Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2549
โรงพยาบาลเอเชียดูดลูกค้าตะวันตก             
 

 
Charts & Figures

เปรียบเทียบค่าผ่าตัดในสหรัฐฯ กับเอเชีย


   
search resources

Hospital




Kevin Miller ชาวรัฐ Louisiana ในสหรัฐฯ จะต้องผ่าตัดคอเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บที่เกิดจากอุบัติเหตุรถยนต์เมื่อปีก่อน แต่ค่าผ่าตัดสูงที่ถึง 90,000 ดอลลาร์ ในขณะที่เขาทำอาชีพอิสระและไม่มีประกันสุขภาพ Miller จึงตัดสินใจพึ่งอินเทอร์เน็ต แม้ว่าหมอที่รักษาเขาจะคัดค้าน และนัดหมายที่จะเข้ารับการรักษาพยาบาลกับโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ของไทย ซึ่งเขาจะต้องเดินทางถึงครึ่งทวีป

และ Miller ก็ได้รับการผ่าตัดจากศัลยแพทย์ของโรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งได้รับการฝึกในสหรัฐฯ โดยเสียค่าผ่าตัดน้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์ ซึ่งทำให้ Miller กล่าวว่า เขาจะไม่ลังเลเลยที่จะกลับมารับการรักษาจากโรงพยาบาลแห่งนี้อีก

Miller นับเป็นหนึ่งใน "นักท่องเที่ยว" กลุ่มที่อาจเรียกว่าเป็นนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อรับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่กำลังขยายตัว ยิ่งมีเสียงพูดปากต่อปาก ถึงคุณภาพการรักษาพยาบาลที่สูง แต่ค่าใช้จ่ายต่ำ ในประเทศอย่างอินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซียและไทย ชาวอเมริกันจำนวนมากทั้งที่ไม่มีประกันสุขภาพ หรือมีแต่ไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาทั้งหมด จึงพากันขึ้นเครื่องบินเพื่อเดินทางไปยังประเทศเอเชียเหล่านั้น ไม่ใช่เพื่อทำศัลยกรรมความงามอย่างเมื่อก่อน หากแต่เพื่อรับการรักษาพยาบาลที่สำคัญ อย่างเช่นการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพก และการผ่าตัดหัวใจในราคาที่ถูกกว่า

เฉพาะโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์แห่งเดียว Curtis Schroeder ซึ่งเป็น CEO ของบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า เมื่อปีที่แล้วบำรุงราษฎร์ได้ต้อนรับผู้ป่วยชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นเป็น 55,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากปีก่อนหน้า โดยสามในสี่ของผู้ป่วยบินตรงมาจากสหรัฐฯ และร้อยละ 83 มารับการรักษาที่ไม่ใช่ศัลยกรรมความงาม ในขณะที่อินเดียก็ได้ต้อนรับผู้ป่วยจากต่างชาติเพิ่มขึ้นในอัตราที่ไม่ต่างกัน

แม้ว่าจำนวนคนไข้ชาวตะวันตกที่หนีมารักษาตัวกับโรงพยาบาลในเอเชียจะยังคงน้อยนิด เมื่อเทียบกับที่โรงพยาบาลในสหรัฐฯ ทำการผ่าตัดปีละหลายล้านครั้งในอุตสาหกรรมรักษาพยาบาล ซึ่งมีมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯ แต่การเปลี่ยนแปลงสำคัญได้เกิดขึ้นแล้วในอุตสาหกรรมนี้ และอาจเป็นการเปลี่ยน แปลงที่ทำให้โรงพยาบาลในสหรัฐฯ เริ่มรู้สึกได้ถึงแรงกดดันจากการแข่งขัน เมื่อผู้ป่วยกระเป๋าหนักชาวอเมริกันกำลังถูกดูดออกไปรับการรักษาในต่างประเทศ เนื่องจากการผ่าตัดเฉพาะทางนับเป็นแหล่งรายได้หลักของโรงพยาบาลในสหรัฐฯ และแม้จะสูญเสียลูกค้าไปเพียงเล็กน้อย แต่ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อผลกำไรของโรงพยาบาลได้

นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่อาจช่วยเร่งให้แนวโน้มนี้ขยายตัว เมื่อบริษัทขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ หลายแห่ง ซึ่งแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาของพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา กำลังเริ่มพิจารณาอย่างจริงจัง ถึงการที่จะส่งพนักงานไปเข้าโรงพยาบาลในต่างประเทศ ที่เสียค่าใช้จ่ายถูกกว่า

อย่างเช่นบริษัท Blue Ridge Paper Products ใน Canton รัฐ North Carolina กำลังคิดที่จะเสนอให้พนักงานไปเข้าโรงพยาบาลในต่างประเทศ โดยมีแรงจูงใจคือ พนักงานยังจะได้รับเงินเข้ากระเป๋าด้วย โดยบริษัทจะแบ่งเงินที่สามารถประหยัดได้ เมื่อพนักงานยอมไปเข้าโรงพยาบาลในต่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าให้แก่พนักงานส่วนหนึ่ง

Dr.Arnold Milstein ผู้นำความคิดทางด้านสวัสดิการสุขภาพแห่งชาติแห่งบริษัทที่ปรึกษา Mercer Health & Benefits พบว่า ค่ารักษาพยาบาลในไทยและมาเลเซียต่ำเพียงร้อยละ 20-25 ของค่ารักษาพยาบาลในสหรัฐฯ และโรงพยาบาลชั้นหัวกะทิของอินเดีย ยิ่งมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่านั้น

ถ้าหากว่าบริษัทขนาดใหญ่ต่างๆ ในสหรัฐฯ ซึ่งมีอยู่จำนวนมากที่แบกภาระค่ารักษาพยาบาลส่วนใหญ่ของพนักงานเอง เลือกที่จะส่งพนักงานไปรับการผ่าตัดเฉพาะทางที่ไม่ซับซ้อนมากกับโรงพยาบาลในต่างประเทศที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าอย่างมาก เงินที่ประหยัดได้นั้นจะต้องมีจำนวนมากมายมหาศาล และนี่ก็คือแรงจูงใจอย่างดี ซึ่ง Uwe Reinhardt นักเศรษฐศาสตร์ด้านธุรกิจโรงพยาบาลจากมหาวิทยาลัย Princeton ชี้ว่า อาจจะทำให้อุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับสภาพที่เหมือนกับที่อุตสาหกรรมการผลิตรถของสหรัฐฯ เคยเผชิญมาเมื่อคราวที่ถูกผู้ผลิตรถของญี่ปุ่นตีตลาด

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันโรงพยาบาลในสหรัฐฯ ยังแทบไม่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันในระดับโลกาภิวัตน์ เพราะรายได้ของโรงพยาบาลสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราที่เร็วกว่าเงินเฟ้อ และหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในทุกๆ ด้านจะตกเป็นของโรงพยาบาลในสหรัฐฯ มีการคาดการณ์ว่า สหรัฐฯ จะต้องใช้จ่ายเงิน 1 ดอลลาร์ในทุกๆ 5 ดอลลาร์ของรายได้ประชาชาติ ไปกับการรักษาพยาบาลประชาชนก่อนที่จะถึงปี 2015 แต่มากกว่า 1 ใน 4 ของคนทำงานในสหรัฐฯ ยังคงไม่มีการประกันสุขภาพ Reinhardt ยังชี้ด้วยว่า แม้ว่าโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ จะไร้ประสิทธิภาพ แต่ก็หาได้ทำให้รายได้ของโรงพยาบาลกระทบกระเทือนไม่

แต่ผู้ที่จ้องที่จะฉวยประโยชน์จากช่องว่างของราคาค่าใช้จ่ายระหว่างโรงพยาบาลในสหรัฐฯ กับโรงพยาบาลในต่างประเทศ ก็คือบรรดาธุรกิจประกันทั้งหลาย United Group Programs (UGP) ใน Boca Raton รัฐฟลอริดา ซึ่งขายกรมธรรม์คุ้มครองสุขภาพแบบเบี้ยประกันต่ำด้วยแผนประกันสุขภาพที่เรียกว่า mini-med ได้เริ่มแนะนำให้บำรุงราษฎร์ เป็นโรงพยาบาลสำหรับผู้ประกันตน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และแม้แต่ลูกค้าอื่นๆ ของ UGP ซึ่งเป็นพนักงานของบริษัทที่ใช้แผนประกันสุขภาพที่ดีกว่า mini-med ก็สามารถจะเลือกรับบริการของบำรุงราษฎร์ได้เช่นกัน ซึ่งหมายความว่า ขณะนี้ UGP กำลังเสนอทางเลือกในการเดินทางไปเข้าโรงพยาบาลในต่างประเทศให้แก่ชาวอเมริกัน ถึง 100,000 คน

แผนประกันสุขภาพ mini-med เป็นที่นิยมในหมู่พนักงานรายชั่วโมงหรือพนักงานชั่วคราว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะไม่ได้ทำประกันสุขภาพ อย่างไรก็ตาม แผนคุ้มครองสุขภาพนี้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่น้อยมาก คือค่าผ่าตัดเพียง 3,000 ดอลลาร์ และค่าห้องในโรงพยาบาลเพียง 1,000 ดอลลาร์ต่อวัน ซึ่งแทบไม่พอที่จะอยู่ในโรงพยาบาลสหรัฐฯ แม้เพียงครึ่งวัน แต่สำหรับในไทย Jonathan Edelheit ผู้บริหารของ UGP ระบุว่า ค่าใช้จ่ายการผ่าตัดบายพาสหัวใจซึ่งในสหรัฐฯ สูงถึง 56,000 ดอลลาร์นั้น ในไทยจะเสียค่าใช้จ่ายเพียง 8,000 ดอลลาร์เท่านั้น

ผู้บริหาร Blue Ridge มีแผนที่จะเดินทางไปเยือนโรงพยาบาลในอินเดีย เพื่อประเมินคุณภาพการรักษาพยาบาลของที่นั่น และถ้าหากผู้บริหารให้ไฟเขียว Blue Ridge ก็จะเริ่มส่งเสริมให้พนักงานที่มีอยู่ 2,000 คนของตน ให้เดินทางไปเข้าโรงพยาบาลในอินเดีย โดยมีแรงจูงใจคือ พนักงานที่เลือกจะไปรักษาตัวที่อินเดีย จะสามารถนำสมาชิกในครอบครัวไปได้ 1 คน และจะได้พักฟื้นในโรงแรม ซึ่งบริษัทจะออกค่าห้องให้ โดยจะให้ IndUShealth บริษัทรับส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาในต่างประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ใน Raleigh ในรัฐ North Carolina เป็นผู้จัดเตรียมและประสานงานกับโรงพยาบาลในอินเดีย และบริษัทยังจะแบ่งเงินให้แก่พนักงานอีกสูงสุดร้อยละ 25 จากเงินที่บริษัทประหยัดได้ จากการที่พนักงานยอมไปเข้าโรงพยาบาลในต่างประเทศซึ่งถูกกว่าในสหรัฐฯ

ได้สะโพกใหม่แถมยังได้เงินเข้ากระเป๋า ฟังดูจูงใจไม่น้อย แต่จะหาคนที่จะยอมเดินทางถึง 16,000 กิโลเมตร เพื่อไปเข้าโรงพยาบาลในต่างประเทศเพียงเพื่อแลกกับเงินเพียงน้อยนิด ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผลสำรวจความคิดเห็นพนักงานพบว่า แทบไม่มีใครที่จะยอมเดินทางไปรับการผ่าตัดในต่างประเทศ หากได้รับเงินจูงใจต่ำกว่า 1,000 ดอลลาร์ แต่ถ้าหากสูงกว่านั้น ร้อยละ 45 ของคนที่ไม่มีประกันสุขภาพหรือมีประกันที่คุ้มครองไม่ครอบคลุมบอกว่า จะยอมไป และแม้แต่ผู้ที่มีประกันสุขภาพร้อยละ 19 ก็ยังบอกว่าจะยอมไปเหมือนกัน และถ้าหากเงินจูงใจสูงกว่า 5,000 ดอลลาร์แล้วล่ะก็ ตัวเลขผู้ที่จะยอมไปผ่าตัดในต่างประเทศ ได้พุ่งสูงขึ้นเป็นร้อยละ 61 และร้อยละ 40 ตามลำดับ

ข้อเสนอจูงใจของ Blue Ridge นี้ แม้แต่รัฐบาลท้องถิ่นก็ยังนำไปเลียนแบบ โดยร่างกฎหมายใหม่ของรัฐ West Virginia ได้เสนอมาตรการจูงใจต่างๆ ที่เหมือนกับ Blue Ridge เพื่อโน้มน้าวให้ข้าราชการของรัฐยอมไปรับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ

ส่วนคำถามที่ว่า คุณภาพการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลในต่างประเทศสูงพอหรือไม่ โรงพยาบาลเอกชนจำนวนมากในเอเชีย ซึ่งพยายามที่จะดึงดูดลูกค้าจากต่างชาติ ได้ขอการรับรองวิทยฐานะจาก Joint Commission International ซึ่งเป็นสถาบันที่รับรองวิทยฐานะให้แก่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งหลายแห่งก็ได้รับการรับรองไปแล้ว เพราะศัลยแพทย์จำนวนมากของโรงพยาบาลเหล่านั้น ล้วนได้รับการฝึกจากในสหรัฐฯ หรืออังกฤษ ซึ่งสร้างความสบายใจให้แก่ผู้ป่วยชาวอเมริกันไม่น้อย อย่างเช่น โรงพยาบาล Escorts Heart Institute and Research Center ใน Delhi ซึ่งก่อตั้งโดย Dr. Naresh Trehan อดีตเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย New York University และมีชื่อเสียงในการมีส่วนร่วมการผ่าตัดหัวใจด้วยการใช้หุ่นยนต์

Wayne Steinard ผู้รับเหมาชาวอเมริกันจาก Winter Haven รัฐฟลอริดา ซึ่งรวยเกินกว่าที่จะได้รับสวัสดิการสุขภาพจากรัฐที่เรียกว่า Medicaid แต่จนเกินกว่าที่จะสามารถทำประกันสุขภาพได้เดินทางไปยังกรุงนิวเดลี เมื่อเดือนพฤษภาคม เพื่อหวังจะผ่าตัดหลอดเลือดที่อุดตัน และใส่ stent ในหลอดเลือด เนื่องจากเขาไม่มีเงินถึง 60,000 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายของการผ่าตัดดังกล่าวในสหรัฐฯ เขาจึงได้ติดต่อ PlanetHospital ตัวแทนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพใน Malibu รัฐแคลิฟอร์เนีย และได้รู้ว่า เขาสามารถจะใช้เงินเพียงหนึ่งในสิบก็สามารถจะเข้ารับการผ่าตัดได้ในโรงพยาบาล Max Healthcare's Devki Devi Heart & Vascular Institute ในอินเดีย

แต่เมื่อมาถึงอินเดีย การณ์กลับไม่เป็นดังที่ Steinard คิด เพราะแพทย์ตรวจร่างกายเขาแล้วพบว่า หลอดเลือดของเขาอุดตันถึงร้อยละ 90 และจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดบายพาส 2 ที่โดยด่วน Steinard รู้สึกตกใจ เพราะไม่ได้ทำใจมาก่อนว่า จะต้องรับการผ่าตัดที่ซับซ้อนถึงขนาดนี้เมื่อไม่ได้อยู่ในบ้านเกิด แต่เขาก็ไม่มีทางเลือก เพราะถ้าไม่ผ่าตัดตอนนี้ เขาก็อาจจะต้องหัวใจวายถึงแก่ชีวิตได้เมื่อกลับไปสหรัฐฯ ผลปรากฏว่า ผลการผ่าตัดประสบความสำเร็จ ด้วยค่าใช้จ่ายเพียง 6,650 ดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม การที่อินเดียเป็นเพียงประเทศกำลังพัฒนา เป็นความจริงที่อาจสั่นคลอนความเชื่อมั่นของผู้ป่วยจากชาติตะวันตก นอกจากนี้สภาพแวดล้อมทางสังคมในอินเดียก็อาจทำให้ชาวตะวันตก พากันเมินการเดินไปทางไปเข้าโรงพยาบาลที่นั่น โดยเฉพาะคนที่รู้ว่า กฎหมายอินเดียยังอ่อนในเรื่องการฟ้องร้องแพทย์และคุ้มครองคนไข้ ซึ่งนั่นก็คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ค่ารักษาพยาบาลในอินเดียถูกกว่า

อย่างไรก็ตาม ผู้เกษียณอายุที่ South Texas และ Arizona ในสหรัฐฯ กำลังทำให้เมืองเล็กๆ อย่าง Nuevo Progreso ซึ่งมีประชากรเพียง 9,125 คนต่อทันตแพทย์ 70 คน ใน Lower Rio Grande Valley และเมือง Los Algodones ซึ่งมีประชากรเพียง 15,000 คน ต่อแพทย์และทันตแพทย์ 250 คน และตั้งอยู่ใกล้กับเมือง Yuma รัฐ Arizona กลายเป็นศูนย์ทันตแพทย์ที่คึกคัก และอาจทำให้ Los Algodones สามารถดึงดูดรายได้มากกว่า 150 ล้านดอลลาร์ในช่วงฤดูหนาว จากการที่ผู้สูงอายุที่ปลดเกษียณแล้วจาก Minnesota และแคลิฟอร์เนีย ต่างเดินทางไปยังเมืองเล็กๆ ในเม็กซิโกเหล่านั้น ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำ เพื่อไปทำฟัน

ในขณะที่ Health Net และ Blue Shield 2 บริษัทประกันสุขภาพ ต่างแข่งกันเสนอแผนประกันสุขภาพยอดนิยม ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่ชาวละตินในอเมริกา ซึ่งเก็บเบี้ยประกันต่ำ และให้ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลทั้งในสหรัฐฯ และเม็กซิโก

ในขณะที่อุตสาหกรรมการรักษาพยาบาลในเม็กซิโกเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ แต่ในอินเดียกำลังเข้าสู่ยุครุ่งเรือง ไม่ต่างอะไรกับการที่อินเดียกำลังรุ่งเรืองกับการเป็นแหล่งของการรับ outsource งานด้านซอฟต์แวร์และอื่นๆ ให้แก่สหรัฐฯ และชาติตะวันตก Apollo Hospitals ซึ่งเป็นหนึ่งในเชนโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยมีโรงพยาบาลในเครือ 46 แห่งใน 3 ประเทศ และ Wockhardt Hospitals Group ซึ่งมีโรงพยาบาล 8 แห่งในอินเดีย กำลังร่วมมือกับตัวแทนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่าง IndUShealth, PlanetHospital และ Medical Tourist Co. ในอังกฤษ ในการสร้างธุรกิจส่งชาวตะวันตกไปรับการรักษาในอินเดีย

ส่วนนายแพทย์ Trehan แห่งโรงพยาบาล Escorts ของอินเดีย ก็มีแผนจะเริ่มก่อสร้างส่วนแรกของโรงพยาบาลเฉพาะทาง Escorts มูลค่า 250 ล้านใกล้กับกรุงนิวเดลีในปีหน้า โดยการร่วมลงทุนกับ GE โดยโรงพยาบาลแห่งใหม่นี้จะมีทั้งโรงแรมและภัตตาคารหรูหราอยู่ภายในสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว ขณะที่ Max Healthcare ก็มีแผนจะสร้างโรงพยาบาลเชี่ยวชาญเฉพาะทางในเมืองหลวงของอินเดียเช่นกัน

ด้านบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในชาติตะวันตก ซึ่งทำธุรกิจพาผู้ป่วยชาวตะวันตกไปรับการรักษาในต่างประเทศก็พลอยได้รับอานิสงส์รุ่งเรืองไปตามกันด้วย อย่างเช่นในแคนาดา ซึ่งมีบริษัทตัวแทนประเภทนี้ผุดขึ้นถึง 8 แห่ง

อย่างไรก็ตาม แม้บริษัทหลายแห่งในสหรัฐฯ จะกำลังเล็งไปที่คนอเมริกันประมาณ 61 ล้านคน ที่ไม่มีประกันสุขภาพหรือมีคุ้มครองไม่ทั่วถึง แต่บริษัทประกันของสหรัฐฯยังคงกลัวความไม่แน่นอนเกี่ยวกับเรื่องกฎเกณฑ์และกฎหมาย แต่เมื่อวิกฤติค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในสหรัฐฯ มีแต่จะหนักหนาขึ้นเรื่อยๆ บริษัทซึ่งเป็นผู้แบกภาระค่าใช้จ่ายนี้ คงจะไม่อาจต้านทานแรงจูงใจที่จะส่งพนักงานไปรับการรักษาในต่างประเทศ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าอย่างมากได้

เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
จากไทม์ ฉบับกรกฎาคม 31, 2006   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us