Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2537








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2537
"บทเรียนของนักลงทุนไทยในกัมพูชา"             
 


   
search resources

Investment
Cambodia




บทเรียนของนักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอินโดจีน ในขณะนี้คงจะไม่มีกรณีใดที่น่าศึกษาไปกว่าเรื่องราวของนักลงทุนชาวไทยหลายรายที่กำลังได้รับผลกระทบ อันเนื่องมาจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในกัมพูชา โดยเฉพาะนโยบายการทบทวน และแก้ไขสัญญาการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ที่เจ้านโรดม รณฤทธิ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 1 แห่งรัฐบาลผสมกัมพูชา ได้นำมาใช้กับนักลงทุนชาวไทยอยู่ในขณะนี้

กัมพูชาในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมายังคงเป็นแดนสนธยาสำหรับนักลงทุนจากต่างชาติด้วยสงครามกลางเมือง ที่เริ่มปะทุมาตั้งแต่ปี 2513 เมื่อนายพลลอนนอลทำการยึดอำนาจโค่นล้มเจ้าสีหนุโดยมีสหรัฐอเมริกา กระโดดเข้าร่วมในปลักสงครามก่อนที่จะเพลี่ยงพล้ำต่อฝ่ายเขมรแดงในปี 2518 จนเมื่อกองทัพเวียดนามและเฮง สัมรินได้ขับไล่กองกำลังเขมรแดงออกไปจากเมืองแล้ว รัฐบาลพนมเปญจึงได้เริ่มต้นการฟื้นฟูประเทศ ด้วยความช่วยเหลือจากบรรดาประเทศสังคมนิยม

ภายหลังจากการล่มสลายของระบบสังคมนิยม และการตัดความช่วยเหลือ ทางด้านเศรษฐกิจต่อกัมพูชาของรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือรายใหญ่ รวมทั้งประเทศในกลุ่มสังคมนิยมอื่น ๆ แล้ว กัมพูชาจึงจำเป็นที่จะต้องหันมาพึ่งพาตัวเองด้วยการเปิดประเทศ เพื่อรับเอาการลงทุนจากต่างชาติ เข้าไป เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกินที่ได้รับความบอบช้ำ จากภาวะสงครามมาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี นักลงทุนจากเมืองไทยจึงเริ่มหลั่งไหลเข้าไปลงทุนในกัมพูชา ภายหลังจากการดำเนินนโยบาย "เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า" ของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในช่วงปลายปี 2531 ซึ่งก่อนหน้านี้การติดต่อค้าขายระหว่างไทย-กัมพูชาเป็นเพียงลักลอบค้าขายตามแนวชายแดน หรือไม่ก็ค้าขายผ่านพ่อค้าสิงค์โปร์ซึ่งซื้อสินค้าจากเมืองไทยเข้าไปจำหน่ายในกัมพูชาอีกทอดหนึ่ง

และเมื่อฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลพนมเปญพร้อมด้วยคณะ ได้เดินทางมาเยือนเมืองไทยเป็นครั้งแรกในเดือนมกราคม 2532 และนโยบายดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เพราะหลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเศรษฐกิจไทย-กัมพูชาขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการติดต่อและส่งเสริมการค้าระหว่างสองประเทศ เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลไทยยังมิได้ให้การรองรับรัฐบาลพนมเปญอย่างเป็นทางการ การติดต่อค้าขายระหว่างเอกชนไทยกับรัฐบาลกัมพูชาจึงต้องดำเนินการผ่านคณะกรรมการชุดดังกล่าว โดยทางฝ่ายกัมพูชาได้มอบอำนาจให้พลเอกเตียบันห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจฝ่ายกัมพูชา มีอำนาจชี้ขาดในการอนุมัติการลงทุนให้แก่นักธุรกิจชาวไทย ส่วนคณะกรรมการฝ่ายไทย ซึ่งมีพลเอกปัญญา สิงห์ศักดา เลขาธิการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็มีอำนาจในการพิจารณาและส่งเสริมให้นักธุรกิจไทยเข้าไปลงทุนในกัมพูชา

และเพื่อเป็นหลักประกันในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนจากต่างชาติ รัฐบาลพนมเปญจึงได้มีการร่างกฎหมายรองรับการลงทุนจากต่างประเทศขึ้นมา 1 ฉบับ โดยประกาศใช้ "กฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศ" เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2532 เป็นต้นมา สาระสำคัญของกฎหมายฉบับดังกล่าวคือการให้ความคุ้มครองต่อเงินตราและทรัพย์สินของนักลงทุน มิให้ถูกเคลื่อนย้ายหรือถูกยึดครองโดยรัฐ รวมทั้งการรับประกันสิทธิต่างๆ ของนักลงทุนด้วย

"รัฐบาลพนมเปญจะปกป้องและคุ้มครองการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าในภายหลังอาจจะมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงกฎหมายรัฐธรรมนูญบางมาตราก็ตาม แต่สิ่งใด ๆ ที่ได้กระทำไปก่อนหน้านี้จะไม่ได้รับการแตะต้อง" ฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรี ของรัฐบาลพนมเปญ กล่าวให้ความมั่นใจแก่นักลงทุนพร้อมกับคณะที่ปรึกษาของพลเอกชาติชายในช่วงปี 2532

"การติดต่อทำการค้ากับกัมพูชานั้นก็ง่ายมากเพียงแค่นำเอาเอกสารจากคณะกรรมการฝ่ายไทยมาทางกัมพูชาก็ยินดีต้อนรับทุกคน และที่สำคัญคือการดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจนี้ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องรอให้รัฐบาลทั้งสองประเทศรับรองกันอย่างเป็นทางการ เราสามารถที่จะทำได้โดยการอนุมัติจากคณะกรรมการของทั้งสองฝ่ายเท่านั้น" พลเอกเตียบันห์กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ที่กรุงพนมเปญในคราวนั้น

แน่ละ ! ในเมื่อระดับนายกรัฐมนตรีออกมารับปากค้ำประกันการลงทุน อีกทั้งขั้นตอนการเข้าไปทำการค้าและการลงทุนในกัมพูชาก็ไม่ยุ่งยากตามคำกล่าวของพลเอกเตียบันห์ นักธุรกิจ และนักลงทุนชาวไทยจึงได้แห่กันเข้าไปขอสัมปทานการค้า และการลงทุนกันอย่างคึกคักเพื่อช่วงชิงโอกาสทางการค้า และการลงทุนในประเทศที่เพิ่งจะผ่านภาวะสงครามมาหมาด ๆ แม้ว่าอีกหลายคนจะไม่กล้าผลีผลามเข้าไปก็ตาม

สมพร สหวัฒน์ ประธานกลุ่ม "วนชัยกรุ๊ป" เจ้าของกิจการโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยหอบหิ้วเอาสัมปทานป่าไม้ที่จังหวัดเกาะกงกลับมา นอกจากนี้ ยังมีสัญญาการเช่าโรงงานน้ำอัดลมในพนมเปญ, โรงแรมแกรนด์ที่เสียมเรียบ, การร่วมทุนกิจการสายการบิน SIAM KAMPUCHEA AIR, สัมปทานการเช่าพื้นที่ 5,000 ไร่ เพื่อก่อสร้างรีสอร์ทและคาสิโนที่หาดทรายยาว จ. เกาะกง ฯลฯ

โอฬาร อัศวฤทธิกุล เจ้าของโครงการ "บางปะกงริเวอร์ไซด์" ได้สัมปทานการดำเนินกิจการโรงแรมลอยน้ำในพนมเปญ, การขนส่งสินค้าทางเรือ, โรงงานอุตสาหกรรมผลิตบุหรี่ ฯลฯ

อุดม ตันติประสงค์ชัย นักธุรกิจหนุ่มจากกลุ่ม "ฟูลด้า" ซึ่งประกอบกิจการโรงงานทอผ้าในเมืองไทย ได้สัมปทานการเช่าโรงงานทอผ้า ในพนมเปญ จำนวน 2 โรง, สัญญาการร่วมทุนในกิจการสายการบิน COMBODIA INTERNATIONAL AIRLINE, โครงการปรับปรุงสนามบินโปเชนตงและร้านค้าปลอดภาษี, ธุรกิจการเดินเรือสินค้าระหว่างกรุงเทพฯ-พนมเปญ ฯลฯ

วิสิฐ จิรฐิติวณิชย์กุล แห่งบริษัท TJR บริษัทร่วมทุนระหว่างนักธุรกิจไทย, ฮ่องกงและไต้หวัน ได้สัมปทานเช่าโรงงานไม้อัด, ทอกระสอบ,ผลิตกระดาษ,ผลิตแก้ว,ปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมย่อยหิน, ผลิตน้ำมันพืช ฯลฯ

นายแพทย์บุญ วนาสิน จากกลุ่มราชธานี ได้สัมปทานเช่าโรงงานผลิตน้ำตาล,โรงงานแปรรูปไม้, ธุรกิจโทรคมนาคม, โรงงานทอผ้า ฯลฯ

นอกจากนี้ยังมีนักธุรกิจรายอื่น ๆ อีกเช่น ธนิต ไตรวุฒิ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตราด ได้รับสัมปทานไม้ที่ จ. เกาะกง, เท้ง บุญมาจากกลุ่มไทยบุญรุ่ง ได้สัมปทานปรับปรุงโรงแรม, ศูนย์การค้า, ซุปเปอร์มาร์เก็ตในพนมเปญ, นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ได้สิทธิการบินระหว่าง กรุงเทพฯ-พนมเปญ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้สัญญาการร่วมทุนกับธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ในภายหลังการติดต่อระหว่างนักธุรกิจไทยกับรัฐบาลพนมเปญไม่จำเป็นต้องเสนอขั้นตอนผ่านคณะกรรมการเศรษฐกิจไทย-กัมพูชาแต่อย่างใด โดยเฉพาะภายหลังการล้มล้างรัฐบาลพลเอกชาติชายของคณะ รสช. เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2534 แล้ว คณะกรรมการชุดดังกล่าวของฝ่ายไทยจึงได้ยุติบทบาทไปโดยปริยาย

ส่วนทางกัมพูชาก็ได้มีการปรับปรุงหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านการค้าและการลงทุนจากต่างชาติให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยให้นักลงทุนต่างชาติติดต่อโดยตรงกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมการการลงทุนแห่งชาติ สังกัดกระทรวงวางแผนซึ่งมีหน้าที่ในการควบคุม วิเคราะห์ และตัดสินใจว่าโครงการลงทุนใดมีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด เมื่อนักลงทุนยื่นคำขออนุญาตไปแล้วก็ต้องอนุมัติโครงการภายในระยะเวลา 3 เดือน แต่หากโครงการใดซึ่งเป็นโครงการใหญ่และอาจส่งผลกระทบในหลายๆ ด้านต่อประเทศกัมพูชา คณะกรรมาธิการการลงทุนแห่งชาติก็จะนำโครงการดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาต่อไป

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่ารัฐบาลพนมเปญจะมีการปรับปรุงหน่วยงานที่รับผิดชอบทางด้านการค้าและการลงทุนแล้วก็ตาม แต่จากการขาดประสบการณ์ทางด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของคณะรัฐบาลพนมเปญ ผู้รับผิดชอบซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นนายทหารที่ผ่านการรบมาอย่างโชกโชน แต่ก็อ่อนด้อยในกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจจึงทำให้ตามเหลี่ยมคูของนักลงทุนต่างชาติไม่ค่อยจะทัน

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ กรณีของธนาคารพาณิชย์จากเมืองไทยแห่งหนึ่งเข้าไปร่วมทุนกับธนาคารแห่งชาติกัมพูชาเปิดธนาคารพาณิชย์ในกรุงพนมเปญเมื่อกลางปี 2534 โดยมีสัญญาระบุว่า ภายใน ระยะเวลา 20 ปีนับจากธนาคารร่วมทุนแห่งนี้เปิดดำเนินการ ห้ามมิให้ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาอนุมัติให้ธนาคารแห่งอื่นเปิดดำเนินการแข่งขัน จนรัฐบาลพนมเปญต้องสั่งให้มีการแก้ไขสัญญาดังกล่าวในเวลาต่อมา

จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของกัมพูชา ระบุว่าตั้งแต่เดือนมกราคม 2534- กันยายน 2536 มีนักลงทุนต่างชาติยื่นคำขออนุญาตดำเนินธุรกิจ และการค้ารวมทั้งสิ้น 589 รายโดยนักลงทุนไทยได้ยื่นคำขอรวมทั้งหมด 120 ราย (ขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด 74 ราย ได้รับอนุมัติแล้วจำนวน 17 ราย) ซึ่งถือว่าเป็นสถิติการยื่นคำขอที่สูงที่สุดในบรรดานักลงทุนต่างชาติ รองลงมาได้แก่นักลงทุนจากสิงคโปร์, ฝรั่งเศส และฮ่องกง

กล่าวกันว่า นอกจากนโยบายของรัฐบาลฮุนเซ็นที่เปิดกว้างเพื่อรองรับการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศแล้ว ความสัมพันธ์ทางด้านเชื้อชาติระหว่างคนไทยกับพลเอกเตียบันห์ ซึ่งถือว่าเป็นคนไทยเชื้อสายเกาะกง ในฐานะประธานคณะกรรมการ เศรษฐกิจกัมพูชาซึ่งมีอำนาจชี้ขาดในการอนุมัติโครงการทำให้การอนุมัติโครงการการลงทุนต่าง ๆ ที่นักธุรกิจนักลงทุนไทยยื่นคำขอไปได้รับการอนุมัติอย่างสะดวกราบรื่น !!

นอกจากนี้พลเอกเตียบันห์ยังเห็นชอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกง จังหวัดชายแดนทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของกัมพูชาที่มีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดตราดและอ่าวไทย มีอำนาจในการอนุมัติโครงการและให้สัมปทานแก่นักลงทุนต่างชาติได้เองโดยมิต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่พนมเปญ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนต่างชาติ

แน่นอนว่านักลงทุนต่างชาติที่กล่าวถึง ย่อมเป็นคนไทยอย่างไม่ต้องสงสัย !!

นักลงทุนชาวไทยที่เข้าไปทำการค้า และลงทุนในจังหวัดเกาะกงมีหลายราย เช่น ธนิต ไตรวุฒิ ส.ส. ตราด ทำธุรกิจรับซื้อไม้จากเกาะกง, สมพร สหวัฒน์ ทำสัมปทานไม้, ทัด สิงหพันธ์ นักลงทุนจากตราดเข้าไปเลี้ยงกุ้งกุลาดำบนพื้นที่กว่าร้อยไร่, ทด สิงหพันธ์ ลงทุนทำรีสอร์ทที่ปากคลอง, สุรศักดิ์ อิงประสาร พ่อค้าพลอย จากจันทบุรีเช่าวังสีหนุเก่าหรือตึกแดงเพื่อทำรีสอร์ท ฯลฯ

ธนิต กล่าวว่าในสมัยสงครามระหว่างฝ่ายเขมรแดงกับฝ่ายเฮง สัมริน ตนได้เคยให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายเฮง สัมริน ทางด้านจังหวัดเกาะกงมาตลอด ดังนั้นเมื่อสงครามยุติลงโดยฝ่ายเฮง สัมริม เป็นฝ่ายชนะและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นมา โดยมีคนไทยเชื้อสายเกาะกงหลายคนได้เข้าไปมีตำแหน่งสำคัญ ตนจึงได้รับการอำนวยความสะดวกในการติดต่อค้าขายกับทางจังหวัดเกาะกงเป็นอย่างดี

ทว่านโยบายรองรับการลงทุนที่เปิดกว้างจนบางครั้งกลายเป็นความหละหลวมในการอนุมัติโครงการ ตลอดจนความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ทำให้การอนุมัติโครงการเป็นไปอย่างยากเย็นนั้น ได้ย้อนกลับกลายเป็นหอกแหลมที่ทิ่มแทงนักลงทุนไทยและรัฐบาลพนมเปญอย่างเจ็บปวดในเวลาต่อมา !!

เมื่อศูนย์อำนาจในกัมพูชาได้ถูกถ่ายโอนจากคณะรัฐบาลฮุนเซ็น มาเป็นเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ภายหลังจากที่พรรคฟุนซินเปคยึดครองชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนพฤษภาคม 2536 และมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน โดยมีเจ้านโรดม รณฤทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 แล้ว หนทางในการค้า, การลงทุนของนักธุรกิจชาวไทยในกัมพูชาดูเหมือนว่าจะเริ่มมีความยุ่งยากและเกิดปัญหาขึ้นมาพลัน

"พรรคฟุนซินเปคให้คำมั่นว่าจะต่อต้านการคอรัปชั่นทุกรูปแบบ ฟุนซินเปคจะเพิกถอนสัญญาและข้อตกลงทางธุรกิจ การลงทุนที่ขัดต่อผลประโยชน์ของชาติ " ถ้อยคำของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ ที่ปราศรัยหาเสียงหลายครั้งหลายหนต่อฝูงชนกัมพูชาก่อนที่การเลือกตั้งจะมีขึ้น

เป็นที่รู้จักกันดีในบรรดานักลงทุนต่างชาติ และคณะรัฐบาลพนมเปญก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้ง ว่าหากพรรคฟุนซินเปคได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลนโยบายเร่งด่วนที่ฟุนซินเปคได้เป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลนโยบายเร่งด่วนที่ฟุนซินเปคจะนำใช้คือ นโยบายการทบทวน และแก้ไขสัญญาการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนชาวไทยได้ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ อันเนื่องมาจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลพนมเปญ รวมทั้งข้อครหาว่านักลงทุนชาวไทยส่วนใหญ่นิยมติดสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่ออำนวยความสะดวกในการอนุมัติโครงการ

นอกจากนี้นักลงทุนชาวไทยยังได้รับการกล่าวหาว่า นำสัญญา หรือสัมปทานการลงทุนที่ได้รับจากรัฐบาลกัมพูชาไปขายต่อให้แก่นักลงทุนต่างชาติรายอื่น ไม่เว้นแม้แต่การขายสัญญาการดำเนินกิจการโรงงานน้ำอัดลม "โค้ก" ในกรุงพนมเปญของสมพร สหวัฒน์หรือการที่ยังไม่เริ่มดำเนินการปรับปรุงกิจการโรงงานทอผ้าจำนวน 2 โรง รวมทั้งโครงการปรับปรุงสนามบินโปเชนตงของกลุ่ม "ฟูลด้า" ซึ่งทางฝ่ายกัมพูชามองว่านักลงทุนไทยมีเจตนาที่จะขายทอดสัญญา

อุดม ตันติประสงค์ชัย จากกลุ่มฟูลด้าให้สัมภาษณ์ "ผู้จัดการ" ตอบโต้ข้อกล่าวหาดังกล่าวว่าเหตุที่ยังไม่ลงทุนเปิดดำเนินกิจการโรงงานทอผ้าทั้งที่ได้ลงทุนปรับปรุงโรงงานไปแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2534 ก็เนื่องจากว่า กลุ่มฟูลด้าต้องการรอให้ประเทศกัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษทางการค้าเสียก่อนจึงค่อยเริ่มเปิดทำการผลิต เพราะหากทำการผลิตในตอนนี้ก็มีแต่หนทางขาดทุนเพียงอย่างเดียว ส่วนโครงการปรับปรุงสนามบินโปเชนตงก็จำเป็นที่จะต้องชะลอโครงการออกไป เพราะสถานการณ์ทั่วไปในกัมพูชายังไม่มีความแน่นอน อีกทั้งกฎหมายการลงทุนก็ยังขาดความชัดเจน ทำให้กลุ่มฟูลด้าต้องเตรียมรับสถานการณ์ด้วยการเข้าไปเปิดสายการบินในลาวรวมทั้งในเมืองไทยที่กำลังลุ้นอยู่ในขณะนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อมีข่าวว่านักลงทุนชาวไทยได้ให้ความช่วยเหลือ และสนันสนุนทางด้านการเงินแก่พรรคประชาชนกัมพูชาซึ่งเป็นพรรคการเมืองของรัฐบาลพนมเปญ ด้วยหวังว่าพรรคประชาชนกัมพูชาจะเป็นฝ่ายกุมชัยชนะในการเลือกตั้ง จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก ที่พรรคประชาชนกัมพูชาจะประกาศยืนยันว่า จะเคารพต่อสัญญาทางธุรกิจที่ได้กระทำแก่นักลงทุนต่างชาติไปแล้ว

การขนนักร้องนักดนตรีชื่อดังจากเมืองไทยกว่า 50 คนของกลุ่มชินวัตรซึ่งเข้าไปดำเนินกิจการเคเบิ้ลทีวีและระบบโทรคมนาคมในกัมพูชา เข้าไปร่วมแสดงในการหาเสียงเลือกตั้งวันสุดท้ายของพรรคประชาชนกัมพูชาที่กรุงพนมเปญท่ามกลางฝูงชนกว่า 20,000 คนที่ตากกรำฝนตลอดการแสดงกว่า 2 ชั่วโมงพร้อมทั้งมีการถ่ายทอดสดทางเคเบิ้ลทีวีไปทั่วประเทศจึงเสมือนเป็นการ "แทงม้าแบบเทกระเป๋า" ของกลุ่มชินวัตร ซึ่งงานนี้ทำให้พรรคฟุนซินเปคจ้องมองกลุ่มชินวัตรอย่างไม่ค่อยจะพอใจนัก
ทว่าเมื่อเลยทางโค้งเข้าสู่เส้นชัยผลกลับกลายเป็นว่าพรรคฟุนซินเปคเป็นฝ่ายชนะไปอย่างพลิกความคาดหมาย

ดังนั้นดาบแรกที่เจ้านโรดม รณฤทธิ์ เงื้อง่ามาที่สัญญาการดำเนินธุรกิจของนักลงทุนชาวไทย จึงไม่ลังเลที่จะฟาดฟันลงมาที่สัญญากิจการเคเบิ้ลทีวีหรือ IBC ของกลุ่มชินวัตรซึ่งได้รับสัมปทานในการดำเนินการยาวนานถึง 99 ปี ด้วยข้ออ้างที่ชอบธรรมคือระยะเวลาในการดำเนินกิจการยาวนานเกินไป โดยที่รัฐบาลกัมพูชาไม่ได้รับผลตอบแทน

"สัญญาที่ IBC ได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการเป็นเวลานานถึง 99 ปี โดยที่รัฐบาลกัมพูชาไม่ได้รับประโยชน์เลยสักบาทหรือเรียลเดียว เป็นไปได้หรือไม่ว่าอาจจะมีการจ่ายเงินใต้โต๊ะ" สัม รังสี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ และการคลังจากพรรคฟุนซินเปค กล่าวพาดพิงถึงกลุ่มชินวัตรและรัฐบาลพนมเปญต่อหน้านักธุรกิจชาวต่างชาติในงานสัมนา "การลงทุนในกัมพูชา" ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการหั่นสัมปทานการดำเนินกิจการของ IBC เหลือเพียง 30 ปีในเวลาต่อมา

นอกจากนี้นายสัมยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลกัมพูชากำลังพิจารณารายละเอียดของสัญญาการลงทุนระบบโทรคมนาคมของบริษัทต่างชาติบางรายที่อยู่ในข่ายต้องทบทวนสัญญากันใหม่ โดยมีบริษัทของไทยรวมอยู่ด้วย แต่ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าจะมีการทบทวนสัญญาของบริษัทใด ซึ่งบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนด้านระบบโทรคมนาคมในกัมพูชาขณะนี้มีอยู่ 3 ราย คือกลุ่มชินวัตร, สามารถเทเลคอมฯ และซีพีรวมทั้งจะมีการทบทวนสัญญาการลงทุนด้านอื่นๆ อีกด้วย เพื่อเป็นการชำระล้างสัญญาการลงทุนให้ถูกต้อง อีกทั้งยังทำให้รัฐบาลกัมพูชามีรายได้เข้าคลังเพิ่มมากขึ้น

ดาบที่สองฟันฉับลงมาที่โรงแรมลอยน้ำ "พนมเปญ โฟลทติ้ง" ของโอฬาร อัศวฤทธิกุล ที่ได้ลงทุนในกิจการโรงแรมลอยน้ำขนาด 102 ห้อง เป็นมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท คือคำสั่งให้ย้ายโรงแรมลอยน้ำออกไปจากบริเวณศาลจตุมุขซึ่งเป็นที่ทอดสมอของโรงแรมลอยน้ำ

รัฐบาลกัมพูชาอ้างว่า บริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่ในเขตพระราชฐาน เนื่องจากอยู่ใกล้กับพระราชวังเขมรินทร์ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้าสีหนุ นอกจากนี้ศาลจตุมุขก็ถือว่าเป็นสถานที่สำคัญของทางราชการ เพราะในอดีตเคยใช้เป็นสถานที่ต้อนรับแขกเมือง และปัจจุบันยังใช้เป็นสถานที่แสดงศิลปะวัฒนธรรมของกัมพูชาอีกด้วย

ดังนั้นโรงแรมลอยน้ำซึ่งได้รับอนุญาตให้ดำเนินกิจการจากรัฐบาลพนมเปญจึงถือเป็น "สิ่งแปลกปลอม" ที่รัฐบาลกัมพูชาภายใต้การนำของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ต้องการที่จะให้เคลื่อนย้ายออกไปโดยเร็ว !!

กล่าวกันว่าผู้บริหารของโรงแรมลอยน้ำรู้ดีว่าในสถานการณ์ระหว่างการเลือกตั้งไม่ควรที่จะแสดงตัวเอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาชนกัมพูชา ซึ่งในขณะนั้นได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะ หรือแม้กระทั่งพรรคฟุนซินเปคที่กำลังมาแรงเช่นกัน

โรงแรมลอยน้ำปฏิเสธที่จะสำรองห้องพักให้แก่นักร้องนักแสดงที่กลุ่มชินวัตรขนเข้าไปช่วยพรรคประชาชนกัมพูชาหาเสียง เพื่อเป็นการกันตัวออกมาทว่าการออกตัวของโรงแรมลอยน้ำก็ดูเหมือนว่าจะสายไปเสียแล้ว มิหนำซ้ำผู้บริหารระดับสูงของโรงแรมลอยน้ำยังถูกเจ้านโรดม จักรพงศ์ รองนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลฮุนเซ็น เรียกไปตำหนิติเตียนค่าที่ไม่ยอมสำรองห้องพักให้นักร้องนักแสดงชุดดังกล่าว

ทั้งสองกรณีที่เกิดขึ้นกับโรงแรมลอยน้ำทำให้โอฬารถึงกับเหนื่อยหน่าย จนถึงกับตัดสินใจจะขายโรงแรมลอยน้ำให้แก่นักธุรกิจต่างชาติรายหนึ่ง ที่มาเจรจาขอซื้อกิจการไปแล้ว หรือหากปัญหายังคาราคาซังเขาก็พร้อมที่จะนำเรือกลับมาเปิดกิจการในเมืองไทย

นอกจากการทบทวนสัญญาของกลุ่มชินวัตรและคำสั่งให้เคลื่อนย้ายโรงแรมลอยน้ำแล้ว รัฐบาลกัมพูชายังได้สั่งให้มีการทบทวนอัตราค่าเช่ารีสอร์ทเก่าของเจ้าสีหนุที่เกาะกงอีกด้วย

สัญญาเช่ารีสอร์ทตากอากาศริมแม่น้ำครางครืน จ. เกาะกง จำนวน 14 หลัง นักธุรกิจค้าพลอยชาวไทยในนาม "สุรศักดิ์ อิงประสาร" ได้เช่าผ่าน "รุ่งพราหมณ์เกษร" ผู้ว่าราชการจังหวัดเกาะกงซึ่งมีเชื้อสายคนไทยเช่นเดียวกับพลเอกเตียบันห์ ระยะเวลาสัมปทาน 20 ปี เพื่อปรับปรุงเป็นรีสอร์ทรองรับนักท่องเที่ยว

โดยในช่วง 5 ปีแรกคิดอัตราค่าเช่าปีละ 12,000 เหรียญสหรัฐ ปีที่ 6-10 อัตราค่าเช่าปีละ 15,000 เหรียญสหรัฐ และปีที่ 11-20 อัตราค่าเช่าปีละ 25,000 เหรียญสหรัฐ

ทว่ามีนโยบายการทบทวนสัญญาออกมา กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของกัมพูชาจึงได้ปรับอัตราค่าเช่าใหม่ เนื่องจากเห็นว่าอัตราค่าเช่าเดิมเป็นอัตราที่ต่ำเหมือนไม่ได้เสียค่าเช่า โดยปรับใหม่เป็นปีแรกคิดค่าเช่าเดือนละ 1,500 เหรียญสหรัฐ ปีที่สองคิดค่าเช่าเดือนละ 2,000 เหรียญสหรัฐ ปีที่สามคิดค่าเช่าเดือนละ 3,000 เหรียญสหรัฐ และปีที่สี่ถึงปีที่ห้าคิดค่าเช่าเดือนละ 5,000 เหรียญสหรัฐสำหรับรีสอร์ททั้ง 14 หลัง

สุรศักดิ์ ผู้วาดฝันว่าจะได้เช่ารีสอร์ทในราคาถูก เมื่อเจอไม้นี้เข้าถึงกับครวญออกมาว่าอยากจะเลิกเช่าให้รู้แล้วรู้รอด เพราะสัญญาหาความแน่นอนไม่ได้เอาเสียเลย แต่เมื่อลงทุนปรับปรุงไปแล้วเกือบ 10 ล้านก็จำต้องเดินหน้าต่อไป

"เท้ง บุญมา" นักธุรกิจชาวไทยที่เข้าไปบุกเบิกการลงทุนในกัมพูชาในยุคแรก ๆ ในนามของบริษัทไทยบุญรุ่ง จนมีความสนิทสนมกับผู้นำของรัฐบาลพนมเปญเป็นอย่างดี ก็เป็นนักธุรกิจอีกรายหนึ่งที่เจ้านโรดม รณฤทธิ์กำลังสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบสัญญาการเช่าปรับปรุงตลอดโอลิมปิคในกรุงพนมเปญ ตามที่มีการร้องเรียนของพ่อค้าแม่ค้ากัมพูชาจนถึงขั้นเดินขบวนประท้วงเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า บริษัทไทยบุญรุ่งได้เรียกเก็บค่าเช่าแผงลอยในอัตราที่แพงลิบลิ่ว จนพ่อค้าแม่ค้าในตลาดโอลิมปิคไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าเช่าได้

แน่นอนว่างานนี้รัฐบาลกัมพูชาคงจะต้องมีคำสั่งให้บริษัทไทยบุญรุ่งลดอัตราค่าเช่าลงมาและปรับปรุงเงื่อนไขในการเช่าเสียใหม่ ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงผลงานของรัฐบาลที่มีเจ้านโรดม รณฤทธิ์เป็นผู้นำหมายเลข 1 แล้ว ยังทำให้พรรคฟุนซินเปคกวาดคะแนนนิยมจากพ่อค้าแม่ค้าชาวกัมพูชาอีกโขด้วย

บทเรียนของนักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศที่ยังไม่เสถียรภาพทางการเมือง และไม่มีหลักประกันในการลงทุนใด ๆ แม้ว่าจะมีกฎหมายรองรับการลงทุนออกมา เช่นประเทศกัมพูชานั้นคงจะเป็นอุธาหรณ์ให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการโถมตัวเข้าไปลงทุนในกลุ่มประเทศอินโดจีนในเวลานี้ !!

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us