|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
อินเด็กซ์ฯ รับมือคู่แข่ง "กลุ่มอิเกีย" ยักษ์ใหญ่ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จากยุโรปเข้ามาตีตลาดในไทย เร่งสร้างเกาะป้องกันสินค้าแบรนด์วินเนอร์ ที่ชนเต็มๆ กับกลุ่มอิเกีย ที่มุ่งลูกค้าระดับแมส เดินหน้าตอกย้ำแบรนด์วินเนอร์-เพิ่มเครือข่ายสาขาให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้า ด้านบิ๊กอินเด็กซ์ฯ ชี้ผลเปิดเอฟทีเอไทย-จีน ทำให้ยอดส่งออกท่อนไม้ยางพาราไปจีน-เวียดนามสูงขึ้น เหตุขายได้ราคาดี
นายกิจจา ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด เปิดเผยถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดจากการเปิดเขตการค้าเสรีกับประเทศจีน (FTA) ว่า ได้มีผู้ประกอบการโรงเลื่อยหันไปส่งออกไม้ยางพาราในรูปแบบไม้ท่อนมากขึ้น ขณะที่จำนวนการผลิตไม้ยางพาราแปรรูปขายในประเทศเริ่มลดลง เนื่องจากการส่งออกไม้ท่อนมีต้นทุนต่ำกว่า โดยการส่งออกส่วนใหญ่จะไปประเทศจีนและเวียดนาม ทำให้ราคาไม้ยางพาราปรับสูงขึ้น 10-15%
นอกจากนี้ ตลาดเฟอร์นิเจอร์ในไทยได้รับผลกระทบจากสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลง และแม้ต้นทุนวัตถุดิบจะสูงขึ้นจากปัจจัยทางด้านราคาน้ำมัน แต่ผู้ประกอบการไม่อยู่ในฐานะที่จะปรับราคาขายได้ เนื่องจากสภาพตลาดรวมไม่เอื้ออำนวยต่อการปรับราคา ซึ่งทางสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องเรือนไทย ได้มีการหารือในการแก้ไขปัญหา โดยเปลี่ยนวัตถุดิบประเภทไม้ในการผลิต โดยจะหันไปสั่งนำเข้าไม้จากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าเข้ามาทดแทนไม้ยางพารา อาทิ ไม้บีช, ไม้โอ๊ค และไม้เมเปิล ซึ่งแหล่งผลิตหลักอยู่ในประเทศยุโปรและอเมริกาฯ
"บริษัทยังไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าไม้ชนิดอื่นมาผลิตเฟอร์นิเจอร์แทนไม้ยางพารา เนื่องจากลูกค้ายังนิยมเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้ยางพารา ราคาไม้ยางพารายังไม่ปรับสูงขึ้น แต่หากในอนาคตราคาไม้ยางพาราขยับสูงขึ้น บริษัทอาจนำเข้าไม้ชนิดอื่นแทน ที่ผ่านมา บริษัทมีการนำเข้าไม้โอ๊ก ไม้บิชมาเป็นส่วนประกอบ หรือห่อหุ้มเฟอร์นิเจอร์" นายกิจจากล่าว
เสริมฐานสาขา-สร้างแบรนด์วินเนอร์รับมือยักษ์ใหญ่ 'อิเกีย' บุกตลาดไทย
นายขวัญชัย กิจก้องขรจชัย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโสฝ่ายการตลาดบริษัท กล่าวถึงการเข้ามาทำตลาดของยักษ์ใหญ่ในธุรกิจเฟอร์นิเจอร์จากประเทศสวีเดนภายใต้ชื่อกลุ่มบริษัท อิเกีย นั้น คาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อฐานของบริษัทอินเด็กซ์ฯ เนื่องจากมีความแตกต่างในเรื่องของกลุ่มลูกค้า โดยตลาดหลักของกลุ่มอิเกีย จะเป็นตลาด Bบวก และ C ขณะที่กลุ่มลูกค้าของอินเด็กซ์ฯ จะเป็นกลุ่มลูกค้า Bบวก ขึ้นไป นอกจากนั้นความหลากหลายของสินค้าอินเด็กซ์ฯ ยังได้เปรียบคู่แข่งอยู่มาก
อย่างไรก็ตาม สินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากการเข้าทุ่มตลาดของกลุ่มอิเกีย คือตลาด Bลบ ลงมา ซึ่งแน่นอนกลุ่มดังกล่าวจะชนกับตลาดของแบรนด์วินเนอร์ (ที่ทำตลาดระดับแมส) และผู้ประกอบการรายเล็กทั่วไป ทั้งนี้ บริษัทได้เร่งสร้างความพร้อมเพื่อรับมือการเข้ามาของคู่แข่ง โดยกำหนดแนวทางที่จะสร้างการรับรู้ในแบรนด์ผ่านการจัดกิจกรรมทางตลาด เพิ่มปริมาณสาขาแบรนด์วินเนอร์เฟอร์นิเจอร์ เพื่อให้มีเครือข่ายที่ครอบคลุมกับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยได้เพิ่มสาขาแบรนด์วินเนอร์ไปแล้ว 5 สาขา ประกอบด้วย สาขาปิ่นเกล้า พระราม3, ท่าพระ, บางใหญ่, เชียงใหม่ และเซ็นทรัลทาวเวอร์ เฉลี่ยใช้งบลงทุนต่อสาขาประมาณ 10 ล้านบาท และมีแผนเปิดสาขาเพิ่มอย่างน้อย 2 สาขาในปี 49 นี้ ประกอบด้วย สาขาพระราม2, พิษณุโลก และอุบลราชธานี ซึ่งส่วนใหญ่สาขาใหม่ของแบรนด์วินเนอร์ จะผูกติดแบรนด์อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ ในขณะเดียวกันก็จะมีการเปิดเพิ่มในส่วนของห้างสรรพสินค้าอื่นๆ ด้วย
"เป็นเรื่องที่ดีกับการเข้ามาทำตลาดในไทยของกลุ่มอิเกีย จะช่วยกระตุ้นให้ตลาดขยายใหญ่มากขึ้น ซึ่งบริษัทไม่ได้มองว่าอิเกียเป็นคู่แข่ง แต่เห็นว่าเป็นบริษัทพันธมิตรทางการค้า เนื่องจากอิเกียเป็นผู้ประกอบการรายหนึ่งที่สั่งซื้อชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์จากบริษัท และไม่กังวลหากกลุ่มอิเกียจะลดการสั่งสินค้าหรือสั่งสินค้าเพิ่มจากบริษัทก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะบริษัทได้เริ่มขยายตลาดไว้รองรับแล้ว" นายขวัญชัยกล่าวและชี้ว่า
สินค้าของกลุ่มอิเกีย ยังมีจุดอ่อนในเรื่องของการผลิตสินค้า เนื่องจากเป็นการสั่งซื้อชิ้นส่วนเพื่อประกอบขาย และทำตลาดในตลาดระดับล่าง ถนัดทำเฟอร์นิเจอร์แบบอายุใช้งานสั้น เนื่องจากคุ้นเคยกับรูปแบบการใช้เฟอร์นิเจอร์ในตลาดยุโรปและอเมริกา ที่ผู้บริโภคนิยมใช้เฟอร์นิเจอร์แบบชั่วคราว เมื่อมีรายได้สูงขึ้นก็จะเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ใหม่ แต่พฤติกรรมการใช้เฟอร์นิเจอร์ในไทยแตกต่างออกไป เพราะลูกค้าไทยเน้นสินค้าที่มีอายุการใช้งานระยะยาว
|
|
 |
|
|