Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2539
ชาญ อัศวโชค หวังสร้างตำนานแม้ใครต่อใครจะไม่สู้แล้ว             
โดย อมรรัตน์ ยงพาณิชย์
 

 
Charts & Figures

อัตราการเติบโตของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก (เหรียญสหรัฐ)
กระบวนการผลิต IC ครบวงจรเป้าหมายใหญ่ ATEC ปี 2000


   
search resources

ชาญ อัศวโชค
Computer




บัลลังก์ยักษ์ใหญ่เซมิคอนดัคเตอร์ในอเมริกากำลังสั่นคลอน หุ้นเทคโนโลยีในตลาดนิวยอร์กตกรูด หลังผลประกอบการไตรมาสสองผิดความคาดหมาย กลายเป็นโดมิโนลุกลามไปตลาดญี่ปุ่นจนมาถึงไทย แต่วันนี้ชาญยังประกาศความใหญ่ เพราะเชื่อมั่นในวิสัยทัศน์

ความหวาดหวั่นต่อตัวเลขส่งออกไทยตกต่ำ ทำเอาหน่วยงานทั้งภาครัฐและผู้ต่อสู้ในทางธุรกิจนั่งไม่ติดที่ หลายต่อหลายฝ่ายเรียกร้องให้รัฐบาลทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหา โดยเร่งด่วนที่สุด

เพราะข้อมูลจากกรมเศรษฐกิจพาณิชย์ที่รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ชัดว่า 20 สินค้าส่งออกหลัก ซึ่งทำยอดขยายตัวสูงมากทุกปี มาปีนี้เห็นตัวเลขแล้วน่าใจหาย โดยจำนวนถึง 9 รายการสำคัญมีมูลค่าส่งออกลดลง และอีก 11 รายการเติบโตจริง แต่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นมาก

กรณีของแผงวงจรไฟฟ้า (INTEGRATED CIRCUITS : IC) เฉพาะ 5 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเพียง 13% ด้วยมูลค่าส่งออกรวม 25,294 ล้านบาท จากยอดรวมการส่งออกสินค้าทุกประเภทของประเทศ 584,540 ล้านบาท

ย้อนอดีตไปเมื่อ 3 ปีก่อน IC เคยทำยอดส่งออกในปี 2536 ได้ 35,550 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 24.20% มาปี 2537 ทำได้ 45,311 ล้านบาท หรือเติบโต 27.50% และเมื่อปีที่ผ่านมา ขยายตัว 28.40% ด้วยมูลค่าส่งออก 58,182 ล้านบาท

จึงเป็นเรื่องน่าหนักใจไม่น้อยที่ต้องเร่งสปีดทำตัวเลขให้ไม่น่าเกลียดในช่วงเวลาที่เหลือของปี

สถานการณ์ยิ่งดูจะเลวร้ายขึ้นเมื่อเกิดเหตุระส่ำระสายในตลาดอเมริกา ถึงขั้นมีการปลดคนงานในบริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดัคเตอร์รายใหญ่ "บริษัทแอพพลายแมททีเรียล" ออกเกือบ 900 คนจากคนงานทั้งหมดหมื่นกว่าคนเมื่อปลายเดือนสิงหาคมด้วยเหตุผลว่า ตลาดคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในการรับซื้อ IC อยู่ในภาวะไม่น่าไว้ใจ จึงจำเป็นต้องลดต้นทุน ซึ่งระหว่างนั้น ปรากฏข่าวว่า ยักษ์ใหญ่อย่างไอบีเอ็ม และคอมแพคของสหรัฐฯ บีบออร์เดอร์สั่งสินค้าเฉพาะเมื่อต้องการและมีลูกค้ารองรับจริง ๆ เท่านั้น ขณะที่สถาบัน HAMBRECHT & QUIST และ SEMICONDUCTOR INDUSTRY ASSOCIATION ของสหรัฐฯ ประเมินอัตราการเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์ในปีนี้ไว้ลดลงจากเดิม คือ คาดว่าสูงสุดไม่เกิน 20% จากที่เฉลี่ยในปี 2538 ทำได้ 25%
แรงกระทบกระเทือนส่งผลไปทั่ว หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดหุ้นนิวยอร์ก นับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมราคาดิ่งลงทันที จุดชนวนโดยบริษัท ฮิวเลตต์ แพกการ์ด ซึ่งเป็นหุ้น LARGE CAPITALIZATION หลังประกาศผลประกอบการไตรมาสสองห่างไกลเกินความคาดหมาย และเพียงพริบตาเดียวยาวไปถึงตลาดญี่ปุ่นกระทั่งหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ของไทยก็โดนลูกช่วงไปตาม ๆ กัน ทว่า ท่ามกลางความวิตกกังวลของหลายฝ่ายนี้ กลับมีผู้ส่งออกจำนวนหนึ่งที่มองว่าเป็นเพียงภาวะการณ์ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่ต้องมานั่งกระวนกระวายกันให้มาก ชาญ อัศวโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อัลฟาเทค อิเล็กทรอนิกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ATEC ผู้ประกอบการและทดสอบ IC ทั้งประเภทเฮอร์มาติค ซึ่งเป็นตัวห่อหุ้มชนิดเซรามิกที่ป้องกันแรงกระทบและทนความร้อนสูง และ IC ชนิดพลาสติกโดยมียอดขายเป็นอันดับสองของโลกด้วยตัวเลขกว่าหมื่นล้านบาทต่อปี (รองจากอันนัมแห่งเกาหลี แต่ตัวเลขทิ้งห่างเพราะมียอดขายกว่าหมื่นล้านเหรียญฯ ต่อปี) เป็นหนึ่งในผู้มองปรากฏการณ์เช่นนั้น ซึ่งจากการรายงานอัตราส่วน BOOK-TO-BILL เดือนกันยายน ของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ (SEMICONDUCTOR INDUSTRY ASSOCIATION) ที่ฟื้นตัวขึ้น 0.99 จากเดือนสิงหาคม 0.93 สามารถพิสูจน์ความเชื่อของเขาได้เป็นอย่างดี โดยอัตราส่วนนี้เป็นการวัดจากมูลค่าออร์เดอร์สินค้าของผู้ผลิตชิพที่สั่งจองเข้ามาในตลาดอเมริกาเทียบกับยอดการส่งมอบ ซึ่งยอดคำสั่งซื้อเดือนกันยายนของผู้ผลิตอเมริกันเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 9% มูลค่า 3.19 พันล้านเหรียญฯ ขณะที่ยอดส่งมอบเพิ่มขึ้น 2.1% มูลค่า 3.22 พันล้านเหรียญฯ สำหรับอัตราส่วน BOOK-TO-BILL ของโลกเมื่อเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้น 0.97 จาก 0.95 ในเดือนกรกฎาคม สำหรับในเดือนกันยายนนักวิเคราะห์คาดกันว่า ตัวเลขจะเพิ่มขึ้นถึง 1.0 โดยยุโรปและอเมริกาจะมียอดคำสั่งซื้อสูงที่สุด ขณะเดียวกันราวเดือนมีนาคม 1997 ตลาดในช่วงขาลงจะสิ้นสุดลงอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดหวังว่าในปี 1997 ตลาดเซมิคอนดัคเตอร์โลกจะเติบโตขึ้นในระดับปานกลางประมาณ 15% ชะลอตัวลงจากปี 1995 ที่ยอดขายทะยานสูงถึง 40% มูลค่า 150 พันล้านเหรียญฯ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อแนวโน้มที่ดีขึ้นครั้งนี้มาจากราคาของ DRAM ดีขึ้นจากเมื่อปีที่แล้วที่ร่วงจากราคาชิ้นละ 50 เหรียญ เหลือไม่ถึง 10 เหรียญในทุกวันนี้ ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ DRAM เป็นตัวที่สร้างรายได้แก่อุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์โลกมากถึง 3 ใน 4 จากรายงานดังกล่าวส่งผลดีต่อราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีในตลาดหุ้น NASDAQ และตลาดหุ้นวอลล์สตรีท ตลอดจนตลาดหุ้นในเอเชียแปซิฟิกที่ทะยานสูงขึ้นกันถ้วนหน้า

สำหรับชาญเขาเห็นว่า เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดขึ้นอยู่แล้วในทุก ๆ 10 ปี" อุตสาหกรรมนี้ทุก ๆ 5 ปีจะโตเป็นเท่าตัวและทุก 10 ปีจะปรับสภาพครั้งใหญ่ซึ่งอาจมาเร็วกว่าสักปีสองปี หรืออาจช้ากว่าหน่อย" ชาญกล่าวอย่างเห็นเป็นเรื่องปกติ และคาดว่าไตรมาสแรกปีหน้ายอดสั่งซื้อจะกลับมาอีกครั้ง หรืออย่างช้าไม่น่าเกินไตรมาสสอง

"ตอนนี้ออร์เดอร์เริ่มเข้ามาบ้างแล้ว เพราะสินค้าในสต็อกของผู้ซื้อระบายไปเยอะแล้ว และใกล้ช่วงคริสต์มาสด้วย ซึ่งปกติประมาณไตรมาสสามยอดสั่งซื้อจะมากที่สุด คือ ตกประมาณ 40% ของทั้งปี" ชาญกล่าว

สาเหตุของภาวะตกต่ำของอุตสาหกรรมจนเกือบ 1 ปีแล้ว ซึ่งคาดว่าจะกระทบยอดขายของ ATEC ทั้งปีนี้ประมาณ 15-20% (เนื่องจากส่ง IC ป้อนตลาดคอมพิวเตอร์ถึง 30% ของยอดผลิตทั้งหมดของกลุ่มที่เกือบ 3 ล้านยูนิตต่อวัน) ชาญชี้ว่า เป็นเพราะผลต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาที่อุตสาหกรรมขยายตัวเกินความคาดหมาย และเพราะซอฟต์แวร์ WINDOWS 95 ยังมีปัญหาทำให้ขายไม่ดีอย่างที่คิด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ทำให้ดีมานด์ในปีนี้ลดลง

ทั้งนี้ อัตราการเติบโตที่ประเมินไว้โดยสมาพันธ์วิศวกรรม IC และดาต้าเควสท์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยชั้นนำคาดว่า ตัวเลขจะเติบโต 15% ในปี 1994 แต่เอาเข้าจริงกลายเป็น 29% และในปีที่ผ่านมาขึ้นไปถึง 42%

เหตุที่ทำให้ชาญเชื่อมั่นว่าอนาคตข้างหน้ายังคงสดสวย เพราะตัวเลขในอดีตไม่เคยสร้างความพลิกผัน โดยตั้งแต่ต้นปี 1960 ซึ่ง 10 ปีจากนั้นยังมีมูลค่าของธรกิจเพียง 2,600 ล้านเหรียญฯ เพียง 5 ปีกลายเป็น 4,200 ล้านเหรียญฯ และปี 1980 เท่ากับ 13,400 ล้านเหรียญฯ ปี 1990 เป็น 50,000 ล้านเหรียญฯ จนมาปี 1995 ถึง 146,000 ล้านเหรียญฯ และในปี 2000 เขาเห็นว่าจะสูงขึ้นกว่า 3 แสนล้านเหรียญฯ ดังการสำรวจของดาต้าเควสท์

นอกจากนี้ เขาเล็งเห็นว่า ยุคทองของตลาดเคลื่อนย้ายมายังแถบเอเชียแปซิฟิกแล้ว (ไม่นับญี่ปุ่น) เพราะเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ส่วนแบ่งตลาดแซงหน้ายุโรปโดยความต้องการ IC มีสัดส่วนถึง 21% ซึ่งเขาเชื่อว่าในปี 2000 จะขยับขึ้นไปเป็น 30% ของการผลิตในตลาดทั่วโลก หรือเป็นมูลค่า 300,000 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ญี่ปุ่น และยุโรปจะมีบทบาทน้อยลงแม้แต่สหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะเหลือไม่ถึง 25%

"ไทยเองมีส่วนแบ่งในตลาดอิเล็กทรอนิกส์เพียง 1.3-1.5% ของมูลค่ารวมของโลกเท่านั้น แต่คาดว่าภายในปี 2010 จะขยายเป็น 4-5% หรือประมาณ 8 หมื่นถึงหนึ่งแสนเหรียญฯ"

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงกล้าประมาณ VISION 2000 สวนกระแสโลกปัจจุบันในทันที" TURNKEY SOLUTION คือ เป้าหมายที่เราต้องไปให้ถึง ซึ่งใกล้แล้ว" ชาญ กล่าวอย่างมุ่งมั่นต่อหน้าสื่อมวลชนกว่า 40 ฉบับ

ซึ่งกระบวนการที่ยังขาดคือ R&D หรือความสามารถออกแบบได้ด้วยตัวเอง และการผลิตแผงวงจรจุลภาค SEMICONDUCTOR WAFER) จากที่ปัจจุบันมีขั้นตอนการประกอบ ทดสอบ และผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ซึ่งทำมานานแล้ว

อย่างไรก็ดี ในส่วนการผลิต WAFER ก็กำลังจะเริ่ม TEST RUN เครื่องจักรในต้นปีหน้านี้แล้ว ส่วนกิจการออกแบบ ชาญเองก็มีไอเดียบ้างแล้วเหมือนกัน โดยจะจัดตั้งบริษัท "อัลฟา ดีไซน์ เซมิคอนดัคเตอร์" เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการโดยประมาณเงินลงทุนไว้ 600 ล้านบาท

หลังเปิดแนวคิดนี้ไม่นาน ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย ส่วนใหญ่มองว่าเป็นการกระทำที่เกินตัวไป แถมออกมาผิดจังหวะ

"เฉพาะธุรกิจปลายทางก็ลงทุนเป็นพันล้านบาทแล้ว ถ้ามาทำต้นทางก็เป็นหลักหมื่นเพราะจะมากกว่ากันอยู่ราว 10 เท่า เนื่องจากต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยมาก ๆ ต้องมีคนเชี่ยวชาญจริง ๆ และจำนวนมากพอ เสี่ยงมากนะผมว่า ยิ่งตอนนี้ตลาดยังไม่รู้ลูกผีลูกคน" ความเห็นจากคนในวงการ

ใกล้เคียงกับมุมมองของอีกท่านในวงการ เขาเห็นว่า การจะทำ FRONT-END ต่างจาก BACK-END ตรงที่ต้องลงทุนมหาศาล ใช้เทคโนโลยีสูง และยังต้องหาตลาดรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ได้ รวมทั้งปัญหาเรื่องบุคลากรก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ

แต่ชาญไม่หวั่นต่อถ้อยคำปรามาสเหล่านี้ เขามองเห็นและเข้าใจดี ฉะนั้นก่อนหาญกล้าตัดสินใจ เขาเตรียมตัวเพื่ออุดข้ออ่อนไว้แล้ว

การร่วมทุนกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งและทรงอิทธิพลในตลาดโลกเป็นทางเลือกของเขาเพื่อหาทางเสริมด้านเทคโนโลยีการผลิต และหวังให้เป็นฐานอันหนักแน่นทางการตลาด ซึ่งรายนั้นคือ บริษัทเท็กซัส อินสทรูเมนท์ หรือ TI ที่ตกลงปลงใจลงทุนร่วมกันก่อตั้งบริษัทอัลฟา-ทีไอ เซมิคอนดัคเตอร์เพื่อผลิต ADVANCE DRAM (DYNAMIC RANDOM ACCESS MEMORIES ซึ่งใช้มากในระบบคอมพิวเตอร์) และ FLASH EPROM (ใช้ในระบบพกพา เช่น ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ คอมพิวเตอร์แบบพกพา) โดยชาญถือหุ้น 74% ส่วนอีก 26% เป็นของ TI

TI มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐเท็กซัสเป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยีขั้นสูง และมีตัวแทนจำหน่าย รวมทั้งโรงงานผลิตอยู่ในประเทศต่าง ๆ กว่า 30 ประเทศ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ TI ได้แก่ เซมิคอนดัคเตอร์ อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ทางการทหาร พรินท์เตอร์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป ส่วนการให้บริการเป็นงานด้านวิศวกรรมระบบควบคุมไฟฟ้า และวัตถุดิบประเภทโลหะผสม

นอกจากนี้ ชาญยังร่วมกับรายเดิมและทีไอ-เอเซอร์ (บริษัทร่วมทุนระหว่าง TI กับเอเซอร์แห่งไต้หวัน) ตั้งบริษัทประกอบและทดสอบแผงข้อมุลความจำชื่อ บริษัท อัลฟา เมโมรี ทำผลิตภัณฑ์ METAL OXIDE SEMICONDUCTOR (MOS) อีกด้ย โดยสัดส่วนการถือหุ้นระหว่างชาญ : TI : ทีไอ-เอเซอร์ เท่ากับ 51 : 33 : 16

นี่เป็นหลักประกันสำคัญที่ชาญพยายามนำเข้ามาเสริมสร้าง ซึ่งนอกเหนือจากการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว เงื่อนไขประการหนึ่งของข้อตกลงยังช่วยลดอุปสรรคด้านการตลาดด้วย นั่นคือ TI จะเป็นผู้รับซื้อผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากบริษัทร่วมทุนทั้ง 100%

ส่วนประเด็นด้านการเงินที่จะต้องจัดหาเพื่อผลักดันโครงการอันเป็นความหวังสูงสุดนี้ ก็ไม่ระคายเคืองผู้นำร่างเล็กที่มุมานะอย่างชาญเช่นกัน แม้จำเป็นต้องใช้เงินเฉียดแสนล้าน สำหรับสร้างโรงงานแห่งที่ 3 ของ ATEC เพื่อผลิต IC ประเภทพลาสติกแบบขามาก ซึ่งจะมีกำลังการผลิตจำนวน 300 ล้านชิ้นต่อปี (มูลค่าโครงการประมาณ 5,500 ล้านบาท) ผลักดันกิจการผลิต WAFER ของบริษัท ซับไมครอนเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (มูลค่าโครงการประมาณ 40,000 ล้านบาท) ลงทุนในบริษัท อัลฟา-ทีไอ ทำ DRAM/FLASH EPROM (มูลค่าโครงการประมาณ 40,000 ล้านบาท) ในอัลฟา เมโมรี ผลิต MOS (มูลค่าโครงการประมาณ 5,000 ล้านบาท) รวมทั้งเป็นทุนก่อตั้งบริษัทออกแบบอีก 600 ล้านบาท

ชาญเปิดวิธีคิดในการจัดหาและบริหารเงินเพื่อไม่ให้ขาดมือว่า "ต้องไม่เอะอะอะไรก็เพิ่มทุน เพราะถ้าไปบอกว่าจะทำโครงการโน้นโครงการนี้ ขอให้นักลงทุนช่วยเพิ่มเงินลงทุนหน่อย ถูกดีดออกมาแน่ เพราะฉะนั้นเราจึงมองเงินกู้ก่อน ซึ่งปกติสถาบันการเงินเขามักกำหนดสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E RATIO) ไว้เลย เราก็ต้องบริหารให้ได้ตามนั้น ส่วนหากเกิดกลัวว่าจะเกินเลยไป ก็อาจต้องเพิ่มทุนหรือทำ REFINANCE หรือไม่ก็คิดหากลยุทธ์อื่น เช่น ใช้วิธี LEASING เพื่อให้ยอดการลงทุนน้อยลง"

คอนเซ็ปต์โดยสรุปของเขา คือ ต้องแสวงหาแหล่งเงินที่จะทำให้ได้ต้นทุนการเงินต่ำที่สุด และเลือกใช้แต่ละเครื่องมือบริหารให้ได้จังหวะเหมาะเจาะ ซึ่งผลจากการปฏิบัติตามแนวทางนี้ ทำให้สามารถลดหนี้ได้มาก โดยปัจจุบัน D/E RATIO อู่ที่ 1.64 เท่าจาเมื่อปี 2537 ที่สูงถึง 3.16 เท่า และเคยสูงถึงกว่า 4 เท่าในอดีต

เมื่อเอ่ยถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ทีไร ชาญเป็นต้องเท้าความหลังถึงความยากเย็นแสนเข็ญกว่าจะได้เงินมาใช้แต่ละครั้ง แม้ดูเหมือนว่าตอนนี้จะมีใครต่อใครจ่อคิวเข้ามาเสนอบริการทางการเงินให้กับเขามากมาย ชาญย้อนภาพไปเมื่อปี 2533 ว่า

"การกู้เงินในกลุ่มของเราเริ่มต้นเป็นรูปเป็นร่างตั้งแต่ปี '33 จากการกู้กับแบงก์เล็ก ๆ ซึ่งยอมปล่อยให้เพราะเชื่อมั่นในตัวผม ถ้าว่ากันแต่โครงการที่ทำ ยังไม่ค่อยมีใครรู้เรื่องเท่าไร ตอนนั้นเราขอกู้แค่ 20-30 ล้านบาท ต้องหอบหิ้วเอกสารไป PRESENT กันยกใหญ่ มีการซักถึงสินทรัพย์ที่จะเอามาจำนองกัน คุยกันนาน นานจริง ๆ ครั้งหนึ่งเราเคยบอกว่าจะกู้ไปซื้อ SAW ซักเครื่อง สถาบันการเงินจะบอกว่า แค่เลื่อยทำไมถึงได้แพงนัก เขาไม่เข้าใจว่ามันเป็นอุปกรณ์เฉพาะทาง เพียงแต่มันไม่มีชื่อเรียกของมันเองเท่านั้น 2 ปีแรกเราเหนื่อยมาก" ชาญ ตั้งใจเล่า

ขุนพลการเงินคู่ใจที่กอดคอกันมาร่วม 10 ปีกับเขา คือ พรเทพ โรหิตะชาติ ผู้คุมการเงินของ ATEC ในปัจจุบัน พรเทพเล่าต่อจากชาญว่า "หลังแบงก์เล็กปล่อยกู้อยู่พักหนึ่ง ก็เริ่มมีแบงก์ใหญ่เข้ามาบ้าง เช่น แบงก์กรุงเทพ กรุงไทย จนเมื่อถึงจุดหนึ่งกิจการมันขยายตัวมากขึ้น จะเอาเฉพาะแบงก์ในประเทศคงไม่ได้ ประกอบกับเราเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วเครดิตดีขึ้นอีกระดับหนึ่ง ก็เลยลองคุยกับสถาบันการเงินต่างประเทศ ในที่สุดก็มีโอกาสไปออก ECD ในปี '37 และเมื่อปีที่แล้วก็ไปทำ PP ขายหุ้น 6.9 ล้านหุ้นได้เงินมา 2,700 กว่าล้านบาท ต่างประเทศเขาต้อนรับเราอย่างดี ต้องเรียนตรง ๆ ว่าความสำเร็จจุดสำคัญเป็นเพราะเขาเข้าใจธุรกิจนี้ดีอยู่แล้ว ขณะที่เราเพิ่งจะรู้จักไม่นาน แม้รัฐบาลเองยังหลงทางทำให้การช่วยเหลือบางครั้งคลำไม่ถูกเป้า เราจึงมองการระดมทุนจากต่างประเทศก่อนเพื่อน เพราะเราก็มักประสบความสำเร็จโดยเฉพาะในตลาดอเมริกาและยุโรป และจากความสำเร็จ 2-3 ครั้งทำให้เราได้ใจ" พรเทพหัวเราะ

ด้วยเหตุนี้ จนวันนี้ชาญและทีมการเงินจึงไม่ลืมสถาบันการเงินผู้มีพระคุณมาแต่เริ่มต้น เขาจึงมักเรียกใช้บริการจากรายที่มีความสัมพันธ์กันยาวนาน สถาบันในประเทศที่ติดต่อกันเป็นประจำ คือ แบงก์กรุงไทย กรุงเทพ นครธน สหธนาคาร ศรีนคร บงล.ไทยแม็กซ์ และบงล.พูลพิพัฒน์ ส่วนต่างประเทศ ได้แก่ ดอยช์แบงก์ ไอบีเจ และไอเอ็นจี เป็นต้น

ซึ่งสัดส่วนการกู้จากในประเทศต่อต่างประเทศเป็นครึ่งต่อครึ่ง โดยเงินตราต่างประเทศอยู่ในรูปเงินเหรียญสหรัฐเสียส่วนใหญ่ ซึ่งพรเทพว่ามีการทำประกันความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่จริง ๆ แล้วก็ไม่เป็นปัญหานัก เพราะ MATCHING กับรายได้จากการส่งออกของบริษัท

หลังยุคทุลักทุเลผ่านไป มาวันนี้กลุ่ม ATEC ได้รับความไว้วางใจอย่างมากในสายตาของเจ้าหนี้ จะเห็นได้จากทุกดีลที่ได้ล้วนเป็น CLEAN LOAN ทั้งสิ้นจะยกเว้นก็แต่แบงก์กรุงไทยที่มีระเบียบบังคับให้ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้

ส่วนอัตราดอกเบี้ย หากเป็นการกู้ผ่านประตู BIBF หรือกู้แบบ PACKAGE พรเทพเปิดเผยว่าดอกเบี้ยจะถูกหน่อยประมาณ 8-10% แต่ถ้าเป็นการกู้ด้วยวิธีธรรมดาจะเฉลี่ย 12-13% โดยเป็นอัตราลอยตัว ส่วนกรณีต่างประเทศมักจะคิดที่ LIBOR+0.5-0.75

"ดอกเบี้ยที่เราได้ไม่มีอะไรพิเศษนัก แต่จะไปดีตรง COMMISSION CHARGE ต่าง ๆ อย่างเช่น BANK GUARANTEE ซึ่งบางแห่งคิด 2% แต่บางแห่งเรียก 1%" พรเทพกล่าว

พร้อมเผยถึงเทคนิคการระดมเงินของกลุ่มว่า จะใช้วิธีไปเป็นกลุ่มและให้ ATEC เป็นตัวออกหน้าออกตาเพื่อการเจรจาต่อรอง เนื่องจากชื่อเสียงทุกวันนี้ขายได้อย่างสบาย ๆ ทำให้การเปิดทางให้กับบริษัทใหม่ที่ต้องการเงินลงทุนค่อนข้างราบรื่น

สไตล์การบริหารเงินของกลุ่ม ATEC ยังไม่จบเพียงเท่านี้ เพราะจุดสำคัญยังอยู่ที่การใช้เงินให้เป็น

พรเทพแบแผนหมดเปลือกว่า เงินที่ได้มาจะจัดสรรไปตามงบประมาณที่ตั้งไว้เป็นหลัก ซึ่งต้องกำกับให้ไม่เกินไปกว่างบฯ มากกว่า 10% "เราจะมีมาตรการควบคุมซึ่งเดือนหนึ่งแต่ละบริษัทจะประชุมกันเองภายในถึงงบฯ และการใช้เงินในแต่ละส่วนและพอ 3 เดือนก็จะประชุมแบบรวมพลทีหนึ่ง หากใครใช้เกินกว่านี้ ต้องทำรายงานกันยืดยาวเลย"

นอกจากนี้ พรเทพยังมีเบื้องหลังของการลงทุนที่เขาคิดว่าคนภายนอกยังสับสนในการกระทำมาบอกเล่า นั่นคือ เดี๋ยวบางครั้งก็ให้ ATEC เข้าไปลงทุน และบางทีชาญก็ลงทุนเสียเอง

เขาชี้แจงว่า ประการเป็นเพราะส่วนขงทุนของ ATEC ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 4}525.82 ล้านบาท มันเล็กเกินไปที่จะดึงให้ไปลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มาก ๆ จึงมักเห็น ATEC ลงทุนในหลายบริษัทในเปอร์เซ็นต์ที่ไม่สูงนักเหตุผลต่อมาเป็นเรื่อง TIMING ในการทำธุรกิจที่หลายกรณีจำเป็นต้องใช้ในนามบุคคลเพื่อให้ทันการและไม่สูญเสียโอกาสในการตัดสินใจ ประการสุดท้ายเกี่ยวกับเรื่องของลิขสิทธิ์ที่ชาญต้องการให้รู้น้อยคนที่สุด

เมื่อเป็นเช่นนี้หนีไม่พ้นคำถามแล้ว ชาญเอาเงินมาจากไหนตั้งมากมาย ชาญตอบเองในประเด็นนี้ว่า "ก็อาศัยชื่อเสียงของผมที่ยังพอมีอยู่บ้าง กับวิธีหาพาร์ทเนอร์มาช่วยลงขัน"

ปรากฎการณ์หลังดูจะมีตัวอย่างให้เห็นเป็นระยะ ๆ และตอนนี้ก็มีกระแสหนาหูขึ้นทุกวันว่า ชาญกำลังเล็งพันธมิตรร่างกำยำอย่างปูนซิเมนต์ไทย และอิตาเลียนไทยมาร่วมหัวท้ายด้วยกัน โดยมุ่งหวังพลังประสานทางการเงิน ไม่ใช่เทคโนโลยีอย่างที่นิยมทำกับบริษัทต่างประเทศ

ซึ่ง ชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทยให้ข่าวว่ายังไม่ได้มีการเจรจาใด ๆ ต่อกัน แต่ก็ไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่เข้าร่วม

ส่วนปัญหาขาดแคลนบุคลากรซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่อาจทำให้ทางเดินของอุตสาหกรรมไปไม่ถึงที่หมาย ชาญแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการดึงมือดีจากต่างประเทศเข้ามา เช่นได้ ดร.พจน์ พฤฒิอางกูร เข้ามาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมในซับไมครอน และดร.แคน บุญญานิตย์ เป็นวิศวกรผู้ออกแบบโครงการ โดยท่านแรกคร่ำหวอดในวงการเซมิคอนดัคเตอร์มานานถึง 16 ปี และเคยอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการด้าน MICRO MACHINE LUBRICATION ใน TI ส่วนอีกท่านมีประสบการณ์ ทำงานเป็นวิศวกรออกแบบอาวุโสให้กับแอลเอสไอ ลอจิค คอร์ปอเรชั่นในสหรัฐฯมาก่อน

อย่างไรก็ดี ชาญตระหนักดีว่า วิธีการนี้จะทำให้บริษัทมีต้นทุนสูง และสามารถตรึงกำลังคนไว้ได้ตลอดไป จึงพยายามวางรากฐานเพื่อผลระยะยาว "เรามีโครงการร่วมมือกับรัฐผ่านศูนยืเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ แห่งชาติหรือเนคเทค สร้างศูนย์วิจัย และพัฒนาด้านไมโครอิเล็คโทรนิคส์ โดยรัฐจัดงบฯ ให้ 600 ล้านบาท ส่วนเราก็ลงไป 300 ล้านบาท รวมกับมูลค่าที่ดินอีกประมาณ 300 ล้านบาท"

ความฉับไวในการอ่านเกมธุรกิจและความรอบคอบในการวางแผนก่อนลงมือทำจริงทุกครั้ง ทำให้กิจการของชาญใหญ่โตจนกลายเป็นอาณาจักรไปแล้วในวันนี้

ซึ่งแต่ละบริษัทในกลุ่มต่างก็มีแผนพร้อมจะทำคะแนนให้กับตัวเองทั้งนั้นอย่างซับไมครอน ซึ่งจะผลิตแผ่น WAFER ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 นิ้ว และ ขนาดลายวงจร 0.5 ไมครอน เตรียม TEST RUN เครื่องจักรในต้นปีหน้า ซึ่งคาดว่าภายในไตรมาสสองจะสามารถผลิตสินค้าสู่ตลาดได้ โดยมีปริมาณการผลิตระยะแรก 2,000 แผ่นต่อสัปดาห์ และคาดว่าจะทำให้เต็มที่ 5,000 แผ่นต่อสัปดาห์เมื่อถึงปลายปี 2541 โดยจะพุ่งเป้าไปที่ตลาดสื่อสารโทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์

สำหรับราคากำหนดไว้ที่ 2,000 เหรียญสหรัฐต่อแผ่น ซึ่งจะมีการราคากับลูกค้าในทุก ๆ 6 เดือน โดยช่วงระยะเวลาที่ราคาจะขึ้นไปสูงสุดจากสถานการณ์ที่เคยเป็นมากินเวลา ประมาณ 3 ปี แต่จะมีวงจรของราคาที่ยังสามารถขายของได้ในราคาพอฟัดพอเหวี่ยงประมาณ 15 ปี

สมศักดิ์ อัศวโชค กรรมการและกรรมการบริหารบริษัทเปิดเผยว่าลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทในอเมริกา ซึ่งที่เปิดเผยได้ตอนนี้คือรายใหญ่อย่าง ROCKWELL SEMICONDUCTOR SYSTEM ผู้นำตลาด IC สำหรับแฟกซ์และ DATA MODEM ด้วยยอดขายปีที่แล้ว 13,000 ล้านเหรียญฯ

ROCKWELL ทำสัญญาจองการผลิตล่วงหน้า 7 ปี ซึ่งคิดเป็น 18% ของยอดการผลิตทั้งหมดของบริษัท และคุยกันเบื้องต้นว่าอาจจะขอจองถึง 25% "ซับไมครอนจะเป็นรายที่ 4 หากจัดอันดับในธุรกิจ PURE FOUNDRY เดิมทีจะมีที่ไต้หวันคือ TAIWAN SEMICONDUCTIOR หรือ TSMC ที่สิงคโปร์ได้แก่ CHARTER SEMICONDUCTOR หรือ CSM และ TOWER ของ อิสราเอล" สมศักดิ์กล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ทั้งนี้ TSMC เป็นผู้ครองตลาดด้วยส่วนแบ่งประมาณ 30% ของมูลค่ารวมซึ่งเมื่อปีที่แล้วอยู่ที่ 4.6 พ้นล้านเหรียญฯ แต่กำไรมากกว่า 500 ล้านเหรียญฯ

กิตติยา โตธนะเกษม CFO (CHIEF FINANCIAL OFFICER) ของซับไมครอนเปิดเผยถึงการจัดการด้านการเงินว่า ในระยะแรกจะต้องใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 24,000 ล้านบาท "เราเรียกทุนชำระเต็มไป 2,000 ล้านบาท และได้ SYNDICATED LOAN จากสถาบันการเงิน 23 แห่ง จำนวน 19,250 ล้านบาท"

ชาญกล่าวถึงกิจการนี้ว่าเหมือนเป็นที่มาของอะไรดี ๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะจะช่วยร่นระยะเวลาส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าจาก 5 เดือนเหลือเพียง 2 เดือน ทำให้ TIME TO MARKET ของลูกค้าสั้นลง และจะช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากเพราะ WAFER มีสัดส่วนถึงกว่า 70% ของทั้งหมด

ซับไมครอนจะเป็นกิจการแห่งที่สองที่จะสวมอีกสถานภาพ เช่นเดียวกับ ATEC คือเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งผ่านการอนุมัติจาก ก.ล.ต. เป็นที่เรียบร้อยแล้วด้วยจำนวนหุ้นที่กระจาย 54 ล้านหุ้น

โรงงาน WAFER อีกโรงคืออัลฟาทีไอก็จะเกิดหลังซับไมครอนเพียงไม่กี่เดือน โดยจะเริ่มต้นด้วยเทคโนโลยีการผลิต 0.35 ไมครอน ขนาด 8 นิ้ว ซึ่งตั้งเป้าไว้จะผลิตให้ได้ 10,000 ชิ้นภายใน 1 เดือน

และยังมีอีกหลายโครงการที่รอเปิดตัวในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน เช่นบริษัท อัลฟาเมโมรี จะเริ่มผลิต MOS ได้ในไตรมาสที่สามของปีหน้า โดยเฟสแรกจะเป็นการประกอบและทดสอบแผงข้อมูลความจำจำนวน 150 ล้านหน่วยต่อปี ส่วนอัลฟาเทค เซี่ยงไฮ้ ซึ่ง ATEC ลงทุน 49% รัฐบาลจีน 45% ไมโครชิพ อิงค์ 4% และชาญถือส่วนตัวอีก 2% จะผลิต IC ระดับ LOW-END ด้วยกำลังผลิต 400 ล้าน ตัวต่อเดือนออกสู่ตลาดในไตรมาสสองของปีหน้า โดยจะส่งออกจำหน่ายต่างประเทศประมาณ 70% ที่เหลือเพื่อทดลองตลาดในจีน

นอกเหนือจากโครงการผลิตสินค้าต่าง ๆ ของบริษัทแล้ว ชาญกล่าวว่า ความสำเร็จประการใหญ่ที่จะต้องทำให้เกิดคือ เป็นผู้สร้างนิคมอุตสาหกรรมอิเล็คโทรนิคส์และอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

เขายกให้อยู่ในหน้าที่ของบริษัท อัลฟา เทคโนโพลิส ซึ่งจะเป็นผู้ปูพื้นที่ผืนใหญ่ใน จ.ฉะเชิงเทราให้ครบครันไปด้วยสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำงานของกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ต้องการความพิเศษ โดยเฟสแรกด้วยพื้นที่ประมาณ 2,000 ไร่จะจัดไว้ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมพาณิชยกรรมและเขตมหาวิทยาลัยรวมถึงศูนย์กลางฝึกบรมบุคลากรด้านนี้โดยตรง ส่วนในเฟสสองขยายพื้นที่ไปจนกว้างถึง 5,000 ไร่

เพราะความที่ใหญ่และคิดจะใหญ่และคิดจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ของกลุ่ม ATEC ทำให้ชาญเริ่มฉุกคิดถึงโครงสร้างขององค์กรในปัจจุบัน เขาระดมเรียกผู้ที่เคยเสนอตัวขอช่วยปรับโครงสร้างให้กับเขาเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อนมาพบ

"สถาบันการเงินหลายแห่งพยายาม APPROACH ให้เราจัดตั้งโฮลดิ้ง คอมปะนี เป็นปีได้แล้วมั้งที่เวียนหน้ากันเข้ามาหลายราย แต่เราก็ยังไม่เคยมีความคิดตรงนั้น จนเมื่อง 2 เดือนที่ผ่านมาลองเรียกมาคุยอีกที เป็นการคุยเอาไอเดียเฉย ๆ ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจอะไร" ชาญเผย

เรียกได้ว่าแนวคิดนี้อยู่ในระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ทำนองนั้น

ในวันนี้จึงยังคงใช้โครงสร้าง ที่เป็นลักษณะของการแตกตัวเพื่อความเป็นอิสระ และรวมตัวเพื่อระดมความคิดและสร้างอำนาจต่อรอง โดยผูกพันต่อกันด้วยการมีผู้ถือหุ้นสามัญแต่ละรายก็ถือหุ้นในจำนวนต่างกันไปในแต่ละบริษัท

และหากว่ากันถึงการทำงาน ของกลุ่ม จะมี CEO (CHIEF EXECUTIVE OFFICER) เพียงคนเดียวคือชาญ ซึ่งจะเป็นผู้รับนโยบายจากบอร์ดมาสั่งการให้เกิดผลในทางปฏิบัติ และมี COO (CHIEF OPERATING OFFFICER) คือโรเบิร์ต เบนจามิน โมเลสเทิน เป็นผู้ลงไปคุม PRESIDENT ของแต่ละบริษัท โดยทุกบริษัทจะรายงานทุกสิ่งทุกอย่าง นับตั้งแต่การวางงบฯ กำหนดประมาณการยอดขาย ค่าใช้จ่าย ๆ และอื่น ๆ ให้กับเขาจากนั้นลำดับชั้นบริหารลงมาก็จะเป็น DIRECTOR ในแต่ละฝ่าย

การเติบโตของบริษัทในกลุ่ม โดยเฉพาะตัว ATEC และบริษัทย่อยในเวลานี้ สะท้อนในรูปของสินทรัพย์ที่มีอยู่ 11,992 ล้านบาท ยอดขายและรายได้จากการให้บริการสำหรับ 6 เดือนที่ผ่านมา 5,534.34 ล้านบาท ลดลงจากครึ่งปีที่แล้ว 43.48 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 316.46 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากผลกำไร 263.62 ล้านบาท ในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็นกำไรต่อหุ้น 8.56 บาท จาก 8.77 บาทสำหรับสองไตรมาสปีที่แล้ว

"ปี'38 เราส่งออกประมาณ 11,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายปีนี้อยากให้ได้สัก 13,000 ล้านบาท แต่สถานการณ์ไม่ค่อยดี คิดว่าเร่งให้ได้ซักหมื่นล้านก็โอเคแล้วอย่างน้อยก็มีสัญญาใหม่ 2 ฉบับที่ทำไว้กับ เอเอ็มดีและผู้ค้ารายใหญ่ของอเมริกาเหนือซึ่งเอเอ็มดีให้เราประกอบและทดสอบ IC ถึง 1.5 ล้านหน่วยต่อสัปดาห์ส่วนอีกรายเป็ฯ QUAD FLAT PACK ประเภทขามากจำนวน 2 ล้านหน่วยต่อเดือน" ชาญสรุป

ส่วนลูกค้ารายใหญ่ของกลุ่มที่ดีลกันอยู่เป็นประจำได้แก่ บริษัทฟิลิปส์ เซมิคอนดัคเตอร์, ไซเปรส เซมิคอนดัคเตอร์, ไมโครชิป เทคโนโลยี, เท็กซัส อินสทรูเมนท์, อนาล็อก ดีไวซ์, แรมตรอน อินเตอร์ เนชั่นแนลและไอบีเอ็ม

ด้านหุ้น ATEC ซึ่งทยอยปรับลงต่อเนื่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม จนมาลงหนักในเดือนกันยายน และขึ้นแรงลงแรงกว่าเพื่อนร่วมหมวดเดียวกัน มาระยะหลังนี้สภาพเริ่มดีขึ้นบ้างแล้ว แต่ยังเดาทิศทางลำบากในวันข้างหน้า เพราะหลายปัจจัยเหลือเกินที่โถมเข้ากระทบไม่เพียงเรื่องตลาดต่างประเทศอย่างเดียว

นับต่อจากนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นหลายคนเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ATEC โดยเฉพาะเพื่อพิสูจน์วิสัยทัศน์ทั้งหลายทั้งปวงว่าจะประสบผลสำเร็จเพียงใด

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us