ปัญหาทางเศรษฐกิจจำนวนมากที่รุมเร้ารัฐบาลรักษาการ บรรหาร ศิลปอาชา ในเวลานี้ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ไขได้ในระยะเวลาสั้น
ๆ และรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาครองอำนาจต่อนั้น ก็ยังไม่เห็นทิศทางชัดเจนว่าจะมีความจริงจังอย่างไรในการแก้ปัญหา
ภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ในปีนี้ทำให้สามารถคาดหมายได้ว่า ในปีหน้าสถานการณ์ไม่อาจจะดีกว่าปีนี้ไปสักเท่าใด
หลายสำนักเศรษฐกิจคาดหมายตัวเลขการเติบโตลดลง การตกต่ำขนาดหลักของราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่มีวี่แววว่าจะฟื้นตัวได้ง่าย
ๆ เพราะผลประกอบการของบริษัทในตลาดก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อมองดูหุ้นที่ติดเครื่องหมาย
C 13 ตัวแล้วจึงยากที่จะมีความหวังว่าบริษัทเหล่านี้จะมีทางรอด มีแต่หุ้นกลุ่มนี้จะได้ต้อนรับสมาชิกใหม่เพิ่มจำนวนขึ้นเท่านั้น
!!
เศรษฐกิจตกต่ำ ไร้คนแก้ไข
นอกจากภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศเป็นเวลากว่าปีและไม่มีทีท่าว่าจะได้รับการแก้ไขเยียวยาจากภาครัฐบาล
ราคาหุ้นและดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทรุดฮวบลงทุกวันด้วยข่าวร้ายสารพัดชนิดที่ยากจะคาดเดากันได้
เป็นภาวะเลวร้ายในรอบหลายปีที่ตลาดหลักทรัพย์และนักลงทุนไทยได้เคยเผชิญ ปัญหาทางเศรษฐกิจต่าง
ๆ ที่ก่อรูปมาก่อนหน้านี้หลายปีค่อยปรากฎตัวขึ้น การขยายการลงทุนหลายโครงการไม่สามารถสร้างผลตอบแทนตามที่มีการคาดหมายได้
ปัญหาเฉพาะหน้าทางเศรษฐกิจที่ประเทศเผชิญอยู่ในเวลานี้ ในสายตาของนักลงทุนต่างประเทศมี
3 เรื่องสำคัญ คือ เรื่องการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด การพึ่งพิงการไหลเข้าของเงินทุนระยะสั้นมากเกินไป
และอัตราเงินเฟ้อที่สูง ปัญหาประการที่สอง เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้สถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูด้ส์
ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยลง 1 ขั้น นอกจากนี้ประเทศไทยยังเผชิญกับข่าวลือเรื่องลดค่าเงินบาทเป็นระลอก
ๆ เรียกว่า เป็นข่าวลือประจำปีก็ว่าได้
ดร.นิมิต นนทพันธาวาทย์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
กล่าวไว้ว่า "ปี 2539 เป็นปีแห่งความยุ่งยากของประเทศไทย ในขณะที่รัฐบาลและข้าราชการประจำมีขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาน้อยมาก
เศรษฐกิจกลับมีปัญหามากมาย ผลที่เกิดขึ้น คือ อัตราการขยายตัวของมูลค่าส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำสุดในรอบ
10 ปี"
ทั้งนี้ ดร.นิมิต คาดหมายไว้ด้วยว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจในปีนี้ค่อนข้างแย่
อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับร้อยละ 7.16 การส่งออกขยายตัวร้อยละ
5.66 การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 7.02 อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับร้อยละ 6.06 และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อ
GDP คิดเป็นร้อยละ 8.20
การที่อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงมาก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดยังอยู่ในระดับสูงเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขันของสินค้าระดับล่าง
(Low-end Products) ของไทยในตลาดโลก เนื่องจากมีผู้ผลิตในยุโรปตะวันออก เอเชียอาคเนย์และเอเชียใต้
สามารถผลิตได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่า นอกจากนี้ ภาวะการเมืองที่ไม่มั่นคงตลอดปีที่ผ่านมา
และการใช้มาตรการทางการเงินที่ค่อนข้างรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ
และการเงินของประเทศอย่างมาก เพราะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น และกระทบกระเทือนต่อการดำเนินธุรกิจ
เขาให้ความเห็นว่า การที่รัฐบาลได้ใช้จ่ายงบประมาณในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานไปเป็นเงินจำนวนมาก
ก็เป็นปัจจัยที่ช่วยให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ไม่มีตัวเลขที่แย่ไปกว่านี้
หากไม่มีการใช้จ่ายจากภาครัฐ อัตราการเติบโต อาจจะทำได้แค่ 6% แทนที่จะเป็น
7.16% ซึ่งเท่ากับว่าการใช้จ่ายภาครัฐจะยังเป็นตัวกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อไปในปีหน้าด้วย
ทั้งนี้ตามแผนฯ 8 นั้น ภาครัฐจะมีการใช้จ่ายเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่าถึง
2 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ดี ดร.นิมิตรก็มีแนวคิดที่มองโลกในแง่ดี โดยมีความเชื่อว่า รัฐบาลใหม่ต้องดำเนินการสรรหาผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ในที่สุด
โดยมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ คือ
- ให้เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก โดยการลงทุนมากขึ้นในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
และด้านการวิจัยและพัฒนาในการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารในธุรกิจต่าง ๆ
ของธนาคารกรุงเทพ พบว่า ธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กมีปัญหามากในการที่จะขยับขึ้นไปผลิตสินค้าในระดับที่สูงขึ้น
- การใช้นโยบายการเงินการคลังแบบเข้มงวดยังจำเป็นต้องดำเนินต่อไป หากประเทศไทยต้องการลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลงให้เหลือร้อยละ
3.5 ของ GDP ให้ได้ในปี 2543 ตามเป้าหมายในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่
8 ต้องมีการควบคุมการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการคัดสรรโครงการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน
ขณะเดียวกันก็ต้องหามาตรการที่จะบังคับให้เกิดการออมมากขึ้น
- ประเทศไทยจำเป็นต้องลดการพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศสำหรับธุรกรรมที่ไม่เกี่ยวกับการส่งออกหรือการทดแทนการนำเข้า
ท้งนี้อาจกระทำได้โดยการเชื่อมโยงการใช้เงินทุนต่างประเทศกับธุรกรรม ที่จะก่อให้เกิดรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศหรือที่จะช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศ
ตลาดหุ้นกู่ไม่กลับ ยังไม่เห็นทางฟื้น
ภาวะตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาสสุดท้ายปีนี้แม้ไม่ต้องคาดหมายมากก็เห็นทิศทางแนวโน้มชัดเจน
หลายคนกล่าวว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 พฤศจิกายน น่าจะทำให้กระแสเงินสะพัดขึ้นมาบ้างสักเล็กน้อย
ตัวเลขที่เห็นชัดเจนในเวลานี้ก็มีงบประมาณของกระทรวงมหาดไทยและองค์กรกลางมูลค่า
800 ล้านบาทที่ใช้ในการจัดการและควบคุมดูแลการเลือกตั้งส่วนงบ นอกจากนี้
แม้จะเกิดหรือไม่ก็ตามกระแสเงินเหล่านี้ไม่มีความหมายอะไรต่อเศรษฐกิจไทย
ว่าไปแล้วข่าวร้ายที่มีผลต่อตลาดหลักทรัพย์ไทยเวลานี้ก็เป็นข่าวร้ายแบบสุด
ๆ แล้ว รวมถึงเรื่องการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลาออกจากตำแหน่งอย่างฉับพลัน
ทั้งที่ก็มีเวลาเหลืออยู่ในตำแหน่งอีกไม่นานนัก หากจะมีข่าวร้ายอีกก็อาจจะเป็นการลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ
หรือ sovereign risk ซึ่งจุดนี้ยังเป็นข่าวลืออยู่มาก และประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะปรับลดกันในเวลาสั้น
ๆ ข่าวร้ายอีกเรื่องคือ เรื่องการลดค่าเงินบาท หรือ devaluation ซึ่งระดับบริหารในตลาดทุนตลาดเงินหลายท่านต่างมองว่า
จะเกิดได้ยาก เพราะการลดค่าเงินจะช่วยแก้ปัญหาบางจุดเฉพาะหน้า แต่จะทิ้งปัญหาจำนวนมากที่เป็นลักษณะระยะยาวไว้กับระบบเศรษฐกิจไทย
อย่างไรก็ดี ข่าวร้ายที่หลายฝ่ายต่างใจจดใจจ่อรอฟัง คือ การประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส
3 ของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีกำหนดประกาศภายใน 45 วันหลังปิดงบสิ้นเดือนกันยายนสำหรับบริษัทที่ไม่ได้ขออนุญาตเป็นกรณีพิเศษ
ทั้งนี้ เริ่มมีการตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับราคาหุ้นหากบริษัทใดประกาศผลประกอบการที่ไม่ดีมาก
ๆ ออกมาโดยเฉพาะกิจการแบงก์และไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายมากที่สุดในแต่ละวัน
นักลงทุนไทยและเทศต่างรอคอยตัวเลขนี้อยู่
สมาคมเงินทุนถึงกับขอร้องสมาชิกที่เป็นบริษัทจดทะเบียนให้เปิดเผยผลการดำเนินงานในเวลาเดียวกัน
เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะมีต่อราคาหุ้นของบริษัทที่ประกาศผลการดำเนินงานหลังรายอื่น
ๆ ที่ผ่านมา หากมีบริษัทแรก ๆ ที่ประกาศผลการดำเนินงานแย่ บริษัทที่ประกาศผลการดำเนินงานในภายหลัง
แม้จะดี ราคาหุ้นก็ตกไปแล้ว
ส่วนธนาคารนั้น เมื่อไตรมาส 2 ก็มีนักวิเคราะห์จากโบรกเกอร์บางรายแกะงบออกมา
และส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในทันที
ธนาคารหลายแห่งอาจเจอปัญหาภาระหนี้เสียทำให้ต้องมีการตั้งสำรองเพิ่ม อย่างไรก็ดี
ก่อนหน้านี้ก็มีความเชื่อเช่นนี้เกิดขึ้นเพราะปัญหาการตามเก็บหนี้ไม่ได้
และความเสี่ยงที่จะเกิดการล้มละลายในกิจการของลูกค้าบางราย เช่น อสังหาริมทรัพย์
กิจการของใช้ในครัวเรือน ซึ่งหลายแห่งก็เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ขนาดสถาบันการเงินที่มีความมั่นคงสูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ในประเทศนี้เพราะได้รับการโอบอุ้มดูแลจากทางการเป็นอย่างดี
ยังมีความกังวลในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมากเช่นนี้ สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีสถานะติดเครื่องหมาย
C ซึ่งหมายถึงบริษัทอู่ในข่ายอาจถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน
ซึ่งในตอนนี้มีอยู่รวม 13 บริษัท
นักลงทุนอาจจะไม่สนใจบริษัทเหล่านี้มากนัก เพราะเป็นบริษัทที่มีการเคลื่อนไหวด้านราคาหุ้นน้อยมากหรือแทบไม่มีการเคลื่อนไหวในบางบริษัทด้วยซ้ำนั้น
ปัญหาที่เกิดกับบริษัทเหล่านี้ส่วนมากมาจากการบริหารงานที่ผิดพลาด การตลาดผิดพลาด
แต่ในบางกรณีก็ไม่ทราบว่าผุ้ถือหุ้นรายใหญ่และบริษัทที่ปรึกษาทำอะไรกับหุ้นตัวนั้นบ้าง
สำหรับกรณีของบริษัทครอสเตียนี และนีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ
CNT นั้น เป็นกรณีที่มีคนให้ความสนใจเป็นพิเศษ เพราะบริษัทนี้เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่
มีกลุ่มผู้ถือหุ้นที่เข้มแข็ง และเมื่อดูงบการเงินแล้ว ปรากฏว่าบริษัทมีอัตราการเติบโตที่ดีของยอดขาย
แต่กลับมีอัตรากำไรเบื้องต้นตกต่ำและมีผลการดำเนินงานขาดทุน ซึ่งสะท้อนชัดเจนว่า
บริษัทมีปัญหาหลักในเรื่องการบริหารและการเงิน
ที่ปรึกษาทางการเงิน และเป็นผู้จัดทำแผนฟื้นฟูให้บริษัท ซึ่งคือ บงล.ธนชาติ
เปิดเผยกับ "ผู้จัดการรายเดือน" อย่างละเอียดเกี่ยวกับที่มาของปัญหาทั้งมวล
แนวทางแก้ไขหลัก ๆ ทำให้คาดหมายผลในแง่บวกหลังแผนฟื้นฟูจบสิ้นในอีก 1 ปีข้างหน้าได้
อย่างไรก็ดี สำหรับบริษัทอื่น ๆ เช่น บริษัท ภัทราเซรามิก จำกัด (มหาชน)
หรือ PATRA ได้ยื่นแสดงความจำนงขอถอนหลักทรัพย์ของบบริษัทออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียน
โดยสมัครใจตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาแล้ว บริษัทฯ มีผลดำเนินงานขาดทุนติดต่อกัน
4 ปีเต็ม
อีกหลายบริษัทมีสินทรัพย์ที่มีตัวตนสุทธิติดลบ และทั้ง 12 แห่งที่เหลือมองไม่เห็นอนาคตว่า
จะฟื้นฟูกิจการได้ ส่วนความคิดที่ว่าจะขายกิจการให้ผู้อื่นมารับภาระต่อในยามนี้ก็เป็นหนทางที่ยากมาก
นอกจากบริษัททั้ง 13 รายที่ติดเครื่องหมาย C ในปีนี้แล้ว ปีหน้าคาดได้ว่าจะมีสมาชิกเข้าร่วมอีกไม่น้อย
แหล่งข่าวผู้บริหารกองทุนท่านหนึ่ง เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาทางการเงินของบริษัท
เอสทีเอ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ที่ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้ได้ว่า นี่เป็นแค่ตัวอย่างปัญหาที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเท่านั้น
ซึ่งตัวอย่างเช่นนี้คาดว่าจะได้เห็นกันแค่ 1 ใน 3 ของกรณีที่เกิดขึ้นทั้งหมดในระบบเศรษฐกิจไทยในช่วงนี้
ข่าว CNT ขาดทุน ช็อควงการ
ข่าวของการขาดทุนสูงถึง 2,236 ล้านบาทในช่วงครึ่งปีแรกของ บริษัทคริสเตียนนี
และนีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นเรื่องที่ "ช็อค" ความรู้สึกของคนในวงการก่อสร้าง
โดยเฉพาะสั่นคลอนความรู้สึกของผู้ถือหุ้นอย่างหนัก เพราะมันหมายถึงว่าบริษัทมีสิทธิถูกถอนจากการเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
เกิดอะไรขึ้o ? ในบริษัทคริสเตียนี (CNT) บริษัทรับเหมาก่อสร้างที่มีอายุนานกว่า
92 ปี มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลก มีกลุ่มบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยทั้งนั้นที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
บริษัทจะฝ่าฟันอุปสรรครั้งนี้ได้หรือไม่ ?
คือ คำถามที่เกิดขึ้น โดยมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติที่เข้ามารับผิดชอบในการจัดทำแผนฟื้นฟูต้องหาคำตอบและต้องหาวิธีการให้
CNT ดำเนินการอยู่ได้ในการทำธุรกิจ และคงสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ด้วย
สิ่งที่ CNT ต้องเร่งดำเนินการตามกฎเกณฑ์ของตลาดฯ ก็คือ การจัดทำแผนฟื้นฟูส่งให้คณะกรรมการของตลาดหลักทรัพย์ฯ
พิจารณาเพื่อดำรงสถานะการเป็นบริษัทจดทะเบียนต่อไป และภายหลังจากการเลื่อนการส่งแผนฟื้นฟูมาถึง
2 ครั้ง CNT ก็ได้ฤกษ์ส่งแผนฟื้นฟูบริษัทถึงมือของตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่
16 กันยายน 2539 ด้วยความช่วยเหลือของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ ที่ปรึกษาทางการเงินซึ่งเป็นผู้ชักนำ
CNT เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อปี 2534
ประมวลปัญหา CNT
สุเมธ ดำรงชัยธรรม และระพีพัฒน์ สวนศิลป์พงศ์ สองผู้จัดการหนุ่ม ฝ่ายวาณิชธนกิจ
บงล.ธนชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบ การจัดทำแผนฟื้นฟูเปิดใจกับ "ผู้จัดการรายเดือน"
ว่า ใน CNT มีปัญหาหลักอยู่สองเรื่องด้วยกัน คือ การจัดการภายในของบริษัท
(OPERATION) และอีกเรื่องคือ ปัญหาทางการเงิน แต่วาณิชธนากรหนุ่มทั้งสองย้ำว่า
ปัญหาสำคัญที่สุดก็คือ เรื่องการเงิน
"เรื่อง OPERATION มีปัญหาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปัญหาทางการเงิน ตัว
CNT เองเมื่อพิจารณาในแง่ธุรกิจไม่น่าห่วงอะไร เพราะเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจก่อสร้างซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว
จึงมีงานเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ แต่เรื่องการเงินเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไข
มิฉะนั้นมันจะกระทบกันเป็นลูกโซ่ตามมาอีก" สุเมธกล่าวถึงภาพกว้าง ๆ
ของปัญหา
หากจะมองปัญหาการเงินให้ลึกลงไป ก็จะพบว่าเป็นปัญหาเรื่องหนี้สินที่เกิดจากการเปิดฉากรบทางด้านการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
ในระยะเวลาที่ผ่าน และการเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้บริษัทมีปัญหาในการควบคุมต้นทุนต้องแบกรับหนี้อยู่เป็นจำนวนมากจากการถือครองสินทรัพย์ของบริษัท
และบริษัทย่อยบางส่วนยังไม่สามารถสร้างเม็ดเงินให้กับบริษัทได้ รวมไปถึงการลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนประเภทงานที่อยู่ระหว่างดำเนินงาน
(WORK IN PROCESS) และงานรอส่งมอบ
รวมทั้งหนี้ที่เกิดจากบริษัทย่อยเรียกเก็บเงินจากบริษัทลูกค้าไม่ได้ด้ย
ส่งผลให้สิ้นปี 2538 CNT มีลูกหนี้บริษัทย่อยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศประมาณ
25 บริษัทเป็นจำนวนเงินถึง 1,655 ล้านบาท มียอดดอกเบี้ยจ่ายทั้งสิ้น 398
ล้านบาท
"เรื่องงานระหว่างทำและงานระหว่างส่งมอบเป็นเรื่องปกติของธุรกิจก่อสร้างที่เป็นปัญหามากก็คือเราต้องเอาเงินไปจมกับสินทรัพย์บริษัทลูกซึ่งจริง
ๆ ไม่ได้สร้างผลขาดทุนโดยตรง แต่ว่าการที่เราต้องลงทุนในตัวนี้ก็ทำให้เราต้องหาเงินมาลงทุนซึ่งส่วนใหญ่เราต้องหาเงินมาลงทุนซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นหนี้
มันก็เลยกระทบให้มีดอกเบี้ยจ่ายสูงตามไปด้วย" ระพีพัฒน์ อธิบายตรงจุดนี้
ธุรกิจที่เป็นปัญหาสำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อยอดหนี้รวมของบริษัทและดอกเบี้ยจ่ายที่สูงก็คือ
บริษัทโนเบิลเคลียร์ จีเอ็ม บีเอช จำกัด บริษัทลูกในประเทศเยอรมนี ซึ่งนอกจากจะต้องใช้เงินลงทุนมากในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่โนเบิลเคลียร์ดำเนินงานอยู่แล้ว
CNT ยังปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทนี้อีกด้วย ตลอดรวมถึงการต้องรับรู้ผลขาดทุนของโนเบิลเคลียร์ตามสัดส่วนที่ถือหุ้นอยู่
80% ซึ่งรับรู้ผลขาดทุนเข้ามาถึง 1,045 ล้านบาท
ส่วนปัญหาในเรื่องการเรียกเก็บหนี้ไม่ได้นั้น เกิดจากระบบควบคุมภายในที่ค่อนข้างหละหลวม
ไม่มีประสิทธิภาพ
"ตัวอย่างง่าย ๆ งานบางอย่างมีการแก้ไขกัน เช่น เปลี่ยนจากบันไดทางตรงเป็นทางเลี้ยว
ทีนี้งานก่อสร้างบางครั้งมันต้องเร่ง ทำให้ตกลงกันแต่เพียงคำพูดแต่งานเอกสารที่จะให้ลูกค้าเซ็นรับทราบเรื่องแก้ไขก็ไม่ได้ทำ
ดังนั้นพอตอนเรียกเก็บเงินที่เพิ่มจากส่วนที่เปลี่ยนแปลง ลูกค้าก็ไม่ยอม
เอกสารก็ไม่มียืนยันเลยเกิดปัญหาขึ้น" แหล่งข่าวรายหนึ่งใน CNT อธิบายในเรื่องนี้
การละเลยในเรื่องของเอกสารเพราะเห็นว่าเป็นบริษัทในเครือ หรือลูกค้าเก่าแก่ที่สนิทสนมกัน
ร่วมงานมานานจนเรียกเก็บหนี้ไม่ได้ สร้างความปวดหัวให้เกิดกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างรายอื่น
ๆ เช่นกัน และเป็นจุดหนึ่งที่ทาง บงล.ธนชาติ ย้ำให้ CNT เข้มงวดในเรื่องนี้เป็นพิเศษเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีก
ถ้าหากเรามองย้อนเข้าไปในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2-3 ปีนี้ จะเห็นได้ว่า
ตลาดซบเซาลงมากนักลงทุนหลายรายไม่สามารถสร้างยอดขายเพิ่มขึ้นได้ ในขณะที่การก่อสร้างก็จำเป็นต้องเดินหน้าบางโครงการสถาบันการเงินหยุดให้เงินกลางคัน
ดังนั้นแน่นอนว่าเจ้าของโครงการก็ต้องมีปัญหาในการจ่ายเงิน ถึงแม้จะมีเอกสารยืนยันชัดเจนก็ตาม
ปัจจุบัน CNT มีโครงการที่กำลังทำการก่อสร้างในประเทศไทย 53 โครงการ และโครงการในต่างประเทศประมาณ
15 โครงการ
แม้เรียกเก็บหนี้ยังไม่ได้ แต่ว่าการรับรู้รายได้ตามระบบบัญชีก็ได้ทำไปแล้ว
เนื่องจากงานก่อสร้างเป็นการรับรู้รายได้ตามสัดส่วนการทำงานสำเร็จ (PERCENTAGE
OF COMPLETION) ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกคือ การรับรู้รายได้เกินจริงทางบัญชี
(OVER BOOKING)
ดังนั้น จึงต้องมีการปรับปรุงยอดรายได้ในส่วนนี้ด้วยการตัดออกเป็นค่าใช้จ่ายซึ่งปรากฏรายการขึ้นในงบการเงินครึ่ปงี
2539 ที่ผ่านมาในรายการการลดลงของมูลค่าสินทรัพย์ในกลุ่มบริษัทก่อสร้างไทยและยุโรป
977 ล้านบาท และ 200 ล้านบาท
สุเมธชี้แจงว่า "ต้องยอมตัดยอดลูกหนี้ออกไป ซึ่งเราคิดว่าคงมีแค่ครั้งนี้ครั้งเดียวที่ตัวเลขจะมากขนาดนั้น
แต่จริง ๆ แล้วลูกหนี้บางส่วนเรายังคิดว่าจะสามารถเรียกเก็บได้และเจรจาอยู่
ไม่ใช่ว่าไม่ตามเก็บเลย ถึงที่สุดจริงแล้วก็อาจจะมีการฟ้องร้องกันถึงชั้นศาล"
ลูกหนี้รายใหญ่ของคริสเตียนีที่ไม่ยอมจ่ายหนี้อาจจะเป็นข่าวหน้าหนึ่งในเร็ว
ๆ นี้ก็ได้
มาตรการแก้ปัญหา CNT
ทางด้านการดำเนินภายในบริษัท CNT จำเป็นต้องลดต้นทุนในการดำเนินงานด้วยเช่นกัน
ซึ่ง CNT ได้เริ่มแก้ไขไปก่อนหน้านี้โดยเริ่มจัดการเรื่องแรกที่จำนวนคน
ผลของการขยายงานอย่างมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาของ CNT ทำให้มีความจำเป็นในการจ้างงานตามมา
วิศวกรมือดีทั้งหลายซึ่งเป็นชาวต่างชาติตบเท้าเข้ามาทำงานในบริษัทนี้กันอย่างพรึ่บพรั่บพร้อม
ๆ กับพนักงานระดับทั่วไป เมื่องานขยายคนก็ต้องเพิ่มเป็นเรื่องธรรมดา
แต่เมื่องานลดการปลดคนออกก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก แต่อย่างไรก็ตาม การลดจำนวนพนักงานเป็นเรื่องที่
CNT พยายามทำมาประมาณ 2 ปีแล้ว โดยเฉพาะต้นปีที่ผ่านมานั้น ได้มีการปรับเปลี่ยนพนักงานระดับบริหารครั้งใหญ่
จอนห์ มิลลาร์ด ประธานกรรมการบริหารคนเก่าลาออกไป ดร.สุเทพ พรรณสมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการจากบริษัท
มหิศร ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำกิจการทางด้านพร็อพเพอร์ตี้ ในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์และสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ได้เข้ามานั่งตำแหน่งนี้แทน
"เราต้องลดจำนวนผู้บริหารชาวต่างชาติให้เหลือน้อยที่สุด เพราะเป็นต้นทุนการบริหารที่สูงมาก"
ดร.สุเทพ เคยยืนยันหลักการนี้ตั้งแต่การเข้ามารับตำแหน่งใหม่เมื่อวันที่
3 มกราคม 2539 ดังนั้นในปีนี้พนักงานชาวต่างชาติหลายคนจึงไม่ได้รับการต่อสัญญาในตำแหน่งที่บริษัทสามารถหาคนทดแทนได้ในราคาค่าจ้างที่ถูกกว่า
"ค่าจ้างฝรั่งคนหนึ่ง จ้างคนไทยทำงานได้ตั้งหลายคน" ลูกหม้อเก่าแก่ของคริสเตียนีรายหนึ่งเล่าให้
"ผู้จัดการรายเดือน" ฟัง
นอกจากค่าจ้างของชาวต่างชาติจะสูงแล้วยังเป็นที่รู้กันอีกว่า บริษัทก็ยังมีสวัสดิการที่ดีให้ด้วย
เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน ค่าเรียนหนังสือของลูกและอื่น
ๆ อีกมากมาย ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นทั้งสิ้น
ปัจจุบันในทำเนียบผู้บริหารของบริษัทคริสเตียนี เหลือชาวต่างชาติอยู่เพียง
2 คนเท่านั้น คือ เดวิด สมิทธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายอาวุโสสายงานก่อสร้างเอเชีย
และ ปีเตอร์ เคียร์คีแท็ป ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส และกรรมการผู้จัดการ
ส่วนคนไทยสายเลือดใหม่ที่เข้ามาร่วมงานกับคริสเตียนีพร้อม ๆ กับ ดร.สุเทพ
คือ สุชิน สุขพันธ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสสายงานเทคนิค และสายงานก่อสร้างประเทศไทย
อดีตผู้บริหารบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา ต่อตระกูล ยมนาค บุรินทร์ บริบูรณ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสสายงานพัฒนาอสังหาริมทรัพย์-เอเชีย
อดีตรองกรรมการผู้จัดการบริษัทซิโนไทย อดีตรองกรรมการผู้จัดการบริษัทซิโนไทย
โดยมาเริ่มงานที่นี่เมื่อกลางปี 2538 ส่วนโกรพ อัจฉริยะกุล ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโสสายงานวิศวกรรมเครื่องกลและไฟฟ้า
เพิ่งมาเริ่มงานเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
นอกจากแก้ปัญหาเรื่องคนแล้วยังเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารใหม่ที่สำคัญก็คือ
รวบอำนาจการบริหารมาไว้ที่ส่วนกลางจากเดิมที่เป็นการกระจายอำนาจ โดยส่งผู้บริหารจากส่วนกลางไปดูแลบริษัทลูกในยุโรปด้วย
เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งของ CNT ที่จำเป็นต้องจัดการไปพร้อม ๆ กันก็คือ
เรื่องของการบริหารฐานข้อมูล ตัวเลขทางด้านการจัดการที่ต้องปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจ
ว่ากันว่าระบบฐานข้อมูลของ CNT จะเป็นระบบที่ดีมาก มีตัวเลขและรายละเอียดมากมาย
แต่มีปัญหาตรงที่ว่า ข้อมูลเหล่านั้นไม่อยู่ในลักษณะที่นำมาใช้ได้ทันที ในขณะเดียวกันผู้บริหารระดับตัดสินใจทุบโต๊ะของ
CNT ส่วนใหญ่ก็เป็นวิศวกร ซึ่งต้องการดูข้อมูลที่อ่านทำความเข้าใจได้โดยง่ายมากกว่า
เพราะจะมีเงื่อนไขทางด้านเวลา และพวกเขาไม่ใช่นักบัญชี
ถึงแม้การเงินจะเป็นจุดสำคัญของปัญหา แต่ในเรื่องแก้ไข CNT ต้องทำทั้ง 2
เรื่องไปพร้อมๆ กัน
"เราต้องแก้ทั้ง 2 เรื่องพร้อม ๆ กันเลยทั้งด้านการเงิน และ Operation
เพราะถ้าแก้เรื่องการเงินอย่างเดียวก็จะเกิดวงจรเดิมเข้ามาอีก นั่นคือมีงานที่เรียกเก็บหนี้ไม่ได้
ซึ่งจะกระทบถึงเงินทุนที่ต้องใช้และกระทบมาสู่การไฟแนนซ์ด้วยหนี้ และมีดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มในที่สุด
ยิ่งแก้ปัญหาการเงินได้เร็วเท่าไรก็ยิ่งลดภาระดอกเบี้ยได้เร็วเท่านั้น"
ระพีพัฒน์ย้ำ
ยิ่งไปกว่านั้นการสางปัญหาที่ว่านี้มีข้อจำกัดประการสำคัญ คือ ต้องทำให้บริษัทอยู่รอดในตลาดหลักทรัพย์มิใช่แค่อยู่รอดในธุรกิจเท่านั้น
"ถ้าไม่ติดว่าต้องดำรงสถานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เราอาจจะหาทางแก้ปัญหายังไงก็ได้
เช่น ลดทุนจดทะเบียนซึ่งเป็นเรื่องง่ายกว่าและใช้เงินทุนน้อยกว่า แต่ทำไม่ได้เพราะกระทบผู้ถือหุ้นรายย่อย"
จากข้อจำกัดที่มีอยู่ CNT ได้วางแนวทางสะสางปัญหาทางการเงินซึ่งจะเห็นเป็นรูปธรรมในปีนี้ก็คือ
การลดสัดส่วนถือครองหุ้น การเพิ่มทุนจดทะเบียน และออกหุ้นกู้แปลงสภาพ ร่วมไปกับทะยอยขายสินทรัพย์บางส่วนและปิดบริษัทบางแห่ง
ด้านการลดสัดส่วนในบริษัทโนเบิลเคลียร์นั้น บริษัทไม่ได้ถอนการลงทุนออกมาแต่ใช้วิธีเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทโนเบิลเคลียร์ฯ
จาก 3 แสนหุ้นไปเป็น 1.3 ล้านหุ้น ซึ่งจะขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RIGHT
ISSUE) CNT ในฐานะผู้ถือหุ้นรายเดิมไม่ได้เข้าซื้อหุ้นที่เพิ่มทุนนี้ แต่โอนสิทธิ์ให้กับผู้ซื้อหุ้นรายใหม่ทั้งจำนวน
ดังนั้นจึงเป็นการลดสัดส่วนการถือหุ้นไปโดยปริยาย ทำให้ CNT เหลือสัดส่วนการถือหุ้นโนเบิลเคลียร์เพียง
19% จากเดิม 80%
ด้วยเหตุที่บริษัทที่จะเข้ามาซื้อหุ้นเป็นกลุ่มคนที่เกี่ยวโยงกัน ด้วยว่าเป็นบริษัทจัดตั้งขึ้นใหม่โดยกลุ่มของผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ
CNT ซึ่งได้แก่ กลุ่มทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ บริษัทสยามพาณิชย์พัฒนา
ภาพการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้จึงถูกมองว่าเป็นถ่ายโอนผลประโยชน์จากกระเป๋าซ้ายเข้ากระเป๋าขวา
และนับเป็นการแก้ปัญหาทางบัญชีเท่านั้แนต่ไม่ใช่การแก้ปัญหาจริง ๆ
"ยอมรับว่าเป็นการแก้ตัวเลขทางบัญชี เพราะเกณฑ์ของตลาดที่ตั้งไว้ก็เป็นเกณฑ์ทางบัญชี
และปัญหาที่เกิดขึ้นกับเราก็คือ สัดส่วนที่ถือหุ้นในบริษัทไม่ใช่จำนวนเงินลงทุน
เพราะเมื่อเราถือในสัดส่วนที่สูง เราก็ต้องทำงบ CONSOLIDATE กลับเข้ามา"
สุเมธกล่าวอย่างตรงไปตรงมา
อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าการลดสัดส่วนการถือหุ้นออกไปก็เป็นการลดภาระหน้าที่ในการบริหารงานและภาระหนี้สินต่าง
ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปด้วย
ผลจากการขายบริษัทโนเบิลเคลียร์จะทำให้บริษัทรับรู้ผลขาดทุนเหลือเพียง 200
ล้านบาท จากที่เคยรับรู้ถึง 1,045 ล้านบาท และไม่ต้องนำมาคิดผลการดำเนินงานของโนเบิลเคลียร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในงบการเงินรวมของบริษัท
ทำให้ยอดหนี้ที่มีจำนวนมากของโนเบิลเคลียร์ ไม่ต้องไปโชว์ตัวเลขอยู่ในงบการเงินของ
CNT อีกต่อไป อีกทั้ง CNT จะได้รับคืนเงินกู้ประมาณ 1,000 ล้านบาท จากเงินที่ได้จากการเพิ่มทุน
ซึ่งจะทำให้ภาระหนี้ของ CNT ลดลงและจ่ายดอกเบี้ยน้อยลง ทำให้บริษัทมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
ส่วนในเรื่องการเพิ่มทุนจดทะเบียนนั้น CNT วางแผนขายหุ้นเพิ่มทุนอีก 3,045
ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มจาก 1,947.60 ล้านบาทไปเป็น 5,003.81
ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเรียกชำระในปีนี้ 2,245 ล้านบาท
ส่วนที่เหลือเป็นหุ้นเพิ่มทุนเพื่อรองรับการแปลงสภาพหุ้นกู้ที่จะออกในอนาคตและรองรับใบสำคัญแสดงสิทธิที่ได้ออกมาแล้ว
หลังจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ จะทำให้ CNT เป็นบริษัทก่อสร้างที่มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประเทศ
โดยหุ้นที่เรียกชำระในปีนี้ 2,245 ล้านบาท หรือจำนวน 224.56 ล้านหุ้น เสนอขายผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน
5 หุ้นเดิมต่อ 7 หุ้นใหม่ ราคาหุ้นละ 10 ล้านบาท โดยจะเรียกชำระในวันที่
18-22 พฤศจิกายนนี้
"การเพิ่มทุนครั้งนี้จะทำให้เรามีส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มขึ้นถึงระดับประมาณ
50% ของสินทรัพย์สุทธิตามที่ตลาดฯ กำหนดไว้" ระพีพัฒน์ กล่าว
สำหรับการออกหุ้นกู้แปลงสภาพ (CONVERTIBLE DEBENTURE : CD) เป็นหุ้นกู้ประเภทไม่มีดอกเบี้ย
(ZERO COUPON) อายุ 5 ปี ขายที่ราคาหน้าตั๋ว เสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน
225 หุ้นต่อ 1 หุ้นกู้ โดยจะได้รับเงินจากการระดมทุนประมาณ 713 ล้านบาท
การที่หุ้นกู้ไม่มีดอกเบี้ยและขายที่ราคาพาร์ย่อมเป็นการทำให้บริษัทมีเงินทุนที่ไม่เสียดอกเบี้ยจ่ายตลอดระยะเวลา
5 ปี ส่วนในด้านผู้ถือหุ้นกู้ จะได้ผลตอบแทนจากส่วนล้ำมูลค่าหุ้น (CAPITAL
GAIN) เมื่อมีการแปลงสภาพแล้วและนำไปขายที่ราคาตลาด แต่ถ้าไม่ต้องการแปลงสภาพเมื่อครบอายุก็จะได้เงินทุนคืน
ผลดีของการออกหุ้นกู้ทำให้บริษัทไม่มีผลกระทบ อันเนื่องมาจากการเพิ่มทุน
ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนต่อหุ้นลดลงเพราะมีฐานของจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้น (DILUTION
EFFECT) ในทันที เนื่องจากเป็นหุ้นแปลงสภาพจะเปลี่ยนเป็นหุ้นสามัญตามความต้องการของผู้ถือหุ้นภายในระยะเวลาที่กำหนด
หรือหากไม่มีการแปลงสภาพก็จะไม่ส่งผลให้จำนวนหุ้นสามัญเพิ่มขึ้น
ทั้งสองรายการหากผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่ยอมใช้สิทธิ กลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะรับสิทธิเองทั้งหมด
นั่นก็หมายความว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ยอมแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการตามแผนฟื้นฟู
"การแก้ไขปัญหาของ CNT เราสบายใจอยู่อย่างหนึ่งก็คือ ผู้ถือหุ้นใหญ่จริงใจในการแก้ปัญหาและคิดถึงประโยชน์ของผู้ถือหุ้นรายย่อย
ซึ่งการที่ยอมรับสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนและหุ้นกู้แปลงสภาพก็เป็นการรับประกันว่าไม่ว่าอย่างไรบริษัทก็จะได้เงินเข้ามาอย่างแน่นอน"
ธนชาติ ยืนยันว่า จากแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินในปีนี้ จะสามารถลดหนี้สินได้รวมกันประมาณ
5,370 ล้านบาท
ซึ่งแยกเป็นผลจากการลดสัดส่วนการถือหุ้นในโนเบิลเคลียร์ 2,412 ล้านบาท และการนำเงินจากการเพิ่มทุนและออกหุ้นกู้แปลงสภาพไปชำระหนี้จำนวน
2,245 ล้านบาท และ 713 ล้านบาทตามลำดับ ทั้งนี้ย่อมจะส่งผลถึงอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
(D/E RATIO) อยู่ในสภาพที่ดีขึ้นจากในปัจจุบันที่บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบอยู่ประมาณ
1,700 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนทยอยขายสินทรัพย์หรือจำกัดการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ออกไป
โดยบริษัทได้ตั้งยอดสำหรับการขาย หรือปิดกิจการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งในไทย
เอเชีย และยุโรป ตลอดจนบริษัทย่อยอื่น ๆ ในยุโรปและอัฟริกาอีก 587 ล้านบาท
เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับครึ่งปีแรกนี้
ทางด้านการสร้างรายได้ CNT ยังเน้นแนวทางเดิม คือ ให้ความสำคัญกับรายได้จากงานก่อสร้างของภาครัฐเกือบ
100% หลังจากที่ภาวะอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำเป็นต้นมา และคาดว่าจะยึดแนวทางนี้ต่อไปอย่างน้อยก็ภายใน
2 ปีนี้ ส่วนงานตึกสูงของภาคเอกชนคงจะไม่มีเข้ามา เพราะภาวะตลาดตกต่ำ
"เรื่องการรับงานก่อสร้างเราไม่ห่วงเท่าไร เพราะว่าบริษัทเป็นที่รู้จักดี
เช่น ในงานของกรมทางหลวง บริษัทจัดอยู่ในระดับเกรดเอ ซึ่งหมายความว่าสามารถประมูลได้ด้วยตัวเองและมีโอกาสที่จะประมูลงานได้สูง
ส่วนงานของส่วราชการบางแห่งที่ยังไม่มีความชำนาญมากก็อาจจะร่วมทุนกับบริษัทอื่น
(JOINT VENTURE)"
CNT จะเป็นคู่แข่งรายสำคัญที่จะกลับมาประมูลงานก่อสร้างทางด้านสาธารณูปโภคและโครงการทางภาครัฐบาล
หลังจากรุกไล่ไปยังภาคเอกชนเสียหลายปีตามนโยบายผู้บริหารและกระแสตามตลาดในช่วงนั้น
โครงการถนน 3 สายที่เพิ่งรับมาเมื่อปลายปี 2538 งานช้างสนามกีฬาเอเชี่ยนเกมส์
หรือโรงเรียนเตรียมทหารแห่งใหม่ที่นครนายก เป็นการตอกย้ำให้เห็นยุทธวิธีของ
CNT ชัดขึ้น
อย่างไรก็ตาม การหวนกลับคืนสู่สังเวียนเดิมครั้งนี้ แม้ CNT จะมีคอนเนกชั่นที่ดี
ชื่อเสียงที่ดี ซึ่งนับว่าเป็น "บุญเก่า" ที่สะสมไว้มากแต่การปล่อยโอกาสให้ผู้รับเหมารายอื่นครองตาดไปเสียนานก็อาจจะทำให้การประมูลงานครั้งใหม่ไม่ง่ายนัก