ไม้สักทอง ราชาแห่งพันธ์ไม้เศรษฐกิจ เริ่มจุดประกายให้กับธุรกิจสวนเกษตรครั้งใหม่
คราวนี้มีการประกันการขายในแต่ละปีด้วยราคาที่ดึงดูดใจลูกค้า ทุกวันนี้กว่า
20 โครงการที่กำลังโฆษณาชวนเชื่อตามสื่อต่าง ๆ ทำให้หลายคนต้องตั้งคำถามว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหน
หรือว่าเป็นแค่กลยุทธ์การขายที่ดินเปล่า ๆ เท่านั้น
"ต้นกล้าสักทองต้นนี้ เรากล้ารับประกันว่าคุณมีสิทธิรวยเงินล้าน"
"เพียงไม่กี่ปี ก็เป็นเศรษฐีในพริบตา"
"สักทองท่อนนี้ ลงทุนเพียง 25 บาท"
"ถ้อยคำในแผ่นโบชัวร์ของโครงการสวนป่าสักทองต่าง ๆ เหล่านี้ กระชากใจนักลงทุนรายย่อยได้อย่างได้ผลทีเดียว
ใครเล่าไม่อยากรวย ในเมื่อรายละเอียดของขั้นตอนการเป็นเศรษฐีตามแผ่นโฆษณาเหล่านั้นก็ดูเหมือนว่าไม่ยากเกินไปนัก
ธุรกิจสวนเกษตรเคยบูมสุดขีดไปพร้อม ๆ กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย ์เมื่อประมาณปี
2530 แล้วมาตกต่ำจนเรียกได้ว่าตายสนิทตั้งแต่ปี 2534 ถึงปัจจุบัน ในขณะที่ธุรกิจทางด้านที่อยู่อาศัยอื่น
ๆ ต้องระดมทุกกลยุทธ์ทางด้านการตลาด ไม่ว่าลด แลก แจก แถม ลดเงินดาวน์ ยืดเงินผ่อน
และจูงใจด้วยแบบบ้านที่สวยงามวิจิตรพิสดารทุกกระบวนท่า ธุรกิจสวนเกษตรเองก็มีการปรับกระบวนยุทธ์ต่าง
ๆ เช่นกัน เพียงแต่เป็นไปในความรุนแรงที่น้อยกว่าที่อยู่อาศัย เพราะธุรกิจประเภทนี้
ไม่ใช่ปัจจัยที่จำเป็นเท่าบ้าน ซึ่งเป็นความต้องการอันดับแรกของบุคคลทั่วไป
แต่ถึงอย่างไร สำหรับเจ้าของโครงการสวนเกษตรก็ไม่อาจนิ่งนอนใจอยู่เฉย ๆ
รอให้ภาวะธุรกิจที่ดินหวนกลับมาคึกคักอีกเองตามสภาวะได้ เพราะเม็ดเงินที่จมลงไปกับที่ดินก็ยังขายไม่ออก
งอกงามออกดอกออกผลเป็นดอกเบี้ยทุกวัน เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ทับถมขึ้นทุกวัน
จึงต้องดิ้นรนหาทางออกให้ได้
สวนป่า "สักทอง" เกิดขึ้นมา เพื่อช่วยชุบชีวิตผู้ประกอบการอีกหลาย
ๆ รายที่ซื้อที่ดินทิ้งค้างเอาไว้โดยทำประโยชน์อื่นใดได้ยากแล้วแท้ ๆ
ทำไมต้องเป็นสัก (TEAK) สักเป็นไม้ที่มีชื่อเสียงรู้จักแพร่หลายกันทั่วโลก
เพราะเป็นไม้ที่มีคุณภาพสูงและลวดลายธรรมชาติที่สวยงาม เป็นไม้เศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับผู้ปลูกอย่างงดงาม
พร้อม ๆ กับความต้องการใช้ที่มีเพิ่มมากขึ้นทุกปี
ตัวเลขจากกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดคะเนไว้ว่า
ในปี 2537 ปริมาณความต้องการใช้ไม้สักจะมีประมาณ 181,000 ลูกบาศ์กเมตร ในขณะที่ปี
2540 เพิ่มขึ้นเป็น 208,000 ลบ. เมตร ปี 2545 เพิ่มขึ้นเป็น 235,000 ลบ.
ม และในปี 2548 จะเพิ่มขึ้นถึง 281,000 ลบ.ม.
ในขณะที่สถิติจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุไว้ว่าปริมาณไม้สักที่ทำออกจากป่า
เมื่อปี 2532 นั้นมีเพียง 26,234 ลบ.ม เท่านั้นเอง ราคาของไม้สักจึงได้เพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ เพราะความต้องการมีสูงกว่าซัพพลายหลายเท่าตัว
ตลาดไม้สักไม่มีวันตาย นี่คือจุดดึงดูดใจประการแรก
สาเหตุต่อมาก็คือ ในขณะที่สวนเกษตรพืชผลอย่างอื่น เช่นมะม่วง มะขาม ทุเรียน
ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ซึ่งเป็นไม้พืชผลยอดฮิตในระยะแรก ๆ ของธุรกิจการเกษตรนั้น
ในช่วงเวลา 5 ปี จะได้ผลผลิตก็จริงอยู่แต่หมายถึงว่าไม่ว่าราคาในท้องตลาดในช่วงนั้นจะเป็นอย่างไร
พืชผลที่สุกแล้วก็จำเป็นจะได้รับการเก็บเกี่ยวและขายออกไป ในขณะที่ไม้สักนั้นมีโอกาสที่จะเลือกปล่อยขายได้มากกว่านั้น
เพราะยิ่งจำนวนปีมากขึ้นขนาดความกว้างของเส้นผ่าศูนย์กลายของลำต้นก็จะกว้างขึ้น
ขนาดของต้นก็สูงขึ้นราคาจะแพงตามขึ้นด้วย
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่เป็นตัวเร่งให้ธุรกิจสวนสักเป็นที่นิยมก็คือ
พรบ. สวนป่าปี 2535 ซึ่งมีสาระสำคัญในการเปิดโอกาสให้เอกชนผู้ปลูกป่าสามารถตัดไม้มาขายได้
โดยถูกต้องตามกฎหมาย
จากตัวเลขที่ "ผู้จัดการรายเดือน" ได้สำรวจพบปรากฏว่า ขณะนี้มีธุรกิจปลูกสวนสักทองของเอกชนไม่ต่ำกว่า
20 โครงการที่ประกาศขาย โดยเฉพาะในจังหวัดเพชรบูรณ์นั้นนักวิชาการกล่าวว่าที่นั่นเป็นถิ่นไม้สักที่ดีที่สุดในประเทศไทย
ปัจจุบันในเพชรบูรณ์มีประมาณ 10 โครงการ ขนาดตั้งแต่ 50 ไร่ขึ้นไป ส่วนโครงการขนาดใหญ่ตั้งแต่
700 ไร่ขึ้นไปมีประมาณ 5 โครงการ
และจากจุดเด่นดังกล่าวจึงมีการคาดการณ์กันในหมู่ผู้ประกอบการว่า แนวโน้มของการปลูกสวนป่าสักทองจะมาแรง
โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีที่ดินอยู่แล้วในมือ แต่ยังไม่มีช่องทางที่จะลงทุนจะหันมาให้ความสนใจกันมากขึ้น
โดยเฉพาะที่ดินในจังหวัดรอบ ๆ กรุงเทพฯ จะเป็นจุดขายหนึ่งที่สำคัญเพราะเป็นทำเลที่ใกล้
ลูกค้าเดินทางไป-มาโครงการได้สะดวก ส่วนสภาพดินนั้นจะเหมาะสมหรือไม่นั้น
ต้องเป็นเรื่องที่เจ้าของโครงการจะต้องหาวิธีการกันต่อไป
ย้อนหลังไปถึงสวนป่าในยุคแรก ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมี พรบ. สวนป่าปี 2535
โครงการ "สักทองสร้างฝัน" ซึ่งดำเนินการโดยสหกรณ์เคหเกษตร และสหกรณ์จำกัด
บนพื้นที่ในอำเภอชนแดน จังหวัดเพชรบูรณ์ นับเป็นโครงการนำร่องโครงการแรกของประเทศในเชิงพาณิชย์
ในขณะที่ก่อนหน้านั้นกรมป่าไม้จะดำเนินการไปในลักษณะของการอนุรักษ์มากกว่า
สัญชัย ประเสริฐสุวรรณ รองผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร รองประธานกรรมการดำเนินการสหกรณ์ฯเล่าให้
"ผู้จัดการ" ฟังถึงการทำโครงการสวนเกษตรว่าได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี
2533 ในช่วงนั้นจะเน้นหนักไปทางด้านการปลูกไม้ผลเช่นมะม่วง ซึ่งจากประสบการณ์
คาดว่าอาจจะต้องเกิดปัญหาในเรื่องของตลาดแน่นอน เพราะถ้าหากว่าบางปีมีสินค้าล้นตลาด
และได้ราคาไม่ดีเท่าที่ควรก็จำเป็นต้องขาย และที่สำคัญ ถึงเวลาเก็บก็ต้องเก็บก่อนที่จะเน่าเสีย
ในขณะที่ต้นทุนการลงทุนและการบำรุงรักษาเท่าเดิม ซึ่งไม้พืชผลพวกนี้หากปลูกแค่
5 ไร่ 10 ไร่ก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นพัน ๆ ไร่มีปัญหาแน่นอน
ต่อมาสัญชัยเริ่มมีแนวความคิดใหม่เกี่ยวกับการปลูกสวนป่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้จุดประกายความคิดของเขาในเรื่องนี้ได้มาจากการไปดูงานที่ประเทศต่าง
ๆ แถบยุโรปและไปเห็นการปลูกป่าสนที่มีการหมุนเวียนการตัดเป็นช่วง ๆ
ในปี 2534 เขาได้เริ่มทดลองปลูกป่าสักก่อนในพื้นที่ 40 ไร่ในที่สาธารณะในอำเภอชนแดน
จังหวัดเพชรบูรณ์ ครั้งนั้นเป็นการปลูกเพื่อการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระชนนี
หลังจากนั้นก็ตระเวนดูไม้สักที่ชาวบ้านย่านนั้นปลูกไว้ เมื่อเห็นว่าเป็นไม้ที่สามารถเจริญเติบโตได้เร็วและมีผลตอบแทนสูง
ในที่สุดก็ตกลงใจให้ทางกรมป่าไม้เตรียมกล้าไม้สักไว้ให้ปลูกให้พื้นที่ 1,000
ไร่ นี่คือจุดเริ่มโครงการ
ในช่วงแรก ๆ ของการเปิดขายนั้นได้มอบหมายให้ทางสหกรณ์ฯ เป็นผู้จัดจำหน่าย
และเป็นการเปิดขายกันเองอย่างเงียบ ๆ ในกลุ่มของพรรคพวกเพื่อนฝูงในราคาไร่ละ
8 หมื่นบาท มีต้นสักที่ปลูกให้จำนวน 200 ต้น จำนวนที่ขายในขณะนั้นประมาณ
1,000 ไร่ใช้ต้นกล้าประมาณ 3 แสนตัน
แต่เป็นเรื่องที่โชคร้ายอย่างมหาศาล เมื่อได้เกิดภัยธรรมชาติขึ้นคือพายุเฟส
เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายนในปี 2534 ผลของพายุครั้งนั้นทำให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่บริเวณดังกล่าว
ต้นกล้านับแสน ๆ ต้นถูกน้ำท่วมตายหมดทันที
หลังจากเกิดเหตุ สัญชัยต้องเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ โดยมองสวนป่าสักไปในทางการค้าเพื่อธุรกิจมากขึ้น
สาเหตุ เพราะเงินทุนก้อนแรกของสหกรณ์สูญเสียไปมากแล้ว และประการที่ 2 เขาเริ่มมองเห็นชัดเจนว่า
ไม้สักเหมาะสำหรับการลงทุน คราวนี้เขามองเรื่องการส่งเสริมการขายเป็นหลักสำคัญด้วย
การพัฒนาสวนสักเป็นกึ่งรีสอร์ท มีบ้านพักรับรอง มีระบบระบายน้ำที่ดีมีมาตรฐาน
แล้วให้สหกรณ์ฯ จัดจำหน่ายกับบุคคลทั่วไปด้วย
"ผมเริ่มกลยุทธ์การขาย ด้วยการสร้างเป็นกึ่งรีสอร์ท มีบ้านพัก ขุดทะเลสาบ
เพราะมองเห็นความจริงว่าอำเภอชนแดน เพชรบูรณ์นั้นห่างจากกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เวลาเดินทางไม่ต่ำกว่า
3 ชั่วโมง ถ้าเขามาดูโครงการและมีที่พักให้ย่อมดึงดูดใจได้มากกว่า ข้อสำคัญผมมองว่าต่อไปธุรกิจสวนป่าสักต้องเกิดขึ้นอีกมากความพร้อม
และความสวยงามของโครงการเป็นสิ่งที่จำเป็น" สัญชัยอธิบายเพิ่มเติม
โครงการสวนป่าสักทองสร้างฝัน ตั้งอยู่บนพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 6,000 ไร่
แบ่งเป็นพื้นที่จัดสรรประมาณ 3,000 ไร่ พื้นที่ ๆ เหลือจัดเป็นรีสอร์ทเพื่อบริการสมาชิก
ในพื้นที่แบ่งขายจัดสรรเป็นแปลง ๆ ละ 4 ไร่ ทุกแปลงจะมีต้นสักทองประมาณ 800
ต้น ขณะนี้มีเฟสแรกประมาณ 1,000 ไร่ เฟสที่ 2 ประมาณ 600 ไร่ขายหมดไปแล้ว
ทางโครงการกำลังเปิดเฟส 2 ระยะ 2 ในพื้นที่ 300 ไร่ ส่วนราคาขายได้เพิ่มขึ้นจากไร่ละ
120,000 บาทเป็น 180,000 บาทในปัจจุบัน
หลังโครงการสักทองสร้างฝัน ก็มีโครงการอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาอย่างมากมาย
และอีกโครงการหนึ่งซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุนโดยทั่วไปก็คือโครงการ "ศุภาลัย
สวนสักทอง" ของบริษัทศุภาลัย จำกัด (มหาชน) โครงการนี้นับเป็นสวนสักทองของบริษัททางด้านพัฒนาที่ดิน
ซึ่งอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นโครงการแรก
ที่ตั้งของศุภาลัย สวนสักทองอยู่ที่อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งแวดล้อมไปด้วยสนามกอล์ฟใหญ่
ๆ หลายแห่งเช่น สนามกอล์ฟแวร์มองต์ ของกลุ่มอดีตนายกสมาคมบ้านจัดสรร สายัณห์
มั่นเหมาะและสนามกอล์ฟ มิชชั่น ฮิลล์
ประทีป ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัท ศุภาลัย ได้ซื้อที่ดินแปลงนี้จำนวนประมาณ
700 ไร่ มาเมื่อ 3-4 ปีที่แล้วเพื่อจุดประสงค์ที่จะทำโครงการสนามกอล์ฟ ธุรกิจยอดฮิต
ในช่วงนั้นเช่นเดียวกับนักธุรกิจรายอื่น ๆ แต่ปรากฏว่ายังไม่ได้ทันลงมือพัฒนา
สนามกอล์ฟก็กลายเป็นธุรกิจที่เฟ้ออย่างหนัก เพราะมีหลายโครงการได้เกิดขึ้น
พร้อม ๆ กัน ปัญหาในการขายจึงเกิดขึ้น ที่ดินแปลงนี้เลยทิ้งว่างเปล่าไว้
จนในที่สุดมองเห็นว่าศักยภาพของที่ดินย่านนั้นสามารถพัฒนาเพื่อการปลูกสักได้
การศึกษาอย่างจริงจังเลยเกิดขึ้น และเปิดตัวไปเมื่อประมาณกลางปีที่ผ่านมา
"โครงการนี้เป็นโครงการที่เล็กที่สุดของศุภาลัย มูลค่าการลงทุนประมาณ
200 ล้านบาท ซึ่งนับว่าน้อยมากหากจะเทียบกับโครงการอื่น ๆ ในบริษัท แต่เราทำเพราะเห็นว่าเป็นที่ดินที่ซื้อทิ้งไว้นานแล้ว
ทำประโยชน์อย่างอื่นยาก และที่สำคัญเป็นโครงการสร้างงานให้กับชาวบ้านในย่านนั้น
และเป็นการสร้างภาพพจน์ให้กับบริษัทด้วย กำไรคาดว่าจะได้น้อยมาก" อธิป
พีชานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการทั่วไปบริษัท ศุภาลัย กล่าวถึงความเป็นมา
ศุภาลัย สวนสักทองมีขนาดแปลงที่แบ่งขายแปลงละ 1 ไร่ จำนวนสัก 400 ต้น ราคาขาย
399,000 บาท จ่ายตอนวันจอง 4,000 บาท ทำสัญญา 4,000 บาท ผ่อนดาวน์ 20 งวด
ๆ ละ4,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนธนาคาร 10 ปี ประมาณ 4,280 บาทต่อเดือนในอัตราดอกเบี้ย
11% ต่อปี ขณะนี้ในโครงการกำลังเริ่มทำงานทางด้านโยธา เช่นขุดท่อเก็บน้ำ
ทำถนนและวางระบบส่งน้ำ โดยคาดว่า จะเริ่มปลูกประมาณ เดือนมีนาคม 2537
และเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาโครงการ "รักษ์สักทอง" ได้เปิดตัวอย่างใหญ่โตตามสไตล์ของ
พงศกร ญาณเบนจวงศ์ผู้เป็นเจ้าของแฟลตปลาทองการัตอันลือลั่น โดยโครงการตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ
2,000 ไร่ ในตำบลหนองหญ้าปล้อง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรีและได้กำหนดราคาขายต่อไร
ไว้ที่ 340,000-380,000 ดาวน์ 30% ผ่อนดาวน์ได้นาน 36 เดือน ผ่อนธนาคารในอัตราดอกเบี้ย
11% ระยะเวลา 15 ปี ประมาณ 2,707 บาทต่อเดือน
ถ้าพิจารณาลงไปถึงโครงการที่กำลังเปิดขายอยู่ตอนนี้ รักษ์สักทองจะเป็นโครงการที่อยู่ทางภาคใต้ที่มีฝนค่อนข้างชุก
และอาจจะมีคำถามตามมาว่าพื้นที่นั้น ๆ เหมาะสำหรับการปลูกสักได้แค่ไหน
พงศกรเองได้เตรียมศึกษาในเรื่องนี้เช่นกัน เขาได้ดึงนักวิชาการผู้มีความเชี่ยวชาญ
2 คนมาเป็นที่ปรึกษาโครงการคือ ธงชัย เวชชสัสถ์ ซึ่งประจำอยู่ที่กรมป่าไม้
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอีกท่านหนึ่งก็คือ อวบ สารถ้อย ภาควิชากีฏวิทยา
คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยหวังว่าความสามารถทั้ง 2 รายนี้จะทำให้ทางโครงการมีหลักประกันได้ว่าจะสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับลูกค้าได้
ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติอาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านพันธ์ไม้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ให้ความเห็นกับ "ผู้จัดการ" ว่า ทำเลในการปลูกสักนั้น จังหวัดทางภาคเหนือและภาคเหนือตอนล่างของประเทศเป็นทำเลที่มีความเหมาะสมในการปลูกสักอย่างมาก
เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่มีการระบายน้ำได้ดี ดินมีความเป็นกลางหรือด่างเล็กน้อย
โดยมีค่าของความเป็นกรด-ด่าง ระหว่าง 6.5-7.5 มีปริมาณน้ำฝนที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต
ระดับความสูงของพื้นที่ไม่เกิน 700 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ไม่ได้หมายความว่าจังหวัดอื่น
ๆ จะปลูกไม่ได้ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความตั้งใจจริงของผู้ประกอบการที่จะต้องดูแลในเรื่องที่ดิน
และการจัดระบบการให้น้ำ ให้เหมาะสมกับความต้องการของต้นสัก
"สำหรับการปลูกสัก เรื่องของน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุด น้ำท่วมขังก็ไม่ได้
ขาดน้ำก็ไม่ได้ ดังนั้นในพื้นที่ราบปกติควรมีที่เก็บน้ำประมาณ 1 ใน 10 ของพื้นที่จำนวน
100 ไร่ ส่วนระบบน้ำหยด เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ และคาดว่า ต่อไปคงได้รับความนิยมมากขึ้นและราคาต้นทุนจะถูกลง
การประกันการจัดการเรื่องน้ำ และที่ดินเป็นเรื่องหนึ่งที่คนซื้อควรต้องรู้ไว้"
ท่ามกลางความลังเลใจของกลุ่มลูกค้าจุดขายอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการพร้อมกันทำ
คือการประกาศประกันราคาขายเนื้อไม้ในแต่ละช่วงเวลา โดยส่วนใหญ่จะเริ่มตัดต้นครั้งแรกในปีที่
5-6 ในราคาประกันต้นละ 500-600 บาท ตัดรอบที่ 2ในปีที่ 11 ในราคาประกันต้นละ
2,500-3,000 บาทแต่มีบางโครงการให้ราคาสูงถึงต้นละ 5,000 บาท บางโครงการจะตัดรอบที่
2 ในปีที่ 12-15 ในราคาประกันต้นละ 12,000-15,000 บาท ส่วนโครงการที่มีการตัดรอบที่
3 ในปีที่ 15-16 ประมาณ 1,200 บาทขึ้นไป
แต่ก็มีบางโครงการที่จะไม่ประกันราคาในแต่ละช่วง เช่นโครงการ สวนป่าสักทองของสหกรณ์การเกษตรฯ
"ทางสหกรณ์ จะไม่มีการประกันราคา เพราะยังไม่อยากให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจนให้กับผู้ซื้อซึ่งดูเหมือนการชี้นำที่มีลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อเกินไป"
สัญชัยให้เหตุผล
นอกจากการประกันราคาแล้วบางโครงการเช่นรักษ์สักทองได้ระบุเปรียบเทียบผลตอบแทนกับการนำเงินไปฝากธนาคารให้เห็นกันชัด
ๆ อีกว่า ถ้าเงินต้น 680,000 บาท (เป็นราคาของที่ดิน 1 แปลง จำนวน 2 ไร่
จำนวนต้นสัก 400 ต้น) ดอกเบี้ย 8% ต่อปี ภายในเวลาสิ้นปีที่ 15 จะได้เงิน
2,157,075 บาท แต่การลงทุนด้วยการปลูกสักทองจะได้ผลตอบแทนภายในสิ้นปีที่
15 จะได้เงิน 3,360,000 บาท โดยประกันราคาต้นสักทองอายุ 6-8 ปีในราคาต้นลุ
1,800 บาทอายุ 12-15 ปีราคาต้นละ15,000 บาท
ดังนั้นการลงทุนด้วยการซื้อที่ดิน เพื่อปลูกสักทอง รวมทั้งมูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้น
และผลตอบแทนจากการปลูกสักทองภายในสิ้นปีที่ 15 จะได้เงินสูงถึง 13,836,778
บาท โดยอ้างว่ามูลค่าที่ดินที่เพิ่มขึ้นทุกปี 20% ได้จากราคาประเมินของกรมที่ดินโดยเฉลี่ยของการขึ้นราคาประเมินที่ดินย้อนหลังไป
15 ปีจากปี 2521-2536
ในขณะที่โครงการศุภาลัยสวนสักทอง ได้เปรียบเทียบการลงทุนกับการฝากเงินธนาคารไว้ว่า
ที่ดิน 1 ไร่พร้อมต้นสัก 400 ต้นผลตอบแทนรวมในการปลูกระยะเวลา 15 ปี ราคา
1,700,000 บาท ในขณะที่ราคาที่ดินในเวลา 15 ปี ก็ยังเท่ากับราคาเดิมเมื่อเริ่มขาย
(โดยไม่ได้คิดมูลค่าเพิ่ม) คือ 3,990,000 บาทต่อไร่ ก็จะเป็นเงินเท่ากับ
5,690,000 บาท และถ้าหากฝากธนาคารดอกเบี้ย 9% ต่อปีจากเงินต้น 3,990,000
บาท ดอกเบี้ยต่อปี 35,910 บาท ถ้า 15 ปีเท่ากับ 538,650 บาท รวมกับเงินต้นเป็นเงิน
937,650 บาท ความแตกต่างกับการปลูกสักเห็นได้ชัด ๆ คือ 4,752,350 บาท
ตัวเลขดังกล่าวจาก 2 โครงการนี้ หากเป็นจริงก็เป็นเรื่องที่น่าฝันหวานเหมือนกัน
แต่ปัญหาก็คือจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน?
บุญวงศ์ ไทยอุตสาห์ จากคณะวนศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้อธิบายความเป็นไปได้ของไม้สักในราคาที่มีการประกันว่า
จุดขายของไม้สักจะอยู่ที่วงปีและเนื้อไม้วงปีต้องสวย แน่น ลำต้นต้องตรงซึ่งการที่ไม้จะเป็นอย่างนี้ได้ต้องขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่ดินและภูมิอากาศรวมทั้งวิธีการจัดการของผู้ประกอบการ
ที่สำคัญผู้ซื้อต้องเข้าใจว่า ต้นสักจะแบ่งออกเป็น 5 ชนิดคือสักทอง สักหิน
สักหยวก สักขี้ควายและสักไข่ ต้นกล้าสักที่เอามาปลูกนั้นแม้จะเอามาจากต้นกล้าสักทอง
แต่ก็อาจจะไม่เป็นสักทองก็ได้ แต่จะเป็นสักพันธุ์อื่น ๆ แทน ขึ้นอยู่กับสภาพทั่วไปของสิ่งแวดล้อมดังกล่าว
แต่ราคาสักทองเป็นราคาที่แพงที่สุด เพราะจะเป็นเนื้อไม้ที่คุณภาพดี เป็นสีเหลืองทองสวยงาม
"คนซื้อจะไม่มีทางรู้ว่า ต้นสักของตนจะเป็นไม้สักทองหรือไม่จนกว่าจะถึงเวลาตัด
ดังนั้นไม่ควรฝันหวานตามราคาที่ประกันไว้นัก" บุญวงศ์เตือน
สุทัศน์ เดชวิสิทธิ์ ได้เขียนถึงราคาไม้สักทองไว้ในหนังสือชื่อไม้สักทองการลงทุนปลูกไม้สักทองเพื่อการค้า
ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในวงการทั่วไปว่าความเป็นไปได้ของราคาต้นไม้ที่มีอายุ
5 ปี ในที่ดินคุณภาพปานกลาง การดูแลรักษาปานกลาง ตั้งราคาได้ในต้นละ 300
บาท ไม้สักทองอายุ 10 ปีจะมีราคาที่ประมาณ 900 บาท และไม้สักทองที่มีอายุประมาณ
15 ปีราคาขายประมาณ 9,000 บาท ส่วนไม้สักทองอายุประมาณ 20 ปี จะมีราคาต้นละไม่ต่ำกว่า
18,000 บาท
ถ้าเทียบราคาประกันของโครงการเอกชนทั่วไปจะเห็นได้ว่าการตัดในระยะแรก และระยะที่
2 ราคาของเอกชนจะสูงมาก ในขณะที่การตัดขายในระยะปีที่ 15 และปีที่ 20 ราคาจะไม่ค่อยต่างกันนัก
นอกจากบางโครงการเท่านั้น
อย่างไรก็ตามโอกาสที่ไม้สักจะราคาเพิ่มสูงขึ้นนั้นมีแน่นอน ตัวเลขจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ระบุว่าไม้สักคุณภาพปานกลาง
ปริมาตร 0.51-0.55 ลูกบาศก์เมตรต่อต้นเมื่อปี 2530 ราคาประมาณ 4,599 บาท
ปี 2531 เพิ่มขึ้นเป็น 5,253 บาท ปี 2532 เพิ่มขึ้นอีกเป็น 7,414 บาท ในขณะที่ปัจจุบัน
ราคาไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท
"ทุกวันนี้ต้องมีคนโทรศัพท์มาขอคำปรึกษาจากผมเพื่อสร้างสวนสักทองบ่อยมาก
ก็เป็นเรื่องที่ดีเพราะการปลูกสัก คือการสร้างป่า แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือผู้ขายไม่ควรดึงดูดใจผู้ซื้อ
ด้วยการประกันราคาที่สูงเกินไป" ดีพร้อม ไชยวงศ์เกียรติ ให้ความเห็นกับ
"ผู้จัดการรายเดือน"
มนุษย์ได้ชื่อว่าเป็นทั้งผู้สร้าง และผู้ทำลายความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์
และเทคโนโลยี ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่เงื่อนไขของการทำลายล้างธรรมชาติอย่างรวดเร็ว
การสร้างสวนป่า แม้จะให้ความสำคัญในแง่ของเศรษฐกิจ และการลงทุนก็ยังเป็นเรื่องที่ควรส่งเสริม
เพราะก็ยังเกิดการปลูกป่าหมุนเวียน
แต่ที่สำคัญผู้ประกอบการเอง ต้องทำธุรกิจนี้ด้วยความรับผิดชอบ ดูแล และทำนุบำรุงสงวนป่าตามที่รับปากไว้ให้กับลูกค้า
การทิ้งโครงการหลังจากขายไปแล้วเพียงปีหรือ 2 ปี แล้วปล่อยให้ลูกค้าต้องประสบปัญหาต่าง
ๆ ที่เกิดขึ้นมาต่อไป ก็จะเป็นการทำลายอนาคตของธุรกิจสวนป่าลงอย่างสิ้นเชิง
อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับธุรกิจสวนเกษตรย่านชานเมือง ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ไว้ในเรื่องของการไม่ดูแลรักษาโครงการจนต้องปล่อยให้เป็นสวนที่มีทุ่งหญ้ารกร้าง
แต่ใครละจะเป็นผู้รับประกันได้ ดังนั้นต้องเป็นเรื่องที่กลุ่มลูกค้าจะต้องพิจารณากันเอง
การมองดูตัวเลขการประกันราคาที่สวยหรูเป็นความคิดที่ผิด เพราะจะต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง
ๆ ที่พูดถึงมาแล้ว ตัวเจ้าของโครงการและผู้ประกอบการ เป็นเรื่องสำคัญในการพิจารณา
เพราะเจ้าของโครงการ กลุ่มนั้น ๆ จะต้องอยู่ดูแลไม้สักทองเราเป็นเวลากว่า
10 ปี การดูให้ลึกไปถึงถิ่นที่ตั้งของโครงการว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนในการปลูกสัก
ก็เป็นเรื่องที่จำเป็นเช่นกัน เช่นเดียวกับการดูรายละเอียดของสัญญาซื้อขาย
ส่วนใหญ่แล้วการประกันราคาขายและข้อผูกมัดบางเรื่องผู้ประกอบการจะใส่ไว้ในแผ่นโบชัวร์
แต่ไม่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขาย
ปัญหาเรื่องฟ้องร้องต่าง ๆ อาจจะเกิดขึ้นแน่นอนเช่นเดียวกับโครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมแต่ก็ยังดีที่ยังมีโฉนดที่ดินเปล่าไว้ปลอบใจแทน