สศค.หารือสภาพัฒน์-แบงก์ชาติสรุปตัวเลขจีดีพี 3 ปีใกล้ลงตัว คาดเสนอ “ทนง”ทันสิ้นเดือนนี้ ระบุจีดีพีปี 50 ไม่ต่ำกว่า 3.8-4.0% และในปี 49 จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 4-5%ตามที่คาดไว้
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการประมาณการรายได้ 3 ปีข้างหน้า (2550-2552)ว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา สศค.ได้ทำการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งสามารถสรุปตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี)ใน 3 ข้างหน้าได้ใกล้เคียงกันแล้ว โดยคาดว่าจะเสนอให้นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาได้ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้อย่างแน่นอน
ทั้งนี้ เชื่อว่าจีดีพีในปี 2550ไม่น่าจะขยายตัวต่ำกว่าระดับ 3.8-4% ตามที่กระทรวงการคลังได้เคยคาดการณ์ไว้ ส่วนในปี 2549 ก็คาดว่าจะขยายตัวไม่ต่ำกว่าที่กระทรวงการคลังเคยประมาณการไว้ที่ 4-5% เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองเริ่มมีความชัดเจนแล้ว โดยกระทรวงการคลังจะมีการทบทวนและประกาศประมาณการจีดีพีปี 2549 ในช่วงวันที่ 29-30 สิงหาคมนี้
“ในการประชุมครั้งล่าสุด 3 หน่วยงาน สามารถคาดการณ์ตัวเลขจีดีพีได้ใกล้เคียงกันแล้ว แต่ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นตัวเลขใด เพราะต้องรอให้รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาก่อน ซึ่งเมื่อสรุปตัวเลขจีดีพีได้แล้วก็จะนำตัวเลขดังกล่าวมาเป็นสมมติฐานในการประมาณการรายได้ใน 3 ปีข้างหน้า โดยจะทำให้ทราบว่าจะเสนอแนวทางการจัดทำงบประมาณเป็นแบบขาดดุลหรือสมดุล”นายสมชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีบางประเด็นที่ 3 หน่วยงานมีการคาดการณ์ที่แตกต่างกันคือ การคาดการณ์ตัวเลขการเบิกจ่ายงบประมาณใน 3 ปีข้างหน้า โดยในเบื้องต้น สศค.คาดการณ์ว่าในปี 2550 จะมีการเบิกจ่ายต่ำกว่าปกติ คือ 89% ของงบประมาณทั้งหมด ส่วนในปี 2551-2552 การเบิกจ่ายจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติคือที่ระดับ 93%ของงบประมาณทั้งหมด
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจใน 3 ปีข้างหน้านั้น เชื่อว่าการส่งออกจะยังเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า คือ ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง และอินโดจีน โดยมองว่าใน 3 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวจะขยายตัวดี โดยเฉพาะประเทศจีน ที่เป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทย ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยขยายตัวได้ดีตามไปด้วย
สำหรับรายได้สุทธิของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2550 ในเบื้องต้นจะมีจำนวน 1,476,000 ล้านบาท ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2549 สูงกว่าประมาณการปีงบประมาณ 2549 ที่อยู่ในระดับ 1,360,000 ล้านบาท จำนวน 116,000 ล้านบาท หรือ 8.5 % และคิดเป็น 17.7% ของจีดีพี โดยแบ่งเป็นการประมาณจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรได้ 1,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเอกสารงบประมาณปี 2549 จำนวน 176,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17.4% กรมสรรพสามิต ประมาณการว่าจะจัดเก็บได้จำนวน 303,500 ล้านบาท ลดลงจากเอกสารงบประมาณปี 2549 จำนวน 9,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.9%
ขณะที่กรมศุลกากร ประมาณการว่าจะจัดเก็บได้จำนวน 103,000 ล้านบาท ลดลงจากเอกสารงบประมาณปี 2549 จำนวน 17,400 ล้านบาท หรือคิดเป็น 14.5% และหน่วยงานอื่น ประมาณการว่าจะนำส่งรายได้จำนวน 137,000 ล้านบาท ลดลงจากเอกสารงบประมาณปี 2549 จำนวน 500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.4% ส่วนประมาณการรายได้ปีงบประมาณ 2551 จะอยู่ที่ 1,601,500 ปี 2552 อยู่ที่1,737,600 และ ปี 2553 อยู่ที่1,885,300 ล้านบาท
|