|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2549
|
|
การส่งออกพลังงานและแร่ธรรมชาติชนิดต่างๆ คืออุตสาหกรรมหลักที่นำเข้าเงินตราต่างประเทศให้กับประเทศออสเตรเลียมาอย่างมากมายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และยังเป็นกลจักรสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจของออสเตรเลียขยายตัวอย่างแข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่อง
ความต้องการพลังงานและแร่ธรรมชาติของโลกนั้นถีบตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลักๆ ก็เป็นผลมาจากการบูมของเศรษฐกิจจีนและอินเดีย ซึ่งก็ยังไม่มีท่าทีที่จะชะลอตัวในอนาคตอันใกล้แต่อย่างใด ราคาพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติของโลก ไล่ตั้งแต่น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน ทองคำ เงิน ทองแดง และอื่นๆ อีกหลายประเภท ก็พากันทุบสถิติโลกที่มีมาในอดีตอย่างถ้วนหน้า
นอกจากนั้นความต้องการพลังงานของโลกในระยะยาวก็ยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย International Energy Agency ประเมินว่าภายในปี 2030 ความต้องการพลังงานของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีกถึง 50% จากระดับปัจจุบัน ซึ่งน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ ยังคงจะเป็นแหล่งพลังงานหลักที่ผลิตพลังงาน 80% ป้อนตลาดโลกและอานิสงส์จากการบูมของพลังงานและแร่ธรรมชาติเหล่านี้เอง ที่ช่วยชุบชีวิตให้กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในออสเตรเลียและที่อื่นๆ ทั่วโลกให้กลับฟื้นคืนชีพอีกครั้งหนึ่ง
แม้ออสเตรเลียจะไม่ได้เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน แต่ออสเตรเลียนั้นอุดมสมบูรณ์ ไปด้วยทรัพยากรพลังงานด้านอื่นๆ อย่างเช่น ถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติ และยูเรเนียม โดยเฉพาะถ่านหิน ออสเตรเลียคือประเทศผู้ส่งออกถ่านหินอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน โดยในแต่ละปีออสเตรเลียส่งออกถ่านหินได้มากถึง 1/3 ของถ่านหินที่ส่งออกในตลาดโลกทั้งหมด ปริมาณการส่งออกถ่านหินของออสเตรเลียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาก็เติบโตอย่างต่อเนื่องในระดับ 6% ต่อปี
นอกจากนั้นออสเตรเลียยังเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในปีที่ผ่านมาออสเตรเลียทำการส่งออกก๊าซธรรมชาติได้เพิ่มขึ้นถึง 34% จากปีก่อนหน้านี้และก็คาดกันว่าออสเตรเลียจะกลายเป็นผู้ส่งออกก๊าซธรรมชาติใหญ่อันดับสองของโลกภายใน 10 ปีข้างหน้า
นอกจากนั้นออสเตรเลียยังมีแหล่งน้ำมันในทะเลตอนใต้ของประเทศที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจอีกมาก ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียเองก็ได้ให้การสนับสนุนการสำรวจอย่างเต็มที่อยู่ในขณะนี้ ดังนั้นในอนาคตออสเตรเลียก็อาจจะกลายเป็นประเทศผู้มั่งคั่งน้ำมันรายใหม่ของโลกอีกก็ได้
และในยุคน้ำมันแพงประจวบกับปัญหา Global Warming และ Climate Change พลังงานนิวเคลียร์จึงเป็นทางเลือกที่สำคัญในอนาคต คาดกันว่าในปัจจุบันมีการใช้ Commercial Nuclear Reactors ผลิตพลังงานทั่วโลกอยู่ 440 แห่ง และอีก 60 แห่ง ก็กำลังถูกสร้างขึ้นโดยเฉพาะในประเทศจีนและอินเดีย และด้วยปัจจัยนี้เอง แร่ยูเรเนียมซึ่งเป็นแร่สำคัญในการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ ก็กำลังจะกลายเป็นแหล่งพลังงานสำหรับอนาคตอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งออสเตรเลียเองก็เป็นแหล่งแร่ยูเรเนียมขนาดใหญ่ของโลก โดยออสเตรเลียมีแหล่งแร่ยูเรเนี่ยมราคาถูก (low-cost Uranium) อยู่ถึงประมาณ 40% ของแหล่งแร่ยูเรเนียมที่ค้นพบแล้วทั่วโลก นอกจากนั้นในปีที่ผ่านมาออสเตรเลียก็สามารถส่งออกแร่ยูเรเนียมได้เพิ่มขึ้นถึง 24% จากปีก่อนหน้านี้
ด้วยปัจจัยดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมนายกรัฐมนตรี John Howard ของออสเตรเลีย จึงบอกกับที่ประชุม CEDA ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ออสเตรเลียนั้นมีความพร้อมที่จะกลายเป็น Energy superpower ของโลก นายกรัฐมนตรี John Howard ยังยกตัวอย่างอีกด้วยว่า มูลค่าการส่งออกพลังงานของออสเตรเลียในปีนี้คาดว่าจะสูงถึง 45 พันล้านเหรียญออสเตรเลีย (คูณด้วย 29 ก็จะได้มูลค่าเงินบาทไทย) หรือเทียบได้มากกว่า 3 เท่าของมูลค่ารวมของการส่งออก เนื้อสัตว์ ข้าวเปลือก และขนแกะ ซึ่งล้วนแต่เป็นสินค้าส่งออกทางการเกษตรที่สำคัญของออสเตรเลีย
การบูมของอุตสาหกรรมพลังงานและเหมืองแร่ในออสเตรเลีย นอกจากจะส่งผลมหาศาลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมแล้ว ยังส่งผลโดยตรงต่อรัฐที่เป็นแหล่งเหมืองแร่ อย่างรัฐ Western Australia ซึ่งมี Perth เป็นเมืองหลวง และรัฐ Queensland ซึ่งมี Brisbane เป็นเมืองหลวง รวมถึงรัฐอย่าง Northern Territory ด้วยเช่นกัน
ซึ่งถ้าการบูมครั้งนี้มีขนาดใหญ่เและเป็นเวลานานเพียงพอ แผนผังลำดับเมืองใหญ่ในออสเตรเลียซึ่งถูกครอบครองมานานโดย Sydney และ Melbourne ก็อาจจะถูกท้าทายโดยเมืองอย่าง Perth และ Brisbane ก็เป็นได้ เพราะการบูมขนาดใหญ่หมายถึงการอพยพเข้าของผู้คนและธุรกิจประเภทต่างๆ รวมถึงการบูมของราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่จะติดตามมาอีกต่างหาก อย่างไรก็ตาม วิสัยทัศน์ของนายกรัฐมนตรี John Howard ที่จะผลักดันให้ออสเตรเลียเป็น Next ซาอุดีอาระเบียนั้น ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นนโยบายสวนกระแสและไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากยิ่งออสเตรเลียผลิตถ่านหินและก๊าซธรรมชาติป้อนตลาดโลกมากขึ้นเท่าไร ก็เท่ากับว่าออสเตรเลียผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ Greenhouse effect ให้กับโลกมากขึ้นเท่านั้น และความกดดันด้านสิ่งแวดล้อมนี้เอง ก็จะกลายเป็นเงาติดตามรัฐบาลออสเตรเลียในภาระการเป็นมหาอำนาจทางพลังงานของโลกต่อไป
นอกจากนั้นบทบาทในการขุดเจาะและส่งออกยูเรเนียมของออสเตรเลีย ก็เป็นหัวข้อที่กำลังได้รับความสนใจอย่างสูงในขณะนี้ เพราะพลังงานนิวเคลียร์แม้จะเป็นพลังงานที่ค่อนข้างสะอาด แต่ก็เป็นพลังงานที่สร้างความอ่อนไหวให้กับเสถียรภาพของโลก ดังนั้นการส่งออกแร่ยูเรเนียมของออสเตรเลีย จึงต้องมีการไตร่ตรองในเชิงนโยบายอย่างรอบคอบและรัดกุม ก่อนที่ออสเตรเลียจะทำการเปิดเหมืองแร่ยูเรเนียมเพิ่มขึ้น เพื่อก้าวไปสู่การเป็นมหาอำนาจทางพลังงานในทศวรรษหน้าอย่างแท้จริง
|
|
|
|
|