แม้ว่าเทเลคอมเอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือทีเอ และไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น
จำกัด หรือทีทีแอนด์ที จะสามารถส่งมอบโทรศัพท์จำนวน 4.1 ล้านเลขหมายได้ทันตามกำหนดที่
ทศท. ขีดเส้นตายเอาไว้ในวันที่ 30 กันยายน 2539 ที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่า
ภารกิจของทั้งทีเอและทีทีแอนด์ทีจะสิ้นสุด แต่กลับเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น
ทีมผู้บริหารของทีเอ ซึ่งนำโดย ดร.อาชว์ เตาลานนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่
ออกแถลงการณ์ส่งมอบเลขหมายในทันทีที่วันกำหนดส่งมอบมาถึง โดยระบุว่าทีเอส่งมอบเลขหมายโทรศัพท์
2.638 ล้านเลขหมาย ประกอบไปด้วยอุปกรณ์ชุมสาย (สวิทชิ่ง) ที่จะรองรับกับเลขหมายได้
2.7 ล้านเลขหมายและข่ายสายตอนนอกที่รองรับได้ 2.9 ล้านเลขหมาย
ผู้บริหารของทีเอ กล่าวถึงความยากลำบากในการติดตั้งให้ทันต่อเวลาไว้ว่า
กว่าจะติดตั้งได้ทันตามเวลาที่กำหนดไว้ไม่ใช่เรื่องง่ายต้องทำกันหามรุ่งหามค่ำ
แต่ก็สำเร็จจนได้ เปรียบแล้วก็เหมือนกับภาพยนตร์ต้องบรรยายเรื่อง MISSION
IMPOSSIBLE
เพื่อป้องกันความผิดพลาด ทีเอจึงใช้วิธีส่งมอบเลขหมายเกินจากที่กำหนดไว้
38,000 เลขหมายสำรองเอาไว้ในกรณีที่เลขหมายเกิดมีปัญหาเวลา ทศท.ตรวจรับ แต่ไม่ได้หมายความว่าทีเอจะสามารถนำเลขหมายที่ติดตั้งเกินมาให้บริการได้
เพราะตามสัญญาทีเอจะให้บริการได้แค่ 2.6 ล้านเลขหมายเท่านั้น ห้ามขาด ห้ามเกิน
นับตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการจนถึงในปัจจุบัน ทีเอมียอดเลขหมายที่ให้บริการกับเอกชนไปแล้ว
1,126,000 เลขหมาย จากเลขหมายที่ทศท.ตรวจรับไปแล้ว 1,616,000 เลขหมาย และจะทยอยรับมอบจนครบ
2.6 ล้านเลขหมายในอีก 1 เดือนข้างหน้าทีเอจะมีเลขหมายเหลือรอลูกค้ามาใช้บริการ
1,474,000 ล้านเลขหมาย
สำหรับทีทีแอนด์ทีนั้น ดร.อดิศัย โพธารามิก ประธานกรรมการบริหาร ระบุว่า
ทีทีแอนด์ทีได้ส่งมอบให้กับ ทศท. ได้ในช่วงดึกของวันที่ 30 กันยายน จำนวน
1.5 ล้านเลขหมายพอดิบพอดีไม่ขาดไม่เกิน
ในจำนวนนี้มีเลขหมายที่ผู้เช่าใช้บริการและจ่ายเงินแล้ว 853,254 เลขหมาย
และมีเลขหมายที่มีผู้จองแต่ยังไม่ได้ชำระเงิน 1,340,000 เลขหมาย ซึ่งในจำนวนนี้จะเห็นได้ว่า
ในส่วนของทีทีแอนด์ที มีเลขหมายรอลูกค้ามาใช้บริการ 6 แสนกว่าเลขหมาย
ดร.อดิศัยคาดคะเนไว้ว่า เลขหมายทั้งหมดของทีทีแอนด์ทีจะรองรับกับความต้องการของประชาชนได้จนถึงสิ้นปี
2540 ซึ่งในขณะนี้มีผู้มาขอติดตั้งประมาณ 50,000 เลขหมายต่อเดือน ส่วนในปีหน้าจะมียอดผู้ขอติดตั้งเฉลี่ย
30,000 เลขหมายต่อเดือน
"สาเหตุที่ลดลง เพราะในส่วนของ 5 แสนเลขหมายที่ติดตั้งไปเป็นการเปิดชุมสายใหม่
ในพื้นที่ที่ยังไม่เคยให้บริการ ดังนั้นจะมีผู้ใช้มาก แต่หลังจากนั้นจะลดลงไปเรื่อย
ๆ" ดร.อดิศัย ชี้แจง
จะเห็นได้ว่า หลังจากที่ทีเอและทีทีแอนด์ที ติดตั้งข่ายสายเสร็จสิ้นแล้ว
ทั้งสองรายยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมากนัก เพราะดูจากยอดลูกค้าของทั้งทีเอ
และทีทีแอนด์ทีไม่ได้มากมายดังที่คาดหมายกันไว้ตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายได้ของค่าโทรต่ำกว่าประมารการที่ตั้งเอาไว้อย่างคาดไม่ถึง
!
ใครจะคิดว่าโทรศัพท์ที่ถูกจัดเป็นระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานจะต้องอาศัยกลยุทธ์ตลาดเข้าช่วยกระตุ้นยอดขาย
!
ทีเอเคยคาดการณ์ไว้ว่า จะต้องมียอดรายได้ต่อเลขหมายต่อเดือน 900 บาท แต่ในเวลานี้ทีเอมียอดรายได้ต่อเลขหมายต่อเดือน
800-700 บาท และในช่วงแรก ๆ นั้นมีรายได้เพียงแค่ 300 บาทต่อเลขหมายต่อเดือนเท่านั้น
ในขณะที่ทีทีแอนด์ทีมีรายได้ต่อเลขหมายต่อเดือนประมาณ 800 บาท ซึ่งทีทีแอนด์ทีคาดว่าจะมีรายได้มากกว่า
1,000 บาทต่อเดือนต่อเลขหมาย
ปัญหานั้นเกิดมาจากหลายสาเหตุ ส่วนหนึ่งมาจากการได้สิทธิในการขยายเพิ่มขึ้นอีก
1.1 ล้านเลขหมาย คือ ทีเอ 6 แสนเลขหมาย และทีทีแอนด์ที 5 แสนเลขหมายที่ต้องติดตั้งให้เสร็จภายในปีนี้ตามที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทาน
ซึ่งหากมองในแง่ธุรกิจแล้ว การที่ต้องเร่งติดตั้งในขณะที่ความต้องการยังไม่ได้เกิดขึ้น
ย่อมส่งผลให้รายได้ต่อเลขหมายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
"พอคุณติดตั้งเสร็จ แต่ความต้องการมันยังไม่มี ทำให้ต้องทุ่มเงินลงทุนไปคราวเดียว
มันไม่เหมือนกับการติดตั้งไปตามดีมานด์ที่เกิดขึ้น ค่อย ๆ ทำกันไป รายได้ต่อเลขหมายมันก็ไม่ดีตามไปด้วย"
แหล่งข่าวจากทีทีแอนด์ทีกล่าว
ที่สำคัญ พื้นที่ที่เป็นความต้องการของประชาชนที่แท้จริง หรือเรียกว่าในส่วนที่เป็นไข่แดงนั้น
ทศท.จะติดตั้งไปแล้วเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นพื้นที่ทีเอและทีทีแอนด์ทีติดตั้งจะเป็นเลขหมายที่สองที่ยังต้องรอเวลา
และต้องอาศัยแรงกระตุ้น
ยิ่งไปกว่านั้น การที่ต้องเจอกับโทรศัพท์มือถือที่ได้กลายเป็นคู่แข่งสำคัญของโทรศัพท์พื้นฐานด้วยราคาเครื่องถูกลงเรื่อย
ๆ แถมยังมีโปรโมชั่นโทรฟรีอยู่เนือง ๆ โดยเฉพาะกับทีทีแอนด์ที เพราะค่าโทรศัพท์ทางไกลของโทรศัพท์มือถือที่ถูกกว่าโทรศัพท์พื้นฐาน
"ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ค่าโทรศัพท์มือถือจะถูกกว่าโทรศัพท์พื้นฐานมีที่เมืองไทยแห่งเดียวเท่านั้น"
ดร.อดิศัย สะท้อน
สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัญหาที่ทั้งทีเอและทีทีแอนด์ทีตระหนักดี
การปรับองค์กรให้สอดคล้องกับงาน เพราะเดิมเป็นเรื่องของการก่อสร้างข่ายสายดังนั้นกำลังคนส่วนใหญ่จึงทุ่มเทไปกับงานเหล่านี้
แต่หลังจากส่งมอบเลขหมายแล้วจะเป็นเรื่องของงานด้านตลาด ซึ่งทีทีแอนด์ทีก็ได้เริ่มไปแล้วด้วยการดึงดร.ทองฉัตร
หงส์ลดารมภ์ จากกลุ่มซีพีมานั่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่พร้อมจะดึงผู้บริหารจากภายนอกมาร่วมเสริมทีม
เช่นเดียวกับทีเอที่ยอมรับว่าจะต้องมีการปรับองค์กรให้สอดคล้องกับการตลาดมากขึ้น
โดยเฉพาะการรองรับกับบริการเสริมที่จะเป็นตัวเร่งให้เกิดความต้องการของผู้ใช้
จึงไม่น่าแปลกใจที่ทีเอจะอาศัยแรงเงิน และเส้นสายทางการเมืองผ่านไปยังพรรคความหวังใหม่
กวาดเอาใบอนุญาตทำบริการเสริมบนโทรศัพท์พื้นฐานจากทศท.มาไว้ในมือเป็นจำนวนมาก
อาทิโทรศัพท์สาธารณะ วงจรเช่าความเร็วสูงบริการเอสพีซี ที่มีบริการเรียกสายซ้อนบริการเปลี่ยนเลขหมาย
และบริการโทรศัพท์ไร้สายพีเอชเอส ที่เปลี่ยนชื่อเป็นบริการ PCT (Personal
Cordless Telephone) ซึ่งล้วนแต่เป็นการกระตุ้นความต้องการของผู้ใช้ และการใช้โทรศัพท์ให้เพิ่มขึ้นทั้งสิ้น
ยังไม่รวมรายได้อันมหาศาลที่จะเกิดขึ้นจากบริการเหล่านี้ในอนาคต
โดยเฉพาะบริการ PCT ที่ทีเอต้องออกแรงเป็นพิเศษ เพราะจะเป็นคู่แข่งตัวฉกาจของโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งทีเอเชื่อว่าจะเป็นตัวกระตุ้นชั้นเยี่ยมให้กับโทรศัพท์พื้นฐาน เพราะหากไปขอเลขหมายโทรศัพท์พื้นฐานก่อน
และการเก็บค่าบริการก็คิดเป็นแอร์ไทม์ ยิ่งใช้นานก็ยิ่งต้องจ่ายมาก
แต่สำหรับทีทีแอนด์ทีอาจแตกต่างไปจากทีเอ เพราะบริการเสริมอาจยังเป็นแค่ผลพลอยได้ในระยะยาว
เพราะปัญหาสำคัญของทีทีแอนด์ คือโทรศัพท์มือถือที่เป็นคู่แข่งตัวฉกาจ สิ่งที่ทีทีแอนด์ทีต้องทำ
คือ การยื่นขอลดค่าบริการโทรศัพท์มาตรฐานลงให้เหลือเท่ากับอัตราของโทรศัพท์มือถือ
คือ 3 บาทในพื้นที่เดียวกัน 8 บา พื้นที่ติดกัน และ 12 บาท พื้นที่ไม่ติดกัน
ภายใต้เงื่อนไขนี้ทีทีแอนด์ทีขอลดการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนจาก 41.3% ลงเหลือ
25% ซึ่งเคยได้รับการคัดค้านจากทศท.มาแล้ว ทีทีแอนด์ทีคงต้องออกแรงกันอีกหลายยกกว่าเรื่องนี้จะผ่าน
ภารกิจของทั้งทีเอ และทีทีแอนด์ทีจึงเป็นแค่เริ่มต้นจริง ๆ