|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2549
|
|
สัปดาห์ก่อน คุณสุปราณี คงนิรันดรสุข แห่งนิตยสารผู้จัดการ ส่ง By The Tyne : มองอังกฤษยุคใหม่ที่เปลี่ยนไป หนังสือเล่มที่ 19 ในซีรีส์ The Global Link ที่เขียนโดยคุณวิไลลักษณ์ ถิรนุทธิ คอลัมนิสต์ของผู้จัดการที่เพิ่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลมาให้ผมอ่าน
ผมใช้เวลาในช่วงว่างเพียงไม่ถึงสองวันในการพลิกอ่านหนังสือเล่มนี้จนจบแล้วพบว่า หนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาหลายส่วนที่กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอังกฤษและประเทศจีนไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ในเชิงการค้าที่นับวันยิ่งจะผูกแต่ละประเทศในโลกให้ใกล้ชิดกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ในบทที่ 15 ของ By The Tyne กล่าวถึง "Bra War" หรือสภาพการณ์ที่สินค้าเสื้อผ้าของประเทศจีนนั้นเข้าตีตลาดเสื้อผ้าของอังกฤษ (รวมถึงสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในยุโรป) เสียจนกระจุยกระจาย
"อยู่อังกฤษ ถึงไม่รวย ก็สวยได้ เพราะเสื้อผ้าสวยๆ ในอังกฤษ ซึ่งแต่ก่อนราคาแพงเกินเอื้อม แต่ปัจจุบันกลับราคาถูก จนบางครั้งเหลือแค่ตัวละปอนด์สองปอนด์ (70-140 บาท) เท่านั้น หลายคนบอกว่าใส่แค่ไม่กี่ครั้งแล้วทิ้งก็ยังคุ้ม" คุณวิไลลักษณ์เขียนสะท้อนให้เห็นถึง สงครามบรา (Bra War) ไว้อย่างเห็นภาพ พร้อมทั้งอธิบายว่า ปัจจุบันแหล่งผลิตและที่มาของเสื้อผ้าราคาถูกของโลกนั้นตกอยู่ในมือของชาวจีนหมดแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่โควตาสิ่งทอ (Multi-Fibre Arrangements หรือ MFA) ถูกยกเลิกไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2548
การบุกเข้าตีตลาดเสื้อผ้า-สิ่งทอในประเทศพัฒนาแล้วของสินค้าจากจีนนั้นกลายเป็นประเด็นในระดับโลกที่ประเทศพัฒนาแล้วใช้โจมตีว่า จีนให้การอุดหนุนอุตสาหกรรมสิ่งทอของตนเองอย่างลับๆ ผ่านหลายช่องทาง อย่างเช่น การยกเว้นภาษี เงินอุดหนุนค่าเช่าที่ดิน รวมไปถึงการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่ผู้ประกอบการเงินอุดหนุนการส่งออก ฯลฯ
อย่างที่ทราบกันดีว่า ผลกระทบจากสภาวะของการที่สินค้านำเข้าจากจีนถูกกว่าสินค้าที่ผลิตในประเทศพัฒนาแล้วนั้น ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ผลิตสินค้าในประเทศนั้นๆ ขายของไม่ออกจนต้องปิดกิจการกันไปเป็นแถบๆ หรือไม่ก็ต้องโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีนเสียเลยเพื่อเป็นการลดต้นทุน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไม่เพียงสินค้าจำพวกเสื้อผ้า-สิ่งทอเท่านั้นที่พยายามย้ายฐานการผลิตไปยังแดนมังกร แต่ยังรวมไปถึงสินค้าแทบทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นรองเท้า ยา เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ รถยนต์ อะไหล่รถยนต์ ฯลฯ สถานการณ์เช่นนี้เองที่ทำให้ผู้คนในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาทั้งหลายก่นด่าชาวจีนว่ากำลังแย่งงานในภาคการผลิตไปจากคนอเมริกันและคนยุโรป (เช่นเดียวกับที่กล่าวหาชาวอินเดียว่า แย่งงานในภาคบริการของคนอเมริกันและยุโรปทำ) สิ่งเหล่านี้ทำให้ในช่วงสองปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2547-2548) ผู้ประกอบการชาวตะวันตกล้วนแล้วแต่หวาดหวั่นกับคำว่า China's Price และ Cut the price by 30%, or else lose you customers! กันเสียจนไม่เป็นอันกินอันนอน
ภาวะเช่นนี้ส่งให้ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ต่างพยายามกดดันจีนที่ในแต่ละปีเกินดุลการค้ากับโลกมากมายมหาศาล ให้รัฐบาลจีนปรับอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินหยวนกับเงินดอลลาร์สหรัฐ ให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้น และระบายเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนที่มีมากกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือราวร้อยละ 43 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ออกเสีย
รัฐบาลจีนจงใจอุดหนุนผู้ผลิตจริงหรือ? สินค้าส่งออกของจีนนั้นขายราคาต่ำกว่าต้นทุนจริงหรือ? จีนเป็นผู้ส่งออกภาวะเงินฝืดไปยังโลกตะวันตกจริงหรือ?
วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2549 หนังสือพิมพ์ International Herald Tribune ได้ตีพิมพ์รายงานเรื่อง Behind U.S.-China trade gap : The story of a boot โดยเนื้อหานั้นพยายามตีแผ่เกี่ยวกับความไม่สมดุลทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนผ่านตัวอย่างเป็นสินค้าชิ้นเล็กๆ คือ รองเท้าบูต
ผู้สื่อข่าวของ IHT ได้เดินทางไปเยือนโรงงานผลิตรองเท้าบูตเพื่อส่งออกแห่งหนึ่งในเมืองเทียนจิน (เทียนสิน) เมืองท่าสำคัญของจีนที่อยู่ใกล้ๆ กับกรุงปักกิ่ง โรงงานแห่งนี้ผลิตรองเท้าบูตส่งขายให้กับร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ทั้งหลายในสหรัฐอเมริกา
IHT เปิดเผยว่า สำหรับรองเท้าบูตคู่หนึ่งที่ติดป้ายขายปลีกราคา 49.99 เหรียญสหรัฐจริงๆ แล้วราคาขายที่หน้าโรงงานผู้ผลิตในประเทศจีนนั้นอยู่ที่ 15.30 เหรียญสหรัฐต่อคู่ โดยในราคาขายนี้เมื่อหักต้นทุนวัตถุดิบที่นำเข้ามาจากสหรัฐฯ (10.96 เหรียญ) ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดในโรงงาน (1.88 เหรียญ) ค่าแรง (1.30 เหรียญ) ค่ากล่องและค่าติดตราสินค้า (0.52 เหรียญ) แล้ว เจ้าของโรงงานผลิตรองเท้าจะได้กำไรเพียงคู่ละราว 0.65 เหรียญสหรัฐเท่านั้น ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรที่เจ้าของร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ ที่ได้กำไรจากการขายมากถึงคู่ละประมาณ 3.46 เหรียญสหรัฐแล้ว จะเห็นได้ว่ากำไรของเจ้าของโรงงานผู้ผลิตชาวจีนกับกำไรของเจ้าของร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ นั้นแตกต่างกันมากกว่า 5 เท่า!
ด้านผู้ส่งออกสินค้าจากประเทศจีนที่มีฐานอยู่ในฮ่องกงก็เปิดเผยด้วยว่า ความแตกต่างระหว่างราคาหน้าโรงงานกับราคาขายปลีกของรองเท้าบูตที่อยู่ที่ประมาณ 3 เท่าในกรณีนี้ถือเป็นเพียงขั้นต่ำเท่านั้น เพราะหากเป็นสินค้ามียี่ห้อดังอย่างเช่น Calvin Klein Nautica Chaps หรือ Ralph Lauren แล้วส่วนต่างอาจจะเป็น 4 เท่า 5 เท่า หรือแม้กระทั่งสิบเท่า นอกจากนี้แล้วในปัจจุบันผู้ซื้อ (เจ้าของร้านค้าปลีกในสหรัฐฯ) ก็ยังมีอำนาจในการต่อรองที่จะกำหนดต้นทุนได้เหนือผู้ผลิตที่อยู่ในจีนเสียด้วยซ้ำไป เนื่องจากทุกวันนี้โรงงานผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าในประเทศจีนนั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน และต่างก็แข่งขันกันอย่างรุนแรง
ขณะที่หากมองในแง่มุมของแรงงานก็จะพบว่า แรงงานชาวจีนที่ทำหน้าที่ผลิตรองเท้าบนสายพานการผลิตนั้นได้ค่าแรงน้อยมากเสียจนเหลือเชื่อ และรายได้ที่แรงงานชาวจีนผู้ทำหน้าที่ร้อยเชือกรองเท้าได้ในปัจจุบันนั้นน้อยกว่าแรงงานชาวอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 18 ยุคแรกๆ ของการปฏิวัติอุตสาหกรรมเสียอีก
IHT ระบุว่า เมื่อเกือบสามร้อยปีที่แล้วแรงงานในโรงงานสิ่งทอของอังกฤษได้ค่าแรงราวสัปดาห์ละ 8 ชิลลิ่ง ซึ่งเมื่อคิดคำนวณข้าม Time&Space มาเปรียบเทียบกับแรงงานชาวจีนในปัจจุบันแล้วก็คงจะเท่ากับเงินราวๆ 1,300 หยวนต่อเดือน ซึ่งมากกว่าค่าแรงที่แรงงานชาวจีนได้รับอยู่ราวร้อยละ 30 เรียกได้ว่าต่อให้ราคาค่าแรงของคนงานทั้งโรงงานเพิ่มขึ้นอีกเท่าหนึ่ง ราคาขายปลีกรองเท้าบูตคู่นี้ในสหรัฐฯ ก็เพิ่มขึ้นไม่กี่เซ็นต์เท่านั้น
จริงๆ แล้ว รายได้ของแรงงานเย็บรองเท้าราวๆ พันหยวนต่อเดือนที่ IHT ระบุไว้ในรายงานชิ้นนี้นั้น ผมเห็นว่าเป็นรายได้ที่สูงเกินกว่าความเป็นจริงในปัจจุบันที่ผมรับรู้มากมายนัก เพราะค่าแรงของแรงงานจีนในปัจจุบันนั้นถือว่าน้อยนิดมาก อย่างเช่น พนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารในกรุงปักกิ่ง เมืองหลวงที่ค่าครองชีพแพงกว่าเมืองเทียนจินนั้นอาจมีรายได้ต่อเดือนเพียงแค่ 300-400 หยวนเท่านั้น (โดยมีสวัสดิการเป็นอาหารแบบขอไปทีสามมื้อกับห้องขนาดเท่ารูหนูเอาไว้ซุกหัวนอน)
สรุปแล้วจากข้อกล่าวหาที่ชาติตะวันตกว่าจีนต่างๆ นานานั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในส่วนหนึ่งรัฐบาลจีนนั้นอาจให้การอุดหนุนผู้ประกอบการของตนเองจริง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเมื่อมาพิจารณาตัวเลขแจกแจงกันอย่างละเอียดแล้วก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในความเป็นจริง โลกยุค Global Link นั้น ยังไงๆ นายทุนชาวตะวันตกก็ยังคงเป็นผู้ที่คว้าผลประโยชน์ส่วนใหญ่ไปอยู่ดี ส่วนนายทุนชาวจีนนั้นได้ส่วนแบ่งเป็นเพียงเค้กซีกเล็กๆ เท่านั้น
มิพักต้องพูดถึงแรงงานจีน (รวมถึงแรงงานในประเทศกำลังพัฒนาต่างๆ) ที่หากเปรียบเทียบไปแล้วถือว่าน่าสงสารที่สุด เพราะสุดท้ายก็ยังคงได้รับเพียงแค่เศษเหลือเดนจากก้อนเค้กชิ้นใหญ่เท่านั้น
|
|
|
|
|