|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กสท อัปยศ เตรียมเสนอบอดร์ก่อนชง ครม.ยกโครงข่าย CDMA 51 จังหวัด ให้ "ฮัทช์" ใช้ฟรี สตง.แฉซ้ำมีขบวนการเอาเปรียบ กสท ส่งรายได้ต่ำกว่าจริง เหตุผ่องถ่ายเงินไปสวาปามผ่าน BFKT ทั้งๆ ที่ควรจะทำโครงการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน ซึ่งรัฐได้รับผลตอบแทนมากกว่า น.พ.สุชัยจี้บอร์ด กสท สางปัญหา "ประจิณ" เสนอรับเข้าวาระด่วนประชุมบอร์ดวันนี้
กรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือด่วนมากถึงประธานกรรมการบริษัท กสท ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการดำเนินโครงการให้บริการเซลลูล่า CDMA ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคของ กสท ที่ได้ทำสัญญาไม่เป็นธรรมส่อไปในทางเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ได้แก่ บริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด (Hutch) รวมทั้งบริษัท BFKT จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของบริษัท ฮัทช์ นั้น แหล่งข่าวจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ คงเกิดจาก กสท กำลังมีนโยบายที่จะยกสถานีโครงข่าย CDMA ในส่วนภูมิภาค จำนวน 51 จังหวัด ให้บริษัท ฮัทช์ ใช้งานได้แบบไม่คิดค่าบริการ และกำลังเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท กสท ชุดใหม่พิจารณา ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติในเร็วๆ นี้
ด้านแหล่งข่าว สตง. กล่าวเห็นด้วยกับประเด็นดังกล่าว พร้อมยืนยันว่า สตง.จะต้องเข้าไปตรวจสอบโครงการดังกล่าว เนื่องจากเป็นโครงการที่มีลักษณะของการร่วมทุนกันระหว่างภาครัฐกับบริษัทเอกชน ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 เพราะเป็นโครงการที่มูลค่าสูงเกินกว่า 1,000 ล้านบาทขึ้นไป แต่กลับพบว่าในโครงการนี้ กสท ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนรายหนึ่ง ได้แก่ บริษัท BFKT ที่เป็นเครือข่ายของบริษัท ฮัทช์ ในการทำระบบ ขณะเดียวกันก็ได้ว่าจ้างบริษัท ฮัทช์ เป็นผู้ทำการตลาด ส่วนค่าจ้างที่ปกติแล้ว กสท ต้องเป็นคนจ่ายค่าระบบนั้น ได้มีการทำสัญญาให้บริษัท ฮัทช์ เป็นผู้จ่ายแทน
"รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นจะอยู่ที่บริษัท ฮัทช์ แต่ปัจจุบันปรากฏว่าบริษัท ฮัทช์ ไม่มีกำไร และยังขาดทุนปีละกว่า 20,000 ล้านบาท จากการดำเนินงานในโครงการนี้ ทำให้ภาครัฐได้กำไรส่วนแบ่งเพียงเล็กน้อย ไม่ถึง 20% ของผลกำไรของบริษัท ฮัทช์ โดยพบว่ากำไรส่วนใหญ่ไปตกอยู่ที่บริษัท BFKT ซึ่งไม่ได้ทำสัญญาแบ่งกำไรให้ กสท แต่จะให้กับบริษัท ฮัทช์ ซึ่งเป็นบริษัทเครือข่ายเดียวกัน อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบกับการทำโครงการแบบเต็มรูปแบบตามที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงาน หรือดำเนินการในกิจการของรัฐฯ ระบุไว้ จะทำให้ภาครัฐได้รับผลตอบแทนมากกว่านี้หลายเท่าตัว"
แหล่งข่าว สตง. กล่าวว่า ความผิดปกติในโครงการนี้ก็คือ ถ้าพิจารณาจากโครงการลงทุนในด้านสื่อสารโทรคมนาคมนี้แล้ว ภาครัฐควรจะได้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่านี้ เพราะคลื่นความถี่ถือว่าเป็นของราชการ แต่สัญญาดังกล่าว กลับปล่อยให้เอกชนเข้ามาหาประโยชน์เข้าตัวมากกว่า รวมถึงการที่ กสท เตรียมจะยกพื้นที่สถานีเครือข่ายในต่างจังหวัดให้บริษัท ฮัทช์ ใช้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่งถือว่าเป็นการเบียดบังเอาผลประโยชน์จากรัฐ และถือว่าเป็นการเลี่ยงกฎหมาย ในลักษณะที่เหมือนเป็นการไซฟ่อนเงินที่ควรจะให้ภาครัฐไปให้แก่บริษัทลูกของบริษัท ฮัทช์ ซึ่งก็คือ บริษัท BFKT นั่นเอง
นอกจากนี้ สตง. ยังสงสัยว่า กรณีที่ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาสัญญาทำการตลาดบริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital CDMA และสัญญาเช่าโครงข่ายขึ้นมาทำการตรวจสอบ และได้มีสรุปตีความออกมาเป็นที่ยุติแล้วว่า สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่ผิดกฎหมาย จึงอยากทราบว่า กสท ดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร รวมทั้ง อยากทราบว่าทาง กสท ได้ไปกำชับให้บริษัท BFKT ทำการปรับปรุง (Upgrade) ระบบหรือไม่ และต่อไป กสท จะมีนโยบายบริหารการตลาดเองหรือไม่ เพราะการที่ให้บริษัท ฮัทช์ ทำการตลาดให้นั้น ถือว่าผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ
ทั้งนี้ สตง.ได้ทำหนังสือด่วนมาก ถึงประธานกรรมการ กสท เมื่อวันที่ 22 ส.ค.2549 ที่ผ่านมา เพื่อให้ชี้แจงข้อสงสัยที่อาจทำให้ กสท เสียประโยชน์ให้แก่บริษัทเอกชนเป็นเงินตกปีละกว่า 10,000 ล้านบาท รวมทั้งอาจเป็นการเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 โดยให้เร่งตอบกลับภายในวันที่ 31 ส.ค.นี้
น.พ.สุชัยจี้บอร์ด กสท สางปัญหา
น.พ.สุชัย เจริญรัตนกุล รองนายกรัฐมนตรีและรักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้คณะกรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม ทำการตรวจสอบอย่างเร่งด่วนถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงประธานบอร์ด กสท เพื่อให้ชี้แจงโครงการ ซีดีเอ็มเอ (CDMA) ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เนื่องจากมีความสงสัยว่า การดำเนินโครงการส่อแววไม่โปร่งใส และทำให้ กสท เสียประโยชน์เอกชนปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท รวมทั้งอาจจะเป็นการเลี่ยงพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535
“ตอนนี้เพิ่งจัดตั้งบอร์ดใหม่ จึงอาจจะทำให้การพิจารณาเรื่องนี้ล่าช้าได้ แต่ผมได้มอบหมายแจ้งให้บอร์ดเร่งดำเนินการเรื่องนี้โดยเร็วแล้ว โดยสั่งให้ดำเนินการตามกฎหมายยึดตามหลักการที่ถูกต้อง”
ส่วนการเจรจากับทางฮัทช์ กสท จะต้องดำเนินการให้เข้าใจ และเป็นไปตามหลักกฎหมาย โดยไม่ให้เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ต่อการที่จะเข้ามาดำเนินธุรกิจร่วมกับหน่วยงานของรัฐ รวมถึงการเสียประโยชน์ของหน่วยรัฐระหว่างเอกชนที่เข้าร่วมลงทุนร่วมกัน
นายประจิณ เขจรนันท์ กรรมการ (บอร์ด) กสท กล่าวว่า รายละเอียดต่างๆ ที่ สตง.ขอให้ชี้แจง ทาง กสท จะดำเนินการส่งเอกสารให้ สตง.พิจารณาตามระยะเวลาที่กำหนด และยืนยันว่าแม้ผลการพิจารณาจะสรุปออกมาในรูปแบบนี้ การเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอจะต้องดำเนินการต่อไป ส่วนการตรวจสอบการดำเนินงานกับผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าวนั้น คงต้องดูเจตนาด้วยว่าการอนุญาตให้ฮัทช์ ทำตลาดโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอมีวัตถุประสงค์อะไร ซึ่งจะต้องหารือกันในระดับบอร์ดด้วย แต่เชื่อว่าสิ่งที่ดำเนินการก่อนหน้านี้ไม่มีเจตนาเลี่ยงกฎหมาย และมุ่งจะเร่งสร้างรายได้ทางธุรกิจให้กับองค์กรในธุรกิจใหม่และอยู่ภายใต้การดูแลของตนเอง
ทั้งนี้ การเปิดให้บริการโทรศัพท์มือถือซีดีเอ็มเอเกิดขึ้นมานานแล้ว ซึ่งในสมัยนั้น กสท พยายามหาพันธมิตรเพื่อทำธุรกิจร่วมกัน โดยไม่มีการพิจารณาว่าการดำเนินงานเป็นไปตาม พรบ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 หรือไม่ จึงปล่อยให้มีการดำเนินธุรกิจร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง
นายวัฒนะ เอี่ยมบำรุง ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ กสท กล่าวว่า หากกฤษฎีกาตีความออกมาแล้ว บอร์ดก็ต้องดำเนินการตามนั้นทันที โดยไม่จำเป็นต้องตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาเรื่องดังกล่าวอีก จึงสงสัยว่าเรื่องดังกล่าวเป็นจริงแค่ไหน โดยคาดว่าในการประชุมบอร์ดวันนี้จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือด้วย
|
|
|
|
|