|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ครป.บุกเอ็กซิมแบงก์ จี้ถามเงินกู้ 4 พันล้าน หวั่นพม่าเบี้ยวหนี้ทำคนไทยต้องรับกรรม แต่นายทุนพม่า –ทุนไทย พุงกาง เชื่อ"แม้ว"เยือนพม่าเกี่ยวข้องกับปัญหาใช้คืน ให้เวลา 7 วัน ไม่เคลียร์บุกทวงถามถึงทำเนียบฯ ด้านกรรมการผู้จัดการเอ็กซิมแบงก์ แจงเป็นเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของพม่า มีการเบิกจ่ายและชำระดอกเบี้ยตามปกติ อ้างเป็นการช่วยสร้างงาน และรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการในธุรกิจส่งออกเครื่องจักร รับเหมาก่อสร้าง และปิโตรเคมี ของไทยจำนวนมาก
วานนี้ (8 ส.ค.)นายสมควร พรหมทอง รองเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย(ครป.)พร้อมคณะเดินทางไปยัง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธนส.)หรือ เอกซ์ซิมแบงก์ เพื่อยื่นหนังสือถึงกรรมการผู้จัดการธสน.ให้เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเงินกู้และชี้แจงสถานะเงินกู้ 4,000 ล้านบาท ที่ให้สหภาพพม่ากู้ไป
ในหนังสือระบุว่ารัฐบาลไทย โดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้ธสน.ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำแก่สหภาพพม่ากว่า 4,000 ล้านบาท เมื่อ 25 มิ.ย.47 โดยระบุว่า เงินกู้ดังกล่าวจะซื้อสินค้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องจากไทย โดยเงินกู้จำนวนนี้มีเอกชนเป็นคู่สัญญากับทางการพม่ารวม 14 แห่ง โดยมี บริษัทชินแซทแทลไลท์ จำกัด (มหาชน)ที่เคยเป็น บริษัทในเครือชินคอร์เปอเรชั่น ของครอบครัว พ.ต.ท.ทักษิณ และบริษัทกรุงไทย แทรคเตอร์ จำกัด (มหาชน)ซึ่งเป็นบริษัทในครอบครัวของ นายปรีชา เลาหะพงศ์ชนะ รักษาการ รมช.พาณิชย์
ต่อมา พล.อ.ตันฉ่วย ผู้นำสูงสุดทางทหารของพม่าได้ยึดอำนาจจากพล.อ.ขิ่น ยุ่นต์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น และมีการสั่งปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น โดยบริษัทชินแซทแทลไลท์ฯ ได้ร่วมทุนทางธุรกิจกับบริษัทบากัน ไซเบอร์เทค ซึ่งเป็นบริษัทให้บริการสื่อสารโทรคมนาคม ครบวงจรและใหญ่ที่สุดในพม่า แต่เผอิญว่าเจ้าของบริษัทบากัน คือ ดร.เย เนง วิน เป็นลูกชาย พล.อ.ขิ่นยุ่นต์ จึงได้รับผลกระทบไปด้วย
"สัญญาเงินกู้ดังกล่าว ธนส.เป็นผู้ค้ำประกันความเสี่ยง ฉะนั้นหมายความว่าทั้งคนไทยและประเทศไทยกลายเป็นผู้แบกรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการลงทุนอันเนื่องจากความเสี่ยงในสหภาพพม่าทั้งหมด ครป.เห็นว่าการปล่อยกู้ดังกล่าวมีเงื่อนงำ ไม่โปร่งใสและล่าสุด พ.ต.ท.ทักษิณ ลุกลี้ลุกลนเดินทางไปสหภาพพม่าโดยไม่มีใครทราบหมายกำหนดการล่วงหน้า ครป.จึงมีข้อวิตกกังวลว่า เงินกู้ดังกล่าวอาจจะสูญเปล่า เนื่องจากรัฐบาลทหารของพล.อ.ตัน ฉ่วย เห็นว่าไม่โปร่งใสและมีการทุจริตคอรัปชั่นเกิดขึ้น จนอาจสร้างเงื่อนไขเพื่อไม่ชำระหนี้หรือยกเลิกหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าวในที่สุด หากเป็นเช่นนั้นจริงจะทำให้ประชาชนคนไทยสูญเสียประโยชน์อย่างใหญ่หลวง เพราะเป็นเงินที่มาจากภาษีของคนไทย"
พร้อมกันนี้ ครป.ได้เรียกร้องให้กรรมการผู้จัดการ ธนส.ออกมาชี้แจงรายละเอียดและสถานของเงินกู้จำนวนดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาทบทวนเงื่อนไขในการปล่อยกู้ให้กับต่างประเทศใหม่ โดยต้องต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และความเป็นประชาธิปไตยในประเทศนั้นๆ
นายสมควร กล่าวว่า หลังจากที่ยื่นหนังสือแล้ว ครป.เห็นว่า ในเวลาอย่างมากภายใน 7 วัน เอกซ์ซิมแบงก์ จะต้องชี้แจงหรือตอบคำถาม ต่อสาธารณะว่า ความคืบหน้าเกี่ยวกับจำนวนเงิน 4,000ล้านบาท ไปถึงไหน สถานะล่าสุดเป็นอย่างไร รวมทั้งบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องมีรายใดบ้าง หากภายใน 7 วันยังไม่ได้รับตอบ ครป.จะใช้ช่องทางอื่นดำเนินการอาทิ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร หรืออาจจะทวงถามโดยตรงไปยังกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีที่รับผิดชอบ และ ตัวรักษาการนายกรัฐมนตรี เนื่องจากความเป็นไปได้ว่า การเดินทางไปพม่า ของพ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะเกี่ยวข้องกับปัญหาเงินกู้ 4 พันล้านบาทนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการยื่นหนังสื่อของครป.ครั้งนี้ มีนายเกรียงศักดิ์ สงวนศักดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรการ ของเอกซิมแบงก์ มารับหนังสือในฐานะตัวแทนจาก ดร.อภิชัย บุญทีรวร กรรมการผู้จัดการ เอกซ์ซิมแบงก์
ด้าน ดร.อภิชัย ได้ออกมาชี้แจงถึงเรื่องนี้ว่า จากการที่เอ็กซ์ซิมแบงก์ ได้ลงนามในสัญญาเงินกู้ระยะยาว 12 ปี จำนวน 4,000 ล้านบาท กับ Myanma Foreign Trade Bank (MFTB) ซึ่งเป็นธนาคารตัวแทนรัฐบาลสหภาพพม่า ที่รับหน้าที่จัดสรรเงินกู้ให้หน่วยงานต่างๆ ของสหภาพพม่า นำไปใช้ซื้อสินค้าทุน อาทิ เครื่องจักร อุปกรณ์ และวัสดุก่อสร้าง รวมทั้งบริการที่เกี่ยวข้องจากไทย เพื่อการปรับปรุงถนน และสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในประเทศ เมื่อเดือนมิ.ย.47 นั้น ทางเอ็กซ์ซิมแบงก์ ได้ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยภายใต้ Procurement Contract ที่รัฐบาลสหภาพพม่าอนุมัติแล้วเป็นมูลค่าประมาณ 3,800 ล้านบาท โดยมีการเบิกจ่ายเงินกู้แล้ว 2,700 ล้านบาท และการชำระดอกเบี้ยเป็นไปตามปกติ รวมจำนวน 4 งวดจนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ โครงการเงินกู้ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการจ้างงาน และรายได้ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจส่งออกสินค้าจากไทยจำนวน 16 ราย ประกอบด้วยธุรกิจส่งออกเครื่องจักร และอุปกรณ์ 9 ราย รวมวงเงิน 1,750 ล้านบาท รับเหมาก่อสร้าง 3 ราย รวมวงเงิน 980 ล้านบาท ปิโตรเคมี 2 ราย รวมวงเงิน 500 ล้านบาท และโทรคมนาคม 2 ราย วงเงิน 600 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินกู้ดังกล่าวในด้านการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านของไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ทางเอ็กซ์ซิมแบงก์ จะทำหน้าที่ควบคุมดูแลการใช้วงเงินของสหภาพพม่าอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทยอย่างดีที่สุด
|
|
|
|
|