|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เอกชนขานรับนโยบายเศรษฐกิจพอเพียง หลังประเมินพบไม่ขัดหลักสร้างกำไรสูงสุดทางธุรกิจ อีกทั้งยังเพิ่มศักยภาพบริษัทในยุคโลกาภิวัฒน์ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย ด้านคณะทำงานชุด "ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา" เดินหน้าขับเคลื่อนสู่องค์กรธุรกิจ ชู "4 Case study" ปูนซิเมนต์ไทย-แพรนด้า จิวเวอร์รี่-บ้านอนุรักษ์กระดาษสา-ชื่อไทย.คอม" เป็นต้นแบบที่น่าติดตาม!
เศรษฐกิจพอเพียงมิใช่อยู่แต่ในภาคเกษตร ตามหลักของการผลิตเพื่อกิน เหลือจึงขายเท่านั้น แต่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักที่จะทำให้สังคมมีความสุขได้อย่างแท้จริง แม้กระทั่งในภาคส่วนของการทำงานในภาคธุรกิจเอกชน!
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง ได้ตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงด้านองค์กรภาคธุรกิจเอกชนขึ้นมาเพื่อสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเอกชน พร้อม ๆ กับการรณรงค์ให้บริษัทเอกชนเหล่านั้นบริหารธุรกิจตามหลัก ธรรมาภิบาล เพราะเชื่อว่าทั้ง 2 เรื่องนี้ นอกจากจะทำให้สังคมไทยมีความสงบสุขแล้ว ยังจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศของไทยเพิ่มมากขึ้นด้วย
นักธุรกิจพร้อมปรับนโยบายองค์กรเน้นศก.พอเพียง
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า ในภาคธุรกิจเอกชนนั้นถือเป็นภาคส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญในการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ แต่ปัจจุบันยังไม่เข้าใจมากนักว่าหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจะนำมาใช้ในภาคธุรกิจได้อย่างไร ตรงนี้จึงต้องเผยแพร่ โดยคณะทำงานขับเคลื่อนในภาคธุรกิจเอกชนที่มี ดร.อาชว์ เตาลานนท์ เป็นประธานคณะทำงานนั้นได้แปลงหลักปรัชญาดังกล่าวออกมาเป็นรูปธรรมในการปฏิบัติ ได้แก่ การทำกำไรอย่างพอเพียง ยอมรับกำไรอย่างพอประมาณ และมีเหตุผล การใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารองค์กร คือมีความรับผิดชอบต่อสังคม หรือที่เรียกว่า Corporate Social Responsibility : CSR ด้านการมีส่วนร่วมของสังคม ความเสี่ยงของภาคธุรกิจ การเพิ่มทุนอย่างพอเพียง การลงทุนหรือร่วมทุนกับต่างประเทศอย่างพอเพียง ฯลฯ
"เรื่องนี้อธิบายได้ง่าย เช่น มีธุรกิจ 1000 ล้าน จะไปลงทุนก็ควรลงทุน 1000 ล้าน ไม่ใช่ไปกู้มา 10000 ล้าน หรือไม่ก็ลงทุนแค่ 10 ล้าน แบบนี้ไม่พอดี ไม่พอเพียง หลักเศรษฐกิจพอเพียงจึงนำมาใช้ในนโยบายการระดมทุนของบริษัทได้ คือพอประมาณ ไม่เสี่ยงเกินไป ใช้ความรอบคอบ การระดมทุนจากต่างประเทศก็เช่นกัน ทุนจากต่างประเทศต้องมาเทียบกับการระดมทุนภายใน ไม่พึ่งต่างประเทศมากเกินไป และถ้าพึ่งเทคโนโลยีหรือทุนต่างประเทศเพื่อให้บริษัทแข่งขันในตลาดโลกได้ ก็เป็นเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน คือไม่ปฏิเสธโลกาภิวัตน์ ที่สำคัญคือต้องไม่เกินกำลังขององค์กร"
ที่ผ่านมาจึงได้มีการจัดการประชุม Director Forum ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) วันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา ในประเด็นเศรษฐกิจพอเพียงกับการกำกับดูแลกิจการที่ดี และหลังจากมีการพูดคุย ได้มีการให้ CEO ของแต่ละบริษัทลงคะแนนว่ามีความคิดเห็นแต่ละเรื่องอย่างไร
สรุปได้ว่าร้อยละ 80 เข้าใจและเห็นว่าแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ขัดแย้งกับหลักการทำกำไรสูงสุดในทางธุรกิจ ร้อยละ 71 เห็นด้วยว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะทำให้บริษัทจะสามารถแข่งขันได้ โดยร้อยละ 90 เชื่อมั่นว่า การนำแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในบริษัทจะทำให้บริษัทสามารถก้าวทันโลกาภิวัตน์ได้ ส่วนร้อยละ 80 เห็นว่า การดำเนินธุรกิจตามแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจะช่วยให้การระดมทุนของบริษัทดีขึ้น ขณะที่ร้อยละ 84 เห็นว่า มูลค่าหุ้นของบริษัทดีขึ้น และร้อยละ 88 เชื่อว่าจะทำให้บริษัทสามารถดึงดูดผู้ลงทุนได้ดีขึ้นด้วย
"ผลที่ออกมาน่าทึ่งมาก เพราะเป็นการลงคะแนนลับ คนที่มาประชุมก็เป็นระดับ CEO ทั้งนั้น คุยกันรู้เรื่อง แค่ 10-15 นาที"
จากนั้นคณะทำงานชุดนี้ได้มีการไปจัดสัมมนาเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับภาคธุรกิจให้บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่มีกว่า 400 บริษัท และได้รับผลตอบรับที่ดีมาก มีบริษัทกว่า 85% จะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปทำนโยบายองค์กรด้วย
อภัยชนม์ วัชรสินธุ์ หนึ่งในคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง กล่าวว่า นอกจากคณะทำงานฯ จะเผยแพร่ข้อมูลให้กับบริษัทใหญ่ ๆ แล้ว คณะทำงานยังมีเป้าที่จะเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงไปให้กับบริษัทในส่วนนิติบุคคลที่มีอยู่กว่าแสนราย โดยคณะทำงานได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรม สมาคมธนาคาร ในการหาองค์กรตัวอย่าง หรือ case study เพื่อเป็นตัวอย่างกับบริษัทขนาดเล็กในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง และนำไปปรับใช้กับบริษัทของตัวเองด้วย
ศก.พอเพียงตั้งแต่ CEO ถึงพนักงาน
ขณะที่ สันติ วิลาศศักดา ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการคณะทำงานขับเคลื่อนฯ ด้านองค์กรภาคธุรกิจเอกชน กล่าวว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงในภาคธุรกิจเป็นเรื่องเข้าใจได้ไม่ยาก และหลายบริษัทได้ทำอยู่แล้วแต่ไม่รู้ว่าเรียกว่าเศรษฐกิจพอเพียง หลักเศรษฐกิจพอเพียงในบริษัทเอกชน สามารถทำทั้งในส่วนของเจ้าของบริษัท และพนักงานบริษัท
ในด้านของเจ้าของบริษัท ควรจะตั้งบริษัทเล็ก ๆ ค่อย ๆ ทำจากบริษัทเล็กไปบริษัทใหญ่ ไม่ก้าวกระโดดข้ามขั้นไปทำธุรกิจที่ใหญ่เกินตัว คือไม่ก้าวกระโดด ซึ่งบริษัทก็จะมีความเสี่ยงน้อย ซึ่งกว่าบริษัทจะเติบโตอาจใช้เวลา 10-20 ปี แต่บริษัทจะมีความมั่นคง มีรายได้แน่นอน และมีปันผลให้พนักงาน
ขณะที่ฝ่ายพนักงานก็จะต้องมีการส่งเสริมความพอเพียง มีการทำงานในบริษัทอย่างมีความสุข วัดผลด้วยการย้ายงานที่น้อยลง หรือไม่มีการย้ายงาน และสามารถก้าวขึ้นมาสู่ระดับบริหารได้
"พนักงานต้องมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของ คิดแบบพอดี ผลตอบแทนพอดีกับสถานะบริษัท เข้าใจว่าขณะนี้บริษัทมีสถานะอย่างไร เข้าใจ และมีส่วนร่วม ไม่ใช่คิดแต่จะลาออกไปอยู่กับบริษัทที่ให้เงินเดือนมากกว่า ตรงนี้จะทำให้พนักงานมีความรับผิดชอบต่อบริษัท ขณะที่เจ้าของบริษัทก็ต้องจริงใจกับพนักงาน เมื่อบริษัทมีรายได้มากขึ้น หรือมั่นคงแล้ว ผลตอบแทนที่ให้พนักงานก็ต้องสมน้ำสมเนื้อ"
สำหรับบริษัทที่เติบโตมั่นคงแล้ว ก็จะมีการเน้นให้มีการจับมือร่วมกับทำธุรกิจแบบคลัสเตอร์ ไม่แข่งขันกันเองในตลาดโลก ขณะเดียวกันต้องมีส่วนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย
ทั้งนี้ ทางคณะทำงานได้คัดเลือกบริษัทที่ดำเนินงานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่น ๆ ได้ศึกษา 4 บริษัท คือบริษัทเครือปูนซิเมนต์ไทย,บริษัทแพรนด้าจิวเวอร์รี่ จำกัด,บริษัทบ้านอนุรักษ์กระดาษสา, และบริษัทไทย.คอม ซึ่งทำการศึกษาโดยอดีตนักเรียนทุนอานันทมหิดลล้วน ๆ
ปูนซิเมนต์ไทยตัวอย่าง HR พอเพียง
บริษัทเครือปูนซิเมนต์ไทย เป็นตัวอย่างของบริษัทอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีการบริหารจัดการที่ดี และมีการนำหลักเศรษฐกิจไปประกอบใช้จนประสบความสำเร็จ โดยเมื่อบริษัทมีความสามารถในการผลิต และเป็นบริษัทชั้นนำ ที่แสดงให้เห็นความสำเร็จในการทำธุรกิจแล้ว ทางผู้วิจัยจึงได้เน้นศึกษาไปที่การบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลของปูนซิเมนต์ไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการทำให้บริษัทประสบความสำเร็จในธุรกิจ พบว่านโยบายหลักของเครือซิเมนต์ไทยมีการเน้นการรับคนที่เป็น "คนเก่ง และคนดี" เข้าเป็นพนักงาน
เมื่อเป็นพนักงานแล้วก็จะมีการพัฒนาความรู้ความสามารถอย่างต่อเนื่องแบบที่เรียกว่ามีการหล่อหล่อมบุคลิกภาพโดยให้ผู้บริหารเป็นตัวอย่าง เช่น ประหยัด โลว์โปไฟล์ ไม่เน้นสร้างชื่อเสียงส่วนตัวแต่เน้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพ จากนั้นเครือซิเมนต์ไทยยังมีการสนับสนุนการเติบโตของบุคลากรภายใน ไม่รับผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเข้ามาเป็นผู้บริหาร เช่น กานต์ ตระกูลฮุน เป็นบุคลากรที่เครือฯ สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นผู้บริหาร ซึ่งเป็นเบ้าหลอมให้พนักงานอื่น ๆ โดยเฉพาะด้านจริยธรรมขององค์กร ที่จะมีการสร้าง "คนเก่ง คนดี"ที่รับเข้ามาทำงานให้มีวัฒนธรรมองค์กรเดียวกัน
นอกจากนี้ในเรื่องคุณภาพชีวิตพนักงาน เครือซิเมนต์ไทยถือเป็นองค์หนึ่งที่มีผลตอบแทนให้พนักงานในอัตราค่าจ้างต่อหัวในระดับสูง มีเกณฑ์การให้เงินเดือนโดยดูจากค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ (Percentile) 75 % ของกลุ่มบริษัทชั้นนำ ทำให้เงินเดือนของพนักงานไม่สูงเกินไปและไม่ต่ำเกินไป อีกทั้งเครือซิเมนต์ไทยยังมีคณะกรรมการสำรวจและเปรียบเทียบค่าจ้างและสวัสดิการของพนักงานด้วยว่าเหมาะสมหรือไม่ และมีการสำรวจดัชนีความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ได้แก่อัตราค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อ เพื่อปรับขึ้นเงินเดือนให้พนักงานโดยพนักงานไม่ต้องร้องขอด้วย
ดังนั้น เครือซิเมนต์ไทย จึงเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่ของการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ โดยเฉพาะในส่วนบริหารงานบุคคล ที่ทำให้พนักงานอยู่อย่างมีความสุข มีโอกาสในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้น ขณะที่เงินเดือนและสวัสดิการก็เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ และอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย
แพรนด้าฯ -ลงทุนเสี่ยงปานกลาง
ด้านแพรนด้า จิวเวอร์รี่ เป็น Case study ในส่วนของบริษัทขนาดกลางที่น่าสนใจ โดยบริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเครื่องประดับและอัญมณีมาตั้งแต่ปี 2516 จากนั้นต่อมาได้เติบโตและแปรรูปไปสู่บริษัทมหาชน ตั้งแต่ปี 2537 โดยบริษัทแพรนด้า ฯมีหลักในการบริหารองค์กรด้วยความสมดุลและสร้างความยั่งยืนของธุรกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งได้ให้ความสำคัญในด้านผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ บริษัท ลูกค้า ผู้ถือหุ้น พนักงาน ตลอดจนสังคมและด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นถือเป็นการสร้างระบบป้องกันตนเองทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี โดยสามารถผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 มาได้
หลักในการบริหารองค์กรของแพรนด้า จิวเวลรี่ ฯ ถือว่ามีความสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงคือการยึดการลงทุนแบบมีความเสี่ยงปานกลาง เพื่อให้ได้กำไรในระดับปกติ แทนที่จะเลือกลงทุนด้วยความเสี่ยงสูง และได้ผลตอบแทนและกำไรที่สูง
พนักงานไม่กู้หนี้-ความคิดสร้างสรรค์พุ่ง
ส่วนบริษัทขนาดเล็ก ได้มีการทำ Case study เช่นเดียวกัน โดยคัดเลือก 2 บริษัทที่น่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มบ้านอนุรักษ์กระดาษสา และบริษัท ชื่อไทย.คอม หรือ ThaiName.com
โดยกลุ่มบ้านอนุรักษ์กระดาษสา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มีการบริหารจัดการในรูปแบบกลุ่มอาชีพ โดยมีนางฟองคำ หล้าปินตา เป็นเจ้าของและผู้บริหาร ธุรกิจนี้เริ่มจากการผลิตกระดาษสาในครอบครัว คือเริ่มจากธุรกิจขนาดเล็ก จนปัจจุบันได้ขยายธุรกิจโดยมีการขยายตลาดไปขายต่างประเทศด้วย
บ้านอนุรักษ์กระดาษสาจึงเป็นตัวอย่างที่ดีในการบริหารงานที่สอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงในด้านความพอประมาณ มีการขยายธุรกิจอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่ลงทุนสูงเกินตัว ไม่มีการกู้ยืมเงินเพื่อขยายกิจการเพียงเพื่อสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มกิจการซึ่งไม่แน่นอน และมีความผันผวนสูง การรับคำสั่งซื้อจากลูกค้าก็ทำตามกำลังการผลิต ไม่โลภ
นอกจากนี้ยังมีการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ประหยัด และใช้แรงงานและวัตถุดิบจากท้องถิ่นใกล้เคียงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อประหยัดค่าขนส่ง อีกทั้งยังเน้นการพึ่งพาตนเอง โดยมีการปลูกปอสาของกลุ่มเอง เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนวัตถุดิบเพื่อเป็นการสร้างความคุ้มกันให้ธุรกิจและเน้นการพึ่งตนเอง
ส่วนพนักงาน มีการอบรมให้พนักงานมีคุณธรรม และไม่กู้เงินจนเกินตัวจนตัวเองต้องเดือดร้อน เพราะหนี้สินจำนวนมากย่อมส่งผลให้พนักงานไม่มีความสุข ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพและความคิดสร้างสรรค์ของผลิตภัณฑ์กระดาษสาซึ่งเป็นหัวใจการแข่งขันของธุรกิจนี้ด้วย
ชื่อไทย.คอมขอกำไรพอประมาณ
ด้านบริษัท ชื่อไทย.คอม หรือ ThaiName.com ของพิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ และเพื่อน ดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2542 ทำธุรกิจเปิดให้บริการจดทะเบียนในชื่อโดเมนภาษาไทยในอัตรา 800 บาทต่อปี นอกจากนั้นยังรับออกแบบและพัฒนาเว็บไซต? และพัฒนาโครงการที่มีการใช้เทคโนโลยี่สารสนเทศ บริษัท ชื่อไทย.คอม ถือได้ว?าเป็นบริษัทแรกที่มีการบุกเบิกนําเอาชื่อภาษาไทยมาจดเป?น Domain Name ให?กับธุรกิจของคนไทยด้วย
บริษัทชื่อไทย.คอม ได้จัดตั้งชมรมไทยพัฒน์ เพื่อส่งเสริมการดำเนินธุรกิจตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใน 3 ลักษณะคือ ร่วมทรัพย์ ร่วมแรง และร่วมใจ อย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มจากร่วมมือกับบริษัทอื่นในการแบ่งเงินจำนวน 10% ของกำไรเพื่อสนับสนุนโครงการเพื่อส่วนรวมโดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง เช่น วิจัยและสนับสนุนการวิจัยที่ส่งเสริมแนวทางแห่งการดำเนินธุรกิจตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง
นอกจากนี้ทางชมรมยังได้จัดตั้งกองทุนไทยพัฒน์-รัศมี เพื่อช่วยสนับสนุนการพัฒนาธุรกิจชุมชน โดยได้ตั้งโครงการ เครือข่ายเศรษฐกิจพอเพียง "เพื่อนเสี่ยวเกลอ" มีจุดประสงค์เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนสินค้าโดยไม่มีพ่อค้าคนกลาง และสินค้าที่ผลิตต้องไม่ใช้สารเคมี โครงการนี้ขณะนี้มีสมาชิก 20 ชุมชนจากทุกภาคทั่วประเทศ
เมื่อมองถึงการบริหารจัดการของบริษัทชื่อไทย.คอม บริษัทยังเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องความพอประมาณ โดยบริษัทจะไม่รับโครงการที่มากเกินความจำเป็น แต่ต้องอยู่ในขอบเขตของความอยู่รอดทางธุรกิจและไม่มีการกู้ยืมเงินจากภายนอก ตลอดจนไม่มีแผนในการขยายกิจการไปในด้านที่ไม่ใช่ความสามารถเฉพาะทางขององค์กร อีกทั้งในด้านกำไร บริษัทมีความพอใจที่จะได้รับกำไรในระดับพอประมาณ ไม่โลภ
ทั้ง 4 บริษัทนี้เป็นตัวอย่างที่ดีที่คณะทำงานฯ เชื่อว่าจะสามารถทำความเข้าใจให้กับบริษัทเอกชนทั้งหลายได้เห็นว่าจะนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงไปปรับใช้ในภาคธุรกิจอย่างไร ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว ความมุ่งหวังที่ต้องการคือความสุขที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน!
|
|
|
|
|