Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์14 สิงหาคม 2549
ใบสั่ง!กองทุนพยุงหุ้น-บูมเศรษฐกิจ.กบข.-ประกันสังคม- วายุภักษ์ สูญนับหมื่นล้าน !?             
 


   
search resources

กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ - กบข
Funds




* ชำแหละ 3 กองทุนรัฐ ทั้ง กบข.-ประกันสังคม- วายุภักษ์ แหล่งระดมทุนภาคประชาชนที่ถูกกระแสโจมตีอย่างต่อเนื่องว่ามี "ใบสั่ง" การเมืองให้เข้าไปพยุงหุ้นเพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยรวม
* ดังนั้นหุ้นที่ซื้อจึงมี ทั้งหุ้นที่มีปันผล หุ้นเสี่ยง ควบคู่กันไป ขึ้นอยู่กับ ใบสั่งและความเหมาะสม ปัจจุบันหุ้นดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าแล้วเสียหายหรือเจ๊งนับหมื่น ๆ ล้านบาทจริงหรือ!?

เม็ดเงินลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุนหลายแสนล้านบาทของกองทุนภายใต้การควบคุมดูแลของรัฐบาลไทยรักไทย กลายเป็นกลุ่มทุนที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของภาคการลงทุนในประเทศไทย ประกอบด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) สำนักงานประกันสังคมและกองทุนรวมวายุภักษ์หนึ่ง

หากรวมเม็ดเงินลงทุนของทั้ง 3 กองทุนหลักมีไม่ต่ำกว่า 6 แสนล้านบาท แม้ว่าเงื่อนไขของ 2 กองทุนหลักอย่าง กบข.และประกันสังคม จะมุ่งไปที่การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เน้นการลงทุนในตราสารที่มีความมั่นคง ให้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ แต่ก็มีบางส่วนที่เพิ่มน้ำหนักการลงทุนมาที่ตลาดหุ้นในประเทศ

ปรับเม็ดเงินเน้นลงทุนตลาดหุ้น

ที่ผ่านมาบรรดากองทุนภายใต้อำนาจของรัฐบาลเหล่านี้ล้วนโชว์ผลการดำเนินงานออกมาอย่างน่าพอใจ เช่น กบข.โชว์ตัวเลขผลตอบแทนย้อนหลังรอบ 12 เดือน สิ้นเดือนมิถุนายน 2549 สร้างผลตอบแทนได้ 4.74% ประกันสังคมสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนรอบ 12 เดือนสิ้นสุดเดือนเมษายน 2549 ได้ 5.57%

ขณะที่กองทุนวายุภักษ์มูลค่า 1 แสนล้านบาท ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อ 1 กรกฎาคม 2546 ภายใต้การบริหารงานของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ที่รับประกันจ่ายผลตอบแทนขั้นต่ำ 3% ต่อปี ประกาศจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหน่วยรอบ 6 เดือน 2549 ที่อัตรา 0.35 บาทต่อหน่วย

ขณะเดียวกันในการบริหารผลตอบแทนจากเม็ดเงินของบรรดาข้าราชการ ผู้ใช้แรงงานและผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนวายุภักษ์ ล้วนแล้วแต่เป็นไปเพื่อนำเอาดอกผลที่ได้ไปสร้างสวัสดิการหรือคืนให้กับผู้ถือหน่วย แต่ในระยะหลังได้มีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากขึ้นตามลำดับ

เห็นได้จาก วิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการ กบข.ได้ปรับพอร์ตการลงทุนใหม่ โดยลดการลงทุนในตลาดหุ้นลงหลังจากที่ราคาหุ้นที่ลงทุนได้กำไรตามเป้าหมาย และยังคงรอจังหวะที่จะเข้าลงทุน พร้อมทั้งมีแนวคิดที่จะขยายการลงทุนในตลาดหุ้นไทยให้มากขึ้น โดยจะขอแก้กฎกระทรวงเพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนจาก 20% เป็น 30% รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศที่จะขอเพิ่มจาก 10% เป็น 15%

ขณะที่ประกันสังคมมีกรอบการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงอยู่ 15.40% และเตรียมที่จะไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศอีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 16,000 ล้านบาท

ปกปิดข้อมูลเงินประชาชนสูญไม่รู้ตัว

แหล่งข่าวระดับสูงจากแวดวงการลงทุน กล่าวว่า ทุกวันนี้หากดูงบการเงินของกองทุนหลักอย่างของ กบข.และประกันสังคมจะเห็นว่าได้ผลอตอบแทนในเชิงบวก โดย กบข.สร้างผลตอบแทนรอบ 1 ปีกว่า 11,000 ล้านบาท ประกันสังคมบริหารเงินได้ผลตอบแทนกว่า 5,797 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการลงทุนในตราสารหนี้ที่มีสัดส่วนการลงทุนเกินกว่า 70% ซึ่งสามารถสร้างผลตอบแทนได้ครอบคลุมส่วนที่เหลือได้เป็นอย่างดี

ในส่วนการลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น เกณฑ์การลงทุนส่วนใหญ่มักเน้นลงทุนในหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลสม่ำเสมอ ส่วนใหญ่จะเป็นหุ้นขนาดใหญ่ ขณะที่ราคาหุ้นที่เข้าซื้อเทียบกับวันสิ้นงวดแต่ละไตรมาสหรือทุกครึ่งปีนั้นเราจะไม่ทราบว่าการลงทุนนั้นจะมีส่วนต่างราคาหุ้นหรือไม่ กำไรหรือขาดทุนจะต้องรอจนถึงสิ้นปีว่ากำไรหรือขาดทุนจากการเข้าซื้อหรือไม่ ซึ่งแตกต่างกับกองทุนรวมทั่วไปหรือกองทุนรวมวายุภักษ์ที่จะต้องทำการคำนวนหามูลค่าเงินลงทุนทุกวัน

ดังนั้นผู้ที่มีหน้าที่นำส่งเงินในแต่ละเดือนจะไม่มีทางทราบว่า เงินของพวกเขาที่มอบให้กับกบข.และประกันสังคมที่ไปลงทุนในตลาดหุ้นนั้นสร้างผลตอบแทนได้มาน้อยเพียงใด กำไรหรือขาดทุนจากการเข้าซื้อหรือขายแต่ละครั้ง เพราะทางกบข.หรือประกันสังคมไม่ได้แจกแจงรายละเอียดในส่วนนี้

โบรกเกอร์เผยหุ้นในมือ 3 กองทุนรัฐ

อย่างไรก็ดีแหล่งข่าวจากโบรกเกอร์กล่าวว่า ยากมากที่จะทราบว่าการเข้าซื้อหรือขายหุ้นของกบข.และประกันสังคมเข้าที่ราคาเท่าไหร่ ราคาใด กำไรหรือขาดทุนมีเพียงเจ้าของหน่วยงานเท่านั้นที่ทราบ และการซื้อขายในบางครั้งก็อาจจะซื้อและขายเสร็จสิ้นภายในระยะเวลาไม่กี่วัน รายการเหล่านี้ก็จะไม่ปรากฏในรายงานประจำปี

หากประเมินจากพอร์ตลงทุนเท่าที่ปรากฏตามรายงานของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2549 พบว่า สำนักงานประกันสังคมถือหุ้นในบริษัทจดทะเบียน 18 บริษัท กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการถือ 16 บริษัท กองทุนรวมวายุภักษ์ถือหุ้น 13 บริษัท และยังมีการถือหุ้นของบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์อีกจำนวนหนึ่ง

"เราไม่ค่อยห่วงกองทุนรวมวายุภักษ์มากนัก เนื่องจากมอบหมายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกรุงไทยและเอ็มเอฟซี เป็นผู้บริหาร การเปิดเผยข้อมูลโปร่งใส ต้องมีการรายงานผู้ถือหุ้นเหมือนกองทุนรวมทั่วไป เช่น รายงานการถือครองหุ้นทุกไตรมาส ทราบมูลค่าหน่วยลงทุนทุกวัน ผู้ถือหน่วยจะทราบว่าวันนี้เงินลงทุนของตนเพิ่มขึ้นหรือลดลงแค่ไหน"

ที่สำคัญหุ้นส่วนใหญ่ที่ถือตัดออกมาจากส่วนที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ และเป็นหุ้นขนาดใหญ่ที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีเงินปันผลสม่ำเสมอ และมีเงื่อนไขรับประกันในเรื่องผลตอบแทนที่ชัดเจนว่าไม่ต่ำกว่า 3% เห็นได้จากการประกาศจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหน่วยสม่ำเสมอ

ส่งเครือญาตินั่งบริหารพอร์ต

แต่ที่หลายฝ่ายเป็นห่วงมากคือการลงทุนของ กบข.และประกันสังคม ซึ่งหน่วยงานภาครัฐมีอำนาจเต็มใน 2 หน่วยงาน เห็นได้จากศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลังนั่งเป็นประธาน กบข. และที่ผ่านมามีสมชาย วงศสวัสดิ์ อดีตปลัดกระทรวงแรงงานนั่งประธานกรรมการ สำนักงานประกันสังคม เนื่องจากบุคคลเหล่านี้ขึ้นตรงกับนักการเมือง และมีความสัมพันธ์ในฐานะเครือญาติกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีด้วย

เอกยุทธ์ อัญชันบุตร ประธานบริหารเครือโอเรียนเต็ลมาร์ท กรุ๊ปประเทศอังกฤษ กล่าวว่าพอร์ตการลงทุนของกบข.และประกันสังคม เน้นการลงทุนหุ้นรัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีผลการดำเนินงานดี แต่ในบางบริษัทมีลักษณะการลงทุนเพื่อตอบสนองนโยบายรัฐบาลแม้จะไม่ได้รับเงินปันผลใดๆ

อย่างหุ้นไทยธนาคารที่สำนักงานประกันสังคมเข้าไปถือ 3.47% หุ้นตัวนี้ไม่มีเงินปันผลมาแล้ว 3 ปี และเป็นหุ้นที่เกิดจากการควบรวมกิจการของสถาบันการเงินในช่วงที่เกิดวิกฤติค่าเงินบาท แถมยังถูกกระทรวงการคลังตัดโอกาสในการควบรวมกิจการกับบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(IFCT) ขณะที่ราคาหุ้นจากสิ้นปีถึงปัจจุบันลดลงไปราว 18%

เผยหุ้นดับทำให้เงินกองทุนเสียหาย

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนในบริษัทเอกชนอื่นอย่าง บริษัท ไทยสโตเรจ แบตเตอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ BAT-3K ที่ให้ผลตอบแทนจากเงินปันผลราว 5.75% แต่ที่น่าแปลกใจคือพบการถือหุ้นในบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) SSI อยู่ 1.27% เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กในระยะนี้ถือเป็นช่วงขาลง และในปี 2549 นี้ยังไม่มีการจ่ายเงินปันผล

อีกบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) TPIPL ที่ราคาหุ้นไหลรูดมากกว่า 56% และไม่มีเงินปันผลมาตลอดระยะเวลา 5 ปี เนื่องจากมีปัญหาในเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ซึ่งเป็นบริษัทแม่มาโดยตลอด แต่สำนักงานประกันสังคมก็ยังถือหุ้นตัวนี้อยู่

ในส่วนของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พอร์ตลงทุนส่วนใหญ่ยังเป็นหุ้นปัจจัยพื้นฐานดี ได้รับเงินปันผลสม่ำเสมอ แต่ยังพบการถือหุ้นที่ไม่ได้รับปันผลอยู่คือการถือในบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TPI ตามแผนการฟื้นฟูกิจการที่กระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก ปัจจุบันถือหุ้นอยู่ 8.6% โดยบริษัทนี้ยังไม่มีการจ่ายเงินปันผล แต่การซื้อตามนโยบายของกระทรวงการคลังเมื่อ 1 มิถุนายน 2548 ซื้อที่ราคาแค่ 3.30 บาท ต่ำกว่าราคาตลาดค่อนข้างมาก

ที่แปลกตามากคือการมีหุ้นในบริษัท ยานภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) หรือ YNP อยู่ 6.69% ซึ่งบริษัทนี้ดำเนินธุรกิจผลิตชิ้นส่วนขึ้นรูปโลหะจำหน่ายโรงงานประกอบ (OEM) และผู้ค้าชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ทั่วประเทศ (REM Part) แม้จะได้รับเงินปันผลราว 2.24% แต่ราคาหุ้นปรับลดลงมาค่อนข้างมาก แต่กบข.ได้เข้าไปถือหุ้นตั้งแต่ก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ซึ่งคงไม่มีปัญหาเรื่องภาระขาดทุน

เช่นกันในส่วนกองทุนรวมวายุภักษ์ที่จำเป็นต้องเข้าไปรับหุ้น TPI กองทุนละ 5% เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตามหากพิจารณาจากหุ้นที่กองทุนรวมวายุภักษ์มีหลายตัวราคาลดลงจากสิ้นปี 2548 ที่ลดลงค่อนข้างมากคือปูนซิเมนต์นครหลวง หรือ SCCC ลดลงถึง 33% ธนาคารนครหลวงไทยลดลง 25% กรุงเทพประกันภัยลดลง 19% เป็นต้น แต่บริษัทเหล่านี้ยังจ่ายเงินปันผลในอัตราที่ดีอยู่

เอกยุทธ์ อัญชันบุตร ย้ำว่าข้อมูลทุกอย่างปกปิดกันหมด แต่ในฐานะที่เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนรายใหญ่ จึงทราบความเคลื่อนไหวของการเข้าซื้อและขายของผู้จัดการกองทุนที่บริหารให้ กบข.และประกันสังคมดี บางครั้งเข้าซื้อหุ้นที่ราคาสูง ต้องแก้ด้วยการตัดขาดทุนออกไปแล้วหาส่วนต่างจากหุ้นตัวใหม่เข้ามาชดเชย

ต้องไม่ลืมว่าทั้ง กบข.และประกันสังคมอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรี ประธานกองทุนแต่ละแห่งล้วนแล้วเป็นคนที่รัฐมนตรีส่งมาทั้งนั้น เราอยู่ในวงการนี้เรารู้ว่าใครบ้างที่เก็บหุ้น PTT ไปบ้าง ใครบ้างใช้นอมินีต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นแทน เขาได้กันมาตั้งแต่ตอน IPO ที่ 35 บาท ถือไว้ราว 2 ปี หลังจากนั้นก็มีข่าวดีออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามแรงยุของนักวิเคราะห์ที่มีราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นตัวหนุน

แล้วก็มีการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นของบรรดากองทุนรวมของรัฐออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้ง กบข. ประกันสังคม รวมถึงการจัดตั้งกองทุนภายุภักษ์ขึ้นมาใหม่ เมื่อกองทุนเหล่านี้ต้องการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องหาซื้อหุ้นปัจจัยพื้นฐานดีเข้าพอร์ต ก็เสนอซื้อตามราคาตลาด ขณะนั้น PTT ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาเป็นหลักร้อย ถามว่าเมื่อภาคการเมืองทราบแน่นอนว่าจะมีผู้ซื้อเข้ามาก็ปล่อยของออก กินส่วนต่างกันสบาย

นอกจากนี้ยังมีกรณีของการเข้าไปลงทุนในหุ้นของชิน คอร์ป ของตระกูลชินวัตร ก่อนที่กลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้งส์ จะเข้ามาซื้อ ซึ่งมีทั้ง กบข.และประกันสังคม ทำให้ชิน คอร์ปได้เครดิตไปไม่น้อย เพราะกองทุนประเภทนี้จะถือหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดีเป็นหลัก ช่วยให้ราคาหุ้นของชิน คอร์ป ปรับเพิ่มขึ้นตามมา แล้วสุดท้ายก็ขายออกมา

ประชาชนต้องแบกภาระหุ้นเจ๊ง

หากมองในแง่ของการลงทุนถือเป็นไปตามหลักการของการซื้อและขายทั่วไป แต่ต้องดูที่เจตนาว่าการเข้าไปลงทุนในบางตัวนั้นมีสิ่งที่อยู่นอกเหนือการลงทุนทั่วไป เช่น SSI เป็นธุรกิจขาลงแต่สำนักงานประกันสังคมยังถือหุ้นอยู่ แม้ไม่มีเงินปันผล

"ดูกันให้ดี ๆ กองทุนของรัฐทั้ง 3 กองทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นในตลาดเชื่อได้ว่าขาดทุนหลายหมื่นล้าน โดยเฉพาะหุ้นแอดวานซ์ ฯของนายกฯตัวเดียว เงินกองทุนหายไปกว่า 4พันล้านบาท หุ้นพวกนี้ต้องสังเคราะห์เป็นรายตัว จึงจะรู้ว่าประชาชนเสียหายมาก"เอกยุทธ์ ย้ำ

อีกตัวหนึ่งอย่าง TPIPL ของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ที่มีปัญหากับกระทรวงการคลังในเรื่อง TPI ราคาหุ้นไหลลงมาจาก 35-37 บาทลงมาที่ 10 บาทเศษก็ยังถือหุ้นอยู่ ถามว่าผิดหลักการลงทุนของประกันสังคมหรือไม่ หรือว่าต้องการถือหุ้นอยู่ขอร่วมประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อทราบความเคลื่อนไหวของประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ยิ่งเวลานี้ไปเป็นเลขาธิการพรรคประชาราช เชื่อว่าประกันสังคมก็ยังคงถือหุ้นอยู่เหมือนเดิม

ขณะเดียวกันยังได้เห็นลักษณะการลงทุนในแบบของธุรกิจร่วมลงทุน(Venture Capital) ของกบข.อีกด้วย ที่เข้าไปลงทุนในบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์จนนำพาเข้ามาเป็นบริษัทจดทะเบียน

ดังนั้น กองทุนหลักอย่าง กบข.และประกันสังคม นอกจากเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการช่วยแก้ปัญหาสถาบันการเงินของรัฐที่มีปัญหา ช่วยเข้ามาเป็นผู้รับซื้อที่ดี และยังเป็นหน่วยงานที่ดูแลความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ไม่หวังดีต่อรัฐไปในตัว

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือพอร์ตการลงทุนที่ไม่มีใครล่วงรู้ได้เลยว่ากำไรหรือขาดทุนเท่าไหร่ ช่วยเหลือใครกันบ้าง หากเกิดภาวะขาดทุนขึ้นมาบรรดาข้าราชการและผู้ใช้แรงงานต่าง ๆ ที่ส่งเงินสมทบจะทำอย่างไร เงินที่จะเข้ามาอุดหนุนหรือช่วยเหลือ คงหนีไม่พ้นเงินภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศที่จำใจต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบกับภาระขาดทุนที่จะเกิดขึ้นหรือไม่

***************

"3กองทุน"ทำผิดหลักสากลลงทุนมั่ว -รับใช้นักการเมือง!

หลักสากลการลงทุนของกองทุนรัฐในต่างประเทศ แฉ 3 กองทุนรัฐสุดห่วย "กบข.-ประกันสังคม-วายุภักษ์" ซื้อหุ้นตามใบสั่ง สนองแต่นโยบายรัฐ และเป็นเครื่องมือบางกลุ่มสั่งให้รับซื้อหุ้นราคาสูง หลังจากมีการไล่ราคากันมากกว่า 100-1000% พอฟันกำไรอื้อก็โยนให้กองทุนรัฐเข้าซื้อในราคายอดดอย จากนั้นหุ้นตกแบบไม่เห็นฝุ่น กองทุนขาดทุนเป็นแสนล้านแต่ไม่มีการเปิดเผยข้อมูล สุดท้ายประชาชนรับกรรม!

ปัจจุบันนับเป็นยุคแห่งการออมและการลงทุนอย่างแท้จริง นอกจากตลาดหุ้นแล้วก็ยังมีทางเลือกสำหรับการลงทุนหลายอย่างที่สำคัญและเป็นทางเลือกที่มีความเสี่ยงน้อยกว่าการเข้าไปเป็นแมงเม่าในตลาดหุ้น คือ การซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม หรือที่เข้าใจง่าย ๆ ว่าคือการเอาเงินของเราไปให้มืออาชีพบริหารเงินแทนเรา ปัจจุบันนี้มีกองทุนรวมหลายประเภท ทั้งกองทุนเปิดกองทุนปิดของบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ เพื่อนำเงินจากผู้ร่วมลงทุนไปลงทุน จะลงทุนประเภทความเสี่ยงมาก ความเสี่ยงน้อย ย่อมแล้วแต่วัตถุประสงค์ของกองทุนนั้น ๆ

ในส่วนของภาครัฐก็มีกองทุนเช่นกัน กองทุนรัฐที่สำคัญ มีลักษณะการบริหารงานคล้ายกับกองทุนรวมของเอกชน วัตถุประสงค์สำคัญคือการนำเงินของสมาชิกที่มีอยู่ไปทำให้ออกดอกออกผล และดอกผลนี้จะเป็นเงินที่นำมาจ่ายคืนให้สมาชิก ที่สำคัญคือ การลงทุนของกองทุนเหล่านี้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ และต้องลงทุนในสินทรัพย์ที่ไม่มีความเสี่ยง แต่ปัจจุบันกลับพบว่ากองทุนรัฐโดยเฉพาะ 3 กองทุน ได้แก่ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนประกันสังคม และกองทุนวายุภักษ์ 1 มีการลงทุนในหุ้นหลายตัวที่ไม่เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งกองทุนเหล่านี้ ยังถูกรัฐนำไปใช้แบบผิดวิธี!

เปิดหลักเกณฑ์สากลกองทุนรัฐ

แหล่งข่าวในวงการตลาดหุ้น กล่าวว่า ตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง และเป็นที่ยอมรับจากต่างประเทศ กองทุนรัฐจะเข้าไปซื้อหรือลงทุนหน่วยลงทุนอะไร จำเป็นจะต้องมีระบบคณะกรรมการ โดยมีคณะกรรมการที่เก่งและเป็นที่ยอมรับ ในการพิจารณาซื้อหุ้นตัวใดตัวหนึ่ง ซึ่งปกติแล้วคณะกรรมการจะต้องเริ่มจากการกำหนดสัดส่วนการลงทุนประเภทต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียด คือ กองทุนมีเงินอยู่ 1000 ล้านบาท จะมีการลงทุนในหุ้นกี่ % ลงทุนตราสารหนี้กี่ % ลงทุนตราสารทุนกี่%

ที่สำคัญคือกองทุนรัฐจะต้องเลือกลงทุนในพอร์ตที่ไม่เสี่ยง ทั้งในตลาดหุ้นและการลงทุนแบบอื่น โดยเฉพาะด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยมักจะกำหนดให้ส่วนที่มีความเสี่ยงนี้มีสัดส่วนไม่เกิน 10% คำว่าเสี่ยงของกองทุนรัฐ ก็จะไม่เหมือนกองทุนเอกชน คือกองทุนเอกชน หุ้นเสี่ยงอาจเป็นหุ้นมี Insider แต่คำว่าเสี่ยงของกองทุนรัฐ ต้องเป็นหุ้นที่แม้ว่าอาจจะขาดทุนราคาหุ้น แต่ปันผลต้องมี จะเป็นหุ้นแบบมี Insider ไม่ได้เด็ดขาด และหุ้นตัวนั้น ๆ จะต้องไม่ติดกระบวนการพิจารณาของศาล เช่น กรณี TPI ที่กองทุนวายุภักษ์ 1 และกบข.ได้เลือกลงทุน กองทุนใหญ่ ๆ ของต่างประเทศจะไม่มีการอนุมัติให้ลงทุนจนกว่าขั้นตอนกระบวนการพิจารณาของศาลจะเสร็จสิ้น

จากนั้นจะมีการพิจารณาว่าหุ้นที่จะลงทุน จะมีการลงทุนในหุ้นกลุ่มใด เช่น กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร ฯลฯ โดยคณะกรรมการจะนำข้อมูลจากบริษัทต่าง ๆ ทั้งเก่าและใหม่ มานำเสนอในที่ประชุม ก่อนตัดสินใจว่าจะอนุมัติให้มีการลงทุนในหุ้นตัวนั้น ๆ หรือไม่ โดยที่สำคัญจะมีการพิจารณาว่า หุ้นนั้น ๆ มี อัตราเงินปันผลตอนแทน (Dividend Yield) กี่% โดยถ้าดอกเบี้ยอยู่ที่ประมาณ 4-5% กองทุนก็จะต้องดูว่าหุ้นตัวนั้นต้องมีเงินปันผลตอบแทน 6-7% เป็นอย่างต่ำต่อปี และที่จะละเลยไม่ได้คือต้องดูว่าหุ้นตัวนั้น มีความเสี่ยงตามหลัก risk management ก่อนซื้อด้วย เพราะกองทุนของรัฐจะลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงไม่ได้

"ส่วนใหญ่คณะกรรมการต้องคุยกันเลยว่าจะเอาหุ้นตัวไหนต้องระบุเลยว่าต้องมีปันผล 3 เดือนทีหนึ่ง หรือ 6 เดือนทีหนึ่ง เพราะหุ้นที่หวังผลตอบแทนระยะยาว ต้องเน้นว่าต้องได้ปันผลมากๆ "

ในส่วนของการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่นการซื้อตึกมาเพื่อให้เช่า จะต้องมีสัญญาระยะยาว 10-15 ปี เป็นอย่างน้อย และต้องเน้นการเลือกลูกค้าหรือผู้เช่าในกลุ่ม AAA เช่นรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ เพราะรับประกันได้ว่ารายได้ในส่วนนี้จะเป็นรายได้ที่มั่นคงและระยะยาว

3 กองทุนใหญ่สนองนโยบายรัฐ

นี่คือหลักการคร่าว ๆ ที่กองทุนใหญ่ ๆ ในต่างประเทศเขายึดถือปฏิบัติกัน แต่สำหรับกองทุนรัฐของไทยกลับไม่เป็นเช่นนั้น!

โดยกองทุนรัฐในประเทศไทย มักมีลักษณะซื้อหุ้นภายใต้นโยบายรัฐบาล แม้ว่าสัดส่วนหุ้นจะมีการลงทุนในหุ้นที่ดูสวยหรู เช่น กบข. ประกาศสัดส่วนการลงทุนแยกตามประเภทตราสารครั้งล่าสุด (ณ 31 มีนาคม 2549) ในตราสารหนี้ในประเทศ 71% ตราสารทุนในประเทศ 11.64% ตราสารหนี้ต่างประเทศ 8.02% การลงทุนทางเลือกอื่น ๆ 5.47 อสังหาริมทรัพย์ 2.95% ตราสารทุนต่างประเทศ 0.92% ไม่มีสัดส่วนของการลงทุนในหุ้น แต่โดยความเป็นจริงแล้ว กบข.ยังมีหุ้นอยู่ในมือหลายตัว มูลค่าหลายล้านบาท และหลายตัวเป็นหุ้น

กลุ่ม "ยี้" ที่ไม่น่าพิศมัยนัก

ขณะที่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ของกบข.โดยเฉพาะตึกอับดุลราฮิม และตึก LH ที่มีการให้เช่านั้น ลูกค้าที่มาเช่าก็ไม่ใช่ลูกค้าในกลุ่ม AAA อีกทั้งไม่มีการทำสัญญาระยะยาวเพื่อป้องกันความเสี่ยง แต่มีการทำสัญญาแค่ 3 ปี เท่านั้น

"นอกจากนี้ กบข.ยังมีเคสการออก property fund ที่มีความเสี่ยงสูงมาก ๆ คือมีการออกให้หมู่บ้านในซอยสุขุมวิท 57 และมีการตีมูลค่ามากกว่าความเป็นจริง เช่นมีต้นทุน 1,000 ล้านบาท แต่มีการตีมูลค่าไปสูงถึง 3,500 -4,000 ล้านบาท โดยกองทุนระบุว่าจะการันตีให้ผู้ซื้อกองทุน 3 ปี ในผลตอบแทน 18% แต่หลังจากนั้นวัดดวงกันเองเองว่าโครงการนี้จะขายได้จริงหรือไม่"

กรณีนี้ปกติกองทุนจะต้องขอใบอนุญาตจากตลาดหลักทรัพย์ ต้องขออนุมัติจากรัฐบาลก่อน แต่ก็ไม่มีการขออนุมัติ ออกในนามบริษัทหลักทรัพย์

นอกจากนี้แหล่งข่าวกล่าวว่า กองทุนรัฐใหญ่ ๆ โดยเฉพาะกบข.ประกันสังคม และวายุภักษ์ ปัจจุบันเป็นกองทุนที่ถูกรัฐบาลนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์กับคนไม่กี่กลุ่ม โดยคนกลุ่มนี้จะมีการเข้าไปทำดิวดีลีเจนขอซื้อหุ้นได้ในราคาถูก ก่อนมาสร้างข่าว ออกประกาศนโยบายรัฐ เพื่อให้มีการไล่ราคาหุ้นให้สูง จากนั้นเมื่อหุ้นอยู่ในราคาสูงก็จะใช้กองทุนรัฐเหล่านี้มาซ้อนซื้อหุ้นในราคายอดดอย กองทุนรัฐเหล่านี้จึงมีหุ้นที่มีราคาสูงอยู่ในพอร์ตจำนวนมาก จะขายก็ขายไม่ได้ เพราะจะขาดทุน อย่าง KMC ของบมจ.กฤษดามหานคร มีการไล่ราคาตั้งแต่ 50 สตางค์ จนไปราคาสูงถึง 20 กว่าบาท กองทุนเข้ามารับซื้อไป 16 บาท แต่ ณ วันที่ 8 ส.ค.ที่ผ่านมาหุ้น KMC อยู่ที่ราคา 2.40 บาท เท่านั้น

"นอกจากนี้ต้องสังเกตว่าหุ้นตัวไหนรัฐบาลจะทำการเพิ่มทุน กบข.กับวายุภักษ์ 2 กองทุนนี้จะต้องเข้าไปรับซื้อ ซึ่งผิด ตามหลักกองทุนจะไปอยู่ภายใต้นโยบายรัฐบาลไม่ได้ แต่นี่ไปสนองนโยบายรัฐเต็ม ๆ ความเสียหายที่เกิดขึ้นคือเงินภาษีของประชาชนทั้งหมด"

ประกันสังคมซื้อหุ้นราคาสูงกว่าตลาด

ส่วนประกันสังคมก็เช่นเดียวกัน ที่ผ่านมาก็เป็นข่าวฮือฮา ว่ามีการเข้าไปซื้อหุ้น ADVANC ตอนราคาสูง ๆ ช่วงหนึ่งมีการไปซื้อหุ้นไทยธนาคาร เข้าไปไล่ซื้อ แต่ปรากฏว่าดิวไม่จบต้องขายขาดทุนออกไป

"ประกันสังคมตอนหลังนี่มีการนำไปลงทุนแบบผิด ๆ ไม่มีการจัดตั้งที่รัดกุม ซื้อหุ้นหลายตัวราคาก็ over กว่าตลาด ซื้อมั่วไปหมด"

จากนั้นพอถึงเวลาที่กองทุนใดกองทุนหนึ่งจะต้องประกาศผลกำไรขาดทุน ก็จะมีการประกาศเฉพาะตัวที่ทำกำไร ส่วนตัวที่ยังขายไม่ได้ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลในส่วนนี้ อีกทั้งส่วนหนึ่งของกำไรที่ได้มานั้น เป็นผลมากจากการใช้วิธีให้กองทุนอีกกองทุนหนึ่งมารับซื้อไว้ เพื่อให้กองทุนนั้น ๆ มีผลตอบแทนตามที่กำหนดไว้ วัฎจักรการขาดทุนก็จะวนกันไปเรื่อย ๆ ซึ่งเงินที่กองทุนเหล่านี้ต้องมารับซื้อในราคาสูงนั้นน่าจะสูงถึงหลักแสนล้านบาท คนเสียประโยชน์ก็คือประชาชน ขณะที่คนบางกลุ่มได้รายได้จากตรงนี้ คำถามก็คือสุดท้ายแล้วใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ!


**************

บิ๊กกองทุนเชื่อ"กบข.-ประกันสังคม"โปร่งใส หากเอื้อประโยชน์กลุ่มใด-บอร์ดต้องรู้เห็น

บิ๊กกองทุนรวมยัน "กองทุนประกันสังคม- กบข." อุ้มราคาหุ้นช่วยกลุ่มผลประโยชน์ยาก เหตุมีกรอบลงทุนชัดเจน มีคณะกรรมการควบคุมอีกชั้น หากทำจริงบอร์ดแต่ละกองทุนต้องไฟเขียวและต้องร่วมรับผิดชอบ

ทรัพย์สินที่มีมากมายมหาศาลของกองทุนประกันสังคม และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) เป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากรายได้ของข้าราชการ ผู้ใช้แรงงานและเงินสมทบจากนายจ้าง ตามที่กฎหมายกำหนด นั่นคือเงินจากน้ำพักน้ำแรงของมนุษย์เงินเดือน แต่วันนี้การสร้างผลตอบแทนของ 2 กองทุน มีกระแสข่าวไปในทางลบด้วยข้อกล่าวหาที่ถูกยกให้เป็นเครื่องมือของนักลงทุนผู้แสวงหาผลประโยชน์ให้กับตัวเอง

กระแสข่าวที่หลุดลอดออกมาจากวงในนั้นกล่าวหาว่า นักลงทุนผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ได้แสวงหาประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเองด้วยการพึ่งใบบุญจากกองทุนประกันสังคมและกองทุนบำเน็จบำนาญข้าราชการ การกระทำดังกล่าวจึงเสมือนหาผลประโยชน์ให้กลุ่มพวกพ้องตัวเอง

วิธีการนั้นว่ากันว่า นักลงทุนกลุ่มที่มีอำนาจมากพอ แสวงหาผลประโยชน์ให้ตัวเองด้วยการสร้างผู้ถือหุ้นแทน(นอมินี)ขึ้นมาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ยากแก่การตรวจสอบและสาวไปถึงตัวผู้ถือหุ้นที่แท้จริง

ว่ากันว่านักลงทุนที่มีอำนาจเหล่านี้ สามารถกำหนดได้ว่าให้กองทุนใดเข้าไปซื้อหุ้นตัวใด โดยที่พวกเขาจะเก็บหุ้นเหล่านี้ในราคาต่ำไว้ในพอร์ต รอจนราคาขึ้นและกองทุนของรัฐเหล่านี้เข้ามารับช่วงราคาต่อ แน่นอนว่านักลงทุนเหล่านี้จะต้องแอบอิงกับภาคการเมืองอย่างแนบแน่น ชนิดที่ว่าสั่งได้

"ผู้จัดการรายสัปดาห์" ได้สอบถามถึงข้อสงสัยต่างๆ ต่อกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและสำนักงานประกันสังคมแต่ได้รับการปฎิเสธที่จะให้สัมภาษณ์

ไม่เชื่อทำได้

แหล่งข่าวระดับสูงในสายธุรกิจกองทุน มองว่า เป็นไปได้ยากที่จะเกิดเรื่องดังกล่าวขึ้น เพราะคำสั่งซื้อหรือขายในแต่ละครั้งจะถูกจับคู่โดยอัตโนมัติจากโปรแกรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตขึ้นมาเพื่อธุรกิจนี้โดยเฉพาะ ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากที่ผู้ซื้อหรือผู้ขายจะรู้ว่าเมื่อส่งคำสั่งออกไปใครคือคู่ที่ถูกจัดขึ้นมา

"เชื่อว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปได้ยาก และไม่คิดว่าจะเป็นไปได้ หากแต่กระแสข่าวที่ออกมาอาจเป็นความไม่เข้าใจของผู้ให้ข่าวก็ได้ว่าระบบการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้นแท้จริงเป็นเช่นไร ผู้ออกคำสั่งขายจะไม่รู้ว่าผู้ซื้อเป็นใคร เพราะเมื่อกำหนดราคาออกไปบนกระดานระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็จะจับคู่ให้โดยอัตโนมัติ อย่างที่ผู้ซื้อผู้ขายไม่รู้ว่าอีกฝ่ายคือใคร"

หากทำจริงบอร์ดต้องไฟเขียว

แหล่งข่าวยังบอกอีกว่า การที่กองทุนประกันสังคม และ กบข. จะเข้าไปอุ้มหุ้นในราคาที่สูงก็จะกลายเป็นปัญหากับผู้บริหารจัดการกองทุนอีกด้วย เนื่องเพราะผู้บริหารกองทุนต้องชี้แจงแถลงไขว่าเหตุใดจึงเข้าไปซื้อหุ้นในราคาที่สูง ที่สำคัญตามหลักการแล้วนั้นการลงทุนในหุ้นหรือหลักทรัพย์ประเภทใดก็ตามจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ดูแลกองทุนด้วย

ไม่เพียงเท่านี้ การลงทุนในแต่ละครั้งไม่ว่าจะกองทุนประกันสังคม หรือ กบข.ก็ตาม จะมีเป้าหมายนโยบายที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานอยู่แล้ว ทำให้เชื่อว่า การที่ 2 กองทุนดังกล่าวจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือของนักลงทุนบางกลุ่มจึงเป็นไปได้ยาก

"อย่างเรื่องของราคาหุ้น กบข. หรือกองทุนประกันสังคม ก็มีเกณฑ์เช่นกันว่าหุ้นตัวไหนควรเข้าไปซื้อที่ราคาเท่าไร หากหุ้นตัวที่สนใจราคาขึ้นเกินกว่าที่คาดไว้ก็ไม่เข้าซื้อ เงินกองทุนก็จะกระจายไปลงทุนยังหุ้นตัวอื่นแทน ขณะเดียวกันหากหุ้นดังกล่าวมีนโยบายที่จะลงทุนและราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสมก็จะเข้าไปซื้อ"

เช่นเดียวกันกับการขายออก ก็เป็นไปตามนโยบายที่ผู้บริหารกองทุนได้ตั้งเป้าเอาไว้ว่าราคาขึ้นไปถึง ณ จุดหนึ่งก็จะขายออกเพื่อทำกำไร และถ้าผู้บริหารกองทุนไม่ทำดังนโยบายที่ตั้งไว้ก็ต้องชี้แจงเหตุผลให้แก่คณะกรรมการว่าเพราะเหตุใด

แหล่งข่าวมองว่า เมื่อมีคณะกรรมการเข้ามากำกับดูแลทำให้กองทุนประกันสังคมหรือ กบข.จะเอื้อประโยชน์ให้กับนักลงทุนบางกลุ่มเป็นไปได้ยาก บวกกับการซื้อขายที่เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยแล้วยิ่งทำให้ทั้ง 2 กองทุนเข้าไปอุ้มราคาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยาก

"ส่วนนโยบายการลงทุนของกองทุนประกันสังคม และ กบข. เองก็ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้นักลงทุนบางกลุ่มได้ง่าย ๆ อย่างที่กล่าว เพราะผู้จัดการกองทุนแต่ละที่แต่ละแห่งมีมุมมองที่ต่างกัน ทั้งในเรื่องของระยะเวลา ราคาหุ้น จังหวะการเสนอซื้อ เสนอขาย ดังนั้นถ้าจะถามว่าการลงทุนในหุ้นของ 2 สถาบันนี้มีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไรจึงเป็นเรื่องที่ตอบได้ยาก เพราะทุกอย่างขึ้นอยู่กับนโยบายการลงทุนของแต่ละแห่ง"

สถาบันแต่ละแห่งมีผู้จัดการกองทุนของตัวเอง และผู้จัดการกองทุนก็มีมุมมองที่แตกต่างกันซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะมุมมองความแตกต่างจึงทำให้เกิดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ แต่ถ้ามุมมองเหมือนกันการซื้อขายก็คงไม่เกิดขึ้นแน่

แม้จะมีกระแสข่าวว่า กองทุนประกันสังคมและกบข.เป็นเครื่องมือสร้างผลประโยชน์ให้นักลงทุนบางกลุ่ม หากแต่ผู้บริหารกองทุนที่อยู่ในสนามจริงกลับมองสวนกระแส ว่าเรื่องดังกล่าวคงเกิดขึ้นได้ยาก ด้วยคนที่ให้ข่าวอาจไม่เข้าใจระบบการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เพียงพอ และด้วยกรอบของการลงทุนเองก็ช่วยปกป้องให้ทั้งกองทุนประกันสังคมและกบข.เดินไปตามนโยบายที่วางไว้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us