ไม่ว่า ไทย-สวีดิช แอนเซมบลีย์ หรือสวีเดนมอเตอร์ จะเป็นแม่งาน แม้กระทั่งจะดำเนินการในนาม
วอลโว่ กรุ๊ป ก็ตาม แต่จากผลครั้งนี้น่าที่จะทำให้ภาพพจน์ของรถยนต์วอลโว่ในประเทศไทยโดดเด่นขึ้นอย่างมาก
การเปิดภาพของยนตรกรรมพิทักษ์สิ่งแวดล้อม "วอลโว่ 850 ไบฟูเอล"
การเปิดโรงงานประกอบรถยนต์ให้สื่อมวลชนได้สัมผัสในโอกาสครบรอบ 20 ปีด้วยการเน้นวิถีแห่งความพยายามและการดำเนินนโยบายด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมที่กระทำมาตลอด
6 ปี คือ ความต่อเนื่องที่วอลโว่กรุ๊ปตั้งใจให้เกิดขึ้น และหวังที่จะชี้ให้เห็นว่า
เครือข่ายแห่งนี้ได้พยายามอย่างเต็มที่ที่จะพัฒนาในทุกเรื่องเพื่องานอนุรักษ์สภาพแวดล้อม
ในวันเข้าชมโรงงานประกอบรถยนต์วอลโว่ของไทยสวีดิช แอสเซมบลีย์ เมื่อ 27
กันยายนที่ผ่านมานั้น โจมนัส แอสตรอม ผู้จัดการทั่วไป, ฐาณิสร์ ธนะสุนทร
ผู้จัดการฝ่ายการผลิต และผู้บริหารคนอื่น ๆ ดูตั้งใจจะนำเสนอในเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ
"ทำไมวอลโว่ถึงให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมก็เพราะวอลโว่ตระหนักดีว่า
อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์นั้นได้สร้างมลพิษมากมาย โดยประมาณ 10% จะมาจากกระบวนการผลิตในโรงงาน
80% มาจากการนำรถยนต์นั้น ๆ ไปใช้ และที่เหลือ 10% ก็คือขยะที่เหลือจากอุตสาหกรรมนี้"
ผู้บริหารกล่าวถึงแนวคิดของวอลโว่ แห่งสวีเดน พร้อมกับแสดงแผนผังประกอบในประเด็นต่าง
ๆ
เป็นที่รับทราบกันดีว่าประเทศในยุโรปส่วนใหญ่มักจะเน้นในเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก
เป็นมาอย่างนี้นานนับสิบปี ในสวีเดนก็ไม่แตกต่างกัน วอลโว่จึงต้องเร่งหาหนทางพัฒนาอุตสาหกรรมของตนเพื่อให้เดินตามนโยบายนั้น
มิใช่เพียงหน้าที่เท่านั้นที่วอลโว่แห่งสวีเดต้องปฏิบัติ แต่เป็นจิตสำนึกขององค์กรแห่งนี้ประกอบเข้าไปด้วย
ไม่เช่นนั้นนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมคงไม่สนองมายังโรงงานประกอบในประเทสไทย
เพราะแน่นอนว่าการพิทักษ์สิ่แวดล้อมในบางด้านยังทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงกว่าปกติอยู่
ไทย-สวีดิช แอสเซมลีย์ คือ โรงงานประกอบรถยนต์วอลโว่ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง
วอลโว่แห่งสวีเดนจึงต้องการส่งเสริมในเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วย ซึ่งให้นโยบายมาตั้งแต่ปี
ค.ศ.1990 หรือปี พ.ศ. 2533
"บริษัทแม่ให้นโยบายมาตั้งแต่ปี 1990 ซึ่งเราก็ได้พยายามพัฒนากระบวนการผลิตในเรื่องต่าง
ๆ เพื่อให้ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด ซึ่งถึงขณะนี้ก็ได้พัฒนาในหลายจุด
แต่ก็ยังมีอุปสรรคอยู่บ้างที่ไม่สามารถพัฒนาได้สูงสุด" ผู้บริหารกล่าว
สำหรับในไทย เหตุผลประการสำคัญที่การพัฒนากระบวนการผลิตอย่างสูงสุดไม่เกิดขึ้น
ไม่ใช่ปัญหาด้านเทคโนโลยียานยนต์เพียงอย่างเดียว ข้อจำกัดในเรื่องต้นทุนก็ยังเป็นปัญหาใหญ่
แต่ระยะหลังการออกแบบหรือพัฒนารถยนต์แต่ละรุ่นจะคำนึงถึงสภาพแวดล้อมมากขึ้น
ไม่ได้คำนึงถึงต้นทุนเพียงอย่างเดียวเช่นในอดีต ซึ่งตรงนี้จะสะท้อนมายังประเทศไทยด้วย
ประเด็นที่มีการพูดถึง เช่น การปนเปื้อนในอากาศ (EMISSION CONTROL) ซึ่งวอลโว่ได้พัฒนาจนปัจจุบันเหลือเพียง
5% และได้วางแผนว่าในปี ค.ศ.1999 จะให้เหลือเพียง 1% หรือการใช้สารละลาย
หรือสารเคมีต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตก็ลดลงเป็นลำดับ ซึ่งในส่วนนี้มีการคำนึงถึงสภาพแวดล้อมเป็นหลัก
ก่อนที่จะคิดถึงต้นทุน เช่น ในการประกอบตัวถังรถยนต์จะใช้สารเคมีน้อยลง ซึ่งการนำสีน้ำมาใช้นั้น
ในสวีเดนได้พัฒนาถึงขั้นนำมาใช้แทนสีทินเนอร์ในขั้นที่สองแล้ว และคาดว่าในอีก
2-3 ปีข้างหน้าจะสามารถพัฒนาจนถึงขั้นนำมาใช้แทนสีจริงได้ สำหรับในไทยยังติดเรื่องต้นทุนอยู่
การนำสีน้ำมาใช้ในขั้นที่สองจึงยังต้องรอไปก่อน
นอกจากการเลือกใช้สิ่งต่าง ๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว บางอย่างยังสะท้อนออกมาในด้านของความแข็งแกร่งและคุณภาพของสินค้าด้วย
เช่น การนำเหล็กที่เคลือบกาวาไนซ์ (GAVANIZED METAL) ทั้งสองด้านมาใช้ทำเป็นตัวถังซึ่งคิดเป็น
85% ของตัวถังทั้งหมด ทำให้ไม่ต้องมีขั้นตอนของการชุบกันสนอมอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งนอกจากรักษาสิ่งแวดล้อมในด้านของขยะที่เหลือจากกระบวนการผลิตแล้ว ยังได้ความแข็งแรงคงทนของตัวสินค้าด้วย
เพราะเหล็กที่เคลือบกาวาไนซ์นั้น จะทนต่อสภาพทุกอย่าง เป็นโครงสร้างทางไฟฟ้าที่ทำให้ไม่เกิดสนิมนานนับสิบปี
และเมื่อมีการเฉี่ยวชน โครงสร้างเหล็กประเภทนี้จะไม่ทำให้สนิมลุกลามออกไป
เช่น ตัวถังรถยนต์ที่ใช้ระบบชุบกันสนิมทั่วไป
คร่าว ๆ นั้น คือ ภาพของโรงงานประกอบรถยนต์ จากนั้นในวันที่ 3 ตุลาคม 2539
บริษัท วอลโว่ประเทศไทย จำกัด โดย พาสคาล เบลเลมัสน์ กรรมการผู้จัดการ ได้เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับการนำรถยนต์วอลโว่
850 ไบฟูเอล ซึ่งเป็นระบบสองเชื้อเพลิง คือ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ (NGV)
จำนวน 3 คัน เข้ามาในเมืองไทย เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี จำนวน 1 คัน และอีก 2 คันจะมอบให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมกับศูนย์พันธุกรรม
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติและกรมควบคุมมลพิษ และตามด้วยการสัมมนาทางวิชาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันที่
7-8 ตุลาคม
การเปิดตัว 850 ไบฟูเอล ครั้งนี้นับเป็นจุดเริ่มของวอลโว่และเป็นการจุดประกายในเรื่องของรยถนต์ก๊าซธรรมชาตภาคเอกชนในประเทศไทย
ซึ่งที่สุดจะนำไปสู่การจำหน่ายรถยนต์ระบบก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย เพื่อรักษามลภาวะทางอากาศให้เป็นพิษน้อยลง
ดร.ลีนา จีเวิร์ต ผู้จัดการด้านสิ่งแวดลอ้ม จากวอลโว่แห่งสวีเดน กล่าวว่า
รถยนต์ระบบสองเชื้อเพลิงนี้ ทางวอลโว่ได้พัฒนามานานพอสมควร และเป้าหมายสุดท้ายก็คือการได้มาซึ่งรถยนต์ระบบก๊าซธรรมชาติอย่างสมบูรณ์ที่สุด
สำหรับ 850 ไบฟูเอล นั้นมีจำหน่ายในประเทศสวีเดนมาประมาณ 3 ปีแล้ว และยังคงเป็นระบบสองเชื้อเพลิงอยู่
ซึ่งนอกจากพัฒนาการของรถยนต์เองแล้ว ในสวีเดนก็ยังติดขัดในเรื่องของสถานีเติมก๊าซธรรมชาติที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการจึงต้องใช้ระบบสองเชื้อเพลิงต่อไป
"พัฒนาเพื่อเป็นรถยนต์ก๊าซธรรมชาติโดยเฉพาะ นั่นคือเป้าหมายหลัก"
ไม่เพียงเฉพาะวอลโว่เท่านั้น รถยนต์เกือบทุกยี่ห้อทั่วโลกได้มุ่งการพัฒนาไปยังจุดนี้เช่นกัน
แต่ในตลาดแห่งนี้ วอลโว่ได้กลายเป็นแม่งานที่จะกระตุ้นให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา
แผนงานเกี่ยวกับรถยนต์ก๊าซธรรมชาติในไทยนั้น ทางวอลโว่วางไว้คร่าว ๆ ว่า
ถ้าจะมีการจำหน่ายก็คงออกมาในรูปของการนำเข้า ซึ่งจะเริ่มจำหน่ายเมื่อไรนั้นคงขึ้นอยู่กับว่า
สถานีเติมก๊าซธรรมชาติที่จะมารองรับรถยนต์เหล่านี้พร้อมเมื่อไร
"ภายใน 5 ปีจากนี้คิดว่าคงจะเป็นรูปร่างขึ้นมา และคงจะให้บริการได้"
ปริญญา จรุงจิตรประชารมย์ ผู้จัดการส่วนการตลาดและขายก๊าซ ฝ่ายตลาดก๊าซธรรมชาติ
การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) กล่าวถึงความคืบหน้าและแนวโน้มในการตั้งสถานีบริการก๊าซธรรมชาติในเขตเมือง
ที่จะมารองรับรถยนต์ระบบก๊าซธรรมชาติที่บริษัทรถยนต์ต่าง ๆ จะนำเข้ามาจำหน่ายอย่างเช่น
วอลโว่
การกระตุ้นให้เกิดเป็นรูปธรรมครั้งนี้ ทางวอลโว่ถือเป็นแม่งาน โดยปตท.เข้าร่วมและเป็นปัจจัยสำคัญที่ว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่
"ในขั้นต้นนี้ วอลโว่ถือเป็นแม่งาน แต่หลังจากนี้ทางเราจะเป็นผู้ที่จะต้องประสานกับภาคเอกชนรายอื่น
ๆ ให้เข้ามาสู่จุดนี้ ซึ่งขณะนี้คิดว่าเกือบทุกรายก็มีการพัฒนาตรงนี้กันมากแล้ว
แต่ยังไม่มีใครเปิดตัวในไทยเท่านั้น" ผู้บริหารของปตท.กล่าว
ปตท. ได้วางแผนเกี่ยวกับการตั้งสถานีบริการก๊าซธรรมชาติในเขตเมืองมาตั้งแต่ปี
2533 ซึ่งถ้าสามารถวางที่ตั้งเพื่อรองรับในเชิงพาณิชย์ได้ การจำหน่ายรถยนต์ก๊าซธรรมชาติก็คงเกิดขึ้นจริง
ซึ่งน่าที่จะทำให้มลพิษทางอากาศลดลงได้ โครงการรถยนต์ระบบก๊าซธรรมชาตินี้นับเป็นความต่อเนื่อง
หลังจากที่ปตท.ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้กับรถยนต์โดยสารประจำทาง ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ปี
2527 โดยสถานีบริการอยู่ที่รังสิตเพียงแห่งเดียว
"การลงทุนก็หลายพันล้านบาท แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาใหญ่ว่าลงทุนไปแล้วจะคุ้มหรือไม่
แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่า จะวางข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติมาในเขตเมืองได้อย่างไร
โดยเฉพาะกรุงเทพฯ ซึ่งติดทั้งปัญหาการขอใช้ที่ดิน ปัญหาทางเทคนิคต่าง ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างมาก
ซึ่งแนวทางในขณะนี้ อาจจะออกมาในลักษณะเดินท่อส่งก๊าซรอบเมืองแล้วตั้งสถานีถ่ายก๊าซที่นอกเมือง
แล้วค่อยบรรทุกมายังสถานีบริการที่ตั้งอยู่ในเขตเมือง"
การจุดประกายในเรื่องรถยนต์ระบบก๊าซธรรมชาตินั้น ถือว่าวอลโว่ทำได้ดีแล้ว
จากนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่า ปตท.ซึ่งกำลังจะกลายเป็นหัวใจหลักจะสานต่อสิ่งดี
ๆ อย่างนี้ได้ดีแค่ไหน