Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2539
สุวภา เจริญยิ่งกับงานใหม่ที่ท้าทาย : CEO คนแรกของว่าที่ บลจ.นครธน ชโรเดอร์ฯ             
โดย มานิตา เข็มทอง
 


   
search resources

สุวภา เจริญยิ่ง




เธอเริ่มชีวิตการทำงานของเธอในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างประเทศของธนาคารกสิกรไทย จากความรู้สึกที่ว่า "จบออกมาแล้ว ต้องทำงานแบงก์ต้องใช้ภาษานั่นเลย ต้องอยู่ฝ่ายต่างประเทศ" แต่เมื่อเธอเข้าไปสัมผัสงานก็ค้นพบว่า ความชอบและความถนัดที่แท้จริงของเธอ คือ งานด้านสินเชื่อ ซึ่งก็ประจวบเหมาะกับที่ทางธนาคารมีตำแหน่งว่างพอดี ดังนั้นในปี 2528 เธอก็ย้ายหน้าที่ไปเป็นเจ้าหน้าที่พัฒนาธุรกิจ (สินเชื่อ) ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (สินเชื่ออุตสาหกรรม) นั่นเป็นครั้งแรกที่เธอได้พบกับ ภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สายสินเชื่ออุตสาหกรรม ณ ขณะนั้น

หลังจากเข้าไปทำงานได้ไม่นาน เธอก็สอบชิงทนใน (ทุนเรียนในประเทศ) ของธนาคารกสิกรได้ เธอก็ต้องกลับเข้าไปสู่รั้ว ABAC อีกครั้งในฐานะนักศึกษาปริญญาโทสาขา MBA เอก FINANCE & MARKETING ระหว่างที่เธอกำลังศึกษาต่อนั้น ภควัตได้ลาออกจากกสิกรฯ ไปเริ่มต้นที่ บล.เอกธำรง (S-ONE) และเธอก็เริ่มต้นทำงาน PARTTIME ด้าน RESEARCH ที่ S-ONE จากการชักชวนของนายเก่า โดยทำงานร่วมกับชาญ ศรีวิกรม์ หนุ่มไฟแรงอีกคนที่เพิ่งได้รับดีกรีปริญญาโทจากศศินทร์สด ๆ ร้อน ๆ ในขณะนั้น ชาญเข้ามาดูงานด้านสินเชื่อสังกัดฝ่ายพัฒนาการลงทุนที่ S-ONE ซึ่งการทำงาน ณ ตอนนั้นก็ถือเป็นผลดีต่อการศึกษาของเธอด้วย เนื่องจากได้สัมผัสกับเหตุการณ์จริง

ทำงานกับ S-ONE ได้ 2 ปี เธอก็สำเร็จการศึกษาและกลับมาใช้ทุนที่กสิกรฯ อีก 2 ปี ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการฃฝ่ายวาณิชธนกิจ จากนั้นก็ได้รับการชักชวนจากมาริษ ท่าราบ เพื่อนรุ่นพี่ที่สนิทสนมกันให้ไปร่วมงานกันที่ มอร์แกน เกรนเฟลล์ ประเทศไทย ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวาณิชธนกิจ นั่นเป็นครั้งแรกของเธอที่ได้ทำงานกับองค์กรฝรั่ง ต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเธอไม่เคยทำงานร่วมกับฝรั่ง และด้วยความที่ยังคงอยู่ในวงจรของสายงานวาณิชธนกิจ ทำให้เธอได้กลับไปเจอกับภควัตอีกครั้ง…ครั้งนั้นเป็นครั้งที่เธอได้หวนกลับมาสู่ S-ONE และเป็นครั้งที่เธอไม่คิดจะไปไหนอีก…

จนกระทั่งวันนี้ด้วยวัยเพียง 30 ต้น ๆ เธอสามารถก้าวมาอยู่ในระดับแถวหน้าของวงการตลาดเงิน-ตลาดทุนไทยได้อย่างเต็มภาคภูมิ เรียกได้ว่าชีวิตการทำงานของเธอวนเวียนอยู่กับสายงานวาณิชธนกิจมาตั้งแต่เริ่มแรกนับเป็นเวลา 10 ปีเต็ม

เธอผู้นั้นก็คือ สุวภา เจริญยิ่ง หญิงสาวผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความสามารถและมากไปด้วยประสบการณ์ในภาคของตลาดเงินตลาดทุนไทยคนหนึ่ง

ปัจจุบัน เธอผู้นี้ได้ก้าวออกมาจากซีกของการเป็นผู้สร้างสรรค์ และผู้ที่เจนในการใช้เครื่องมือทางการเงินเข้าสู่ซีกของการเป็นผู้ซื้อผู้ลงทุนบ้าง จากเดิมที่เคยเป็นผู้ผลิตสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น IPO, PO, PP หรือการออกตราสารหนี้ และรวมถึงดีลการควบกิจการเรียกได้ว่า เกือบจะทุกดีลที่อยู่ในมือของ S-ONE ล้วนแต่ผ่านมือเธอมาแล้วทั้งสิ้น

เธอเข้ามาร่วมงานที่บริษัท นครธน ชโรเดอร์ อินเวสท์เมนท์ แมแนจเมนท์ จำกัด หรือเรียกสั้น ๆ ว่า นครธน ชโรเดอร์ฯ ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายนที่ผ่านมาในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของนครธน ชโรเดอร์ฯ

"ตอนที่กลับมาอยู่ S-ONE ครั้งหลังสุด คือ ตั้งแต่ปี 2535 ก็คิดว่าจะอยู่ไปตลอดกาลแล้ว ไม่คิดว่าจะย้ายไปไหน ไม่เคยแสวงหางานที่ไหน แต่ไม่รู้จับพลัดจับผลูอย่างไรก็ได้เปลี่ยนงานใหม่จนได้ แต่พอออกมาแล้วก็เจออะไรที่แปลกใหม่ เราต้องยอมรับสิ่งหนึ่ง คือ การเปลี่ยนงานก็เหมือนปลาเปลี่ยนน้ำ มันทำให้รู้สึกสดชื่นขึ้นนิดหน่อย ได้มาเห็นอะไรที่ใหม่ ๆ ก็ตื่นเต้น ตอนอยู่ที่ S-ONE งานสนุกก็จริง แต่เราไม่ได้อะไรที่แปลกใหม่ ตอนนี้ก็ได้เจออะไรที่ใหม่ขึ้น" สุวภาเผยความรู้สึก

และสิ่งที่เธอคิดว่าน่าสนใจก็ได้เริ่มท้าทายความรู้สึกเธอให้อยากเข้าไปสัมผัสกับสิ่งใหม่สิ่งนี้ก็คือ การเป็น "FUND MANAGER ที่ดี" ถึงแม้เธอจะไม่ได้รับตำแหน่งนี้โดยตรง แต่เธอก็ได้ถูกมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบดูแลผลการดำเนินงานทั้งหมดของบริษัท

ขณะนี้ในนครธน ชโรเดอร์ฯ มีคนทำงานทั้งหมด 9 คน ประกอบไปด้วยคนของนครธนและคนของชโรเดอร์ฯ ซึ่งคนของชโรเดอร์ฯ เข้ามาทำหน้าที่เป็น FUND MANAGER ดูแล FUND ในตำแหน่ง CHIEF INVESTMENT OFFICER หรือ CIO และอีกคนหนึ่งเข้ามาดูแลงานทางด้าน RESEARCH

ส่วน CEO หรือ CHIEF EXECUTIVE OFFICER ผู้รับผิดชอบ PERFORMANCE OF COMPANY ก็เป็นหน้าที่ของกรรมการผู้จัดการคนนี้นี่เอง ด้วยบทบาทหน้าที่นี้เองที่ทำให้สุวภาต้องเรียนรู้ พร้อมกับให้ความรู้และฝึกพนักงานทุกคนให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับการบริหารกองทุน

"คนบริหาร FUND ไม่ได้อยู่ที่ว่าคุณจะเลือกหุ้นที่ดีหรือไม่ดี คนบริหาร FUND ไม่มีสิทธิเลือกหุ้นไม่ดีเลย FUND ต้องซื้อแต่หุ้นที่ดีเท่านั้น แต่ทำอย่างไรที่จะตัดสินใจเลือกซื้อหุ้นที่ดีได้" เป็นมุมมองของคนทำงานผู้นี้ และเธอยังได้เล่าถึงลักษณะของการทำงานของชโรเดอร์ฯ ทั่วโลกด้วยว่า

"เขาจะมีทีม RESEARCH ภายในที่แข็งแกร่งมาก เพื่อทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลอย่างแม่นยำ และคนที่จะเป็น FUND MANAGER ได้จะต้องผ่านงานวิเคราะห์มาก่อน เริ่มต้นจาก JUNIOR RESEARCH มาเป็น HEAD RESEARCH จากนั้นก็เป็น JUNIOR FUND และต่อไปก็เป็น SENIOR FUND จากนั้นถึงจะก้าวสู่การเป็น FUND MANAGER ได้"

ซึ่งคนที่จะเป็น FUND MANAGER ได้ในความหมายของสุวภาก็คือ คนที่ผ่านการกลั่นกรองมาหลายขั้นตอนทั้งในเรื่องของจรรยาบรรณ ความลึกของข้อมูล การตัดสินใจ และสิ่งที่สำคัญก็คือต้องมีความมั่นคงทางจิตใจ ไม่วูบวาบไปตามภาวะตลาด เพราะเธอเชื่อว่า หากเกิดความหวั่นไหวไปตามภาวะตลาดขึ้นเมื่อไรจะไม่สามารถควบคุมการลงทุนได้

จากประสบการณ์ในสายงานวาณิชธนกิจที่สุวภาได้จับมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเป็นที่ปรึกษาการลงทุน การปรับปรุงโครงสร้างของบริษัท แนวทางการระดมทุนในรูปแบบต่าง ๆ การจัดหาแหล่งเงินกู้ การประเมินราคาหลักทรัพย์ การควบและการครอบงำกิจการ ประสบการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ถือได้ว่าเป็นจุดแข็งและความได้เปรียบของสุวภา ซึ่งงานเหล่านั้นทำให้เธอได้มีความคุ้นเคยกับบริษัทจดทะเบียนหลาย ๆ บริษัท และจุดนี้เองที่เธอสามารถนำมาใช้กับสินค้าได้เช่นกัน สินค้าที่ว่าก็คือ "หน่วยลงทุน"

สำหรับเป้าหมายที่สาวผู้นี้ได้ตั้งไว้กับหน้าที่การงานความรับผิดชอบใหม่นี้ก็คือ
"ให้เวลากับงานนี้อย่างจริงจัง และจากประสบการณ์ที่ทำงานทางด้าน IB ในฐานะผู้สร้างสินค้าขึ้นมา ก็อยากจะสร้างหน่วยลงทุนที่ DESIGN ขึ้นมาตามความต้องการของนักลงทุน ผู้ที่ต้องการออมเงิน และต้องทำให้พวกเขาเข้าใจว่า หน่วยลงทุนเป็นเครื่องมือหนึ่งในการออม ซึ่งคุณสมบัติในการออมของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงต้องสร้าง PRODUCT ที่สามารถบอกได้ว่าเหมาะกับนักลงทุนอย่างไร" สุวภากล่าวอย่างมุ่งมั่น ซึ่งกองทุนแรกของนครธน ชโรเดอร์ฯ จะออกทันทีที่บริษัทมีความพร้อมในทุกเรื่องแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน (BACK OFFICE) ความพร้อมของทีมงาน และคาดว่า "คงออกกองแรกได้ในต้นปีหน้า ปลายปีนี้คงไม่ทัน ขณะนี้ก็รอ LICENSE อยู่ การขอ LICENSE จะมีขั้นตอนอย่างนี้ คือ พอได้รับการอนุมัติจาก ก.ล.ต. ก็ส่งเรื่องต่อให้ รมต.คลัง เซ็น เมื่อเซ็นเสร็จแล้วถึงจะเอาไปจดทะเบียนขอเป็นบริษัทได้ และเมื่อจดทะเบียนเรียบร้อยแล้ว ก็จะยื่นเรื่องกลับ ก.ล.ต. เพื่อขออนุมัติ LICENSE อีกที ตอนนี้เราเพิ่งผ่านขั้นตอนที่ 2 คือ รอจดทะเบียนอยู่"

สำหรับลักษณะของหน่วยลงทุน หรือกองทุนที่จะออกมานั้นก็ไม่ได้จำกัดว่าจะต้องเป็นเฉพาะกองปิดหรือกองเปิด โดยเธอได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากแต่ละช่วงเวลาก็จะมีความเหมาะสมที่แตกต่างกัน คือ ในระยะแรกกองปิดอาจเป็นที่นิยมของนักลงทุน โดยเฉพาะในสภาวะตลาดที่ไม่แน่นอน กองปิดสามารถบริหารได้ง่ายกว่ากองเปิด

"เพราะไม่ว่าตลาดหุ้นจะตกลงไปเท่าไร ผู้ที่ถือหน่วยลงทุนนี้ก็จะสบายใจได้ เงินก้อนนี้เท่ากับคุณออมไว้เป็นเวลา 5 ปี ฉะนั้นไม่ต้องไปสนใจว่าหุ้นจะขึ้นหรือจะตก เพราะเมื่อมีวันตกก็ต้องมีวันขึ้นเป็นสัจธรรมของตลาดนี้ และคนที่ถือหน่วยลงทุนระยะยาว 5 ปีเต็มก็มักจะไม่ผิดหวัง" เธอให้เหตุผลและกล่าวถึงพฤติกรรมของนักลงทุนไทยว่า

"เคยมีฝรั่งวิเคราะห์ว่า คนไทยเป็นคนที่โชคดีมากเพราะมีลูกหลานเลี้ยง เราจึงไม่รู้สึกว่าจะต้องออม แต่เราจะปล่อยให้คิดกันอย่างนั้นไม่ได้แล้ว ในฐานะที่เราเป็นผู้บริหารกองทุน เราต้องทำให้นักลงทุนทราบว่า การมีกองทุนก็คือ การปกป้องผลประโยชน์ของรายย่อย ไม่จำเป็นต้องวิ่งไปลงทุนอะไรเองมากมาย และตอนนี้ในตลาดก็มีให้เลือกหลายกองทุน ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกออมกับกองไหนที่สามารถไว้ใจให้ดูแลเงินของคุณได้"

"นครธน ชโรเดอร์ฯ" ถือเป็นน้องใหม่ในตลาดไทย ฉะนั้นสิ่งที่สุวภาคิดว่าสำคัญที่สุด คือ ต้องแข่งขันกับตัวเอง เธอกล่าวว่า

"ไม่ว่าจะมีการแข่งขันกันอย่างไร แต่สิ่งที่ FUND MANAGER จะให้กับผู้ถือหน่วยหรือลูกค้านั้นมีอยู่ 2 อย่างเท่านั้น อย่างแรกก็คือ PERFORMANCE อย่างที่ 2 ก็คือ SERVICE PERFORMANCE เป็นสิ่งที่เราจะปฏิเสธไม่ได้ เพราะขึ้นชื่อว่าลงทุนแล้วก็ต้องมีทั้งเสี่ยงและไม่เสี่ยง ซึ่งนักลงทุนแต่ละคนก็จะมีเกณฑ์ในการวัดความเสี่ยงไม่เท่ากัน เช่น หากลงทุนในหุ้นแล้วขาดทุน ถึงแม้จะขาดทุนน้อยกว่าตลาดฯ แต่ก็คือ ขาดทุน ฉะนั้นต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจกับนักลงทุนอีกมากว่ามันเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไร

SERVICE สำคัญมาก สิ่งที่เราจะเข้าใจในตลาดนี้ได้นั้น จะต้องมีความเข้าใจในเรื่องของ INSTRUMENT และ FEED BACK ที่สะท้อนกลับมา ในต่างประเทศเขาจะมองว่าเสียงบ่นที่มาจากลูกค้าจะเป็นการชี้จุดอ่อนของบริษัทได้ดีที่สุด"

2 สิ่งที่เธอกล่าวถึงนั้น เป็นสิ่งที่ฝังอยู่ในชีวิตการทำงานของเธอมาตลอด นับตั้งแต่เริ่มแรก เธอก็ถูกสั่งสอนจากนายเก่า "ภควัต" ผู้เป็นเสมือนอาจารย์ พี่ชายที่เคารพรักว่า "คุณดูสินเชื่อแบงก์ คุณต้องระวัง เพราะคนเขาเอาเงินมาฝากคุณให้ดูแลและคนเหล่านั้นก็เป็นคนที่ INNOCENT ทั้งหมด อย่างไรก็ดี การที่แบงก์มีพอร์ตใหญ่ ฉะนั้นหากจะมีเสียไปบ้างก็พอกล้อมแกล้มได้

และยิ่งตอนที่เปลี่ยนจากดูสินเชื่อมาเป็นออกหุ้นมาขาย คือ ตอนที่จากแบงก์มาอยู่ S-ONE คุณภควัตก็ยิ่งย้ำว่า ขายหุ้นที่นี่ถึงตัวนักลงทุนโดยตรงเลยนะ ดังนั้น ข้อมูลของบริษัทนั้น ๆ ที่เสนอต่อนักลงทุนจะต้องเต็มที่ และต้องโปร่งใส ซึ่งในที่สุดเขาก็จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกลงทุนหรือไม่ลงทุนเอง

ขณะนี้ เราเป็นผู้ดูแลเงินกองทุนยิ่งต้องเข้มข้นอีกหลายเท่า เพราะนักลงทุนจะไม่ทราบเลยว่า เงินเขาไปอยู่ในหุ้นตัวไหนบ้าง ตราสารหนี้ตัวไหนบ้าง"

สำหรับความเป็นมาเป็นไปของการมาเริ่มต้นงานที่นครธน ชโรเดอร์ฯ เธอเปิดเผยว่า การเจรจาทาบทามเกิดขึ้นมาตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว และมาสรุปเอาเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้เอง เรื่องราวเกิดขึ้นก่อนที่ S-ONE จะเอาไปเทคโอเวอร์ FAS อีก ซึ่งตอนที่ดีลแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ใน S-ONE เกิดขึ้นเธอก็ได้ตัดสินใจไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้าที่เธอจะตัดสินใจก็ได้มีการปรึกษากับภควัต และในที่สุดเขาก็ให้เธอเป็นผู้ตัดสินใจเอง

จากการที่ "ผู้จัดการรายเดือน" ได้มีโอกาสได้เข้าไปพูดคุยกับเธอในครั้งนี้ก็สัมผัสได้ถึงไอแห่งความอาลัยในอาชีพวาณิชธนากรของเธอได้

"ยอมรับงานวาณิชธนกิจเป็นงานที่กว้างที่สุด ต้องรู้ในทุกเรื่อง ต้องมีการเจาะลึกในทุก CASE ตั้งแต่เริ่มจากวุ้นจนเป็นตัว เป็นหนุ่ม จนคลอด จนเติบโต แต่งงาน คือ เห็นตั้งแต่ยังไม่เป็นโล้เป็นพาย จนมาทำโครงสร้างให้จนถึงขายหุ้นได้ ขายหุ้นเสร็จแล้วก็เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ได้ ซึ่งคนที่จะเข้ามาทำงานตรงนี้จะต้องยอมรับสภาพความเหนื่อยที่ตามมา และต้องเป็นคนที่ชอบงานนี้ เพราะถ้าคุณไม่ชอบคุณจะตายซะก่อน ยอมรับว่าเหนื่อยจริง ๆ ต้องคิดตลอดเวลา

ในเคสของ ปตท.สพ. เป็นเคสประวัติศาสตร์ของพี่ มันเป็นอะไรซึ่งประทับใจ ตอนไป ROAD SHOW ปตท.สพ. ครั้งแรก พี่ยังจำได้ว่าไปเดินอยู่ที่ฮ่องกงกับคุณวิเศษ จูภิบาล ซึ่งตอนนั้นแกเป็นกรรมการของ ปตท.สพ. และคุณพิ่ชัย ชุณหวชิร มือการเงินของปตท.คนปัจจุบัน ซึ่งสนุกมากมันทำให้เรารู้จักอะไรมากขึ้น และเห็นอะไรในมุมมองที่กว้างขึ้น

แม้ในปีนี้เองที่หลาย ๆ คนมองว่า งานวาณิชฯ ลดลง แต่จริง ๆ แล้วพี่ ๆ ที่ยังเป็นคนทำงานวาณิชฯ ทุกคนยังมีงานล้นมืออยู่

วันนี้ถ้าถามพี่ว่า พี่ชอบอะไร ณ วันนี้พี่ก็ยังคงตอบว่า พี่รักสายงานวาณิชธนกิจมาก จากสาย FUND แม้จะเป็นอะไรที่ท้าทาย แต่ต้องยอมรับแคบกว่างานวาณิชฯ เพราะคุณเอาเงินคนอื่นมาลงทุน คุณทำในสิ่งที่เขาเรียกว่าสำเร็จรูปอยู่แล้วก็คือ อยู่ในช่วงของการตักอาหารแล้ว ขึ้นอยู่กับคุณจะเลือกตักอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพของคุณได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งก็ไม่ได้ลงลึกมากมายชนิดหยั่งรากเหมือนงานวาณิชฯ แต่งานสาย FUND ก็มีความยากตรงที่ทำอย่างไรให้ความไม่ลึก คือ เพียงแต่ส่วนผิวนั้นออกดอกออกผลได้งดงาม นี่คือสิ่งที่ท้าทายพี่ พี่ได้เห็นทั้งภาพลึกและภาพในมุมกว้างมาแล้ว ก็เป็นความโชคดีของพี่ที่เห็นฝั่งนั้นมาแล้ว พอมานั่งฝั่งนี้ก็ยิ่งเข้าใจตัวบริษัทต่าง ๆ ในตลาดฯ มากขึ้น หลาย ๆ คนบอกว่า ธุรกิจนี้ยังเป็นธุรกิจใหม่ยังมีช่องในการโตอีกเยอะ ฟังดูแล้วก็ท้าทาย แต่ว่าสำหรับพี่แล้ว ตรงที่ได้อะไรเยอะที่สุดก็คือ ชีวิตการเป็นวาณิชธนกิจ…" ทั้งหมดนี้เป็นความรู้สึกของสุวภาที่มีต่องานสายวาณิชธนกิจในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

…แต่ความเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดได้กับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่า จะสามารถรับสภาพของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด และเมื่อใดที่ผู้นั้นสามารถกลมกลืนกับสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นได้นั้น เขาก็จะไม่รู้สึกว่ามันคือสิ่งใหม่อีกต่อไป…

เธอได้กล่าวถึงคติประจำใจที่ทำให้เธอสามารถทำงานได้อย่างมีความสุขก็คือ "อยู่ที่ไหนก็แล้วแต่ขอให้อยากทำ ถึงแม้จะเหนื่อยหรือมีอุปสรรคแค่ไหนก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเมื่อไรที่รู้สึกว่า…ไม่ไหวแล้ว…ความรู้สึกนี้แม้เกิดขึ้นเพียงนิดเดียวก็จะเริ่มรู้สึกว่าทำต่อไปไม่ไหวแล้ว" เธอจะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเธออยู่ตอลดเวลา ดังที่เราจะเห็นได้จากการแสดงออกของเธอไม่ว่าจะเป็นบุคลิกที่กระตือรือร้น สนุกกับงานที่อยู่เบื้องหน้า ประกอบกับอารมณ์ที่สดชื่นแจ่มใสที่เผื่อแผ่คนที่อยู่รอบข้างตัวเธอ ก่อให้เขาเหล่านั้นมีความสุขในการทำงานไปด้วย และผลที่ตามมาก็คือ ประสิทธิภาพของงาน

"ก่อนออกจากบ้าน ต้องส่องกระจกก่อน ถ้าตาไม่ปิ๊งก็อย่าเพิ่งออก กลับเข้าไปล้างหน้าล้างตา สบตากับกระจกอีกที…ปิ๊ง…แล้วค่อยออก เพราะถ้าเราไม่มีความสุขซะแล้ว นอกจากตัวเราจะแย่เองแล้วยังไปทำลายสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้แย่ไปด้วย ฉะนั้นต้องดูแลตัวเองอยู่เสมอ" เคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สาวไฟแรงอย่างสุวภา เจริญยิ่ง ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us