Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2549
Vivienne Westwood นักคิดวงการแฟชั่น             
โดย สุภัทธา สุขชู
 


   
www resources

โฮมเพจ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
Vivienne Westwood Homepage

   
search resources

Crafts and Design
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
Garment, Textile and Fashion
Vivienne Westwood




เด็กสาวจากครอบครัวช่างทำรองเท้าและช่างทอในโรงงาน เติบโตในสังคมแรงงานแห่งเมืองผู้ดีช่วงวิกฤติหลังสงครามโลก เรียนออกแบบแค่เทอมเดียวก็ลาออก เพราะเริ่มไม่แน่ใจว่า โลกศิลปะจะมีที่ว่างให้กับชนชั้นกรรมกรอย่างเธอบ้างหรือไม่...ลองคิดดูเล่นๆ ว่า เด็กสาวคนนี้จะประสบความสำเร็จถึงไหน อย่างไร?

ทุกวันนี้ เด็กสาวผู้นั้นเป็นดีไซเนอร์ผู้ทรงอิทธิพลในวงการแฟชั่นโลก รายได้การขายเสื้อผ้าที่เธอดีไซน์ให้ลูกค้าผู้ดีมากกว่า 32 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 1998 และเร็วๆ นี้ เธอเพิ่งได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ท่านผู้หญิง (Dame) จากราชสำนักอังกฤษตอบแทนการเป็นดีไซเนอร์ที่สร้างชื่อให้ประเทศ เด็กสาวคนนี้คือ วิเวียน เวสต์วูด (Vivienne Westwood)

หลังเรียนวิชาแฟชั่นในวิทยาลัยสอนศิลปะแห่งแฮร์โรว์เพียงภาคการศึกษาแรก วิเวียนลาออกด้วยเหตุผลว่า "ไม่รู้ว่าเด็กสาวพื้นเพชนชั้นกรรมกรอย่างฉันจะมีปัญญาทำมาหากินอะไรในโลกศิลปะ" กลายเป็นจุดเริ่มต้นการต่อต้านความอยุติธรรมในระบบชนชั้นของเมืองผู้ดี

ขณะที่รันเวย์ชีวิตในวงการแฟชั่นของดีไซเนอร์นอกกรอบคนนี้ถูกจุดประกายขึ้น เมื่อวิเวียนพบรักและแต่งงานกับมัลคอล์ม แมกลาเรน ผู้คลั่งไคล้แฟชั่นและดนตรีร็อก

วิเวียนใช้ความกดดันทางสังคมที่ถือเป็นรากฐานชีวิตติดตัวชนชั้นผู้ใช้แรงงานมาแต่เกิด แปรเป็นวัตถุดิบทางความคิดสร้างสรรค์ด้วยความกล้าท้าทายต่อกรอบประเพณีสังคมดั้งเดิม ออกมาเป็นร้านขายเสื้อผ้าแนว "พังก์ร็อก" ในยุค 1970

"พังก์" ถือเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านความคิดของคนยุคเก่าที่ยึดติดกับระบบชนชั้นของสังคมอังกฤษ เกิดจากแรงผลักดันของวัยรุ่นในช่วงนั้น สร้างสรรค์เป็นผลงานดนตรีและแฟชั่นที่มีเนื้อหากบฏต่อสังคม

ยุคแรก วิเวียนแสดงออกถึงการต่อต้านสังคมระบบชนชั้นผู้ดี ผ่านงานดีไซน์ในหลากวิธี เช่น วัสดุนอกกรอบทั้งกระดูกไก่ ยางรถยนต์ หมุด โซ่ ภาพจากนิตยสารเก่า ฯลฯ ถูกนำมาสร้างเป็นเสื้อยืดดิบๆ

วิเวียนยังใช้งานดีไซน์เป็นเครื่องมือสื่อสารทางเพศอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นการพิมพ์ลายหน้าอกผู้หญิงและรูปคาวบอยเปลือยบนเสื้อยืด หรือกระดุมรูปศิวลึงค์ รวมทั้งการเฉือนเสื้อผ้าให้ขาดวิ่นเห็นเนื้อหนังบริเวณหน้าอก และการนำชุดชั้นในมาใส่ด้านนอก ฯลฯ

"งานของฉันคือการประจันหน้ากับสถาบันทางสังคม พยายามค้นหาว่าอิสรภาพของฉันเองอยู่ที่ไหน และทำอย่างไรเพื่อให้ได้มันมา" วิเวียนใช้เสื้อยืดลามกเป็นสื่อ เพื่อค้นหาจุดยืนและอิสรภาพที่คนชนชั้นกรรมกรเช่นเธอโหยหา

ในสังเวียนแฟชั่นยุคแรกคือ วิเวียนไม่ได้ขายแค่เสื้อผ้าสไตล์พังก์ร็อก แต่สิ่งที่เธอพยายามเสนอขายแก่สังคมคือ ทัศนคติ (attitude) ที่ว่า "กล้าที่จะยืนนอกกรอบ แล้วบอกว่านี่คือสิ่งที่ฉันต้องการ"

ท้ายที่สุดแล้ว กระแสพังก์ร็อกก็ไม่อาจรอดพ้นการถูกดูดกลืนโดยวัฒนธรรมกระแสหลัก เธอจึงต้องเปลี่ยนยุทธวิธีในการทำลายขนบ และนี่ก็คือจุดเปลี่ยนในงานยุคหลังของเธอจนถึงวันนี้

ยุค 1980 เป็นช่วงที่วิเวียนเริ่มฉายแววความเป็นดีไซเนอร์นักแหกกฎการตัดเย็บชั้นสูงแบบอังกฤษ

ขณะที่การตัดเย็บสไตล์ผู้ดีอังกฤษจะเน้นสัดส่วนที่เท่ากันทั้งสองข้าง แต่สำหรับวิเวียน สูทของเธออาจมีปกข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง แขนข้างหนึ่งยาวกว่าอีกข้างหรืออาจมีแขนข้างเดียว ชายเสื้อสูทไม่จำเป็นต้องยาวเท่ากัน หรือแขนเสื้อที่มักโค้งมนตรงไหล่ อาจกลายเป็นมีมุมเหลี่ยม แหลมออกมาจนเวลาใส่ต้องพับมุม คอเสื้ออาจกลายเป็นชายกระโปรง ขณะที่ชายเสื้ออาจถูกใส่แทนขอเสื้อ ฯลฯ

ทุกอย่างที่ไม่ใช่ขนบแฟชั่นแบบเดิมอาจเกิดขึ้นได้ด้วยจินตนาการของดีไซเนอร์คนนี้

บ่อยครั้งที่วิเวียนยังฉีกกรอบประเพณีแฟชั่นอังกฤษ ด้วยการนำเอาผ้า (fabric) ราคาแพงมาทำชุดลำลองไตล์สตรีทแวร์และชุดคลุมอาบน้ำ เช่น ผ้าบราเธียร์สำหรับเครื่องแบบขี่ม้า ผ้าแฮร์ริสทวีดผ้าขนสัตว์ราคาแพง ผ้าขนแกะทอมือ ฯลฯ กลับกันเธอใช้วัสดุที่ดูไร้ราคามาตัดเย็บชุดราตรีหรู เช่น ผ้ามัสลิน ผ้าเช็ดรถ ฟาง ริบบิ้น ฯลฯ

การฉีกตำราแฟชั่นดั้งเดิมเช่นนี้จะเกิดไม่ได้ถ้าเธอไม่ได้ศึกษาและเข้าใจเทคนิคตัดเย็บ แพทเทิร์น และเส้นใยผ้า เป็นอย่างดี

หลังจากศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมอังกฤษอย่างจริงจัง วิเวียนเริ่มนำภูมิปัญญาแฟชั่นดั้งเดิมมาใช้ เป็นเสมือน "กล้องส่องย้อนอดีตแห่งแฟชั่น"

"คอร์เส็ต" ชุดชั้นในสาวสังคมชั้นสูงในยุควิกตอเรียที่ใช้รัดให้เอวคอดและมีหน้าอก แต่ถูกยกเลิกไปเพราะถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์การกดขี่ทางเพศ วิเวียนแก้โดยเย็บด้วยผ้ายืดสมัยใหม่เพื่อให้ใส่สบาย และดัดแปลงให้ใส่ได้ทั้งข้างในและข้างนอก พร้อมตั้งชื่อคอลเลกชั่น อย่างประชดประชันแนวคิดเฟมินิสต์ว่า "เทพีเสรีภาพ"


"คริโนลีน" กระโปรงสุ่มไก่ในชุดราตรี อีกสัญลักษณ์ความสง่าของสาววิกตอเรียน ที่ไม่นิยมพราะขนาดใหญ่เทอะทะและโครงแข็งเปลี่ยนรูปยาก วิเวียนแก้ไขด้วยการตัดให้สั้นทำเป็นชุดลำลอง และใช้กระดูกปลาวาฬเทียมเป็นโครงซึ่งแม้บิดพับก็กลับเข้ารูปได้ เธอยังต่อยอดด้วยการใส่ซับในซ้อนเข้าไปเพิ่มความพลิ้วไหวให้กับสะโพกยามโยกย้าย จนดูคล้าย "หางเป็ดน้อย" เอกลักษณ์ชุดกระโปรงสั้นของวิเวียนจนทุกวันนี้

"การทำงานของฉันจะเริ่มต้นจากการสังเคราะห์สิ่งต่างๆ ในอดีต ดึงรายละเอียดที่น่าสนใจบางอย่างที่มักถูกมองข้ามมาศึกษาอย่างจริงจัง ในที่สุดก็จะได้ผลงานที่แปลกแหวกแนว เพราะฉันได้สอดแทรกความคิดของฉันเข้าไปจนกลบรายละเอียดเดิม" วิเวียนอธิบาย

วิเวียนยังสนใจการทำเสื้อผ้าเข้ารูป ด้วยเชื่อว่า "เสื้อผ้าคือการเปลี่ยนรูปทรงของร่างกาย" เธอใช้เทคนิคเพิ่มลดตัดเฉือนเพื่อบิดเบือนข้อเท็จจริงทางสรีระผู้สวมใส่ให้ดูดีแบบอุดมคติ และทำให้สิ่งที่เธอคิดว่า ควรจะเป็นส่วนที่ดึงดูดใจที่สุด คือใบหน้าโดดเด่นขึ้นมา

"ถ้าผู้หญิงคนหนึ่งสวมใส่เสื้อผ้าของฉัน ฉันจะภูมิใจมากกว่าเมื่อทุกคนตกตะลึง และอยากรู้ว่าผู้หญิงคนนั้นเธอเป็นใคร โดยที่ไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ว่าเธอใส่เสื้อของฉัน"

วิเวียนเริ่มต้นจากรองเท้าส้นสูงที่จะช่วยให้ขาดูยาว และเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ในการพรางสัดส่วนอื่นให้ดูดีตามไปด้วย รองเท้าที่เธอออกแบบส่วนใหญ่ส้นสูงกว่า 10 นิ้ว ...สูงจนเธอเองได้พบสัจธรรมจากรองเท้า เมื่อครั้งนางแบบเจนเวทีอย่าง "นาโอมิ แคมเบลล์" ตกส้นตึกของเธอกลางแคตวอล์ก "แฟชั่นเหมือนกับการไต่อยู่บนราวสูง เสี่ยงต่อการอับอายถ้าร่วงลงมา แต่ถ้ายังเดินต่อไปได้นั่นคือชัยชนะ"

จากเรียวขา สัดส่วนต่อมาก็คือบั้นท้าย วิเวียนเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่คิดทำกระโปรงเสริมบั้นท้ายให้ผายกว้างจนดูเหมือนมดต่อขา เพื่อทำให้ช่วงเอวดูคอด ลำตัวท่อนบนดูเล็ก ผลที่ได้ก็คือ ลำคอดูยาว ซึ่งช่วยเพิ่มพลังดึงดูดให้กับใบหน้า...นี่เป็นกระบวนการเพิ่มเสน่ห์เย้ายวนทางเพศให้นางแบบตามวิธีของวิเวียน

วงการแฟชั่นยังยกย่องวิเวียนเป็น "นักคิดทางแฟชั่น" เธอเป็นดีไซเนอร์คนแรกที่เข้าใจเรื่องแพตเทิร์นในมุมมอง 3 มิติอย่างแท้จริง เช่น การใช้ผ้าสี่เหลี่ยม 2 ผืนวางเหลื่อมเย็บติดกันให้เกิดเหลี่ยมแหลมขึ้น หรือการใช้ผ้าสามเหลี่ยมวางเฉียงเย็บติดกันเพื่อตัดเป็นชุดเข้ารูป หรือกระเป๋าเสื้อที่โค้งรอบตัวเสื้อจนเกิดมูฟเมนต์ทุกครั้งที่ผู้สวมใส่เคลื่อนไหว เป็นต้น

"ด้วยความที่วิเวียนมาจากชนชั้นกลาง เธอจึงรู้สึกว่าไม่อยากสูญเสียผ้าโดยเปล่าประโยชน์ เธอจึงนำเอาผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยมาตัดเย็บ ทดลองเปลี่ยนฟอร์ม แพตเทิร์น และเทคนิคต่างๆ เพื่อให้เสียผ้าน้อยที่สุด ถ้าสังเกตดีๆ เสื้อผ้าของเธอมักจะใช้ผืนผ้ารูปสี่เหลี่ยมเพราะจะทำให้เสียผ้าน้อยที่สุด" เจ้าหน้าที่จากพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต (V&A) เล่าที่มาความอัจฉริยะของดีไซเนอร์วัย 60 กว่าปีคนนี้

เสื้อผ้าของวิเวียนหลายชิ้นมักถูกวิจารณ์ว่า "ใส่จริงไม่ได้" ทั้งความแปลกของวัสดุ ลวดลาย สัดส่วนโครงสร้าง และแพตเทิร์นการตัดเย็บ แต่เธอมีมุมมองว่า "เสื้อผ้าของฉันอาจดูนอกลู่นอกทาง เพียงเพราะผู้คนไม่ได้คาดคิด แต่สิ่งที่ฉันทำก็เพื่อประณามความจืดชืดและความน่าเบื่อของแฟชั่นธรรมดาเหล่านั้น"

วิเวียนมักกล่าวว่า เธอไม่ได้พยายามสร้างสิ่งที่แตกต่าง แต่สิ่งที่เธอพยายามทำก็คือ "ทำสิ่งเดียวกันแต่ในวิถีทางที่แตกต่างไป" โดยสิ่งเดียวที่เชื่อมโยงทุกชุดของเธอก็คือความกล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่

กว่า 30 ปีในวงการแฟชั่น วิเวียนมีจุดยืนในมุมมองของสังคม จากนักล้มล้าง นักทำลาย และดีไซเนอร์ยอดอัจฉริยะในวันนี้ แต่ไม่ว่าจะเป็นอิมเมจใด เสื้อผ้าของเธอถูกเข้าใจในแง่ของการต่อต้านระบบเสมอมา ซึ่งนี่ทำให้เธอแน่ใจว่า พรมแดงในวงการแฟชั่นของเธอจะอยู่ได้ในฐานะแบบนี้

"เหตุผลเดียวที่ฉันอยู่ในวงการแฟชั่นก็เพื่อทำลายความยึดมั่นในระบบเดิม"

จากเด็กสาวที่ดูเหมือนจะด้อยโอกาสทางสังคม แต่วันนี้เธอกลายเป็นดีไซเนอร์ผู้มีอิทธิพลในวงการแฟชั่น เป็นดีไซเนอร์ของดีไซเนอร์ชื่อดัง และเป็นแรงบันดาลใจของดีไซเนอร์หน้าใหม่ นี่คือสิ่งที่วิเวียนคิดว่า "คุ้มที่สุดที่ทำมาตลอดชีวิต"

เสื้อผ้าราว 150 ชิ้น ของวิเวียนที่ถูกจัดแสดงให้คนไทยได้ชมที่ TCDC ในชื่อ "ตามรอยเส้นทางอาชีพอันผาดโผนของวิเวียน เวสต์วูด ดีไซเนอร์ผู้พิสมัยการแหกกฎ" ซึ่งจะจัดแสดงจนถึง 24 กันยายนนี้

ความสวยงามและแปลกตาของดีไซน์ ไม่ใช่ยิ่งใหญ่และสำคัญเท่ากับ "ความรู้สึกนึกคิด (mind)" ของดีไซเนอร์รุ่นป้าคนนี้ นี่ต่างหากคือสิ่งที่ผู้เฒ่าวิสัยทัศน์ไกลอย่างพันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธาน TCDC พร่ำตอกย้ำและอยากให้คนไทยเข้าไปศึกษา พร้อมกับสรุปว่า...

"ไม่ว่าจะชนชั้นใด ถ้าหากมีความคิดสร้างสรรค์และมีการจัดการความกดดันทางสังคมที่ดีแล้ว ก็ย่อมจะเกิดปัญญาที่จะผลิตผลงานที่สร้างสรรค์ได้"   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us