แม้ว่าการเดินสู้เส้นทางการเมืองเพื่อปกป้องธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมในมือของ
ดร.ทักษิณ ชินวัตรดูจะไร้ผล เพราะตลอดช่วงอายุของรัฐบาลชุดที่แล้ว กลุ่มชินวัตรต้องเป็นฝ่ายนั่งมองดูเทเลคอมเอเชีย
คอร์ปอเรชั่น หรือ ทีเอกอบโกยสัมปทานสื่อสารมาไว้ในมือเป็นจำนวนมากอย่างไม่สามารถทำอะไรได้
ยกเว้นการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือของแอดวารซ์ อินโฟร์เซอร์วิส
หรือ เอไอเอส ที่ทำไว้กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) จำนวน 12 ข้อเพื่อแลกกับการเปิดเสรี
สามารถสะท้อนให้พลังความเป็น ดร.ทักษิณ ที่อาศัยการผูกขายกิจการสื่อสารของรัฐสร้างธุรกิจสื่อสารด้วยทุนรอนไม่กี่ล้านบาทจนมีอาณาจักรแสนล้านภายในเวลาเพียง
10 ปีที่ใครก็ไม่อาจประมาณได้
การแก้ไขสัญญาในครั้งนี้ไม่เพียงแค่การปกปักรักษา "โทรศัพท์มือถือ"
สมบัติชิ้นสำคัญที่สร้างรายได้หลักให้กับกลุ่มชินวัตรมาตลอด แต่ยังเป็นการพลิกสถานการณ์จากการ
"ตั้งรับ" มาเป็น "รุก"
เพราะทุกข้อในสัญญาล้วนแต่เปิดโอกาส และให้ความคล่องตัวแก่เอไอเอสในการขยายขอบข่ายธุรกิจสื่อสารออกไปอย่างมากมายอย่างเห็นได้ชัด
นอกเหนือจากการต่ออายุสัญญาสัมปทานและการรอดพ้นจากความเสียหายในการลดค่าใช้บริการ
ในสัญญาข้อ 2 ที่ระบุไว้ว่าเอไอเอสมีสิทธิลงทุนสร้างโครงข่ายระบบสื่อสัญญาณเชื่อมโยง
(TRANSMISSION NETWORKS) ในสื่อนำที่จำเป็นได้ทุกชนิดโดยบริษัทเองได้ และยกทรัพย์สินเป็นของ
ทศท. ในลักษณะของบีทีโอ ซึ่งบริษัทจะเป็นผู้ดูและบำรุงรักษาเครือข่าย โดย
ทศท. จะอำนวยความสะดวกในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้
ทั้งนี้เอไอเอสมีสิทธิบนเครือข่ายดังกล่าวที่ลงทุนสร้างมาใช้ในกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่
หรือทำประโยชน์จากเครือข่ายที่บริษัทลงทุนได้โดยรายได้ที่เกิดขึ้นให้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการคิดคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนที่บริษัทต้องจ่ายให้
ทศท. เป็นรายปีตามสัญญา
ก่อนหน้านี้เอไอเอสจะต้องเช่าระบบสื่อสัญญาณเชื่อมโยงจากทศท. มาใช้ในการเชื่อมโยงระหว่างชุมสาย
ซึ่งเอไอเอสจะมีสิทธิ์สร้างได้ในกรณีที่ทศท.ไม่มีให้บริการเท่านั้น แต่จากข้อสัญญาดังกล่าวเท่ากับเป็นการเปิดทางให้เอไอเอสกลายเป็นเจ้าของเครือข่ายพื้นฐานอันเป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มชินวัตร
เพราะนั่นหมายถึงการเป็นเจ้าของเครือข่ายทางด้านข้อมูลล้ำยุคที่ชินวัตรยังไม่มี
อีกทั้งเอไอเอสยังสามารถหาประโยชน์จากมูลค่าเพิ่มบนโครงข่ายทางด่วนข้อมูล
ที่ให้บริการได้ทั้งข้อมูล ภาพ และเสียง เช่นเดียวกับที่ทีเอได้รับอนุมัติให้ทำบริการเสริมบนโทรศัพท์พื้นฐาน
นอกจากนี้สัญญาข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีของโครงข่ายทศท.และการปรับปรุง
หรือเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นเหตุให้โครงข่ายของบริษัทไม่สามารถใช้ต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือในกรณีมีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโครงข่ายบริษัท
บริษัทมีสิทธิ์ทำการเปลี่ยนแปลงหรือปรับ ปรุงเทคโนโลยีของโครงข่ายบริษัท
ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ได้ด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทเองทั้งสิ้น
บริษัทสามารถให้บริการต่อเนื่องเพิ่มเติม อันเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามสัญญาได้
และในอนาคตเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติมบริษัทมีสิทธินำเทคโนโลนีเหล่านั้น
มาให้บริการต่อเนื่องเพื่อขยายขีดความสามารถในการให้บริการตามสัญญาได้
ภายใต้สัญญาข้อนี้เท่ากับเป็นการเปิดช่องทางให้เอไอเอสสามารถนำระบบสื่อสารชนิดใหม่
ๆ มาให้บริการ
แน่นอนว่าคงหนีไม่พ้นโทรศัพท์ไร้สายส่วนบุคคล ระบบพีเอชเอส หรือชื่อใหม่คือพีซีที
(PERSONAL CORDLESS TELEPHONE) ที่ทีเอกำลังเปิดให้บริการในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งเป็นหนามยอกอกของเอไอเอส
อันเป็นที่มาของการแก้ไขสัญญาดังกล่าว
การทำงานของโทรศัพท์ไร้สายพีเอชเอส หรือ พีซีทีจะคล้ายกับโทรศัพท์มือถือ
แต่จะแตกต่างกันในเรื่องของรัศมีการรับสัญญาณที่จำกัดกว่า คือ ผู้ใช้จะต้องอยู่ห่างจากสถานีฐานไม่เกิน
200 เมตร และสามารถใช้ในขณะที่รถวิ่งไม่เกิน 30 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ด้วยราคาเครื่องขนาดจิ๋วที่ถูกกว่าสนนราคาประมาณ
8,000 บาท ค่าใช้บริการรายเดือนเพียงเดือนละ 200 บาท และโทรที่ถูกกว่าโทรศัพท์มือถือ
มีการประเมินว่าโทรศัพท์ไร้สายส่วนบุคคลนั้นจะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในอนาคต
เพราะเป็นระบบสื่อสารในยุคดิจิตอลที่ให้บริการได้ทั้งข้อมูลภาพและเสียง ที่สำคัญยังเอื้อประโยชน์ต่อผู้ลงทุน
สามารถประหยัดเงินลงทุนและเนื้อที่ ด้วยขนาดของสถานีฐานที่เล็กลง
ในหลายประเทศจึงมีการเงพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวขึ้นมาหลายระบบนอกเหนือจากพีเอชเอสของญี่ปุ่นแล้ว
มีระบบ DECT ระบบ DCS 1900 ของค่ายยุโรป ระบบ PACT ของบริษัทฮิวจ์ เน็ทเวิร์คแห่งสหรัฐอเมริกาก็กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนา
ก่อนหน้านี้เอไอเอส เคยศึกษาในการจะนำระบบ DECT เข้ามาใช้บริการร่วมกับระบบจีเอสเอ็ม
ภายใต้ระบบ DECT-GSM ซึ่งในปัจจุบันได้มีการทดลองใช้นำระบบโทรศัพท์ทั้งสอปงระเภทมาใช้งานร่วมกันแล้วในบางประเทศของยุโรป
ภายหลังจากได้รับอนุมัติให้แก้ไขสัญญา เอไอเอสก็เริ่มเดิมเครื่องด้วยการยื่นขอคลื่นความถี่ย่าน
1900 เมกะเฮิรตซ์ไปที่ ทศท.ทันที ซึ่งความถี่ในย่านนี้จะใช้กับระบบโทรศัพท์ไร้สายส่วนบุคคล
PCT และ DECT ซึ่งกรมไปรษณีย์โทรเลขได้อนุมัติให้กับ ทศท.ไปแล้ว ขึ้นอยู่กับว่าทศท.
จะไปอนุมัติให้ใคร
แต่ยังไม่ทันที่ ทศท. จะอนุมัติให้อย่างเป็นทางการ เรื่องก็ปูดออกมาเสียก่อน
เพราะคู่แข่งในสนามนี้ของเอไอเอสไม่ได้มีเพียงแค่ทีเอ หรือ ทีทีแอนด์ทีเท่านั้น
แต่ยังมีกลุ่มยูคอม ซึ่งจ้องขอเปลี่ยนสัมปทานโฟนพ้อยต์ที่แทนจะสิ้นชื่อลงแล้วให้มาเป็นระบบพีเอชเอสแต่ก็ยังไม่ได้รับอนุมัติเสียทีแม้จะผ่านไปถึง
2 รัฐบาล
งานนี้แม้จะไม่สะดวกโยธินเท่าที่ควร แต่ภายใต้สัญญา 12 ข้อ ที่ล้วนแต่เป็นประโยชน์
และสร้างความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจกับเอไอเอส คงไม่ใช่เรื่องยากแม้จะต้องใช้เวลาและกำลังภายในเข้าช่วยก็ตาม
อีกทั้งเอไอเอสเองก็ยังไม่ได้ตกลงใจว่าเลือกเทคโนโลยีใดระหว่างระบบพีซีที
ระบบเดค หรือ ระบบแพคส์ ซึ่งมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน แต่ในระบบแพคส์อยู่ระหว่างการพัฒนาให้สามารถพกพาในขณะเคลื่อนที่ได้ถึง
100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ที่แน่น ๆ งานนี้เอไอเอสคงไม่ยอมตกขบวนเป็นแน่
เพราะการมีโทรศัพท์ไร้สายแบบพกพาในมือเท่ากับเป็นการขยายฐานลูกค้าโทรศัพท์มือถือของเอไอเอส
ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระดับที่ต่ำลงมา ที่มีกำลังซื้อต่ำกว่าแต่เป็นฐานลูกค้าที่มีอยู่จำนวนมาก
และด้วยราคาเครื่อง และค่าบริการที่ถูกกว่าจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าไปครองใจลูกค้าในกลุ่มดังกล่าวเช่นที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในญี่ปุ่น
หรืออย่างน้อยเอไอเอสก็ได้ครอบครองคลื่นความถี่ไว้ในมือ เพราะอย่างที่รู้ว่าคลื่นความถี่นั้นเป็นส่นสำคัญที่สุดของระบบสื่อสารไร้สาย
และนับวันจะหมดลงไปทุกที จนจัดเป็นทรัพยากรที่ต้องรักษาเอาไว้
ดังนั้นหากใครสามารถครองครองความถี่ไว้ได้ย่อมต้องถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว
ดูจากรณีที่แทค ที่ได้ครอบครองคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์จากการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.) ไปทั้งย่าน ทุกวันนี้แทคสามารถตัดแบ่งคลื่นความถี่มาเซ็งลี้ต่อให้กับกลุ่มไออีซี
และกลุ่มสามารถไปได้อย่างสบาย ๆ ด้วยการมอบสิทธิให้ทั้งสองรายเป็นโอเปอเรเตอร์ช่วยขยายเครือข่ยและขยายตลาดให้
งานนี้ก็ต้องรอดูว่า เอไอเอสจะปล่อยอิทธิฤทธิ์อะไรอีกนับจากนี้ แต่ที่แน่
ๆ ศึกโทรศัพท์ไร้สายกำลังเริ่มต้นแล้ว