำเงินจำนวน 1 ล้านเหรียญสหรัฐเข้าบัญชีของรัฐบาลพม่าผ่านทางธนาคารแห่งหนึ่งของประเทศสิงคโปร์ เพื่อเป็นเงินประกันสำหรับการอนุญาตสถานที่ก่อสร้างเขื่อนดังกล่าว อันเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่เวิลด์ อิมเพ็กซ์ประสบปัญหาในการหาพันธมิตรเพื่อเข้าร่วมการสำรวจก่อสร้าง ตลอดจนการจัดหาแหล่งเงินทุน

ดร. ชาญณรงค์จำต้องหยุดพักโครงการสาละวิน หันมาเอาดีทางด้านธุรกิจการเกษตรในพม่าซึ่งเขาได้ริเริ่มขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกันอย่างเต็มตัว ถึงกระนั้นก็ตามเขายังคงมีความเชื่อมั่นว่า โครงการของเขายังจะได้รับการตอบสนองเป็นอย่างดี จากกลุ่มพันธมิตรใดก็ได้ที่พร้อมจะก้าวไปในทางเดียวกันกับเขา แม้นั่นจะหมายถึงการที่เขาต้องเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

นอกเหนือจากบริษัทเวิลด์ อิมแพ็กซ์ที่ยื่นเสนอโครงการเข้าไปแล้วก็มีกลุ่มเอกชนไทยอีก 2-3 กลุ่มที่สนใจโครงการสาละวินไม่น้อยไปกว่า ดร. ชาญณรงค์ ได้แก่บริษัทเวส กรุ๊ป ของวิกรม อัยศิริ เจ้าของโรงแรมดุสิต ไอร์แลนด์ รีสอร์ท เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น

วิกรมไม่เพียงสนใจการสร้างเขื่อนสาละวิน แต่ยังพุ่งความสนใจไปที่ทรัพยากรป่าไม้เหนือเขื่อนซึ่งความเป็นไปได้ของเขามีแต้มไม่น้อยกว่ารายอื่น ๆ ด้วยเพราะความสัมพันธ์ที่มีกับหมู่นายทหารระดับสูงของของรัฐบาลพม่า

กิจการของเขาตั้งต้นจากการทำธุรกิจไม้ในพม่าแล้วจึงได้สัมปทานเป็นระยะเวลา 30 ปีในการเช่าเกาะสน ใกล้กับวิคตอเรีย พ้อยท์ตรงข้ามจังหวัดระนอง เพื่อสร้างรีสอร์ท ต่อมาได้มีการร่วมทุนกับวิสาหกิจพม่าในอัตราส่วน 48:52 ตั้งโรงงานเจียระไนพลอย และประกอบตัวเรือนเครื่องประดับ

เช่นเดียวกับบริษัทล็อกซ์เล่ย์ และบริษัทเอ็มดีเอ็กซ์อันมีสุบิน ปิ่นขยัน อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาบริษัท ซึ่งมีประสบการณ์ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนน้ำเทินในลาวร่วมกับบริษัทนอร์ดิกของนอร์เวย์และสวีเดน ต่างก็ได้แสดงความจำนงต่อรัฐบาลพม่าเช่นกัน

ในเวลาต่อมาล็อกซเล่ย์ถอนตัว แต่พร้อมจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่นที่ได้โครงการนี้ ขณะที่เอ็มดีเอ็กซ์ยังคงเดินหน้า และในเดือนพฤษภาคมนี้สุบินได้เดินทางไปพม่าเพื่อเจรจาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง

ส่วนภาครัฐบาล ต่างก็ให้ความสนใจไม่แพ้ภาคเอกชนเช่นเดียวกัน ทุกครั้งที่เดินทางเยือนพม่า โครงการสาละวินจะต้องถูกหยิบยกขึ้นหารือกับฝ่ายพม่าจนเสมือนหนึ่งเป็นประเด็นหาเสียงในหมู่ระดับรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการจากสภาผู้แทนราษฎร

ในความเห็นของผู้รับผิดชอบข้อเสนอฝ่ายพม่า พลจัตวาเดวิด อาเบล อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ฝ่ายวางแผนและการคลัง และรัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติ ในปัจจุบันนี้เปิดเผยเรื่องนี้กับ "ผู้จัดการ" ว่า โครงการสาละวินเป็นโครงการขนาดใหญ่ ต้องลงทุนมหาศาลไม่ต่ำกว่า 13,550 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 338,750 ล้านบาท เขาไม่คิดว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งจะสามารถดำเนินการคนเดียวได้ หากแต่ควรจะรวมกันเป็นกลุ่มคณะหรือ CONSORTIUM

"ไม่ว่าใครจะเสนอมาสำรวจทางบก หรือทางอากาศ จะทำบางส่วนหรือทำทั้งหมดผมบอกทุก ๆ คนว่า อย่าหมดเปลืองเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ แม่น้ำสาละวินก่อกำเนิดมาจากชายแดนจีนไหลลงสู่ทะเล ดังนั้นคุณไม่สามารถใช้เงินมากมายขนาดนั้นไปเพื่อสำรวจแม่น้ำสาละวินทั้งหมด ถ้าคุณทำคนเดียวมันต้องใช้เวลาถึง 20 ปี"

"ผมคิดว่า บริษัทเหล่านี้ควรจะมีที่ปรึกษารวมกันเป็น CONSORTIUM ดูว่าจะหาเงินกันมาอย่างไร เมื่อทุกอย่างชัดเจน จากนั้นก็เหลือเพียงแต่การสำรวจที่จะเริ่มต้น ซึ่งก็มีหลายแห่งมากที่พร้อมจะทำ" พลจัตวาเดวิด อาเบลกล่าว

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่พลจัตวาเดวิด อาเบลย้ำอยู่เสมอก็คือ โครงการดังกล่าวจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่จะเข้ามาค้ำประกันโครงการดังกล่าว

ทางออกของฝ่ายพม่าขณะนี้ จึงเป็นการยืดเวลา เพื่อรอดูท่าทีที่ชัดเจนของฝ่ายไทยเท่านั้นโดยอ้างว่าพม่าจำต้องพิจารณาถ้อยคำในร่างบันทึกความเข้าใจที่ฝ่ายไทยเสนอมาอย่างละเอียดถี่ถ้วน และขอศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการซึ่งคงจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี

อย่างไรก็ตาม ตัวแปรในการพิจารณาความเป็นไปได้ของโครงการสาละวินกลับไม่ได้อยู่ที่รัฐบาลพม่าแต่เพียงฝ่ายเดียว เมื่อที่ตั้งโครงการสาละวินทั้งที่อยู่ในส่วนของข้อเสนอของเอกชนไทย และในส่วนการว่าจ้างบริษัท EPDC (ELECTRIC POWER DEVELOPMENT COMPANY) ของญี่ปุ่นโดย กฟผ. ล้วนคาบเกี่ยวอยู่ในเขตปกครองของชนกลุ่มน้อยคือกลุ่มไทยใหญ่ในเขตรัฐฉานของขุนส่า และกองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยงนำโดยนายพลโบเมียะ ซึ่งการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลทหารกับกลุ่มต่าง ๆ ยังอยู่ในกระบวนการที่ดูท่าว่าจะยังไม่เสร็จสิ้นง่าย ๆ (อ่านล้อมกรอบ)

แม้ว่าบัดนี้ที่โครงการสาละวินกลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อย ๆ ยังคงมีความพยายามของฝ่ายไทยที่จะผลักดันให้โครงการนี้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ วีระศักดิ์ ฟูตระกูล เอกอัครราชทูตไทยประจำพม่ากล่าวเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า การแยกเจรจาระหว่างการผันน้ำโดยผ่านอุโมงค์ส่งน้ำซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนของไทย ออกจากการสร้างเขื่อนน่าจะเป็นไปได้มากกว่า เพราะไม่ต้องรอผลการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งเขาบอกว่าพม่ามีท่าทีตอบรับข้อเสนอของสถานทูตไทยในกรุงย่างกุ้งไปในทางบวก

ขณะที่สาวิตต์ โพธิวิหค รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งต้องรับผิดชอบด้านการท่องเที่ยวและการพลังงาน ยอมรับในปัญหาที่ว่า ข้อเสนอของไทยในร่างบันทึกความเข้าใจนั้น "กว้าง" เกินไปและจำเป็นจะต้องมีการพูดให้ชัดเจนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยว่า โครงการดังกล่าวควรจะใช้เพื่อการใดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเขาเดินทางไปพม่าเพื่อเจรจาเรื่องนี้ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไทยอีกครั้งในต้นเดือนพฤษภาคมนี้

ภารกิจรัฐบาลและเอกชนไทยในวันนี้ จะต้องทำให้โครงการสาละวินเป็นจริงขึ้นมา ดังนั้นการต้องตัดสินใจเลือกความเป็นไปได้ของโครงการให้ชัดเจน พร้อมทั้งการต้องเข้าไปมีส่วนในการเจรจากับกลุ่มพลังต่าง ๆ ในพม่าที่อาจได้รับผลกระทบ รวมถึงผลประโยชน์ที่ควรจะได้ ไม่ว่าพื้นที่นั้นจะเป็นของฝ่ายใดก็ตาม

เหนือสิ่งอื่นใด การสร้างความเชื่อมั่นในระดับรัฐบาลต่อรัฐบาลดูจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลทหารพม่าปรารถนาจากไทยมากที่สุด แต่ก็กลายเป็นปัญหาหญ้าปากคอกที่ไทยตอบไม่ได้ง่าย ๆ เช่นกัน

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us