ดีลควบรวมกิจการเชนสโตร์มือถือไทยสำเร็จไปอีกขั้น เมื่อ "ไออีซี" เจรจาซื้อหุ้นจากผู้บริหารคนไทยและสิงคโปร์มูลค่า 252,000,000 ล้านบาท คิดเป็น 24.35% อยู่ในอุ้งมือ เดินหน้าเจรจาซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นใหญ่จากสหรัฐอเมริกาต่อ คุยช่วยยกมาตรฐานราคา และบริการธุรกิจมือถือ ให้ไออีซีคุมค้าส่ง บลิส-เทลคุมค้าปลีก พร้อมเซ็นเอ็มโอยู "ทีจี โฟน" รวมตัวเป็นเครือข่ายเชนสโตร์มือถือใหญ่ที่สุดในไทย เชื่อปีหน้าคุมส่วนแบ่งตลาด 53%
ในที่สุดข่าวการเข้าซื้อหุ้นสามัญในบริษัท บลิส-เทล จำกัด (มหาชน) หรือบลิส-เทล ของบริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือไออีซี ที่มีกระแสข่าวมานานหลายเดือนได้บทสรุปในส่วนของผู้ถือหุ้นคนไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทางไออีซีได้เข้าซื้อหุ้นสามัญจำนวน 56,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 24.35% ของหุ้นจดทะเบียนในราคาหุ้นละ 4.50 บาทคิดเป็นมูลค่ารวม 252,000,000 บาท
ไออีซีได้ทำการซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นเดิมจากบริษัท เน็ตเวิร์ค แมแนจเมนท์ โซลูชั่น จำกัด ผู้ถือหุ้นจากประเทศสิงคโปร์จำนวน 35,000,000 หุ้น อรรถวิชญ์ เอกธนิตพงษ์ จำนวน 8,300,000 หุ้น จงกลนี เขมะจันตรี จำนวน 7,700,000 หุ้น และประกายดาว เขมะจันตรี จำนวน 5,000,000 หุ้น
"การควบรวมธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระหว่างไออีซีกับบลิส-เทล ถือเป็นมิติใหม่และเป็นการพลิกโฉมวงการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากไออีซีและบลิส-เทลต่างก็มีจุดแข็งของตน ถึงแม้ว่าทั้งไออีซีและบลิส-เทลต่างดำเนินธุรกิจที่เหมือนกัน แต่ก็มีจุดแข็งที่ไม่เหมือนกัน ไออีซีมีจุดแข็งทางด้านค้าส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ ส่วนบลิส-เทลมีจุดแข็งในเรื่องค้าปลีก ซึ่งการควบรวมกันในครั้งนี้ทำให้ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่แข็งแกร่งมากขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งผู้บริโภค ต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น" สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงสาเหตุของการควบรวมกิจการระหว่างไออีซีกับบลิส-เทล
สุมิทยังได้ให้รายละเอียดถึงประโยชน์ที่เกิดจากซื้อหุ้นในบลิส-เทลว่า สิ่งที่ผู้บริโภคจะได้เป็นเรื่องของการกำหนดราคาสินค้าที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งทำให้เราสามารถที่จะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานราคาให้เป็นมาตรฐานเดียวกันได้ ซึ่งแต่เดิมต่างฝ่ายต่างก็มีการกำหนดราคาที่ไม่เหมือนกัน
มาตรฐานการให้บริการเป็นอีกจุดหนึ่งที่จะเป็นผลพวงของการซื้อหุ้นในครั้งนี้ ซึ่งสุมิทบอกว่า ไออีซีถือเป็นผู้นำในด้านบริการหลังการขาย เป็นบริษัทแรกที่มีการรับประกันโทรศัพท์เคลื่อนที่นาน 5 ปี เมื่อควบรวมธุรกิจกันมาตรฐานการให้บริการหลังการขายของบลิส-เทลก็จะเทียบเท่ากับไออีซี เมื่อปริมาณลูกค้าเพิ่มมากขึ้น ก็จะส่งผลให้บริษัทอื่นๆ ต้องปรับปรุงบริการหลังการขายให้เทียบเท่าหรือดีกว่า ซึ่งทำให้ผู้บริโภคได้รับบริการหลังการขายที่ได้มาตรฐาน
อรรถวิชญ์ เอกธนิตพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลิส-เทล จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า ประโยชน์ที่มีต่อ 2 บริษัทนำไปสู่การรวมกันของคลังสินค้า ระบบโลจิสติก ระบบศูนย์ข้อมูลลูกค้าและระบบบริการหลังการขายที่จะมีใช้งานร่วมกัน ซึ่งเป็นการประหยัดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลดลง ทำให้ผลกำไรของทั้งสองบริษัทเพิ่มขึ้น
"แทนที่จะมีระบบคลังสินค้า โลจิสติกส์แยกจากกัน แต่การควบรวมครั้งนี้จะทำให้การส่งสินค้า ระบบคงคลังถูกรวมเข้าด้วยเป็นหนึ่ง เวลากระจายสินค้าก็ทำเพียงครั้งเดียวก็กระจายได้ทั่ว และยังสามารถโยกสต๊อกสินค้าระหว่างชอปได้อีกด้วย"
สำหรับยุทธศาสตร์ของการควบรวมกิจการในครั้งนี้ ทางอรรถวิชญ์อธิบายให้ฟังว่า ชอปของไออีซี และชอปของบลิส-เทลก็จะยังคงไว้เหมือนเดิม เพียงแต่ว่า จะมีการโยกส่วนงานค้าปลีกของไออีซีมาโฟกัสที่บลิส-เทลแทน ส่วนงานด้านค้าส่งของบลิส-เทลก็จะย้ายบทบาทไปอยู่ที่ไออีซี ซึ่งจะทำให้ไออีซีโฟกัสงานทางด้านค้าส่งที่เป็นจุดแข็งเป็นหลัก และบลิส-เทลดูงานด้านค้าปลีกเป็นหลักแทน
ส่วนแบรนด์โพซิชันนิ่งนั้นได้มีการปรับให้ "โมบาย อีซี่" ของไออีซีที่มีอยู่ในปัจจุบัน 228 ชอปเป็นชอปที่โฟกัสไปยังบิสซิเนสโฟน สมาร์ทโฟนเป็นหลัก ส่วน "บลิส-เทลชอป" ที่มีอยู่ขณะนี้ 278 ชอป ในปัจจุบันโฟกัสการขายไปที่แฟชั่นโฟน โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีดีไซน์ และเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับการร่วมมือในครั้งนี้ ทั้งไออีซีและบลิส-เทลได้มีการลงนามร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัท ทีจี เซลลูลาร์ เวิลด์ จำกัด ซึ่งมีชอปค้าปลีกโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ "ทีจี โฟน" ที่มีอยู่ประมาณ 88 แห่งเข้าร่วมเป็นพันธมิตรค้าปลีกโทรศัพท์ โดยได้กำหนดให้ "ทีจีโฟน" เป็นชอปที่โฟกัสตลาดที่เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วไปหรือเบสิกโฟน
"ทำให้เครือข่ายชอปของเรามีขนาดที่ใหญ่ ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ที่จะทำให้เกิดอำนาจต่อรองราคาโทรศัพท์เคลื่อนที่กับผู้ผลิตเครื่องจนสามารถสร้างมาตรฐานราคาได้ คาดว่าจะทำให้มาร์จิ้นของธุรกิจนี้เพิ่มขึ้นจาก 5.5-6% ขยับขึ้นมาได้อีกประมาณ 1% ซึ่งทำให้ร้านค้าปลีกที่ขายโทรศัพท์มือถือรายเล็กสามารถอยู่ในธุรกิจนี้ได้"
ประกายดาว เขมะจันตรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท บลิส-เทล จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การควบรวมครั้งนี้จะไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบและไม่ทำให้โทรศัพท์เคลื่อนที่แพงขึ้นแน่นอน เนื่องจากยังมีผู้ค้าปลีกจำนวนมากที่ร่วมแข่งขัน ประกอบกับมาร์จิ้นที่สูงขึ้นของผู้ค้าจะไปบีบราคาขายจากผู้ผลิตเครื่องให้ลดลง
อรรถวิชญ์ยังบอกถึงจุดแข็งของการควบรวมในครั้งนี้อีกประการหนึ่งว่า เราเชื่อว่าในปีหน้าเมื่อรวมส่วนแบ่งทางการตลาดของทั้งสามแหล่งแล้วจะมีส่วนแบ่งทางการตลาดถึง 53% ขึ้นอยู่กับขนาดตลาดในเวลานั้นด้วย ซึ่งคงเป็นการยากที่จะบอกว่า ปีหน้าจะมีขนาดตลาดประมาณเท่าไร ขึ้นอยู่กับหลายๆ ปัจจัย ปัจจุบันบลิส-เทลชอปมีส่วนแบ่งในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ประมาณ 400,000 เครื่อง โมบาย อีซี่ ประมาณ 1,180,000 เครื่อง และทีจี โฟน ประมาณ 450,000 เครื่อง รวมกันประมาณ 2,000,000 เครื่อง
"เชื่อว่ายอดขายรวมทั้งสามบริษัทในปีนี้น่าจะมากกว่า 15,000 ล้านบาท"
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทางด้านสัดส่วนหุ้นที่ทางไออีซีมองเอาไว้อยู่ที่ตัวเลข 40% ของหุ้นสามัญทั้งหมดในบริษัท บลิส-เทล จำกัด (มหาชน) โดยมีความตั้งใจในเบื้องต้นที่จะนำยอดขายของบลิส-เทลที่มีอยู่ประมาณ 9,000-10,000 ล้านบาทต่อปี มาคำนวณรวมกับงบการเงินของไออีซี
การเดินทางของไออีซีในครั้งนี้สำเร็จไปขั้นหนึ่งแล้ว ด้วยจำนวนหุ้น 24.35% ในส่วนของคนไทย ไออีซียังจะต้องเดินหน้าขอซื้อหุ้นใหญ่จากบริษัท ออดิโอวอกซ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ถือหุ้นในสัดส่วน 13.04% ถึงจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ซึ่งจะเป็นเมื่อไรนั้น คงจะต้องจับตาดูดีลการควบรวมครั้งนี้แบบห้ามกะพริบตา หากผลออกมาในทางบวก ราคาหุ้นของไออีซีคงจะเด่นขึ้นมาอีกครั้งในกระดานซื้อหุ้นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
|