|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2549
|
|
"ผม Visible ผมยืนพูด" เขาวิสัชนาด้วยความคิดรวบยอดที่น่าสนใจ เมื่อถูกตั้งปุจฉาว่า ทำไมสังคมธุรกิจไทยยอมรับเขาเป็น Role Model อย่างเหนียวแน่น
บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ CEO ธนาคารกสิกรไทย นับเป็นผู้นำธุรกิจที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่ง พิจารณาจาก 50 "ผู้จัดการ" ในช่วง 7 ปีมานี้ เขาอยู่ในลำดับ 1 ใน 3 ตลอดมา ปีที่แล้วขึ้นสู่อันดับ 2 แล้วขึ้นสู่อันดับหนึ่งในปีนี้ด้วยคะแนนค่อนข้างห่างจากอันดับสอง
แม้ว่าปีนี้เขาเก็บตัวมากเป็นพิเศษ เพราะความเชื่อว่าเป็นปีที่ไม่ถูกโฉลก ซึ่งดูสอดคล้องกับภาวะสังคมที่สับสนและและขาดสมดุลอย่างมากช่วงหนึ่ง ไม่ว่าจะมองเชิงระบบสังคมการเมือง เศรษฐกิจ ธุรกิจ หรือมิติทางความคิด ความเชื่อระดับปัจเจกบุคคล
แต่ผู้คนในสังคมธุรกิจไทยกลับดูเหมือนยอมรับเขามากขึ้นอย่างชัดเจนในสถานการณ์เช่นนี้
ในบทสนทนาล่าสุด เขาพยายามอรรถาธิบายภาพพจน์ของตนเองผ่านความเคลื่อนไหวของธนาคารกสิกรไทยในระยะเวลายาวนานพอสมควร "เป็นสิ่งที่ธนาคารกสิกรไทยทำไปอย่างต่อเนื่อง แต่ละยุคมันก็มีมุกเล่นไปเรื่อยๆ ตั้งแต่รีเอ็นจีเนียริ่ง แล้วก็มาแบงก์ล้ม แก้ไขเพิ่มทุน ฯลฯ เรื่องอย่างนี้เป็นภาพตัวธนาคารกสิกรไทยที่ออกไป" เขาเน้น
15 ปีของการดำรงตำแหน่งผู้นำธุรกิจรากฐานของไทย มีเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้นสำหรับธุรกิจธนาคารที่มั่นคง และมี Prestige สังคมธุรกิจไทย ดูเหมือนมีเพียงไม่ถึง 5 ปีแรก ในช่วงนั้น บัณฑูร ล่ำซำ ผู้เพิ่งขึ้นเป็นผู้นำเพียง 2-3 ปี เขาได้แสดงบทบาทใหม่ในเชิงความคิด เขาไม่ได้มองธนาคารเช่นที่หลายๆ คนมองและเชื่อเช่นนั้น สิ่งแรกที่เขาทำคือเปิดฉากเขย่าระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้งระบบด้วยสิ่งที่เรียกว่า Re-engineering เป็นการจุดกระแสให้ธนาคารพาณิชย์ไทยตื่นตัว อาจจะเรียกได้ว่าเป็นสัญญาณแรกของการมองธุรกิจให้กว้างขึ้น ท้าทายมากขึ้น และเป็นครั้งแรกที่มองธุรกิจที่คุ้มครองโดยรัฐอย่างเข้มแข็งให้เข้าใจมาตรฐานระดับโลก แม้จะเป็นการเตือนก่อนที่วิกฤติการณ์จะมาถึง แต่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก
จากวันนั้นเขาก็ได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำธุรกิจอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางผู้นำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่มีรากฐานมาจากระบบครอบครัว ส่วนใหญ่อยู่ในการบริหารของคนรุ่นเก่า แรงปะทะนี้ธนาคารหลายแห่งจึงปรับตัวเชิงบริหาร นำคนรุ่นหนุ่มเข้ามาเป็นผู้นำเป็นระลอกในช่วงนั้น
V I S I B L E (1)
บทบาทในฐานะผู้นำธนาคารโดดเด่นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะมองผลงานบริหารจากผลประกอบการของธนาคาร ระบบการบริหาร ล้วนได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ สถาบันต่างประเทศ นิตยสารการเงินต่างประเทศ มักจะยกธนาคารกสิกรไทยเป็นสิ่งอ้างอิงสำหรับธุรกิจไทยเสมอมา แต่นั่นแม้เป็นเรื่องจับต้องได้แต่ก็ไม่ง่ายและมีสีสันเท่ากับบุคลิกของเขา ทั้งนี้มาจากพื้นฐานการศึกษาที่ดีมากที่สุดคนหนึ่ง มาจากตระกูลชาวจีนโพ้นทะเลที่ลงหลักปักฐานในสังคมไทยตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 บวกกับสายมารดาของเขาเป็นราชนิกุล ใกล้ชิดราชสำนักมาตั้งแต่รัชกาล ที่ 2 รวมไปถึงความเป็นตัวตนที่จับต้องได้ของเขา ไม่ว่าจะเป็นนักดนตรีแซ็กโซโฟน ซอสามสาย ชอบพายเรือแคนู จนถึงไวยาวัจกร วัดบวรนิเวศฯ และผู้จัดการมูลนิธิมกุฎราชวิทยาลัย ที่ชักนำเรื่องราวของเขาให้โด่งดังระดับกว้างออกจากแวดวงธุรกิจ
ยืนพูด (1)
ที่สำคัญเขาเป็นนักพูดในสังคมธุรกิจที่ผู้คนตั้งใจฟังอย่างสนใจ ความคิดของเขาที่แสดงต่อสาธารณะตื่นเต้นเร้าใจเสมอ เขาจึงถูกเชิญในวงสัมมนาสำคัญๆ เสมอ บัณฑูร ล่ำซำ เป็นนักประชาสัมพันธ์ที่ดีที่สุดคนหนึ่ง เขาเองก็ยอมรับในการสนทนาล่าสุดว่า งานบริหารธนาคารขณะนี้ไม่ได้ทำอะไรมาก ตั้งแต่มีกรรมการผู้จัดการ (ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล) หน้าที่หลักที่เหลืออย่างหนึ่งที่เขาทำคือ PR (public relation) ในบรรดางานแถลงข่าวที่ดูพื้นๆ ไม่ต้องจ้าง Event Organizer คงไม่มีงานไหนมีนักข่าวมาร่วมมากที่สุดเท่างานแถลงข่าวของธนาคาร กสิกรไทย ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าเป็นความสามารถของงาน PR ของธนาคารกสิกรไทย และตัวตนของ บัณฑูร ล่ำซำ เป็นที่น่าสนใจอย่างมากเสมอ ที่สำคัญความสนใจอยู่ที่เขาจะพูดอะไร
"ต้องยอมรับความจริงว่า ความสนใจของผู้คนในสังคมในเวลานี้สนใจตัวตนของเขามากกว่าธนาคารกสิกรไทย และดูเหมือนว่าตัวตนของเขาได้แยกออกจากโมเดลธุรกิจของตระกูลล่ำซำมากขึ้นด้วย ถึงอย่างไรก็มีบางคนวิเคราะห์ว่า ความสนใจในตัวตนของเขาในเชิงบวก ย่อมจะมีผลดีต่อภาพลักษณ์ของธนาคารกสิกรไทยอย่างมิพักสงสัย เขาเป็นภาพลักษณ์ของความต่อเนื่องของรากเหง้าสังคมไทยและรากฐานธุรกิจเก่าแก่ที่เอาตัวรอดด้วยจิตวิญญาณของผู้มีความคิดทันสมัย" บทสรุปนี้มาจากข้อเขียนของผมเองเมื่อปี 2546 (จากเรื่อง "บัณฑูร ล่ำซำ Role Model", นิตยสารผู้จัดการ สิงหาคม 2546) ซึ่งจะว่าไปแล้ว สะท้อนสถานการณ์ในขณะนั้น ซึ่งในเวลาต่อมามีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร
V I S I B L E (2) Branding
บัณฑูร ล่ำซำ วันนี้นอกจากจะดู low profile แล้ว เขาเชื่อว่าเป็นปีที่ไม่ถูกโฉลก แต่ขณะเดียวกันความเคลื่อนไหวของธนาคารกสิกรไทยกลับดำเนินไปอย่างคึกคักในเรื่อง Branding ผ่านกิจกรรมต่างๆ และการโฆษณาในวงกว้างอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
ในบทสนทนาล่าสุด เขาระมัดระวังการแสดงตัวตนของเขามากขึ้น และพยายามจัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของเขากับธนาคารกสิกรไทยอย่างสมดุลมากขึ้น ว่าไปแล้วอาจจะเป็นยุทธศาสตร์ใหม่ของเขาที่พัฒนาตัวตนในฐานะผู้นำในสังคมธุรกิจ ในฐานะ Role Model ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในวงค่อนข้างแคบที่มีอิทธิพลสู่กระบวนการ Branding โดยมีเป้าหมายที่เป็นระบบและกว้างขวาง มีความเชื่อมโยงกับธนาคารกสิกรไทยในเชิงแก่นสารมากที่สุด คือบริการทางการเงินในวงกว้าง ในตลาดสินค้าการเงินสำหรับผู้บริโภค ซึ่งมีความสำคัญมากกว่ายุคใดๆ ในธุรกิจธนาคาร
K Excellence เป็นเครื่องหมายการค้า (Brand) ของสินค้าทางการเงินของเครือธนาคารกสิกรไทย ซึ่งเป็นความพยายามสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ของผู้บริโภค จากความเข้าใจยากและซับซ้อนให้ดูง่ายและเข้าถึงในวงกว้าง โดยการใช้ภาพยนตร์โฆษณาในชื่อชุด K Hero เป็นสื่อในวงกว้าง อาจจะมีบ้างที่บางคนจะเชื่อมโยงไปยังบทบาทในฐานะผู้นำของบัณฑูร ล่ำซำ แต่เป็นส่วนน้อย สำหรับส่วนใหญ่หรือลูกค้าในวงกว้างมองไปยังธนาคารกสิกรไทยและบริการในเครือที่เสริมกัน เป็นความเข้าใจภาพใหม่ของบริการทางการเงินในยุคปัจจุบัน
ยืนพูด (2) เรื่องจีน
บัณฑูร ล่ำซำ ไม่เพียงพูดในเรื่องที่น่าสนใจ สอดคล้องกับสถานการณ์ มีสาระด้วยการศึกษาอย่างถ่องแท้ ไม่เพียงรู้ช่วงเวลาเท่านั้น หากเป็นไปตามยุทธศาสตร์ใหม่ของเขากว้างขึ้น ยิ่งใหญ่มากทีเดียว นั่นคือ ยุทธศาสตร์เกี่ยวกับจีน หรือสิ่งที่เขาต้องการ เขาเรียกว่า "China card"
2546 เขาเปลี่ยนนามบัตร มีชื่อจีนด้วย
เพิ่มชื่อภาษาจีนในป้ายชื่อธนาคาร
Call center และ Website ภาษาจีน
ปรากฏการณ์บนผิวน้ำข้างต้น เป็นความเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ใหม่ของธนาคารกสิกรไทย และเป็นงานอีกชิ้นหนึ่งที่บัณฑูร ล่ำซำ รับผิดชอบ ซึ่งเป็นงานที่แตกต่างจากงานในอดีตอย่างสิ้นเชิง
การสร้างเครือข่ายธุรกิจในประเทศจีน ดูเผินๆ เป็นเรื่องง่ายเช่นเดียวกับการเปิดสาขาต่างประเทศของธนาคารไทยในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคเฟื่องฟู แต่ความจริงไม่ใช่เช่นนั้น บัณฑูรสรุปเรื่องนี้อย่างน่าสนใจ
"แล้วจะไปเล่นเกมอย่างที่โลกสากลเล่นกัน มันมวยคนละรุ่น ไม่มีทางที่จะไปสู้กับโลกตะวันตก โดยเฉพาะในฝั่งตะวันตกด้วย เพราะฉะนั้นที่เคยไปเปิดสาขาที่ลอนดอน นิวยอร์กน่ะ บรรลัย เพราะไม่ได้เป็นกลุ่มที่ยืนอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง ตอนนั้นมีความรู้สึกว่าฉันยิ่งใหญ่ในประเทศไทย ฉันก็ควรเป็นธนาคารที่มีสินทรัพย์ มีสาขา ก็มีจินตนาการกันแบบนี้ ซึ่งใช้เวลา 10 กว่าปีที่จะพิสูจน์ว่าเป็นภาพที่ยืนไม่อยู่ เพราะจริงๆ แล้วธนาคารพาณิชย์ไทยมีขนาดเล็ก ไม่ได้มีจุดเด่นอะไร จะเข้าไปที่ไหนต้องมีจุดเด่นไม่ใช่สักแต่ว่าฉันใหญ่ที่นี่ แล้วฉันจะไปเปิดที่นั่น เพราะฉะนั้นทุกคนต้องยอมรับ ไม่จริง ก็โดนต้ม โดนซ้าย โดนขวากันมา ซึ่งก็โชคดีว่าไม่ได้ไปทำอะไรที่มันเกินตัว จนดึงทางนี้ล้มไป แต่ว่าเสียหาย เช็กดูสิ ทุกคนเสียหายกันทั้งนั้น ปิดกันเรียบเลย อาศัยโอกาสเกิดวิกฤติก็ปิด รู้สึกไม่เสียหน้า ถ้าสมมุติก่อนวิกฤติ ไม่มีทาง เสียหน้า ไปแค่นี้กลับมาแล้ว แต่วิกฤติก็ว่าไม่เป็นไร เพราะตัวแบงก์ใหญ่ก็จะพังอยู่แล้ว คนก็ปิดเรียบเลย"
จากฐานความเชื่อนี้เขามองการเปิดสาขาต่างประเทศในความหมายที่กว้างขึ้น เป็นการสร้างเครือข่ายธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน เป็นยุทธศาสตร์สำคัญมาก จากนี้ไปของธนาคาร มองจากมิติประสบการณ์ ถือเป็นงานที่แตกต่างจากประสบการณ์เดิมของเขาทั้งหมด งานใหม่สำหรับบัณฑูรในฐานะ "ล่ำซำ" คนสำคัญในปัจจุบัน ภารกิจนี้สำคัญมากสำหรับประวัติศาสตร์ตระกูลล่ำซำ ในช่วง 150 ปีเลยทีเดียว (อ่านเรื่อง "จากรากเหง้าสู่อนาคต) เขาพูดเกี่ยวกับยุทธศาสตร์นี้มากขึ้นในวงสัมมนาต่างๆ เป็นการสื่อความถึงบทบาทและวิสัยทัศน์ธนาคารที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ของประเทศและระดับโลก ขณะเดียวกันสำหรับพนักงานกสิกรไทยก็จะเข้าใจมากขึ้น (เขามักจะพูดว่า ทุกครั้งที่เขาสื่อกับภายนอกนั้นเท่ากับเสริมการสื่อสารภายในองค์กรเสมอ)
ไม่เพียงเท่านั้น บัณฑูร ล่ำซำ เดินทางไปจีนประมาณเดือนละ 1 ครั้ง การศึกษาเรื่องจีนเป็นความท้าทาย เป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ และสร้างสายสัมพันธ์ที่ขาดหายไปประมาณครึ่งศตวรรษ ขณะเดียวกันก็ "ยืนพูด" กับสังคมจีนด้วย โดยเฉพาะกลุ่มผู้คนที่ทรงอิทธิพล
ในแผนการนี้ดำเนินไปต่อเนื่อง ดังเช่น เมื่อเร็วๆ นี้ เขาให้สัมภาษณ์พิเศษสำนักข่าว Xinhua ของทางการจีน ซึ่งแผนการสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจกับจีน ซึ่งได้ตีพิมพ์ทั้งภาษาจีน และ website ภาษาอังกฤษของสำนักข่าว ที่ทรงอิทธิพลที่สุดของจีน หรือการเดินทางไปยัง Tsinghua University มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีน ร่วมงานและปาฐกถา "Managing Risk in Asia" Case Study of Thailand's Banking Sector" ที่ School of Economics and Management ต่อกลุ่มนักศึกษา MBA ซึ่งกำลังเป็นชนชั้นใหม่ที่มีอนาคตของสังคมจีนยุคใหม่
ต้องยอมรับว่าวันนี้คำอรรถาธิบายหรือวิสัยทัศน์เกี่ยวกับสังคมธุรกิจระดับโลกที่มีฐาน "ความเป็นอยู่ของจีน" ของบัณฑูร ล่ำซำ มีความเข้มข้นและน่าสนใจมากขึ้น
เขามาจากรากฐานตระกูลคนจีนเก่าแก่กับราชนิกุล ซึ่งมีความต่อเนื่องในประวัติศาสตร์สังคมไทยที่ดูไม่ราบเรียบมากว่าศตวรรษ ขณะเดียวกันเขาไม่เพียงมีการศึกษาที่ดีเท่านั้น หากมีโอกาสได้พิสูจน์ความสามารถในการเผชิญอุปสรรคอย่างมากมาย สำหรับคนหนุ่มคนหนึ่งในช่วงกว่าทศวรรษมานี้ เขาสอบผ่านข้อสอบที่เข้มข้นนี้อย่างไม่ต้องสงสัย ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของการก้าวผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของสังคมไทย เขายังท้าทายต่อไปมองอนาคตไว้ชัดเจน มีเป้าหมายที่แน่ชัดมีการกระทำที่ต่อเนื่อง ปรับตัว ปรับความคิดอยู่เสมอ
ในแง่ส่วนตัว ความสำเร็จของการทำงานมิใช่ภาพสะท้อนของ "ความร่ำรวย" หรือการสะสม "ความมั่งคั่ง" ส่วนตัว เช่น ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีสีสันในเรื่องไลฟ์สไตล์มากกว่าความคิดและการทำงาน ถือเป็นคนละขั้วกับบัณฑูร ซึ่งดำเนินชีวิตค่อนข้างเรียบง่าย
นี่กระมังที่สามารถเป็นบทสรุปวิสัชนาต่อปุจฉาสำคัญที่ว่า ทำไมในยามสังคมไทยสับสน และขาดสมดุลอย่างปัจจุบัน บัณฑูร ลำซ่ำ จึงกลายเป็นบุคคล "อ้างอิง" ไม่เพียงสังคมธุรกิจเท่านั้น
|
|
|
|
|