บ้านเอื้ออาทรไม่เอื้ออาทรจริง ประชานิยมทักษิณต้มรากหญ้าจนเปื่อย อดีตแชมป์มวยไทย และ เพื่อนร่วมชะตากรรมฉายผ่านชีวิตช้ำ ความฝันจะได้บ้านหลังแรกพังทลาย จากเงื่อนไขให้ผ่อน 1,500 กลายเป็น 5,000 บาท ราคาหลังละ 3 แสนกว่าผ่อนเสร็จกลายเป็น 8แสน
โครงการประชานิยมเอื้ออาทรของรัฐบาลรักษาการกำลังหวนคืนมาอีกครั้ง โดยเฉพาะในระยะข้างหน้าที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ และยิ่งในสถานการณ์ตอนนี้แล้ว การหาเสียงกับคนระดับรากหญ้า อาจจะถูกปั่นฝุ่นขึ้นมา เพื่อสร้างคะแนนนิยมให้แก่" ทักษิณ ชินวัตร " ครั้งใหม่
แต่ทว่า ประชานิยมเอื้ออาทรของรัฐบาลชุดนี้ อาจไม่สวยหรูเหมือนดังที่คนระดับรากหญ้าฝันและตั้งความหวังไว้...ดังคำโฆษณาชวนเชื่อของทักษิณ!!!
ยกตัวอย่างโครงการบ้านเอื้ออาทร ย้อนไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค.2548 ทักษิณ ประกาศโรดแมปด้านที่อยู่อาศัยที่ทำเนียบรัฐบาลว่า "..... คนที่มีบ้านอยู่มีความรู้สึกดีกว่าคนไม่มีบ้าน พลังความสามารถในการสร้างสรรค์ของเขามีมาก การหาบ้านให้คนจนเป็นการแก้ปัญหาสังคม ตนถือว่าปัญหาเรื่องบ้านเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลมี 3 โครงการเพื่อแก้ปัญหาคือ 1.นำพื้นที่สลัม จัดเป็นบ้านมั่นคง ผู้อยู่อาศัยมีความมั่นคง ไม่ต้องไล่รื้อ ไม่ต้องถูกลอบวางเพลิง สภาวะแวดล้อมดีขึ้น ใช้เวลาดำเนินการบ้านมั่นคง 4 ปี สร้าง 285,000 หลัง ตั้งงบประมาณไว้ 19,000 ล้านบาท 2.โครงการบ้านเอื้ออาทร ถือเป็นบ้านของคนที่พอมีรายได้ ผ่อนชำระ 1,500 บาทต่อเดือน ไม่ต้องมีเงินดาวน์ ตั้งเป้าสร้าง 400,000-500,000 หลัง 3.บ้านน็อคดาวน์หรือบ้านแฮบิแทต (Habitat) เป็นแบบบ้านที่ง่ายมีประโยชน์ใช้สอย ชาวบ้านช่วยกันสร้างได้ตั้งเป้าไว้ประมาณ 500,000 หลัง"
พอถึงวันนี้ เป็นอย่างไร ?? ดูกรณีคุณสุชาติ ก้งเส้ง อดีตแชมป์มวยไทยอาชีพ เวทีลุมพินี ที่แฟนมวยรู้จักดีในนาม "ดาวตรัง ต.บุญเลิศ" ที่หลงเชื่อทักษิณ
คุณสุชาติ เล่าวถึงความขมขื่นว่า เมื่อ2 ปีก่อน สุชาติ ก้งเส้ง อดีตแชมป์มวยไทยอาชีพ เวทีลุมพินี รุ่น 104 ปอนด์ หอบหิ้วภรรยา และ ลูก 2 คนย้ายจากหอพักย่านปิ่นเกล้ามาเช่าห้องเล็กๆในละแวกหนองแขม ยอมย้ายลูกมาเรียนโรงเรียนแห่งใหม่กลางคัน ขณะที่ตัวเองเดินทางไป-มาเข้ามาทำงานเป็นเทรนเนอร์ให้นักมวยย่านราชดำเนินกลางกรุง ยอมเสียค่ารถหลายต่อ วันละหลายร้อยบาท เพียงเพื่อจะได้มาอยู่ใกล้ๆบ้านหลังแรกที่จองซื้อไว้ ในชื่อ โครงการ บ้านเอื้ออาทร เพชรเกษม 81
สุชาติ ก็เหมือนคนมีรายได้น้อยอีกนับพันที่ผ่านขั้นตอนการคัดเลือก และจับสลากได้มีสิทธิ์ซื้อโครงการนี้ซึ่งจัดสร้างเป็นอาคารชุด 5 ชั้น จำนวน 1,708 หน่วย แม้จะไกลเพราะ ตั้งอยู่ซอยชัยสิทธิ 2 ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งเหนือ เขตหนองแขม กรุงเทพฯ แต่สุชาติ ภรรยา และ ลูกก็นับวันรอคอยจะได้ย้ายมาอยู่บ้านใหม่ซึ่ง คาดว่าจะแล้วเสร็จ และ ส่งมอบให้ผู้ได้สิทธิประมาณเดือนกันยายน 2549 นี้
"ผมพาลูกขึ้นไปดู 4ครั้งแล้ว บ้านสวย น่าอยู่ มองจากข้างนอกเหมือนคอนโดฯหรูเลยหล่ะ ลูกถามว่า พ่อๆเมื่อไรพ่อจะพาหนูมาอยู่ซะที" สุชาติ เล่าให้ฟังถึงความรู้สึกตื่นเต้น และ หวังของสมาชิกภายในครอบครัวที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอยบ้านใหม่แห่งนี้
สุชาติ จับสลากได้สิทธิซื้อโครงการบ้านเอื้ออาทรและการเคหะแห่งชาติเรียกมาทำสัญญาจะซื้อจะขายเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2547 พอได้รับหนังสือแจ้งจากการเคหะแห่งชาติ ว่าได้สิทธิ์ในการซื้อบ้านเอื้ออาทรโครงการเพชรเกษม 81 เขตหนองแขม ซึ่งสร้างเป็นอาคารชุด 5 ชั้น จำนวน 1,708 หน่วย แม้จะไกลเพราะอยู่ซอยชัยสิทธิ์ 2 ถนนเลียบคลองเจริญภาษีฝั่งเหนือ เขตหนองแขม กรุงเทพฯ
"ผมดีใจมาก จ่ายเงินค่าสัญญาไปแล้ว โทรศัพท์ก็จะติดตั้งในชื่อผมแล้ว แต่ตอนนี้เมียผมร้องให้ทุกคืน ผมตัดสินใจไม่เอาแล้วสู้ไม่ไหว ผมเชื่อว่าผู้ที่ซื้อบ้านเอื้ออาทรทุกราย ก็คงเป็นเช่นเดียวกับผม"
เช่นเดียวกับ คุณกนกเพชร ฉัตรรัตนกัมพล หนึ่งในผู้ได้สิทธิ์บ้านเอื้ออาทรเพชรเกษม 81 ที่ตกอยู่ในสภาพไม่ต่างไปจาก คุณสุชาติ ก้งเส้ง ซึ่งความหวังและความฝันของครอบครัวที่จะมีที่อยู่อาศัยไว้ให้ลูกน้อยต้องพังทลายลงเพราะสู้เงินค่าผ่อนเดือนละ 5,000 บาท จากที่คิดว่าจะต้องจ่ายเพียงเดือนละ 1,500 บาท ตามที่ทักษิณ โฆษณา ไม่ได้
"ผมอยากถาม นี้หรือที่บอกว่าบ้านราคาถูกเพื่อคนจน ต้องการให้คนจนมีที่อยู่ของตนเอง แล้วอย่างนี้มันเอื้ออาทรตรงไหน คำว่าเอื้ออาทร ฟังดูดีแต่ตอนนี้ได้ทำร้ายหัวใจคนที่ฝันว่าจะมีบ้านมาตลอดชีวิตชัดๆ เสียแรงที่เทคะแนนให้ และเชื่อนายกฯ ที่พูดว่าทำทำอย่างเพื่อคนจน ที่แท้ต้องการหาเสียง"นายกนกเพชร เล่าถึงความเจ็บปวด
ขณะที่ เจ้าหน้าที่ของออมสิน ยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะรัฐบาลให้ข้อมูลที่คลุมเครือแก่ประชาชนผู้ซื้อบ้านเอื้ออาทร ในใบโฆษณาไม่มีการชี้แจงหรืออธิบายให้ประชาชนเข้าใจอย่างถูกต้อง พอหมดระยะที่ลูกค้าผ่อนกับการเคหะฯคือเดือนละ 1,500 บาทแล้ว จากนั้นก็ต้องไปขอกู้กับธนาคารที่ปล่อยกู้ คือ ออมสินกับอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
ทางธนาคารก็ต้องพิจารณาตามเกณฑ์ที่ธนาคารกำหนด เช่น มีปัญหาเรื่องเครดิตหรือไม่ มีเงินเดือนเท่าไหร่ มีกระแสเงินฝากหมุนเวียนอย่างไร และต้องเสียดอกเบี้ยลอยตัว 7% เป็นต้น ซึ่งพอคิดเงินต้นบวกกับดอกเบี้ยก็ต้องผ่อนชำระเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละประมาณ 5,000 บาท
พอถึงตอนขอกู้ธนาคาร นี่คือของจริงว่า จะต้องผ่อนเท่าไหร่กันแน่ มันไม่ใช่ 1,500 บาทต่อเดือนแล้ว แต่เป็น 5,000 บาท แทน ก็ทิ้งกันหมด เพราะผ่อนไม่ไหว และ เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ปล่อยกู้ของธนาคาร ผู้กู้ซื้อบ้านเอื้ออาทรส่วนใหญ่เป็นคนจนหาเช้ากินค่ำก็ไม่ผ่าน แบงก์ก็ไม่ปล่อยกู้ให้ หรือบางรายที่ธนาคารยืดหยุ่นปล่อยกู้ให้แต่ก็เริ่มมีปัญหาการผ่อนชำระ เพราะรายได้ของคนจนไม่แน่นอน
ตอนนี้โครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีปัญหาขอกู้แบงก์ไม่ผ่านนั้นมีมากมายหลายแห่ง ยกตัวอย่างเช่น โครงการบ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์-ท่าอิฐ ผู้กู้ขอสินเชื่อแล้วไม่ผ่านมากกว่า 50% หรือที่จ.นครปฐม มี 612 ยูนิต ขอสินเชื่อผ่านเพียง 108 รายเท่านั้น
ดังนั้น ที่ ทักษิณ โฆษณาว่าจะหาบ้านให้คนจนมันก็เรื่องหลอกกันทั้งเพ
เจ้าหน้าที่ของออมสิน ยังแฉว่า เหตุที่โครงการบ้านเอื้ออาทรมีปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือ ตอนนี้การเคหะฯได้เปลี่ยนระบบรับซื้อโครงการเป็นระบบเทิร์นคีย์ คือ ให้ผู้รับเหมาจัดหาโครงการและทำยอดขายกับคนที่ต้องการซื้อบ้านให้ได้ตามเกณฑ์ของการเคหะฯ คือ 2 เท่าของจำนวนหน่วยขาย เมื่อถึงเวลาจริงๆ ที่ต้องมาขอกู้กับธนาคาร ก็ปรากฎว่า คนที่เสนอขอกู้หายไปกว่า 50% พูดง่ายๆ ว่า มีการสร้างความต้องการซื้อเทียมขึ้นมา
โครงการบ้านเอื้ออาทรที่เริ่มสร้างกันมาตั้งแต่ปี 2546-2548 นั้น ประมาณ 300,000 หน่วยนั้น การเคหะฯ ได้ลงนามในสัญญาแล้ว 166,428 หน่วย และอยู่ระหว่างการประกวดราคา/จัดทำแบบ/คัดเลือกโครงการ จำนวน 98,758 หน่วย ส่วนโครงการที่รอส่งมอบสถานที่ จำนวน 18,322 หน่วย สำหรับโครงการล็อตสุดท้ายที่จะก่อสร้างในปี 2550-2551 จำนวน 180,000-200,000 หน่วย ตอนนี้การเคหะฯกำลังจะปรับราคาขึ้นอีกประมาณ 5,000 - 10,000 บาทต่อหน่วยซึ่งจะทำให้ต้องผ่อนชำระค่างวดกับธนาคารเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 20%
เอกชนหวั่นคนทิ้งบ้านเอื้อฯเพิ่มดบ.จ่ายแพง-หน้ามืดค่าครองชีพ
กคช.หนักใจภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น ผู้ซื้อทำใจจ่ายเพิ่ม 20% อ้างต้นทุนดอกเบี้ยสูง ผู้รับเหมาแบกต้นทุนไม่ไหว เล็งขยับฐานรายได้ลูกค้าเพิ่ม รองรับกลุ่มลูกค้าใหม่
แหล่งข่าวในวงการอสังหาริมทรัพย์ฯ ตั้งข้อสังเกตถึงโครงการบ้านเอื้ออาทรว่า แม้จะเป็นโครงการที่ประสบความสำเร็จในด้านการซื้อใจประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนระดับรากหญ้าที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง แต่ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นและตามมาในโครงการดังกล่าว เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการหวั่นวิตกหากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจเปลี่ยนไปคือ การสละสิทธิ์ซื้อบ้านเอื้ออาทร แม้จะมีการทำสัญญาจะซื้อจะขายกับการเคหะแห่งชาติ(กคช.)หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการ
" ลูกค้าบ้านเอื้ออาทรและประชาชนส่วนใหญ่ มีความเข้าใจว่า โครงการบ้านเอื้อาทรเป็นโครงการที่รัฐบาลจัดหาที่อยู่อาศัยในราคาถูกให้แก่ประชาชนที่มีรายได้น้อย โดยประชาชนสามารถผ่อนโดยตรงกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในอัตราค่าวงดในเดือนละ 1,500 บาทไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ย และสามารถซื้อได้ในราคา 390,000 บาทต่อหน่วย "
และผลจากกรณีที่ไม่มีการชี้แจงเงื่อนไข และรายละเอียดทั้งหมดนี้เองทำให้ เมื่อถึงขั้นตอนการปฏิบัติจริง ซึ่งลูกค้าบ้านเอื้ออาทรต้องทำสัญญากู้ซื้อบ้านในโครงการ โดยมีการคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัวในปัจจุบันคือ 7% บวกกับเงินต้นทำให้ต้องผ่อนส่งต่องวดสูงขึ้นอีก 1 เท่าตัวหรือประมาณ 4,000-5,000 บาทต่อเดือน รวมแล้วทำให้ลูกค้าบ้านเอื้ออาทรต้องซื้อบ้านในราคาเกือบ 800,000 บาทต่อหน่วย ซึ่งในความเป็นจริงกลุ่มลูกค้าของลูกค้าบ้านเอื้อาทรไม่มีกำลังและความสามารถในการผ่อนส่งได้ ดังนั้น
" ในช่วงที่มีการเริ่มส่งมอบบ้านให้แก่ลูกค้านี้เอง ปัญหาการสละสิทธิ์ในการซื้อบ้านเอื้ออาทรชัดเจนขึ้น โดยในแต่ละโครงการเมื่อลูกค้าทราบว่าจะต้องส่งค่าวงด และจะต้องจ่ายเงินซื้อบ้านเพิ่มขึ้นในราคาที่สูงขึ้นอีก 1 เท่าตัว จึงทำให้มีการทิ้งบ้าน หรือสละสิทธิ์ในการซื้อเป็นจำนวนมาก และยิ่งในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นอย่างนี้ ถามว่าคนจนจะมีปัญญาที่ไหนผ่อน เพราะค่าครองชีพสูง การเดินทางที่ไกล"
แหล่งข่าวจากกคช. กล่าวว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าก่อสร้างและค่าครองชีพที่สูงขึ้น แต่ทางกคช.ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามทำทุกวิถีทางที่จะควบคุมต้นทุน ด้วยการหาผู้รับเหมารายใหญ่ผลิตโครงการให้ได้ปริมาณมากๆ แต่เท่าที่ทราบ ผู้รับเหมาไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้เฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 5 % จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับผลกระทบที่กคช.ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นรวมแล้วประมาณ 2%ที่ผ่านมา ได้กู้ธนาคารกรุงไทยไปแล้ว 8,000 ล้านบาท ,ธนาคารกรุงเทพ ประมาณ 4,000 ล้านบาท ทั้ง 2 ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับกคช.อยู่ประมาณ 5.75% ต่อปี จากเดิม 3.75% ต่อ ปี และจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องปรับราคาขายใหม่ ซึ่งขณะนี้ กคช.เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่ปรับราคาบ้านเอื้ออาทรสำหรับผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นของโครงการล็อตสุดท้ายที่จะก่อสร้างในปีงบประมาณ 2550-2551 จำนวน 180,000 -200,000 หน่วย จากแผนก่อสร้างโครงการบ้านเอื้ออาทรทั้งหมด 601,727 หน่วย
และราคาขายใหม่ที่จะปรับขึ้นน่าจะอยู่ประมาณ 5,000-10,000 บาท แน่นอนกระทบต่อการผ่อนชำระค่างวดกับธนาคารที่เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 20 % จากเดิมเริ่มต้นผ่อนชำระประมาณ 1,500 บาท/เดือน ก็จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 1,800-2,000 บาท/เดือน ส่วนเงินที่ลูกค้าจะต้องชำระล่วงหน้าเป็นเวลา 12 เดือนนั้นยังคงใช้อัตราเดิมคือ 300 บาท/เดือน และเพื่อให้สอดคล้องกับการปรับราคา กคช.มีแผนจะขยายฐานรายได้ของลูกค้าเพิ่ม เป็นครั้งที่ 3 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ปัจจุบันประชาชนที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีสิทธิ์จองบ้านเอื้ออาทรนั้นมีระดับรายได้ต่อครัวเรือนไม่เกิน 17,500 บาท/เดือน ระดับรายได้นี้ปรับเมื่อปี 2548 ซึ่งเดิมเมื่อเปิดโครงการบ้านเอื้ออาทรใหม่คือ ปี 2546 ระดับรายได้ครัวเรือนอยู่ที่ 15,000 บาท/เดือน
|