|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนะโอกาสลงทุนในบริษัทจีนหลังตลาดหลักทรัพย์จีนประกาศผ่อนปรน M&As เน้น Small SMEs เพราะเสี่ยงต่ำ-ไม่ถูกพาร์ทเนอร์โกง ขณะเดียวกันใครอยากซื้อหุ้น บริษัทใหญ่ในจีน ควรซื้อหุ้นบริษัทจีนที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นฮั่งเส็ง-แนสแด็ก เพราะโปร่งใส แต่หากอยากซื้อหุ้นในตลาดหุ้นจีน ควรจ้างบริษัทที่ปรึกษา-วิจัยการตลาด ก่อนตัดสินใจ
ทั่วโลกต่างจับตาหลังจีนประกาศผ่อนปรน M&As หรือ กฎระเบียบควบรวมและซื้อกิจการบริษัทจดทะเบียนจีน โดยเริ่มจาก สำนักงานคณะกรรมการกำกับตลาดหลักทรัพย์จีน ( ซีเอสอาร์ซี ) ประกาศผ่อนปรนกฎระเบียบว่าด้วยการควบรวมและซื้อกิจการเพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่นักลงทุน ตลอดจนลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อกิจการให้มากขึ้น
โดยกฎนี้จะเริ่มวันที่ 1 กันยายนที่จะถึงนี้ ขณะเดียวกัน คณะรัฐมนตรีจีนก็ได้อนุมัติร่างกฎระเบียบใหม่ว่าด้วยการซื้อและควบรวมกิจการที่นำเสนอโดยกระทรวงพาณิชย์สด ๆ ร้อน ๆ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการระบุอย่างชัดเจนว่าจะมีการอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถทำสวอปหุ้น (แลกหุ้น) กับบริษัทจีนได้ ซึ่งต่างชาติจะใช้หุ้นแทนเงินสดในการซื้อหุ้นธุรกิจจีน กฎใหม่นี้จะมีผลบังคับวันที่ 8 กันยายนเช่นกัน
อย่างไรก็ดีความเคลื่อนไหวด้านการเงินการลงทุนในจีนจึงเป็นการเปิดประตูมังกรเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้นำเงินเข้าไปลงทุนในจีนมากขึ้น แน่นอนว่าข่าวนี้นับเป็นข่าวดีของนักลงทุนทั่วโลกที่เตรียมทะลักเข้าไปขุดทองในเมืองจีน แต่สำหรับประเทศไทยข่าวดีนี้เป็นโอกาสหรือไม่!?
ผ่อนปรน M&Asมุ่งขยายธุรกิจทั่วโลก
สักกรินทร์ นิยมศิลป์ นักวิจัยอาวุโสเอเชียตะวันออก (จีน-ญี่ปุ่น) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า จีนมีแนวโน้มเปิดประตูการลงทุนให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีนมากขึ้น โดยจีนมีความชัดเจนว่าต้องการมุ่งหาผู้ร่วมทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ มาร่วมทุนในวิสาหกิจขนาดใหญ่ของจีน เพื่อดันให้เป็นองค์กรนานาชาติที่สามารถขยายกิจการธุรกิจไปได้ทุกที่ทั่วโลก
"เวลานี้จีนไม่ได้มุ่งแค่การเติบโตทางเศรษฐกิจในประเทศ แต่มุ่งทำธุรกิจทั่วโลก ที่สำคัญคือจีนต้องการปรับโครงสร้างการแข่งขันของวิสาหกิจของจีน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของจีนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนแบ่งการตลาดที่มากขึ้น การขายสินค้าได้มากขึ้น ไปจนถึงขยายช่องทางการลงทุน"
ทั้งนี้เพราะ จีนไม่มีปัญหาเรื่องเงินทุน วิสาหกิจจีนมีเงินทุนจำนวนมาก รัฐบาลจีนให้การสนับสนุนทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การโอนเงิน ฯลฯ การระดมทุนจีนก็ทำได้ง่าย โดยธนาคารใหญ่ ๆ ในจีน เช่น แบงค์ออฟไชน่า ก็มีการเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮั่งเส็งของประเทศฮ่องกง และตลาดหลักทรัพย์แนสแด็ก เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถือว่าเป็นแหล่งระดมทุนของจีนอยู่แล้ว ฉะนั้นการผ่อนปรน M&As ครั้งนี้จึงมุ่งขยายอาณาจักรธุรกิจจีนเต็มที่
แนะควบ SMEsจีน-ขจัดปัญหาหุ้นส่วนโกง
อย่างไรก็ดี การเปิดประตูด้านการเงินของจีนครั้งนี้ สำหรับนักธุรกิจไทยยังถือว่าเป็นโอกาส แม้ว่าธุรกิจของคนไทยส่วนใหญ่เมื่อเทียบกับจีนแล้ว ยังถือเป็นธุรกิจขนาดเล็ก และศักยภาพยังมีจำกัด แต่ธุรกิจไทยก็สามารถเข้าไปร่วมลงทุนกับวิสาหกิจขนาดเล็ก หรือ small SMEs ของจีนได้
โดยในอดีตนักลงทุนจะเข้าไปลงทุนทำธุรกิจในจีน จะต้องลงทุนแบบการร่วมทุน โดยการหาผู้ร่วมทุน หรือ joint venture เพราะนอกจากจีนจะมีกฎหมายบังคับให้ต่างชาติต้องทำธุรกิจแบบร่วมทุนแล้ว นักธุรกิจไทยยังต้องอาศัยคอนเน็กชั่นของนักธุรกิจจีน หรือคนท้องถิ่นในการเอื้ออำนวยประโยชน์ในการทำธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตเช่าที่ดิน หรือขอไลเซ่นการทำธุรกิจที่มีหลายไล่เซ่นและมีหลายขั้นตอน ปรากฏว่าปัญหาสำคัญของนักธุรกิจไทยในการไปร่วมทุนคือ ไม่มีข้อมูลผู้ร่วมทุนดีเพียงพอ และส่วนมากได้คู่ร่วมทุนไม่ดี มักจะโกง ทำให้ธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ หรือ เจ๊งไป
ทั้งนี้การที่จีนเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนโดยมีการผ่อนปรนระเบียบการควบรวมและซื้อกิจการ หรือ M&As ครั้งนี้ จึงเป็นข้อดีสำหรับนักธุรกิจไทย ที่จะแก้ปัญหาการถูกโกงจากผู้ร่วมทุน โดยสามารถเข้าไปทำธุรกิจได้หลายรูปแบบมากขึ้น ทั้งการเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทดี ๆ ในตลาดหลักทรัพย์จีน (Portfolio Invesment) หรือเข้าไปซื้อกิจการ โดยควบกิจการในบริษัทที่มีอยู่แล้ว เช่น ธนาคารเล็ก ๆ ในจีน แม้ว่าจะไม่ใช่หุ้นใหญ่ แต่สามารถซื้อในระดับที่เข้าไปร่วมกำหนดนโยบายในบริษัทนั้น ๆ ได้
"มันดีสำหรับธุรกิจใหญ่ ๆ ของไทยเพราะว่าไม่ต้องไปเปิดสาขาเอง ซึ่งไม่ต้องกลัวถูกโกง ไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ และไม่เหนื่อยกับการทำการตลาดด้วยตัวเอง อาจจะเริ่มจากแฟรนไชส์ เหนื่อยน้อยหน่อย แต่อาจต้องใช้เงินทุนมากขึ้น แต่สำหรับธุรกิจเล็ก ๆ ควรเข้าไปทำแบบซื้อมาขายไป "
ที่สำคัญต้องศึกษากฎระเบียบในจีน ที่มีการปรับเปลี่ยนตลอด และเนื่องจาก SMEs จีนมีการแข่งขันสูงมาก ผู้ประกอบการเยอะ ต้องศึกษาสภาพตลาดให้ดีก่อนลงทุน
จ้างบ.ที่ปรึกษา-วิจัยตลาดก่อนซื้อหุ้น
อย่างไรก็ดี สำหรับบริษัทของไทยที่ต้องการไปซื้อหุ้นหรือสวอปหุ้นกับบริษัทจีน ควรเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีธุรกิจมั่นคง และคุ้นเคยกับธุรกิจที่จะเข้าไปสวอปหุ้น
นอกจากนี้ในการเลือกบริษัทที่จะเข้าไปลงทุน ต้องเริ่มจากการดูจุดแข็งของธุรกิจ ดูศักยภาพธุรกิจ ประเมินคู่แข่งในจีนว่าเป็นใคร เป็นคนจีน หรือ ต่างชาติ ศึกษาตลาดจีน และต้องชัดเจนว่าจะเข้าไปรูปแบบไหน เช่น ต้องการขยายตลาด สินค้าอุปโภคบริโภคไปจีน หรือต้องการร่วมทุนเพื่อมีเอี่ยวในผลกำไรของบริษัทจีน
โดยในการซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์จีน ต้องศึกษาข้อมูลการเงินของบริษัทนั้น ๆ ให้ดี ทั้งผลประกอบการ statement ระบบบัญชี ฯลฯ ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ที่ไปจดทะเบียนในฮ่องกง และในสหรัฐอเมริกานั้น จะมีข้อมูลที่โปร่งใสมาก สำหรับในตลาดหุ้นจีนที่ผ่านมาจนถึงปี 48 การควบคุมของตลาดหลักทรัพย์ยังไม่ดีมากนัก ระบบบัญชีของแต่ละบริษัทยังไม่ได้มาตรฐาน มีการแต่งตัวเลขผลประกอบการ มี NPL หลายบริษัท แต่เมื่อปลายปี 48 จนถึงบัดนี้ จีนได้มีแก้ไขจุดอ่อนดังกล่าว โดยมีการพัฒนาระบบควบคุมตรวจสอบในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ทำให้ตลาดหลักทรัพย์มีอัตราการเติบโตสูงถึง 30% การลงทุนกับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จีนจึงมีความน่าสนใจ
ดังนั้นนักลงทุนไทยที่ต้องการไปลงทุนควรจ้างบริษัทที่ปรึกษา เพื่อตรวจสอบว่าระบบบัญชีของบริษัทนั้น ๆ ดีจริงหรือไม่ ยอดขายที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์เป็นยอดขายจริงหรือไม่ รวมถึงต้องจ้างบริษัททำวิจัย เพื่อดูว่าทิศทางราคาสินค้าของบริษัทนั้นจะทำกำไรได้ดีไหม จะมีการ over supplied หรือไม่ ต้องวิเคราะห์ให้ละเอียด
"สุดท้ายต้องบอกว่าตลาดจีนไม่หมู ตลาดทั่วโลกเข้าไปหมดแล้ว การแข่งขันสูงมาก แต่ถ้าไทยไม่เข้าไป จีดีพีของไทยก็โตไม่ได้ ขณะนี้ของไทยแค่ 4% แต่ของจีนจีดีพีโตปีละ 9-10% การมุ่งเข้าไปลงทุนในจีน โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตมากกว่า 4% ก็มี"
|
|
|
|
|