บ้านหลังที่สองหรือคอนโดมิเนียมกลางเมืองกำลังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชนชั้นกลางของกรุงเทพฯ
แม้จะต้องลงทุนเพิ่มเติม และต้องปิดบ้านที่มีอยู่แล้ว แต่ความกดดันจากปัญหาการจราจรทำให้ชีวิตไม่มีทางเลือกที่มากไปกว่านี้
กิจกรรมประจำทุกเย็นวันศุกร์ของชนชั้นกลางในเมืองหลวงจำนวนไม่น้อย และกำลังเพิ่มมากขึ้นทุกทีคือ
"กลับบ้าน"
"บ้าน" ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงบ้านเกิดในต่างจังหวัด แต่เป็นบ้านที่อยู่ในกรุงเทพฯ
นี่แหละ อาจจะอยู่ชานเมืองห่างออกไปจากย่านใจกลางกรุงเทพฯ ประมาณ 20-30 กิโลเมตร
เป็นบ้านที่ควรจะเป็นที่พักอาศัยประจำวัน หากไม่ต้องใช้เวลาเดินทางไปกลับวันละไม่น้อยกว่า
1 ใน 4 ของเวลาที่มีอยู่ในหนึ่งวัน
ปัญหาการจราจรทำให้ชนชั้นกลางของกรุงเทพฯ จำนวนมากต้องเช่าหรือซื้อบ้าน
คอนโดมิเนียมในเมืองที่ใกล้กับที่ทำงาน เพื่ออาศัยหลับนอนระหว่างสัปดาห์
ส่วนบ้านจริง ๆ ในความหมายของชีวิตครอบครัวจะได้กลับไปอยู่ก็เพราะช่วงสุดสัปดาห์หรือวันหยุดเท่านั้น
บ้านหลังที่สองหรือคอนโดมิเรียมที่ตั้งอยู่กลางใจเมือง ในทำเลที่ใกล้กับย่านธุรกิจและสำนักงาน
กำลังกลายเป็นปัจจัยในการดำรงชีพที่มีความจำเป็นนอกเหนือจากปัจจัยสี่สำหรับคนกรุงเทพ
โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงการต้องเดินทางเข้ามาประกอบอาชีพทุกวัน
ข้อมูลงานวิจัย "ความต้องการในที่อยู่อาศัย ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ๆ ของชีวิต"
ของ นันทนา ภัทรพงศ์สันต์ กรรมการผู้จัดการ โฮมมาสเตอร์กรุ๊ป ชี้ให้เห็นว่า
ระยะเวลาที่เสียไปกับการเดินทางจากที่พักไปยังที่ทำงาน ในความคิดของผู้ซื้อที่อยู่อาศัย
66.8% คาดหวังในการเลือกที่อยู่อาศัยใหม่แทนที่อยู่ปัจจุบัน ไม่ควรใช้เวลาเดินทางเกิน
60 นาที หากใช้เวลามากกว่านี้ความสนใจจะลดลงเรื่อย ๆ (ดูตาราง)
สอดคล้องเป็นแนวเดียวกันกับข้อมูลจากบริษัท พรอพเพอร์ตี้ไลนส์ สำรวจปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อทาวน์เฮ้าส์
บ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียม ปรากฏว่ามีความคล้องจองกันในปัจจัยอันดับหนึ่ง
คือการคมนาคมสะดวก โดยให้ความสำคัญเกิน 80% ขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ซื้อคอนโดมิเนียมให้ค่าการคมนาคมเป็นปัจจัยชี้ขาด
โดยต้นปีมีสัดส่วนในการตัดสินใจ 77.2% กลางปีขยับมาที่ 83.2% และปลายปีเพิ่มขึ้นเป็น
93.5% (ดูตาราง)
คอนโดมิเนียมจึงมิใช่เป็น "สินค้าฟุ่มเฟือย" อีกต่อไป ผู้ซื้อเริ่มยอมรับการซื้อ
"ห้อง" แทน "บ้าน" ไว้อยู่อาศัยโดยทำใจได้กับการไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
ซึ่งเป็นภาพตรงข้ามจากเมื่อเริ่มเกิดอาคารห้องชุดยุคแรก ที่ผู้อาศัยคอนโดมิเนียมหรูในย่านธุรกิจ
เช่น ถนนสุขุมวิท จะเป็นชาวต่างประเทศมีเงินเดือนสูง โดยอาจจะเช่าหรือบริษัทซื้อไว้ให้
และคอนโดมิเนียมราคาต่ำลงมา จะเป็นห้องเช่าให้คนทำงานกลางคืนเป็นส่วนใหญ่
ธนวร นิยม ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายสินเชื่อเคหะของเงินทุนหลักทรัพย์จีเอฟ
เป็นหนึ่งในอีกหลายคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ ที่ต้องเริ่มมองหาที่อยู่ที่ใกล้ใจกลางเมืองให้ใกล้ที่สุดเท่าที่จะป็นไปได้
ธนวรไม่เคยคิดว่า วันหนึ่งเขาจำเป็นต้องซื้อคอนโดมิเนียม เพราะในขณะนี้
เขามีบ้าน 2 หลัง หลังหนึ่งคือที่หมู่บ้านอมรพันธ์ อีกหลังให้เช่าอยู่แถวโรงเรียนตำรวจนครบาล
ถนนวิภาวดีรังสิต แต่ในที่สุด เขาก็ต้องซื้อห้องพักหนึ่งยูนิตของรีเจ้นท์
รอยัล เพลส เป็นคอนโดมิเนียมในเครือบริษัทธนายง ตั้งอยู่บนถนนราชดำริ หลังโรงแรมรีเจ้นท์
"ผมเคยใช้เวลาเพียง 45 นาทีเดินทางจากบ้านมาที่ทำงาน มาต้นปีที่แล้วกลายเป็นหนึ่งชั่วโมง
แล้วเพิ่มขึ้นเป็นชั่วโมงสิบ เป็นชั่วโมงครึ่ง แล้วกลายเป็น 2 ชั่วโมงในตอนนี้"
นี่คือสิ่งที่ทำให้คุณพ่อลูกสองต้องยอมควักกระเป๋าซื้อบ้านหลังที่สามในชีวิต
ลูกชายคนโตของธนวรต้องตื่นนอนก่อนตีห้าเพื่อเตรียมตัวไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนเซนต์คาเบรียล
สามเสน โดยติดรถครูที่มีบ้านอยู่ใกล้กัน ซึ่งออกเดินทางเวลาตีห้าสิบห้านาที
จากหมู่บ้านอมรพันธ์ ซอยเสนานิคม ไปถึงโรงเรียนประมาณ 6.30 น. ก่อนเวลาเคารพธงชาติหนึ่งชั่วโมง
ซึ่งเป็นเวลาสำหรับอาหารเช้า
"สงสารลูกเหมือนกัน ต้องตื่นแต่เช้า ท้องว่างอยู่บนรถ พอถึงโรงเรียนก็รู้สึกง่วง"
ธนวรครวญถึงปัญหาที่กลายเป็นเรื่องชินจนชาของคนไทย จนจำต้องปรับสภาพร่างกายตลอดจนวิถีชีวิตให้อยู่รอดในภาวะรถติด
เช่นเดียวกับลูกชายวัย 9 ขวบของธนวร ที่จำต้องออกจากบ้านก่อนฟ้าสาง ก่อนหน้าเขาออกไปทำงานเกือบชั่วโมง
พอตกเย็น เขากลับถึงบ้านก่อนลูกเกือบครึ่งชั่วโมง และรอทานข้าวพร้อมลูกตอน
19.00 น.
หากเมื่อไรคอนโดมิเนียมแห่งนี้เสร็จ ธนวรสามารถขับรถจากที่พักวิ่งตรงไปพบสี่แยกแล้วเลี้ยวซ้ายเขาถนนสารสิน
เพื่อเลี้ยวซ้ายอีกครั้งหนึ่งเข้าซอยหลังสวน ตรงไปที่ทำงาน
นับว่าเป็นเส้นทางเดินรถที่สะดวก แม้ในช่วงเวลาเร่งด่วน ทางเส้นนี้ก็ยังถือว่าคล่องตัว
เมื่อเทียบกับบริเวณใกล้เคียง เช่น บริเวณสี่แยกชิดลม สี่แยกราชดำริ เมื่อจะกลับที่พักตอนเย็นก็สามารถวกกลับถนนเส้นเดิมได้
สำหรับลูกชายทั้งสองคนของธนวร จะเดินทางได้รวดเร็วเช่นคุณพ่อ คงเป็นไปไม่ได้
หากยังคงเรียนที่โรงเรียนเดิมอยู่
ความต้องการของธนวร จึงไม่สามารถหยุดที่รีเจ้นท์ รอยัล เพลส เขากำลังมองหาคอนโดมิเนียมแถว
ๆ โรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล เพราะลูกคนที่ 2 กำลังจะย้ายตามมาเรียนกับลูกคนโต
"เวลาผมขับรถผ่านแถวโรงเรียนลูก พอเห็นตึกที่กำลังก่อสร้างอยู่ ผมจะเลี้ยวรถเข้าไปถามเลยว่าสร้างคอนโดหรือเปล่า"
ธนวรเล่าถึงความตั้งใจจริงที่ต้องการให้ลูกพ้นสภาพการอยู่บนถนนนานเกินไป
บ้านที่หมู่บ้านอมรพันธ์ก็คงจะเป็นศูนย์รวมของครอบครัวเฉพาะในวันหยุดเท่านั้น
ในขณะที่หลายคนเริ่มชาชินกับวิถีชีวิตที่ต้องจากบ้านเพื่อมาทำงานในเมือง
ราวกับคนต่างจังหวัด ทั้ง ๆ ที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ แท้ ๆ
สมศักดิ์ เมฆเกรียงไกร มีตำแหน่งเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับสยามสตูดิโอ ซึ่งตั้งอยู่ในซอยต้นสน
แถวถนนเพลินจิต เขาเคยต้องตื่นนอนก่อนตีห้าเพื่อให้ทันออกจากบ้านระหว่างเวลาตีห้าถึงหกโมงเช้า"
"ถ้าออกจากบ้านหลังหกโมง ช้าเพียงแค่ห้านาที ก็จะถูกบล็อกตรงแยกลำสาลี
บริเวณบางกะปิ ทำให้ไปถึงที่ทำงานสายมาก" สมศักดิ์เล่าให้ฟังในช่วงที่ยังอยู่แถวรามอินทรา
แยกลำสาลีเป็นทางแยกที่มีปัญหาการจราจรมากที่สุดจุดหนึ่งของกรุงเทพฯ จนได้รับการขนานนามว่า
"ลำสาหัส"
แต่หลังจากที่สมศักดิ์มาซื้อห้องพักที่วิภาวดีคอนโดทาวน์ บนนราชปรารภ เขามีเวลานานเพิ่มขึ้นอีกเกือบ
2 ชั่วโมง และยังไม่ต้องหงุดหงิดกับรถติดด้วย
ทนง บุรานนท์ ประธานบริษัทแปซิฟิกริม โปรดักชั่น ค่อนข้างโชคดีกว่าอีกหลาย
ๆ คน ครอบครัวของเขาได้ลงทุนร่วมกับ PACVEST สิงคโปร์ สร้างคอนโดมิเนียมชื่อสมคิด
การ์เด้น บนที่ดินที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยของตระกูลบุรานนท์ในซอยสมคิดช่วงที่กำลังก่อสร้างอยู่
ทนงต้องหาซื้อบ้านใหม่ และที่สุดก็ได้ที่ซอยลาดพร้าว 80 บนที่ดิน 200 ตารางวา
ระหว่างที่เขาอยู่ที่บ้านลาดพร้าวเมื่อสามปีที่แล้ว เขาไม่เคยรู้สึกว่ามีปัญหาการเดินทาง
เพราะการจราจรยังพอเคลื่อนตัวได้บ้าง แต่สำหรับตอนนี้ เมื่อย้ายมาอยู่ที่สมคิดการ์เด้นแล้ว
เขาแวะไปที่บ้านลาดพร้าวแทบจะนับครั้งได้ ส่วนภรรยาต้องไปทุกอาทิตย์ เพื่อดูแลความเรียบร้อยของบ้าน
"ตอนนี้ผมใช้เวลาขับรถมาที่ทำงานแค่ 15 นาที บางครั้งเดินกลับบ้านจนนิสัยเสีย
ไม่ค่อยอยากไปไหนไกลจากแถวนี้" ทนงพูดถึงการเดินทางที่สะดวกมากนับตั้งแต่มาอยู่ที่ใหม่
ซึ่งตั้งอยู่เยื้อง ๆ กับที่ทำงานในซอยร่วมฤดีริมถนนสุขุมวิท
"ทุกวันนี้ที่ทำให้ทุกคนเท่าเทียมกัน คือการจราจร อย่างคุณหญิงชนัตถ์
ปิยะอุย ประธานกลุ่มโรงแรมดุสิตธานี และแม่ค้าขายผักขายปลาที่คลองเตย ก็ทำเหมือนกัน
คือ ซ้อนรถมอเตอร์ไซด์" บัณฑิต จุลาสัย รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปรียบเปรย
การต้องผจญภัยกับรถติดอาจถือได้ว่าเป็นความเท่าเทียมของคนกรุงเทพทุกระดับชั้น
แต่การหาวิธีหลบหลีก หลีกเลี่ยงเฉพาะตนได้ดีเพียงใด ยังเป็นความเหลื่อมล้ำ
ที่ต้องขึ้นอยู่กับอีกหลาย ๆ ปัจจัยโดยเฉพาะ "เงินทุน"
สุฑาทิพย์ รุทธิฤทธิ์ ข้าราชการครูระดับซี 5 มีพื้นเพเป็นคนแปดริ้ว หลังจากเรียนจบวิทยาลัยครูประจำจังหวัดแล้ว
ได้สมัครสอบบรรจุครูและผ่านการสอบเป็นอาจารย์ประจำสอนวิชาศิลปะที่โรงเรียนวัดสระเกศ
ในกรุงเทพฯ ทำให้เธอต้องจากบ้านมาเช่าแฟลตคลองจั่นเดือนละ 1,300 บาท ซึ่งเป็นอัตราค่าเช่าเมื่อ
7 ปีที่แล้ว
7 ปีที่แล้วกับการเดินทางมาทำงานในวงรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตรของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
ด้วยการขึ้นรถเมล์ 2 ต่อ ยังไม่เป็นสิ่งสาหัสเท่าไรนัก ในตอนนั้นโรงเรียนเข้า
7.15 น. เธอจะออกจากบ้านก่อน 6.00 น. เล็กน้อย ก็สามารถทันเวลาเข้าเรียนของนักเรียน
สุฑาทิพย์อาจจะมีความสุขกับการเช่าแฟลตอยู่ต่อไปเรื่อย ๆ ถ้าเธอยังเป็นโสดตัวคนเดียว
"แต่งงานแล้ว ก็ยังอยู่แฟลต แต่พอมีลูก ก็เลยรู้สึกว่าแคบอึดอัด จึงตัดสินใจซื้อบ้านเพื่อให้ลูกมีที่วิ่งเล่นสบาย"
สุฑาทิพย์เล่าการขยับขยายย้ายจากแฟลต ไปอยู่บ้านบนพื้นที่ 60 ตารางวาที่หมู่บ้านบัวทอง
ในเขตบางบัวทอง นนทบุรี
การเดินทางมาโรงเรียน ยังไม่ถือว่าลำบากในทัศนะของเธอ เพราะมีรถตู้ของหมู่บ้านจำนวนมากคอยบริการ
รถตู้จะวิ่งตรงดิ่งและจอดป้ายเดียวคือเมื่อสุดเส้นทางที่ห้างสรรพสินค้าพาต้า
เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า หลังจากนั้นเธอขึ้นรถเมล์สาย 42 หรือ 68 มาลงที่ถนนราชดำเนิน
เพื่อต่อสาย 47 หรือ 15 ซึ่งผ่านหน้าโรงเรียน
แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนรถเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งต่อ แต่สุฑาทิพย์สามารถออกจากบ้านสายกว่าสมัยเมื่ออยู่แฟลตคลองจั่นประมาณ
45 นาที โดยที่กินเวลาเดินทางราวครึ่งชั่วโมงเหมือนกัน ก็จะมาทันโรงเรียนเข้า
ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเวลาเป็น 8.30 น.
ชีวิตน่าจะลงตัวตามต้องการ ถ้าลูกชายวัย 5 ขวบ ไม่มีอาการเมารถจนอาเจียน
หลังจากที่ลูกขบอนุบาล 3 จากโรงเรียนในหมู่บ้านแล้ว ได้มาต่อชั้นประถม
1 ที่โรงเรียนทวีธาภิเศก (ประถม) ย่านวัดอรุณราชวราราม ฝั่งธนบุรี
"ถ้าให้ลูกเรียนโรงเรียนประถมแถว ๆ บางบัวทอง ก็จะกลับมาไปรับลูกไม่ทัน
เลยตัดปัญหาตรงนี้ ให้ออกมาและกลับพร้อมกันดีกว่า" สุฑาทิพย์เล่าความเป็นมาของจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนที่อยู่อีกครั้งหนึ่ง
แม้การไปโรงเรียนทวีธาภิเศก จะต้องนั่งเรือข้ามฟากไปฝั่งธนบุรี แต่ในความรู้สึกของเธอไม่คิดว่าเป็นปัญหา
เพราะสามีหรือพ่อของเด็กเป็นข้าราชการกรมการค้าภายในที่ท่าเตียน ซึ่งมีท่าเรือข้ามฟากไปถึงโรงเรียนของลูกโดยตรง
โรงเรียนลูกเข้าเรียน 8.00 น. ส่วนโรงเรียนวัดสระเกศเปลี่ยนเวลาเข้าเรียนอีกครั้งเป็น
7.45 น. ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ปรับเปลี่ยนเวลาของแต่ละโรงเรียนให้ต่างกัน
เพื่อช่วยบรรเทาการจราจร
สุฑาทิพย์และครอบครัวได้ว่าจ้างแท็กซี่ประจำเป็นรายอาทิตย์ ให้มารับที่บ้านเวลา
5.45 น. หรืออย่างช้าสุดไม่เกิน 6.00 น. เพราะจะทำให้ไปทำงานสายติดพันเป็นลูกโซ่
เนื่องจากรถแท็กซี่จะส่งที่โรงเรียนลูก
เมื่อมาถึงโรงเรียนทวีธาภิเศกก่อน 7.30 น. จะมีเวลาครึ่งชั่วโมงสำหรับให้ลูกทานข้าวเช้ากับพ่อ
ส่วนเธอต้องรีบข้ามฟากมาท่าเตียน เพื่อขึ้นรถเมล์ไปทำงาน
"ปลุกลูกตอนตีห้ายี่สิบ แต่ลูกไม่ค่อนอยากจะตื่น ต้องอุ้ม บางครั้งยังไม่ได้อาบน้ำด้วย
ต้องเช็ดตัวเปลี่ยนเสื้อผ้าในรถ แต่บางวันลูกก็ยอมลุกแต่งตัวเสร็จเรียบร้อย"
สุฑาทิพย์เล่า
การต้องปลุกลูกให้ตื่นในขณะที่ลูกยังนอนไม่เต็มอิ่ม ทำให้มีผลข้างเคียงคืออาการเมารถอย่างรุนแรง
ในระยะแรกที่เกิดปัญหา เธอคิดว่าเป็นเพราะลูกท้องว่าง จึงให้ลูกทานข้าวก่อนขึ้นรถ
แต่ผลยังเป็นเช่นเดิม อาหารเช้าออกมาหมดเต็มถุงพลาสติกที่เธอเตรียมติดตัวไม่เคยขาด
เธอจึงตัดสินใจกลับมาอยู่ห้องเช่าอีกครั้งหนึ่ง โดยใช้เวลาเสาะหาอยู่นานหลายเดือน
กว่าจะได้ห้องเช่าราคา 3,500 บาทแถว ๆ ถนนจรัญสนิทวงศ์ 45 เยื้อง ๆ กับห้างสรรพสินค้าพาต้า
ระยะเวลาเดินทางสั้นลง ทำให้ลูกชายมีเวลานอนเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งชั่วโมง
อาการอาเจียนพลอยหายตามไปด้วย
บ้านบัวทองจึงเสมือนหนึ่งเป็น "บ้านสุดสัปดาห์" ที่ทำให้เธอต้องเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
"กลับไปบ้านแต่ละครั้งก็เหนื่อยต้องทำความสะอาดหมด พอกลับมาที่ห้องเช่าตอนเย็นวันอาทิตย์ก็ต้องทำความสะอาดห้องอีก"
สุฑาทิพย์เล่าถึงวิถีชีวิตทุกวันนี้ที่วนเวียนระหว่างบ้านสองหลังนานเกือบหนึ่งปี
จันทร์เพ็ญ เอื้อธำรงสวัสดิ์ เป็นอีกคนหนึ่งที่เข้าใจซึ้งถึงภาระที่ตามมาจากการมีบ้าน
2 หลัง
ข้อแรก เป็นเรื่องของวัตถุ คือ ต้องมีข้าวของเครื่องใช้เพิ่มขึ้นอีกชุดหนึ่งสำหรับบ้านหลังที่
2 อาทิ โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ วิทยุ เครื่องครัว ตลอดจนถึงของใช้ส่วนตัว
ข้อที่สอง ที่จะตามมาโดยธรรมชาติ คือความกังวลถึงบ้านหลังที่ปิดตายในช่วงที่ต้องมาอยู่บ้านอีกหลังหนึ่ง
ความห่วงใยกินความไปถึงสภาพของตัวบ้าน ต้นไม้ที่อุตส่าห์ปลูกไว้และการถูกงัดแงะ
"ประตูรั้วของบ้านที่บางนา ดิฉันจะปล่อยให้ดูโทรม ๆ เก่า ๆ คงเดิม
เพื่อหลอกตาคน" จันทร์เพ็ญดล่าวิธีป้องกันภัย
จันทร์เพ็ญ เป็นแม่บ้านที่ทำงานนอกบ้านด้วย เธอทำหน้าที่เลขานุการให้กับเปล่งศักดิ์
ประกาศเภสัช กรรมการผู้จัดการบริษัทเมโทรกรุ๊ป มานานไม่ต่ำกว่า 10 ปี
บ้านหลังที่ 2 ของเธอ ไม่ได้อยู่ใจกลางเมือง ทว่าไกลออกไปแถวบางนา-ตราดกิโลเมตรที่
2 เป็นบ้านที่สามีและเธอสร้างขึ้นใหม่แทนบ้านเก่าที่ติดมากับที่ดิน 60 กว่าตารางวาเพิ่งสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อสิงหาคมของปีที่แล้ว
"บ้านที่อยู่ปัจจุบันเป็นตึกแถว 3 ชั้น เซ้งเขาอยู่ แออัดมาก เหมาะทำการค้ามากกว่าอยู่อาศัย
ลูกก็โตขึ้นทุกวัน และยังมีคนทำงานบ้านอีก 2 คน เลยคิดอยากมีบ้านของตัวเอง
ตอนที่บ้านเสร็จใหม่ ๆ เราไปอยู่กันตรงกับช่วงปิดเทอมโรงเรียนลูก แต่ดิฉัน
และสามียังต้องทำงาน รู้สึกเครียดกับการขับรถมาก อยู่บนรถชั่วโมงกว่า เย็นเลิกงานก็ต้องตาลีตาเหลือกขับรถกลับบ้าน
นอนได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องตื่น ขับรถมาทำงานอีก" จันทร์เพ็ญสาธยาย
บ้านในเมืองของเธออยู่ที่พลับพลาไชย ใกล้ ๆ กับวงเวียน 22 กรกฎา เธอย้ายมาอยู่ร่วมกับสามีหลังจากที่แต่งงานกันแล้ว
การเดินทางไปไหนต่อไหนจะสะดวกมาก เธอใช้เวลาขับรถไม่เกิน 20 นาที ก็ถึงที่ทำงานบริเวณท่าน้ำราชวงศ์
ลูกชาย 2 คนของเธอเรียนหนังสือที่โรงเรียนอัสสัมชัญเซ็นต์หลุยส์ เด็ก ๆ
มีตารางชีวิตเช่นเดียวกับเด็กกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ คือ ต้องตื่นนอนเช้าประมาณ
5.30 น. เพื่อรอรถโรงเรียนมารับเวลา 6.20 น.
นอกเหนือจากความสะดวกในการเดินทางของการอยู่บ้านที่พลับพลาไชยแล้ว ยังเป็นเรื่องความจำเป็นด้วย
เพราะสามีทำธุรกิจผักสดส่งนอก ซึ่งต้องมีการติดต่อและขนสินค้าจากปากคลองตลาดตอน
4.00 น.
บ้านที่ถนนบางนา-ตราด จึงกลายเป็น "บ้านสุดสัปดาห์" ที่เจ้าของบ้านมีโอกาสอยู่อย่างโล่งโปร่งตาได้เต็มอิ่มเฉพาะวันอาทิตย์เท่านั้น
หลังอาหารเย็นของวันศุกร์ จันทร์เพ็ญและครอบครัว รวมทั้งคนทำงานบ้าน 2
คนจะพากันมาค้างคืนที่บ้านสุดสัปดาห์ เมื่อตื่นขึ้นมาของเช้าวันเสาร์ เธอหรือสามีจะต้องขับรถส่งลูกชายไปเรียนพิเศษ
ที่โรงเรียนอัสสัมชัญเซ็นต์หลุยส์ ถ้าบังเอิญเธอมีธุระต้องทำในเมือง เธอก็จะรอรับลูกกลับตอนบ่ายสามโมง
หรือมิเช่นนั้นเมื่อส่งเสร็จแล้วเธอจะขับรถกลับบ้านที่บางนา-ตราด แล้วตอนบ่ายค่อยออกมารับลูกอีกครั้ง
พอถึงวันรุ่งขึ้นของวันอาทิตย์ มีเวลาอยู่บ้านไม่กี่ชั่วโมง ก็ต้องเตรียมกลับบ้านที่พลับพลาไชยในตอนบ่าย
"คุณอยากจะถามใช่ไหมว่า แล้วไปอยู่ทำไมทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยได้อยู่บ้านเลย
แต่อย่างน้อยให้เด็กไปทำความสะอาดบ้าน เปิดประตูหน้าต่างระบายลม" จันทร์เพ็ญบอกความจริงที่ทำให้ต้องไปบ้านหลังนี้ทุกสุดสัปดาห์
และเป็นที่มาของภาระที่สาม คือ การดูแล
ที่สุดแล้วตึกแถวกลางเมืองท่ามกลางเสียงดังของรถที่วิ่งสวนไปมาทั้งวันทั้งคืน
จนเธอต้องติดเครื่องปรับอากาศทั่วทั้งตึก ก็ยังมีความสำคัญและคงย้ายออกไปไม่ได้ง่าย
ๆ
สำหรับคนที่พอมีเงินทุนบ้าง จนถึงคนที่มีเงินทุนพอจะเลือกซื้อสิ่งใดก็ได้ตามต้องการ
ย่อมได้เปรียบในการเลือกที่อยู่อาศัยได้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว
นอกเหนือจากบ้านหลังที่สองหรือบ้านกลางเมืองที่เป็นทางออกของผู้ที่อยู่
ในสถานที่เอื้ออำนวยสำหรับการจัดการกับปัญหาการจราจรในชีวิตประจำวันแล้ว
การรู้จักเลือกเส้นทางในกรณีที่สามารถทำได้ก็เป็นเรื่องที่พอจะทำให้ชีวิตเสียเวลาอยู่บนท้องถนนน้อยลงได้บ้าง
บัณฑิต จุลาสัย มีบ้านอยู่ที่หมู่บ้านจัดสรรของอาคารสงเคราะห์ที่ทุ่งมหาเมฆ
เขาจะเลือกออกจากบ้านตอน 8.30 น. หลังจากที่ขบวนของนักเรียนอัสสัมชัญเซ็นต์หลุยส์เข้าเรียนแล้ว
รวมทั้งขบวนพนักงานแถวถนนสีลมลงจากทางด่วนตรงถนนพระรามที่ 4 จบไปแล้ว
เขาจะแวะทำงานที่ออฟฟิศบนถนนสาธรก่อนจนถึงเวลา 10.00 น. จึงจะออกจากบริษัทจุลาสัย
ไปมหาวิทยาลัย ก่อนที่ขบวนคนทำงานจะมาทานอาหารกลางวัน และจะไม่ออกจากมหาวิทยาลัยก่อน
17.30 น. เพราะช่วงนั้นรถจะติดมาก เนื่องจากเป็นเวลากลับบ้านของนักเรียนในโรงเรียนย่านนั้น
"ท้ายรถของผมจะมีหมวกกันน็อก เมื่อต้องไปไหนในช่วงรถติดมาก ๆ ผมก็จะใช้วิธีซ้อนมอเตอร์ไซด์
เมื่อเสร็จธุระ ผมก็นั่งแท็กซี่กลับมาเอารถที่จุฬาฯ สะดวกกว่ามาก" บัณฑิตสะท้อนภาพความจริงที่เห็นได้ทุกวัน
รถมอเตอร์ไซด์อาจจะทำให้เดินทางถึงจุดหมายปลายทางได้รวดเร็วมากขึ้น แต่ก็เสี่ยงต่อความปลอดภัยและอย่าพึงฝันถึงความสะดวกสบาย
สำหรับผู้ที่ไม่มีทางเลี่ยงต่อการหยุดนิ่งอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานานนับชั่วโมง
แต่บังเอิญมีฐานะที่สามารถบรรเทาความอึดอัดให้เบาบางลงได้ รถยนต์ที่เป็นเสมือนเตียงนอน
รายรอบด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกเท่าที่อยากจะมี ทั้งทีวี ตู้เย็น โทรศัพท์พร้อมแฟกซ์
เครื่องเสียงแลอื่น ๆ อีก ตามความจำเป็นของแต่ละคนคือทางออกที่เริ่มได้รับการสนองตอบแล้ว
โดยเฉพาะบรรดาผู้ปกครองที่ต้องส่งลูกเรียนพิเศษในวันเสาร์-อาทิตย์ และต้องนั่งรอจนกว่าจะเรียนเสร็จ
เพราะบ้านอยู่ไกลเกินไปที่จะขับรถกลับมารับอีกรอบ จะมีความต้องการรถที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกภายใน
เสมือนหนึ่งเป็นบ้านเคลื่อนที่อยู่บนถนน เพื่อใช้ฆ่าเวลาที่ต้องนั่งรอ
รถยี่ห้อง "ซาบ ลีมูซีน" ปรากฏโฉมครั้งแรกเมื่อปลายปีที่แล้ว
ก็มีผู้สั่งซื้อทันทีในวันนั้น และทางบริษัทคาดว่าจะสามารถจำหน่ายได้ไม่ต่ำกว่า
10 คัน
ซาบ ลีมูซีน เกิดจากการนำรถยนต์ซาบรุ่น 9000 CD เครื่องยนต์ 2300 ซีซีจากประเทศสวีเดนนำมาดัดแปลงใหม่โดยการขยายส่วนกลางตัวรถออกไปประมาณ
90 ซม. ความกว้างที่มากขึ้นทำให้ตกแต่งความสะดวกภายในได้มากขึ้น เสมือนหนึ่งยกห้องนั่งเล่นมาไว้ในรถ
"เชฟโรเล็ท" เป็นรถอีกยี่ห้อหนึ่งที่มีคุณสมบัติไม่แตกต่างจาก
ซาบ ลีมูซีน ในแง่เครื่องอำนวยความสะดวก
ซาบ ลีมูซีน ราคาคันละ 3,990,000 บาท ส่วนเชฟโรเล็ท ราคาคันละ 2,500,000
บาท
สำหรับบางคนมีการนำรถตู้ มาปรับปรุงตกแต่งภายในเพิ่มในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งจะใช้เงินประมาณ
2 แสนบาท แล้วแต่คุณภาพของสิ่งที่เสริมความสะดวก
ปัญหาการจราจรเป็นปัจจัยสำคัญที่จะลดเวลาที่ใช้บนท้องถนนลงให้มากที่สุด
รวมทั้งการแสวงหาความสะดวกสบายในช่วงเวลาที่ต้องติดอยู่บนท้องถนนเป็นเวลานานเป็นการช่วยตัวเองเท่าที่จะทำได้
ในสภาพการณ์ที่ยังไม่มีวี่แววเลยว่าปัญหาการจราจรจะได้รับการแก้ไขให้ดีขึ้นได้อย่างไร?