Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤศจิกายน 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤศจิกายน 2539
ชุมพล ณ ลำเลียงได้กอดจีเอ็มแค่ในฝัน             
 


   
www resources

โฮมเพจ เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย)

   
search resources

เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย), บจก.
ชุมพล ณ ลำเลียง
Vehicle




ทันทีที่ผลประกอบการของอุตสาหกรรมเหล็กและกระดาษเริ่มส่อแววเป็นภาระหนักขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างก็กำลังจะยากเย็นแสนเข็ญในการต่อสู้ เครือซิเมนต์ไทยหรือปูนใหญ่จึงต้องดิ้นรนหาหนทางเพื่อขยายบทบาทในภาคอุตสาหกรรมอื่นที่มีอยู่ในเครือ

อุตสาหกรรมยานยนต์นับเป็นอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างสดใส และเป็นเป้าหมายของปูนใหญ่ที่จะรุกเข้าไปขยายบทบาทให้มากขึ้น

จะว่าไปแล้วทุกวันนี้ปูนใหญ่นับเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่รายหนึ่งของประเทศ และยังเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความมั่นคงอย่างมาก เพราะนอกจากการป้อนให้กับตลาดวงกว้างแล้ว โครงการส่วนใหญ่ซึ่งมีมูลค่าหลายพันล้านบาทได้ผูกติดกับเครือข่ายโตโยต้าไว้เรียบร้อยแล้ว ยิ่งไปกว่านั้นปูนใหญ่ คือ เมกเกอร์เพียงรายเดียวที่ได้เข้าถือหุ้นในบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เป็นจำนวนสูงถึง 10%

ความหวังของปูนใหญ่ที่จะก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ เริ่มเป็นภาพฝัน เมื่อจีเอ็มประกาศการลงทุนในประเทศด้วยโครงการประกอบรถยนต์โอเปิลที่มีมูลค่าโครงการสูงถึง 18,750 ล้านบาท

ในวันแถลงข่าวของจีเอ็มเมื่อ 11 มิถุนายน 2539 นั้น กระแสความสนใจหนึ่งได้พุ่งไปที่ประเด็นการร่วมมือระหว่างปูนใหญ่กับจีเอ็ม เพราะขณะนั้นมีแนวโน้มค่อนข้างมากว่าจีเอ็มจะใช้ที่ดินในนิคมของปูนใหญ่ที่จังหวัดระยอง อีกทั้งยังอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองในรายละเอียดที่ว่าปูนใหญ่จะเข้าถือหุ้นในโครงการนี้อย่างไร

ว่ากันว่ามีแรงหนุนจากผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลของไทยที่ต้องการจะผลักดันให้จีเอ็มดึงปูนใหญ่เข้าร่วมทุนด้วย

โรนัลด์ ดี. ฟริซเซลล์ ประธานบริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จะเข้ามาดูแลด้านการผลิตรถยนต์โอเปิลในประเทศไทย กล่าวในขณะนั้นว่าการร่วมทุนหรือการเลือกทำเลเพื่อตั้งโครงการนั้นยังเป็นเรื่องที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ และที่จริงแล้ว การเข้ามาครั้งนี้ทางจีเอ็มต้องการที่ลงทุนด้วยตนเองทั้ง 100% ส่วนในภาคของอุตสาหกรรมเกื้อหนุนนั้นคงต้องดูในรายละเอียดอีกว่าจะออกมาเป็นอย่างไร

แต่ล่าสุดเมื่อจีเอ็มตัดสินใจซื้อที่ดินจำนวน 300 ไร่เศษในนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ดของบริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ก็เท่ากับว่า ฝันของปูนใหญ่ที่วาดภาพขึ้นเริ่มเลือนลาง

การไม่ใช้ที่ดินของปูนใหญ่ น่าจะบ่งบอกได้ว่า จีเอ็มต้องการลงทุนในโครงการนี้ทั้ง 100% หุ้นจำนวน 25% ที่ปูนใหญ่อยากเข้าไปถือนั้น ยากเหลือเกินที่จีเอ็มจะแบ่งให้ได้

สำหรับอุตสาหกรรมเกื้อหนุนที่จะตามมานั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ผลิตในประเทศไทยหรือเครือข่ายจีเอ็มจากอเมริกาและที่อื่นจะตามเข้ามา ก็ดูเหมือนว่า พระนครยนตรการจะได้รับการคัดเลือกในอันดับต้นจากจีเอ็มให้เป็นผู้ดูแลด้านนี้เสียแล้ว แนวโน้มที่ปูนใหญ่จะได้เข้าเอี่ยวในโครงการนี้ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายเสียแล้ว แม้ว่าคนของปูนใหญ่จะยังมั่นใจว่ายังไม่หมดหวัง

"แม้จีเอ็มกลับลำไม่ลงทุนในเขตประกอบการของบริษัท แต่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่จะวิ่งตามเข้ามานั้น ยังมีความเป็นไปได้สูงที่หลายบริษัทจะมุ่งมาลงทุนในพื้นที่ของปูนใหญ่ ซึ่งอาจรวมถึงการร่วมทุนกันด้วย" ผู้บริหารของปูนใหญ่กล่าว

เหตุผลแห่งการตัดสินใจเปลี่ยนทำเลที่ตั้งโครงการครั้งนี้ นอกจากจะมองได้ว่าเป็นเพราะจีเอ็มได้ข้อเสนอที่ดีกว่าจากทางเหมราช หรือระบบและการบริการในนิคมของเหมราชสะดวกตามความประสงค์ของจีเอ็ม เช่น ระบบ "วัน สตอป เซอร์วิส" ไม่ต้องติดต่อผ่านหน่วยงานราชการหลายแห่งให้ยุ่งยาก ซึ่งประเด็นนี้ สมเจตน์ ทิณพงษ์ ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยถึงกับเอ่ยปากเอง นอกจากสองประเด็นนี้แล้ว น่าจะเป็นเพราะจีเอ็มเจรจาตกลงในเรื่องการร่วมทุนกับปูนใหญ่ไม่เป็นผล จึงไม่สมควรที่จะอยู่ในพื้นที่ของปูนใหญ่

และสาเหตุที่จีเอ็มกับปูนใหญ่ไม่ตกลงร่วมทุนกันนั้น มาจากสองประเด็นหลักซึ่งสัมพันธ์กันอย่างเลี่ยงไม่ได้

ประการแรก ปูนใหญ่มีนโยบายชัดเจนว่าจะต้องเข้าร่วมทุนอย่างน้อย 25% เพื่อที่จะมีสิทธิ์ในการบริหารงานด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่จีเอ็มตัดสินใจยากมากทีเดียว เพราะขนาดคู่ค้าอย่างพระนครยนตรการ จีเอ็มยังเลี่ยงไม่ให้เข้าร่วมทุน และยิ่งปูนใหญ่จะขอเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารยิ่งเป็นเรื่องยุ่งยากเกินไปสำหรับจีเอ็ม

ประการที่สอง รู้กันอยู่ว่า ปูนใหญ่กับโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยนั้น มีสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกันอย่างลึกซึ้ง อย่างที่กล่าวไว้แต่ต้น และเมื่อจีเอ็มเข้ามาลงทุนในไทยเช่นนี้ คู่แข่งสำคัญก็หนีไม่พ้นโตโยต้า การให้ปูนใหญ่เข้ามาร่วมทุนด้วยจึงดูเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักในทางปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นทั้งมารยาทและยุทธศาสตร์ทางธุรกิจก็ตาม

ชุมพล ณ ลำเลียง แม่ทัพใหญ่ของปูนใหญ่ กล่าวถึงกรณีนี้อย่างแบ่งรับแบ่งสู้ว่า ในปัจจุบันก็เชื่อว่าจีเอ็มยังไม่เปลี่ยนนโยบายที่อยากจะเข้ามาลงทุนเอง 100% ในแง่ของปูนใหญ่ฯ เรายังไม่ได้มีการพูดคุยกัน แต่แน่นอนว่า ถ้าเขาตั้งใจจะมาหาผู้ร่วมทุนกับเราเราก็ยินดีหารือร่วมด้วย

"การผูกสัมพันธ์กับจีเอ็มแม้จะยังไม่เกินขึ้นในช่วงนี้ แต่การร่วมทุนก็มีข้อจำกัดสำคัญที่ขวางกั้นอยู่ คือ กลุ่มปูนใหญ่ได้ร่วมทุนในเครือข่ายของโตโยต้าไว้มากมาย ซึ่งการร่วมทุนกับโตโยต้ามีอยู่ก่อนแล้วหลายปี ซึ่งตรงนี้อาจทำให้มีปัญหาบ้าง ซึ่งหากร่วมทุนกับหลาย ๆ ค่ายก็ย่อมเกิดปัญหาเป็นเรื่องปกติ" ชุมพล กล่าว

สำหรับ ประมนต์ สุธีวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโสของปูนใหญ่ กล่าวอย่างตรง ๆ ว่า การเจรจาระหว่างทั้ง 2 ฝ่ายเป็นการพูดคุยเพื่อทำความรู้จักในเบื้องต้นมากกว่า ส่วนผลสรุปจะลงเอยอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับว่าจีเอ็มจะตัดสินใจร่วมทุนกับปูนใหญ่หรือไม่ และถ้าจะตัดสินใจร่วมทุนกันแล้ว ก็จำเป็นต้องดูที่สาระสำคัญว่าจะกระทบถึงพันธมิตรเดิม คือ โตโยต้าหรือไม่

สายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับโตโยต้านอกจากอดีตที่ผ่านมาแล้ว ในอนาคตอันใกล้คือ ภายในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ปูนใหญ่ก็ยังมีโครงการร่วมทุนกับบริษัทในเครือโตโยต้าทำการผลิตชิ้นส่วนระบบเบรกป้อนให้กับโตโยต้า โครงการผลิตชิ้นส่วนระบบพวงมาลัย และโครงการผลิตชิ้นส่วนระบบขับเคลื่อน ซึ่งทั้ง 3 โครงการนี้มีมูลค่าการลงทุนหลายพันล้านบาท และเป็นโครงการที่โตโยต้าตั้งใจผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า

แผนงานตัวอย่าง 2-3 ชิ้นนี้เป็นทิศทางที่ทำให้จีเอ็มตัดสินใจได้อย่างยากลำบากไม่น้อยถ้าจะให้ปูนใหญ่เข้าร่วมทุนด้วย

แต่แปลกใจมากที่ว่า ถึงวันนี้แล้ว ปูนใหญ่ยังมองเรื่องนี้ไม่ทะลุปรุโปร่งอีกหรือ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us