|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
คาดเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำยอดผู้ใช้บริการสายการบิน วัน –ทู-โก ชะงัก 5% ในช่วง 1-2 เดือนแรก เหตุวิตกเรื่องการเดินทางออกนอกสนามบินยังขลุกขลัก เผยปัญหาทั้งเล็กและใหญ่ยังมีอีกเพียบ ผู้บริหารสายการบินวัน –ทู-โก เผยแผนครึ่งปีหลัง เน้นขยายเส้นทางและเพิ่มลูกค้าตลาดในประเทศ หวังปั้นยอดรายได้ตลาดในประเทศเพิ่มเป็น 60% จากรายได้ ก่อนบุกต่างประเทศในปีหน้า
นางสาวมนัสนันท์ ตันติประสงค์ชัย ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท โอเรียนท์ไทย แอร์ไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ วัน-ทู-โก เปิดเผยว่า จากการที่จะมีการย้ายสนามบินจากดอนเมืองไปสุวรรณภูมิในเดือนกันยายนศกนี้ ทั้งเส้นทางในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนของสายการบินวัน-ทู-โก คาดว่า ช่วงระยะแรกของการเปิดใช้สนามบินราว 1-2 เดือนแรกอาจจะมีผลกระทบต่อยอดผู้ใช้บริการที่จะลดน้อยลงไปราว 5% ของจำนวนลูกค้าปกติ เฉพาะกลุ่มลูกค้าเส้นทางในประเทศ
ทั้งนี้เพราะมีผู้ใช้บริการส่วนหนึ่งที่ยังไม่เคยชินสถานที่และเกรงว่าหากเลือกเดินทางมาช่วงนั้นจะเกิดความยุ่งยากและลำบาก ทั้งเรื่องการเดินทางออกจากสนามบิน ตลอดจนระบบการบริการในสนามบิน ดังนั้นลูกค้ากลุ่มนี้อาจหันกลับไปใช้บริการรถทัวร์โดยสารแทนก่อนในช่วงแรก
แต่ทั้งนี้เชื่อว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวคงเป็นแค่ช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่กระทบต่อผลประกอบการของบริษัท ทั้งนี้เพราะ ช่วงปลายปีที่รัฐบาลจัดงานมหกรรมพืชสวนโลก เฉลิมพระเกียรติ มีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ สนใจที่จะเดินทางไปเข้าชมจำนวนมาก และเริ่มมียอดจองตั๋วเครื่องบินเข้ามาเยอะแล้วในขณะนี้ บริษัทจึงพิจารณา เตรียมเพิ่มเที่ยวบิน กรุงเทพ- เชียงใหม่ จากปัจจุบัน 5 ไฟล์ท ให้เป็น 8 ไฟล์ท ต่อสัปดาห์ เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่กลุ่มสายการบินโลว์คอสต์ยังไม่สามารถแก้ไขได้ แม้มีกำหนดเปิดให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิอย่างแน่นอนแล้วในวันที่ 29 กันยายนนี้ คือเรื่องของปัญหาระบบไอทีการลำเลียงกระเป๋าผู้โดยสาร ซึ่งยังไม่สามารถตกลงกับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย(ทอท.) ได้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร เพราะระบบใหม่ไม่สามารถอ่านบาร์โค้ดของโลว์คอสต์แอร์ไลน์ได้ ซึ่งในวันที่ซ้อมบินเชิงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ในกลุ่มของสายการบินโลว์คอสต์ยังต้องใช้ระบบมือในการขนกระเป๋าผู้โดยสาร
ขณะเดียวกัน ในส่วนของโลว์คอสต์เทอร์มินัล หรืออาคารผู้โดยสารสำหรับสายการบินโลว์คอสต์ ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการสร้างได้แน่นอนหรือไม่อย่างไร เพราะแม้ว่าบอร์ด ทอท.จะมีมติให้ก่อสร้างได้ แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กลับไม่เห็นด้วยกับการสร้างอาคารพักผู้โดยสารหลังใหม่ขึ้นมาเพื่อรับผู้โดยสารที่ใช้บริการสายการบินโลว์คอสต์ ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการกลุ่มสายการบินโลว์คอสต์ ต่างไม่ได้ข้อยุติจากปัญหาดังกล่าว เพราะทั้งหมดต้องรอนโยบายจากภาครัฐ
นอกจากนั้นในส่วนของแผนการย้ายออฟฟิศของสายการบินต่างๆก็ยังไม่ได้รับการยืนยันหรือได้รับแผนงานที่ชัดเจนจากทางภาครัฐ เพื่อที่จะสามารถวางแผนงานได้อย่างละเอียด สิ่งต่างๆเหล่านี้ ถือเป็นปัญหาที่ยังส่งผลให้การเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิอาจจะยังไม่สมบูรณ์เท่าที่ควร ซึ่งยังไม่นับปัญหาอื่นอีกมากที่ยังไม่ชัดเจนในหลายเรื่องที่จะตามมาในอนาคตด้วย
ออกบัตรCFU ขยายฐานลูกค้า
นางสาวมนัสนันท์กล่าวว่า สำหรับในส่วนของแผนการตลาดครึ่งปีหลังจากนี้ไป บริษัทฯจะเน้นให้ความสำคัญกับการทำตลาดเส้นทางในประเทศเพิ่มมากขึ้น ตั้งเป้าใช้งบประมาณส่วนนี้ไว้ที่ 8-10% ของรายได้ จากปีก่อนจะใช้งบการตลาดเพียง 5-6% ของรายได้เท่านั้น โดยจะใช้ทำกิจกรรม บีโลว์เดอะไลน์ เน้นเข้าตรงถึงตัวลูกค้าเป้าหมาย และการเพิ่มเส้นทางบินใหม่ๆที่เล็งไว้และเตรียมที่จะเปิด ได้แก่ พิษณุโลก กระบี่ และ นครศรีธรรมราช
นอกจากนั้นยังขยายช่องทางจำหน่ายตั๋วและนำเสนอสินค้าใหม่ ให้ครอบคลุม แต่ละกลุ่มเป้าหมาย เป็นการขยายฐานลูกค้า ล่าสุดในวันที่ 16 สิงหาคม 49 บริษัทเตรียมเปิดตัว บัตร CFU การ์ด โดยบัตรนี้จะจับ 3 กลุ่มลูกค้าหลัก ได้แก่ คอร์ปอเรท ครอบครัว และกลุ่มมหาลัย ซึ่งในที่นี้ จะรวมทั้งอาจารย์ นิสิต นักศึกษา และเจ้าหน้าที่ของสถาบันการศึกษา
“CFU การ์ด เป็น บัตรสมาชิก ที่ไม่ระบุชื่อผู้ถือ เพียงแต่แสดงบัตรประจำตัวขององค์กรที่สังกัดอยู่ก็สามารถมีสิทธิ์ใช้บริการได้ ส่วนราคาสมาชิก CFU การ์ด จะอยู่ที่ ใบละ 17,000-19,500 บาท แล้วแต่จังหวัดที่จะเดินทางไป บัตรมีอายุ 1 ปี โดยบัตรหนึ่งใบจะเป็นราคาสำหรับ 10 เที่ยว แต่สามารถเดินทางได้ 11 เที่ยว ตรงนี้จึงถือเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่ง ของการมอบความสะดวกให้ลูกค้า โดยไม่ต้องเสียเวลาสะสมไมล์ ตั้งเป้ายอดจำหน่ายเดือนแรกไว้ที่ 500-1,000 ใบ”
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ บริษัทได้เปิดตัว “Ticket to Go” ตั๋วโดยสารสะดวกซื้อ มีจำหน่ายที่ร้านสะดวกซื้อ เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น , บลิสเทลชอป ,ไทยทิกเก็ต มาสเตอร์ ,เจมาร์ท และเตรียมขยายไปที่ร้าน ไอโมบาย ส่วนอนาคตเตรียมเจรจาเปิดจำหน่ายที่ธนาคาร ซึ่งตรงนี้ ช่วยให้ วัน-ทู-โก มียอดจองตั๋วโดยสารล่วงหน้าเพิ่มขึ้นมาเป็น 10-20% จากเดิมที่ยอดจองล่วงหน้าของ วัน-ทู-โก จะมีไม่ถึง 5% ทั้งนี้เพราะ เราเป็นสายการบินโลว์คอสต์ที่ขายตั๋วโดยสารราคาเดียวทุกที่นั่ง และไม่คิดค่าบริการกรณีเปลี่ยนแปลงวันเดินทาง จึงไม่ค่อยมีลูกค้าจองล่วงหน้า
ดันวัน-ทู-โก สร้างรายได้หลัก
นางสาวมนัสนันท์ กล่าวอีกว่า ในช่วง 1 ปีนับจากนี้ไป บริษัทฯจะสร้างฐานตลาดเส้นทางในประเทศให้แข็งแกร่งก่อน เพราะเห็นว่ากำลังซื้อตลาดในประเทศยังมีอยู่สูง และมีอีกหลายเดสสิเนชั่นที่น่าสนใจไปเปิดเส้นทางบินใหม่ๆ โดยครึ่งปีหลังคาดผลประกอบการจะโตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนราว 40% ขณะที่ผลประกอบการรวมทั้งปีนี้น่าจะอยู่ที่ 4,200 ล้านบาท ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยแบ่งเป็น 40% เป็นรายได้จาก วัน-ทู-โก อีก 60% เป็นรายได้จากโอเรียนท์ไทย ซึ่งบินในเส้นทางต่างประเทศ
แต่ปีหน้า คาดว่า รายได้จาก วัน-ทู-โก จะเพิ่มสัดส่วนเป็น 60% และโอเรียนท์ไทยจะเป็น 40% เพราะบริษัทมีแผนขยายเส้นทางบินในประเทศอีกหลายเส้นทาง ล่าสุด เมื่อ กลางเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา เปิดเส้นทางบิน กรุงเทพ-ขอนแก่น ซึ่งตลาดตอบรับดี ซึ่งเราขอเป็นสายการบินที่เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสาร เพราะเส้นทางดังกล่าวมีการบินไทยเพียงรายเดียวที่บินอยู่ โดยราคา วัน-ทู-โกจะถูกกว่า การบินไทยประมาณ 400-500 บาทต่อเที่ยว
ปัจจุบัน โอเรียท์ไทย บินใน 2 ประเทศคือเกาหลีใต้ และ ฮ่องกง ส่วนการขยายเส้นทางไปประเทศอื่นอยู่ระหว่างการพิจารณา เพราะต้องรอความพร้อมของฝูงบิน ที่จะเริ่มทยอยเข้ามาในสิ้นปีนี้ตามคำสั่งซื้อ และเช่าซื้อ อีกทั้งต้องมั่นใจในพันธมิตรทางการค้าก่อนลงทุน ส่วนเส้นทางในประเทศ บริษัทค่อนข้างมั่นใจจากผลตอบรับของลูกค้า ปัจจุบัน วัน-ทู-โก มีอัตราผู้โดยสารเฉลี่ยต่อเที่ยว ราว 85% จาก 5 เดสติเนชั่น รวม 13 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ซึ่งบินออกจากกรุงเทพ ไปยัง เชียงใหม่ ภูเก็ต ขอนแก่น หาดใหญ่ เชียงราย และสุราษฎร์ธานี
|
|
 |
|
|