Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2537
"จรินทร์ รอดประเสริฐ วันนี้ กับงานฝ่ากระแสคลื่นอินทีเรียร์นอก"             
 

   
related stories

"ธุรกิจสร้างคฤหาสน์เศรษฐีมากด้วยกลยุทธ์ ยาวด้วยสายป่าน"

   
search resources

จรินทร์ รอดประเสริฐ
Crafts and Design
Architecture




งานตกแต่งภายใน เป็นงานที่เดินเคียงคู่ไปกับการรังสรรค์โครงสร้างบ้านให้ดูโอ่โถงตระการตา หากการออกแบบและรังสรรค์ความวิจิตรเพริศแพร้วภายในบ้าน ไปคนละทางกับงานภายนอกเสียแล้ว ความใหญ่โตอลังการของบ้านก็แทบจะไม่มีคุณค่าอะไรเลย

รูปแบบการตกแต่งภายในของคฤหาสน์เศรษฐีโดยทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่จะประยุกต์เอา วัฒนธรรมการตกแต่งภายในของชาติตะวันตกมาใช้แทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นแบบหลุยส์คลาสสิค นีโอคลาสสิค หรือแม้แต่ศิลปะการตกแต่งภายในรุ่นใหม่ที่เรียกว่า NEW WAVE เข้ามาผสมผสานให้กลมกลืนกับตัวบ้าน เช่นเดียวกับศิลปะการตกแต่งภายในสมัยเหม็ง หรือเช็งของจีน ก็มีอยู่เกลื่อนกลาด

มีใครเคยคิดบ้างไหมว่าศิลปะการตกแต่งภายในของไทยเราเอง ก็ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่าต่างชาติเลย เพราะหากเราไม่เริ่มคิดในวันนี้

เราอาจจะได้เห็นศิลปะของไทยตามวัดวาอารามเท่านั้น

แต่มีมัณฑนากรระดับอาจารย์ท่านหนึ่ง ที่พยายามทุ่มเทและผลักดันให้ศิลปะของไทย ได้มีโอกาสเข้าไปแทรกตัวในงานตกแต่งภายในของคฤหาสน์เศรษฐีบ้าง

จรินทร์ รอดประเสริฐ คือมัณฑนากรท่านนั้น

จรินทร์ หรือ อ. จรินทร์ ของลูกศิษย์ลูกหา จบสถาปัตยกรรมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2508 และได้เริ่มงานเป็นอาจารย์สอนทางด้านมัณฑนศิลป์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยไม่ได้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศเลยเพียงแต่ได้ไปดูงานเป็นครั้งคราว จรินทร์รับราชการที่มหาวิทยาลัยศิลปากรอยู่ถึง 19 ปี จึงได้ออกมาตั้งบริษัทเป็นของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า สำนักงานสถาปนิกและออกแบบภายในจรินทร์ รอดประเสริฐ โดยได้ฝากผลงานอาคารและการตกแต่งคฤหาสน์เศรษฐีมากมาย

จรินทร์ได้เล่าให้ฟังถึง ความเป็นมาของรสนิยมการตกแต่งของคฤหาสน์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันว่า เมื่อย้อนหลังไปสัก 25-30 ปี จำนวนของผู้มั่งคั่งระดับเศรษฐีหรือมหาเศรษฐี มีจำนวนไม่มากเท่าปัจจุบัน แต่เมื่อมาถึงช่วงที่เศรษฐกิจบูมสุดขีดเช่นเดี๋ยวนี้ได้มีผู้มั่งคั่งทางการเงินเกิดขึ้นมากมาย จึงมีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะตกแต่งบ้านให้หรูหราขึ้นอีกระดับหนึ่ง ได้ทำให้ปริมาณงานตกแต่งที่มีความหรูหรายิ่งขยายวงกว้างออกไปมากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ในสมัยก่อน งานที่ดูหรูหราส่วนใหญ่มักจะเป็นงานที่มีลวดลายแกะสลักเป็นตัวนำ แต่ในปัจจุบันเมื่อมีวัสดุเกิดขึ้นใหม่มากมายที่จะนำมาใช้ทดแทนได้ จึงทำให้การแกะสลักขนานแท้ ลดบทบาทลงไปบ้าง แต่ทั้งของใหม่และเก่า ก็ต้องดูที่รสนิยมของเศรษฐีเองว่า ชอบแบบไหนมากกว่ากัน

เกี่ยวกับผลงานตกแต่งภายใน ที่แสดงความเป็นไทยนั้นจรินทร์ได้มีโอกาสฝากผลงานไว้บ้าง แต่ไม่มากนัก เพราะกระแสวัฒนธรรมการตกแต่งภายในจากต่างชาตินั้นนับวันมีแต่เพิ่มขึ้น จะมีประปรายเฉพาะงานใหญ่ ๆ เพียงไม่เกินปีละ 2-3 งานเท่านั้น ซึ่งนับว่ายังน้อยมาก

กระแสวัฒนธรรมการตกแต่งจากต่างชาติ ที่ อ. จรินทร์หมายถึงนั้น ได้มีผลสืบทอดมาจากการปลูกฝังด้านค่านิยมในงานสถาปนิกอาคารสมัยใหม่ ที่สถาปนิกหลายท่านที่มีชื่อเสียงในวงการ ที่พยายามรับเอาวัฒนธรรมด้านสถาปนิกทั้งแบบยุโรป หรือโรมันเข้ามาโดยไม่มีการแต่งแก้ให้มีกลิ่นอายของความเป็นไทยอยู่บ้าง

จรินทร์รู้สึกทอดถอนใจที่จะต้องกล่าว ถึงเรื่องเหล่านี้เพราะได้พยายามต่อต้านแนวความคิดเหล่านี้มาตลอด แต่ในที่สุดก็มีอาคารรูปแบบดังกล่าวผุดขึ้นอย่างมากมาย แม้ว่าจะมีสถาปนิกหลายท่าน ที่พยายามฝืนกระแสโดยการเสริมความเป็นไทยเข้าไปในงานของตัวเองบางจุดแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอ

"กระแสความคิดของสถาปัตยกรรมภายนอกอาคาร ที่เรารับมาอย่างผิด ๆ ได้มีผลปลูกฝังให้เจ้าของอาคาร เมื่อต้องไปสร้างบ้านตัวเอง ก็เลือกเอาศิลปกรรมแบบยุโรปหรือโรมัน ไปใช้บ้างทั้งภายนอกและภายใน"

แต่จรินทร์ก็ยังหวังจะเดินหน้าผลักดันให้ผู้มีอันจะกินที่มีกำลังทรัพย์มาก ๆ หันมาสนใจงานตกแต่งภายในด้วยรูปแบบความเป็นไทยมากขึ้น เพราะคนระดับบน จะเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในการจุดประกายให้คนในสังคมทั่วไปเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

ปัญหาและอุปสรรคในการผลักดันให้ประดาเศรษฐีสนใจงานตกแต่งภายในแบบไทยมากขึ้นนั้น อยู่ที่เจ้าของงานและผู้ออกแบบทั้ง 2 ฝ่ายมีจิตสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร เจ้าของงานอาจไม่แน่ใจว่างานที่ออกมาจะสวยเหมือนกับรูปแบบต่างชาติที่ตนคุ้นเคยหรือไม่ ในขณะที่ผู้ออกแบบก็ไม่ได้พยายามผลักดันให้เจ้าของงานหันมาสนใจในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

โดยรูปแบบงานศิลปะของไทยนั้น เนื่องจากมีลักษณะดั้งเดิมที่บรรพบุรุษไทยได้สร้างสรรค์ไว้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่โดดเด่นไม่แพ้ชาติใดในโลก มัณฑนากรรุ่นใหม่จึงพอจะมีแนวทางพัฒนางานของตน เพื่อให้เกิดผลงานออกแบบสมัยใหม่ที่มองเห็นความเป็นไทย ในขณะที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนวัฒนธรรมตกแต่งที่มีอยู่ดาษดื่นในวงการขณะนี้ไปด้วย แต่มัณฑนากรรุ่นใหม่ ก็ยังให้ความสนใจในเรื่องนี้น้อยมาก ๆ

"ผมมีความบริสุทธิ์ใจที่จะพยายามปกป้องหน้าตาของบ้านเมือง เราไม่ให้มีหน้าตาเป็นของชาติอื่นเพราะสถาปัตยกรรมคือหน้าตาของเมือง หากเราไม่ช่วยกันพิทักษ์รักษา และหวงแหนไว้ วันหนึ่งข้างหน้าเราจะสูญเสียอารยธรรมให้กับต่างชาติโดยฝีมือของคนไทยกันเอง" จรินทร์ ถอดใจพูดเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกคนไทยทั้งหลาย

แม้ว่าจะยังไม่ได้รับแรงสะท้อนในแง่เห็นด้วยกับการกระตุ้นจิตสำนึกที่ผ่านมา แต่ อ. จรินทร์ก็ยังไม่ลดละความพยายาม โดยได้หันไปกระตุ้นนิสิตที่กำลังศึกษาสถาปัตยกรรม ในมหาวิทยาลัย ด้วยการตั้งทุน "เพื่อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่" ด้วยการใช้เงินส่วนตัวมอบให้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อจัดประกวดการออกแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ ให้นิสิตทำขึ้นเพื่อแข่งขันภายในชั้นเรียน มีเงินรางวัลสำหรับผู้ชนะการประกวดทุกปี

ทางลูกค้าเศรษฐี จรินทร์ ก็ใช้วิธีการชักชวนด้วยวาจา หรือแจก บทความให้เขาไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ว่าจะนำไปใช้บ้านของตัวเองได้เพียงใดนอกจากนั้นแล้ว อ. จรินทร์ยังมีความฝันสูงสุดที่จะรวบรวมแนวคิดการตกแต่งภายในแบบไทยสมัยใหม่ ออกมาเป็นรูปแล่น เพื่อเป็นการเผยแพร่สู่สาธารณะ

"ตอนนี้ผมกำลังหาทุนสักก้อนหนึ่ง ประมาณ 3 ล้านบาทที่จะจัดพิมพ์แนวความคิดนี้ออกมา เพื่อเผยแพร่ให้คนในวงการ ได้มีความสำนึกเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยไม่คิดมูลค่าแต่อย่างใด งานแนวนี้เป็นของใหม่ที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากสถาปนิกและมัณฑนากรหลาย ๆ คน ช่วยกันคิดช่วยกันทำในมุมมองต่าง ๆ กัน หากได้ผลงานออกมาเป็นจำนวนมาก ๆ ก็จะเห็นแนวทางของผลงานออกแบบไทยสมัยใหม่ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น" อ. จรินทร์กล่าวถึงความตั้งใจของตน

ก็คงต้องมาให้กำลังใจกับอินทีเรียร์ระดับอาจารย์ท่านนี้ที่จะหาญกล้าฝ่ากระแสคลื่นวัฒนธรรมตกแต่งภายในของฝรั่งต่างชาติ ที่โหมพัดเข้ามาเป็นระลอก และยังไม่มีวันจะเจือจางหายไป

และคงต้องเตือนตัวเองด้วยว่า วันนี้คุณช่วยอนุรักษ์

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us