บล.กสิกรไทย เชื่อตลาดหุ้นซึมถึงกลางเดือนก.ย.นักลงทุนต่างประเทศรอประเมินสถานการณ์ใน-นอกประเทศ เชื่อหากจัดตั้งรัฐบาลต้นปีหน้า การลงทุนเมกะโปรเจ็กเดินหน้า ขณะที่สัญญาณดอกเบี้ยสหรัฐลดลงดึงเงินต่างประเทศไหลเข้าตลาดทุน “รพี” เล็งปี 50 เพิ่มลูกค้าสถาบันเป็น 30% จากปีนี้ที่ 10% ขณะที่เป้าดัชนีปรับลดจาก 790 จุดเหลือ 750 จุด
วานนี้ (29ส.ค.) บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดสัมมนาในหัวข้อ “โครงการจัดสรรเงินทองอุ่นใจ หลักทรัพย์กสิกรไทยใส่ใจดูแลคุณ” ณ โรงแรมแกรนด์ไชน่า
นายเชาวน์ เก่งชน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะเติบโตประมาณ 3-3.5% จากปัจจัยลบต่างๆ ยังคงส่งผลกระทบเช่น ราคาน้ำมันยังคงทรงตัวในระดับสูง ปัจจัยทางการเมืองที่ยังไม่มีความชัดเจน อาจจะมีการเลื่อนวันเลือกตั้ง 1 เดือนเป็น 15 พฤศจิกายน
ทั้งนี้ เชื่อว่าเฉลี่ยทั้งปีการเติบโตเศรษฐกิจจะอยู่ที่ 4-4.5% ขณะที่หากมีการจัดตั้งรัฐบาลได้ในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปีหน้าก็จะทำให้มีการเดินหน้าการลงทุนของภาครัฐบาลได้เต็มที่ แต่ยังคงมีความกังวลในเรื่องการปฏิรูปทางการเมืองในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ในไตรมาส 3/2551 ดังนั้นคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 50 จะเติบโตที่ 3.5-4.5%
สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยสหรัฐที่น่าจะเริ่มปรับตัวลดลงในไตรมาส 1/50 คาดว่าจะปรับตัวลดลงต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3/50 ซึ่งหากสหรัฐปรับลดอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และค่าเงินสกุลในเอเชียแข็งค่าขึ้น ซึ่งคาดว่าเงินเยนมีการแข็งค่าขึ้น 5-6% และคาดว่าค่าเงินหยวนจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-5% ส่วนค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าตามทำให้เม็ดเงินต่างประเทศไหลเข้าตลาดหุ้นในช่วงปีหน้า
นายรพี สุจริตกุล ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า หากรัฐบาลมีการจัดตั้งขึ้นได้ในช่วงต้นปีหน้าจะทำให้เม็ดเงินการลงทุนของภาครัฐจะทยอยลงทุนได้ประมาณกลางปี 50 ดังนั้นเชื่อหากมีสัญญาที่ภาครัฐจะมีการลงทุนก็จะส่งผลดีกับการลงทุนตลาดหุ้นไทยทำให้สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นบริษัทยังคงเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยในอีก 12 เดือนที่ 800 จุด
ทั้งนี้จากในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 750 จุด ซึ่งลดลงจากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 790 จุด จากปัจจัยทางการเมืองยังไม่ชัดเจน โดยช่วงสั้นหากนักลงทุนต้องการที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นควรที่จะทยอยซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี แต่หากนักลงทุนที่ยังไม่มีความมั่นใจในการเข้ามาลงทุนจากขณะนี้ที่ภาวะตลาดค่อนข้างผันผวนแนะนำให้นักลงทุนไปลงทุนกองทุน พันธบัตรฯลฯ
นายอมฤต ศุขะวณิช รองกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยต่อจากนี้ถึงกลางเดือนกันยายนจะมีลักษณะการเคลื่อนไหวซึมๆ เนื่องจากนักลงทุนต่างประเทศหยุดพักร้อนและคาดว่าจะกลับมาลงทุนในช่วงเดือนกันยายนนี้ แต่มีนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปีนี้ครบรอบ 5 ปี เหตุการณ์ 911 ซึ่งอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นมาดังนั้นนักลงทุนจึงยังไม่กล้าเข้ามาลงทุน แต่หากผ่านไปได้ตลาดหุ้นน่าจะปรับตัวดีขึ้น เพราะปกติช่วงก่อนการเลือกตั้งดัชนีหุ้นจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้แม้ภาวะตลาดหุ้นไทยจะมีความผันผวนดังนั้นนักลงทุนควรที่จะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีผลตอบแทนเงินปันผลที่สูง ซึ่งจะเป็นหุ้นที่อยู่ในSET 50 และหุ้นดังกล่าวก็จะมีสภาพคล่องที่ดี โดยหุ้นกลุ่มที่มีการปันผลสูง เช่น กลุ่มอิเล็กโทรนิกส์ และเดินเรือ เพราะที่ผ่านมาราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลงมาก
HANA ปันผลสูงสุด
สำหรับหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลสูงสุด 5 อันดับปีนี้ คือ บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส หรือ HANA ผลตอบแทน10.90%, บมจ.ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด หรือ TPC ผลตอบแทน 10.42%, บมจ.อาร์ ซี แอล หรือ RCL ผลตอบแทน 9.21%, บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) หรือ CCET ผลตอบแทน 8.38%, บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ หรือ TTA ผลตอบแทน 7.81%
ส่วนหุ้นที่มีการจ่ายเงินปันผลน้อยสุด 5 อันดับ คือ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น หรือ TRUE, บมจ.ทีพีไอ โพลีน หรือ TPIPL, ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ไม่มีการจ่ายเงินปันผล, บมจ.ชินแซทเทลไลท์ หรือ SATTEL ผลตอบแทน 0.11%, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ผลตอบแทน1.61%
เพิ่มลูกค้าสถาบันเป็น 30%
นายรพี กล่าวว่าในปีหน้าบริษัทมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนสัดส่วนลูกค้าสถาบันในประเทศเป็น 30% จากขณะนี้ที่มี 10% โดยการไปนำเสนอข้อมูลของบริษัทแนะนำในเรื่องบทวิจัยของบริษัท โดยจะแสดงให้เห็นจุดแข็งของบริษัทซึ่งมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นธนาคารและมีการใช้ข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยมาเป็นข้อมูลในการจัดทำบทวิเคราะห์ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทเริ่มมีการไปนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุนสถาบันแล้ว
ในส่วนของลูกค้ารายย่อยบริษัทจะมีการจัดสัมมนาเพิ่มสร้างฐานลูกค้า โดยคาดว่าในปี 50 จะมีลูกค้าเปิดบัญชีกับบริษัทเพิ่มเป็น 5,000 บัญชี จากขณะนี้ที่มีอยู่ 2,000 บัญชี และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาด (มาร์เกตแชร์) ที่ 1-1.5% จากปีนี้ที่คาดว่าจะไม่ถึง 1%
สำหรับการที่มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงนั้นเกิดจากปัจจัยลบต่างๆที่เข้ามา แต่บริษัทยังคงเดินหน้าในการรับเจ้าหน้าที่การตลาด (มาร์เกตติ้ง) เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้มีจำนวน 65 ราย ซึ่งตามแผนของบริษัทจะรับจำนวน 110 คน เพื่อดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่บริษัทตั้งไว้ 3 ปี ที่จะจะมีส่วนแบ่งการการตลาดสูงสุดติด 1 ใน 5
นายรพี กล่าวว่า บริษัทไม่มีแผนที่จะมีการหาพันธมิตรเข้ามาควบรวม เนื่องจากตราบใดที่ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ (ค่าคอมมิชชั่น) ยังคงอยู่ที่ 0.25% นั้น การควบรวมของบริษัทหลักทรัพย์จะเกิดได้ยาก เพราะ บล.ต่างๆ ยังคงสามารถประกอบธุรกิจได้และมีผลกำไรจากการดำเนินงานอยู่ รวมถึงไม่มีปัจจัยที่จะเร่งให้เกิดการควบรวม
|