Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2549
วิกรม กรมดิษฐ์ Think Tank ที่ไม่ทำงาน?             
โดย สุภัทธา สุขชู
 

   
related stories

บัณฑูร ล่ำซำ "ผม VISIBLE ผมยืนพูด"
Great Image Creator
Simple Life
ใคร? คือผู้อ่าน "ผู้จัดการ"
Beyond Success

   
www resources

โฮมเพจ อมตะ กรุ๊ป
โฮมเพจ วิกรม กรมดิษฐ์

   
search resources

อมตะ คอร์ปอเรชั่น, บมจ.
วิกรม กรมดิษฐ์
Real Estate




ไม่บ่อยครั้งนักที่อันดับต้นๆ ของผลโหวต 50 "ผู้จัดการ" Role Model จะปรากฏชื่อบุคคลที่ "ผู้จัดการ" ไม่เคยนำเสนอเรื่องราวของเขามาก่อน การที่ "วิกรม กรมดิษฐ์" ได้รับคะแนนการยอมรับจากผู้อ่านสูงถึงอันดับ 5 ในปีนี้จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องหาคำตอบ

"Role Model ของคุณหมายความว่ายังไง เป็นตัวอย่างในการบริหาร ใช่ไหม?" เป็นคำถามแรกที่วิกรม กรมดิษฐ์ ตั้งขึ้นทันทีที่ได้พบกับ "ผู้จัดการ" ณ บ้านไม้สไตล์ไทย บนชั้น 6 ของอาคารกรมดิษฐ์ ซึ่งภายในตกแต่งด้วยของโบราณหายาก มีกลิ่นอายของวัฒนธรรมพม่า ลาว เขมร และไทย บ่งบอกรสนิยมเจ้าของในความเป็นนักสำรวจและสะสม

"ประเด็นคือผมเซอร์ไพรส์ เพราะว่าผมเป็นคนไม่ทำงานไง พวกคุณรู้เปล่า ทุกวันนี้ผมไม่ได้ทำอะไรเลย"

ในบทบาท CEO ของบริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อาจเป็นเพียงคำตอบเพียงผิวเผิน สำหรับการหาเหตุผลที่วิกรมได้รับการยอมรับให้เป็น Role Model อันดับที่ 5 ของผู้อ่าน "ผู้จัดการ" ประจำปี 2549 ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีชื่อของเขาปรากฏอยู่ในตาราง 50 "ผู้จัดการ" มาก่อน

ปัจจุบันอมตะเป็นเจ้าของนิคมอุตสาหกรรมใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ อมตะ นคร จ.ชลบุรี อมตะซิตี้ จ.ระยอง และอมตะซิตี้เบียนโฮ ในเวียดนาม พื้นที่ทั้งสิ้นร่วม 25,000 ไร่ และสินทรัพย์รวมอีกเกือบ 8 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2548

ด้วยผลประกอบการของปี 2548 ที่ทำกำไรได้สูงกว่า 1 พันล้านบาท ทำให้อมตะได้รับรางวัล "Best performance awards" ในกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง จาก SET Awards ประจำปี 2549 ซึ่งเพิ่งประกาศผลไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

แต่ก็คงไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้ผู้อ่าน "ผู้จัดการ" ตัดสินใจเลือกวิกรมอีกเช่นกัน

ปัจจัยที่น่าจะมีน้ำหนักมากกว่า คงหนีไม่พ้นบทบาทใหม่ของเขาที่ปรากฏสู่สังคม ซึ่งมีหลายบทบาท แต่ทุกบทบาทล้วนมี "สื่อ" เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างการรับรู้ (รายละเอียดอ่านเรื่อง "Great Image Creator")

ในฐานะผู้จัดรายการวิทยุสุดฮอตแห่งคลื่น FM 96.5 รายการ "CEO Vision" จากที่เคยออกอากาศเพียง 2 วัน สถานีโมเดิร์น ไนน์ถึงกับต้องปรับผังเพิ่มให้อีก 1 วัน เป็น 3 วัน ขณะเดียวกันยังเป็นคอลัมนิสต์เขียนมุมมองทางธุรกิจให้กับหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ได้แก่ คมชัดลึก มติชน และโพสต์ทูเดย์ นอกจากนี้ยังมีหนังสือ "ผมจะเป็นคนดี" และ "มองโลกแบบวิกรม" ที่เขาเขียนขึ้นเอง พิมพ์มาแล้ว 2 ครั้ง รวม 2 แสนเล่ม นี่ยังไม่นับรวมนิตยสารและหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับที่ได้นำเสนอเรื่องของวิกรมขึ้นเป็นเรื่องจากปก อาทิ Thai Commerce, Thailand Timeout และ Forbes ที่เพิ่งลงบทสัมภาษณ์เขาในฐานะคนที่รวยที่สุดเป็นอันดับที่ 29 ของประเทศไทย เป็นต้น อีกทั้งยังมีรายการโทรทัศน์อีกประปราย และการรับเชิญเป็นวิทยากรให้กับหลากหลายสถาบันหรือองค์กรจำนวนไม่น้อยในช่วงปีที่ผ่านมา

วิกรมมีโอกาสทำเช่นนี้ได้ เนื่องจากเขาประกาศวางมือจากการบริหารงานประจำในอมตะ โดยยกภาระดังกล่าวให้กับ "วิบูลย์" น้องชายแท้ๆ ของเขาดูแลแทน

เป็นเหตุผลที่เขาบอกกับ "ผู้จัดการ" ในตอนต้นว่าทุกวันนี้เขาไม่ได้ทำอะไรเลย

วิกรมเริ่มปล่อยวางบทบาทผู้อยู่เบื้องหน้าของอมตะ ตั้งแต่มีอายุครบ 48 ปี หรือ 4 รอบ ซึ่งเป็นเกณฑ์ที่เขากำหนดขึ้นเองตามแนวคิดในการดำรงชีวิตที่เขาเปรียบช่วงชีวิตของมนุษย์ว่าเป็นเหมือนผีเสื้อ

"ถ้าเราแบ่งชีวิตเป็น 3 ช่วง ช่วงแรกก็สร้างเศรษฐกิจ เหมือนหนอนเกิดมาตอนแรก ก็เอาแต่กิน พอครบ 4 รอบ เราก็ควรเริ่มสงบ เหมือนดักแด้ อย่างผมก็จะเอาแต่นึกฝันและเขียนหนังสือ ผมเขียนวันละ 10 ชั่วโมงขึ้นไป เขียนอยู่ 10 กว่าวันใน 2 สัปดาห์ พอเป็นดักแด้เสร็จสุดท้ายก็เป็นผีเสื้อ คือลอยละลิ่วไม่ผูกติดอะไรอีกแล้ว"

แต่ดักแด้อย่างเขา ก็ใช่ว่าจะละเลยในการติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในบริษัท ตรงกันข้าม เขากลับมีเวลาในการติดตามข้อมูลข่าวสาร มีสมาธิ และจินตนาการในการวางแนวทางการบริหารงานมากขึ้นจากเทคโนโลยีของเครื่องมือสื่อสารและบรรยากาศที่เงียบสงบ

หากมีเรื่องเร่งด่วนที่สำคัญ เขายังมีวิบูลย์ที่คอยเป็นหูเป็นตารายงานความเป็นไปให้เขาได้รับรู้ ซึ่งรวมถึงปัญหาในการบริหาร ตลอดจนนัดหมายที่สำคัญๆ

ทุกวันนี้วิกรมใช้ชีวิตส่วนใหญ่อย่างสงบอยู่บน "แพวิเวก" ติดอุทยานเขาใหญ่ ทุก 2 สัปดาห์เขาจึงจะเดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ประมาณ 1-2 วัน เพื่อประชุมกับทีมบริหารของอมตะ ซึ่งเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้บริหารงานด้านนิคม และกลุ่มพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ โดยเรียกเฉพาะผู้เกี่ยวข้องมาสอบถามความคืบหน้าของงาน ช่วยแก้ปัญหา วางแผน วางเป้าหมาย ให้คำแนะนำ ฯลฯ

"เหมือนคุณเป็นกัปตันทีมฟุตบอล ผมเป็นโค้ชและเป็นคนดู การมองก็ต่างกัน คนที่เป็นทั้งกัปตันและนักเตะ มันคิดลำบาก แต่เวลาที่ดูในจอ เราจะเห็นว่า ไม่น่าเตะอย่างนั้น ควรทำอย่างนี้ มันก็เกิดอีกมุมมองที่มาเติมให้ครบสามมิติ หรือถ้าเราเป็นกัปตันเรือ ก็ไม่ควรจะไปวิ่งแย้วๆ แล้ว ควรมานั่งมองเรือของเราทุกด้านดีกว่า แล้วคิดว่าจะต้องแล่นไปทางไหน อย่างไรให้ถึงเร็วและปลอดภัย"

"จะว่าไปแล้ว มันก็เป็นการปรับหน้าที่ แทนที่จะเป็น operator ก็เป็น advisor ขณะเดียวกัน พอเราทำน้อยลง มีเวลามากขึ้น ก็มีจินตนาการเรื่องงานมากขึ้น เราก็ยังเป็น think tank ได้ด้วย ดังนั้นทุกวันนี้เป้าหมายและนโยบายขององค์กรก็เลยมาจากผมคนเดียว เพราะผมได้มานั่งคิด นั่งฝันอยู่ตรงนี้"

วิกรมกล่าวระหว่างการสัมภาษณ์รอบ 2 บนเรือนแพกลางบึงดอกบัว ท่ามกลางภูเขา และแสงแดด เคล้าด้วยเสียงนก เสียงลม และเสียงแห่งความสงบ

ไม่เพียงหนังสือ "ผมจะเป็นคนดี" และ "มองโลกแบบวิกรม" ที่เนื้อเรื่องกว่า 60% ถูกเขียนขึ้นภายใต้ความเงียบสงบของที่นี่ จินตนาการเกี่ยวกับการบริหารงานของวิกรมหลายอย่างก็เกิดขึ้น ณ แพแห่งนี้ รวมทั้งแนวคิด "ระบบแบ่งผลกำไร"

แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นระหว่างนอนรับลมยามเย็นบนเตียงพับบนแพวิเวกเมื่อ 1 ปีเศษๆ มาแล้ว ระหว่างมองท้องฟ้าและภูเขาเป็นผนังที่ไร้ขอบเขต วิกรมเกิดแนวคิดการบริหารงานรูปแบบใหม่ อันเป็นระบบสลายพฤติกรรมการบริหารแบบจีนที่เถ้าแก่คุมทุกอย่าง และแบบไทย ที่หัวหน้าเป็นผู้นำลูกน้องลงมือทำเองทุกอย่าง เปลี่ยนมาใช้แนวทางการจูงใจด้วยระบบแบ่งผลประโยชน์ ที่ไม่ใช่แค่โบนัส ที่ให้นำกำไรที่ได้แต่ละปีมาแบ่งให้กับทุกคนในบริษัท หรือที่เรียกว่า Success Fee

ทว่า ระบบแบ่งผลประโยชน์รูปแบบใหม่ที่วิกรมกำลังขะมักเขม้นถ่ายทอดสู่องค์กรนั้น ค่าตอบแทนที่นำมาใช้สร้างแรงจูงใจครั้งนี้มีมูลค่าและคุณค่าสูงถึงระดับการเป็น CEO บริษัทลูกของอมตะเลยทีเดียว

เงื่อนไขคือ พนักงานอมตะที่มีอายุ 50 ปี หรือมีอายุงานกับอมตะมาแล้ว 10 ปี พวกเขา เหล่านี้จะถูกผลักดันให้ออกไปเป็น CEO ในบริษัทลูกของอมตะที่เป็นบริษัทใหม่ โดยหลักการก็คือ เป็นบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกับ "ธุรกิจบริการ" ในนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 3 แห่ง ที่จะมาต่อยอด ให้ "อมตะ" เป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบและเพิ่มมูลค่าให้กับ "สินค้า" หรือธุรกิจของบริษัทแม่ เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจสื่อสาร ธุรกิจสาธารณูปโภค ธุรกิจสุขภาพ ฯลฯ

ภายในปี 2553 วิกรมตั้งใจจะนำบริการต่างๆ มาเปิดเป็นบริษัทลูกให้ได้ 50 บริษัท และตั้งเป้าทั้งหมดไว้ที่ 100 บริษัท โดยปัจจุบันมีอยู่แล้วจำนวน 15 บริษัท (รายละเอียดของบริษัท เหล่านี้ดูจากแผนภูมิโครงสร้างเครืออมตะ)

"เราจับเอาอายุและประสบการณ์ขึ้นมา เพราะมองว่าถ้าคุณทำงาน 10 ปี ก็น่าจะมีเลือดองค์กรนี้แล้ว หรือคนที่อายุ 50 ปีจะเริ่มล้า เหตุที่คนล้าก็เพราะจำเจอยู่กับของเดิม แต่ถ้าได้ออกไปเป็นเถ้าแก่เอง ก็คงไม่ล้ากลับจะยิ่งคึก เพราะคนเราต้องการความรู้สึกว่ามีเกียรติ ทุกคนก็อยากโต อยากเป็นเถ้าแก่ โดยเฉพาะเถ้าแก่บริษัท ในเครืออมตะ... ยื่นนามบัตรไปเป็น CEO บริษัทอมตะอะไรก็ว่าไป"

นี่ไม่ใช่การลอยแพ เพราะสิ่งที่วิกรมวางแผนจัดเตรียมให้กับว่าที่เถ้าแก่น้อยแห่งบริษัทลูกของอมตะ เป็นแพ็กเกจสำเร็จรูป ไม่ว่าจะเป็นเงินทุนที่อมตะจะเป็นผู้ออกให้ก่อน วงเงินกู้ ซึ่งภายใต้ร่มของอมตะ บริษัทและเถ้าแก่น้องใหม่จะได้อานิสงส์ทั้งกู้ง่าย โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ และดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายทางธุรกิจติดไม้ติดมือออกไปด้วย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการทำธุรกิจยุคนี้

ทั้งนี้กลยุทธ์สำคัญที่วิกรมใช้เพื่อรักษา ความมั่นคงและความอยู่รอดของบริษัทลูก ก็คือ การร่วมทุน (joint venture) กับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ

ระบบการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างเถ้าแก่น้อยกับเถ้าแก่ใหญ่อย่างวิกรม จะถูกตกลงกันไว้ก่อนว่ากำไรจากการดำเนินงานกี่เปอร์เซ็นต์ที่ต้องแบ่งให้บริษัทแม่ และหากบริษัทดำเนินไปด้วยดี ภายใน 3-5 ปี เถ้าแก่น้อยอาจจะเข้าไปขอซื้อหุ้นจากบริษัทแม่ฯ ไปถือครองไว้เองก็ยังได้ ในราคาขายที่เป็นเงินต้นบวกดอกเบี้ย

ด้วยระบบ "เถ้าแก่ของเถ้าแก่" ที่มีบริษัทแม่เป็นผู้ลงเงิน ส่วนเถ้าแก่น้อยก็ลงแรงงาน ลงพลังสมอง ลงจิตวิญญาณความเป็นเจ้าของ ระบบเช่นนี้จึงย่อมเป็นการจูงใจให้เถ้าแก่น้อยทำงานหนักขึ้น ระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รักและหวงแหนบริษัทในภาพรวมมากขึ้น (ราวกับบริษัทของตนเองจริงๆ) ได้โดยอัตโนมัติ

"เราทำอย่างนี้ได้เพราะเราทำมานานแล้ว รู้ว่ากำลังจะให้ใครไปเป็นเถ้าแก่บริษัทอะไร หลับตาก็นึกออกว่าคนนี้ทำงานมานาน คนนี้ทำงานมาเยอะ" ทั้งนี้ในวันที่ 1 มกราคม ปีหน้า จะมีพนักงานเลือดอมตะเข้มข้นจำนวน หนึ่งจากทั้งสิ้น 80 กว่าคน ที่ได้รับเลือกให้ออกไปเป็นสัมผัสชีวิตการเป็นเถ้าแก่

"เราควรปล่อยให้คนอื่นได้โต เพราะอะไร เพราะพวกเขานี่แหละที่ทำให้ผมไม่ต้องทำงาน มานั่งเล่นนอนเล่นที่เขาใหญ่ได้อย่างวันนี้ แต่ก็ยังมีรายได้วันละเกือบล้านบาทจาก เงินปันผล...ถ้าไม่ช่วยเขาแล้วจะไปช่วยใคร ถ้าไม่เชื่อมั่นพวกเขาแล้วจะเชื่อใครที่ไหน"

แม้ปากจะพร่ำบอกว่า เขาสามารถถอยออกไปทำในสิ่งที่รักและอยากทำ คือ การเขียนหนังสือได้อย่างไม่ต้อง "ห่วงหน้าพะวงหลัง" เพราะเชื่อว่าด้วยระบบแรงจูงใจที่วางไว้จะทำให้ทุกคนในองค์กรร่วมรักษา พัฒนา และปกป้องผลประโยชน์ขององค์กรอมตะเป็นอย่างดี

แม้จะพาตัวเองออกไปอยู่ห่างจากบริษัทไกลกว่า 200 กิโลเมตร แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ลูกน้องของวิกรมจะทำงานได้โดยปราศจากแรงกดดันจากการควบคุม

เพราะอานุภาพเทคโนโลยีสื่อสารไร้สาย วิกรมสามารถตรวจสอบการดำเนินงาน และติดตามราคาหุ้นของอมตะ รวมถึงข่าวคราวต่างๆ ของบริษัทผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้แบบเรียล ไทม์ แม้จะอยู่ท่ามกลางป่าเขา และถ้าหากวันไหน ตัวเลขบนหน้าจอทำให้ไม่สบอารมณ์ เขาก็ยังต่อสายตรงผ่านโทรศัพท์มือถือจากเขาใหญ่ไปถึงผู้มีหน้าที่รับผิดชอบได้ทันที

นอกจากนี้วิกรมยังมีระบบ Balance & Checking โดยมีทีมงานที่เขาเปรียบเทียบว่าเป็นเหมือน "เกสตาโป" คอย "ถือค้อนอาญาสิทธิ์" จากวิกรม ทำหน้าที่ควบคุมดูแลรักษาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและเถ้าแก่น้อยให้ได้ยอดตามเป้าและลดต้นทุนให้ได้ตามแผน

...เข้าทำนอง ยิ่งอยู่ห่าง ระบบควบคุม ยิ่งต้องแน่นหนา

เมื่อถามว่าผู้บริหารที่ดี หรือผู้จัดการที่ดีควรจะต้องมีหลักการอย่างไร คำตอบของวิกรมนั้นช่างสั้นและง่าย นั่นคือ "ทำ (งาน) น้อยลง ได้ (กำไร) มากขึ้น" ตัวเลขกำไรพันกว่าล้านบาทของปีที่ผ่านมา เมื่อเทียบกับชั่วโมงการทำงานของเขาที่น้อยลงหลายเท่าตัว จากอดีตที่เคยทำงานวันละ 14-16 ชั่วโมง (แต่กำไรต่ำกว่ามาก) วันนี้เหลือเพียง 1-2 วันใน 2 สัปดาห์...ผลลัพธ์เช่นนี้ย่อมทำให้วิกรมรู้สึกพอใจในบทบาท CEO ของตัวเอง

แต่ความคาดหวังสูงสุดของวิกรม ณ วันนี้ คือความต้องการให้องค์กรสามารถยืนหยัด ดำเนินงานด้วย "ระบบ" มากกว่าการพึ่งพา "คนใดคนหนึ่ง"

"ผมสร้างอมตะมาแล้วเกือบ 20 ปี ก็พอแล้วสำหรับผม ตอนนี้สิ่งสำคัญก็คือ เราต้องมาแยกให้เป็นรูปองค์กรที่ไม่ผูกติดกับตัวบุคคล ถ้าคนคิดว่า อมตะคือวิกรม วิกรมคืออมตะ บริษัทอย่างนี้ก็เตรียมตัวตาย ฉะนั้นสิ่งที่ผมต้องการก็คือ อมตะต้องเป็นอมตะ ต้องไม่ผูกติดกับบุคคล ทุกคนต้องร่วมกันสร้างระบบและระเบียบ คนมาใหม่ก็ต้องทำตามระบบและระเบียบนั้น นี่ต่างหากคือ Art of Management แบบมืออาชีพจริงๆ"

และนี่ก็คือเหตุผลหลักของความพยายามถอยห่างออกไปทีละน้อยของวิกรม ไม่ว่าจะเป็นในแง่การรับรู้ของสาธารณชนและการปล่อยให้ลูกน้องได้แสดงความสามารถอย่างเต็มที่ รวมถึงระบบแบ่งผลประโยชน์แบบเถ้าแก่น้อย โดยมีเขาเป็นเพียงที่ปรึกษาและ "ถังไอเดีย"

แน่นอนว่าองค์กรที่จะทำอย่างนี้ได้ต้องเป็นองค์กรที่อยู่ตัวมาแล้วระดับหนึ่ง มีระบบและเครื่องมือตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานที่ดี และมีพนักงานที่ทั้งเก่ง มีความสามารถ และที่สำคัญมากสำหรับวิกรม ก็คือ ต้องมีจิตวิญญาณแห่งความซื่อสัตย์และความรับผิดชอบ...นี่เองเป็นเหตุผลที่วิกรมต้องเป็นคนตัดสินใจขั้นสุดท้ายในการเลือกพนักงานใหม่ทุกครั้งทุกตำแหน่ง

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของประเทศไทยอยู่ที่ราว 7.1 ล้านล้านบาท วิกรมเคลมว่า เฉพาะที่ผลิตจากโรงงานภายในนิคมฯ อมตะทั้ง 2 แห่งในประเทศไทย กินสัดส่วนไปแล้วถึง 5% หรือ 3.5 แสนล้านบาท เขาวางเป้าให้พนักงานอมตะว่าภายในปี 2553 เขาน่าจะได้สัก 1 ล้านล้านบาท หรือกว่า 10% ของ GDP ของทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ

"วันนี้ GDP ของเรา 7.1 ล้านล้านบาท เราเอามาแค่ 1 ล้านล้านบาทก็พอ ไม่โลภมากหรอก (หัวเราะเสียงดัง) ช่วงนี้ผมก็คอยบอกเขาว่า อีกหน่อยสนามบินมาอยู่ใกล้บ้านเราก็ควรได้มากกว่า 100 โรง เพราะขนาดยังไม่มา เรายังขายได้ปีละเกือบ 100 โรง ตอนนี้มีเกือบ 600 โรงในนิคมของเราอีก 4 ปี ถ้าไม่ได้ 1,000 โรง พวกคุณก็คงต้องไปเชือดตัวเอง (หัวเราะ)"

อาจดูเป็นเรื่องโหดร้าย แต่สำหรับวิกรมเป้าหมายคือเข็มทิศ แรงจูงใจเป็นน้ำมัน และความฮึกเหิมก็เป็นเหมือนไฟที่คอยผลักดัน ซึ่งแนวคิดปลุกใจเช่นนี้ที่ให้กำลังใจเขาทุกครั้งในการ "ล่าความฝัน" (อ่านรายละเอียดใน "I'm A Dreamer") อันมากมายของเขา โดยที่ผ่านมากว่า 90% ของความฝัน เขาสามารถทำได้สำเร็จ และครั้งนี้เขาก็เชื่อเช่นนั้น

"วันนี้จริงๆ ผมไม่ได้ทำอะไรเลย... แค่เป็นคนกำหนดเป้า วางนโยบายสร้างแรงจูงใจ และก็คอยบีบคอพวกพนักงานอีก นิดๆ หน่อยๆ" วิกรมหัวเราะอย่างอารมณ์ดีด้วยแววตาเปี่ยมความสุข   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us