|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
*โอเปอเรเตอร์สร้างเกมการแข่งขันนอกสังเวียนบนคลื่นหน้าปัดวิทยุ
*ผนวกสถานีเปิดช่องทางสื่อสารรูปแบบใหม่เจาะตรงถึงกลุ่มลูกค้า
*พลิกโฉมหน้าอุตสาหกรรมด้วยโมเดลแปลกใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
*สองค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ ประเดิมสถานีส่วนตัว พิสูจน์แนวทางใครตรงใจตลาดกว่ากัน
* "แฮปปี้สเตชั่น" คลื่นแห่งรอยยิ้ม ปะทะ "เอไอเอสเรดิโอ" ที่พร้อมบรอดคาสต์สถานีบนมือถือ
หลังจากการฟาดฟันกันอย่างหนักหน่วงตลอดช่วงครึ่งปีแรกระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของเมืองไทย โดยเฉพาะกับการอัดแคมเปญโปรโมชั่นแรงๆ ใส่กัน แนวทางการตลาดรูปแบบใหม่ๆ ก็ถูกงัดออกมาใช้เพื่อเป็นการสานต่อกลยุทธ์ของแต่ละค่าย ที่พร้อมจะสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งขันรายสำคัญในตลาด
ความเคลื่อนไหวที่กลายเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งให้กับวงการอุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือของไทย คือการที่ผู้ให้บริการเปิดแนวคิดใหม่เกี่ยวกับความร่วมมือกับสถานีวิทยุ ซึ่งถือเป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและผู้ใช้โทรศัพท์มือถือได้อย่างกว้างขวาง
"ที่ผ่านมาโอเปอเรเตอร์จะมีการซื้อเวลาโฆษณา หรือเป็นสปอนเซอร์ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในแต่ละสถานีวิทยุ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดา จึงอยากที่จะคิดทำอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ และไม่เหมือนกับคนอื่นออกสู่ตลาดบ้าง" เป็นคำกล่าวจากการให้สัมภาษณ์ของ วัชรพงษ์ ศิริพากย์ Head Marketing Communication Unit บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค
สิ่งที่ทำให้ดีแทคต้องพยายามคิดหาอะไรแปลกๆ ใหม่ๆ ออกสู่ตลาด เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมางบทางการตลาดโดยเฉพาะอย่างยิ่งงบเรื่องการโฆษณานั้น ดีแทคเป็นรองเอไอเอสค่อนข้างมาก วัชรพงษ์ กล่าวต่อว่า "ดีแทคจะมีงบโฆษณาน้อยกว่าเอไอเอสครึ่งหนึ่งหรือมากกว่านั้นเสมอ เราจึงต้องคิดหาสื่อรูปแบบใหม่ที่จะทำให้การสื่อสารของดีแทคมีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะนั่นทำให้เราสามารถแข่งขันกับบริษัทที่มีเงินทุนซึ่งมากกว่าได้"
สื่อวิทยุจึงเป็นสิ่งแรกที่ดีแทคมองเห็นว่าน่าที่จะทำอะไรในรูปแบบใหม่ๆ ได้ ในลักษณะของพาร์ตเนอร์ชิปโมเดลที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับผลประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างกัน แฮปปี้จึงได้ร่วมกับคลื่นวิทยุ 103.5 เอฟเอ็ม เปิดตัว "103.5 แฮปปี้สเตชั่น" เพื่อเป็นแหล่งรวมพลคนแฮปปี้บนหน้าปัดวิทยุนำเสนอรายการวิทยุแนวใหม่ที่ให้ทั้งความรู้ ความบันเทิง เกม ตลอดจนการแสดงความคิดเห็นที่ตรงกับความต้องการของผู้ฟังทุกเพศ ทุกวัย
วัชรพงษ์ กล่าวอีกว่า 103.5 แฮปปี้สเตชั่นคือกลยุทธ์การสร้างสื่อของตัวเอง เป็นช่องทางที่จะทำให้ดีแทคหรือแฮปปี้ได้รู้จัก ใกล้ชิดกับลูกค้าและประชาชนมากขึ้น ทำให้ดีแทครู้ถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมายของแฮปปี้มากขึ้น สามารถทำการสำรวจความนิยมของผู้ฟังเพื่อให้ทราบความคิดเห็นและความต้องการได้ตลอดเวลา
"เราไม่ได้เข้าไปครอบงำสถานีวิทยุแต่อย่างใด ไม่มีการเปลี่ยนแปลงคาแรกเตอร์ของสถานีวิทยุ แต่เป็นความร่วมมือที่ได้จากการประสานงานทางความคิดที่ตรงกันจนออกมาเป็นสถานีเพลงรูปแบบใหม่"
ทั้งนี้รูปแบบการดำเนินรายการในแต่ละเดือนจะยกเอาคาแรกเตอร์ของบริการต่างๆ ขึ้นมาเป็นแกนสร้างสรรค์ เช่นเปิดสายคุยกับผู้ฟังให้โทร.เข้ามาเล่าเรื่องราวมิตรภาพระหว่างคนสองคน หรือเล่นเกมที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์กับคนสนิท ซึ่งเป็นบุคลิกของ "ซิมของเรา" หรือเมื่อพูดถึง "ซิมเปิ้ล" ก็จะคุยกันในเรื่องที่เข้าใจง่ายๆ ตรงจุด ไม่ซับซ้อน
วัชรพงษ์ บอกว่า หลังจากได้ร่วมมือกันมาระยะหนึ่ง ขณะนี้ทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะทีมงานกับดีเจมีความคุ้นเคยระหว่างกัน และมีความสนุกในการทำงานเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่มีการบังคับว่าดีเจจะต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อเป็นการโปรโมตให้กับดีแทค และทุกคนก็พร้อมจัดรายการวิทยุให้มีความสนุกสนาน ซึ่งก็เข้ากับคอนเซ็ปต์ของแฮปปี้ที่ต้องการให้คลื่นวิทยุแห่งนี้เป็นคลื่นแห่งรอยยิ้มที่สื่อสารถึงกันและกันตลอดเวลา
"เราไม่มีการเซ็นสัญญากับทางคลิกเรดิโอแต่อย่างใด เพราะหากเรายังสนุกที่จะร่วมมือกันก็ทำงานกันไปได้เรื่อยๆ ซึ่งความรู้สึกที่ดีต่อกันเป็นสิ่งที่หาซื้อกันไม่ได้"
สิ่งที่เกิดขึ้นหลังปรากฏการณ์ 103.5 แฮปปี้สเตชั่นนั้น วัชรพงษ์ บอกว่า ทั้งดีเจและสถานีค่อนข้างตื่นเต้น และมีการพูดถึงบอกต่อกันปากต่อปาก ทำให้สถานีวิทยุเห็นความแปลกใหม่แตกต่างไปในอุตสาหกรรม
เกิดประโยชน์ทุกฝ่าย
หากมองผลประโยชน์ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างดีแทคกับสถานีวิทยุคลิกเรดิโอ วัชรพงษ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ทุกฝ่ายจะได้ประโยชน์ เริ่มจากกลุ่มผู้ฟังวิทยุ จะได้รับความสุขและความสนุกที่แฮปปี้ใส่มาให้กับสถานีแห่งนี้ โดยที่ดีแทคไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงคาแรกเตอร์ของสถานี แต่ผู้ฟังโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกค้าของดีแทคจะได้รับโอกาสจากการเล่นเกมรูปแบบต่างๆ ตลอดเวลา และมีการเปลี่ยนแปลงทุกเดือน อย่างการเล่นเกมเพื่อรับการโทร.ฟรีตลอดปี การโทร.ฟรีตามมูลค่าเงินรูปแบบต่างๆ ซึ่งถือเป็นการซีอาร์เอ็มอีกรูปแบบหนึ่ง และหากผู้ฟังที่ยังไม่ได้เป็นลูกค้าของแฮปปี้ได้ฟังสถานีในอนาคตเขาอาจจะเปลี่ยนใจมาเป็นลูกค้าของดีแทค เนื่องจากเห็นถึงประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับ
ในด้านของสถานีวิทยุไม่ต้องวิ่งหาเงินค่าโฆษณามากเหมือนช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากดีแทคได้สนับสนุนเงินส่วนหนึ่งให้ ทำให้สถานีสามารถพัฒนาคอนเทนต์ด้านต่างๆ ของสถานี และเมื่อมีผู้ฟังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะยิ่งทำให้สถานีนี้มีอัตราค่าโฆษณาที่ขายได้ดีขึ้นอีก
สำหรับดีแทคเองสามารถใช้สถานีนี้สื่อสารกับผู้ฟัง ที่เป็นลูกค้าและไม่ใช่ลูกค้าของแฮปปี้ จนสามารถสร้างเป็นคอมมูนิตี้ส่วนตัวในอนาคตได้
"อนาคตเราจะคิดสื่อที่แปลกๆ ออกไปเพิ่มขึ้นอีก นอกเหนือจากสื่อวิทยุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อสิ่งพิมพ์ เราอยากจะมีแฮปปี้แมกกาซีน" เป็นสิ่งที่วัชรพงษ์ คิดและกำลังก้าวต่อไปหลังจากที่เป็นผู้บุกเบิก "103.5 แฮปปี้สเตชั่น"
เอไอเอสเรดิโอสถานีไร้สาย
ไม่เพียงดีแทคจะคิดรูปแบบแปลกๆ ในการร่วมมือกับสถานีวิทยุเอไอเอส แต่เป็นอีกหนึ่งรายที่กำลังพลิกโฉมสถานีวิทยุตามแนวทางของตนเองเช่นกัน และมีความแตกต่างจากสิ่งที่ดีแทคกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
"เราได้มีการเจรจากับสถานีวิทยุ 20-30 สถานี เพื่อทำการบรอดคาสต์รายการวิทยุผ่านมือถือ" เป็นคำกล่าวของ สมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานธุรกิจบริการสื่อสารไร้สาย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส
เอไอเอสมุ่งเจรจากับสถานีวิทยุที่มีอินเทอร์เน็ต เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าที่ต้องการฟังรายการวิทยุรายการต่างๆ กรณีที่อยู่นอกพื้นที่การให้บริการ เช่น บางสถานีสามารถรับฟังในกรุงเทพฯ แต่พอออกต่างจังหวัดไม่สามารถรับฟังได้ แต่เมื่อใช้บริการเอไอเอสเรดิโอสามารถฟังได้ เพียงกดไปที่สถานีที่ต้องการฟังเท่านั้น
ในส่วนการเปิดให้บริการเอไอเอสเรดิโอ สมชัย บอกว่าไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก เพียงแต่เอไอเอสตั้งเซิร์ฟเวอร์ขึ้นมา ก็สามารถให้บริการได้ทันที เนื่องจากจะเป็นการให้บริการสื่อสารข้อมูลในอีกรูปแบบหนึ่ง เหมือนเป็นอินเทอร์เน็ตไร้สายโดยผู้ใช้ไม่ต้องจ่ายค่าบริการ ยกเว้นค่าจีพีอาร์เอส แต่ต้องมีมือถือที่รองรับการใช้งานจีพีอาร์เอส
"แนวคิดของเราคือต้องการให้มือถือเป็นอีกมีเดีย เหมือนทีวี ออนโมบายที่เราทำไปแล้ว"
สำหรับการเปิดให้บริการเอไอเอสเรดิโอตั้งเป้าที่จะเปิดบริการให้ได้ภายใน 1-2 เดือนนี้ อย่างไรก็ตาม การร่วมมือกับสถานีวิทยุ ยังติดเรื่องของไลเซนส์คอนเทนต์บางอย่างของสถานี เช่น สถานีวิทยุมีการไปเอาข่าวหรือเพลงของบางค่ายมา จะสามารถให้บริการผ่านมือถือได้หรือไม่ หากมองว่ามือถือเป็นอีกมีเดียก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่เกรงกันว่าจะมีการนำคอนเทนต์ไปขายต่อมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เอไอเอสยังได้มีความร่วมมือกับสถานีวิทยุในรูปแบบอื่นๆ ล่าสุดได้มีการจับมือกับแฟต เรดิโอ 104.5 เปิดโครงการ "กรุงเทพ 360 องศา" ที่มีจุดเริ่มต้นจากแนวคิดที่เอไอเอสต้องการสื่อสารว่าเทคโนโลยีทำให้ชีวิตเป็นเรื่องสนุก น่าตื่นเต้นและมีส่วนสนับสนุนให้เกิดมุมมองใหม่ๆ แหวกแนว ให้กับผู้คนในทุกแง่มุม และทุกวงการ รวมถึงวงการภาพยนตร์ เอไอเอส ฟิวเจอร์ เวิลด์ จึงได้นำเทคโนโลยีหนัง 360 องศา มาจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ และเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ กับผู้ชม ที่สามารถดูหนังได้รอบทิศทาง ทั้งการจัดเวิร์กชอป และการจัดโครงการหนังสั้นเข้ามาประกวดในหัวข้อ "กรุงเทพ 360 องศา" เพื่อค้นหาผู้ชนะด้วย
|
|
 |
|
|