Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ธันวาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2539
'ธนชาติ' กับแนวรบทั้งสองด้าน…เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง             
โดย ศิริรัตน์ ภัตตาตั้ง
 

 
Charts & Figures

ตัวเลขสำคัญในงบดุล บลง. ธนชาติ (มหาชน)
ตัวเลขสำคัญในงบกำไรขาดทุนของ บงล.ธนชาติ (มหาชน)


   
www resources

โฮมเพจ บริษัทเงินทุนธนชาติ

   
search resources

ธนชาต, บล.
สมประสงค์แลนด์
Financing




หุ้นบงล.ธนชาติมีราคาต่ำลง ๆ หลังมีข่าวลือหนี้เสียของ บมจ.สมประสงค์แลนด์ฝรั่งเทขาย ตามติดด้วยรายย่อย นี่เป็นเพราะอิทธิพลข่าวลือหรือมีสิ่งใดแอบแผงมากกว่านั้น ในขณะที่ผู้บริหารยืนยันแน่ชัด ธนชาติไม่มีหนี้เสีย เพราะยังรักษาแนวคิดอนุรักษนิยมตลอดมาเป็นแนวทางที่จะยึกถือต่อไป

พลันพลันที่ข่าวการตกแต่งบัญชีอขง บมจ.สมประสงค์ แลนด์หรือ SOMPR กระหึ่มไปทั่วตลาดหลักทรัพย ์เมื่อราวกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ราคาหุ้น SOMPR ที่ดิ่งลงฟลอร์เท่านั้น แต่หุ้นของ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ธนชาติ (มหาชน) หรือ NFS ก็ขานรับข่าวในทางเดียวกันแทบจะทันที

ไม่แปลกอะไรที่ผู้ถือหุ้นรายย่อยของ NFS จะกระหน่ำเทขายหุ้นเช่นนี้ เพราะการที่ NFS เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ซึ่งปล่อยกู้ให้กับโครงการของ SOMPR ย่อมทำให้ผู้ถือหุ้นหวั่นใจว่า NFS ย่อมจะได้รับผลกระทบจากสถานะการเงินที่ง่อนแง่นจาก SOMPR

หากให้ความเป็นธรรม และมองลึกไปถึงความรู้สึกของผู้ถือหุ้นรายย่อยก็คงเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี เพราะเรื่องเช่นนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นครั้งแรก

ย้อนหลังไปเมื่อต้นปีนี้ ข่าวหนี้เสียจาก SOMPR และ บริษัทวิทยาคม จำกัด (มหาชน) หรือ VK ซึ่งเป็นลูกหนี้อีกรายของ NFS ก็สั่นคลอนความเชื่อมั่นของรายย่อยมาแล้ว

รวมทั้งในกลางปีที่ผ่านมา ข่าวหนี้เสียจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ก็สาดซัด NFS อีกระลอก ซึ่งในครั้งนั้นผู้บริหาร NFS โดย ศุภเดช พูนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้ออกโรงปฏิเสธไปแล้ว

แต่ดูเหมือนว่าผู้ถือหุ้นรายย่อยก็ยังไม่วางใจเท่าใดนัก เมื่อเกิดกรณีของ SOMPR ในรอบนี้จึงกลายเป็นการตอกย้ำถึงความเชื่อเดิม ๆ ว่า NFS ประสบปัญหาหนี้เสียจริง ๆ

ยิ่งไปกว่านั้น ผลประกอบการที่ตกต่ำลงตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ย่อมทำให้ผู้ถือหุ้นคลางแคลงใจมากขึ้นถึงสถานะทางการเงินของบริษัท

ทว่ากระแสข่าวที่เกิดขึ้นมีมูลความจริงมากน้อยแค่ไหน คุณภาพลูกหนี้ของ NFS และสถานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบัน เป็นเช่นไร

คำถามและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รุกและเร้าให้ผู้บริหารอย่างบันเทิง ตันติวิทประธานกรรมการบริหาร ต้องยอมเปิดปากเป็นครั้งแรกหลังจากว่างเว้นจากการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนมานานหลายปี

หนี้ SOMPR-หลักประกันคุ้มทุน

ในฐานะของผู้บริหารที่อยู่กับ NFS มาตั้งแต่ปี 2523 อันเป็นปีที่ NFS สลัดคราบจาก บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ แคปปิตอลทรัสต์ จำกัด มาเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ อย่างไรปัจจุบัน ทั้งบันเทิงและศุภเดชจึงรู้ตื้นลึกหนาบางใน NFS เป็นอย่างดี การตอบรับกระแสข่าวดังกล่าวจึงเป็นไปอย่างเยือกเย็นและสุขุมเป็นอย่างยิ่ง

"ราคาหุ้นตกมัน เพราะผลกำไรตก และกำไรในอดีตที่ดีมาก ๆ มันก็มาจากการขยายตัวของธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจเงินทุน พอตลาดไม่ดี มีข่าวธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มันก็โยงถึงธุรกิจเงินทุน ผลมันก็เลยออกมาเป็นอย่างที่เห็น ๆ กัน " บันเทิงโยงภาพกว้าง ๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยรอยยิ้มน้อย ๆ

ต่อคำถามกรณีสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นที่มาหลักของความตกต่ำของราคาหุ้น NFS บันเทิงก็ยังใจเย็น เช่นเดิม ด้วยเพราะ NFS ปล่อยสินเชื่อเพื่อธุรกิจนี้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 12% ของพอร์ตทั้งหมดหรือเพียงประมาณ 6-7 พันล้านบาทเท่านั้น

ยิ่งกว่านั้นประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้เขารู้ถึง "แก่น" ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีวงจรขึ้น และลงสลับกันไป บางคราวภาวะเศรษฐกิจดี ธุรกิจดำเนินไปได้ ลูกหนี้ก็สามารถชำระคืนหนี้ได้ แต่ในช่วงภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ธุรกิจนี้ตกต่ำ ลูกหนี้ก็อาจติดขัดบ้าง

"มันก็มีเป็นช่วง ๆ ที่ลูกหนี้พวกนี้จะค้างชำระบ้าง (NON-PERFORMING LOAN) แต่ในท้ายที่สุดแล้วเราก็ได้รับชำระคืน ตั้งแต่ที่ทำธุรกิจมา ธนชาติไม่เคยมีหนี้เสียสักบาทเดียว"

ทั้งนี้เพราะการปล่อยกู้ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แทบทุกราย ต้องมีสินทรัพย์ค้ำประกันทั้งสิ้น ซึ่งหมายความว่าหากเกิดกรณีที่ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ NFS มีสิทธินำสินทรัพย์ค้ำประกันไปขายและนำเงินมาชำระเป้นค่าหนี้สิน และดอกเบี้ย

ดังนั้นไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร NFS ย่อมได้รับเงินกู้คืนอย่างแน่นอน การปล่อยกู้ให้ธุรกิจนี้จึงมีความเสี่ยงน้อยกว่าการปล่อยกู้ในธุรกิจอื่นที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันด้วยซ้ำ

กรณีของ SOMPR ก็ไม่แตกต่างกันเป็นการกู้ยืมที่มีหลักประกัน โดย SOMPR กู้เงินจาก NFS ไปเป็นจำนวน 632 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้สำหรับโครงการบ้านพิมาน-ชะอำ ซึ่งก่อสร้างเสร็จไปแล้วและอยู่ระหว่างการขายพร้อมโอน เป็นจำนวน 32 ล้านบาท และเงินกู้สำหรับโครงการบ้านพิมาน-พุทธมณฑล ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างเป็นจำนวน 600 ล้านบาท

เงินกู้ทั้งสองรายการมีสินทรัพย์ค้ำประกันเป็นบ้าน และที่ดินในวงเงิน 63 ล้านบาทสำหรับโครงการที่ชะอำและ 1,090 ล้านบาท สำหรับโครงการพุทธมณฑล หรือวงเงินกู้คิดเป็นสัดส่วนเพียง 51.54% และ 55% ของโครงการแรกและโครงการที่สองตามลำดับ

"เรามีหลักประกันแน่นอนอยู่แล้ว มันมีค่าแน่ ๆ ไม่มีทางเป็นศูนย์ไม่ว่าสมประสงค์จะล้มหรือไม่ล้มก็ตาม แต่เราหวังว่าจะไม่ล้ม ผมมั่นใจว่าธนชาติได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยค้างรับคืนแน่นอน" บันเทิงกล่าวอย่างเชื่อมั่น

นอกจากนี้ เมื่อมองในมุมกลับ ถ้าหนี้ของสมประสงค์เป็นหนี้ที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันและกลายเป็นหนี้สูญไปจริง สิ่งที่ NFS ต้องสูญเสียไปก็เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

"ถ้าเราเสียหนี้ของ SOMPR มันก็จะกระทบ NFS น้อยมาก เพราะเราสามารถนำหนี้สูญไปหักภาษีได้ ซึ่งจะทำให้เรา สูญไปประมาณ 420 ล้านบาท ซึ่งถ้าหารด้วยจำนวนหุ้นทุนของเรามันก็จะตกประมาณหุ้นละบาทกว่าเท่านั้น"

กระนั้นก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการมีหนี้อย่าง SOMPR ก็ส่งผลถึงภาพพจน์และทำให้ NFS มีต้นทุนเพิ่ม "แม้หนี้สมประสงค์จะไม่ใช่หนี้สูญ แต่ธนชาติก็จะมีต้นทุนเพิ่ม ซึ่งเป็นค่าเสียโอกาสทั้งในการนำดอกเบี้ยค้างรับไปลงทุนอย่างอื่นและการำนเงินที่ให้สมประสงค์กู้ไปให้บริษัทอื่นกู้ ซึ่งอาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า" นักการเงินรายหนึ่งระบุ


VK เหลือหนี้แค่ 30 ล้านบาท

นอกจาก SOMPR แล้ว ข่าวของ VK ก็เป็นสิ่งที่โยกคลอนภาพพจน์ของ NFS ไม่แพ้กัน โดย VK กู้เงินจาก NFS ไปร่วม 200 ล้านบาท แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ NFS จึงต้องบังคับขายหลักประกันเงินกู้เพื่อนำเงินมาชำระหนี้

ลูกหนี้อย่าง VK อาจสร้างความลำบากใจให้ NFS มากกว่า SOMPR เพราะมีหลักประกัน เป็นหุ้นของบริษัท แปซิฟิค แอสเซ็ทส์ จำกัด (มหาชน) (PA) หรือ บมจ.เฟิร์สท์ แปซิฟิคแลนด์ ในอดีต จำนวน 13% ของทุนจดทะเบียน เพราะแม้ว่าการมีหลักประกันเป็นหุ้นจะดีกว่าที่ดินตรงที่เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว แต่เมื่อพิจารณาหุ้น PA แล้ว ภาวะความเสี่ยงกลับมีสูงขึ้น เพราะฐานะทางการเงินและภาพพจน์ของบริษัทก็มิได้สวยงามไปกว่าบริษัทแม่อย่าง VK โอกาสขายเพื่อเก็บเม็ดเงินชำระหนี้ก็ยากอยู่แล้ว การหวังกำไรจากหุ้นล็อตนี้จึงไม่ต้องพูดถึง

ดังนั้นในการตีมูลค่าหุ้นที่เป็นหลักประกันจึงต้องคิดถึงเรื่องความไม่แน่นอนของราคาที่จะเกิดขึ้น เรียกว่าต้องงัดรายการสินทรัพย์ในงบดุลมากถกกันใหม่ รายการไหนไม่แน่ใจว่าควรมีมูลค่าแค่ไหนก็ตัดออกไปและบางรายการก็ตีมูลค่าเหลือเพียงครึ่งเดียวของตัวเลขในงบดุล ซึ่งเท่ากับว่าเป็นราคาหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (DISCOUNT)

"ตัวเลขที่เราตำนวณออกมามันต้องมีควาหมายและบอกมูลค่าของสินทรัพย์นั้นได้จริง ๆ และต้องปลอดภัยสำหรับธนชาติ ถ้าเราบอกว่ามีค่า 100 บาท ก็ต้องมีค่า 100 บาทหรือมากกว่านั้น" บันเทิงกล่าวอย่างหนักแน่น

แต่การขายหุ้น PA ได้ในราคาหุ้นละประมาณ 7 บาท กลับเป็นราคา 'ดี' อย่างผิดคาดในสายตานักสังเกตการณ์ทางการเงินเพราะว่าเป็นการซื้อโดยบริษัทในเครือของ NFS เอง

การซื้อขายดังกล่าวจึงไม่ผิดกับการโยกเงินจากกระเป๋าซ้ายไปให้กระเป๋าขวานั่นคือเอาเงินจากบริษัทในเครือ NFS มาชำระหนี้ให้กับ NFS แม้เป็นการเคลียร์ภาพ NFS ให้ "ดูดี" ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่มองในภาพรวมแล้ว NFS ก็ยังมิอาจสบัดภาระ VK ออกไปได้ เพียงแต่เปลี่ยนสถานะจากเจ้าหนี้ไปเป็นเจ้าของบริษัทในเครือของ VK เท่านั้น อีกทั้งยังถูกมองว่าเข้าไปเทกโอเวอร์ PA

อย่างไรก็ตาม บันเทิงกล่าวว่าเป็นการช่วยเหลือลูกหนี้ เพราะทำให้ VK ลดภาระหนี้ ซึ่งหลังจากการขาย PA ออกไปทำให้หนี้สินของ VK เหลืออยู่ใน NFS เพียงแค่ 30 ล้านบาทเท่านั้น ขณะเดียวกัน PA ก็ดูเหมือนมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการมีผู้ถือหุ้นรายใหม่ ๆ เข้าไป

"เราไม่ได้ต้องการเข้าไปเทกโอเวอร์บริษัทหรืออะไร เพราะตกลงกับบริษัท VK ไว้ว่าภายในเวลาพอสมควรเช่น 3 ปี หรือ 5 ปี หากเขาต้องการซื้อหุ้นคืน เราก็ยินดี แต่ระหว่างนี้เมื่อเราเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้น ถ้าเป็นไปได้ก็อยากเข้าไปช่วยทำให้บริษัทดีขึ้น" นั่นก็เพื่อความมั่นใจว่าเรื่องหนี้สินที่ยังค้างคากันจะมีโอกาสได้รับการชำระที่แน่นอนขึ้นนั่นเอง

พอร์ตสินเชื่อ-อนุรักษนิยมทุกกรณี

ไม่เพียงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เท่านั้นที่ต้องมีหลักประกัน การปล่อยกู้ให้กับธุรกิจอื่นก็ทำอย่างรัดกุมเช่นเดียวกัน ดังนั้นแม้จะเป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ในเชิงส่วนตัวหรือการร่วมธุรกิจกันก็ตาม บันเทิงก็ย่ำหนักแน่นว่าต้องพิจารณาอย่างรอบคอบแม้แต่กลุ่มแปลน อะคิเทค ซึ่งผู้บริหารคุ้นเคยกันตั้งแต่รุ่นพ่อและทำธุรกิจร่วมกันในนาม บริษัทแปลน เรียล เอสเตท โดยมี NFS และบริษัทในเครือเข้าถือหุ้น 50% ก็ไม่อยู่ในข่ายยกเว้น

"ยิ่งบริษัทที่รู้จักกันและสนิทกันเท่าไรก็ยิ่งต้องทำอย่างระมัดระวังมากขึ้น" บันเทิงย้ำ

มีเพียง 3-4 บริษัทเท่านั้นที่ NFS ยอมปล่อยกู้โดยไม่มีหลักประกัน เขาให้ข้อมูลว่า "บริษัทเหล่านี้เป็นสถาบันที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันดี เรามีความเชื่อมั่นว่าไม่มีทางเบี้ยวหนี้เราแน่ แต่เราคงเอ่ยชื่อที่นี่ไม่ได้"

โดยเฉลี่ยแล้ววงเงินกู้จะไม่เกิน 60-70% ของมูลค่าหลักประกัน แต่วงเงินที่ปล่อยเงินกู้อาจจะมากหรือน้อยกว่าระดับนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ อีก เช่น บุคคลล้ำประกัน บุคคลที่ขอกู้

นอกจากหลักประกันแล้ว สิ่งที่ช่วยลดผลกระทบจากการเกิดหนี้สูญก็คือการตั้งสำรองหนี้สูญไว้ด้วย ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้กันอย่างแพร่หลายของสถาบันการเงินต่าง ๆ

โดย NFS จะตั้งสำรองหนี้สูญ 2 แบบ คือตั้งสำรองทั่วไปและตั้งสำรองพิเศษซึ่งจะพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป

"นโยบายเราตอนนี้ตั้งสำรองทั่วไปไว้ประมาณ 1% ของยอดสินเชื่อ แต่คิดว่าจะพิจารณาปรับเพิ่มเพื่อประโยชน์ทางด้านภาษี เนื่องจากกรมสรรพากรอนุญาตให้ตั้งสำรองโดยสามารถนำยอดไปหักภาษีได้ถึง 3%"

ตัวเลขเมื่อสิ้นสุดไตรมาส 3 บริษัทมียอดกันไว้เผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 856 ล้านบาทหรือคิดเป็น 1.47% ของยอดสินเชื่อและมีค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสุญ 94 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัวจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิธีการรับรู้รายได้ จากการรับรู้รายได้จากยอดลูกหนี้ค้างชำระ 2-3 เดือนเป็นยอดค้างชำระ 6 เดือน

"อย่างกรณี SOMPR เมื่อรับรู้รายได้ 6 เดือน แม้ว่าเรากจะมีหลักประกันก็ตามเราก็ไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบ เพราะคนนอกมองว่ามันเป็นปัญหา เราจึงตั้งสำรองเต็ม 100% ดังนั้นยอดดอกเบี้ยค้างรับที่เพิ่มขึ้นเมื่อไปหักลบกับการตั้งสำรองมันก็เท่ากับว่าไม่มียอดดอกเบี้ยค้างรับของ SOMPR มาเป็นรายได้"

ขณะที่ศุภเดชเสริมว่าเมื่อใดก็ตามที่บริษัทไม่แน่ใจในยอดดอกเบี้ยค้างรับก็จะตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญทันที

"เราพยายามยึดแนวทางอนุรักษนิยมให้มากที่สุด" ศุภเดชย้ำ

กระนั้นก็ตาม บันเทิงยอมรับว่าปัญหาเรื่องการค้างชำระหนี้เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่พ้น การแก้ปัญหาก็คือต้องเจรจากับลูกหนี้และหาทางช่วยเหลือเกื้อกูลกันไป

"เวลาหนี้มีปัญหาไม่ใช่ว่าเราจะฟ้องร้องเลย เราจะคุยกับเขาก่อนว่าปัญหาเขาคืออะไร มีทางช่วยเหลือหรือไม่ ช่วยได้ก็จะประนีประนอมกัน ไม่ใช่ว่ามีปัญหานิดหน่อยก็ฟ้องลูกหนี้ แล้วใครจะมาทำธุรกิจกับเรา"

นับเป็นการยืนยันว่าถึงอย่างไรก็ตาม NFS ไม่ยอมปล่อยให้เกิด (ลูก) หนี้สูญง่าย ๆ อย่างแน่นอน

กำไรลดเพราะหลักทรัพย์ซบเซา

นอกจากปัญหาลูกหนี้ ฐานะทางการเงินของบริษัทซึ่งสะท้อนออกมาในผลประกอบการก็เป็นอีกปัญหาที่ก่อให้เกิดความสงสัย เพราะกำไรสุทธิของบริษัทตกต่ำจากปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก

NFS มีกำไรสุทธิงวด 9 เดือนเพียง 977 ล้านบาท ต่ำลง 17% เมื่อเทียบกับกำไรในงวดเดียวกันของปีที่แล้วซึ่งทำได้ 1,172 ล้านบาท แต่เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรทั้งปีของปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 1,465 ล้านบาทเศษ กำไรงวด 9 เดือนของปีนี้คิดเป็นแค่ 67% เท่านั้น ทำให้พอมองออกว่าในปีนี้โอกาสที่ NFS จะรักษากำไรไว้ได้ในระดับเดิมเป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ในภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ลุ่ม ๆ ดอน ๆ เช่นนี้ ส่วนการมีกำไรเติบโตจากเดิมนั้นปิดประตูคิดไปได้เลย ยกเว้นแต่จะทำกำไรทางลัด ด้วยการขายหุ้นในพอร์ตออกมาเท่านั้นที่จะทำให้ NFS มีกำรกระโดดขึ้นในไตรมาส 4 อย่างผิดหูผิดตา

กล่าวสำหรับ NFS การเติบโตในช่วงปี 2536-2538 ที่ผ่านมา ล้วนมีที่มาหลัก ๆ จากกำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือพอร์ตลงทุน และค่านายหน้าจากการซื้อขายหลักทรัพย์ (BROKERAGE FEE) จะเห็นว่าเมื่อรายได้ทั้งสองส่วนลดลง ย่อมทำให้กำไรสุทธิรวมของบริษัทลดลงไปด้วย ดังเช่นในปี 2538 ที่มีรายได้ค่านายหน้าลดลง 22% ก็ทำให้กำไรสุทธิลดลง 13%

ดังนั้น ในปีนี้ เมื่อภาวะตลาดหลักทรัพย์ซบเซา รายได้จากค่านายหน้าและกำไรจากพอร์ตหดหายตามไป ยิ่งกว่านั้นรายได้ค่านายหน้าที่ลดลงยังเป็นผลมาจากการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นเพราะมีโบรกเกอร์เพิ่มอีก 5 ราย

นอกจากนี้ รายได้จากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการออกหุ้นเพิ่มทุนหรือตราสารหนี้ต่าง ๆ ก็ลดลง ทั้ง ๆ ที่ในปีที่แล้ว NFS มีรายได้ด้านนี้โดดเด่นกว่าไฟแนนซ์อื่น ๆ โดยมีจำนวนดีลของหุ้นสามัญใหม่ (IPO) มากที่สุด และมีรายได้ค่าธรรมเนียมมากเป็นอันดับสองของอุตสาหกรรม แต่ในปีนี้ บริษัทที่ต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ล้มพับโครงการไปหลายราย ด้วยเหตุความซบเซาของตลาดรอง รายได้ค่าธรรมเนียมจึงลดลงไปด้วย

ทว่า ผลประกอบการที่ลดของ NFS กลับไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายของผู้บริหาร ตรงกันข้ามกลับเป็นผลประกอบการที่อยู่ในภาวะที่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง "เรื่องที่ไม่ปกติคือในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามากกว่า เพราะช่วงนั้นสถาบันการเงินต่าง ๆ โดยเฉพาะ NFS มีมาร์จินสูงถึง 40-50% ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องปกติแน่นอนจริง ๆ แล้วธุรกิจการเงินมันควรมีกำไรอยู่ระหว่าง 10-20% คือในช่วงที่แย่ที่สุดก็ไม่น่าต่ำกว่า 10% แต่ในช่วงที่ดีที่สุดก็ไม่ควรเดิน 20%"

เรียกว่าพ้นช่วงเวลาตักตวงของสถาบันการเงินไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม NFS ก็มิได้นอนใจกับผลงานที่อกมา แต่ยังหวังที่จะปรับตัวเพื่อรับมือการแข่งขันที่จะมากขึ้นในอนาคต

ธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบโดยตรงของ สมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ กรรมการผู้จัดการ สายธุรกิจหลักทรัพย์ถือเป็นปัญหาหลักในปัจจุบัน

NFS มีจุดอ่อนคือยังไม่มีโบรกเกอร์จากต่างแดนเป็นพันธมิตร ซึ่งจะเป็นปัญหาขึ้น เมื่อมีการเปิดเสรีทางการเงินซึ่งภาวะการแข่งขันจะเข้มข้น การมีพลังผนึก (SYNERGY) เป็นปัจจัยสำคัญในความสำเร็จของธุรกิจ

เพราะไม่เพียงพันธมิตรดังกล่าวจะช่วยในเรื่องการส่งผ่านวอลุ่มซื้อขายเท่านั้น แตยังหมายถึงการเกื้อกูลด้านอื่น ๆ อีกด้วย เช่น งานวิจัย งานด้านวาณิชธนกิจ ดังนั้นการไม่มีพันธมิตรจึงขาดโอกาสในการเรียนรู้งานเหล่านี้

ในปัจจุบัน การมีจุดอ่อนนี้ทำให้ปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์ของ NFS ไม่โดดเด่นและมีส่วนแบ่งตลาดไม่สูงนักโดยมีฐานลูกค้าสำคัญคือผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศ 50-60% สถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ในประเทศ 30-40% สถาบันต่างประเทศมีเพียง 10% เท่านั้น

ปัญหาขาดพันธมิตรเป็นสิ่งที่ผู้บริหาร NFS รับรู้มาโดยตลอดและเริ่มวางแนวทางปิดจุดอ่อนด้านนี้ไว้บ้างแล้ว โดยในปี 2538 ที่ผ่านมา บริษัทได้เข้าไปลงทุนในบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม วอชิงตัน แอสเซทเมเนจเมนท์ ในสัดส่วน 20% ซึ่งมีนโยบายออกกองทุนเพื่อลงทุนในตราสารหนี้ในตลาดเอเชีย รวมทั้งยังได้ลงทุนบริษัทแคสเปี้ยน โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ในสัดส่วน 10% ของทุนจดทะเบียน 1,500 ล้านบาท เพื่อหวังทำธุรกิจร่วมกันทั้งในด้านงานวาณิชธนกิจ การวิจัยบริการตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์

แม้ในวันนี้ บริษัททั้งสองแห่งยังไม่สามารถสร้างรายได้ที่เป็นกอบเป็นกำให้กับบริษัท ทว่าในระยะยาวก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อ NFS ดังที่บันเทิงระบุว่า "ฌราหวังธุรกิจต่อเนื่องจากการลงทุน"

ยิ่งกว่านั้น การลงทุนนี้ยังสอดรับกับเป้าหมายระยะยาวในการขยายตัวสู่ภูมิภาคของ NFS ที่ศุภเดชย้ำว่าจะไม่ออกสู่ตลาดต่างแดนในนาม NFS แน่นอน แต่จะใช้แขนขาจากพันธมิตรที่มีอยู่เป็นตัวแทน

ขณะที่ผู้คลุกคลีแวดวงการเงินเสริมว่า "ลงทุนในบริษัทที่เพิ่งเริ่มประกอบการเช่นนี้ จะดีกว่าการร่วมทุนกับโบรกเกอร์ที่มีสถานภาพดีอยู่แล้ว เพราะไม่ต้องเสี่ยงกรณีการถอนตัวออกไปหากเกิดความไม่พอใจกัน แต่จะผูกพันกันยาวนานเพราะต้องช่วยกันสร้างฐานลูกค้า ช่วยกันทำธรุกิจโอกาสที่จะตีจากมีน้อย"

งานวาณิชธนกิจเน้นตลาดตราสารหนี้

สำหรับธุรกิจวาณิชกิจ ส่วนแบ่งตลาดในการเป็นที่ปรึกษาและจัดจำหน่ายตราสารทุนอาจจะลดลงไป แต่ NFS จะเน้นงานด้านตราสารหนี้มากขึ้นตามภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องคงไว้ก็คือ "คุณภาพ"

"เรายังมีนโยบายอนุรักษนิยม เราไม่แข่งเรื่องราคา แต่เน้นคุณภาพ" บันเทิงระบุ

กระนั่นเขาก็ยอมรับว่าบางครั้งการควบคุมคุณภาพก็ทำได้ยากและเกิดกรณีผิดพลาดขึ้นได้ นั่นคือการที่ราคาหุ้น IPO ต่ำกว่าราคาที่ซื้อขายหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจของบริษัทนั้น ๆ ซึ่ง NFS คาดไม่ถึง แต่เขาคิดว่ากรณีเช่นนี้จะเกิดน้อยลงเนื่องจากภาวะตลาดหลักทรัพย์ซบเซาบริษัทที่ต้องการระดมทุนย่อมไม่กล้าตั้งราคารายที่สูงเกินไป เพราะกลัวว่าจะขายหุ้นได้ยากนั่นเอง

ส่วนการบริหารพอร์ตลงทุน ก็ยังคงนโยบายเดิมไว้ นั่นคือเน้นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ (STRATEGIC INVESTMENT) ซึ่งคือการลงทุนที่หวังผลข้างเคียง เช่น การสร้างพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ การสร้างธุรกิจต่อเนื่อง ดังเช่นการลงทุนใน บงล.เอกชาติการลงทุนใน บมจ. เอ็ม บี เค พร็อพเพอร์ตี้ บริษัทประกันภัย ประกันชีวิตต่าง ๆ ร่วมกับการลงทุนแบบ VENTURE CAPITAL นั่นคือลงทุนในบริษัทที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ และขายทำกำไรเมื่อหุ้นเหล่านั้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เช่น หุ้น บมจ.ชินวัตรแซทเทลไลท์ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ NFS เป็นแกนนำจัดหน่ายทั้งสิ้น

สำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน (PORTFOLIO INVESTMENT) NFS ไม่เน้นหนัก โดยมีนโยบายว่าลงทุนระยะยาว 3-5 ปี ไม่ใช่การเก็งกำไร แต่จะขายเมื่อมีอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 15%

กระนั่นก็ตามอาจจะมีการขายทำกำไรก่อนระยะเวลาที่ตั้งเป้าไว้เมื่อโอกาสเปิดรวมทั้งยังมีการปรับพอร์ตทั้งสามประเภทเสมอ ๆ เมื่อมีข้อมูลเปลี่ยนไป ตลอดจนก็จะดึงบริษัทในเครือมาร่วมลงทุนด้วย

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา NFS ดูจะมีพรสวรรค์ทางด้านนี้ เพราะมีกำไรจากพอร์ตลงทุนสูงทุกปี บันเทิงกล่าวอย่างถ่อมตนว่า "กำไรจากพอร์ตที่เราทำได้เยอะ ๆ อาจเป็นเพราะเราตัดสินใจถูก หรือเป้นเพราะโชคช่วยด้วย"

ปล่อยสินเชื่อสถาบัน 30%

สำหรับธุรกิจเงินทุนซึ่งแยกกันดำเนินงานเด็ดขาดกับธุรกิจหลักทรัพย์ ก็ยังคงนโยบายเติบโตเช่นเดิม ในอดีตการเติบโตสายเงินทุนค่อนข้างผันผวนโดยในปี 2536 มีอัตราเติบโตของสินเชื่อไม่ถึง 1% ปี 2537 เพิ่มขึ้น 27% และปี 2538 ขยายตัว 42%

ทิศทางที่ธนชาติต้องการไปก็คือการทำธุรกิจใหม่ ๆ ที่จะมีขึ้นหลักแยกธุรกิจเงินทุนออกจากธุรกิจหลักทรัพย์แล้ว เช่น การทำ TRADING FINANCE การค้าเงินตราต่างประเทศ โดย NFS เริ่มปูทางไว้บ้างแล้วทั้งในเรื่องบุคลากร และฐานลูกค้าด้วยการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจส่งออกมากขึ้น

ทว่าในเวลาอันใกล้นี้แนวทางใหม่ดังกล่าวก็ยังไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นสาระสำคัญแก่ NFS

"ถ้าอนุมัติเมื่อไรเราก็เริ่มเมื่อนั้นแต่ว่ามันก็ต้องค่อย ๆ ทำไป มันต้องเข้าไปในฐานลูกค้าเดิมของแบงก์ มันก็คงไม่ใช่ธุรกิจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรมากให้กับธนชาติในระยะสั้น"

ส่วนในด้านแหล่งเงินทุน NFS ก็จะยังคงโครงสร้างเดิมนั่นคือมีที่มาจากฐานเงินฝากประชาชน 70% และอื่น ๆ อีก 30% ซึ่งในส่วนนี้มีที่มาจากเงินกู้ยืมสถาบันต่างประเทศถึงเกือบ 20%

ในปีที่แล้ว NFS ได้เซ็นสัญญากู้เงินจากบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) จำนวน 290 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 7,250 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นวงเงินสูงสุดที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ของไทยได้รับจาก IFC

เงินกู้แบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นเงินกู้ระยะยาว 6 ปี จำนวน 750 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย LIBOR บวก 1% ส่วนที่สองเป็นการปล่อยกู้ร่วมระหว่าง IFC กับสถาบันการเงินต่างประเทศอีก 17 แห่ง ซึ่งมีวงเงินทั้งสิ้น 6,250 ล้านบาท อายุสัญญา 3 ปี อัตราดอกเบี้ยสู่งกว่าระดับ LIBOR เล็กน้อย

ส่วนสุดท้ายเป็นเงินสนับสนุนของ IFC เพื่อซื้อหุ้นกู้แปลงสภาพของ NFS จำนวน 250 ล้านบาท อายุหุ้นกู้ 7 ปี โดยมีสิทธิแปลงสภาพตั้งแต่ปีที่ 4 ของอายุหุ้นกู้ 5 ปีแรกกำหนดอัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ส่วน 2 ปี หลังกำหนดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวอิง LIBOR โดยขณะนี้ NFS อยู่ในระหว่างดำเนินการออกหุ้นกู้ดังกล่าว

เหตุผลที่ต้องมีการกู้ยืมเงินตราต่างประเทศเข้ามานั้น บันเทิงย้ำว่าเพื่อต้องการคงสภาพคล่องของกิจการไว้ให้มากที่สุด "เราเชื่อว่าดอกเบี้ยมันจะไม่ต่ำลง และภาวะเงินตึงตัวจะเกิดขึ้นอยู่ตลอดสิ่งนี้จึงทำให้เรามีนโยบายที่จะรับสถานการณ์อย่างนี้ดังนั้นเงินของเราจากการเพิ่มทุนหรือออกหุ้นกู้การกู้ต่างประเทศ เราจึงเน้นปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงินด้วยกันโดยตรงและโดยอ้อมประมาณ 30% ของยอดสินเชื่อเราทั้งหมดเกือบ 20,000 ล้านบาท เรียกได้ว่ามากที่สุดในอุตสาหกรรม"

ศุภเดชย้ำว่าการกู้ยืมดังกล่าวไม่ได้ทำให้ NFS มีความเสี่ยงสูงมากขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากบริษัทมีเงินกองทุนสูงอยู่แล้วจากกำไรสะสมในอดีตนั่นเอง

"ฐานเงินทุนของเราใหญ่มาก เงินกู้ของเรามีน้อย ทำให้เรามีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงถึง 23% ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในอุตสาหกรรม" ศุภเดชระบุชัด

นอกจากนี้เงินกู้ที่ว่ายังช่วยทำให้ต้นทุนทางการเงินของ NFS ต่ำลง นอกเหนือไปจากการมีต้นทุนเงินฝาก (ตั๋ว P/N) ต่ำกว่าไฟแนนซ์ขนาดใหญ่ประมาณ 0.25% แล้ว ดังนั้นผู้บริหารจึงมั่นใจว่าต้นทุนเงินของบริษัทสามารถแข่งขันได้กับไฟแนนซ์อื่น ๆ

สำหรับแนวโน้มของอุตสหากรรมเงินทุนที่จะมีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นกันทั้งในด้านการระดมเงินออมซึ่ง NFS คาดว่าจะเติบโตเพียง 7-8% ในปีหน้า และการปล่อยสินเชื่อซึ่งอัตราเติบโต้ทั้งระบบเพียงประมาณ 10% จากที่เคยสูงถึง 18-20% นั้น สองผู้บริหารจาก NFS ก็ยังยืนแนวทางเดิมนั่นคือ "ไม่แข่งขันทางด้านราคา"

เมื่อมองภาพรวมแล้ว NFS ก็ยังเป็นบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจที่รัดกุม ทั้งในด้านหลักทรัพย์ที่เริ่มปูทางไปสู่การเป็นโบรกเกอร์ในระดับภูมิภาคไว้บ้างแล้ว และในด้านเงินทุนที่เน้นคุณภาพของลูกหนี้ควบคู่ไปกับการมีฐานเงินทุนแข็งแกร่ง ซึ่งจะช่วยในเรื่องสภาพคล่องของบริษัทกระแสข่าว และราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมาจึงเป็นเพียงคลื่นลมลูกเล้ก ๆ ที่บังเอิญพัดผ่านมา ทว่าคลื่นลมดังกล่าวจะสงบอย่างถาวรหรือจะเกิดขึ้นระลอกใหม่ย่อมขึ้นอยู่กับว่าแนวรบด้านธุรกิจหลักทรัพย์และเงินทุนที่จะสร้างขึ้นต่อไป เหมาะสมและแข็งแกร่งเพียงพอที่จะสยบคลื่นลมดังกล่าวหรือไม่

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us