แนวคิดการเพิ่ม "ผู้ลงทุน” “บริษัทสมาชิก” และ “สินค้า” ถือเป็นยุทธศาสตร์หลักของ “ตลาดอนุพันธ์” ที่พยายามจะขยายตลาดให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาไปอีกขั้นด้วยการเปิด “ซื้อขายฟิวเจอร์ส” ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รองรับฐานลูกค้ารายย่อยที่จะดึงเข้ามาถ่วงดุลนักลงทุนสถาบัน ในเบื้องต้นโบรกเกอร์กว่า 10 แห่งพาเหรดเปิดเทรดผ่าน “เซ็ทเทรดดอทคอม” เอิกเกริก ส่วนอีก 3 รายมีการพัฒนาเว็บไซต์ขึ้นมาใช้เอง เป็นการต่อจิ๊กซอว์ เพื่อเพิ่มความสะดวกนักลงทุนและสภาพคล่องในตลาด
สัญญาณความก้าวหน้าของตลาดอนุพันธ์(TFEX) ตั้งแต่ที่เปิดทำการมาได้มีผลงานให้เห็นมากขึ้นแล้วตามลำดับ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนบริษัทสมาชิกซึ่งปัจจุบันมีถึง 32 แห่งแล้ว และปริมาณการซื้อขายที่มีจำนวนหนาตามากขึ้นเรื่อยๆเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 1 พันสัญญา ล่าสุดในโอกาสครบรอบ 4 เดือนเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา TFEX ก็ได้เปิดช่องทางการซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งถือเป็นพัฒนาการอีกก้าวหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มความสะดวกให้ลูกค้า อันจะนำมาซึ่งผลต่อเนื่องของปริมาณการซื้อขายและสภาพคล่องที่สูงขึ้นตามมา
เกศรา มัญชุศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัทตลาดอนุพันธ์(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าการส่งคำสั่งซื้อขายอนุพันธ์ผ่านทางอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ www.settrade.com มีบริษัทหลักทรัพย์ที่พร้อมให้บริษัทสมาชิกพร้อมเปิดให้บริการจำนวน 10 ราย ประกอบด้วยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สินเอเซีย จำกัด,บริษัท อยุธยา ดิริฟวทีฟส์ จำกัด,บล.บัวหลวง,บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส(ประเทศไทย), บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย),บล. เคจีไอ(ประเทศไทย),บล.ภัทร,บริษัท ทรีนีตี้ โพลาริส ฟิวเจอร์ส,บล.ธนชาต และ บล.ทิสโก้ นอกจากนี้ทางตลาดฯยังได้เปิดโอกาสให้บริษัทสมาชิกอีก 3 รายที่มีความพร้อมในการรับคำสังซื้อขายอนุพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของตนเองเข้าร่วมด้วยคือ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ,บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) และ บล. ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย)
ชนิสา ชุติภัทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เซ็ทเทรด ดอท คอม จำกัด กล่าวว่า เซ็ทเทรดได้พัฒนาโปรแกรม ซื้อขายตราสารอนุพันธ์ทางอินเทอร์เน็ต “Settrade OneClick” ร่วมกับบริษัทหลักทรัพย์ ไดชิน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำที่ให้บริการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ตของประเทศเกาหลี ช่วยให้บริษัทหลักทรัพย์ มีความสะดวกที่สามารถเข้ามาใช้ระบบของเซ็ทเทรดได้โดยไม่ต้องไปพัฒนาระบบเอง เป็นการช่วยลดต้นทุนของบริษัท
ตัวเว็บไซต์ได้มีการออกแบบให้เหมาะกับการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ ผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูล ข่าวสารอย่างใกล้ชิด เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการตัดสินใจเพื่อตอบสนองความต้องการได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ผู้ที่เคยเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แล้วหากมีการเปิดบัญชีซื้อขายอนุพันธ์ขึ้นมาอีกก็สามารถใช้ Login และ Password รวมเป็นอันเดียวกันได้เลย แต่ในแง่ของบัญชีผู้ใช้แล้ว ถือว่าเป็น 2 บัญชีแยกกันตามกฎ
ขณะที่ มนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯได้มีพัฒนาการบริการใหม่โดยร่วมมือกับบริษัท บิสนิวส์ เอเอฟอี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกันพัฒนาโปรแกรม KELiberty ขึ้นบนเว็บไซต์ www.kimeng.co.th ซึ่งสามารถดูข้อมูลเรียลไทม์ราคาตลาดอนุพันธ์ไปพร้อมๆ กับข้อมูลหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ฯ และส่งคำสั่งซื้อขายได้ในทันที ซึ่งทั้งหมดนี้จะอยู่ในหน้าจอเดียวกันทั้งหมด ไม่ต้องสลับหน้าจอไปมา
ทั้งนี้ ข้อมูลของราคาสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (SET50 Index Futures) จะอยู่ภายใต้เมนู Index Futures ของแต่ละสัญญาโดยแสดงเป็นรายไตรมาส นอกจากนี้ โปรแกรม KELiberty ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลดัชนีต่างประเทศที่สำคัญ ข้อมูลหุ้นไทย ข่าวสารจากสำนักข่าวบิสนิวส์ รอยเตอร์ และตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งกราฟทางเทคนิค เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับพิจารณาทิศทางราคาหุ้นก่อนตัดสินใจเลือกจังหวะลงทุน อีกทั้งยังสามารถศึกษาข้อมูลวอร์แรนต์ ดัชนีราคากลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลหุ้นที่กำลังพิจารณาได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ด้าน บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) สุชาย สุทัศน์ธรรมกุล กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมในการซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมาตั้งแต่เริ่มต้นแล้ว โดยเปิดให้บริการส่งคำสั่งซื้อขายฟิวเจอร์สผ่านอินเตอร์เน็ตตั้งแต่วันแรกที่เริ่มซื้อขายผ่านเว็บ www.poems.co.th ขณะเดียวกัน ยังได้เปิดให้มีการเล่นเกมจำลองการซื้อขายฟิวเจอร์สด้วยระบบซื้อขายเสมือนจริงด้วย ซึ่งทำให้บริษัทมีลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงเชื่อว่า เมื่อมีการเปิดซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตตรงสู่ TFEX ชื่อเสียงด้านบริการการลงทุนออนไลน์ของบริษัท รวมทั้งกิจกรรมให้ความรู้ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ จะช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เป็นลูกค้าของบริษัทต่อไปได้
สำหรับระบบที่ บล.ฟิลลิปใช้ในการซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตนั้น เป็นระบบที่บริษัทได้พัฒนาขึ้นเอง ซึ่งมีจุดเด่นในเรื่องของความง่ายในการใช้งาน เพราะตลาดซื้อขายฟิวเจอร์สยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักลงทุนในประเทศไทย ซึ่งหากนักลงทุนที่เข้ามาในตลาดอนุพันธ์มีความรู้ความเข้าใจที่ไม่เพียงพอ แล้วยังต้องพบกับระบบการซื้อขายที่ยุ่งยากอีก อาจจะทำให้นักลงทุนถอดใจไม่ลงทุนในตลาดอนุพันธ์ก็เป็นได้ จากการสำรวจพบว่า บริการที่ลูกค้าพึงพอใจมากที่สุดคือ การที่ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทั้งหมดผ่านระบบบัญชีเดียว หรือ Single Account สำหรับบริการทุกประเภททั้ง หุ้น กองทุนรวม และฟิวเจอร์ส ซึ่งสามารถตัดจ่ายเงินได้จากบัญชีเดียวเพื่อลดความซับซ้อน นับเป็นจุดแข็งของ บล.ฟิลลิป ที่บริษัทอื่นๆ ยังไม่สามารถให้บริการนี้ได้
ทั้งนี้การเปิดซื้อขายอนุพันธ์ผ่านอินเทอร์เน็ตจะส่งผลดีใน 2 ลักษณะคือ จะช่วยทำให้มูลค่าการซื้อขายอนุพันธ์เพิ่มขึ้นจากมีความสะดวกรวดเร็วกว่าการโทรศัพท์ส่งคำสั่งซื้อขายกับเจ้าหน้าที่การตลาด เพราะสามารถที่จะส่งคำสั่งซื้อขายตามที่ต้องการได้ และยังจะช่วยในเรื่องที่จะทำให้มีลูกค้ารายใหม่ที่ยังไม่เคยลงทุนเข้ามาลงทุนมากขึ้นด้วย เพราะที่ผ่านมายังไม่รู้จักว่าการซื้อขายอนุพันธ์และไม่เห็นจอการซื้อขายอนุพันธ์รวมถึงข้อมูลในเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน แต่หากเห็นจอการซื้อขายทำให้กล้าเข้ามาลงทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตามหากมีการซื้อขายอนุพันธ์ตลาดอนุพันธ์ แล้วจะทำให้นักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นอยู่แล้วหันมาลงทุนในตลาดอนุพันธ์มากขึ้น เพราะนักลงทุนสามารถที่จะเข้ามาลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงได้
สำหรับค่าธรรมเนียมการซื้อขายอนุพันธ์นั้น ลูกค้าสถาบันจะคิดค่าคอมมิชชั่น จำนวน 250 บาท และเสียค่าธรรมเนียมให้กับตลาดอนุพันธ์ และสำนักหักบัญชีอีก 50 บาท รวม 300 บาทต่อเดือน และภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% แต่หากเป็นนักลงทุนทั่วไป จะคิดค่าคอมมิชชั่น 500 บาท โดยหักค่าธรรมเนียมให้กับตลาดอนุพันธ์ และสำนักหักบัญชี 50 บาท และภาษีอีก 7% แต่หากเทรดมากกว่า100 สัญญาจะคิดค่าคอมมิชชั่นเท่ากับนักลงทุนสถาบัน
ธนวัฒน์ พานิชเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายธุรกิจตัวแทนสัญญาซื้อขายล่วงหน้าบล.เคจีไอ(ประเทศไทย) เชื่อว่า หลังการให้บริการทางอินเตอร์เน็ตในตลาดอนุพันธ์จะผลักดันให้รายย่อยเข้ามาในตลาดซื้อขายอนุพันธ์มากขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนลูกค้ารายย่อยจะเพิ่มเป็น 70% ลูกค้าสถาบัน 30% จากปัจจุบันอยู่ที่ ครึ่งต่อครึ่ง บริษัทเริ่มให้บริการตั้งแต่ 28 สงค 2549 ผ่านระบบเซ็ตเทรด โดยลูกค้าสามารถใช้ระบบเลขบัญชีเดียว และรหัสผ่านครั้งเดียว ก็ทำการซื้อขายได้ทั้งหุ้นและอนุพันธ์ โดยไม่ต้องผ่านคีย์คำสั่งจากเจ้าหน้าที่การตลาด
การเทรดผ่านเว็บไซต์นี้ถือได้ว่าเป็นวิวัฒนาการในการลงทุนเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของลูกค้ารายย่อยเป็นหลัก ซึ่งปัจจุบันเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สะดวกขึ้นแล้ว นอกจากนี้ความเร็วในการส่งคำสั่งแล้ว ลูกค้ายังสามารถเข้าไปดูข้อมูลประกอบการตัดสินใจอื่นๆที่แสดงอยู่บนเว็บได้อีกด้วย อันจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนที่มีเหตุผล
ในขณะที่ด้านบริษัทสมาชิกก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและบุคลากรในการรับคำสั่งซื้อขายจากนักลงทุนรายย่อยซึ่งมักจะมีจำนวนมากกว่าแต่มูลค่าน้อยกว่าเพื่อไปให้บริการที่เต็มที่กับนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนรายใหญ่และ นักลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมีปริมาณการซื้อขายมากกว่าได้เต็มที่ขึ้นอีกด้วย
|