|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แม้เศรษฐกิจจะซบเซา กำลังซื้อในเกือบทุกตลาดส่อแววหดหาย แต่ดูเหมือนตลาดเด็กกลับไม่เป็นเช่นนั้น ฟรีทีวี 2 ช่องยักษ์ เคลียร์ผังรับรายการเด็ก ไอพีทีวี ใช้ดีสนีย์ขยายฐานลูกค้า ยูบีซี จัดอีเวนท์เด็ก เสริมภาพพจน์ ด้านค่ายการ์ตูน หนังสือ ของเล่น วิซีดี ประกาศจับมือสร้างคาแรคเตอร์กวาดกำลังซื้อเด็ก
นับเป็นปรากฏการณ์ใจตรงกันโดยไม่ตั้งใจอีกครั้งของวงการโทรทัศน์เมืองไทย เมื่อสถานีโทรทัศน์ 2 ช่องหลัก พร้อมใจกันประกาศปรับผังรายการ โดยมุ่งไปหารายการเด็ก ทั้งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาผู้ผลิตรายการเด็กทุกยุคสมัยต่างออกมาโอดครวญถึงการไม่เห็นถึงความสำคัญของรายการเด็กจากสถานีโทรทัศน์ เนื่องจากเป็นรายการที่มีเรตติ้งต่ำ หาโฆษณาได้ยาก
แต่ในภาวะเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้ ผู้บริโภคที่แม้จะประหยัดกับการใช้จ่ายเพื่อตนเอง แต่หากพูดถึงการจับจ่ายเพื่อบุตรหลาน เด็กเล็ก ที่พ่อแม่ ผู้ปกครองมุ่งหวังส่งมอบแต่สิ่งที่ดี เพื่อสร้างอนาคตที่ดีนั้น กลับไม่ได้ลดน้อยลง กลายเป็นตลาดที่ยังมีกำลังซื้อเข้มแข็งอยู่ ส่งผลให้การใช้งบประมาณด้านสื่อของเจ้าของสินค้าเด็กไม่ได้ถดถอยเหมือนสินค้าประเภทอื่น
สถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งประสบความสำเร็จในการสร้างรายการข่าว และรายการผู้หญิง จนสามารถสร้างกำไรได้ถึง 465 ล้านบาทในไตรมาสที่ 2 ประกาศเล็งเป้าไปที่รายการเด็ก เป็นลำดับต่อไป โดยในไตรมาส 3 ของปีนี้ จะมีการปรับผังเพิ่มรายการเด็กและเยาวชนในช่วง 16.00 น. เป็นรายการ CSA เรียลลิตี้ การประกวดร้องเพลงของเด็ก ดูแลการผลิตโดย มณีนุช เสมรสุต พร้อมรายการสตอรว์เบอรี่ ชิสเค้ก และรายการการ์ตูนผู้หญิงถึงผู้หญิง
"การที่ช่อง 3 พัฒนารายการเด็ก ก็เพื่อปิดจุดอ่อนที่เราไม่เคยมีรายการเด็ก ถ้าพูดถึงรายการเด็กจะนึกถึงช่องอื่น แต่ตอนนี้เราจะเพิ่มให้เค้าคิดถึงเรามากขึ้น ขั้นแรกจะเริ่มจากได้คนดูมาก่อน แต่ต่อไปจะค่อย ๆ มีรายได้เหมือนรายการอื่น ๆ และในที่สุดจะกลายเป็นสถานีเด็กอันดับ 1 และเป็นรายได้หลักขาที่ 4 ให้กับบริษัท ต่อจากละคร ข่าว และรายการผู้หญิง" ประวิทย์ มาลีนนท์ ผู้บริหารบีอีซี เวิลด์ ตั้งเป้า
พร้อม ๆ กับการเปิดตัวรายการเด็กของช่อง 3 คู่แข่งตลอดกาลอย่างช่อง 7 ก็บังเอิญมีแนวคิดคุมตลาดนี้อยู่เช่นกัน สมพงษ์ อัชฌานุเคราะห์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ผู้บริการสถานีโทรทัศน์สี ช่อง 7 กล่าวว่า ปีหน้ามีแผนที่จะปรับรูปแบบรายการใหม่โดยจะหันมาให้ความสำคัญกับรายการเด็กมากขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายวัยเด็กอายุระหว่าง 4-14 ปี ให้มากขึ้น ขณะที่ฐานผู้ชมส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นคนอายุ 24-35 ปี
ถือเป็นการกระจายกลุ่มเป้าหมายผู้ชมของช่อง 7 ที่กว้างขึ้น โดยช่อง 7 จะให้มีการเสนอรายการเด็กอย่างน้อยวันละ 1-1.30 ชั่วโมง ในช่วงเย็น ซึ่งจะมีการเริ่มออกอากาศตั้งแต่เดือนสิงหาคม ในเวลา 17.00-17.30 น. สมพงษ์มั่นใจว่า ด้วยความนิยมของช่อง 7 ซึ่งเป็นตัวเลือกแรกในการลงโฆษณาของเจ้าของสินค้าและเอเจนซี่โฆษณามาโดยตลอด ก็จะทำให้รายการเด็กของช่อง 7 ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน
ทรูไอพีทีวี ดึงดีสนีย์ช่วยหาลูกค้า
ไม่เพียงแต่สื่อโทรทัศน์แบบเดิม ๆ เท่านั้นที่จ้องใช้ตลาดเด็กเป็นกลไกที่ช่วยขยายเรตติ้ง ในภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน หากแต่สื่อโทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกกันว่า ไอพีทีวี ก็มองว่ารายการสำหรับเด็กจะเป็นจุดขายสำคัญในการสร้างกลุ่มผู้ชมรายการโทรทัศน์ผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ นี้แพร่หลายยิ่งขึ้นเช่นกัน
ทรู คอร์ปอเรชั่น ผู้ให้บริการสถานีโทรทัศน์ส่วนตัวผ่านอินเทอร์เน็ตในชื่อ "ทรู ไอพีทีวี" ซื้อลิขสิทธิ์ 2 สถานีบันเทิงสำหรับเด็กและครอบครัวของวอลท์ ดิสนีย์ มาเผยแพร่ผ่านทรู ไอพีทีวี นับเป็นรายที่ 2 ในเอเชียต่อจากฮ่องกง ที่ดิสนีย์เปิดสถานีผ่านโครงข่ายไอพีทีวี โดยประกอบด้วย ดิสนีย์ ชาแนล ที่เน้นกลุ่มผู้ชมวัย 6 ปีขึ้นไป และ เพลย์เฮ้าส์ ดีสนีย์ ชาแนล สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน อายุ 2-5 ปี รวมถึงผู้ปกครอง
ปัจจุบันไอพีทีวีของทรู เปิดให้บริการรายการบันเทิงและข่าวสาร 12 ช่องสถานี มีลูกค้าที่ใช้บริการอยู่เพียงหลักพันราย ทั้งที่ทรูมีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ต บรอดแบนด์ สูงถึง 6-7 แสนราย แต่ไพสิฐ วัจนะปกรณ์ ผู้อำนวยการและผู้จัดการทั่วไป ด้านบรอดแบนด์ บรอดคาสติ้ง มัลติมีเดีย ก็มั่นใจว่า 2 ช่องสถานีดีสนีย์ที่เปิดใหม่จะเป็นส่วนสำคัญในการขยายกลุ่มผู้ชม ตั้งเป้าเวลาปีครึ่ง จะสามารถขยายฐานสมาชิกทรูไอพีทีวี เพิ่มเป็น 70% ของฐานลูกค้าทรู บรอดแบนด์ ได้อย่างแน่นอน
ยูบีซีอัดอีเว้นท์เด็กเสริมแบรนด์อะแวร์เนส
ด้าน ยูบีซี เคเบิลทีวี ประกาศนำเข้าโชว์ดัง "การ์ตูนนิวัล (Cartoonival : Cartoon Network Live! On Stage)" เพื่อสนองตอบทุกรูปแบบของความต้องการให้แก่ผู้บริโภค โดยโชว์ตัวนี้จะเจาะไปลูกค้าของยูบีซีที่เป็นเด็กตั้งแต่ 3-10 ขวบ เพื่อเน้นการสร้างอะแวร์เนสกับลูกค้ามากขึ้นและเพื่อตอกย้ำช่องรายการที่นำเสนอสาระบันเทิงผ่านบริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกด้วย
"การจัดโชว์นี้จะช่วยสร้างการรับรู้หรืออะแวร์เนสให้กับกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อยูบีซีได้มากขึ้น โดยโชว์นี้จะเริ่มที่กรุงเทพฯก่อน และจะกระจายไปในต่างจังหวัดทุกพื้นที่ของประเทศด้วย หากได้กระแสตอบรับที่ดี นอกจากนี้เราน่าจะได้ลูกค้าที่บอกรับสมาชิกกับเราเพิ่มขึ้นด้วย" องอาจ ประภากมล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายพาณิชย์ธุรกิจ บริษัท ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด มหาชน เผยถึงวัตถุประสงค์
โชว์ตัวนี้จะจัดขึ้นเริ่มต้นประเทศในแถบเอเชียเป็นที่แรก เริ่มจากตลาดเอเชีย ได้แก่ กัวลาลัมเปอร์ สิงคโปร์ และไทยเป็นประเทศที่ 3 โดยจัดแสดงในระหว่างวันที่ 12-16 ตุลาคมนี้ ทั้งนี้ทางยูบีซีคาดว่าจะมีผู้ชมประมาณ 26,000-28,000 คน จากการแสดงทั้งหมด 5 วัน
ค่ายการ์ตูนจับมือซื้อลิขสิทธิ์ครบวงจร
ส่วนสื่อดั้งเดิม "การ์ตูน" สุดยอดแม่เหล็กที่เรียกความสนใจจากเด็ก ๆ ได้ตลอดการ ได้เริ่มปรับโฉมเปลี่ยนกระบวนทัพครั้งใหม่ เพื่อเจาะให้ถึงใจเด็ก เพิ่มแรงสะเทือนไปถึงเงินในกระเป๋าของพ่อแม่ด้วย
เริ่มการเคลื่อนไหวแรกด้วยการส่ง "แบทเทิ้ล บีดาแมน" การ์ตูนดังแดนปลาดิบมาขึ้นจอ ด้วยการผนึกของ 3 ค่ายยักษ์ใหญ่ของวงการการ์ตูนและของเล่นไทย บงกช-ดรีมเอ็กซ์เพรส (เดกซ์)-ก.เจริญทอยส์ โดยซื้อลิขสิทธิ์รวบยอดจากบริษัท ดีไรท์ จำกัด ธุรกิจผลิตสื่อทีวีและอนิเมชั่นรายใหญ่ของญี่ปุ่นเป็นเงินกว่า 10 ล้านบาท ทั้งลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่ภาพผ่านทางโทรทัศน์ ลิขสิทธิ์ในการจำหน่ายของเล่นและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ รวมไปถึงการลิขสิทธิ์ในการผลิตสินค้าเพื่อออกวางจำหน่ายและทำโปรโมชั่นด้วย โดยความเชี่ยวชาญในทำธุรกิจของแต่ละบริษัท เมื่อจับมือกัน ก็เชื่อว่าจะส่งให้คาแรคเตอร์การ์ตูนตัวนี้ประสบความสำเร็จได้แน่นอนกว่าการต่างคนต่างทำ
"หนังสือการ์ตูนเด็กอาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจบ้าง แต่เรามั่นใจว่าสำหรับตัวแบทเทิ้ล บีดาแมน นี้จะสามารถฝ่าภาวะตลาดแบบนี้ได้ เพราะคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูนนี้โดดเด่นมาก คงติดตลาดง่ายและที่ญี่ปุ่นเองก็ประสบความสำเร็จมาก อีกทั้งทำยอดขายสินค้าไปแล้วถึง 50 ล้านบาท" สิริจันทร์ พิพิธรังษี ผู้จัดการฝ่ายลิขสิทธิ์และการตลาด บริษัท บงกช พับบลิชชิ่ง จำกัด กล่าวถึงจุดแข็งของสินค้าที่จะช่วยทำตลาดให้กับบริษัท
สำหรับผู้ดูแลการเผยแพร่ออกอากาศทางโทรทัศน์และตลาดวีซีดี อย่างบริษัท ดรีมเอ๊กซ์เพรส (เอกซ์) จำกัด ที่เตรียมนำการ์ตูนเรื่องนี้ฉายผ่านโมเดิร์นไนน์ทีวี และผ่านรูปแบบวีซีดีในกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยกลุ่มคนดูหลักจะมีอายุตั้งแต่ 5-12 ปี ทั้งที่ดูผ่านฟรีทีวีและดูผ่านแผ่นวีซีดี ส่วนในเรื่องโอกาสและภาวะทางการตลาดที่จะมีผลต่อการเปิดตัวการ์ตูนเรื่องใหม่นี่ ทางพนิดา เทวอักษร ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ดรีมเอ๊กซ์เพรส (เอกซ์) มีความเห็นสอดคล้องว่า
" ตลาดอาจจะทรงตัวอยู่บ้าง แต่ถ้าคาแรคเตอร์การ์ตูนโดดเด่น ยังไงเสียกำลังซื้อก็น่าจะตามมา เพราะการ์ตูนเรื่องนี้ให้ข้อคิดที่ดี และสินค้าที่มีคาแรคเตอร์ไปลงนั้นก็เป็นกลุ่มสินค้าที่ขายได้อยู่แล้ว ดังนั้นไม่น่าจะมีปัญหาอะไร"
|
|
|
|
|