*1 กันยายน 2549 เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไทยถึงจุดเปลี่ยนสู่เลข 10 ดิจิ
*ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม กด 08 ตามเลขหมายเดิม กทช.ให้เวลาปรับตัว 3 เดือน
*โอเปอเรอเตอร์ต่างทุ่มเม็ดเงินนับ 100 ล้าน ปรับเครือข่าย เพิ่มบริการเปลี่ยนเลขให้ลูกค้าในระบบ
*กทช.ฉวยโอกาสยึดอำนาจเบ็ดเสร็จจัดสรรเลขหมาย แย้มร่างจัดสรรเลขหมายชั่วคราวฉบับที่ 2 ดัดหลังโอเปอเรเตอร์เต็มๆ
หลังเที่ยงคืนของวันที่ 31 สิงหาคมศกนี้เป็นต้นไป การโทร.หาเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ ผู้โทร.จะต้องกด 08 ตามด้วยกลุ่มเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิม เช่น 09-111-1111 เป็น 08-9111-1111 การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้เป็นผลมาจากมติของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกทช. ที่ต้องการเพิ่มจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อรองรับความต้องการใช้งานเลขหมายได้นานถึง 30 ปี โดยการเพิ่มเลขหมายเป็น 10 หลักในครั้งนี้ ทำให้ประเทศไทยมีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านเลขหมาย
การเปลี่ยนแปลงเลขหมายโทรศัพท์ในประเทศไทยได้เกิดขึ้นมาแล้ว เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ในคราวนั้นเป็นการเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์ทั้งที่เป็นโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์เคลื่อนที่จากเลข 7 หลักมาเป็น 9 หลัก สาเหตุในการเปลี่ยนครั้งนั้นคล้ายคลึงกับครั้งนี้ "ปัญหาเลขหมายขาดแคลน
การใช้เลขหมาย 10 หลักสำหรับเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น ผลกระทบที่ตามมานั้นนัยยะที่แตกต่างกันไป
พฤติกรรมใหม่
ผลกระทบต่อผู้บริโภค ที่เห็นชัดเจนคือ เรื่องของพฤติกรรมการโทร.ของผู้บริโภคคนไทย ต่อไปผู้ที่ใช้บริการโทรศัพท์ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์พื้นฐานหรือโทรศัพท์เคลื่อนที่หากมีความต้องการที่จะโทร.ไปยังเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ผู้ใช้จะต้องกด 08 เพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงแรกตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้รวมเวลา 3 เดือนเต็ม ผู้ใช้ที่โทร.มายังเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังสามารถโทร.ในรูปแบบเดิมได้ แต่วันที่ 1 ธันวาคมศกนี้เป็นต้นไป ผู้โทร.จะต้องกด 08 ตามด้วยเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ต้องการโทร.
โอเปอเรเตอร์พร้อม
การเตรียมความพร้อมในการอำนวยความสะดวกลูกค้าของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ ที่จะต้องลงทุนในการปรับระบบในเครือข่าย
จากการเปิดเผยของสันติ เมธาวิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็กเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคถึงการเตรียมความพร้อมในการรองรับเลขหมาย 10 หลักในครั้งนี้ว่า ทางดีแทคได้ใช้เงินกว่า 100 ล้านบาท เนื่องจากการเปลี่ยนในครั้งนื้ถือเป็นเรื่องใหญ่พอสมควร เพราะกระทบการใช้งานของคนกว่า 30 ล้านคน ในทางเทคนิคแล้ว ทางดีแทคทำการทดสอบระบบเป็นที่เรียบร้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชุมสาย ระบบบิลลิ่ง เรียกว่า ดีแทคพร้อมเปลี่ยนมาใช้เลขหมาย 10 หลักในวันที่ 1 กันยายนศกนี้
ส่วนการให้บริการเปลี่ยนเลขหมายให้กับลูกค้าของดีแทค สันติบอกว่า ได้เตรียมอุปกรณ์กว่า 700 ชุดประกอบด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ การ์ดรีดเดอร์ อุปกรณ์ต่อพ่วงและซอฟท์แวร์สำหรับการอัพเกรดซิมการ์ด โดยจะแบ่งเป็น 350 ชุดให้บริการที่ศูนย์บริการของดีแทคที่มีอยู่ 23 แห่ง กับร้านดีแทคช็อปทั่วประเทศ 312 แห่ง อีก 350 ชุดสำหรับให้บริการแบบเคลื่อนที่โดยมุ่งตรงไปยังกลุ่มลูกค้าองค์กรที่มีฐานผู้ใช้บริการของดีแทคจำนวนมาก รวมถึงการนำไปให้บริการตามอาคาร สำนักงานต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล อีกทั้งยังติดตั้งไปกับรถโมบายเพื่อเข้าไปให้บริการตามสถานที่ต่างๆ อาทิ สถานที่ราชการ มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ
สิ่งที่จะต้องแก้ไขในเครื่องโทรศัพท์ของผู้ใช้บริการก็คือ การแก้ไขโฟนบุ๊กทั้งที่อยู่ในซิมการ์ดกับในตัวเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากลูกค้าของดีแทคเข้ามาใช้บริการที่ศูนย์บริการหรือร้านดีแทคช้อป หรือรถโมบาย ทางเจ้าหน้าที่ก็จะทำการอัพเดทซิมการ์ดและโฟนบุ๊กในเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เลขหมายที่เก็บไว้เปลี่ยนเป็น 10 หลัก รวมทั้งแก้ไขหมายเลขแมสเซสเซ็นเตอร์สำหรับการส่งเอสเอ็มเอสให้เป็นเลข 10 หลักด้วย
"การเปลี่ยนแปลงเลขหมายของลูกค้าแต่ละรายน่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที ถ้าลูกค้าที่ต้องการแก้ไขเอง เครื่องลูกข่ายนั้นจำเป็นต้องรองรับระบบปฎิบัติการซิมเบียน ด้วยการดาวน์โหลดโปรแกรม 10 Digits Converter ที่เปิดให้บริการดาวน์โหลดฟรีที่ www.dtac.co.th หรือที่ www.happy.co.th หรือโทร.มาที่คอลเซ็นเตอร์ 1678 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งยูอาร์แอลผ่านเอสเอ็มเอสมาที่โทรศัพท์เคลื่อนที่และดาวน์โหลดผ่านเครือข่ายจีพีอาร์เอส/เอ็ดส์"
สนติยังบอกอีกว่า ขีดความสามารถในการให้บริการของดีแทคประมาณ 1 ล้านคนต่อเดือน ซึงลูกค้าที่เก็บเลขหมายโทรศัพท์ในโฟนบุ๊กมากกว่า 50 เลขหมายมีอยู่ประมาณ 3 ล้านคน ลุกค้าที่ใช้มือถือที่เป็นซิมเบียนประมาณ 1 ล้านคน
ทางด้านฐิติพงศ์ เขียวไพศาล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานการตลาดกลุ่มลูกค้าทั่วไป บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสได้เตรียมความพร้อมทั้งทางเทคนิคและการให้บริการแบบ โทเทิ่ลโซลูชั่นสำหรับลูกค้าของเอไอเอสกว่า 17 ล้านราย ที่จัดเก็บข้อมูลไว้ในซิมการ์ดและเครื่องมือถือ
"ฝ่ายเทคนิคได้ทำการทดสอบได้ทำการทดสอบการให้บริการด้านเสียงและข้อมูล เช่น การโทร.เข้า-ออกด้วยเสียง ส่งเอสเอ็มเอส การให้บริการเสริมผ่านจีพีอาร์เอส ซึ่งพร้อมให้บริการวันที่ 1 กันยายนนี้"
โปรแกรมที่เอไอเอสพัฒนาขึ้นมาสามารถจำแนกประเภทเลขหมายโทรศัพท์ที่บันทึกไว้ได้ว่า เลขหมายใดเป็นเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เลขหมายโทรศัพท์บ้านหรือเลขหมายพิเศษ โดยโปรแกรมจะแก้ไขข้อมูลในส่วนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น พร้อมให้บริการอัพเดทเลขหมายเอสเอ็มเอส แมสเซส เซ็นเตอร์ เลขหมายตั้งค่าการรับส่งเอสเอ็มเอสจาก 9 หลักเป็น 10 หลักเพื่อให้ลูกค้าส่งเอสเอ็มเอสได้ปกติ รวมทั้งการให้บริการส่งเลขหมายการตั้งค่าไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ของลูกค้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งมือถือที่สามารถรับบริการดังกล่าวมีถึง 60% ของโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่วางขายในตลาด
ฐิติพงศ์ เขียวไพศาลยังบอกอีกว่า ลูกค้าเอไอเอสที่ใช้ซิมรุ่นเก่า สามารถเปลี่ยนเป็นซิมการ์ดรุ่นใหม่พร้อมเปลี่ยนข้อมูลเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็น 10 หลักที่สำนักงานบริการเอไอเอสทุกสาขา วัน-ทู-คอล!ช้อป เซเรเนดคลับ ร้านเทเลวิซและเทเลวิซเอ็กซ์เพลสรวมกว่า 600 แห่งทั่วประเทศโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนผู้ที่ใช้โทรศัพท์มือถือที่รองรับระบบปฎิบัติการซิมเบี้ยนสามารถดาวน์โหลดโปรแกรมเปลี่ยนเลขหมาย 10 หลักได้ที่ www.ais.co.th
ทางด้านสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ ผู้อำนวยการด้านการตลาดและการบิรหารความสัมพันธ์กับลูกค้า บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกํด (มหาชน) ได้กล่าวถึงความพร้อมของทรูมูฟว่า ทางด้านเทคนิคแล้ว ทรูมูฟได้ทดสอบจนมั่นใจว่า สามารถให้บริการปรับเปลี่ยนการเรียกเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้อย่างสมบูรณ์ ขณะนี้ลูกค้าในเครือข่ายทรูมูฟทุกรายสามารถโทร.ถึงกันในโครงข่ายโดยใช้เลขหมาย 10 หลักได้แล้ว และสามารถโทร.เข้าโครงข่ายอื่นๆ ในระบบ 10 หลักได้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนศกนี้
สำหรับเลขหมายโทรศัพท์ที่บันทึกไว้ในสมุดโทรศัพท์ ลูกค้าสามารถเปลี่ยนเลขหมายเป็น 10 หลักได้ง่ายๆ ด้วยตนเอง เพิยงเติมเลข 8 หลังเลข 0 ตัวหน้าแล้วตามด้วยเลขหมายโทรศัพท์เดิม หรือหากต้องการความสะดวก ทรูมูฟมีพนักงานบริการเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์ที่บันทึกไว้ในสมุดโทรศัพท์ให้กับลูกค้าได้ทุกระบบ ที่สำคัญลูกค้าทรูมูฟจะได้รับบริการอย่างครบถ้วน พร้อมบริการพิเศษ อาทิ บริการโหลดเมนู ทรู มันนี่ ซึ่งสามารถรับบริการได้ที่ทรูมูฟช้อป ทรูช้อป ตัวแทนจำหน่ายของทรูมูฟที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการกว่า 300 แห่งทั่วประเทศและรถบริการเคลื่อนที่ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายนเป็นต้นไป
ปฏิบัติการเบ็ดเสร็จ
การปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศเป็น 10 หลักในครั้งนี้ของกทช. หากดูผิวเผินเหมือนกับเป็นเจตนาดีที่ทางกทช.ต้องการเข้ามาแก้ปัญหาขาดแคลนเลขหมายโทรศัพท์ในอนาคต เพราะจากการเพิ่มเลขหมายในกลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่หมวด 08 จาก 9 หลักเป็น 10 หลักทำให้มีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มขึ้นเป็น 100 ล้านเลขหมาย
ปัจจุบันเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่กระจายอยู่ในมือของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ทั้งหมด 55,670 เลขหมาย แบ่งเป็นเลขหมายของเอไอเอส 24,190 เลขหมาย ดีแทค 15,770,000 เลขหมาย ทรูมูฟ 10,000,000 เลขหมาย บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) 3,280,000 เลขหมาย ดิจิตอลโฟน 1,200,000 เลขหมาย ไทยโมบาย 1,000,000 เลขหมาย บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) 210,000 เลขหมายและเอเชียส โทรศัพท์เคลื่อนที่ผ่านดาวเทียม จำนวน 20,000 เลขหมาย แต่มีเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการใช้งานจริงอยู่ประมาณ 33-35 ล้านเลขหมายเท่านั้น
ด้วยจำนวนดังกล่าว บวกกับจำนวนเลขหมาย 30 ล้านเลขหมายที่ทางกทช.จะเก็บไว้เป็นเลขหมายสำรอง ทำให้เหลือเลขหมายที่สามารถให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยื่นขอเลขหมายไปใช้ในการประกอบการได้ประมาณ 14 ล้านเลขหมาย
ด้วยเหตุดังกล่าว ทางกทช.จึงได้จัดทำร่างประกาศคณะกรรมการกจิการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยหลักเกณฑ์เพิ่มเติมในการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมชั่วคราว (ฉบับที่ 2) สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเลขหมายจาก 9 หลักเป็น 10 หลัก และใช้เป็นแนวทางในการจัดสรรเลขหมายให้เกิดความเพียงพอต่อการนำไปใช้งานของกลุ่มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเป็นการปรับแก้การยื่นขอรับเลขหมาย พร้อมค่าธรรมเนียมใหม่ เพื่อให้การจัดสรรนั้นสามารถดำเนินการได้คล่องตัว และจัดสรรได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการของทุกฝ่าย
เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ หนึ่งในคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติได้กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากที่เริ่มต้นใช้เลขหมาย 10 หลักว่า ผู้ให้บริการทุกรายที่มีเลขหมายอยู่ ต้องทำหนังสือขอการจัดสรรใหม่เข้ามาที่ กทช. เพื่อเป็นการจัดระเบียบใหม่ตามมาตรา 11, 12, 13 และ 14 พระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ให้ กทช. เป็นผู้จัดสรรเลขหมายและผู้ได้รับจัดสรรใหม่ทุกราย ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมให้กับ กทช. โดยตรง
สาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับการปรับค่าธรรมเนียมเลขหมายสำหรับในกรณีที่ผู้ให้บริการรายเดิมที่ขอจัดสรรเลขหมายเพิ่ม 24 บาทต่อเลขหมายต่อปี ผู้ให้บริการที่ขอจัดสรรเลขหมายใหม่คิด 12 บาทต่อเลขหมายต่อปี ส่วนเลขหมายที่ไม่ใช้งานเกิน 120 วัน ต้องเสียค่าปรับ 120 บาทต่อเลขหมายต่อปี ซึ่งจะมีหลักเกณฑ์บังคับใช้ตามออกมาอีกครั้ง
"ร่างประกาศนี้ มีเจตนารมณ์ที่จะให้ผู้ให้บริการใช้งานเลขหมายอย่างคุ้มค่า ไม่มีการขอจัดสรรแล้วไม่นำไปใช้ และยังเป็นการส่งเสริมให้ผู้ให้บริการรายใหม่สามารถเกิดและแข่งขันได้ ส่วนผู้ให้บริการรายเดิมมีเลขหมายอยู่พอสมควรแล้ว และยังมีเลขหมายที่ไม่ได้ใช้ในตลาดอีกประมาณ 20 ล้านเลขหมาย ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าอยู่ที่ใด" ส่วนเลขหมายพิเศษ 3 หลักจะคิดอัตราค่าธรรมเนียม 12 ล้านบาทต่อเลขหมายต่อปี และเลขหมาย 4 หลัก คิด 1.2 ล้านบาทต่อเลขหมายต่อปี
อีกทั้งยังบอกถึงหลักเกณฑ์การยื่นของเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จะจัดสรรใหม่ โดยกำหนดให้โอเปอเรเตอร์ขอเลขหมายตามจำนวนกลุ่มหรือกลุ่มละ 10,000 เลขหมายการยื่นขอนั้นแล้วแต่จำนวนตามที่ต้องการนำไปใช้ เพื่อให้เลขหมายนั้นจัดสรรได้อย่างเป็นระบบ และไม่เกิดการข้ามหมวดใช้งาน
ส่วนการจัดสรร กทช. กำหนดให้โอเปอเรเตอร์จะต้องยื่นเอกสารพร้อมรายละเอียดในการนำไปใช้ ถึงความขาดแคลนและความจำเป็น โดยจะต้องยื่นขอได้ต่อเมื่อ เลขหมายไม่เพียงพอหรือมีจำนวนไม่ถึง 10% ซึ่งกทช. จะดำเนินการจัดสรรให้แล้วเสร็จได้ภายใน 21 วัน โดยเลขหมายที่ยื่นขอแล้วแต่จำนวนที่ต้องการนำไปใช้งานในตลาดกทช. ยังได้เปิดช่องทางการขอจัดสรรแบบเร่งด่วน ที่ผู้ขอจะได้รับเลขหมายไปใช้งานได้ภายใน 1 วันทำการโดยผู้ยื่นมีความขาดแคลนและมีความจำเป็นสามารถยื่นขอเลขหมายได้คราวละ 10,000 เลขหมาย โดยไม่ต้องยื่นเอกสารรายละเอียด
จากร่างประกาศดังกล่าว เมื่อใดที่กทช.ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะทำให้อำนวจในจัดสรรเลขหมายรวมถึงการเก็บค่าธรรมเนียมการใช้เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เปลี่ยนมือมาสู่หน้าที่ของกทช.โดยทันที นั้นหมายถึงว่า กทช.จะมีรายได้จากการเก็บค่าบำรุงเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่จัดสรรไปแล้วเป็นวงเงินสูงถึง 1,336,080,000 ล้านบาทต่อปีในกรณีที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเก่าต้องจ่ายค่าธรรมเนียมต่อเลขหมาย 24 บาทต่อปี ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินที่สูงไม่น้อย
จึงทำให้บทบาทของผู้ให้ใบอนุญาตสัญญาสัมปทานการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ลดบทบาทลงทันที เพราะนั้นเท่ากับว่า เป็นการยกเลิกโมเดลการขอเลขหมายเดิมที่เอกชนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่พ่วงไปกับรายได้ที่จะต้องจ่ายตามสัญญาสัมปทานที่ทำไว้กับหน่วยงานรัฐทั้งสองก่อนหน้าที่มีกทช.ลง
เรื่องนี้คงจะเป็นประเด็นถกเถียงของคู่สัญญา เอกชนที่รับสัมปทานการให้บริการจากหน่วยงานรัฐทั้งสองว่า จะแก้ไขสัญญาสัมปทานเดิมออกมาในรูปแบบไหน ที่แน่ๆ งานนี้ กทช.ยึดอำนาจการจัดสรรเลขหมายมาอยู่ในมือได้อย่างเบ็ดเสร็จ
|