กระทรวงการคลังอนุมัติผู้บริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพรายใหม่เมื่อวันที่
28 มิ.ย.39 ผลจากนโยบายเพิ่มเงินออมระยะยาว สถาบันการเงินประเภทต่าง ๆ 17
รายรับอานิสงส์กันไปถ้วนหน้าไฟแนนซ์เจ้าตลาดถึงกับออกปาก "เยอะไม่กลัว
แต่กลัวแบงก์" สำหรับรายใหม่ทีมงานที่แข็งแกร่ง และแขนขาที่ว่าแน่ อาจจะแพ้
เพราะไม่มีผลงานมาพิสูจน์ให้มั่นใจ งานนี้คงต้องหวังพึ่งบริษัทในเครือกันไปก่อน
เพราะเป็น 'สิบเบี้ยใกล้มือ' ส่วนที่เนื้อหอมสุดเห็นจะไม่พ้นรัฐวิสาหกิจ
เพราะต้องเร่งจัดตั้งให้เสร็จก่อนสิ้นปีงบประมาณ' 40 ไฟแนนซ์จะยังอยู่ หรือแบงก์จะเข้าครองคงต้องจับตาดูว่าช่วงฤดูกาลนี้ใครจะได้รัฐวิสาหกิจไปบริหารกันเท่าไรและสิ้นปี'40
ผลการบริหารกองทุนแต่ละรายเป็นอย่างไร
จากประกาศสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2539
อนุญาตให้สถาบันการเงินอีก 17 รายได้เข้ามาทำธุรกิจบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
(PROVIDENT FUND) ทำให้ในปัจจุบันมีสถาบันการเงินไทยที่มีใบอนุญาตทำธุรกิจนี้อยู่ทั้งสิ้น
36 ราย
การเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินอื่นเขามาทำธุรกิจได้นอกเหนือจากไฟแนนซ์นั้น
เป็นผลสืบเนื่องจาก ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่อยู่ในสถานการณ์ค่อนข้างวิกฤตจากผลงานของรัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมา
ปัญหาเงินเฟ้อ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการส่งออกลดลง สิ่งเหล่านี้ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่กล้าที่จะลงทุนในประเทศ
เนื่องจากไม่มั่นใจในเสถียรภาพทางการเงิน และการเมืองของไทย ส่งผลให้สถานการณ์การเงินในประเทศมีความตึงตัว
เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าว ภาครัฐ จึงต้องการเร่งระดมเงินออมในประเทศ
เพื่อเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เป็นการบรรเทาภาวะเงินตึงตัวดังกล่าว
จึงผลักดันให้เกิดการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพขึ้น
ในปี' 38 ยอดคงค้างของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีอยู่ในระบบมีไม่ถึง 1.5%
ของรายได้ประชาชาติซึ่งถือว่าน้อยมาก และผู้ที่เข้าร่วมกองทุนมีประมาณ 2%
ของแรงงานทั้งหมด การเปิดโอกาสให้รายใหม่เข้ามามากนั้นย่อมเป็นผลดีต่อระบบโดยรวมเนื่องจากเป็นการกระตุ้นทั้งอุตสาหกรรม
โดยเฉพาะรายใหม่อย่างแบงก์ หรือประกันที่มีสาขาอยู่ตามจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจนี้ขยายไปยังต่างจังหวัดซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจนี้ขยายไปยังต่างจังหวัดได้เร็วยิ่งขึ้นแต่ในส่วนผู้จัดการกองทุนฯ
รายเก่าที่ทำธุรกิจนี้อยู่ก่อนแล้วโดยเฉพาะรายใหญ่นั้นมองเหตุการณ์ครั้งนี้แล้วการปรับตัวต้องเกิดมีขึ้นอย่างแน่นอน
แต่จะไปในทิศทางใด รายใหม่ที่เข้ามาจะทำจริงสักกี่ราย จะสู้รายเก่าได้มากน้อยเพียงใด
คงต้องอาศัยเวลาและรอดูผลการดำเนินงานเป็นเครื่องพิสูจน์
รายใหม่แบงก์คึกคักสุดเตรียมใช้สาขา-ให้บริการเสริม
รายใหม่ที่ถูกจับตามองมากที่สุดหนีไม่พ้น 3 แบงก์ใหญ่อย่างธ.กรุงเทพ ธ.กสิกรไทย
และธ.กรุงไทย โดยเฉพาะ ธ.กรุงเทพนั้น เริ่มเขย่าวงการตั้งแต่ได้ใบอนุญาตมาใหม่หมาด
ๆ ประมาณเดือนกรกฎาคม ด้วยข่าวแผนการร่วมมือกับ เอ.ไอ.เอ. ยักษ์ใหญ่แห่งธุรกิจประกันชีวิตที่ได้รับใบอนุญาตในงวดนี้ด้วยเหมือนกัน
ธ.กรุงเทพ ถือว่าเป็นรายใหม่รายแรกที่เริ่มออกตัวลุยธุรกิจนี้ก่อนใครเนื่องจากเตรียมความพร้อมทางด้านต่าง
ๆ ไว้ล่วงหน้าอยู่ก่อนแล้ว ทีมงานปัจจุบันมีประมาณ 10 คน นำโดย รัชนีพรรณ
ยุกตะเสวี ภายใต้การดูแลโดยตรงจากดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่
สำหรับนโยบายบริหารจะแบ่งกองทุนเป็น 2 ประเภท คือ กองทุนใหญ่ตั้งแต่ 10 ล้านบาทจนถึง
1,000 ล้านบาท และกองทุนร่วม (POOL FUND) เป็นการรวมหลาย ๆ กองทุนที่มีขนาดเล็กเข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มอำนาจในการต่อรองผลประโยชน์
ทั้งนี้ในการดำเนินงานนั้นดร.พิสิฐ ให้ความเห็นว่า "จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใดนั้นคงต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานต่าง
ๆ ของธนาคาร รวมทั้งสาขาและฝ่ายสินเชื่อทั้งในเขตนครหลวง และต่างจังหวัดอันถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำธนาคารไปสู่การเป็นธนาคารที่ให้บริการได้อย่างครบวงจร"
และดร.พิสิฐยังตอกย้ำท่าทีเดิมที่มุ่งจะทำธุรกิจนี้อย่างชัดเจนอีกว่า "แม้ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะไม่สร้างรายได้ให้กับธนาคารมากนัก
แต่ธนาคารก็ยึดหลักทำธุรกิจให้ครบวงจรเพื่อบริการลูกค้าได้อย่างทั่วถึง"
นั่นหมายถึงว่า ธ.กรุงเทพ 'เอาแน่' กับธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และเตรียมจะใช้แขนขนที่มีอยู่ทั่วประเทศให้เป็นรูปธรรมขึ้น
เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายหลักของ ธ.กรุงเทพ ซึ่งดร.พิสิฐย้ำอยู่ในขณะนี้ว่าต้องทำธุรกิจแบบครบวงจร
ซึ่งในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ไฟแนนซ์เจ้าตลาดเดิมกำลังกลัวและเตรียมรับมืออยู่เช่นกัน
ธ.กสิกรไทย นำทีมด้วยวาณิชธนากรมือฉมัง บุณทักษ์ หวังเจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ
รายเก่าอย่างภัทรธนกิจ และทิสโก้ถึงกับออกปากในทำนอง ที่ว่า 'ไปที่ไหนเจอที่นั่น'
ด้วยชื่นชมถึงการมีทีมงานที่เข้มแข็ง และวิธีการนำเสนอข้อมูลต่อลูกค้าอย่างมืออาชีพ
บุญทักษ์มั่นใจว่าในปี' 39 ธ.กสิกรไทยจะสามารถชิงส่วนแบ่งการตลาด ของธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ประมาณ
8-10% ของวงเงินบริหารทั้งระบบประมาณ 7 หมื่นล้าน "นอกจากฐานลูกค้าเดิมแล้วลูกค้ากลุ่มเป้าหมายจะเป็นรัฐวิสาหกิจ
และบริษัทขนาดใหญ่ที่มีสาขามาก เพราะธนาคารมีจุดเด่นที่มีสาขาทั่วประเทศ
ส่วนกลุ่มลูกค้าขนาดเล็กจะใช้วิธี POOL FUND" บุญทักษ์กล่าวถึงเป้าหมายของธนาคาร
ส่วนผลตอบแทนนั้น ทวิช ธนะชานันท์ผู้อำนวยการฝ่ายวาณิชธนกิจกล่าว่า "ดอกเบี้ยผลตอบแทนลูกค้าต่อการเข้าร่วมในกองทุนที่มีธ.กสิกรไทยเป็นผู้จัดการ
คืออัตราดอกเบี้ยเงินฝากบวก 1-2%"
ธ.กรุงไทย ที่หลายคนมองว่างานนี้คงได้เปรียบด้วยสายสัมพันธ์ทางธุรกิจจึงธ.กรุงไทย
น่าจะได้กองทุนของรัฐวิสาหกิจไปบริหารค่อนข้างมาก ธีรพันธุ์ จิตตาลาน ผู้จัดการ
สำนักบริการตลาดทุน ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า "องค์กรรัฐวิสาหกิจตรงนี้ส่วนแบ่งตลาดประมาณ
7 หมื่นล้าน ที่จัดตั้งแล้ว 26 แห่ง เป็นเงินประมาณ 3 หมื่นล้าน ยังไม่ได้จัดตั้งอีกประมาณ
30-40 แห่ง องค์กรใหญ่ ๆ ตั้งไปเกือบหมดแล้วที่ยังไม่ตั้งก็เช่น องค์การโทรศัพท์ฯ
การประปาภูมิภาค การประปานครหลวงที่เหลือส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานย่อย ๆ เช่นองค์การทอผ้า
องค์การสุรา องค์การสวนสัตว์ การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งพนักงานมีประมาณ 100-500
รายเท่านั้น"
แต่ธีรพันธุ์ยังคงยืนยันว่า ด้วยสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 500 สาขา
และเตรียมจะเปิดเพิ่มเป็น 700 สาขาให้ครบทุกอำเภอซึ่งถือเป็นจุดแข็งของแบงก์รวมทั้งทีมงานกว่า
55 ชีวิตที่คลุกคลีกับงานนี้มาปีกว่าเชื่อมั่นว่าภายใน 3 ปี ธ.กรุงไทยจะมีกองทุนบริหารเป็นส่วนแบ่งตลาดไม่ต่ำกว่า
15% ด้วยกลยุทธ์ที่เขาย้ำนักย้ำหนาคือการดำรงเงินกองทุนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด
ส่วนบริษัทประกันอย่างเอ.ไอ.เอ. โดยวิสิฐ ตันติสุนทร รองประธานอาวุโสและรองประธานภูมิภาคฝ่ายการลงทุน
และมีหน้าที่ดูแลพอร์ตการลงทุนของบริษัทอยู่ด้วยนั้น ได้ออกมาประกาศว่าธุรกิจนี้น่าสนใจมากและคาดการณ์ว่า
ภายใน 5 ปีเอ.ไอ.เอ. จะมีส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจนี้ประมาณ 8-10% ของมูลค่าตลาดรวมที่น่าจะเพิ่มขึ้นเป็น
1.2 แสนล้านบาท จากการที่ฐานลูกค้าจำนวน 5 พันบริษัทที่มีอยู่ทั้งบริษัทไทย
และบริษัทข้ามชาติ และในส่วนบริษัทเองก็มีหัวหน้าตัวแทนประมาณ 3 พันคนและตัวแทนรายย่อยอีก
3 หมื่นคนบริษัทจึงน่าจะมีรายได้จากธุรกิจนี้เช่นกัน
บ.ไทยประกันชีวิต หนึ่งในประกัน 3 รายที่เริ่มไปบ้างแล้วนั้น นำทีมโดยชลธิชาควรทรงธรรม
ภายใต้การดูแลของ วรางค์ เสรฐภักดี ผู้จัดการสายงานและรอมากว่า 2 ปี นโยบาย
ในช่วงแรกนี้วรางค์กล่าวว่า "จะมุ่งบริษัทในเครือต่อจากนั้นก็เป็นลูกค้าประกันชีวิตหมู่เพราะมีสมาชิกเป็นพันราย
โดยจะเริ่มในกรุงเทพฯ และแถบปริมณฑล แล้วจึงไปต่างจังหวัดที่เรามีสำนักงานสาขาขนาดใหญ่อยู่
63 แห่ง" ด้วยทีมงานที่มีอยู่ 4-5 คน คาด ว่าปี'40 น่าจะเพิ่มเป็น 7-8
คน และเธอจะใช้ทีมฝ่ายขายช่วยเจาะช่องทางเพื่อเข้าถึงตัวลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย
วรางค์หวังว่าอีก 5 ปี น่าจะถึงจุดคุ้มทุนด้วยมูลค่ากองทุนภายใต้การบริหารประมาณ
400-500 ล้านบาท ส่วนระบบคอมพิวเตอร์ได้ที่ปรึกษา ซึ่งเคยร่วมงานที่บล.กองทุนรวมมาช่วยเขียนและประสานระบบตอนนี้สามารถใช้งานได้แล้ว
น่าสังเกตว่าทั้งธนาคารพาณิชย์ และบริษัทประกันที่ได้รับใบอนุญาตใหม่นี้
ต่างมั่นใจในฐานลูกค้าของตนโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดซึ่งไฟแนนซ์ทั้งหลายต้องยอมรับว่าตัวเองไปไม่ถึงตลาดส่วนนี้เท่าไรนัก
ดังนั้นส่วนแบ่งตลาดที่ตั้งเป้ากันไว้นั้นมีความจริงได้ไม่ยากนักเพราะแขนขาในต่างจังหวัดคงช่วยได้เยอะ
รอบนี้ TRACKRECORD ยังเป็นสิ่งสำคัญ
เมื่อดูรายใหม่แต่ละรายแล้ว น่าจะเป็นที่หนักใจของผู้จัดการกองทุนรายเก่าอยู่มิใช่น้อยเพราะแต่ละรายมีความเป็นมืออาชีพการันตีความสามารถอยู่แล้วทั้งสิ้น
กระนั้นก็ตามรายเก่าเจ้าของส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่ง อย่างบงล.ทิสโก้
(TISCO) ก็ไม่ได้ประมาท แม้จะมีความกริ่งเกรงในด้านชื่อเสียงความสามารถของคู่แข่งโดยเฉพาะ
3 แบ่งก์ยักษ์ใหญ่ ด้วยสาขาของแบงก์ที่ระโยงระยางกระจายตัวไปทั่วประเทศ ซึ่งหมายถึง
การรุกคืบสู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้สะดวกสบายและรวดเร็วในพื้นที่ต่างจังหวัด
และการมีสาขามากยังทำให้การบริการของแบงก์ย่อมมีประสิทธิภาพไปด้วย
"แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะเสียเปรียบเสียทีเดียว เพราะมองว่าเจ้าเก่าหลายรายก็คงยังอยู่ได้ในตลาด
อย่างทิสโก้เราได้เปรียบในแง่ที่เรามีประสบการณ์มีความเชี่ยวชาญในการบริหารมาเป็นเวลานาน
เราบริหารมาก่อนที่ พ.ร.บ.ปี'30 จะออกรับรองรวมแล้วประมาณ 15 ปี และอีกประมาณหนึ่งเราผลงานอดีตเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าเรามีความเชี่ยวชาญ"
ภควิภา เจริญตรา ผู้จัดการฝ่ายและหัวหน้าการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กล่าวอย่างมั่นใจถึงผลงานในอดีตของทิสโก้
เช่นเดียวกับ กุลนันท์ ซานไทโว ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารกองทุนแห่ง บงล. ภัทรธนกิจ
(PHATRA) ที่เห็นด้วยว่าผลงานในอดีตยังเป็นสิ่งสำคัญ
"ยอมรับว่าการแข่งขันค่อนข้างจะรุนแรงในลักษณะบริการเสริมแบงก์ใหญ่สามารถให้ได้
ในรูปของ ATM บัตรเครดิต ซึ่งอาจยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า ซึ่งเป็นสิ่งที่มา
SUBSIDIZE ราคา ส่วนค่าจัดการก็เป็นอีกเรื่อง มันเป็นกลยุทธ์ที่แบงก์ใหญ่จะเข้ามาเล่นตรงนี้
แต่รอบนี้เรายังไม่ค่อยกลัว เพราะ TRACK RECORD ยังเป็นเรื่องสำคัญมากในการที่จะเลือกผู้จัดการกองทุน
ซึ่งภัทรฯ ก็มี TRACK RECORD ที่ค่อนข้างดี ครึ่งปีที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนของกองทุนเรา
12.4% ในขณะที่ fixed อยู่ประมาณ 10.3%" กุลนันท์กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่าเธอและทีมงานยังสู้ได้ไม่ยากนักในรอบแรก
เหตุผลที่คีย์วูแมน 2 รายใหญ่ยกมานั้น ค่อนข้างจะเป็นสิ่งที่ฟังขึ้นทีเดียวเนื่องจากเงินกองทุนเป็นเงินของลูกจ้าง
และนายจ้างที่ลงขันกันคนละครึ่ง ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการตัดสินใจอะไรลงไปเกี่ยวกับเงินก้อนนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดหาผู้จัดการกองทุน
เพราะคำมั่นสัญญาที่แต่ละผู้จัดการให้ไว้เมื่อครั้งมานำเสนอแผนงงานนั้น
เอาเข้าจริงแล้วก็ให้หลักประกันความมั่นใจอะไรไม่ได้นัก เพราะในอดีตและปัจจุบันก็รู้กันอยู่ว่า
ผู้จัดการกองทุนบางรายบริหารขาดทุนมาแล้วและไม่เฉพาะอัตราผลตอบแทนเท่านั้นที่ไม่เป็นไปตามเป้า
แม้กระทั่งเงินกองทุนเองก็ถูกกินส่วนจากการขาดทุนไปด้วย เนื่องจากการลงทุนในหุ้นเป็นปัจจัยสำคัญ
ดีหน่อยตรงที่เป็นเพียงการขาดทุนที่ยังไม่รับรู้ (UNREALIZE LOST) แต่เมื่อใดก็ตามที่มีการขายหุ้นที่ถืออยู่ออกมาก็จะปรากฎชัดถึงผลขาดทุนที่เกิดขึ้น
สิ่งเหล่านี้บริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนที่ถูกเลือกเพื่อมาเป็นตัวแทนทั้งลูกจ้างและนายจ้างเล็งเห้นและตระหนังถึงปัจจัยข้อนี้มากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันจึงได้มีการจัดเกณฑ์การพิจารณาผู้จัดการกองทุนฯ เพื่อเป็นบรรทัดฐานในการเลือกอย่างเป็นกิจลักษณะกว่าในอดีต
"อันนี้ต้องขอบคุณ การไฟฟ้านครหลวงโดย คุณสุรชัยที่เป็นคนให้ข้อมูลกับรัฐวิสาหกิจทั้งหลายว่า
การที่จะก่อตั้งกองทุนฯของกฟน.มาได้ขนาดนี้นั้นมีปัญหาอะไรบ้าง รวมทั้งเป็นที่ปรึกษาให้กับรัฐวิสาหกิจ
เขาจะมีบรรทัดฐานในการพิจารณา เช่น ค่าธรรมเนียมการบริหารกองทุน, อัตราผลตอบแทน,
ผลงานในอดีต, ข้อมูลข่าวสารที่จะสนับสนุนการลงทุน, ความโปร่งใสในการรายงานข้อมูล,
นโยบายให้อิสระกับหน่วยงานที่บริหารกองทุน เพราะบางที่อาจมี CONFLICT ในกรณีฝ่ายวาณิชธนกิจจะเอาหุ้นจองมาขายให้"
กุลนันท์กล่าวถึงบทบาทของกฟน. ที่มีส่วนช่วยให้กิจกรรมขอกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีพัฒนาการที่ดีขึ้น
และด้วยผลงานในอดีตนี่เองแม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังต้องเลือกใช้บริการผู้จัดการกองทุนจากรายเก่าทั้งหมดในการบริหารเงินกองทุนประเดิมขั้นต้นประมาณ
7,000 ล้านบาท จาการคาดการณ์ว่าระหว่างวันที่ 1-8 พ.ย. จะมีพนักงานธปท. เข้าร่วมสมัครเป็นสมาชิกกองทุนไม่ต่ำกว่า
85% ของจำนวนพนักงาน 5,200 คน ซึ่งรวมถึงพนักงานในภาคต่าง ๆ ด้วย
โดยให้บงล.ทิสโก้เป็นแกนนำในการบริหารเงินกองทุน และผู้จัดการกองทุนแต่ละรายซึ่งหมายรวมถึง
บงล.ภัทรธนกิจและบงล.ธนสยาม จะได้เงินทุนไปบริหารรายละ 2,500 ล้านบาท แต่หากวงเงินประเดิมเพิ่มขึ้นสูงเป็น
7,500 ล้านบาท บงล.สินเอเชียก็ได้เข้าร่วมบริหารด้วย "ผู้จัดการกองทุนจะเป็นกี่รายขึ้นกับวงเงินประเดิม
แต่จะเลือกผู้จัดการกองทุนตามลำดับที่พิจารณาคัดเลือกไว้" เริงชัย มะระกานนท์
ผู้ว่าการธปท.กล่าวถึงกฎเกณฑ์ที่วางไว้
ปรับระบบคอมฯ - เพิ่ม MARKETING - เสริมบริการหวังรักษาส่วนแบ่งตลาด
แม้จะมี TRACK RECORD เป็นเครื่องการันตีความสามารถ แต่ใช่ว่าเจ้าสนามจะภูมิใจอยู่กับความสำเร็จของตนเมื่อครั้งในอดีตเท่านั้น
การปรับตัวเพื่อรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นสิ่งที่สำคัญเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ให้ได้มากที่สุด
"เรายอมรับว่าการแข่งขันที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ปรับตัว เพราะถ้าเรายืนอยู่เฉย
ๆ สักวันหนึ่งตลาดนี้ก็คงจะเป็นของแบงก์" ภควิภากล่าวอย่างรู้สถานการณ์ของตัวเอง
เริ่มจากการปรับปรุงระบบคอมพิวเตอร์ เพราะถ้าระบบดีย่อมหมายถึงการบริการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพทิสโก้ได้ลงทุนเพิ่มเติมในด้าน
SOFT WARE เพื่อเพิ่มขีดความสามารในการให้บริการ เนื่องจากทิสโก้มีสมาชิกกองทุนที่ต้องดูแลประมาณ
2 แสนรายจากทั้งอุตสาหกรรมที่มีสมาชิกกองทุนประมาณ 7 แสนรายจึงนับว่าค่อนข้างมากทีเดียว
การพัฒนาระบบ SOFT WARE ของทิสโก้เน้นพัฒนาเพื่อเพิ่มบริการเสริมโดยภควิภายืนยันว่าไม่ได้ซื้อโปรแกรมจากเมืองนอก
แต่ใช้หน่วยสนับสนุนทางด้านคอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้วคิดค้นพัฒนาขึ้นเอง ทีมงานที่ดูแลระบบของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉพาะมีอยู่
4-5 คนดึงจากส่วนกลางที่มีอยู่ทั้งหมด 60-70 คน
"เราจะวิเคราะห์ดูว่าบริการใดที่แบงก์ให้แล้วเราให้ได้ อาจจะเป็นรูปแบบอื่นแต่ผลที่สมาชิกได้รับเหมือนกัน
อย่างเราไม่มี ATM ก็อาจให้ข้อมูลผ่านระบบ ON LINE ซึ่งเขาก็ดู INDIVIDUAL
STATEMENT ได้เหมือนกัน และประหยัดเวลากว่าที่สมาชิกจะต้องไปเสียบบัตร ATM
คิดว่าต้นปีหน้าเราคงมีบริการเสริมออกมาอีก 2-3 อย่างนอกจาก ONLINE คือ บริการเสียงเวลาลูกค้าโทรมาถามข้อมูล"
ภควิภา กล่าวถึงบริการเสริมของทิสโก้ที่จะมาแข่งกับบริการของแบงก์
ข้างฝ่ายภัทรฯ นั้นลงทุนซื้อระบบ FINANCIAL MODEL จากต่างประเทศกว่า 10
ล้านบาท ตั้งแต่ปี'38 ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นปรับปรุงให้ประสานกับระบบเดิมไปทีละส่วน
"เป็นระบบที่จะทำ STRUCTURE PORTFOLIO INVESTMENT เหมือนกับที่บลจ.
บางที่เขาลงทุนกัน ทำให้ผู้จัดการกองทุนคนเดียวดูได้เป็นร้อยกอง" กุลนันท์กล่าวถึงประสิทธิภาพของระบบ
ในด้านทีมงานที่ดูแลด้านกองทุนกุลนันท์แห่งภัทรฯ กล่าวว่ายังคงอัตราไปจนกว่าจะถึงปีหน้าเพราะทีมงานที่มีอยู่ค่อนข้างใหญ่
ผู้จัดการกองทุน 6 คนเมื่อมีระบบ FINANCIAL MODEL เข้ามาก็คงจะช่วยผ่อนงานลงได้แม้ว่าจะมีงานเข้ามากขึ้นและ
ยังมี ดีลเลอร์อีก 4 คน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ธุรการทำระบบบัญชี ระบบสมาชิก
จ่ายเช็คที่คอยช่วยเป็นส่วนสนับสนุนอีกประมาณ 19 คน เจ้าหน้าที่กฎหมาย 2
คนที่ทำเกี่ยวกับสัญญา การจัดตั้งใหม่และกฎระเบียบใหม่ ๆ ส่วนเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ของกองทุนมี
2 คน ที่ต้องค่อย SET UP ระบบของภัทรฯ กับระบบของลูกค้าที่มาใหม่ ในส่วนระบบจ่ายเงิน
ระบบโอนเงินสมทบเพื่อให้เชื่อมโยงกับระบบของลูกค้า สำหรับเจ้าหน้าที่การตลาดที่ต้องค่อยติดต่อกับลูกค้าโดยตรงมีทั้งหมด
7 คน รวมทั้งกุลนันท์ และเธอกล่าวว่าอาจจะเพิ่มเป็น 10 คนขึ้นกับปริมาณงานที่จะเข้ามา
เทียบกับทิสโก้มีเจ้าหน้าที่เต็มเวลาทำงานในส่วนการตลาด การลงทุน และบริหารสมาชิกกว่า
30 คน โดยในส่วนของบริหารระบบสมาชิกนี้ทิสโก้ได้แยกออกเป็นฝ่ายต่างหาก "เรา
เพราะเรามองว่าเรามีสมาชิกเยอะมากจะได้รองรับได้อย่างเต็มที่" ภควิภาให้เหตุผล
นอกจากนี้ ยังมีทีมงานสนับสนุนอีกประมาณ 50 คน และด้านบัญชีอีก 10 คนที่มาจากส่วนกลางเพื่อมาช่วยงานกองทุนฯ
โดยเฉพาะ
สำหรับส่วนแบ่งตลาดนั้นปี'39 ภควิภาคาดว่าอย่างไรเสียทิสโก้ก็ยังคงครองความเป็นอันดับหนึ่งด้วยสัดส่วน
30% อยู่ได้ส่นภัทรน นั้นกุลนันท์กล่าวว่าสิ้นปี'39 ภัทรฯจะตีตื่นบงล.ธนสยามขึ้นมาเป็นอันดับ
2 ได้แน่นอน
หมดสมัยการันตีรีเทิร์น คนประกันเจ็บตัว-สมาชิกแย่
นอกจากผลการบริหารกองทุน และการบริการแล้วจุดขายอีกประการหนึ่ง ในอดีตที่ผู้จัดการกองทุนแต่ละรายงัดออกมาใช้สู้ศึก
เพื่อแข่งกันก็คือ การประกันอัตราผลตอบแทน หรือ GUARANTEED RETURN แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่าทุกคนต่างพยายามไม่พูดถึงสิ่งนี้เสียแล้ว
ภควิภาได้ให้ประวัติศาสตร์ของเรื่องนี้ไว้ว่า "ตลาดกองทุนฯ บ้านเราเป็นเรื่องใหม่ถ้าเทียบกับอังกฤษหรืออเมริกาที่ผ่านมา
40-50 ปีแล้ว แต่ประเทศเราเริ่มได้ไม่นานนักสมาชิกยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯค่อนข้างมากยังไม่ต้องพูดถึงคนต่างจังหวัด
คนในกรุงเทพเองก็มีอีกเยอะที่ยังไม่ได้เป็นสมาชิก เพราะฉะนั้นการสร้างความมั่นใจกับลูกค้าจึงต้องใช้เวลานานในการให้ความรู้เขา
ถ้าผู้จัดการบอกเขาว่าอย่างน้อยคุณได้เท่านั้นเท่านี้ก็ไม่ต้องอธิบายกันนาน
การการันตีจึงเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้หาลูกค้าได้ แต่ถ้าในอนาคตโดยเฉพาะขณะนี้เมื่อกระทรวงคลังออกมาบอกว่าจะตั้งกฎให้บริษัทที่มีความเกี่ยวข้องกับทางราชการต้องจัดตั้งกองทุนฯ
ถึงตอนนั้นตลาดคงพร้อมขึ้นมองว่าทุกคนน่าจะรับรู้ข่าวสารและเข้าใจได้มากขึ้นด้วยว่า
การการันตีน่าจะมีข้อเสียเปรียบมากกว่าข้อได้เปรียบโดยเฉพาะเมื่อหุ้นแย่
ๆ"
แน่นอนขณะที่หุ้นขึ้นผู้จัดการกองทุนแต่ละรายต่างก็ลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทนี้อย่างเต็มพิกัด
25% ทุกคนได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นกอบเป็นกำเข้าสไตล์ 'บริหารง่ายกำไรงาม'
บางแห่งถึงกับการันตีอัตราผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก 1 ปีของธนาคาร
3-4% เลยทีเดียว และบางครั้งผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนในหุ้นนั้นเลยไปจากจุดที่การันตีไว้เสียด้วยซ้ำ
ผู้จัดการกองทุนจึงอาจมีรายได้เข้ามาถึงสองทางคือทั้งผลตอบแทนที่ได้เกินจากการการันตีไว้
และอีกส่วนหนึ่งก็เป็นค่าจัดการที่บริหารงานได้ตามเป้าหมาย
แต่ในภาวะที่หุ้นตกช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมานี้ทุกคนเจ็บเพราะไม่เคยมีใครคาดคิดว่าหุ้นจะตกลงมา
40-50% บางคนถึงกับคาดการณ์ว่าน่าจะลงไปถึงระดับดัชนี 850 จุด เพราะเป็นจุดเดียวกันก่อนที่ดัชนีจะพุ่งขึ้นไปทะลุ
1,600-1,700 จุด
ผู้จัดการกองทุนฯ รายที่ไปการันตีผลตอบแทนไว้จึงอยู่ในอาการบาดเจ็บกันโดยถ้วนทั่วเพราะจำเป็นต้อง
'ชักเนื้อ' ตัวเองเพื่อจ่ายผลตอบแทนแก่สมาชิกกองทุนตามที่ตนได้การันตีไว้มากบ้างน้อยบ้าง
ไปตามส่วน
แต่ที่เจ็บหนักที่สุดเห็นจะเป็นสมาชิกหลายรายจะอยู่ในอาการ 'ทุนหายกำไรหมด'
เพราะผู้จัดการกองทุนที่นำเงินกองทุนส่วนหนึ่งไปลงทุนในหุ้นและเมื่อหุ้นตกแต่ขายออกไม่ทันจนขาดทุนและบางครั้งกินส่วนไปถึงต้นทุนด้วย
แม้ผู้จัดการกองทุนจะรับผิดชอบในส่วนอัตราผลตอบแทนที่ได้การันตีไว้ แต่ในส่วนเงินกองทุนนั้นไม่มีระบุไว้ในสัญญาว่าจะต้องจ่ายถ้าทำขาดทุน
เพราะ จะว่าไปยังถือว่าเป็นการขาดทุนเสียทีเดียวเลยก็ยังไม่ได้นัก เพราะเป็นส่วนที่ติดอยู่ในหุ้นเป็นการขาดทุนที่ยังไม่รับรู้
(UNREALIZE LOST) แต่เมื่อใดก็ตามที่ขายหุ้นที่ราคาต่ำกว่าตอนซื้อออกมาผลขาดทุนก็จะปรากฎชัดเจนซึ่งสมาชิกต้องรับผลตรงนี้ไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เว้นเสียแต่ว่าจะไม่ขายจนกว่าหุ้นจะขึ้นจนถึงจุดคุ้มทุนหรือได้กำไร ซึ่งก็ไม่แน่ว่าเวลานั้นจะมาถึงเมื่อไร
และมีปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีกถ้ากองทุนนั้นครบกำหนดการบริหาร เพราะสมาชิกหรือคณะกรรมการกองทุนต้องมานั่งทบทวนว่า
จะยินดีให้ผู้บริหารรายเดิมต่ออายุสัญญาหรือไม่ หรือจะเปลี่ยนให้ผู้จัดการกองทุนรายใหม่เข้ามาบริหาร
และจะทำอย่างไรกับหุ้นที่ยังติดอยู่
ภควิภาซึ่งยืนยันว่าในอดีตทิสโก้ไม่เคยการันตีผลตอบแทนได้ให้คำตอบอย่างน่าฟังสำหรับกองทุนที่บริหารแล้วขาดทุนว่า
"เราคงรับแล้วก็ MARK TO MARKET (ราคาตลาด) คือ รับมา AT COST (ราคาทุน)
รับมาทั้งหมดแต่เราขอเริ่มนับผลการดำเนินงานที่ราคาตลาด โดยเราจะไม่ให้เขาขายพอร์ตทิ้ง
เพราะถ้าขาย YIELD จะกระทบกับสมาชิก"
ส่วนกุลนันท์แห่งภัทรฯ รายนี้เป็นที่ทราบว่าในอดีตได้ใช้กลยุทธ์การันตีผลตอบเช่นกันแต่ในปัจจุบันเธอบอกว่าเลิกใช้กลยุทธ์นี้ไปแล้วเหมือนกัน
และได้ให้ความเห็นในกรณีที่มีบริษัทลูกค้าเข้ามาในอาการ 'ทุนหายกำไรหมด'
แบบนี้ว่า "เราต้องรับในแง่ ACCOUNTING ณ ราคาทุนถ้าเรารับในราคาตลาด
คนที่ได้รับความเสียหายก็คือสมาชิก เพราะฉะนั้นเราจึงค่อนข้างเป็นห่วงคณะกรรมการและสมาชิกกองทุน
ดังนั้นเราจะรับมาที่ COST แต่เราก็ขอร้องว่าการวัด PERFORMANCE ต่อไปเพื่อค่าจัดการแก่เราจะมาวันที่
COST ไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำขาดทุนเอาไว้ ก็ขอให้วัดในรูปมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ
อันนี้ไม่ใช่เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับภัทรฯ แต่มันจะ COMPROMISE แก่ทุกฝ่าย"
จะว่าไปแล้วกองทุนที่มีปัญหาเช่นนี้อาจเรียกได้ว่ามีด้วยกันทุกกองทุนที่ลงทุนในหุ้น
เพราะสาเหตุจากหุ้นตกเกินความคาดหมาย ในสายตากุลนันท์ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
และเธอมีความเห็นต่อพอร์ตหุ้นเหล่านี้ว่า "หุ้นลงมา 40% พอร์ตที่ลงทุนหุ้นมาตั้งแต่ต้นปี
คิดว่าไม่มากก็น้อยต้องมี UNREALIZE LOST ซึ่งไม่เป็นเรื่องที่แปลกถ้าการลงทุนนั้น
BASE ON FUNDA MENTAL หุ้นมันลงได้มันก็ขึ้นได้ถ้า FUNDAMENTAL ยัง BACK
UP และ 10 ปีที่ผ่านมาผลตอบแทนจากตั๋วสัญญาใช้เงินดอกเบี้ยเงินฝาก ทบต้นไปเรื่อย
ๆ เอามาทำเฉลี่ยดู 10% ในขณะที่หุ้น 10 ปีที่ผ่านมาให้ผลตอบแทน 23% ต่างชาติก็บอกว่าหุ้นดีกว่า
FIXED INCOME แน่นอนในระยะยาว ซึ่งกองทุนสำรองมันคือระยะยาวที่ซื้อก็ BASE
ON FUNDAMENTAL ที่ถือก็เพราะ FUNDAMENTAL มันเปลี่ยนเช่นผู้บริหารเป็นทีมใหม่ที่บริหารไม่ดี
จึงคิดว่าในระยะยาวมันต้อง GAIN เพราะฉะนั้นเรื่องขาดทุนจึงไม่แปลก"
ปัจจุบันผู้จัดการกองทุนหลายรายจึงมีนโยบายลดพอร์ตการลงทุนในหุ้นลงเหลือประมาณ
5-6% เท่านั้นจากเกณฑ์ที่เปิดให้ถึง 25% แต่บางรายอย่างธีรพันธุ์กล่าวว่า
กองทุนที่ธ.กรุงไทยบริหารอยู่นั้นในภาวการณ์อย่างนี้อาจจะไม่ลงทุนในหุ้นเลยในขณะที่บางรายอย่างภัทรฯ
ตอนนี้อยู่ที่ 4-7% แต่ถ้าหุ้นบูมมาก ๆ อาจจะถึง 15% ส่วนที่เหลือก็เป็นตั๋ว
P/N กับเงินฝากส่วนทิสโก้เฉลี่ยทั้งปีลงทุนในหุ้นประมาณ 10-15% ส่วนหลักทรัพย์ประเภทอื่นก็ลงทุนคล้ายกับผู้จัดการกองทุนด้วยกัน
คือตามเกณฑ์กำหนด
ปีนี้ตลาดยังเป็นของไฟแนนซ์ปีหน้าต้องคอยลุ้น
เมื่อไม่มีการันตีผลตอบแทนเป็นตัวดึงความสนใจของลูกค้า ผู้จัดการกองทุนทุกรายึงมุ่งเน้นที่การดำรงเงินกองทุนไว้ก่อนเป็นอันดับแรก
และตามด้วยเหตุด้วยผลที่ว่าการฝากเงินกับผู้จัดการกองทุนนั้นย่อมได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า
เนื่องจากเมื่อมารวมกับพอร์ตการลงทุนของทุกผู้จัดการกองทุนฯ แต่ละรายได้อัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ
1 ปีระหว่าง 1-3% ทีเดียว
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ รวมทั้งเป็นการลดภาระของบริษัท หรือองค์กรที่จะต้องมาดูแลเงินกองทุนมาก
ๆ คาดว่าจะมีบริษัทหรือองค์กรเข้าร่วมตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นจำนวนมาก
นั่นหมายถึงเม็ดเงินมหาศาลที่จะเข้ามาในระบบ
สิ้นปี'39 คาดว่ามูลค่าเงินกองทุนที่บริหารอยู่คงถึงทะลุ 7 หมื่นล้านบาท
ในอนาคตกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีข้าราชการประมาณ 1.7 แสนคนซึ่งคาดว่าอาจจะมีผู้เข้าเป็นสมาชิกกองทุนประมาณ
80% ดังนั้นจะมีเงินกองทุนจากส่วนนี้อีกประมาณ 7 หมื่นล้านบาท กองทุน กบข.นี้มีพ.ร.บ.จัดตั้งซึ่งผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร์แล้ว
เหลือขั้นตอนประกาศในพระราชกิจจานุเบกษาซึ่งคงเป็นสิ้นปี หรืออาจเป็นต้นปีหน้ารวมทั้งเงินออมจากภาคเอกชนที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐหรือได้รับการส่งเสริมจากบีไอเอ
และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีมูลค่าตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
2-3 แสนล้านบาทไม่ยากนัก ซึ่งการแข่งขันในตอนนั้นคงดุเดือนมากกว่านี้
แต่สำหรับปีนี้ตลาดยังเป็นของไฟแนนซ์รายเดิมแน่นอนเพราะอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นส่วนใหญ่เพราะลูกค้ายังเชื่อผลงานในอดีตเป็นสำคัญ
เนื่องจากไม่กล้าเอาเงินที่เก็บมาทั้งชีวิตของพนักงานมาเสี่ยงส่วนที่มีการแข่งขันที่ดุเดือดหลังจากใบอนุญาตรายใหม่ออกมาเป็นเพียง
'ฤดูกาลล่ารัฐวิสาหกิจ' เท่านั้น
หลังฤดูกลานี้ผ่านพ้นไปผู้จัดการกองทุนแต่ละรายคงหันกลับไปหาลูกค้าเดิมของตนเองและต่างคนต่างทำงานโดยมีฐานลูกค้าที่ชัดเจนขึ้น
ที่แน่ๆ คือบริษัทในเครือและพันธมิตรทางธุรกิจ แต่ปีหน้าเมื่อผลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนรายใหม่เหล่านี้ปรากฎออกมา
ย่อมจะเป็นที่ประจักษ์และสามารถนำไปเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถมากกว่า
'ราคาคุย' ในวันนี้ได้ เมื่อนั้นไฟแนนซ์เจ้าตลาดคงต้องเหนื่อยกว่าในปีนี้อีกมาก
เพราะแค่เปิดตัวในปีนี้รายใหม่ ๆ ก็ประกาศตัวออกมาชัดเจนว่าต้องการส่วนแบ่งการตลาดไม่ต่ำกว่า
10% กันทั้งนั้น ในขณะที่รายเก่าก็ยังยืนยันว่าจะดำรงส่วนแบ่งการตลาดของตนให้ได้มากที่สุด