ตั้งแต่ปีที่ผ่านมาการปรับตัวขนานใหญ่ในวงการธุรกิจการเงินเริ่มปรากฏให้เห็น
โดยแต่ละบริษัทต่างก็มีหนทางของตนเองตามพื้นฐาน โอกาส และความเหมาะสม หลาย
ๆ บริษัทได้ดำเนินการแล้วขณะที่อีกหลายบริษัทอยู่ระหว่างดำเนินการ
เอกธำรงควบเอกเอเซีย
ก้าวเป็นโบรกเกอร์ชั้นนำระดับภูมิภาค
บล.เอกธำรง (S-ONE) เสนอซื้อ บล.เอกเอเซีย (FAS) ทั้ง 100% คือ 50 ล้านหุ้นพร้อมใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญอีก
10 ล้านหน่วย นับเป็นเหตุการณ์หนึ่งที่มีการกล่าวขวัญกันมากในช่วงที่ผ่านมา
เหตุผลสำคัญที่ ภควัติ โกวิทวัฒนพงษ์ กรรมการผู้จัดการ บล.เอกธำรง กล่าวไว้ก็คือ
เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการขยายธุรกิจของบริษัท และต้องการก้าวสู่การเป็นโบรกเกอร์ชั้นนำในภูมิภาคเอเชีย
โดยมีบริษัทเอเชียอิควิตี้โฮลดิ้งโบรกเกอร์รายใหญ่ในเอเชียเป็นฐานขยายเครือข่ายและอาศัยบุคลากรของ
บล.เอกเอเซียในการขยายธุรกิจ
การควบกิจการครั้งนี้ บล.เอกธำรงต้องเพิ่มทุนจำนวนขึ้นมา 30 ล้านหุ้นในราคาพาร์
10 บาท เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนหุ้นกับ บล.เอกเอเซีย ในสัดส่วน 2 หุ้นสามัญของเอกเอเซียต่อ
1 หุ้นสามัญของเอกธำรง และ 4 หน่วยของใบสำคัญแสดงสิทธิของเอกเอเซียต่อ 1
หุ้นสามัญของเอกธำรง
หลังจากนั้น บล.เอกธำรงก็จะดำเนินการลงทุนในเอเชียอิควิตี้โฮลดิ้งทั้งหมดที่
บง.เอกธนกิจ และธนาคารเอเชียถืออยู่ รวมเป็นสัดส่วนประมาณ 65% จากหุ้นทั้งหมด
124,267,686 หุ้น ซึ่งจะทำให้ บล.เอกธำรงสามารถบริหารเอเชียอิควิตี้ได้อย่างเต็มที่
ปัจจุบันเอเชียอิควิตี้มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง และมีสาขารวม 24
แห่ง กระจายอยู่ในแถบเอเชีย ผลของการรวมกิจการครั้งนี้จะทำให้ บล.เอกธำรงเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
และติดอันดับต้น ๆ ในเอเชีย โดยจะมียอดสินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 50,000
ล้านบาท เงินทุนเพิ่มเป็น 9,000 ล้านบาท และพนักงานเพิ่มเป็น 870 คน
สำหรับยอดการมาแลกหุ้นจาก บล.เอกเอเชีย เป็น บล.เอกธำรง ในปัจจุบันมีจำนวน
49,696,766 หุ้น คิดเป็น 99.39% จาก 50 ล้านหุ้น และใบสำคัญแสดงสิทธิมีการมาแลกทั้งหมด
9,838,396 หน่วย คิดเป็น 98.38% จาก 10 ล้านหน่วย
นวธนกิจซื้อสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด
ขยายฐานครอบคลุมทั่วอาเซียน
การที่ บงล.นวธนกิจ (NAVA) ลงทุนซื้อบริษัท สแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ซีเคียวริตี้
(STANDARD CHARTERED SECURITIES) ในสัดส่วน 80.1% นั้น เริ่มส่งผลในเรื่องของรปิมาณการซื้อขายหลักทรัพย์
ซึ่งสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ได้ส่งคำสั่งซื้อขายมาที่ บงล.นวธนกิจ ประมาณ 50%
แล้ว และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทำให้ บงล.นวธนกิจ มีส่วนแบ่งตลาดโดยเฉลี่ยมาเป็นอันดับหนึ่งในขณะนี้
คือ ประมาณ 6.5% และมีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนนับหมื่นล้านบาท
ขณะที่สภาวะตลาดโดยรวมไม่เอื้ออำนวย และโบรกเกอร์ส่วนใหญ่มีรายได้ค่านายหน้าลดน้อยลง
ธนบดี โสภณศิริ ประธานกรรมการบริหาร บงล.นวธนกิจให้เหตุผลถึงการซื้อสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดว่า
เพื่อขยายสาขาไปต่างประเทศให้ครอบคลุมธุรกิจทรัพย์หลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันสแตนดาร์ชาร์เตอร์ดมีการดำเนินธุรกิจครอบคลุมถึง 7 ประเทศ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
และมีฐานะเป็นโบรกเกอร์ถึง 14 ที่นั่ง คือ ในตลาดหุ้นฮ่องกง 9 ที่นั่ง ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้
2 ที่นั่ง ตลาดหุ้นเซินเจิ้น 1 ที่นั่ง ตลาดหุ้นจาการ์ตา 1 ที่นั่ง และในตลาดฟิวเจอร์ฮ่องกงอีก
1 ที่นั่ง
นอกจากนี้ การเข้าซื้อสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ยังจะช่วยให้ บงล.นวธนกิจ มีฐานลูกค้ามากขึ้น
เนื่องจากสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีสำนักงานขายในลอนดอน สิงคโปร์ ฮ่องกง และนิวยอร์ก
ทั้งยังมีการทำธุรกิจด้านจัดการกองทุนในอเมริกาและยุโรป เพื่อนำเงินมาลงทุนในแถบเอเชียด้วย
ทั้งนี้ แผนการขยายสาขาในขั้นแรก คือ สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด จะเข้าไปเปิดสำนักงานในประเทศฟิลิปปินส์
เนื่องจากเป็นประเทศที่มีศักยภาพการเติบโตสูงและยังสามารถขยายตัวได้อีกมาก
ต่อจากนั้นอีก 2-3 ปีข้างหน้า บงล.นวธนกิจมีแผนที่จะใช้สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นฐานขยายธุรกิจให้ครอบคลุมแถบอาเซียน
โดยขณะนี้สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดมีใบอนุญาตทำธุรกิจในประเทศอินเดียและไต้หวันแล้ว
ทิสโก้บวกไทยค้า
ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ
การควบกิจการระหว่าง บงล.ทิสโก้ (TISCO) และ บล.ไทยค้า (TSC) นับเป็นอีกดีลหนึ่งที่ค่อนข้างลงตัว
เนื่องจากเดิม บงล.ทิสโก้ มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนครบ 4 ใบ แต่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เพียง
3 ใบ ขาดใบอนุญาตนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ขณะที่ บล.ไทยค้ามีใบอนุญาตนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์เพียงใบเดียว
การรวมตัวกันครั้งนี้จึงทำให้ บงล.ทิสโก้มีใบอนุญาตครบทั้ง 8 ใบ ส่งผลให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขอใบอนุญาตดังกล่าว 100 ล้านบาท
ทั้งนี้ บงล.ทิสโก้ให้สิทธิแก่ผู้ถือหุ้นในการซื้อหุ้น บล.ไทยค้า จากบงล.ทิสโก้ในอัตรา
1 : 5 ราคาหุ้นละ 11 บาท โดยทิสโก้ได้จ่ายปันผลในอัตราหุ้นละ 55 บาท และเมื่อสิ้นสุดการควบกิจการ
1 หุ้นของทิสโก้ หรือ 1 หุ้นของไทยค้านี้จะแปลงเป็นหุ้นของบริษัทที่ควบกันโดยใช้ชื่อเดิมว่า
บงล.ทิสโก้ ได้ 1 หุ้น ซึ่งกระบวนการทั้งหมดได้เสร้จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่
1 กรกฎาคมที่ผ่านมา
ปลิว มังกรกนก กรรมการอำนวยการ บงล.ทิสโก้ เปิดเผยว่า ผลจากการปรับโครงสร้างครั้งนี้จะช่วยให้บริษัทลดค่าใช้จ่ายลงได้มาก
ขณะเดียวกันก็ทำให้มีใบอนุญาตครบ
พร้อมกันนี้ ได้มีการเพิ่มสภาพคล่องและเงินกองทุนของบริษัทโดยการเพิ่มจดทะเบียนอีก
735 ล้านบาท เมื่อรวมกับทุนจดทะเบียนเดิมของ บงล.ทิสโก้ 167 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนเดิม
บล.ไทยค้าอีก 100 ล้านบาท แล้วจะทำให้ บงล.ทิสโก้มีทุนจดทะเบียนรวมประมาณ
1002 ล้านบาท และมีเงินกองทุนเพิ่มขึ้นเป็น 7,890 ล้านบาท ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้กว่า
90,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังมีส่วนต่างเหลืออยู่อีกมาก
บงล.ทิสโก้ ได้วางแนวทางการดำเนินธุรกิจหลังจากรวมกิจการครั้งนี้ว่า บริษัทจะพยายามขยายฐานธุรกิจออกไปในทุก
ๆ ด้านให้สอดคล้องกับภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยทางด้านหลักทรัพย์จะใช้
บริษัท ทิสโก้ ซีเคียวริตี้ (ฮ่องกง) เป็นตัวหลักในการรุกธุรกิจ ซึ่งจะทำทั้งทางด้านการเป็นตัวแทนซื้อขายหลักทรัพย์ในฮ่องกง
และส่งผ่านคำสั่งซื้อขายสำหรับนักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ส่วน บงล.ทิสโก้เองจะเน้นธุรกิจด้านที่ปรึกษาทางการเงินให้มากขึ้น และขยายสินเชื่ออกไปอีก
การปรับตัวทางธุรกิจในแวดวงการเงินยังมีอยู่ไม่หยุดยั้ง บงล.จีเอฟ กำลังรอใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์
ซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลานาน ทำให้บริษัทต้องแบกรับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเตรียมการถึงเดือนละ
3 ล้านบาท ขณะที่ บงล.ซิทก้า และบง.เฟิสท์ ซิตี้ อินเวสเม้นท์ ชวดใบอนุญาตไปแน่นอนแล้ว
เนื่องจากติดปัญหาเรื่องโครงสร้างผู้ถือหุ้น
ในส่วนของ บง.เอกธนกิจ ซึ่งมีข่าวว่าจะเข้าถือหุ้นในธนาคารไทยทนุในสัดส่วน
20% นั้น ขณะนี้ก็ทราบเป็นที่แน่ชัดแล้วว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขัดต่อ
พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ ที่ว่า สถาบันการเงินสามารถถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ได้ไม่เกิน
10%
อย่างไรก็ตาม คนในแวดวงการเงินยังคงคาดเดาว่า บง.เอกธนกิจ คงไม่หยุดยั้งความพยายามในการขยายธุรกิจเพียงแค่นี้
แม้จะไม่ได้ถือหุ้นในธนาคารไทยทนุตามสัดส่วนที่ต้องการ แต่คงไม่จนใจที่ บง.เอกธนกิจจะสามารถขยายธุรกิจในแนวทางอื่น
ๆ เพียงแต่รอจังหวะและโอกาสอันเหมาะในอนาคตเท่านั้น