ตัวเลขผลประกอบการประจำไตรมาส 3 ของ บงล.ธนชาติหรือ NFS ดูสวยหรูเป็นอย่างยิ่ง
เพราะสามารถทำกำไรสุทธิได้สูงกว่างวดเดียวกันในปีที่แล้วถึง 13% หรือมีกำไรทั้งสิ้น
320 ล้านบาทขณะที่ปีที่แล้วทำได้เพียง 283 ล้านบาท
นับเป็นผลประกอบการที่ค่อนข้างผิดปกติในปีนี้ เพราะไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่
2 ของปีนี้ NFS มีกำไรสุทธิต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยไตรมาสที่
1 ทำกำไรสุทธิได้เพียง 278 ล้านบาท และไตรมาสที่ 2 ทำกำไรสุทธิได้ 355 ล้านบาท
ขณะที่ปีที่แล้วทำได้ 354 ล้านบาท และ 471 ล้านบาท ตามลำดับหรือคิดเป็นอัตราลดลง
21% และ 33% ตามลำดับ
เหตุผลที่ทำให้กำไรในไตรมาส 3 ดูผิดแผกไปจากสองไตรมาสแรกก็คือ NFS มียอดรายได้จากดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นถึง
60% โดยเพิ่มจาก 383 ล้านบาทไปเป็น 614 ล้านบาทในช่วงเดียวกันของปีนี้ แม้ว่าจะมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยหดหายไปถึง
160 ล้านบาท หรือ 51% ก็ตาม
ทำไมจึงมียอกรายได้ดอกเบี้ยสุทธิสูงเช่นนี้
คำตอบก็คือ เพราะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการบันทึกรายได้ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่
1 กรกฎาคม ปีนี้หรือเมื่อเริ่มไตรมาสที่ 3 นั่นเอง
เดิมที NFS รับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากลูกหนี้ที่ไม่เคลื่อนไหวหรือค้างชำระ
(NON-PERFORMING LOSN : NPL) ไม่เกิน 2-3 เดือน ถ้าลูกหนี้ไม่เคลื่อนไหวเป็นเวลานานกว่านั้น
บงล. ธนชาติก็จะไม่รับรู้รายได้จากลูกหนี้ในส่วนนี้ ซึ่งถือว่าเป็นวิธีอนุรักษ์นิยมเป็นอย่างยิ่ง
เพราะรายได้ที่รับรู้เข้ามามีความเป็นไปได้น้อยที่จะเป็นหนี้สูญ
ขณะที่วิธีใหม่เป็นการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยจากลูกหนี้ที่ไม่เคลื่อนไหวไม่เกิน
6 เดือน ซึ่งเท่ากับว่ามีช่วงที่จะรับรู้รายได้ดอกเบี้ยยาวนานออกไป จึงจะทำให้รายได้ดอกเบี้ยมีจำนวนมากขึ้น
นั่นเท่ากับว่าโอกาสรับรู้รายได้ทางบัญชีเพิ่มขึ้นแต่ก็เพิ่มโอกาสที่จะรับรู้รายได้เกินจริงในแต่ละงวดบัญชี
หากลูกหนี้กลายเป็นหนี้สูญไปในอนาคต ด้วยว่าลูกหนี้ที่ค้างชำระมาถึง 6 เดือนย่อมมีแนวโน้มที่จะเป็นหนี้สูญมากกว่าลูกหนี้ที่ค้างชำระเพียง
2-3 เดือน
น่าแปลกเป็นอย่างยิ่งที่ NFS ซึ่งดำเนินงานด้วยแนวคิดอนุรักษ์นิยมมาโดยตลอดจะยอมเปลี่ยนวิธีการรับรู้รายได้เช่นนี้
ผู้บริหาร NFS ชี้แจงเหตุผลว่า เพื่อทำให้วิธีการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของ
NFS เป็นไปตามแบบที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้และเป็นเดียวกับไฟแนนซ์อื่น
ๆ ที่ดำเนินการตามวิธีนี้มานานแล้ว
เป็นเหตุเป็นผลที่สอดคล้องกับแนวคิดของนักวิเคราะห์บางราย "ในอดีตการเปรียบเทียบผลประกอบการของบงล.
ธนชาติกับไฟแนนซ์อื่น ๆ ค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องมาปรับตัวเลขให้เป็นระบบเดียวกันเสียก่อน
การเปลี่ยนมาใช้วิธีนี้ก็ดีเพราะจะเทียบผลประกอบการกับไฟแนนซ์อื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น"
การรับรู้รายได้เช่นนี้ แม้จะมีผลดีคือทำให้ NFS มียอดรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิเพิ่ม
แต่ก็มีผลเสียเพราะจะไปเพิ่มยอดดอกเบี้ยค้างรับในงบดุลซึ่งอาจจะถูกมองว่ามีลูกหนี้ที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ
แต่เมื่อพิจารณาในด้านความสามารถในการทำกำไรแล้วย่อมทำให้ตัวเลขเป็นไปในทางบวกกับบริษัทมากกว่าทางลบ
"ในระยะสั้นการบันทึกรายได้อย่างนี้จะทำให้ผลประกอบการดูดีขึ้น แต่ถ้าสินเชื่อไม่มีคุณภาพ
มันก็จะกลายเป็นหนี้สูญและกระทบถึงผลประกอบการในที่สุด" นักวิเคราะห์อีกรายได้ความเห็น
ดังนั้น ขณะนี้ถ้าดูเพียงกำไรสุทธิตัวเดียวก็ถือว่า NFS มีผลประกอบการที่ดีขึ้นและนับเป็นข่าวดีสำหรับผู้ถือหุ้น
ทว่า ผู้คลุกคลีในแวดวงการเงินบางรายยังไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจะเป็นทิศทางที่ดีของ
NFS
"อาจเป็นสัญญาณบางอย่างที่บอกให้รู้ว่า NFS เริ่มมีสินเชื่อที่ไม่ค่อยมีคุณภาพมกาขึ้นนั่นคือมีลูกหนี้ที่ค้างชำระดอกเบี้ยนานกว่าเดิมและเป็นจำนวนมากกว่าเดิม
NFS จึงต้องขยายเวลาในการรับรู้รายได้จากลูกหนี้ค้างชำระเพิ่มขึ้น และมีข้อที่น่าสังเกตคือ
บงล.ธนสยาม ซึ่งเป็นไฟแนนซ์ในเครือธนาคารไทยพาณิชย์เหมือนกันก็ยังคงรูปแบบการรับรู้รายได้ตามสไตล์เดิมไว้"
การเปลี่ยนวิธีรับรู้รายได้ของ NFS จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ธรรมดา แต่จะเป็นลางดีหรอลางร้ายสำหรับใคร
อีกไม่นานคงมีคำตอบ