ช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด พิษขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเสกเริ่มส่อเค้าจะทำให้ ‘ทักษิณ’ หนาวหลังผลสอบ ‘กุหลาบแก้ว’เข้าข่ายนอมินีจริง สรรพากรโดนสตง.บี้ข้อมูลภาษีหนัก ถูไถอ้างกฤษฎีกา เจอดีสวนกลับอย่าทำไขสือมีหน้าที่ตอบก็ต้องตอบ "อภิสิทธิ์"ชี้หากผิดกฎหมายต้องหาคนรับผิดชอบ ดีลชินคอร์ปถึงล้ม ด้านรัฐบาลเถื่อนพยายามยื้อสุดฤทธิ์ "ปรีชา"ปัดปล่าวบีบยื้อสรุปผลนอมินี โยนข้าราชการประจำทำเอง "ทนง" อ้างเป็นครั้งแรกเลยต้องถามกฤษฎีกา ส่วน "พีระพันธ์" แบะท่าเลือกอยู่ข้างระบอบทักษิณมากกว่าชาติ หาช่องให้ไอทีวีเบี้ยวค่าปรับ ขณะที่ชินคอร์ป แจ้งผลกำไรไตรมาสสองลดฮวบ
กรณีตระกูลชินวัตรการขายหุ้นบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น หรือ ชินคอร์ปออกไปให้กองทุนเทมาเสกจากสิงคโปร์อย่างน่าเคลือบแคลงสงสัย ทั้งการเสียภาษี การเป็นบริษัทต่างด้าวหรือนอมีนี และการเสียค่าปรับของบมจ.ไอทีวี ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี พยายามทำทุกวิถีทางสั่งข้าราชการให้ปกปิดเงื่อนงำ ส่อเค้าว่าจะปิดไม่มิด
เริ่มจากกรณีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้สรุปผลการสอบสวนแล้วว่า บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนกลุ่มทุนสิงคโปร์ที่มีบทบาทสำคัญในการเข้ามารับช่วงกิจการของชินคอร์ป เป็นตัวแทนหรือนอมินีต่างด้าว ซึ่งหากออกมาในรูปนี้จะทำให้บริษัท ซีดาร์โฮลดิ้งส์ จำกัด เป็นบริษัทต่างด้าวไปด้วย ชินคอร์ปก็กลายเป็นบริษัทต่างด้าวด้วย รวมทั้งบริษัทในเครือชินคอร์ป เช่น ไอทีวี และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บมจ.ชินแซทเทลไลท์ ซึ่งเข้าข่ายมีความผิดมาตรา 36 ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ห้ามต่างชาติถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ทว่ากลับมีใบสั่งจากการเมืองให้ยื้อผลสอบออกไป
นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รักษาการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ไม่ได้เข้าไปแทรกแซงเรื่องนี้ และจนถึงขณะนี้ ก็ไม่ทราบว่าผลสอบจะออกมาเป็นอย่างไร เพราะกรมฯ ไม่เคยรายงานมาให้ทราบ
ขณะที่แหล่งข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยืนยันว่า ได้มีการสรุปผลสอบการเป็นนอมินีของบริษัท กุหลาบแก้ว ออกมาแล้ว โดยเห็นว่าอาจจะเข้าข่ายการเป็นนอมินี และขั้นตอนหลังจากนี้ จะต้องส่งเรื่องให้ตำรวจเพื่อสืบสวนหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และทำเรื่องส่งฟ้องต่อศาล เพื่อให้ดำเนินการเอาผิดตามกฎหมายต่อไป แต่เมื่อผลสรุปดังกล่าวออกมา กลับมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงใหม่ โดยอ้างเหตุผลว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเป็นบรรทัดฐานในการดูแลเรื่องนอมินีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
"อภิสิทธิ์" ระบุดีลถึงล้ม?
นายอภิสิทธิ์ เวชชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีบริษัทกุหลาบแก้วว่าหากขั้นตอนการสอบสวนผิดจริง ก็ต้องหาผู้รับผิดและต้องพิจารณาในแง่กฎหมายว่าเข้าข่ายการซื้อขายหุ้นที่ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งจะมีคำถามและข้อถกเถียงกันต่อมาว่า ข้อตกลงการซื้อขายหุ้นระหว่างชินคอร์ป และกองทุนเทมาเสกของสิงคโปร์ก่อนหน้านี้จะเป็นโมฆะหรือไม่ อย่างไร เป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายจะต้องหาทางออกเอง
“เรื่องนี้พรรคทวงถามไปนานมาก แต่ก็ยังไม่มีผลการสอบสวนออกมาชัดเจน มีการยื้อเรื่องผลการสอบออกไปอีก ซึ่งหากพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลเรื่องของบริษัทกุหลาบแก้วนี้จะต้องถูกรื้อขึ้นมาอีกครั้งแน่นอน เพื่อสอบสวนข้อเท็จจริงให้กระจ่าง หากผิดจริงก็ส่งผลให้การซื้อขายหุ้นชินคอร์ปผิดกฎหมาย" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่ส่อเค้าการทุจริตอีกหลายเรื่องที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลชุดนี้และไม่มีความคืบหน้า เช่น โครงการบ่อบำบัดน้ำเสีย การซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ซีทีเอ็กซ์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ โครงการเหล่านี้ยังต้องมีการตรวจสอบ เพราะที่ผ่านมาทางพรรคประชาธิปัตย์ได้พยายามติดตามเรื่องดังกล่าว แต่ไม่มีความคืบหน้าจากรัฐบาลชุดนี้เลย
นายเกียรติ สิทธีอมร กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเสริมว่า พรรคขอเรียกร้องให้นายยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเป็นผู้ที่ถูกกล่าวอ้างว่าได้รับใบสั่งจากนักการเมืองใหญ่คนหนึ่งให้ไปสกัดยับยั้งผลการสอบสวนกรณีนี้ต้องออกมาชี้แจงให้ชัดเจน
“ขณะนี้ชัดเจนว่าเมื่อยังไม่มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ และข้อมูลเอกสารที่ให้มาเพื่อมาอ้างสอบเพิ่มเติมก็ไม่ได้เพิ่มเติมสาระสำคัญ ผมจึงยืนยันว่าข้อมูลของกรมฯที่ทำเสร็จแล้วต้องเปิดเผยทันที แต่ขณะนี้ที่เห็นคือความพยายามหาเหตุผลมารองรับ” เขากล่าว
รมช.พาณิชย์โยนข้าราชการประจำ
ด้านนายปรีชา กล่าวถึงกรณีที่มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบใหม่ เป็นเรื่องของข้าราชการที่พิจารณาจากข้อเท็จจริง เพราะนายสุรินทร์ อุปพันธกุล ผู้ถือหุ้นใหม่ ได้มีหนังสือร้องมาแสดงความชัดเจนว่าเป็นคนไทย มีสถานะทางการเงินที่ดี มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของมาเลเซีย มีสินทรัพย์ 5 หมื่นล้านบาท มีความตั้งใจมาลงทุนในไทย และได้เคยยื่นหนังสือไปยังกรมฯ แล้ว แต่กรมฯ ไม่รับพิจารณา จึงได้มายื่นที่ตน ซึ่งได้ส่งเรื่องต่อไปยังนายยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองปลัดคลัสเตอร์ และดูแลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเพื่อให้พิจารณา
นายยรรยง พวงราช รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการการประกอบธุรกิจคนต่างด้าว กล่าวว่า ยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการเป็นนอมินีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ของบริษัท กุหลาบแก้ว ทำให้ขณะนี้ การตรวจสอบข้อเท็จจริงยังไม่สามารถดำเนินการได้ และขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการซื้อเวลา แต่ต้องการให้ข้อมูลมีความรัดกุม ก่อนที่จะส่งสำนวนเพื่อดำเนินคดีไปยังตำรวจ
“เห็นว่ากรมฯ ยังไม่ฟันธงมาว่าผิดหรือไม่ผิด จึงเห็นว่าน่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุดเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนส่งเรื่องให้ตำรวจ" นายยรรยงกล่าว
การตรวจสอบความเป็นนอมินีซื้อขายหุ้นชอนคอร์ปโดยบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัดและบริษัท ซีดาร์ โฮลดิ้ง จำกัด ไม่ได้เป็นการตรวจสอบเพราะกฎหมายบังคับ แต่เพราะมีการยื่นเรื่องจากพรรคประชาธิปัตย์ขอให้กระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบในเรื่องนี้
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 ม.ค. ชินคอร์ปได้ขายหุ้นมูลค่าประมาณ 7.3 หมื่นล้าน ให้กับกองทุนเทมาเส็ก โดยผ่านบริษัท กุหลาบแก้ว และซีดาร์ โฮลดิ้ง แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นนอมินี เนื่องจากมีการแต่งตั้งคนไทยเข้าไปเป็นประธานกรรมการบริษัทกุหลาบแก้ว และบุคคลดังกล่าวยังเป็นกรรมการชินคอร์ปด้วย แต่ผ่านไปเกือบ 7 เดือน ผลตรวจสอบยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นนอมินีหรือไม่
อย่างไรก็ตาม หากมีการตรวจสอบพบว่าคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว และคนต่างด้าวที่ยินยอมให้คนไทยถือหุ้นแทน จะมีความผิดตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทนงอ้างความลับ-ครั้งแรกเลยรอกฤษฎีกา
ขณะเดียวกันสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือเชิญผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ทั้ง 5 คนของกรมสรรพากรเพื่อชี้แจงเกี่ยวกับการพิจารณาภาษีการขายหุ้น ชินคอร์ป ผู้บริหารกรมสรรพากรไม่ให้ความร่วมมือนั้น วานนี้ (15 ส.ค.) นายทนง พิทยะ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานจากผู้ที่เกี่ยวข้องทั้ง 5 คน คือ 1.นายศิโรตม์ สวัสดิพาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร 2.นางไพฑูรย์ พงษ์เกสร รองอธิบดีกรมสรรพากร 3.นางเบญจา หลุยเจริญ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง 4.นางสาวโมฬีรัตน์ บุญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย และ5.นายกริช วิปุลานุสาสน์ นิติกร 9 แต่ทราบว่ากรมสรรพากรได้ทำหนังสือขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบของสตง.นั้น อาจเกิดความไม่แน่ใจว่าจะสามารถเปิดเผยข้อมูลการเสียภาษีของบุคคลทั้งสองดังกล่าวได้หรือไม่ เพราะกรมสรพากรมีหน้าที่รักษาความลับของผู้เสียภาษี ซึ่งหากเปิดเผยออกมากรมสรรพากรอาจมีความผิดได้ ดังนั้นจึงให้คณะกรรมการกฤษฎีกาช่วยตรวจสอบดูว่าสตง.มีอำนาจเพียงพอที่จะขอตรวจสอบข้อมูลของผู้เสียภาษีหรือไม่
“เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ สตง.เข้ามาขอรายละเอียดการเสียภาษีจากกรมสรรพากร ดังนั้น กรมสรรพากรจึงต้องดูให้แน่ใจว่า สตง.มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะตรวจสอบข้อมูลดังกล่าวได้หรือไม่ เนื่องจากกฎหมายได้ระบุอำนาจในการตรวจสอบข้อมูลแตกต่างกัน หากเป็นการขอข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ก็สามารถให้ข้อมูลในส่วนนี้ได้ ” นายทนง กล่าว
ทั้งนี้ สตง.มีจุดประสงค์ในการตรวจสอบการขายหุ้นที่บริษัท แอมเพิลริช อินเวสต์เมนท์ จำกัด ขายหุ้นชินคอร์ป จำนวน 329.2 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท ให้แก่นายพานทองแท้ ชินวัตร และนางสาวพิณทองทาชินวัตร บุตรของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี โดยเป็นการขายนอกตลาดหลักทรัพย์ ขณะที่ราคาตลาด 49 บาทต่อหุ้น (เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549) ทำให้บุคคลทั้งสองได้รับประโยชน์จาก “ส่วนต่าง” ราคาหุ้น เป็นเงิน 15,501 ล้านบาท ซึ่งส่วนต่างดังกล่าวเข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร จึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคิดเป็นเงิน 5,864 ล้านบาท
ขณะที่นายศิโรตม์ สวัสดิพาณิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้นายทนงรับทราบแล้ว ซึ่งการที่ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรถูกสตง. เรียกไปชี้แจงเรื่องการพิจารณาภาษีการขายหุ้นชินคอร์ปนั้น ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นจากการซื้อขายหุ้น แต่อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรต้องรอการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาเสียก่อนว่าจะออกมาเช่นไร ในขณะนี้ยังไม่อยากกล่าวถึงรายละเอียดของเรื่องดังกล่าว เพราะอยู่ระหว่างการพิจารณาของกฤษฎีกา
“ตอนนี้ผมยังไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ ผมเป็นคนที่มีมารยาท รู้ว่าเรื่องไหนควรพูด เรื่องไหนไม่ควรพูด รอให้เรื่องออกมาชัดเจนก่อน” นายศิโรตม์กล่าว
แหล่งข่าวจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผย คำวินิจฉัยของกฤษฎีกา ไม่มีอำนาจชี้ขาดการดำเนินการของ สตง. เพราะ สตง. ถือว่าเป็นองค์อิสระ ขณะที่ กฤษฎีกา ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ดังนั้น การที่กฤษฎีกาตัดสินเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จึงไม่เรื่องที่ สตง. จำเป็นจะต้องปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามก็ได้ เพราะอย่างเช่น กรณีที่เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรขึ้นนั้น ผู้ที่อำนาจในการชี้ขาดสุดท้ายจะต้องยกหน้าที่ให้เป็นการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น
กฤษฎีกาสอนมวย อย่าทำไขสือ
วันเดียวกันมีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าเมื่อเวลา 14.00 น.ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่หนึ่งหรือคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายเกี่ยวกับกฎหมายและการปกครอง ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธ์ อดีตประธานวุฒิสภาเป็นประธาน ได้มีการพิจารณาเรื่องด่วนกรณีที่กรมสรรพากรโดยนายศิโรต์ สวัสดิพานิชย์ อธิบดีกรมสรรพากร ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อหารือข้อกฎหมายกรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ทำหนังสือถึง 5 ผู้บริหารระดับสูงของกรมสรรพากรให้ชี้แจงกรณีกรณีที่กรมสรรพากรไม่เข้าตรวจสอบกรณีการขายหุ้นของบริษัทแอมเพิล ริช
การประชุมในครั้งนี้ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง โดยนายศิโรตม์ ได้นำคณะผู้บริหารกรมสรรพากรทั้ง 5 คนเข้าชี้แจงและหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา ขณะที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ส่งฝ่ายนิติการที่ติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าวเข้าหารือ
มีรายงานว่าการประชุมครั้งนี้เริ่มต้นขึ้นโดยทางกรมสรรพากรได้ยืนยันอำนาจทางข้อกฎหมายของตัวเองว่า กรมสรรพากรไม่ขัดข้องที่จะไปตอบคำถามที่ สตง.สงสัย แต่สิ่งที่กรมสรรพากรสงสัย คือ สตง. สามารถตรวจสอบได้เฉพาะในเรื่องทรัพย์สินและการเสียภาษีแล้ว แต่กรณีการขายหุ้นนอกตลาดหลักทรัพย์ฯยังไม่มีการประเมินภาษี และเห็นว่าที่ผ่านมา สตง.จะเข้าไปตรวจสอบเฉพาะการชำระ หัก และการยื่นรายการเสียภาษีที่มีการประเมินแล้วเท่านั้น และกรมสรรพากร ยังสงสัยในข้อกฎหมายที่สตง.มีหนังสือเรียก 5 กรมสรรพากรรายบุคคล ว่าแต่ละคนมีส่วนเกี่ยวข้องในการขายหุ้นของบริษัทชินฯ ให้กับ แอมเพิลริชฯ โดยไม่รู้ว่า สตง.ใช้อำนาจอะไร
ด้านตัวแทน สตง. ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ตามกฎหมายและอำนาจของสตง. สามารถเข้าไปตรวจสอบกระบวนการเลี่ยงภาษีได้มากกว่า การประเมินที่มีการจัดเก็บแล้ว พร้อมกับยกตัวอย่างว่า เหมือนกับมีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่แห่งหนึ่งข้างถนน ซึ่งการติดป้ายโฆษณาต้องเสียภาษี แต่เมื่อกรมสรรพากรไปถามเจ้าของป้าย ก็พบว่า ไม่ได้มีการเสียภาษีป้าย คำถามก็คือ ทำไมกรมสรรพากรจึงไม่ไปจัดเก็บภาษีดังกล่าว ก็เหมือนกับกรณีการขายหุ้นเอมเพิลริช ที่สตง.ก็สงสัยว่า ทำไมกรมสรรพากรจึงไม่เข้าไปตรวจสอบเรื่องนี้ คล้ายกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่
"ในที่ประชุม นายมีชัย ฤชุพันธ์ ได้กล่าวกับกรมสรรพากรว่า เรื่องนี้เมื่อ สตง.สอบถามมากรมสรรพากรก็เพียงชี้แจงไปตามที่ สตง.ตั้งประเด็นคำถามมา แต่หากดูแล้วว่าสตง.ไม่มีอำนาจก็แค่แย้ง สตง.ไปในที่ประชุมหรือตั้งข้อสังเกตถึง สตง.ก็สามารถทำได้แล้ว หรือจะไปโต้แย้งที่หลังก็ได้" แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวจาก สตง. ซึ่งรับผิดชอบการสอบสวนกรณี ผู้บริหารกรมสรรพากรละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีไม่เสียภาษีในการขายหุ้น เอมเพิลริช ว่า สตง.จะเดินหน้าตรวจสอบเรื่องดังกล่าวต่อไป โดยจะไม่รอหนังสือสรุปจาก คณะกรรมการกฤษฎีกา แต่อย่างใด โดยจะออกหนังสือเรียกผู้บริหารกรมสรรพากรมาชี้แจงกับ สตง.ต่อไป ซึ่งการที่ทำเช่นนี้ ไม่ใช่ไม่เคารพ คระกรรมการกฤษฎีกา แต่ที่ผ่านมา สตง.ได้ตรวจสอบ ในกรณีลักษณะเช่นนี้มาหลายกรณีแล้ว ก็ไม่มีปัญหา เพราะทำตามกฎหมาย สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
พีระพันธุ์เดินหน้าป้องไอทีวี
วานนี้ (15ส.ค.) ที่อาคารสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีการประชุมคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการ สถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ฉบับลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 ข้อ 5 วรรค 4 ไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา มี พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ซึ่งประชุมกว่า 3 ชั่วโมง โดยมีข้าราชการจากสำนักงานอัยการ กระทรวงการคลัง มาร่วมชี้แจง
พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า คณะกรรมการชุดนี้คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ภายในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ ส่วนจะมีการขยายระยะเวลาหรือไม่นั้นตนยังไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ได้หารือกับคณะกรรมการ
“ยืนยันว่าหลังการตรวจสอบของคณะกรรมการชุดนี้ ไอทีวีต้องจ่ายค่าสัมปทานตามสัญญา หากมีการกระทำความผิด รัฐจะได้เบี้ยปรับเงินเพิ่มอย่างแน่นอน เพราะสัญญาเขียนไว้อย่างชัดเจน โดยสัญญาเป็นเรื่องการให้จ่ายสัมปทาน” พล.ต.ต.พีรพันธุ์ กล่าว
สำหรับประเด็นที่ว่า เมื่อรัฐได้ประโยชน์อยู่แล้ว เหตุใดจึงมีการตั้งคณะกรรมการฯ มารื้อสัญญาระหว่าง สปน.กับไอทีวีย้อนหลัง แสดงว่าการตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ไอทีวีฟ้อง สปน.หรือไม่ พล.ต.ต.พีรพันธุ์ ชี้แจงว่า ยังไม่เห็นไอทีวีฟ้อง ยังไม่รู้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และไม่อยากคาดเดา อีกทั้งคณะกรรมการทุกคนต่างก็จบกฎหมายทั้งสิ้น ดังนั้นไม่ต้องกลัวว่าจะถูกฟ้อง
ต่อข้อถามว่า สปน.จะต้องฟ้องไอทีวีภายในกี่ปี จากคำสั่งศาลปกครองกลางระบุว่าจะต้องฟ้องภายใน 1 ปี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้ได้สงวนสิทธิ์ไปแล้ว พอครบสัญญาก็ฟ้องได้
ต่อข้อถามที่ว่า เหตุใด สปน.จะต้องตรวจสอบอีกครั้งในเมื่อสัญญาก็เขียนไว้ชัดเจนว่าไอทีวีจะต้องจ่ายค่าสัมปทานให้รัฐอยู่แล้ว พล.ต.ต.พีรพันธุ์ กล่าวว่า เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐบาลมอบหมายให้มาตรวจสอบ เพราะการเป็นข้าราชการต้องปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าว เมื่อซักถึงการเรียกรับค่าปรับจากไอทีวีจำนวน 76,000 ล้านบาท ที่ศาลปกครองกลางสั่งให้ไอทีวีจ่ายให้ สปน.นั้น พล.ต.ต.พีรพันธุ์ ได้พยายามหลีกเลี่ยงไม่ตอบคำถาม อีกทั้งยังย้อนถามผู้สื่อข่าวว่า “ระแวงอะไร ไม่เห็นต้องระแวง”
อย่างไรก็ดี แหล่งข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการฯเปิดเผยว่า ในการสอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องนัดนี้ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ รองอัยการสูงสุด ได้เสนอความเห็นต่อที่ประชุมขอให้ยกเลิกคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ เพราะไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสอบข้อเท็จจริง อีกทั้งจะเป็นการเปิดช่องให้ไอทีวี นำเอามาเป็นประเด็นฟ้องกลับรัฐได้ หากผลสอบสรุปว่าสำนักนายกฯ บกพร่องทั้งที่ขณะนี้คดีไอทีวี ทางรัฐได้ประโยชน์อยู่แล้ว
แหล่งข่าวเปิดเผยว่า หลังการเสนอความเห็น ปรากฏว่าคณะกรรมการมีท่าทีรับฟังจึงได้ทำความเห็นลงบันทึกการให้ปากคำ อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ขอร้องไม่ให้รองอัยการสูงสุดออกมาให้ข่าวกับสื่อมวลชน
ชินคอร์ปกำไรลด 28%
วันเดียวกันบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SHIN ได้แจ้งผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 2/49 โดยบริษัทมีกำไรสุทธิ 1,599.28 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.52 บาท ลดลง 628.51 ล้านบาท หรือ 28.21% จากงวดเดียวกันในปีที่ผ่านมาซึ่งมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,227.79 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯมีส่วนแบ่งผลกำไรจากเงินลงทุนลดลง 657.98 ล้านบาท จากจำนวน 2,268.52 ล้านบาท ในไตรมาส 2/48 เป็นจำนวน 1,610.54 ล้านบาท ในไตรมาส 2/49 ขณะที่งวด 6 เดือนปี 49 บริษัทมีกำไรสุทธิ 3,824.89 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกัน 881.59 ล้านบาท หรือ 18.73% ซึ่งมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 4,706.48 ล้านบาท
นอกจากนี้คณะกรรมการบริษัทยังอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลประกอบการ 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึง 30 มิถุนายน 2549 ในอัตราหุ้นละ 1.30 บาท คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้นประมาณ 4,153.99 ล้านบาท
|