Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2539
ชาติศิริ โสภณพนิชรอยต่อรุ่นที่ 3 ของธนาคารกรุงเทพแค่รักษาความเป็นหนึ่งก็ยุ่งน่าดู             
โดย อนุสรา ทองอุไร
 

 
Charts & Figures

ประมาณการผลประกอบการไตรมาสที่ 2 ปี 2539
ประมาณการขยายตัวของสินเชื่อและเงินฝาก


   
www resources

โฮมเพจ ธนาคารกรุงเทพ

   
search resources

ธนาคารกรุงเทพ, บมจ.
ชาติศิริ โสภณพนิช
Banking




10 กว่าปีก่อน ชาตรี โสภณพนิช ได้ทำให้เจ้าสัวชิน ประมุขแห่งตระกูลสามารถวางมือจากธุรกิจอย่างวางใจในอภิชาตบุตรคนนี้ ด้วยตัวเลขความเติบโตอย่างรุดหน้าที่ทำให้แบงก์บัวหลวงยังคงครองความเป็นที่ 1 มาตลอด แต่มาถึงวันนี้ ทายาทรุ่นที่ 3 ของบัวหลวงที่ชื่อว่า ชาติศิริ จะสามารถทำได้อย่างเดียวกันหรือไม่ เมื่อเขามิได้เพียงแค่ต้องฟาดฟันกับคู่แข่งทางธุรกิจ แต่ยังต้องสร้างความเชื่อมั่นให้คนรอบข้างด้วยว่า "วัย" มิใช่ปัญหา เพราะสมรภูมิธุรกิจธนาคานั้น เขาสู้กันด้วยปัญญา และขุนพล

เศรษฐกิจไม่ดีหรือโทนี่มือไม่ถึง

ถ้าจะพิจารณาทิศทางการขยายตัวของแบงก์กรุงเทพในยุคที่ 3 ภายใต้การบริหารงานของทีมงานคนหนุ่มรุ่นใหม่อย่างชาติศิริ โสภณพนิช และขุนพลคู่ใจอย่าง ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม อดีตมือดีจากแบงก์ชาติ ก็น่าจะเห็นแววรุ่งโรจน์ของการทำธุรกิจเชิงรุกได้เป็นอย่างดี เช่น การได้ใบอนุญาตบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การนำของ ดร.พิสิฐ

แต่แล้วผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงเทพ สถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ปรากฏว่า ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2539 นั้นตกต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี โดยสินเชื่อขยายตัวแค่เพียง 7.9% ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 15%

ผลประกอบการปี 2538 ของธนาคารกรุงเทพมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 5,446.51 ล้านบาท มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 5.46 บาท มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเพียง 7.29% ขณะที่แบงก์อื่น ๆ มีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเฉลี่ยอยู่ที่ 12-13%

เมื่อพิจารณาเทียบกับงวดเดียวกันของปีที่ผ่านมา คือ ปี 2537 ธนาคารกรุงเทพมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิ 7.27% มีกำไรสุทธิต่อหุ้น 5.09 บาท ซึ่งอัตราการเติบโตเฉลี่ยของกำไรสุทธิในแบงก์อื่นเฉลี่ยประมาณ 10-11% เห็นได้ว่าอัตราการเติบโตของปี 2537 กับ 2538 ของ BBL นั้นนับว่าน้อยมาก ขณะที่แบงก์อื่นจะโตขึ้นเยอะกว่ามาก

ในเรื่องนี้ ชาติศิริ โสภณพนิช หรือโทนี่ กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า การที่ผลการดำเนินงานของธนาคารกรุงเทพออกมาไม่ดีมีสาเหตุมาจากความซบเซาของเศษรษฐกิจโดยรวมของประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกก็ไม่ค่อยดี

ในขณะที่แบงก์บัวหลวงกำลังถดถอยเข้าสู่มุมอับ แต่ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารทหารไทยกลับมีอัตราการขยายตัวของสินเชื่อสูงอย่างน่ากลัว โดยแบงก์กรุงไทยไตรมาสที่สองของปีนี้ สินเชื่อขยายตัวสูงถึง 21% ส่วนธนาคารไทยพาณิชย์สินเชื่อขยายตัวถึง 28% และธนาคารทหารไทยสินเชื่อขยายตัว 24% เมื่อเทียบกับแบงก์กรุงเทพที่สินเชื่อขยายตัวเพียง 7.9% แล้วแทบจะเทียบกันไม่ได้เลย

ทั้ง ๆ ที่ชาตรีเคยกล่าวไว้ว่า ถ้าเป็นไปได้นับจากนี้ต่อไปอีก 5 ปีข้างหน้า จะพยายามให้ธนาคารมีอัตราการขยายตัวถัวเฉลี่ยต่อเนื่องประมาณปีละ 15-20% ทุกปี

ทั้ง ๆ ที่ธนาคารกรุงเทพมีสาขามากที่สุด เพราะมีสาขาถึงเกือบ 500 สาขา แบ่งเป็นสาขาในประเทศประมาณ 460 สาขา และต่างประเทศ 22 สาขา กับสำนักงานตัวแทนที่ปักกิ่ง และเฉินตู และที่กำลังจะเปิดอีก 1-2 สาขา ซึ่งถือว่าเป็นธนาคารที่มีสาขามากที่สุดทั้งใน และต่างประเทศ

เมื่อมีสาขามากมายขนาดนี้ โดยการทำธุรกิจปกติแล้ว ธนาคารกรุงเทพน่าจะมีปริมาณลูกค้ามากกว่าธนาคารอื่น ๆ แต่ทำไมจึงสวนทาง ?

ในเรื่องนี้ขุนพลคู่ใจอย่าง ดร.พิสิฐ ลี้อาธรรม เคยออกมาให้เหตุผลว่า โดยความเป็นจิรงแล้ว ระยะ 1-2 ปีมานี้การที่ธนาคารกรุงเทพโตในอัตราที่ลดลงนั้น ด้านหนึ่งเป็นความตั้งใจของผู้บริหารด้วยเนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจในภาพรวมซบเซา

"เราอยากจำกัดตัวเองให้โตในอัตราที่ลดลง คือ แต่ละปีให้โตเฉลี่ยอยู่ที่ 8-9% คือ โตอย่างมั่นคงเพื่อป้องกันความเสี่ยง โดยเฉพาะเรื่องสินเชื่อ ถ้าไม่มั่นใจเราจะไม่ปล่อย เราไม่อยากมีปัญหากับหนี้เสียแล้วมาตามแก้ปัญหากันภายหลัง ทำแบบนี้เราสบายใจทำงานได้ง่ายกว่า"

ผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกรุงเทพท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า ระยะ 2-3 ปีมานี้ ธนาคารจะไม่ให้สินเชื่อในโครงการประเภทที่อยู่อาศัย หรือโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่มีข่าวว่ามีปัญหา เพราะโครงการประเภทนี้มีความเสี่ยงสูง ธนาคารจะเน้นปล่อยกู้ในอุตสาหกรรมประเภทพลังงาน หรือไฟฟ้ามากกว่า เพราะพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยงน้อยและมีอัตราการเติบโตสูง

"มีบาทธนาคารที่อัตราการเติบโตสูง เพราะมุ่งปล่อยในโครงการพื้นฐานขนาดใหญ่ แต่โครงการพวกนี้ล้วนมีปัญหา" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

ก่อนหน้าที่ชาติศิริ จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เขาเคยถูกสบประมาทจากแวดวงนักธุรกิจว่า ยังเยาว์วัยเกินไปนัก อีกทั้งขาดประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ การก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งบริหารของเขานั้นกลายเป็นข้อห่วงกังวลของนายแบงก์ด้วยกัน จนมีเสียงสะท้อนจากนักการเงินการธนาคารหลายคนกล่าวว่า การที่ปล่อยให้ผู้นำที่ขาดประสบการณ์ เข้าควบคุมอำนาจการบริหารองค์กรขนาดใหญ่จะนำพาองค์กรไปสู่จุดเสื่อมถอยหรือไม่

เพราะความยิ่งใหญ่ของธนาคารกรุงเทพวันนี้ เปรียบได้กับไม้ใหญ่ที่ต้องต้านลมอยู่ตลอดเวลา ลำพังแค่แบงก์เก่าที่มีอยู่ 15 รายแถมแบงก์ใหม่ที่จะเกิดอีก 3 ราย แล้วยังมีคู่แข่งซึ่งเป็นสาขาของธนาคารต่างประเทศที่จะเข้ามาเปิดตามเงื่อนไขของการเปิดเสรีทางการเงินนั่นอีกเล่า การฝ่าฟันเพื่อครองความเป็นอันดับ 1 และรักษาไว้ให้ยั่งยืนท่ามกลางภาวะการแข่งขันที่รุนแรง นับต่อจากนี้ไปจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาติศิริ การเปลี่ยนผ่านอำนาจของโสภณพนิช จากรุ่น 2 สู่รุ่นที่ 3 ของชาติศิริ คงหนักอึ้งยิ่งกว่าเมื่อครั้งการเปลี่ยนมือระหว่างชินมาสู่ชาตรีมากมายหลายเท่านัก

เมื่อครั้งที่ชาตรีก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในปี 2523 ขณะนั้นแบงก์กรุงเทพมีสินทรัพย์รวมประมาณ 1.2 แสนล้านบาท มีเงินฝากประมาณ 9 หมื่นล้านบาท มีสำนักงานสาขา 244 แห่ง และมีทุนจดทะเบียนเพียง 1,650 ล้านบาท

มาจนถึงปัจจุบันแบงก์กรุงเทพมีสินทรัพย์รวมกว่า 1.05 ล้านล้านบาท มีเงินฝากรวมไม่น้อยกว่า 7.7 แสนล้านบาท มีสาขาทั้งใน และต่างประเทศรวมกันเกือบ 500 สาขา และมีทุนจดทะเบียนชำระแล้ว 1 หมื่นล้านบาท

ถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุก ๆ ด้านประมาณเกือบ 10 เท่าตัวในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา และเป็นการก้าวกระโดดซึ่งมีอัตราการเติบโตที่สูงมากสำหรับกิจการธนาคารพาณิชย์ แต่มาถึงสมัยของชาติศิรินั้นถือว่าคงวัดกันยาก เนื่องจากโทนี่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งได้เพียง 2 ปี แถมเป็น 2 ปีที่แหล่งข่าววงในยืนยันว่ายังไม่ได้อำนาจบริหารเต็มที่ งานหรือโครงการใหญ่ชาตรียังเป็นผู้ดูแลเอง

"ถ้าจะวัดผลงานของคุณโทนี่ ถ้าจะให้เห็นรูปธรรมชัดเจนคงต้องรออีกอย่างน้อย 2-3 ปี ตอนนี้ยังไม่เห็นภาพแน่ชัด"

ถึงเวลาของนักสู้หน้าหยก

ในยุคของชาติศิริ โสภณพนิช เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพถือเป็นช่วงรอยต่อไปสู่รุ่นที่ 3 ของธนาคารกรุงเทพ เป็นการส่งไม้มาระหว่างรุ่นที่ 2 คือ ชาตรี ผู้พ่อที่กำลังจะเกษียณอายุลงในอีก 2 ปีข้างหน้ามาสู่คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้สูง แต่อาจจะด้อยกว่าในเรื่องประสบการณ์

ก่อนหน้านี้ ในสมัยที่ ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ เขาเคยตั้งเป้าหมายเป็น "ธนาคารแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค" ด้วยคุณภาพระดับโลกภายใต้กลยุทธ์คุณภาพ SMILE อันประกอบไปด้วย SERVICE, MANAGEMENT, IMAGE, LENDING และ EMPLOYEE

นอกจากนโยบายข้างต้นที่ชาติศิริสานต่อมาเป็นนโยบายจนถึงปัจจุบันนี้ อีกนโยบายหนึ่งที่ ดร.วิชิต เคยกรุยทางไว้ คือ พยายามใช้สาขาต่างประเทศทำธุรกิจในเชิงรุก ซึ่งชาติศิริก็มาทำให้ภาพนั้นชัดเจนได้ในสมัยที่ตนเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ และสร้างรายได้ให้มากทีเดียว ถือว่าสาขาต่างประเทศขณะนี้เป็นสายงานดาวรุ่งที่น่าจับตามองไม่น้อย

ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพประกาศยึดหัวหาดทำธุรกิจแบงก์ในจีน เนื่องจากเล็งเห็นว่า จีนมีศักยภาพในการขยายตัวได้สูงทางด้านเศรษฐกิจ โดยตั้งเป้าเปิดสาขาและสำนักงานตัวแทนให้ครอบคลุมทั่วประเทศจีน

จากปัจจุบันที่มีสาขาที่ซัวเถา เซี่ยงไฮ้ และสำนักงานตัวแทนที่ปักกิ่ง และเฉินตู รวมทั้งจะขอเปิดสำนักงานตัวแทนที่ฮกเกี้ยน และเซียะเหมิน ในปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปีหน้า โดยใช้สาขาที่ซัวเถา และฮ่องกง เป็นศูนย์กลางในการดูแลสาขาในภูมิภาคแถบมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์

สาขาต่างประเทศของธนาคารกุรงเทพมีผลการดำเนินงานที่ถือว่าประสบความสำเร็จมาก ในปีที่ผ่านมาสามารถทำกำไรได้ทั้งสิ้นกว่า 1.7 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นอีก 65% จากปี 2537 คิดเป็นเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้น 689 ล้านบาท โดยมียอดคงค้างเงินฝาก-สินเชื่อเติบโตในอัตรากว่า 40% หรือว่าสามารถทำรายได้ให้ถึง 15% ของรายได้รวมของธนาคาร

ด้านตัวเลขเงินฝากของสาขาต่างประเทศ ปรากฏว่า มียอดคงค้างทั้งสิ้น 90,865 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2537 เป็นจำนวน 25,495 ล้านบาท ขณะที่ด้านสินเชื่อมียอดคงค้างทั้งสิ้น 83,920 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2537 จำนวน 24,118 ล้านบาท หรือเกือบ 40% ซึ่งสายงานสาขาต่างประเทศของธนาคารเป็นสายงานที่เชิดหน้าชูตาให้กับธนาคารได้เป็นอย่างดี และสายงานนี้ขึ้นตรงกับชาติศิริ

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมตั้งธนาคารท้องถิ่นในพม่าโดยขอถือหุ้น 80% ซึ่งถือว่าเป็นแหล่งที่จะเสริมรายได้ให้กับธนาคารได้เป็นอย่างดี

การตัดสินใจบุกเบิกขยายสาขาในต่างประเทศจึงเป็นวิธีการใช้เส้นเลือดฝอยหล่อเลี้ยงลำต้นที่ยอดเยี่ยม เนื่องจากในวันนี้ มันคือโอกาสทางธุรกิจที่ยิ่งใหญ่นั่นเอง เพราะธนาคารกรุงเทพบุกเบิกสาขาต่างประเทศตั้งแต่สาขาแรกจนวันนี้กินเวลากว่า 20 ปีแล้วในขณะที่ธนาคารอื่นเพิ่งเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับสาขาในต่างประเทศในเชิงการทำธุรกิจ เพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้สำนักงานใหญ่ ซึ่งโดยส่วนมากยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

พัลลภ โศภิษฐ์พงศธร รองผู้จัดการกิจการธนาคารต่างประเทศ กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า ธนาคารมีความได้เปรียบในเรื่องนี้ เพราะเป็นผู้เข้าไปบุกเบิกก่อนจะได้เปรียบเรื่องฐานลูกค้าที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน

สาขาในต่างประเทศนอกจากจะทำให้ธนาคารสามารถขยายธุรกิจด้านต่างประเทศได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังเป็นเส้นทางลำเลียงเม็ดเงินต้นทุนต่ำผ่านเข้ามายังสาขาใหญ่ได้อย่างคล่องแคล่ว ในบางขณะก็ใช้เป็นแหล่งถ่ายเทเงินฝากในประเทศที่เกินความต้องการไปปล่อยกู้ในต่างประเทศ ทำให้ธนาคารได้เปรียบในเชิงการแข่งขันและสามารถทำกำไรได้มาก

อังเดรเงาที่ซ้อนทับภาพของโทนี่

ความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรบัวหลวง ที่ยืนยงมาได้จนถึงทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า ส่วนสำคัญมาจากความสามารถของบุคลากรบวกกับความเก่งกาจในการจัดสรร "คน" ของเจ้าสัวชาตรี หรืออังเดร

แม้ว่าขณะนี้เจ้าสัวชาตรี จะเปิดทางให้บุตรชายคนโต คือ ชาติศิริ ซึ่งถูกมองว่ายังอ่อนประสบการณ์ในการบริหารองค์กรใหญ่เข้ามาทำงานอย่างเต็มตัว แต่เขาก็ทราบดีว่าชาติศิริยังขาดประสบการณ์อยู่มากขณะที่หน้าที่ความรับผิดชอบมีมหาศาล และอาจจะเกินกำลัง ดร.พิสิฐ ขุนพลคู่ใจของชาติศิริก็เคยกล่าวอย่างเห็นอกเห็นใจว่า "งานที่คุณชาติศิริจะต้องรับผิดชอบต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้เป็นภาระที่หนักมาก แค่รักษาความเป็นหนึ่งขององค์กรไว้ให้ยั่งยืนนั่นก็เป็นเรื่องท้าทายมากอยู่แล้ว"

การถ่ายโอนอำนาจจากอังเดรสู่โทนี่จึงเต็มไปด้วยกลยุทธ์ในการบริหาร นับแต่ชาตรีได้ตั้งคณะกรรมการกำกับขึ้นมาชุดหนึ่งที่ขึ้นตรงต่อตัวเอง โดยทำหน้าที่ในการติดตามกำกับดูแลและให้คำปรึกษาตลอดจนกำหนดนโยบายทางด้านต่าง ๆ ของธนาคาร ขณะที่ชาตรีก็กำหนดจังหวะก้าวลงจากหลังเสือของตัวเอง ด้วยการเกษียณตัวเองในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จนมีเสียงกล่าวกันว่าคณะกรรมการฯ ชุดที่ชาตรีตั้งอาจจะยังเป็นเงาที่ทาบทับผู้บริหารรุ่นใหม่ของธนาคาร

นอกเหนือจากชาตรีจะเกษียณตัวเองแล้ว ยังมีระดับขุนพลคู่ใจที่จะเกษียณอายุพร้อม ๆ กันอีกราว 4 คน คือ ดำรง กฤษณามระ รองประธานกรรมการบริหาร, ปิติ สิทธิอำนวย รองประธานกรรมการบริหาร, เดชา ตุลานันท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และธรรมนูญ เลากัยกุล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นผู้ที่มีความสามารถ และเป็นกำลังสำคัญหลักในการบริหารงานในยุคที่ชาตรีเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ต่อเนื่องมาถึงยุคของชาติศิริ ซึ่งเป็นรุ่นที่ 3

การวางตัวบุคคลระดับมันสมองที่จะเข้ามาเป็นขุนพลและขุนศึกคู่บัลลังก์ชาติศิริ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับทิศทางของธนาคารกรุงเทพในอนาคต ซึ่งธนาคารกรุงเทพดูเหมือนจะเป็นบริษัทเอกชนเพียงแห่งเดียวที่มีคนระดับมันสมองของประเทศมารวมตัวกันอยู่มากที่สุด

สำหรับทีมบริหารชุดใหม่ที่ธนาคารจะนำมาทดแทนนั้น ชาตรีเคยกล่าวไว้ว่าจะเป็นคนภายในที่เลื่อนตำแหน่งขึ้นมา และธนาคารได้ส่งไปอบรมเรียนรู้เพิ่มเติมเพื่อที่จะสามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งคนนอกที่มีความสามารถบริหารงานด้านธนาคารได้อย่างเชี่ยวชาญ

หลังจากที่ได้สร้างทีมบริหารรุ่นใหม่ขึ้นมาแล้ว ชาตรีบอกว่าผู้บริหารชุดเก่าจะยังคงมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาให้กับธนาคารต่อไป แต่ถ้าหากว่าธนาคารยังไม่สามารถหาคนที่เหมาะสมมาทำหน้าที่แทนทีมบริหารชุดเดิมได้ทั้งหมด ทีมบริหารเดิมจะยังคงทำหน้าที่ต่อไป

แหล่งข่าววงในท่านหนึ่ง ระบุว่า เบื้องหลังความยิ่งใหญ่และความสำเร็จของธนาคารกรุงเทพมาจากคุณภาพของทีมผู้บริหารระดับสูง ซึ่งผสมผสานระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เพียบพร้อมด้วยความรู้และบุคลากรอาวุโสผู้มากประสบการณ์

อำนาจของชาติศิริและชาตรี จึงคาบเกี่ยวในลักษณะของภาพเชิงซ้อน เพราะจะว่าไปแล้วชาติศิริยังไม่ได้มีอำนาจอย่างเต็มที่ การจะตัดสินใจในเรื่องสำคัญ ๆ ยังคงต้องคอยสบตาผู้เป็นพ่ออยู่ก่อนเสมอ

ชาตรีใช้เวลานานถึง 20 กว่าปีกว่าจะมาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคาร โดยได้เรียนรู้งานจากบุญชู โรจนเสถียร ที่ถือว่าเป็น "ซาร์แห่งเศรษฐกิจ" มาก่อน ประสบการณ์ตลอดจนวัฒนธรรมองค์กรจึงมีอยู่ในตัวชาตรีอย่างเต็มล้น ดังนั้น ในยุคของชาตรีเองจึงมีประสบการณ์มากพอที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองในเรื่องที่สำคัญ ๆ

ส่วนชาติศิริ ใช้เวลาในการก้าวขึ้นมาเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้วยเวลาไม่ถึง 10 ปี ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นมากเมื่อเทียบกับชาตรีในการแก้ปัญหา ความสามารถในการสร้างสายสัมพันธ์ทางธุรกิจ ตลอดจนการตัดสินใจในเรื่องใหญ่ ๆ จึงยังไม่เข้มข้นเมื่อเทียบกับพ่อ

มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินท่านหนึ่งเคยวิเคราะห์ในเชิงเปรียบเทียบระหว่างทายาทรุ่นที่ 3 ของธนาคารกรุงเทพ คือ ชาติศิริ กับทายาทรุ่นที่ 2 ของธนาคารกสิกรไทย คือ บัณฑูร ล่ำซำ ว่า ชาติศิริดูเหมือนจะอ่อนชั้นเชิงกว่าหลายขุม อีกทั้งการก้าวขึ้นมาของโทนี่ด้วยวัยเพียง 30 กว่า ๆ นั้นก้าวเร็วเกินไป เพราะธนาคารกรุงเทพเป็นสถาบันการเงินที่ใหญ่มากต้องใช้ประสบการณ์ทางด้านการเงินอย่างมากในการบริหารงาน

"แต่ถ้ามีขุนพลคู่ใจดี ๆ คอยช่วยกันก็คงไปได้ดี อย่าง ดร.พิสิฐ จากแบงก์ชาตินั่นก็เป็นคนมีฝีมือไม่น้อยทีเดียว แล้วยังมีคนอื่น ๆ ร่วมทีมอีก 10 กว่าคนคงไม่น่าห่วงเท่าใดนัก"

ขุนพลรุ่นที่ 3 ชุดดรีมทีม

สำหรับคนรุ่นใหม่ ๆ ที่คาดว่าจะขึ้นมาแทนทีมที่ปรึกษาชุดเก่านั้นมีการมอง ๆ กันไว้บ้างแล้ว ซึ่งชาตรีได้เคยเกริ่น ๆ ให้ฟังว่า "ที่มอง ๆ ไว้ก็เช่น คุณธีระ อภัยวงศ์ ที่ดูแลเกี่ยวกับระบบเทคโนโลยีของธนาคารจะขึ้นมาแทนที่คุณดำรง แต่ก็ต้องอาศัยการฝึกฝนและเสริมการบริหารงานส่วนอื่น ๆ เพิ่มเข้าไปด้วย"

นอกจากนี้ ทางธนาคารก็ได้ส่งสาธิต อุทัยศรี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ไปอบรมหลักสูตรผู้บริหารระยะสั้นด้านการบริหารที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เป็นต้น

หลังจากที่ธนาคารได้จัดโครงสร้างและปรับทีมบริหารใหม่เสร็จเรียบร้อยแล้วประมาณต้นปี 2542 ชาตรีบอกว่าธนาคารจะมุ่งขยายตัวทางด้านกำไรอย่างจริงจัง ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทดแทนจากการที่ธนาคารได้หันไปปรับปรุงด้านบุคลากรและองค์กร รวมทั้งธนาคารมีแผนที่จะเปิดบริษัทวิจัย เพื่อเป็นการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูลอีกด้วย

ทั้งหมดเป็นการเปิดไฟเขียวของชาตรี เนื่องจากทราบดีว่าสิ้นยุคของเขาเมื่อไหร่ ถ้าธนาคารกรุงเทพยังไม่มีกุนซือรุ่นใหม่ที่เฉียบพอเอาไว้ช่วยงาน อนาคตของธนาคารในระยะยาวมีปัญหาแน่

ชาตรีเองเคยกล่าวอย่างภูมิอกภูมิใจในลูกชายคนโตว่า "โทนี่เขาสร้างคนได้เก่งกว่าผม ตั้งแต่คุณวิชิต ออกจนถึงปัจจุบันเขาได้คนมาถึง 20 คน ถ้าเขารู้จักชวนคนดีมีความสามารถมาทำงาน ผมว่า 10 ปีข้างหน้าก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็น คือ ต้องหาคนที่เข้ามารองรับในช่วงเตรียมงาน หลายคนที่เขานำเข้ามาผมพอใจมาก"

ดังนั้น แม้ว่าชาติศิริจะถูกมองว่าอ่อนหัด แต่ก็ไม่ได้เป็นจุดอ่อนของธนาคารแต่ประการใด เพราะคนทำงานคือมันสมองจากผู้เชี่ยวชาญข้างกายที่มีอยู่อย่างมากมายนั่นเอง และในปัจจุบันถึงแม้ชาตรีจะเริ่มวางมือเพื่อให้เด็กรุ่นลูกอย่างชาติศิริได้มีโอกาสเข้ามารับผิดชอบงานมากขึ้น แต่อำนาจในการกำหนดนโยบายทั้งระยะสั้นและยาวยังอยู่ในมือของชาตรีและขุนพลรุ่นเก่าอยู่

นอกจากนี้ ข่าววงในยังระบุชัดเจนว่า เรื่องสำคัญ ๆ ยังต้องผ่านมือของเจ้าสัวชาตรีอยู่นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยกู้ให้กับโครงการขนาดใหญ่อย่างโฮปเวลล์ หรือลูกหนี้รายใหญ่อย่างยูนิคอร์ด หรือแม้แต่โครงการปล่อยสินเชื่อในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ๆ นั้น ชาติศิริผู้ลูกไม่เคยเยี่ยมกรายเข้ามาดูเลย

ความยิ่งใหญ่ของธนาคารกรุงเทพคงเกิดขึ้นเองตามลำพังไม่ได้ ทุกย่างก้าวเกิดขึ้นมาจากการปูทางของบรรดาเจ้าสัวรุ่นก่อน ๆ โดยเฉพาะคุณปู่รุ่นที่ 1 อย่างชิน โสภณพนิช ต้นตระกูลที่สร้างรากฐานให้โสภณพนิชในวันนี้ได้ชื่อว่า เป็นตระกูลที่ร่ำรวยที่สุดของประเทศติดต่อกันมานานหลายทศวรรษ 10 กว่าปีก่อน ชาตรีได้แสดงให้เจ้าสัวชิน เห็นแล้วว่าตนเป็นอภิชาตบุตร และคราวนี้ก็มาถึงรุ่นหลานอย่างชาติศิริ ว่าจะเป็นอภิชาตบุตรได้หรือไม่ และจะป้องกันแชมป์ทางธุรกิจไว้ได้อย่างไร เวลาคงเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ที่ชาติศิริหรือมันสมองที่อยู่รอบกายเขารู้ดีก็คือ ภารกิจข้างหน้านั่น เป็นเรื่องที่หนักหน่วงและหนทางต่อไปก็คงไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us