เพราะใช้เวลาอยู่หลายปีในสหรัฐอเมริกาทั้งเพื่อศึกษาระดับปริญญาตรีด้านการเงิน
และปริญญาโทบริหารธุรกิจในมหาวิทยาลัยนอร์ธ เท็กซัส สเตท โดยจบระดับสูงสุดนี้เมื่อปี
2515 ที่ผ่านมา และเพราะมีโอกาสได้เข้าทำงานในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกหลายต่อหลายแห่งในประเทศเดียวกันนี้เอง
ทำให้ ชาญ อัศวโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อัลฟาเทค อิเล็กทรอนิกส์
จำกัด (มหาชน) หรือ ATEC ผู้มีอายุอานามเข้าขวบปีที่ 52 มีพรรคพวกเพื่อนฝูงทั้งคนชาติเดียวกันและต่างชาติต่างภาษามากมายในวงการไฮเทค
ชาญ เคยเอ่ยว่า การที่ได้คบหาและมีโอกาสสัมผัสเจ้าของกิจการหลายแห่งในอุตสาหกรรมนี้
ทำให้เขาล่วงรู้ว่าธุรกิจนี้แท้จริงน่าพิสมัยกว่าที่คิด เพราะไม่ได้มุ่งแต่จะแย่งจะแข่งกันดีอย่างที่หลายคนมอง
แต่กลับเป็นว่าทุกแห่งสนับสนุนกัน จริงใจต่อกัน และหากใครล้มลุกคลุกคลานก็ไม่มีการซ้ำเติมกัน
ด้วยเหตุนี้ชาญจึงรักอุตสาหกรรมนี้อย่างเป็นจริงเป็นจัง
นอกจากนี้ ในมุมมองส่วนตัวของเขา ตราบใดที่โลกและมนุษย์เรายังต้องการความสะดวกสบายยังต้องมีการพัฒนาต่อไป
ประชากรยังคงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ อุตสาหกรรมนี้จะใหญ่มากและมีอะไรให้เล่นได้อีกเยอะ
และนี่เองทำให้เขากล้าลงทุนในขนาดที่ไม่ธรรมดา
หลังสั่งสมประสบการณ์อยู่พักใหญ่ในสหรัฐฯ ชาญกลับเมืองไทยเพื่อก่อตั้งบริษัทขึ้นด้วยตัวเองที่นิคมอุตสาหกรรมนวนครกรุงเทพฯ
โดยใช้ชื่อว่า บริษัท ฮันนีเวล ซีเนอร์เท็ค เพื่อทำกิจการผลิตเซมิคอนดัคเตอร์
โดยเขาวางตัวอยู่ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายการเงินระหว่างปี 2522-2526
ต่อจากนั้น ชาญมีโอกาสเข้าทำงานกับบริษัท AT&T Microelectronics ในตำแหน่งกรรมการอำนวยการ
และด้วยความสามารถชักนำให้ AT&T Corporation ลงหลักปักฐานในไทยได้ภายใต้บริษัท
เอที แอนด์ ที เทเลคอมมิวนิเคชั่นโปรดักส์ (ประเทศไทย) จึงดันให้ชาญเป็นคนแรกและคนเดียวที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการของ
AT&T ในขณะนั้น
แต่ชื่อของเขามาผุดขึ้นในความรู้จักของคนทั่วไปก็ต่อเมื่อปี 2531 เพราะการก่อกำเนิดของ
ATEC จากมันสมองและความสามารถของเขา
ระหว่างนั้น สมควร อัศวโชค น้องชายคนที่ 11 ซึ่งอายุห่างจากเขา 15 ปี ก็ได้เริ่มงานในแวดวงเดียวกันที่บริษัท
ซีเอส พลาสติก ในตำแหน่งสูงสุดด้านบริหาร ซึ่งภายหลังบริษัทนี้ได้ถูกจับรวมเข้าด้วยกันกับบริษัท
ไมครอน พริซิชั่น และไมครอน แพคเกจจิ้ง กลายเป็นไมครอน กรุ๊ป ตามแนวคิดที่เขาต้องการสร้างความแข็งแกร่งให้เกิดกับธุรกิจ
และช่วงเวลาเดียวกันนั้น สมควรยังได้รับตำแหน่งให้ดำรงตำแหน่งประธานบริหารของบริษัท
NSEB อีกหนึ่งตำแหน่งด้วย
สมควรสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านบัญชีและการเงินจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และขณะนี้กำลังต่อโทด้านบริหารที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
วันนี้เขาได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญยิ่งให้เป็นผู้พัฒนานิคมอุตสหากรรมอัลฟา
เทคโนโพลิส เพื่อเป็นซิลิคอนวัลเลย์แห่งแรกของไทย เพื่อผลักดันให้เกิดกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นปึกแผ่นที่สุด
ด้วยสาธารณูปโภคที่รองรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้อย่างสมบูรณ์แบบ
สมควรรับหน้าที่นี้ในฐานะประธานกรรมการฝ่ายบริหาร ส่วนชาญยังอยู่เคียงข้างในตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท
อัศวโชคท่านที่สาม คือ สมศักดิ์ น้องชายคนสุดท้องของชาญ เข้ามาร่วมกิจกรรมของกลุ่มในปี
2532 ด้วยเส้นทางใกล้เคียงกับการมาของสมควร ตำแหน่งแรกที่เขาได้รับ คือ ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินบริษัท
ซี เอส พลาสติก และอยู่ในตำแหน่งเดียวกันในบริษัท ไมครอน พริซิชั่นในปี 2536-2537
รวมทั้งควบตำแหน่งกรรมการผู้จัดการบริษัท ไมครอน อิเล็กโทรนิคส์ ซิสเต็มอีกแห่งหนึ่ง
ปัจจุบัน สมศักดิ์เป็นกรรมการและกรรมการบริหารให้กับบริษัทซับไมครอน เทคโนโลยี
จำกัด (มหาชน) ด้วยวัยเพียง 29 ปี ซึ่งกิจการนี้ถือเป็นความหวังอย่างยิ่งของกลุ่มเพราะเป็นระยะหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะพิสูจน์เป้าหมาย
TURNKEY SOLUTION ว่าจะไปเกือบสุดปลายทางได้อย่างสดสวยเพียงไร
ท่านสุดท้าย สุชีดา อัศวโชค สาวคนเดียวในตระกูลอัศวโชคที่อยู่ในกลุ่ม ATEC
สุชีดาเป็นพี่สาวคนถัดไปจากสมศักดิ์ เธอเข้ามาหลังสุดเมื่อปี 2535 นี้เองในตำแหน่ง
CONTROLLER ของบริษัท เอ็น เอส อีเล็คโทรนิคส์ กรุงเทพฯ (1993) กระทั่งปี
2537 อยู่ในฐานะกรรมการบริษัท อัลฟาซอร์ส แมนูแฟคเจอริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด
(มหาชน) ในตำแหน่ง CFO และผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์
นอกจากนี้ ยังพ่วงสถานภาพเป็นกรรมการในอีกหลายบริษัท ได้แก่ บริษัทอัลฟาเทล
บริษัทแอดวานซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง ลิสซิ่ง บริษัทอัลฟาคอมแซท และบริษัทดาต้า
เปเปอร์ แอนด์ พริ้นท์
ประสบการณ์ของสุชีดาอยู่กับด้านบัญชีและการเงินโดยตลอด เนื่องจากร่ำเรียนระดับปริญญาตรีในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และในปีนี้ได้ปริญญาโทด้านบริหารจากสถาบันเดียวกันมาการันตีอีกหนึ่งใบ
สุชีดาไม่ได้นั่งในตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดในอัลฟาซอร์สฯ และอัลฟาเทล เนื่องจากเป็นความปรารถนาของชาญที่ต้องการคงบุคลากรทั้งระดบบริหารและระดับล่าง
รวมทั้งให้คงมาตรฐานเรื่องคุณภาพของเอทีแอนด์ที เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ (ประเทศไทย)
ไว้เหมือนเดิม ภายหลังเข้าเทคโอเวอร์บริษัทนี้เมื่อปี 2537 เพื่อไม่ให้เสียน้ำใจต่อกัน
ซึ่ง 2 บริษัทดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นภายหลังการตัดสินใจแยกส่วนการผลิตและการตลาดออกจากกัน
เพราะต้องการลบภาพไม่ให้มองว่าให้ความสำคัญกับฝ่ายการตลาดของตัวเองก่อน แต่ให้เสมือนเป็นลูกค้ารายหนึ่งเท่านั้น
โดยอัลฟาซอร์สเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูป
ขณะที่อัลฟาเทลเป็นผู้ออกแบบพัฒนาและจำหน่ายอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมให้กับหน่วยงานโทรคมนาคม
และตัวแทนจำหน่ายในประเทศต่าง ๆ กว่า 16 ประเทศทั่วโลก
จะเห็นได้ว่า 4 พี่น้องอัศวโชคกระจายตัวไปในทุกกระบวนการของธุรกิจ นับตั้งแต่ต้นทาง
กระทั่งปลายสุดของกิจกรรม
การทำงานของแต่ละท่านเป็นอิสระต่อกัน ทว่ามีการแลกเปลี่ยน ร่วมหารือ และให้คำแนะนำต่อกันบ้างในบางครั้ง
จากคำบอกเล่าของผู้ใกล้ชิดและคุ้นเคยกับแต่ละท่านนี้สะท้อนให้เห็นถึงสไตล์การทำงานซึ่งคล้ายคลึงกันมาก
คือ ทุกคนเป็นคนทุ่มเท ทำงานเร็ว ตัดสินใจฉับไว แต่ไม่ทิ้งความสุขุมเยือกเย็น
ในส่วนชาญเป็นธรรมดาที่จะเป็นที่รู้จักมักคุ้นที่สุดในกลุ่มความชัดที่พิเศษในตัวเขา
ซึ่งทุกคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกัน คือ ไม่ว่าชาญจะทำอะไรก็ตาม แต่ทุกอย่างต้องดี
เป็น FIRST CLASS และต้องแม่น
"ครั้งหนึ่งมีการจัดงานเปิดตัวบริษัทแห่งหนึ่ง ก็มีการเตรียมของขวัญกันเล็ก
ๆ น้อย ๆ ให้กับผู้เข้างาน พอคุณชาญเห็นก็บอกต้องเป็นของดี ๆ เลยนะ เพราะโอกาสจัดงานไม่ได้มีบ่อย
ๆ อีกตัวอย่างก็เช่นท่านจะให้การสนับสนุนเต็มที่ในการสร้าง CHILDREN MUSEUM
ซึ่งท่านอยากจะให้เป็นโลกแห่งเทคโนโลยีสำหรับเยาวชน ตอนนี้ก็กำลังศึกษาความเป็นไปได้
มีการไปดูแบบอย่างจากต่างประเทศ ซึ่งต้องลงทุนเยอะ ท่านก็บอกว่า ลงทุนแพงไม่เป็นไร
ขอให้ทำแล้วดีไปเลยแล้วกัน" ผู้ใกล้ชิดท่านหนึ่งเล่า
ส่วนคำบอกเล่าเกี่ยวกับการทำงานของเขา ทุกวันนี้ ชาญไม่ค่อยได้เข้าร่วมประชุมบ่อยนัก
แต่มักจะนั่งอยู่กับงานกองโตในห้อง ผู้บริหารส่วนใหญ่ที่เข้าพบจึงต้องรอคิวเข้าพบยาวเหยียดหรือไม่ก็เดินไปปรึกษาหารือเรื่องงานกันไป
นอกเสียจากประชุมบอร์ด หรือเมื่อรวมตัวกันทั้งกลุ่มซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก
"หรืออย่างกรณีที่ท่านต้องปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนในงานใหญ่ ๆ ใกล้วันงานก็ยังไม่ค่อยได้มีโอกาสพบท่านเลย
เพราะงานท่านมากจริง ๆ ท่านก็จะถามแต่ว่างานมีวันไหน ที่ไหน เวลาเท่าไหร่
เท่านั้นเอง และก็ไปเจอกันที่งาน" ผู้บริหารท่านหนึ่งบอกกล่าว
คงไม่ต้องแปลกใจที่ยากจะหาชั่วโมงว่างสำหรับชาญในวันนี้ เพราะยิ่งธุรกิจใหญ่ขึ้น
คนร่างเล็กอย่างชาญที่รักการทำงานเป็นชีวิตจิตใจ ก็ยิ่งงานพอกพูนขึ้นเป็นธรรมดา
แต่อย่างน้อยวันนี้เขาไม่ได้สู้ตามลำพัง แต่ยังมีน้องร่วมสายเลือด กับผู้ชำนาญการอีกหลายท่านนอกครอบครัว
และผู้สนับสนุนอีกมากมายขนาบข้าง
ส่วน GENERATION ที่สองของชาญคงต้องรอนานหน่อย เพราะลูกชายคนโตเพิ่งอายุได้
4 ขวบ ส่วนคนเล็กก็เพียง 2 ขวบเท่านั้น ซึ่งนี่ก็เพราะความทุ่มเทในงานแท้
ๆ !!