ครึ่งแรกปี49 บริษัทจดทะเบียนรวมพลังนำตลาดหลักทรัพย์กำไร 2.7 แสนล้าน ขยายตัว 7% เป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆมาซึ่งเติบโตเกิน10%มาอย่างต่อเนื่อง ปตท.คว้าตำแหน่งกำไรสูงสุดไปครองตามคาดรายเดียว 5.5หมื่นล้าน ด้าน เอ็มเอไอ มีถึง 8 ใน 37 บริษัทที่กำไรกระโดดขึ้นเกิน 100%
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ประกาศ ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ประจำงวด 6 เดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2549 ว่า บริษัทจดทะเบียน ทั้งในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (MAI) ได้นำส่งงบการเงินแล้วจำนวน 499 บริษัท หรือคิดเป็น 97% จากจำนวนทั้งสิ้น 516 บริษัท
สุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นำส่งงบ 462 บริษัท จากทั้งหมด 479 บริษัท ยอดขายรวมทั้งสิ้น 2,698,551 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 22% กำไรสุทธิรวม 272,596 ล้านบาท เพิ่ม 7% และบริษัทที่มีผลกำไรสุทธิรวม 377 บริษัท คิดเป็น 82%
ทั้งนี้ บริษัทในกลุ่ม SET50 มีกำไรสุทธิ 212,304 ล้านบาท คิดเป็น 78% ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน รวม ยอดขายเพิ่มขึ้น 27% มีกำไรขั้นต้น 23% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 13% บริษัททกลุ่ม SET100 กำไรสุทธิ 224,751 ล้านบาท คิดเป็น 82% ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ทั้งหมด ยอดขายเพิ่มขึ้น 27% กำไรขั้นต้น 22% และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 13%
สำหรับบริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุด 5 อันดับแรก คือ
1. บมจ.ปตท. (PTT) มีกำไรสุทธิรวม 55,381 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 25% เนื่องจากบริษัทมียอดขายที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาขายผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก และผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน นอกจากนี้ยังมีกำไรจากการขายหุ้นใน บมจ.โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (RRC)
2. บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มีกำไรสุทธิรวม 17,178 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 8 % จากผลการดำเนินงานที่ลดลงของธุรกิจเคมีภัณฑ์ ธุรกิจซิเมนต์ และธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง และต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น
3. บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม(PTTEP) มีกำไรสุทธิ 15,116 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 55% ด้วยยอดขายของบริษัทที่เพิ่มขึ้น
4. บมจ.ไทยออยล์ (TOP) มีกำไรสุทธิ 10,971 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 52% เป็นผลจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นค่อนข้างมาก
5. บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) มีกำไรสุทธิ 9,415 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 5% เนื่องจากบริษัทมีการลดราคาค่าบริการ เพื่อดึงลูกค้ากลุ่มใหม่และรักษาฐานลูกค้าเดิม
ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group) จำนวน 437 บริษัท (ไม่รวมบริษัทจดทะเบียน ที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน (NC) และบริษัทจดทะเบียน ในกลุ่มที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (NPG)) กำไรสุทธิรวม 259,901 ล้านบาท คิดเป็น 95% ของกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน ทั้งหมด
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไร 3 อันดับสูงสุดคือ กลุ่มทรัพยากร (หมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่) กำไรสุทธิ 101,040 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18% กลุ่มธุรกิจการเงิน (หมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต) กำไรสุทธิ 52,030 ล้านบาท ลดลง 9% และกลุ่มบริการ (หมวดพาณิชย์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดบริการเฉพาะกิจ และหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ ) กำไรสุทธิ 31,370 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 50%
หากการพิจารณากำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน รวมครึ่งปีแรกจำนวน 272,596 ล้านบาท อัตราการขยายตัวที่ 7% เป็นอัตราการขยายตัวที่ลดลง จากปี 2546-2548 ที่มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 52% , 44% และ 14% ตามลำดับ
สำหรับบริษัทจดทะเบียนที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน (Non-Compliance : NC) และบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด (Non-Performing Group : NPG) จำนวน 33 บริษัท นำส่งงบการเงินจำนวน 25 บริษัท
โดยบริษัทที่ขึ้นเครื่องหมาย NC ในหมวดธุรกิจปกติ มีการนำส่งงบการเงิน 15 จาก 16 บริษัท รวมกำไรสุทธิ 12,569 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 3.3 เท่า เนื่องจากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้ที่เพิ่มขึ้น 4 เท่า และมียอดขายเพิ่มขึ้น 22% ส่วนบริษัทในกลุ่ม NPG 17 บริษัทมีการนำส่งงบการเงินจำนวน 10 บริษัท กำไรสุทธิรวม 126 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 98 % จากกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และยอดขายลดลง
ทั้งนี้สรุปสถานะการฟื้นฟูกิจการของบริษัทในกลุ่มนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มค.49 ถึงวันที่ 16 สค.49 ยังไม่มีบริษัทใดที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน (NC) เพิ่มเติม ส่วนบริษัทที่พ้นเกณฑ์อาจถูกเพิกถอนและหลักทรัพย์ได้กลับไปซื้อขายได้ตามปกติ 9 บริษัท ได้แก่ บมจ.โรงพิมพ์ตะวันออก (EPCO) , บมจ.เอเวอร์แลนด์ (EVER) , บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วิศวการ (IFEC) บมจ.พรีเมียร์ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เทคโนโลยี่ (PE&T ) , บมจ.ปรีชากรุ๊ป (PRECHA) , บมจ.สยามอุตสาหกรรมการเกษตรสัปปะรดและอื่น ๆ (SAICO) , บมจ.ไทยฮีทเอ็กซ์เช้นจ์ (THECO) , บมจ.ไทยนามพลาสติกส์ (TNPC) , บมจ.ไทยไวร์โพรดัคท์ (TWP)
ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน ในตลาดเอ็มเอไอ นั้น นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) กล่าวว่า บริษัทจดทะเบียน ทั้ง 37 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 649 ล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจดทะเบียน ที่มีกำไรสุทธิ 32 บริษัท และขาดทุนสุทธิอีก 5 แห่ง ขณะที่ยอดขายรวมทั้งสิ้น 12,878 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนที่มียอดขาย 11,611 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11% ทว่ามีบริษัทจดทะเบียนถึง 8 แห่งที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเกิน 100%
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 3 เดือนประจำไตรมาส 2 ปี 2549 บริษัทใน mai มียอดขายรวมทั้งสิ้น 6,759 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 6,116 ล้านบาทในงวดเดียวกันปีก่อน 11% โดยมีกำไรสุทธิ 338 ล้านบาท
บริษัทที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิสูงสุดประจำครึ่งปีแรกในตลาดเอ็มเอไอ 3 บริษัทแรกคือ บมจ. อินเตอร์เนชั่นแนลรีเสริช คอร์ปอเรชั่น (IRCP)กำไรสุทธิ 64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน 598% บมจ. ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น (TRC) กำไรสุทธิ 25 ล้านบาท โตขึ้น 565% และ บมจ. บรุ๊คเคอร์ กรุ๊ป (BROOK) ที่พลิกจากการขาดทุนสุทธิในปีก่อน 13 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิ 35 ล้านบาท
จากบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 32 บริษัท ได้มีบริษัทที่มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ 16 บริษัท โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยประมาณ 184% ทั้งนี้มีบริษัทจดทะเบียนถึง 8 บริษัท ที่อัตราเติบโตของกำไรสุทธิเกิน 100%
แม้ว่าบริษัทจดทะเบียนจะสามารถทำยอดขายเพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรก แต่ก็ต้องยอมรับว่าผลประกอบการของบริษัทที่อยู่ในภาคการผลิตมีกำไรสุทธิลดลง เนื่องมาจากต้นทุนขายที่เพิ่มขึ้น อันเป็นผลจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบในการผลิต ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนของแร่โลหะ, เม็ดพลาสติก น้ำมันเชื้อเพลิง และดอกเบี้ย ที่มีแนวโน้มการปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด
|