การดำเนินนโยบายให้เสรีภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้นของรัฐบาลอินเดีย การเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศ
ทำให้ดินแดนซึ่งเคยเป็นถิ่นต้องห้ามสำหรับการลงทุนและสินค้าจากต่างชาติ กลายเป็นตลาดที่มีศักยภาพ
การเติบโตสูงที่สุดแห่งหนึ่งไม่แพ้ประเทศจีน ด้วยจำนวนผู้บริโภคที่มีอำนาจการซื้อ
300 ล้านคน ถึงเวลาแล้วที่เอเซียตะวันออกจะต้องให้ความสนใจกับอินเดียอย่างจริงจัง
ภายใต้แสงอรุโณทัย ขบวนรถบรรทุกขนาด 6 ตัน ซึ่งเต็มไปด้วยเครื่องหมายวงกลมขนาดใหญ่
ล้อมรอบด้วยโลโก้สีขาว-แดงคุ้นตา บ่ายหน้าออกจากโรงงานบรรจุขวดน้ำอัดลมในเมืองหัถราส
ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของรัฐอุตระประเทศ เพื่อปฏิบัติภาระกิจสำคัญ นั่นคือการบุกยึดพื้นที่ทางการตลาดคืนมาให้กับโคคา-โคล่า
เป็นเวลาถึง 16 ปีที่สีขาวแดงของโค้กหายไปจากดินแดนที่มีพลเมือง 853 ล้านคนแห่งนี้
โคคา-โคล่าและบริษัทข้ามชาติอื่น ๆ ถอยทัพออกจากอินเดียหลังปี 1977 เพราะไม่อาจยอมรับได้กับการออกกฎหมายที่บังคับธุรกิจต่างชาติในอินเดียลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือเพียง
40% เท่านั้น แต่เมื่อระบบเศรษฐกิจอินเดียเริ่มเปิดเสรีเมื่อเกือบ ๆ 3 ปีที่แล้ว
โคคา-โคล่าพร้อมทั้งบริษัทอื่น ๆ ก็กลับมาอีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่อาจปฏิเสธตลาดที่มีผู้บริโภคชนชั้นกลางถึง
300 ล้านคนได้
อินเดียได้รับความสนใจจากนักลงทุนเอเซียน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะใจจดใจจ่ออยู่กับตลาดขนาดมหึมาในประเทศจีน
แต่ข้อเท็จจริงก็คือ หลังจากที่นายกรัฐมนตรี พี.วี. นาราซิมห์ฮา ราว ดำเนินมาตรการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจ
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1991 อินเดียได้กลายเป็นตลาดที่มาแรงสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคต่างชาติ
การลงทุนในอินเดียอาจจะให้ผลตอบแทนที่มากกว่าและรวดเร็วกว่าการลงทุนในจีนด้วยซ้ำไป
ทิโมธี่ เจ มอลลอย ผู้จัดการทั่วไปประจำเอเซียใต้และเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของวีซ่า
อินเตอร์เนชั่นแนล อธิบายว่า "ทั้งอินเดียและจีนต่างก็มีประชากรที่ยากจนมาก
ๆ ประมาณ 500 ล้านคน สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ อินเดียมีพลเมืองที่จัดอยู่ในขั้นไม่ถึงกับจนมาก
100 ล้านคนเป็นอย่างน้อย แต่ว่าจีนไม่มีคนกลุ่มนี้"
การเติบโตของตลาดในสองประเทศนี้ เป็นที่คาดหมายว่าจะสูงถึง 30-40% ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า
อย่างไรก็ตาม มอลลอยตั้งข้อสังเกตว่า "อินเดียล้ำหน้าไปก่อนแล้วเพราะในช่วง
30 ปีที่ผ่านมา ประเทศนี้ได้สร้างชนชั้นกลางที่เป็นมืออาชีพขึ้นมาโดยปราศจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน
จีนจะใช้เวลานานกว่าในการไปถึงจุดนั้น"
นานมาแล้วที่อินเดียถูกมองว่าเป็นดินแดนที่มีแต่องค์กรการกุศลอย่างอ็อกซ์แฟมหรือแม่ชีเทเรซ่าเท่านั้นที่จะให้ความสนใจ
ถ้าดูกันอย่างผิวเผินแล้วก็ออกจะเป็นความคิดที่โง่ ๆ ถ้าคิดจะไปลงทุนทำธุรกิจเพราะมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพียง
310 เหรียญสหรัฐฯ ต่อปีเท่านั้น มีคนยากจนสูงถึง 300 ล้านคน ทั้งยังมีความโน้มเอียงที่จะเกิดความรุนแรงทางสังคมได้ด้วย
อย่างเช่นการจราจลที่เกิดจากการที่กลุ่มคลั่งศาสนาฮินดูบุกเผามัสยิดโบราณที่เมืองอโยธยา
เมื่อเดือนธันวาคม 1992
แต่สิ่งที่ล่อใจนักลงทุนได้ก็คือ จำนวนคนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีอยู่ถึง 300
ล้านคน
การสำรวจเมื่อปี 1989 ของสภาวิจัยเศรษฐกิจประยุกต์แห่งชาติของอินเดีย (NATIONAL
COUNCIL OF APPLIED ECONOMIC RESEARCH - NCAER) พบว่ามีคนอินเดีย 200 ล้านคนที่มีรายได้ต่อปีระหว่าง
700 ถึง 1,400 เหรียญ และมีอีก 100 ล้านคนที่มีรายรับสูงกว่านี้ วีซ่า อินเตอร์เนชั่นแนลประเมินว่ามีชาวอินเดียอย่างต่ำ
40 ล้านคนที่มีรายได้มากกว่า 30,000 เหรียญต่อปี ซึ่งพอที่จะใส่เสื้อ "แวน
ฮิวเซ่น" ตัวละ 15 เหรียญ และขี่รถซูซูกิคันละ 5,500 เหรียญที่ผลิตในอินเดียได้
ตลาดซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้บริโภคชนชั้นกลางที่กำลังขยายตัวนี้ มีขนาดพอฟัดพอเหวี่ยงกับประเทศสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ
หรือเท่า ๆ กับกลุ่มอีซี และใหญ่กว่าจำนวนประชากรออสเตรเลียทั้งหมดถึง 10
เท่าตัว "ถ้านักการตลาดคนไหนที่เห็นตัวเลขนี้แล้วพูดแค่ว่า 'แล้วใครจะไปสนใจละ'
คนนั้นก็เป็นนักการตลาดที่โง่เอามาก ๆ" ALYQUE PADAMSEE ผู้ประสานงานธุรกิจในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของลินตัสกล่าว
ที่สำคัญก็คือ ตัวเลขรายได้ประชาชาตินั้น ไม่ได้สะท้อนอำนาจซื้อที่แท้จริงของคนอินเดีย
ถ้าวัดกันด้วย PPP (PURCHASING -POWER-PARITY) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ได้รับความนิยมมากในขณะนี้
และนักเศรษฐศาสตร์บางคนเชื่อว่าใช้วัดอำนาจการซื้อได้แม่นยำกว่าแล้ว อินเดียมีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่
5 ของโลก มีรายได้ต่อหัวที่วัดด้วย PPP 1.255 เหรียญต่อปี รัฐบางรัฐในภาคตะวันตกเช่นกุชราตและมหาราษฎร์รวมทั้งรัฐตอนเหนืออย่างปัญจาบและหารายณะ
มีรายได้เท่า ๆ กับประเทศอุตสาหกรรมใหญ่อย่างมาเลเซียหรืออินโดนีเซียเลยทีเดียว
เมื่อย้อนกลับไปมองประวัติศาสตร์ทั้งอินเดียและเอเซียตะวันออกต่างก็มองข้ามซึ่งกันและกันในการทำธุรกิจ
อินเดียหันไปหาเทคโนโลยี่และสินค้าจากตะวันตก ส่วนเอเซียตะวันออกก็ไม่เคยมองอินเดียว่าจะเป็นตลาดของตนได้
เพราะอินเดียไม่สนับสนุนการนำเข้าสินค้ามาเป็นเวลาช้านานแล้ว นอกจากนั้นนักธุรกิจจากเอเซียตะวันออกก็ไม่มีสายสัมพันธ์ใด
ๆ ในอินเดียอยู่เลย
เมื่อพิจารณาถึงความสำเร็จที่ธุรกิจตะวันตกกำลังได้รับอยู่ในตลาดอินเดียขณะนี้
และกำลังซื้อมหาศาลของชนชั้นกลางในประเทศนี้ ก็ถึงเวลาแล้วที่เอเซียตะวันออกต้องหันกลับมามองอินเดียอย่างใกล้ชิดมากขึ้น
ย้อนหลังกลับไปเมื่อไม่นานมานี้เอง การลงทุนของเอกชนต่างชาติและสินค้าต่างประเทศยังเป็นสิ่งที่อินเดียปฏิเสธ
หลังจากเป็นอิสระจากอังกฤษเมื่อปี 1947 อินเดียยึดถือหลักการคานธีที่เน้นการดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเอง
ภายใต้การนำของเยาวาร์หะราล เนห์รู นายกรัฐมนตรีคนแรก อินเดียใช้การปกครองแบบสังคมนิยมประชาธิปไตย
เศรษฐกิจตกอยู่ในระบบที่เต็มไปด้วยการปกป้องคุ้มครองและการขออนุญาต ไม่ว่าจะทำอะไร
ธุรกิจในอินเดียต้องขออนุญาตต่อรัฐบาลทุกเรื่อง จะเปิดหรือปิดโรงงาน หรือขยายกิจการ
รัสซี่ โมดี้ กรรมการผู้จัดการคนก่อนของบริษัทตาต้า ไออ้อน แอนด์ สตีล
พูดประชดด้วยความขมขื่นว่าแม้จะเข้าห้องน้ำก็ยังต้องขอใบอนุญาต
กระนั้นก็ตาม ระบบสังคมนิยมที่อินเดียใช้อยู่ก็ได้ผลในระยะหนึ่ง ช่วงทศวรรษ
1960 อินเดียมีพื้นฐานทางอุตสาหกรรมที่น่าทึ่งมาก แต่จอห์น แพตเตอร์สัน ที่ปรึกษาธุรกิจระหว่างประเทศที่อาศัยอยู่ในอินเดียถึง
11 ปีเห็นว่า กระแสการพึ่งตนเองได้ก่อให้เกิดความรู้สึกหวาดระแวงต่างชาติ
ซึ่งถูกนักการเมืองฉกฉวยไปใช้ประโยชน์ ปี 1977 พรรคชนตะซึ่งเป็นรัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าต่อเส้นทางสังคมนิยมและชาตินิยม
เริ่มขับไล่บริษัทข้ามชาติออกนอกประเทศ ซึ่งทำให้การลงทุนต่างชาติลดฮวบลงอย่างรวดเร็ว
เศรษฐกิจอินเดียเดินหน้าต่อไปได้ด้วยอุปสงค์ขนาดใหญ่ภายในประเทศ และการค้าแบบแลกเปลี่ยนกับอดีตสหภาพโซเวียต
ในเวลาไม่ช้า การส่งออกก็แทบจะหายไปหมด ส่วนการนำเข้าก็เป็นเรื่องต้องห้าม
เมื่อประเทศเอเซียตะวันออก เริ่มปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษ 70
และ 80 อินเดียกลับยืนดูเฉย ๆ โดยไม่คิดจะทำอะไรกับเศรษฐกิจของตัวเองบ้างเลย
กรณีของบริษัทเป๊ปซี่ น่าจะเป็นคำตอบว่าทำไมเศรษฐกิจอินเดียจึงไม่มีการปรับเปลี่ยนเลย
เป๊ปซี่ขอตั้งโรงงานในอินเดียเมื่อปี 1983 แต่ต้องใช้เวลารอคำตอบถึง 5
ปี ต้องตอบคำถามใหญ่ ๆ 200 คำถามในรัฐสภา ต้องเผชิญกับข้อเขียน และบทความในด้านลบทางหน้าหนังสือพิมพ์
5,000 ชิ้น และต้องให้การต่อคณะกรรมการระหว่างกระทรวงถึง 14 คณะ ก่อนที่จะได้รับใบอนุญาต
เป๊ปซี่ยังต้องยอมรับเงื่อนไขแปลก ๆ อย่างเช่น สัญญาว่ารายได้ครึ่งหนึ่งจะต้องมาจากการส่งออก
และจะมีรายได้จากการขายหัวน้ำเชื่อได้เพียง 25% เท่านั้น
ในขณะที่นักการเมืองทำให้การทำธุรกิจเป็นไปอย่างยากลำบาก ลัทธิบริโภคนิยมก็กลับขยายตัวขึ้นเรื่อย
ๆ และเบ่งบานอย่างเต็มที่เมื่อย่างเข้าปี 1985 ซึ่งราชีฟ คานธีเป็นนายกรัฐมนตรี
เขาเป็นผู้นำอินเดียที่ใส่แว่นตายี่ห้อคาร์เทียร์และสวมรองเท้ากุชชี่ โดยไม่สนสายตาของคนอื่น
ๆ บริษัทอินเดียเริ่มแย่งชิงเรียกร้องความสนใจรวมทั้งเงินในประเป๋าของผู้บริโภค
โดยโหมโฆษณาในภาษาที่เป็นภาษาทางการ 15 ภาษา ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เกิดมีสินค้ายี่ห้อใหม่
ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย ตัวอย่างเช่น สบู่ เพิ่มจาก 34 เป็น 56 ยี่ห้อ และชาสำเร็จรูปเพิ่มจาก
31 เป็น 80 ยี่ห้อ
แต่กระนั้น ตัวเลขทางการ ก็ยังแสดงว่าอินเดียยังคงจมปลักอยู่กับสิ่งที่เรียกกันอย่างดูถูกว่า
"อัตราการเติบโตแบบฮินดู" (HINDU GROWTH RATE) ซึ่งตกประมาณปีละ
2% เท่านั้น ขณะเดียวกัน ระบบเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับระบบที่ถูกกฎหมายกลับเติบโตอย่างรวดเร็ว
คนอินเดียที่หัวใสเลิกเสียภาษีเงินได้เมื่อรัฐบาลกำหนดอัตราภาษีเงินได้สูงสุดถึง
93.5% เมื่อปี 1970 เพื่อไม่ให้โดนจับ คนเหล่านี้ก็หลีกเลี่ยงโดยการหาทางใช้เงิน
ส่วนมากแล้วจะใช้ซื้อทอง
ในปี 1992 อินเดียเป็นผู้ซื้อทองรายใหญ่ที่สุดของโลก อนิล แอมบานี่ กรรมการผู้จัดการร่วมของบริษัทรีไลแอนซ์
อินดัสตรี้ ซึ่งเป็นบริษัทเอกชนที่ใหญ่ที่สุดของอินเดียกล่าวว่า ชาวอินเดียเก็บสะสมทองรวมกันแล้วอาจจะมากถึง
8,000 ตัน
ปัจจัยอีกตัวหนึ่งที่กระตุ้นการใช้จ่ายให้ขยายตัวคือ เงินเดือนและค่าจ้างที่สูงขึ้น
ตั้งแต่ปี 1990 เงินเดือนสำหรับผู้ที่จบเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
สูงกว่า 330 เหรียญต่อเดือน รัฐบาลอินเดียซึ่งเป็นผู้จ้างงานรายใหญ่ที่สุดได้เพิ่มค่าแรงในอัตราที่สูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคมาก
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ ยังเป็นผลพวงจาก "การปฏิวัติเขียว" ซึ่งสร้างความมั่งคั่งในภาคเกษตร
เกษตรกรซึ่งได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลร่ำรวยขึ้น สามารถผลิตอาหารได้เพียงพอเลี้ยงตัวเอง
อานิสงค์จากการปฏิวัติเขียวนี้เริ่มปรากฏขึ้นในทศวรรษ 80 เมื่อชาวนาที่ไม่ต้องเสียภาษี
พบว่าตัวเองมีรายได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ทำให้ชนบทอินเดียกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่และเป็นความสำเร็จในประวัติศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของอินเดีย
ชาวอินเดียโพ้นทะเลก็มีบทบาทในการสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจด้วย กลางทศวรรษ
1970 พวกเขาเริ่มส่งเงินเข้ามาฝากไว้กับธนาคารอินเดียซึ่งให้ดอกเบี้ยในอัตราที่สูง
ทั้งยังได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับรายได้ที่จะโอนออกไปนอกประเทศด้วย แรงงานอินเดียที่ไปทำงานในตะวันออกกลางก็ส่งเงินกลับมาบ้าน
รวมกันแล้วนับล้าน ๆ ดอลลาร์ ซึ่งเงินเหล่านี้ได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนอินเดียทั้งประเทศ
จากเมืองใหญ่ไปจนถึงหมู่บ้านในชนบท
แต่คนอินเดีย 300 ล้านคนซึ่งถึงวันนี้ยังคงต้องดื่มเครื่องดื่มยี่ห้อ "THUMS
UP" ขี่รถมารูติ แสวงหาความบันเทิงให้ตัวเองจากเครื่องวิดีโอ BPL SANYO
และสวมกางเกงยีนส์ยี่ห้อ "ฟลายอิ้ง แมชีน" เริ่มทนไม่ได้ต่อสภาพที่ไม่มีความเปลี่ยนแปลงเลย
คนรุ่นนี้ ซึ่งซัลแมน รัชดี้ นักเขียนชื่อดังผู้เขียนเรื่อง ซานตานิค เวิสเซส
ขนานนามว่า "MIDNIGHT'S CHILDREN" เป็นรุ่นที่เกิดหลังเที่ยงคืนของวันที่
15 สิงหาคม 1947 ซึ่งเป็นวันที่อินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษ เป็นคนอินเดียรุ่นใหม่ซึ่งมีความเชื่อมั่นในตัวเอง
และแสวงหาความพึงพอใจที่จับต้องได้ในทันที พวกเขาไม่มีความผูกพันกับอุดมการณ์ของคานธี
"ชนชั้นกลางเป็นคนที่เป็นอิสระจากข้อห้ามซึ่งพันธนาการกฎุมพีอินเดียรุ่นเก่าไว้
คนรุ่นใหม่นี้ไม่ยึดติดกับอุดมการณ์ เป็นพวกปฏิบัตินิยมที่มุ่งหวังผลลัพธ์"
นี่คือคำอธิบายของ GURCHARAN DAS รองประธานพร็อคเตอร์ แอนด์ แกมเบิ้ล ซึ่งดูแลกิจการของพีแอนด์จีในอินเดีย
อินเดียอาจจะยังคงอยู่ในสภาพเดิม ๆ ต่อไป ถ้าหากสหภาพโซเวียตไม่ล่มสลายลงเสียก่อนในปี
1991 การพังทลายของโซเวียตทำให้อินเดียประสบกับวิกฤตดุลชำระเงินที่รุนแรง
โดยมีเงินสำรองที่จะซื้อสินค้าจากต่างชาติมาใช้สอยได้เพียงสามสัปดาห์เท่านั้นและเมื่อไม่มีโซเวียต
อินเดียก็ไม่มีคู่ค้าที่จะยอมรับเงินสกุลรูปีอีกต่อไป อัตราเงินเฟ้อวิ่งขึ้นไปถึง
16% และอินเดียมีงบประมาณที่ขาดดุลอย่างมหาศาล
นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 1991 ภายใต้การนำของ ราว นายกรัฐมนตรีนักปฏิรูป
อินเดียได้เริ่มยกเครื่องโลหะขั้นตอนทางราชการที่ยุ่งยากซับซ้อนเพื่อดึงนักธุรกิจให้เข้ามาลงทุน
มีการผ่อนคลายข้อจำกัดถือครองหุ้นต่างชาติ โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นได้
51% ในธุรกิจ 36 ประเภท และถือได้ 100% เต็มในบางกรณี
รัฐบาลยังลดภาษีกำไรจากการซื้อขายหุ้นให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเก็บต่ำกว่านักลงทุนในประเทศ
10% ยกเว้นภาษีให้กับรายได้ที่เกิดจากการลงทุนในบริษัทที่ผลิตสินค้าให้กับรายได้ที่เกิดจากการลงทุนในบริษัทที่ผลิตสินค้าส่งออก
100% นอกเหนือจากการผ่อนผันไม่เก็บภาษีนำเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบแล้ว
นอกจากนั้นรัฐบาลยังอนุญาตให้กิจการของคนอินเดียขยายธุรกิจไปได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากทางการเหมือนเมื่อก่อน
มีการปรับระบบแลกเปลี่ยนเงินรูปีให้ใช้กับการค้าได้ และคนอินเดียได้รับการผ่อนผันให้ใช้เงินตราต่างประเทศเพื่อธุรกิจได้ในขอบเขตที่กว้างขึ้น
ผลจากการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างเห็นชัด การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
ซึ่งเมื่อทศวรรษ 80 มีอยู่เพียงปีละ 100 ล้านเหรียญโดยเฉลี่ย เพิ่มขึ้นสูงถึง
1,400 ล้านเหรียญในปี 1992
"สิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ไม่ได้ไปในทิศทางที่สอดคล้องกันเลย" วิมาล
บันดารี รองประธานอาวุโสแห่งบริษัทอินฟราสตรัคเจอร์ ลีซซิ่ง แอนด์ ไฟแนนซ์
เซอร์วิส (IL&FS) ซึ่งเป็นบริษัทการเงินในบอมเบย์กล่าวว่า "เรากำลังปลดปล่อยอดีตด้วยความหวังและคำสัญญา
ในขณะที่ความขัดแย้งทางศาสนาที่เกิดขึ้น มีความรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่อินเดียแยกตัวออกจากอังกฤษเมื่อปี
1947"
วิมาลตั้งข้อสังเกตว่า ในรัฐบาลอินเดีย ไม่มีพรรคการเมืองที่เป็นพรรคเสียงข้างมากเพียงพรรคเดียวเลย
"กระนั้นก็ตาม เรากำลังอยู่ในประบวนการปฏิรูปอย่างไม่หยุดยั้ง"
เขากล่าว
ภายใต้บรรยากาศของการเปิดเสรี อินเดียก็เริ่มเผยบุคลิกภาพใหม่ของตนออกมา
หนทางหนึ่งที่จะทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงคือ เดินเข้าไปที่ห้างบิ๊ก คิดส์แคมป์
ซึ่งเป็นร้ายขายเสื้อผ้าเด็กที่ใหญ่มากบนถนนมหาตมะ คานธี ในเบงกาลอร์ การตกแต่งภายในด้วยสีชมพูที่ฉูดฉาด
น้ำตกจำลอง แสงไฟวูบวาบจากหลอดนีออนและขบวนรถไฟจำลอง ทำให้เหมือนเดินอยู่ในสวนสนุก
มีตัวตลกที่แต่งเป็นลอเรลและฮาร์ดี้คอยให้ความบันเทิงกับลูกค้า มีลูกกวาดและไอศกรีมแจกฟรีสำหรับเด็ก
ๆ รวมทั้งห้องลองเสื้อผ้าที่ตกแต่งเหมือนห้องโดยสารในรถยนต์
เจ้าของห้างนี้คือทีมงานพ่อลูก วาษีและระวี เมลวานี ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องเจ้าของกิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ในสิงคโปร์ที่ใช้ชื่อว่าบิ๊ก
คิดส์เคมป์เหมือนกัน พ่อลูกคู่นี้ตั้งห้างขึ้นเมื่อปี 1990 เพราะมองเห็นโอกาสในทางธุรกิจ
จากการที่รายได้ของประชาชนสูงขึ้น การเกิดขึ้นของกลุ่มยัปปี้ และภาวะที่ดินยังไม่แพงนัก
บิ๊ก คิดส์เคมป์ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว มียอดขายต่อปีเกือบ 2 ล้านเหรียญ
ตอนที่วางแผนเปิดห้าง เมลวานิคงจะมองเห็นภาพของคนที่จะมาเป็นลูกค้าอย่างรัศมีและวิเวก
เคาร์ รวมทั้งลูก ๆ ของเขา ทั้งคู่เป็นชาวเมืองบอมเบย์ที่มีรายได้หลังหักภาษีเดือนละ
500 เหรียญ ซึ่งจัดอยู่ในระดับบนของชนชั้นกลางอินเดีย
รัศมีทำงานเป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับบริษัทยาต่างชาติ
เช่น ไฟเซอร์และเฮิกซ์ ส่วนวิเวกจบเอ็มบีเอจากมหาวิทยาลัยบอมเบย์ทำงานกับ
IL&FS ทั้งคู่เพิ่งย้ายออกจากอพาร์ทเมนท์ของบริษัททางตะวันตกของอันเดรีมาอยู่ที่พาลี
ฮิลล์ ซึ่งเป็นย่านที่อยู่ของดาราหนังอินเดียหลายคน
บ้านของเขาคือตัวอย่างของความมั่งคั่งของชนชั้นกลางใหม่ ทั้งคู่ขับรถ "พรีเมียร์
แพดมินิ" ซึ่งผลิตในอินเดีย โดยถอดแบบมาจากรถฟอร์ด เฟอร์นิเจอร์ของใช้ในบ้านก็ล้วนแต่เป็นสินค้าอินเดีย
เช่น เครื่องซักผ้ายี่ห้อ "SUMEET" ตู้เย็น "GODREJ"
โทรทัศน์และวิดิโอ "BPL-SANYO" พวกเขาฟังเพลงป๊อปอินเดียล่าสุดจากวิทยุเทปฟิลลิปส์ที่ทำในอินเดีย
สามีภรรยาตระกูลกัวร์นิยมชมชอบสินค้าของอินเดียด้วยเหตุผลที่วิเวกบอกว่า
"สินค้าอินเดียส่วนใหญ่ผลิต เพื่อสนองความต้องการแบบคนอินเดียโดยเฉพาะ"
แต่ทั้งคู่ก็เลือกใช้สินค้าต่างประเทศเป็นบางอย่าง เช่น กล้องถ่ายรูป เครื่องสำอางและเสื้อผ้า
เคาร์ใช้เงินที่เก็บหอมรอมริบจากการทำงานมา 8 ปีซื้ออพาร์ทเมนท์ราคา 21,000
เหรียญในนิวเดลฮี (NCAER ประมาณว่า อัตราการออมของคนอินเดียเท่ากับ 23% ของรายได้)
"ชีวิตก็สบายดี ถ้าจะมีความกังวลอยู่บ้างก็คือเรื่องบ้านใหม่ที่เราซื้อ
และภาษีที่รัฐบาลกำลังจะฆ่าเรา" วิเวกกล่าว แต่ทั้งสองคนก็มีความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายตามมาตรฐานของชนชั่นกลางทั่วไป
ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของคนอินเดียเห็นได้ชัดในหลาย ๆ ด้าน สถิติของ
CENTER FOR MONTORING THE INDIAN ECONOMY ในบอมเบย์ระบุว่า ในช่วงทศวรรษ
80 ค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องใช้ในครัวเรือน สินค้าอุปโภคบริโภคและบริการเพิ่มขึ้นปีละ
14% ขณะที่ค่าใช้จ่ายสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นปีละ 30%
ปีที่แล้วคนอินเดีย 3 ล้านคนเดินทางไปต่างประเทศ กระทรวงการท่องเที่ยวประเมินว่า
มีคนอินเดีย 62 ล้านคนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในแต่ละปี จำนวนนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์
22 แห่ง เพิ่มจาก 2 ล้านคนเมื่อปี 1980 เป็นมากกว่า 20 ล้านคนในปีที่แล้ว
มีผู้ถือบัตรเครดิต 9 แสนคน ซึ่งธุรกิจบัตรเครดิตคาดว่าในช่วงห้าปีข้างหน้า
จำนวนผู้ถือบัตรจะเพิ่มขึ้นปีละ 30-40%
ระบบเศรษฐกิจที่เปิดตัวเสรีมากขึ้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่คนอินเดียทุกคนจะเห็นดีด้วย
จอร์จ เฟอร์นันเดซ นักการเมืองฝ่ายค้านซึ่งเคยขับไล่โคคา-โคล่าและไอบีเอ็มออกจากอินเดีย
สมัยที่เขาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมในปี 1977 สาบานว่า จะรื้อฟื้นขบวนการแบบคานธีขึ้นมาต่อต้านบริษัทข้ามชาติที่กำลังกลับเข้ามาอีกครั้งหนึ่ง
และเอ็ม นานจุดาสวามีสมาชิกกลุ่มชาวนาแห่งบังกาลอร์ก็ได้บุกทำลายสำนักงานของคาร์กิลล์
เพื่อประท้วงร่างข้อตกลงการค้าในการประชุมแกตต์ เขาอ้างว่า ข้อตกลงนี้ทำให้ชาวนาต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ในราคาที่แพงขึ้น
ขณะเดียวกันบริษัทอินเดียก็เริ่มแสดงความเป็นห่วงว่า จะไปไม่รอดเพราะต้องแข่งกับต่างชาติ
บริษัทเหล่านี้ยังรู้สึกไม่สบายใจจากการที่บริษัทข้ามชาติทำการเทคโอเวอร์ธุรกิจอินเดียหลายราย
แม้ว่าอินเดียจะมีนโยบายเปิดกว้างทางเศรษฐกิจมากขึ้น แต่บทเรียนจากเป๊ปซี่ก็ยังคงหลงเหลืออยู่ในความทรงจำของนักลงทุนบางราย
ทว่าเป๊ปซี่เองกลับหลุดพ้นจากฝันร้ายนี้ไปได้ และเพิ่มการลงทุนของตนด้วยการร่วมทุนกับรัฐบาลอินเดียในธุรกิจการเกษตร
เช่นเดียวกับบริษัทต่างชาติอื่น ๆ ที่พากันเพิ่มทุนในธุรกิจที่ดำเนินอยู่
ส่วนผู้มาใหม่โดยเฉพาะชาติตะวันตก ก็ใช้วิธีร่วมกิจการกับนักธุรกิจท้องถิ่นเพื่อเป็นช่องทางเจาะเข้าไปในตลาดชนชั้นกลางขนาดมหึมานี้
บริษัทที่มีส่วนได้เสียในอินเดียมากที่สุดในขณะนี้คือ เจเนรัล อิเล็คทริคของสหรัฐฯ
ซึ่งจับมือกับบริษัทไวโปร ซีสเต็ม บริษัทไฮเทคของเบงกาลอร์ในธุรกิจอิเล็คโทรนิคส์การแพทย์
และยังเจ้าไปจับธุรกิจสินเชื่อที่อยู่อาศัยร่วมกับ บริษัทเฮ้าส์ซิ่งดิเวลลอปเม้นท์
ไฟแนนซ์ นอกจากนั้นยังลงทุนร่วมกับกลุ่ม GODREJ ในการผลิตตู้เย็น เครื่องซักผ้าและอบผ้าด้วย
รายการสินค้าตะวันตกที่จะซื้อหาได้ในอินเดียขณะนี้หรืออีกไม่นานได้แก่
กางเกงยีนส์ลีวายส์ แมคโดนัลด์ เสื้อแอร์โรว์ รองเท้าฮัช ปั้ปปี้ส์ แว่นเรย์แบนด์
เครื่องใช้ไฟฟ้าเวิร์ลพูล และผลิตภัณฑ์อาหารเคลล็อกก์
แต่ใช่ว่าสินค้าจากต่างประเทศจะประสบความสำเร็จไปเสียทั้งหมด อินเดียเป็นสุสานของสินค้าที่มีชื่อเสียงหลาย
ๆ ตัวอย่างเช่นโคโลญจ์ "อิงลิช เลเธอร์" สบู่ปาล์มโอลีฟ แม้กระทั่งเป๊ปซี่
ซึ่งทุ่มงบโฆษณามหาศาลก็ยังมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 20% ในช่วง 3 ปีแรก ปีที่แล้วเป๊ปซี่ขาดทุน
17 ล้านเหรียญ
สำหรับบริษัทจากเอเซียตะวันออกที่มีศักยภาพในการขยายตัวสูง กลับไม่ปรากฏตัวในอินเดียเลย
ปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจตะวันตกในอดีต ยังคงทำให้บริษัทเอเซียจำนวนมากตั้งคำถามกับการปฏิรูปของอินเดีย
ว่าจะเป็นจริงเพียงไหน พวกเขาไม่แน่ใจว่า รัฐบาลจะหวนกลับไปหาลัทธิชาตินิยมอีกครั้งหนึ่งหรือไม่
หากพิจารณาจากขนาดและพลังของชนชั้นกลางรุ่นใหม่ของอินเดียแล้ว โอกาสที่อินเดียจะหวนกลับไปเป็นเหมือนเก่านั้น
มีความเป็นไปได้น้อยมาก
เด็กที่เกิดหลังเที่ยงคืนของวันประกาศอิสรภาพ ถึงวันนี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
พวกเขามองเห็นศักยภาพในการสร้างรายได้ของตัวเอง และต้องการการตอบสนองความสุขส่วนตัว
คนเหล่านี้จะมีบทบาทในทางการเมืองที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้อินเดียก้าวไปถึงความเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่เป็นจริงได้
"ประชาชนตระหนักว่า การเปิดประเทศรับต่างชาติและการพึ่งตนเองไม่ใช่แนวความคิดที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
พวกเขาสามารถอยู่กับสภาพเช่นนี้ได้ โดยที่มีการพัฒนาไปสู่ความก้าวหน้าด้วย"
แพตเตอร์สันกล่าว
ในสถานการณ์ที่อินเดียสลัดคราบสังคมนิยมและให้เสรีภาพในทางเศรษฐกิจมากขึ้น
ประเทศในเอเซียอาจจะพบว่า อินเดียเป็นตลาดที่ควรค่าต่อการให้ความสนใจ นักสังเกตการณ์กล่าวว่า
ถึงแม้พรรคชนตะจะหวนกลับมามีอำนาจอีก เสรีภาพทางเศรษฐกิจก็ยังคงต้องดำเนินต่อไป
"นโยบายเศรษฐกิจของพรรคคองเกรสและพรรคชนตะจะเหมือนโค้กและเป๊ปซี่คือ
ไม่แตกต่างกันเลย" นักธุรกิจชั้นนำคนหนึ่งของอินเดียว่าไว้เช่นนี้
แมนโมฮัน ซิงห์ รัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลังของอินเดียคุยว่า เมื่อถึงปี
1997 อินเดียจะยกเลิกข้อจำกัดด้านปริมาณการนำเข้าสินค้าต่างประเทศ หากเป็นเช่นนั้นจริง
ก็จะกระตุ้นค่าใช้จ่ายในการบริโภคได้
"เมื่อภาษีถูกลง ความต้องการบริโภคสินค้าของคนอินเดียก็จะมีปริมาณมหาศาล"
อูเดย์ โคทัครองประธานโคทัค มหินทรา ไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทปล่อยสินเชื่อเพื่อการบริโภคที่ใหญ่ที่สุดกล่าว
"และนี้คือเหตุผลว่าทำไมจะต้องมองอินเดียในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของเอเซีย
เพราะว่าอินเดียจะเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด"