![](/vaf/ar/51/51550_in03.jpg)
หลังกองทุนเทมาเส็กแห่งรัฐบาลสิงค์โปร์ ได้เข้ามาเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักในไทยด้วยการเข้าเทกโอเวอร์บริษัทชินคอร์ปอเรชั่น (SHIN) มาได้ช่วงหนึ่ง บริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ จำกัด ในฐานะเจ้าของกองทุนฯ จึงเริ่มเปิดตัวเองอย่างเป็นทางการในไทย บนหน้า webpage ของ บริษัทฯ ที่เชื่อมลิงก์เป็นเวอร์ชั่นภาษาไทย เพื่อบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวองค์กร
สำหรับเนื้อหาสาระหลักที่น่าสนใจในเว็บเพจเวอร์ชั่นภาษาไทย ที่พอจะสะท้อนให้เห็นภาพแนวคิดทิศทางในการแผ่ความยิ่งใหญ่ของกองทุนเทมาเส็กจากเหนือจรดใต้ในภูมิภาคเอเชีย จะอยู่ในบทนำของบริษัทฯ และคำแถลงของ เอส.ดานาบาลัน ประธานบริษัทฯ
โดยในบทนำของบริษัทฯ ไม่เพียงแต่บอกถึงที่มาของการก่อตั้งกิจการ แต่ยังบอกถึงการลงทุนของกลุ่มเทมาเส็ก ที่เข้ามาถือหุ้นในกิจการหลายแห่งในไทย เช่น ธนาคารไทยพาณิชย์, โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, ชินคอร์ป และแคปิตอลโอเค เป็นต้น
รวมถึงพอร์ตการลงทุนในธุรกิจต่างๆ ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วมุมโลก ซึ่งมีมูลค่ามากมายมหาศาลรวมกันราว 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปัจจุบัน โดยพอร์ตการลงทุนของกลุ่มเทมาเส็กส่วนใหญ่อยู่ในสิงคโปร์ เอเชีย และประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ OECD อย่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา ยุโรป และออสเตรเลีย
ทั้งยังมีข้อมูลที่บอกถึงความสามารถในการสร้างผลตอบแทน การลงทุนทบต้นต่อปีให้แก่ผู้ถือหุ้นที่มีชื่อว่า The Minister of Finance Inc. ได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอแบบไม่เคยตกมานับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทฯ เมื่อปี 2517 ในอัตรา 18% ทั้งยังสามารถจ่ายเงินปันผลเฉลี่ย สูงกว่า 7% ต่อปีด้วย
นอกจากนี้ยังมีรายละเอียดของการเล็งเห็นโอกาสที่จะปรับบทบาทไปสู่การเป็นผู้ลงทุนที่มีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในบริษัทชั้นนำ รวมถึงบริษัทเกิดใหม่ในเอเชีย และการให้ความสำคัญกับการเป็นผู้ถือหุ้นที่สามารถบริหารจัดการเพื่อเพิ่มมูลค่าแก่บริษัทฯ
โดยเทมาเส็กโฮลดิ้งตั้งเป้าหมายปรับสัดส่วนพอร์ตการลงทุนทั้งหมดใน 8-10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการลงทุนในสิงคโปร์และเอเชีย ในสัดส่วน 1 ใน 3 ของพอร์ตเท่าๆ กัน ส่วนพอร์ตการลงทุนที่เหลือ จะอยู่ในกลุ่ม OECD
สำหรับสัดส่วนการลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมประเทศไทย แต่ยกเว้นสิงคโปร์ของเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ เมื่อถึงวันที่ 31 มีนาคม 2548 คิดเป็น 9% ของการลงทุนทั้งหมด
นอกจากนี้บริษัทฯ ยังไม่ลืมเน้นย้ำแนวคิดการลงทุนไว้อย่างชัดเจนด้วยว่า ประกอบไปด้วยการลงทุนในเศรษฐกิจเอเชีย (Asia economies) รวมถึงในแหล่งที่มีการเพิ่มจำนวนของคนชั้นกลาง (Growing middle class) และในกลุ่มซึ่งมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative advantages) รวมถึงการลงทุนในบริษัทแถวหน้าเกิดใหม่ (Emerging champions) อีกด้วย
ในด้านเนื้อหาที่เป็นส่วนคำแถลงจากประธานเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ นั้น เป็นการให้รายละเอียดถึงที่มาแห่งความสำเร็จในการลงทุนของบริษัท เป็นผลมาจากความต่อเนื่องในการปรับพอร์ตการลงทุนจากช่วงระหว่างปีงบประมาณ 2547 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2548 ด้วยการยกเลิกการลงทุนที่มีอยู่ และหันไปลงทุนในโครงการใหม่ๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชียและสิงคโปร์ คิดเป็นมูลค่ารวมกันร่วมๆ 130,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
โดยผลจากการลงทุนทั้งหมดนี้ช่วยทำเงินให้บริษัทได้มากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จนเมื่อสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2548 มูลค่าการลงทุนของเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ขยับขึ้นมาปิดที่ 103,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือเพิ่มขึ้นราว 15% จากมูลค่าการลงทุนเมื่อปี 2547 ที่มี 90,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
นอกจากนี้คำแถลงในสารของประธานฯ ยังให้ภาพผลกำไรที่คืนสู่ผู้ถือหุ้น เมื่อพิจารณาถึงความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นเมื่อปีงบประมาณ 2547 ซึ่งมีราว 7,200 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนทางตรงในทวีปเอเชียขึ้นเป็นหลายเท่าตัว โดยคิดเป็นมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
ส่วนการสร้างรายได้ของกลุ่มบริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ (Temasek-linked Companies-TLCs) เมื่อปีงบประมาณ 2547 ประธานบริษัทฯ บอกว่าอยู่ในระดับปานกลางคือ 4,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เมื่อเทียบกับสภาพความมั่งคั่งที่เคยมีเมื่อปีงบประมาณ 2546 ซึ่งรายได้อยู่ในระดับแข็งแกร่งถึง 20,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ จากผลงานโดดเด่นสูงสุดของ SingTel ด้วยมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
ด้านภาพผลกำไรโดยรวมของผู้ถือหุ้นในราคาตลาดระยะเวลา 1 ปี และ 2 ปี ให้ผลตอบแทน 16% และ 30% ตามลำดับ หากพิจารณาตามผู้ถือหุ้นแล้ว ผลกำไรทั้งหมดของผู้ถือหุ้นในระยะเวลา 1 และ 2 ปี จะอยู่ที่ 12% และ 14% ตามลำดับ เพราะประสิทธิภาพ ผลดำเนินงาน และการพัฒนาที่ดีขึ้นของกลุ่มบริษัทฯ ที่เกี่ยวข้อง
แต่หากพิจารณาผลกำไรตามราคาตลาดในรอบ 31 ปีแล้ว ถือว่ายังอยู่ในระดับสม่ำเสมอคือ 18% ต่อปี แต่อยู่ที่ 16% เมื่อพิจารณาต่อสัดส่วนเงินทุนของผู้ถือหุ้น อย่างไรก็ตาม ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้จ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นโดยเฉลี่ยปีละ 1,300 ล้านเหรียญดอลลาร์สิงคโปร์
ในเว็บไซต์ภาษาไทยนี้ยังให้ข้อมูลทางการเงินที่สำคัญของกลุ่มในปี 2547 ตามคำแถลงของประธานฯ ที่บอกถึงรายได้ของกลุ่มเทมาเส็ก ในปี 2547 มีทั้งสิ้น 68,700 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มราว 22% จากปีงบประมาณ 2546
เช่นเดียวกับผลการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งคืออยู่ที่ 10,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เพิ่มขึ้น 37% จากปีงบประมาณ 2546 โดยมีกำไรสุทธิ 7,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ และมูลค่าการลงทุนในเอเชียนั้นมีกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
ประธานเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ยังบอกถึงการขยายธุรกิจโดยการจัดตั้งสำนักงานแห่งใหม่ใน 4 แห่ง คือมุมไบ ปักกิ่ง โฮจิมินห์ซิตี้ และล่าสุดที่ฮ่องกงนั้น จะทำหน้าที่ช่วยประกาศตำแหน่งของเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ ที่หยั่งรากอย่างมั่นคงในอินเดีย จีน และเวียดนาม และเมื่อรวมกับสำนักงานในสิงคโปร์ และเครือข่ายการลงทุนของบริษัทฯ แล้ว จะช่วยให้เทมาเส็กสามารถเล็งเห็นถึงช่องทางในการใช้ประโยชน์จากโอกาสที่ปรากฏอยู่ในทุกทิศทุกภาคของเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเอเชียใต้ เอเชียเหนือ และเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ
|