บ่ายวันหนึ่ง หลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดไม่นานนัก นักศึกษาวิชาเคมีชาวอินเดียชื่อทหะภัย
พาเทล อ่านพบในหนังสือพิมพ์ "เดอะ ไทมส์ ออฟ อินเดีย" ว่า กฎหมายคนเข้าเมืองฉบับใหม่ของสหรัฐฯ
ทำให้คนเอเซียสามารถอพยพเข้าไปในอเมริกาได้ง่ายขึ้น
"ผมตรงไปขอวีซ่าที่กงศุลสหรัฐฯ ในเมืองบอมเบย์ทันที ผมไปถึงอเมริกาเมื่อปี
1952 โดยมีเงินติดกระเป๋าอยู่ 2,000 เหรียญ" พาเทลย้อนรำลึกถึงความหลัง
พาเทลไปตั้งหลักที่ซานฟรานซิสโก เพราะมีเพื่อนร่วมชาติจากรัฐบ้านเกิดเดียวกันคือ
รัฐกุชราตชื่อ คานจิภัย เดซาย เป็นเจ้าของโรงแรมแห่งหนึ่งที่นี่ ซึ่งเขาสามารถพักอาศัยในราคาถูก
ๆ ได้
"เขาเป็นชายแก่ที่ติดนิสัยชอบดื่ม แต่เขาก็ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพทุกคน
ที่เข้ามาหา เขามีกำไรทุกปี มันทำให้ผมคิดว่า ถ้าเขาสามารถหาเงินได้จากธุรกิจนี้
ผมก็น่าจะทำได้" พาเทลกล่าว
เพียงสองเดือนนับจากวันที่เขาเหยียบแผ่นดินอเมริกา พาเทลตัดสินใจเช่าโรงแรมขนาด
100 ห้องในย่านที่เรียกว่า "เซ้าท์ มาร์เก็ต" ของซานฟรานซิสโกด้วยเงินลงขันของตัวเองกับที่รวบรวมจากเพื่อน
ๆ หลายคน เขาเสียค่าเช่าเดือนละ 400 เหรียญ แล้วเอาห้องเช่าไปปล่อยให้เช่าต่อในอัตราห้องละ
3.5-5 เหรียญต่อสัปดาห์
พาเทลบริหารงานด้วยการประหยัดค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด ทำให้มีกระแสเงินไหลเข้ามากกว่าไหลออก
แม้จะเป็นจำนวนอันน้อยนิด แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็นทุนสะสม
"เราทำงานกันทั้งวันทั้งคืน ถูพื้น ทำเตียงและไม่เคยปล่อยให้ฟร้อนท์ปราศจากคนประจำคอยต้อนรับลูกค้า
ผมเป็นทั้งช่างไฟฟ้า ภารโรงและเหมารวมทั้งผู้จัดการด้วย"
เมื่อถึงปี 1962 เขาก็มีเงินเก็บพอที่จะพาภรรยาจากอินเดียมาอยู่ด้วย ทั้งยังซื้อกิจการโรงแรมเอ็มเพรสบนถนนเอ๊ดดี้
นอกจากนั้นยังเริ่มตั้งตัวเป็นนายทุนปล่อยเงินกู้ให้กับชาวกุชราตที่ต้องการซื้อกิจการโรงแรมมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง
พอถึงปี 1970 พาเทลมีโรงแรมของตนเอง 6 โรง
ปัจจุบันพาเทลซึ่งมีอายุได้ 70 ปีแล้ว เป็นเจ้าของโรงแรม 13 แห่งทางด้านชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ
และมีอาคารสำนักงานในซานฟรานซิสโก 1 แห่ง "ชาวกุชราตเป็นคนมีอัธยาศัยไมตรีและชอบเสี่ยง
ซึ่งทำให้เราเป็นผู้ประกอบการที่ดี" เขากล่าว
คนอินเดียเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจโรงแรมราคาประหยัด (มีจำนวนห้องต่ำกว่า
150 ห้อง) และธุรกิจโมเต็ล โรงแรมประเภทนี้ไม่มีบริการห้องอาหาร ไม่มีพนักงานบริการหรือรูมเซอร์วิส
ดำเนินกิจการโดยอิสระ หรือเป็นแฟรนไชส์ของเชนระดับชาติอย่าง "อีโคโนลอดจ์"
"บัดเจท อินน์" "ทราเวล ลอดจ์" หรือ "ฮอลิเดย์
อินน์"
ข้อมูลจาก "เดย์ อินน์ ออฟ อเมริกา องค์" ซึ่งเป็นเชนหนึ่งเปิดเผยว่า
ในจำนวนโรงแรม 1,200 แห่งที่ใช้แฟรนไชส์ของตน ประมาณ 24% เป็นของคนอินเดีย
และกลุ่มที่มีประสบความสำเร็จมากที่สุดคือกลุ่มของคนอินเดียที่ใช้นามสกุลว่า
"พาเทล" ซึ่งเป็นนามสกุลร่วมที่มีความหมายว่า ชาวนาหรือเจ้าของที่ดิน
ในบรรดาสมาชิก 6,000 รายของ ASIAN AMERICAN HOTEL OWNERS ASSOCIATION เป็นคนอินเดียถึง
5,000 ราย และ 97% เป็นคนอินเดียนามสกุลพาเทล
การแผ่ขยายไปอย่างกว้างขวางของสกุลพาเทลนี้ ทำให้คนในวงการโรงแรมพูดกันเล่น
ๆ ว่า น่าจะแบ่งประเภทธุรกิจโรงแรมออกเป็น "โฮเทล โมเทล และพาเทล"
เสียเลย
ราวินดรา ซี พาเทล วัย 51 ปี ซึ่งบริหารโมเต็ล 15 แห่งในแคลิฟอร์เนียและเวอร์จิเนีย
ทั้งยังเป็นประธานของ ASIAN AMERICAN HOTEL OWNERS ASSOCIATION เมื่อปี 1992
ด้วยกล่าวว่างานบริหารโมเต็ลเป็นธุรกิจที่เหมาะสำหรับครอบครัวผู้อพยพที่ใช้ภาษาอังกฤษได้ไม่ดีนัก
แต่พร้อมที่จะทำงานหนัก "ถ้าคุณเดินเข้าไปในโรงแรมของเรา ผู้ที่มาต้อนรับไม่ใช่พนักงานบริษัท
แต่เป็นสมาชิกของครอบครัว"
การที่มีคนอินเดียสกุลพาเทลจำนวนมากอยู่ในธุรกิจโรงแรม มีความเป็นมาที่พอจะอธิบายได้
ราฟจิภัย พาเทล อดีตนักฟิสิกส์แห่งบริษัทซีร็อกซ์ซึ่งหันมามาประกอบธุรกิจโรงแรม
จนเป็นเจ้าของโมเต็ล 8 แห่งในเท็กซัสและแคลิฟอร์เนียในปัจจุบันนี้พูดถึงเรื่องนี้ว่า
"ผมคิดค่าเช่าห้องคินละ 42 เหรียญ แต่สำหรับคนอินเดียที่อพยพเข้ามาใหม่
หรือญาติพี่น้องของเราที่พร้อมจะทำงานกับเรา เราจัดห้องให้ได้ภายใน 12 นาที
โดยไม่ต้องเสียค่าห้อง แถมยังมีค่าแรง 2 เหรียญต่อชั่วโมงให้ด้วย"
คู่แข่งของพาเทลในธุรกิจโรงแรมราคาประหยัดคือคนจีน เกาหลีและญี่ปุ่น ซึ่งแม้จะยังคงมีจำนวนน้อยอยู่
แต่ก็ประสบความสำเร็จไม่น้อยหน้าไปกว่าคนอินเดีย อย่างไรก็ตาม ความโดดเด่นของพาเทลก็ยังคงเป็นสิ่งที่ยากต่อการทายท้า
"สำหรับเราแล้วเป็นเรื่องธรรมชาติที่คนรุ่นหลังจะก้าวตามรอยคนรุ่นพ่อ
พลังของเรามาจากสายเลือดสมาชิกแห่งครอบครัว" บูลาภัย พาเทลหรือ "บ๊อบ"
จากแอตแลนต้ากล่าว
ครอบครัวอเมริกันอาจจะไม่สามารถกำหนดชีวิตลูกหลานได้ แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของพวกพาเทล
"เราส่งลูก ๆ ไปเข้ามหาวิทยาลัย แต่พอเขาเรียนจบ 75% จะกลับมาทำธุรกิจของครอบครัว"
ภิขุ พาเทลกล่าว เขากำลังจะเป็นเจ้าของโรงแรม 15 แห่งในแคลิฟอร์เนียใต้ ทันทีที่โครงการโรงแรมราคา
100 ล้านเหรียญอันประกอบด้วยห้องสวีททั้งหมดชื่อ โฮเต็ล เซอร์เคิ้ลซึ่งอยู่ติดกับดีสนีย์แลนด์เสร็จสมบูรณ์ในปี
1997
ลูกชายทั้งสองของเขาคือ เมย์เออร์วัย 31 และตูซาร์วัย 29 ต่างก็เป็นผู้บริหารในธุรกิจของครอบครัวคือบริษัททาร์ซาเดีย
ในคอสตามาซ่า แคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นบริษัทเรียลเอสเตทโดยเมยเออร์เป็นผู้อำนวยการฝ่ายก่อสร้าง
ส่วนตูซาร์เป็นประธานกรรมการบริหาร "ทำไมลูก ๆ ของเราจะต้องไปทำธุรกิจอื่น
ในเมื่อเขารู้ว่าสามารถหาเงินได้มากมายจากธุรกิจโมเต็ล"
การเติบโตอย่างต่อเนื่องของกิจการโมเต็ล กลุ่มชาวอินเดียจากรัฐกุชราต ทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องตามมา
เมื่อเร็ว ๆ นี้ สุนิล นาวัค นักธุรกิจโรงแรมในนิวยอร์คและนิวเจอร์ซี่ ได้ตั้งบริษัทบิสคอนขึ้นมาเพื่อสรรหาผู้บริหารชาวอเมริกันป้อนให้กับกิจการโมเต็ลของคนอินเดีย
"ในตอนเริ่มต้นกิจการ คนอินเดียส่วนใหญ่เป็นทั้งเจ้าของและผู้จัดการเอง
โดยมีภรรยาและลูก ๆ เป็นพนักงานทำความสะอาด แต่เมื่อธุรกิจขยายตัวออกไป ความได้เปรียบที่ไม่ต้องจ้างแรงงานก็หมดไป
พวกเขาจำเป็นต้องใช้ผู้จัดการมืออาชีพแล้ว" สุนิลอธิบาย
นักธุรกิจโรงแรมชาวอินเดียบางคน ยังนำเอาประสบการณ์และความรู้กลับไปเปิดโรงแรมที่อินเดียด้วย
ดังเช่น บริษัทเจเอชเอ็ม เอ็นเตอร์ไพร้สซ์ ของพี่น้องชาวกุชราต สร้างโรงแรมระดับห้าดาวขึ้นแห่งหนึ่งทางตอนเหนือของบอมเบย์เมื่อปี
1989
"เราพยายามให้ความช่วยเหลืออย่างดีที่สุดต่อผู้ที่ต้องการเข้ามาในธุรกิจนี้
ในเรื่องคำแนะนำและเงินกู้" ภิขุ พาเทลกล่าว "ธุรกิจโรงแรมของอเมริกาใหญ่มาก
และมีที่ว่างให้ทุก ๆ คน ขออย่างเดียวอย่ามาเปิดโรงแรมข้าง ๆ เราก็แล้วกัน"