ยอดจัดเก็บรายได้รัฐบาลเดือนก.ค.วูบต่ำกว่าเป้าถึง 8.3 พันล้านบาท คลังอ้างต้องโอนให้อปท. 1 หมื่นล้านบาท ขณะที่กรมศุลฯ-สรรพสามิต 2 หน่วยงานหลักฉุดยอดจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการตามคาด ทั้งการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร ภาษีน้ำมัน บุหรี่ รถยนต์ที่จัดเก็บได้น้อยลง เชื่อภาษีนิติบุคคลรอบครึ่งปีหลังช่วยดันยอดจัดเก็บให้ใกล้เคียงเป้าจัดเก็บทั้งปี 1.36 ล้านล้านบาทได้
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลประจำเดือนกรกฎาคม 2549 ว่า มียอดจัดเก็บต่ำกว่าประมาณการ 8,311 ล้านบาท ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้รัฐบาลในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 (ตุลาคม 2548-กรกฎาคม 2549) ต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย 292 ล้านบาท แต่สูงกว่าปีที่แล้ว 65,525 ล้านบาท อย่างไรก็ตามคาดว่าทั้งปีงบประมาณ 2549 จะสามารถจัดเก็บได้ใกล้เคียงกับเป้าหมาย 1.36 ล้านล้านบาท
โดยในเดือนกรกฎาคม 2549 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 78,472 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8,311 ล้านบาท หรือ 9.6% และต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 5.3% โดยมีการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ตาม พรบ. กำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจฯ จำนวน 10,288 ล้านบาท
ทั้งนี้ หน่วยงานที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ ได้แก่กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และรัฐวิสาหกิจ โดยกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,692 และ 3,116 ล้านบาท หรือ13.7% และ 28.9% ตามลำดับ ส่วนการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจต่ำกว่าประมาณการ 1,518 ล้านบาท หรือ 67.6%
ส่วนกรมสรรพากรจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการเล็กน้อย โดยภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ 34,654 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 510 ล้านบาท
โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2549 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1,083,072 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 292 ล้านบาท แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 65,525 ล้านบาท หรือ 6.4% ทั้งนี้เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรต่ำกว่าประมาณการในจำนวนที่สูง ตลอดจนการคืนภาษีที่สูงกว่าเป้าหมาย ถึงแม้ว่ากรมสรรพากรและหน่วยงานอื่นจะจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการก็ตาม
ส่วนผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้ กรมสรรพากร จัดเก็บได้รวม 815,238 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 37,391 ล้านบาท คิดเป็น 4.8% โดยจัดเก็บภาษีทุกประเภทได้สูงกว่าประมาณการ ที่สำคัญได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 15,780 และ 8,666 ล้านบาท หรือ 4.8% และ 21.2% ตามลำดับ
ด้านกรมสรรพสามิต จัดเก็บได้รวม 228,581 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 30,952 ล้านบาท หรือ 11.9% ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.8% ทั้งนี้ เนื่องจากภาษีเกือบทุกประเภทจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีน้ำมันซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตในช่วงเดือนตุลาคม 2548-มีนาคม 2549 และราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น รองลงมาได้แก่ ภาษียาสูบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปรับเพิ่มภาษียาสูบ ทำให้ปริมาณการบริโภคยาสูบลดลง และภาษีรถยนต์เนื่องจากปริมาณรถยนต์นั่งที่เสียภาษีต่ำกว่าเป้าหมาย นอกจากนี้ ปริมาณรถยนต์นั่งที่มี ซี.ซี. ระหว่าง 2,001-3,000 ซี.ซี. เสียภาษีในปริมาณที่ลดลง
ขณะที่กรมศุลกากร จัดเก็บได้รวม 80,422 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 19,578 ล้านบาท คิดเป็น 19.6% ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 12.7% เนื่องจากอากรขาเข้าจัดเก็บได้ ต่ำกว่าประมาณการ 20,432 ล้านบาท หรือ 20.7% โดยได้รับผลกระทบจากการปรับโครงสร้างภาษีศุลกากร และค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
สำหรับหน่วยงานอื่น นำส่งรายได้รวม 125,681 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 17,557 ล้านบาท คิดเป็น16.2% เนื่องจากทั้งส่วนราชการอื่น และรัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ โดยรายได้ส่วนราชการอื่นได้จากค่าภาคหลวงปิโตรเลียม และรายได้จากเงินผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษจากผู้รับสัมปทานปิโตรเลียมสูงกว่าประมาณการ
ทั้งนี้ จากผลการจัดเก็บรายได้ในช่วง 10 เดือนแรกที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเล็กน้อย และแนวโน้มการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจในช่วง 2 เดือนที่จะต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจตามที่ตั้งไว้มูลค่า 15,100 ล้านบาท แต่คาดว่าการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิรอบครึ่งปีบัญชี 2549 ในเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นเม็ดเงินรายได้ภาษีก้อนใหญ่ จะจัดเก็บได้ตามประมาณการ ดังนั้น จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลปีงบประมาณ 2549 ใกล้เคียงกับประมาณการตามเอกสารงบประมาณที่1.36 ล้านล้านบาท
|