ชี้แนวโน้มแบงก์เริ่มแข่งขันขยับขึ้นดอกเบี้ยอีกรอบ ระบุเป็นการป้องกันเงินไหลออกและเตรียมรองรับการแข่งขันในกลุ่มลูกค้ารายย่อย ส่วนกรณีที่แบงก์กรุงเทพปรับขึ้นดอกเบี้ยจับกลุ่มลูกค้านิติบุคคลระยะสั้น ถือเป็นการเลี่ยงที่จะเข้ามาเล่นตลาดเดียวกันธนาคารพาณิชย์อื่น
แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์กล่าวถึงการที่ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่อันดับ 1 ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 14 วัน และ 1 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.75 - 4.25% ตามแต่ละวงเงินในช่วงสับดาห์ที่ผ่านมาว่า ก่อนสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวน่าจะออกผลิตภัณฑ์เงินฝากพิเศษ ระยะเวลา 7-9 เดือน และเป็นอัตราดอกเบี้ยที่น่าจูงใจผู้ฝากเงินอีกครั้ง แม้ว่าธนาคารกรุงเทพเองจะไม่เห็นด้วยกับการที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ก็ต้องปรับตามเพื่อรักษาฐานเงินฝากของธนาคารไม่ให้ ไหลไปสู่ธนาคารพาณิชย์อื่น ประกอบกับเพื่อรองรับการแข่งขันในกลุ่มลูกค้ารายย่อยมากขึ้น
โดยมองว่าในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาที่ธนาคารพาณิชย์ในระบบบางธนาคารมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นอยู่เหนือการคาดกาณ์ของหลายฝ่ายและก็ไม่น่าจะมีสัญญาณให้มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก เนื่องจากทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายโดยคงไว้ที่ระดับ 5.00% ดังนั้น ธนาคารพาณิชย์ในระบบเองก็น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ประกอบกับสภาพคล่องในระบบก็อยู่ในระดับสูง แต่เมื่อบางธนาคารพยายามที่จะระดมเงินฝากประเภทระยะเวลาพิเศษ 9 เดือน ซึ่งปรากฏว่าไม่สามารถระดมเงินได้เท่าที่ควร จึงให้ธนาคารดังกล่าวหันมาปรับดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้น 3, 6, และ 12 เดือนแทน ทำให้เงินฝากไหลเข้าสู่ธนาคารในระดับหนึ่ง ทำให้ธนาคารพาณิชย์อื่นเลยมีการปรับขึ้นตาม
ขณะที่แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์อีกแห่งหนึ่งกล่าวว่า การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกรุงเทพในส่วนของระยะสั้น 14 วันกลุ่มลูกค้านิติบุคคล ก็เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวต้องการเลี่ยงที่จะแข็งขันเรื่องดอกเบี้ยกับกลุ่มลูกค้าบุคคลระยะเวลาเงินฝาก 3, 6, 12 เดือนกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ ที่ปรับขึ้นก่อนหน้านี้ ส่วนการปรับอัตราดอกเบี้ย 1 เดือนกลุ่มนิติบุคคลนั้นมองว่าเพื่อเป็นการระดมเงินเสริมสภาพคล่องของธนาคารเอง เนื่องจากที่ผ่านมาธนาคารมีการนำเงินไปลงทุนในตลาดเงินทั้งในและต่างประเทศ เพราะอัตราดอกเบี้ยยังมีส่วนต่างให้ลงทุนได้ อีกทั้งลูกค้านิติบุคคลมีพฤติกรรมที่ต้องการหมุนเงินในระยะสั้น
ด้านนายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย หัวหน้านักวิเคราะห์กลยุทธ์ตลาดเงินและตลาดทุนธนาคารเอชเอสบีซี ประเทศไทย จำกัด หรือ HSBC กล่าวถึงการที่ธนาคารกรุงเทพได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ผ่านมาว่า ในระยะเวลา 14 วันนั้น เป็นช่วงที่สั้นเกินไปสำหรับการแข่งขัน เชื่อว่าการระดมทุนดังกล่าวเป็นการรักษาต้นทุนของธนาคารพาณิชย์อีกรูปแบบหนึ่ง
ส่วนธนาคารต่างชาตินั้นจะได้รับผลกระทบหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างของแต่ละธนาคารเนื่องจากฐานเงินฝากธนาคารต่างชาติกับธนาคารพาณิชย์ไทยนับว่าแตกต่างกันเทียบกันไม่ได้เพราะภาพรวมของธนาคารต่างชาติต้นทุนของธนาคารจะอยู่ในตลาดอินเตอร์แบงก์ มากกว่า สำหรับอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์นั้น คาดว่าจะไม่มีการปรับขึ้นเนื่องจากนโยบายของธปท.นั้น ได้ลดแรงกดดันจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ทำให้มีแนวโน้มว่าไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทางการอีกเลย
อย่างไรก็ตาม คงจะก็ต้องติดตามสถานการณ์ของเฟดอย่างต่อเนื่องทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลดแรงกดดันลงอีกทั้งวัฏจักรของเงินเฟ้อก็ยังไม่กลับมาแม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของทางการไทยจะมีการชะลอตัวลงแต่เชื่อว่าอาจจะมีโอกาสน้อยมากที่จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ทั้งนี้ในส่วนของการลงทุนนั้นเชื่อว่าวัฏจักรการลงทุนจะกลับมาอีกครั้งในช่วงที่การเมืองมีความชัดเจนถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง ส่วนของภาคธุรกิจจะมีการเริ่มวางแผนการดำเนินงานกันและหลังจากนั้นอัตราดอกเบี้ยจะกลับมามีแรงกดดันอีกครั้งหนึ่ง
อนึ่ง เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพเปิดตัวบัญชีเงินฝากประจำ 2 แบบล่าสุดเป็นทางเลือกใหม่สำหรับลูกค้านิติบุคคลทั่วไปและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ย 4.25% ต่อปีสำหรับเงินฝาก 100 ล้านบาทขึ้นไป และระยะเวลาฝาก 1 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4.00% ต่อปีสำหรับเงินฝาก 50 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 100 ล้านบาท และระยะเวลาฝาก 1 เดือน อัตราดอกเบี้ย 4.00% ต่อปีสำหรับเงินฝาก 100 ล้านบาทขึ้นไป และระยะเวลาฝาก 14 วัน และอัตราดอกเบี้ย 3.75% ต่อปีสำหรับเงินฝาก 50 ล้านบาทขึ้นไป แต่ไม่ถึง 100 ล้านบาทและระยะเวลาฝาก 14 วัน
โดยนายบดินทร์ อูนากูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารออกบัญชีเงินฝากประจำใหม่ 2 ประเภทดังกล่าวเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับลูกค้านิติบุคคลทั่วไปและนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไร ในการบริหารจัดการสภาพคล่องในระยะสั้นด้วยความสะดวกโดยได้รับผลตอบแทนในอัตราที่ดี
ธปท.ระบุสินเชื่อทั้งระบบไตรมาส 2 ยังขยายตัวได้ดี
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยยอดสินเชื่อทั้งระบบเมื่อสิ้นไตรมาส 2 ของปีนี้ยังขยายตัวได้ดีประมาณร้อยละ 10 แม้ภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัวบ้าง ขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลยังไม่มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงและต้องออกมาตรการควบคุม โดยยอดสินเชื่อคงค้างทั้งระบบสิ้นไตรมาส 2 มีกว่า 5.8 ล้านล้านบาท
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการ ธปท. เปิดเผยว่า ภาพรวมการขยายตัวของสินเชื่อทั้งระบบล่าสุดอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 เศษ ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่น่าพอใจ อย่างไรก็ตามยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการลงทุนภาคเอกชนที่ทรงตัว รวมทั้งการใช้จ่ายภาคเอกชนที่ชะลอตัวส่งผลให้สินเชื่อไม่ขยายตัวมากนัก แต่ในภาคการส่งออกยังขยายตัวได้ดี ส่วนเป้าหมายสินเชื่อโดยรวมจะลดลงหรือไม่นั้นอยู่ที่ธนาคารพาณิชย์เป็นหลัก เพราะขณะนี้ ธปท.ไม่ได้ตั้งเป้าการขยายสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์เพียงแต่จะดูให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจเท่านั้น
นางธาริษา กล่าวว่า การที่สินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะภาคการลงทุนชะลอตัว ยังไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีการลงทุนเพิ่มขึ้นในภาคเศรษฐกิจ แต่ภาคธุรกิจอาจจะใช้การระดมทุนโดยการออกหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ชนิดอื่นทดแทนการขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์เพื่อนำมาลงทุน ดังนั้น การจะชี้ว่าไม่มีการลงทุนใหม่เพราะไม่มีการขอสินเชื่อคงพูดไม่ได้เสียทีเดียว
ด้านนายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นของธุรกิจสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) มากกว่าของธนาคารพาณิชย์ โดยในส่วนของธนาคารพาณิชย์ที่มียอดเพิ่มขึ้นมาจากกรณีที่ธนาคารธนชาตและธนาคารเกียรตินาคินโอนสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อเข้ามาไว้ในระบบธนาคารพาณิชย์ ซึ่งทั้ง 2 ธนาคาร มียอดรวมกันประมาณร้อยละ 30 อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังติดตามดูการขยายตัวของสินเชื่อในภาคธุรกิจดังกล่าว แต่ในขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณอะไรที่น่าเป็นห่วงมากนักและยังไม่จำเป็นต้องออกมาตรการควบคุม
รายงานข่าวจากสายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. เปิดเผยตัวเลขยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2549 ว่ามียอดคงค้างสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 5,813,742 ล้านบาท เทียบกับไตรมาสแรก 5,784,783 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 28,959 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทย 5,201,940 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 611,802 ล้านบาท และหากแยกประเภทการปล่อยสินเชื่อตามประเภทธุรกิจ จะพบว่าสินเชื่อเพื่อการผลิตมียอดคงค้างสูงสุด 1,571,836 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 32,286 ล้านบาท รองลงมาคือสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคล 1,115,566 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 71,793 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นประเภทธุรกิจที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อมากสุด
สำหรับสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลที่ธนาคารปล่อยกู้ ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการซื้อที่ดินมียอดคงค้าง 40,312 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อการจัดหาที่อยู่อาศัย 616,846 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 39,204 ล้านบาท การซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ 167,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 11,815 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่นๆ 286,223 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 18,146 ล้านบาท สินเชื่อเพื่อการขายส่ง การขายปลีก และซ่อมแซมยานยนต์ จักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคลและของใช้ในครัวเรือนมียอดสินเชื่อคงค้าง 978,916 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก 14,042 ล้านบาท สินเชื่อเกษตรกรรม การล่าสัตว์ และการป่าไม้ 90,542 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,130 ล้านบาท ขณะที่สินเชื่อตัวกลางทางการเงิน 649,248 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสแรก 82,267 ล้านบาท และบริการด้านอสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ 450,033 ล้านบาท ลดลง 26,578 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นสินเชื่อในภาคธุรกิจอื่นๆ โดยรวมแล้วยอดสินเชื่อส่วนใหญ่ยังคงเพิ่มขึ้น
|