|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2549
|
|
จากลูกที่เคยเกือบจะยิงพ่อ จากเพลย์บอยหาตัวจับยาก วันนี้ภาพลักษณ์ใหม่ในสังคมของวิกรมคือ นักบริหารผู้มีวิสัยทัศน์ที่มักได้รับเชิญให้แสดง "วิชั่น" ผ่านสื่อหลายแขนง และนักบุญผู้คอยสนับสนุนผู้ด้อยโอกาส
ภาพหลังจะยิ่งชัดเจนขึ้นมาก เมื่อจู่ๆ เขาก็ประกาศว่าจะยกหุ้นของอมตะที่ถืออยู่ในนามของเขาทั้งหมดมูลค่าร่วม 5 พันล้านบาท ให้กับมูลนิธิอมตะเมื่อถึงวันเกิดของเขาในปีหน้า
หากมอง "วิกรม" เป็นแบรนด์ ภาพลักษณ์ที่สังคมยอมรับในวันนี้ย่อมต้องใช้เวลาและมีขั้นตอนในการสร้างขึ้นมา สิ่งที่น่าสนใจก็คือ กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นมาอย่างไร
ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว "มูลนิธิอมตะ" ก่อตั้งขึ้นโดยมีวิกรมเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งและดำรงตำแหน่งเป็นประธานมูลนิธิ ด้วยทุนส่วนตัวตั้งต้นที่ 200,000 บาท เพื่อใช้ในการจัดตั้งมูลนิธิ พร้อมกับที่ดินใน "อมตะนคร" ที่ชลบุรี โดยมีคำขวัญว่า "ผู้ให้ที่ไม่หวังผลตอบแทน" ซึ่งหมายรวมถึงผู้ก่อตั้งด้วย (รายละเอียดอ่าน "มูลนิธิอมตะ : Profit Organization")
เนื่องจากทำเลของมูลนิธิฯ ที่ตั้งอยู่ในนิคมฯ ที่ชลบุรี และเนื้อหาส่วนหนึ่งยังมุ่งเน้นกิจกรรมภายในนิคม เช่น การสร้างสถานศึกษา การให้ทุนการศึกษาเด็กในนิคม เป็นต้น ประกอบกับยังขาดการประชาสัมพันธ์ในวงกว้าง ชื่อมูลนิธิจึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก กระทั่งมีโครงการ ประกวดศิลปกรรม ชื่อ "อมตะ อาร์ต อวอร์ด" ในปี 2547 ซึ่งเป็นกิจกรรมของศิลปินทุกกลุ่ม ทุกระดับอายุ ทั่วประเทศ และที่เรียกความสนใจได้ดีก็คือ เงินรางวัลเรือนล้าน (ซึ่งมีไม่กี่เวทีประกวดในแวดวงศิลปะที่แรงจูงใจสูงขนาดนี้)
นอกจากนี้มูลนิธิฯ ยังมีโครงการ "อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด" เพื่อสนับสนุนนักเขียนอาวุโส ที่สร้างสรรค์ผลงานที่มีคุณค่า และให้ทุนการศึกษาและทุนวิจัยภายใต้ชื่อโครงการ "อมตะ จีเนียส อวอร์ด"
การควักกระเป๋าส่วนตัวร่วม 100 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการต่างๆ ในมูลนิธิฯ ไม่เพียงทำให้ภาพ "ผู้เสียสละ" ของวิกรมชัดเจน ขณะเดียวกันยังช่วยเสริมสร้างภาพความเป็นผู้เข้าใจหรือผู้เชี่ยวชาญในวงการนั้นๆ ของเขาให้โดดเด่นขึ้นมา เช่น
ในงานเปิดนิทรรศการอมตะ "อาร์ต อวอร์ด สัญจร 2548" ชวน หลีกภัย ประธานในพิธี ได้กล่าวไว้ว่า "ในวงการของนักธุรกิจไทยบ้านเรา มักมองศิลปะเป็นเพียงเครื่องประดับ เพียงเพื่อ แสดงว่ามีเงินจะซื้อศิลปะชิ้นนั้น แต่คนที่จะเข้าใจลึกซึ้งถึงศิลปะถึงขั้นสนับสนุนเช่นนี้มีไม่มากนัก ใครที่เข้าใจ มีความรัก มีจิตใจ มีสายตาที่มีสุนทรียภาพ ผมเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตท่านมีคุณค่า"
หลังจากนั้นในปี 2547 ภาพ "ผู้ชำระบาป" ที่มาพร้อมกับภาพ "ผู้บูชายัญชีวิตตัวเอง" ที่วิกรมสร้างขึ้นพร้อมกับการออกหนังสือที่เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง ภายใต้ชื่อ "ผมจะเป็นคนดี" กลายเป็นที่ฮือฮา โดยมีผู้ช่วยตรวจทานต้นฉบับเป็นถึงนักเขียนใหญ่ "ประภัสสร เสวิกุล" หนึ่งในคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในโครงการ "อมตะ ไรเตอร์ อวอร์ด" และมีมูลนิธิ อมตะเป็นผู้จัดพิมพ์และจัดการเผยแพร่ออกสู่ตลาด ก่อนครบรอบ 52 ปี เพียง 3 วัน
เมื่อถามว่าต้องการสื่อสารอะไรกับสังคม สิ่งที่วิกรมตอบก็คือ "ความถูกต้อง ความมีเหตุและผลของสังคม เพราะว่าสังคมเราเป็นสังคมกึ่งๆ อีแอบ สิ่งที่เราไม่อยากจะบอกใครเก็บไว้ที่บ้านเพราะอาย ผมอยากให้เปิดเผยแล้วนำไปสู่การปรับปรุง และอยากจะสื่อว่าผมมาจากครอบครัวที่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่ก็พยายามทำให้ทุกอย่างดีขึ้น แล้วทุกอย่างก็จะเป็นไปได้"
แม้ภาพที่วิกรมขายคือความเป็นนักสู้ที่ดิ้นรนเพื่อความถูกต้องและความสำเร็จ แต่สิ่งที่รายการโทรทัศน์ส่วนใหญ่ซื้อต่างก็เป็นประเด็นเดียวกันคือ "นักธุรกิจเจ้าของอมตะนคร ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เคยเกือบจะยิงพ่อของตัวเอง"
"มีผู้บริหารบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ไหนบ้างในประเทศไทยที่จะมาเขียนเล่าว่าเคยจะเอาปืนไปยิงพ่อตัวเอง ไม่มีหรอก พอหนังสือออกมาหุ้นร่วงเลย เห็นผลทันตา (หัวเราะ) เพราะอะไร อย่างเหรียญมี 2 ด้าน คนไทยชอบเอาด้านหัวออก หมกด้านก้อยไว้ที่บ้าน แต่ผมนี่เปิดหมดทั้ง 2 ด้าน"
ช่วงแรกๆ อาจกล่าวได้ว่าหนังสือ "ผมจะเป็นคนดี" มียอดแจกพอๆ หรือมากกว่ายอดขาย เนื่องจากมูลนิธิฯ ได้ทำตามเจตนารมณ์ของวิกรมในการเผยแพร่จัดส่งหนังสือเล่มนี้ไปยังเรือนจำ ห้องสมุดในสถานศึกษา และห้องสมุดประชาชนทั่วประเทศ โดยจะครบทุกห้องสมุดก่อนครึ่งปีหน้า ซึ่งตั้ง งบประมาณในการดำเนินการดังกล่าวถึง 100 ล้านบาท
"ผมทำหนังสือเล่มนั้นเป้าหมายเพื่อทำให้นักโทษ เมืองไทยมีนักโทษแสนกว่าคน ผมมอบให้เขาไป 3 หมื่นเล่ม เพื่ออะไร "ผมจะเป็นคนดี" นักโทษ ที่เข้าคุกก็บำบัดได้แค่เรื่องร่างกาย แต่จิตใจไม่ได้บำบัด อันนั้นถือว่าเป็นหน้าที่ของผมเพราะผมถือว่านักโทษคือภาระของสังคม อีกอันคือเด็ก ผมให้กระทรวงศึกษาฯ ไป 7 หมื่นเล่ม เพราะเด็กคืออนาคตของเรา นั่นก็คือจัดการกับปัญหาและดูแลอนาคต"
อานิสงส์ของการโปรโมตด้วยวิธีการต่างๆ "ผมจะเป็นคนดี" ต้องพิมพ์ครั้งที่ 2 เพิ่มอีก 7 หมื่นเล่ม
เรื่องราวในมุมส่วนตัวเป็นที่รู้จักผ่านสื่อเพียงไม่นาน วิกรมก็ได้รับบทบาทใหม่ทางสังคม คือ การเป็นนักจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับเรื่องธุรกิจ ที่ชื่อ "CEO Vision" ออกอากาศที่คลื่น FM 96.5 ที่เดิมออกอากาศเพียง 2 วัน แต่ด้วยความฮอตฮิตติดชาร์ต ซึ่งเขาเชื่อว่าความฮอตของเขา ไม่เกินอันดับ 2 ในบรรดาเหล่านักจัดของ "คลื่นความคิด" นี้ ครั้นแฟนรายการเรียกร้องมากๆ เขาจึงได้เพิ่มรายการ CEO Clinic มาอีก 1 วัน
"แฟนรายการของผมเยอะ เหลือเชื่อจริงๆ เขานึกว่าผมเป็นคนแสนรู้ จริงๆ ไม่ใช่หรอก ผมมีทีมงาน 8 คนจบปริญญาโท ผมก็วางแผนว่า ถ้าต้องทำรายการนี้มีเป้าหมายอย่างไร CEO โลกมีทั้งหมดกี่ร้อยคน ตั้งไปเลยอาทิตย์ละคน แล้วองค์สุดท้ายคือพระพุทธเจ้า พูดไปได้กี่ปี นี่ก็คือเป้า จากนั้นก็มาย่อยว่าจะพูดใครถึงใคร พอได้แล้วผมก็เทรนการหาข้อมูลให้ทีมงาน แล้วเขาก็ไปหาข้อมูลวัตถุดิบมาให้ พอได้ข้อมูลมาปึกหนึ่ง เราก็มาย่อยแล้วก็เขียนด้วยลายมือ เขียนจากความรู้สึกว่าเราเข้าใจเรื่องนี้ แล้วก็กลายเป็น speech"
วิกรมบรรยายกระบวนการทำงานในฐานะ Visionary CEO ซึ่งห้องออกอากาศของวิกรม หลักๆ มีอยู่ด้วยกัน 2 แห่ง คือในห้องนอนบนชั้น 6 อาคารกรมดิษฐ์ ซึ่งมีเพียงโน้ตบุ๊ก สคริปต์ ที่เขียนด้วยลายมือตัวเองบนกระดาษประทับตรา "For Vikrom Kromdit Only" โทรศัพท์บ้านและ headset
สถานที่ออกอากาศอีกแห่งก็คือ แพวิเวกกลางบึงบัว ติดอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยอุปกรณ์ดังกล่าว ยกเว้นโทรศัพท์บ้านที่เปลี่ยนเป็นโทรศัพท์มือถือ และยังต้องมีดาวเทียม IP Star เป็นอีกองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารไร้สาย
ข้อมูลในสคริปต์ที่ออกอากาศจะถูกส่ง ต่อไปยังเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ เพื่อพิมพ์และจัดส่งไปให้ยังหนังสือพิมพ์ที่วิกรมเป็นคอลัมนิสต์ พร้อมด้วยรูปภาพ ปัจจุบันเขาเป็นคอลัมนิสต์ให้กับหนังสือพิมพ์ถึง 3 ฉบับคือ โพสต์ ทูเดย์, มติชน และคมชัดลึก ขณะเดียวกันข้อมูลดังกล่าวยังจะถูกแปลงเป็นไฟล์ PDF และนำไปโพสต์อยู่ในเว็บไซต์ส่วนตัวของวิกรมคือ www.vikrom.net
ส่วนหนึ่งถูกรวบรวมเป็นหนังสือ "มองโลกแบบวิกรม" วางแผงเมื่อเดือนมีนาคม 2548
ขณะนี้วิกรมยังเตรียมตัวจะนำเสนอหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเองออกมาอีก 4 เล่ม ประกอบด้วยเรื่องในวัยเด็ก (ความบีบคั้นในวัยเด็ก) เรื่องธุรกิจ (ความเป็นนักต่อสู้) เรื่องผู้หญิง (ความเป็นเพลย์บอย) และเรื่องเกี่ยวกับความฝันทั้งหลายของเขา (ความเป็นนักล่าฝัน)
"อันนี้คือทรัพย์สินที่อยากจะถ่ายทอดให้กับสังคม" วิกรมบอก
ณ วันนี้ วิกรมได้รับการยอมรับจากสังคมในหลายๆ สถานภาพด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นในแง่ดีก็คือ นักธุรกิจผู้ประสบความสำเร็จ นักเขียน นักจัดรายการ นักสงเคราะห์ทางด้านศิลปะและการศึกษา (ในฐานะผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิอมตะ) ฯลฯ หรือในแง่ลบ เช่น เพลย์บอย นักเพ้อฝัน (จนหลายคนมองว่าเพี้ยน) ฯลฯ
ไม่ว่าจะเป็น (สถาน) ภาพใด ล้วนเป็นภาพที่เป็นไปในแนวทางและปริมาณที่เขาควบคุมได้ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดจากภาพลักษณ์เหล่านั้นได้เกือบทั้งหมด ซึ่งแน่นอนที่สุดว่า เมื่ออีกมิติหนึ่งของวิกรมคือ "อมตะ" ประโยชน์ย่อมตกไปถึงองค์กรด้วยเช่นกัน
ตามกำหนดการ วิกรมจะบริจาคเงินร่วม 5 พันล้านบาท ซึ่งก็คือหุ้นอมตะทั้งหมดที่ถือในนามของเขาในตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้กับมูลนิธิฯ ในวันที่เขาครบรอบอายุ 55 ปี
"พวกคุณเคยได้ยินใครบริจาคเงินห้าพันล้านบาทให้กับมูลนิธิอะไรในเมืองไทยบ้างไหม" วิกรมถาม
"สุดท้ายในชีวิตผม จะไม่มีทรัพย์สินอะไรเหลือแม้แต่หนึ่งชิ้น มีแค่เสื้อ รองเท้า กางเกง ผมไม่ค่อยมีอะไรอยู่แล้ว เพราะอันนั้นมันไม่ใช่ของเรา"
ปรัชญาของมูลนิธิฯ ข้อหนึ่งที่วิกรมมักนำมาพูดอยู่เสมอคือ "คนเราเกิดมาจากศูนย์ และจากไปสู่ศูนย์" และดูเหมือนว่าเขากำลังพยายามทำให้สังคมเห็นและเชื่ออย่างนั้นจริงๆ
|
|
|
|
|