แบงก์ชาติยืนยันแม้เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ไม่ส่งผลให้อัตราการจ้างงานลดลง ย้ำผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังต้องการแรงงานฝีมือดี ทำให้ตลาดแรงงานต้องเร่งพัฒนาให้ดีขึ้น ด้านภาคการเกษตรที่มีจำนวนแรงงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นไปตามฤดูกาลเท่านั้น ขณะที่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาสถานการณ์ด้านแรงงานยังคงดีอยู่ตำแหน่งงานที่ว่างลดลงและการบรรจุงานเพิ่มขึ้น และเฉพาะเดือนมิถุนายนตลาดแรงงานไทยจากต่างแดนส่งรายได้กลับมายังเมืองไทยเกือบ 4 พันล้านบาท 1 เท่าตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่มีหลายฝ่ายกังวลว่าหากเศรษฐกิจไทยในปี 2549 มีอัตรากรขยายตัวลดลงจากช่วงก่อนหน้านี้ จะมีผลต่ออัตราการจ้างงานของประเทศหรือไม่ว่า ในขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณที่ส่อให้เห็นว่าการจ้างงานชะลอตัวลง เพราะตัวเลขของการจ้างงานยังไม่ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
ขณะที่นางสุชาดา กิระกุล ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ (ธปท.) กล่าวว่า ในส่วนของการจ้างงานใหม่นั้น คาดว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจะไม่กระทบการจ้างงานใหม่ เนื่องจากในขณะนี้เท่าที่มีการสำรวจ ประเทศยังอยู่ในภาวะที่ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่มีฝีมือดี ซึ่งในส่วนนี้ตลาดแรงงานมีการพัฒนาฝีมืออยู่เสมอ อีกทั้งยังมีการพัฒนาด้านการศึกษาในเรื่องของภาษาต่างประเทศ ทำให้ปัจจุบันตลาดแรงงานยังคงมีจำนวนเพิ่มขึ้นอยู่ ทั้งนี้ ในส่วนของแรงงงานภาคเกษตรที่มีเพิ่มขึ้นนั้น ส่วนนี้ถือเป็นแรงงานที่ยังไม่มีฝีมือ และเป็นการเพิ่มขึ้นตามฤดูกาลอยู่แล้ว
ทั้งนี้ จากรายงานสถานการณ์ด้านแรงงานของธปท.ล่าสุด ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2549 พบว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-มิ.ย.)ที่ผ่านมา มีผู้สมัครงานใหม่จำนวนลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนที่ 13.1% มาอยู่ที่ 220,707 คน ขณะที่ยอดคงค้างตำแหน่งงานที่ว่างอยู่ที่ 38,579 ตำแหน่ง ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนที่ 47.4% ส่วนการบรรจุงานก็มี 85,212 ตำแหน่ง เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน 10.6%
สำหรับสถานประกอบการที่เลิกจ้างงานมีอยู่ 7,813 แห่ง ทำให้พนักงานได้รับผลกระทบ 66,015 คน ส่วนแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 81,296 คน หรือเพิ่มขึ้น 25% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน และส่งรายได้กลับมายังประเทศไทยถึง 27,489 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม หากเทียบตัวเลขล่าสุดของเดือนมิถุนายนกับเดือนพฤษภาคม 2549 พบว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน มีจำนวนผู้สมัครงานใหม่ 36,513 คน เทียบกับเดือนก่อนหน้า 36,092 คน เพิ่มขึ้น 421 คน หรือคิดเป็น 1.16%ขณะที่ยอดคงค้างตำแหน่งงานที่ว่างในเดือนมิถุนายนอยู่ที่ 38,579 ตำแหน่ง แต่เดือนก่อนหน้ากลับมีตำแหน่งงานที่ว่างสูงถึง 56,032 ตำแหน่ง ลดลงถึง 17,453 ตำแหน่ง หรือลดลงคิดเป็น 31.14% ส่วนการบรรจุงานในเดือนมิถุนายนมีทั้งสิ้น 14,295 ตำแหน่ง เทียบกับเดือนก่อนหน้า 16,276 ตำแหน่ง ลดลง 1,981 ตำแหน่ง หรือคิดเป็น 12.17%
นอกจากนี้ในเดือนมิถุนายนมีสถานประกอบการที่เลิกกิจการไป 243 แห่ง เทียบกับเดือนก่อนหน้า 244 แห่ง ซึ่งลดลงแค่ 1 แห่งเท่านั้น ทำให้มีคนงานตกงานไปในเดือนมิถุนายน 1,461 คน เทียบกับเดือนก่อนที่ตกงาน 1,275 คน เพิ่มขึ้นแค่ 186 คน สำหรับแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานยังต่างประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 13,783 คน เทียบกับเดือนก่อน 13,194 คน เพิ่มขึ้น 589 คน ทำให้มีรายได้ส่งกลับมายังเมืองไทยในช่วงเดือนมิถุนายน 8,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,950 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว เมื่อเทียบกับเดือนก่อนอยู่ที่ 4,221 ล้านบาท
|