สมัยก่อนถ้าใครถือ "บัตรเครดิตสีดำ" อยู่ในมือ บุคคลนั้นจะถูกจัดชั้นให้อยู่ในกลุ่ม "อภิคหบดี" เป็นที่นับหน้าถือตา บ่งบอกถึงสถานภาพทางสังคม...แต่วันนี้เจ้าของ "บัตรแพลทินั่ม"ไม่จำเป็นต้องเป็นนักการเมือง ผู้ลากมากดี นามสกุลดัง มีสกุลรุนชาติ แค่มีรายได้ระดับสูง ก็เพียงพอจะเอื้อมถึง "การ์ดสีดำ"ได้ ขณะที่แบงก์ต่างๆจะเอาอกเอาใจประหนึ่ง"ราชา"... "แพลทินั่ม"ในความหมายใหม่ ในเซ็กเม้นท์ไฮ-เอนด์ จึงแยกไม่ออกว่า แท้จริงแล้วเจ้าของบัตรถูกจัดอยู่ในกลุ่มไหนระหว่าง "ไฮโซเทียม" หรือ "ผู้ดีแท้" เพราะเวลานี้การได้ครอบครองบัตรสีดำเกือบจะไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเหมือนในอดีต....
" สมัยก่อน การเป็นเจ้าของบัตรแพลทินั่มทำได้ยากมาก ถ้าเป็นแต่ก่อนต้องถือบัตรอเมริกันเอ็กซเพลส จึงจะดูหรูหรา แต่สมัยนี้คนที่ถือบัตรจะมีมากขึ้น" ...
ขัตติยา อินทรวิชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(เคแบงก์) อธิบายถึงการครอบครองบัตรสีดำ นับจากอดีตถึงปัจจุบันได้ค่อนข้างชัดเจน
เคแบงก์ เป็นหนึ่งใน 7 สถาบันการเงินที่ให้บริการครอบคลุมไปถึงลูกค้าในตลาดบน หรือ พรีเมี่ยมเซ็กเตอร์ ที่จัดเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีอำนาจซื้อมหาศาล แต่แพลทินั่มของเคแบงก์ก็จำกัดวงเริ่มต้นรายได้ขั้นต่ำ 250,000 บาทต่อเดือนขึ้นไปเท่านั้น
บัตรแพลทินั่มของค่ายนี้จึงมีฐานที่ค่อนข้างแคบคือ มีเพียง 5 พันกว่าบัตร โดยคะเนว่าสิ้นปีนี้จะไต่ขึ้นมาอีก 2 พันบัตร รวมกับบัตรเครดิตอื่น ก็จะมีปริมาณ 1 ล้านบัตร ขณะที่ปัจจุบันมีฐานบัตรเครดิตราว 9 แสนบัตร
ขัตติยา บอกว่า กลุ่มนี้ฐานไม่กว้างแต่ยอดใช้จ่ายต่อบัตรค่อนข้างสูง เพราะลูกค้าเป็นกลุ่มที่ต้องการความหรูหรา มีระดับ อย่างไรก็ตามระยะหลังการให้นิยามคำว่าแพลทินั่มเปลี่ยนไป ไม่ใช่กลุ่มสังคมชั้นสูงเพียงไม่กี่รายเหมือนเมื่อก่อน แบงก์แทบทุกแห่งเริ่มขยับขยายฐานให้กว้างขึ้น โดยกำหนดรายได้ต่ำลง
จากนั้นกลุ่มตลาดไฮ-เอนด์ ก็แยกออกเป็น 2 กลุ่มคือ "แมส แพลทินั่ม" และ "พรีเมี่ยม แพลทินั่ม" โดยฝ่ายแรกเลือกจะเริ่มต้นรายได้ขั้นต่ำประมาณ 50,000 หรือ 70,000 บาทต่อเดือนขึ้นไป ไม่นานนักตลาดที่เคยแยกตัวเองออกจากสังคมทั่วไปก็ขยายวงกว้างขึ้น
แบงก์แทบทุกแห่งไม่ว่า กรุงศรี-จีอี ไทยพาณิชย์ ซิตี้แบงก์ เคทีซีหรือแม้แต่แคปปิตอลโอเค ต่างก็หันมาจับที่กลุ่มแมส แพลทินั่มมากขึ้น จากนั้นแพลทินั่มก็ไม่ใช่ตัวบ่งชี้สถานภาพทางสังคมอีกต่อไป
ขัตติยา บอกว่า เคแบงก์กำลังจะเลื่อนมาจับตลาด แมส แพลทินั่ม โดยกำหนดรายได้ขั้นต่ำ 1 แสนบาทขึ้นไป แต่ลูกค้าต้องยอมรับเงื่อนไขสิทธิประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกัน
" กลุ่มนี้อาจจะมีไม่มากราย แต่การใช้จ่ายต่อรายสูงถึง 1 ล้านบาทต่อเดือนก็มี"
มาริอาโน เรซิน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและสื่อสาร ธนาคาร เอชเอสบีซี (HSBC)ไทย บอกว่า สำหรับ เอชเอสบีซี จะใช้ชื่อว่าบัตรพรีเมียร์ ที่มีความหมายเอ็กคลูซีฟกว่า ขณะที่แบงก์อื่นจะใช้แพลทินั่มกันหมด
กลุ่มลูกค้า เอชเอสบีซี จะไม่กำหนดรายได้ขั้นต่ำ แต่จะนับจากลูกค้าที่มีเงินฝากกับธนาคารตั้งแต่ 3 ล้านบาทขึ้นไป และลูกค้าที่มีการลงทุนกับธนาคาร 3 ล้านบาทขึ้นไปเช่นกัน ซึ่งเป็นนโยบายเอชเอสบีซีทั่วโลก
ลูกค้ากลุ่มนี้จึงมักจะได้รับการดูแลราวกับ "ราชา" นั่นคือนอกจากไม่คิดค่าธรรมเนียมทุกประเภทตลอดชีพแล้ว ก็จะได้สิทธิประโยชน์รวมถึงการให้บริการที่เหนือกว่าบัตรทั่วไป
" ลูกค้ามีรายได้สูง ใช้เงินไปกับการท่องเที่ยว และใช้จ่ายสูง ส่วนใหญ่จึงไม่อยากเสียดอกเบี้ย มักจะจ่ายเต็มจำนวน"
มาริอาโน ยอมรับว่า การเริ่มมาจับตลาดนี้ไม่ได้รุกแรงเหมือนค่ายอื่น แต่ถ้าวันหนึ่งพร้อมก็จะตัดสินใจบุกอย่างเต็มตัว อย่างไรก็ตามเนื่องจากตลาดมีขนาดเล็ก แต่ก็มีโอกาสโตเร็ว ดังนั้นระยะแรกเอชเอสบีซีจึงมีการให้บริการทั้งเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ด้านการลงทุน และดูแลสิทธิประโยชน์ให้เป็นการส่วนตัว
วรรวิมล กนกธนาพร ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บัตรกรุงศรีอยุธยา ยอมรับว่า ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยมีทีมงานรองรับ เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริหารระดับสูง มีอำนาจการซื้อสูง ความต้องการจึงหลากหลาย ซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับต่างประเทศ
นับจากเริ่มทำตลาดเมื่อต้นปีนี้ บัตรกรุงศรี-จีอี ก็มีฐานลูกค้ามากถึง 55,000 ราย โดยมีฐานรายได้ตั้งแต่ 100,000 บาทขึ้นไป มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 20,000 บาทต่อเดือน โดยเชื่อว่าสิ้นปีจำนวนบัตรจะขึ้นมาที่ 60,000 ใบ
" การขยายตลาดบัตรเครดิต รวมถึงบัตรแพลทินั่มจะอาศัยเครือข่ายสาขาแบงก์กรุงศรีฯเป็นช่องทางเจาะเข้าถึงลูกค้า โดยที่ผ่านมามีการเติบโตที่ค่อนข้างสูง"
ธีรพจน์ โชคอนันตัง ผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจบัตรเครดิต บมจ.บัตรกรุงไทย บอกว่า ตลาดแพลทินั่มขยายตัวเร็วมาก เพราะมีศักยภาพสูง ส่วนหนึ่งการขยายฐานที่กว้างขึ้นเป็นผลจากลูกค้าที่ถือบัตรเงินและบัตรทองเริ่มมีศักยภาพสูง ก็จะขยับมาที่ตลาดแพลทินั่ม ในขณะที่สมัยก่อนตลาดกลุ่มนี้จะมีค่อนข้างน้อย
ปัจจุบัน เคทีซี มีบัตรแพลทินั่ม 50,000 ใบ โดยคาดว่าสิ้นปีนี้จะขยับมาถึง 1 แสนใบ โดยกำหนดรายได้ขั้นต่ำที่ 70,000 บาทขึ้นไป มียอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน 15,000-20,000 บาท ซึ่งในอนาคตมีโอกาสจะขึ้นมาแตะ 30,000 บาท
" กลุ่มนี้จะผ่อนน้อย แต่ใช้จ่ายเยอะ เราจึงต้องใช้โปรโมชั่นที่ค่อนข้างไลฟ์สไตล์ตามคอนเซ็ปท์ของเรา คือเปิดกว้างขยายพันธมิตร เพื่อเพิ่มความสะดวก สบายให้กับลูกค้า"
การหันมาจับตลาดพรีเมี่ยมของทุกแบงก์ จึงเลี่ยงไม่พ้นการเปิดกว้างกับพันธมิตรทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับความสะดวกของลูกค้าระดับบน ทำให้สนามแข่งขันในระยะหลังหันมาเชือดฉือนกันที่สิทธิประโยชน์ที่เหนือชั้นอย่างต่อเนื่องในลักษณะพันธมิตรมากกว่าศัตรู เพียงแต่ใครที่เดินได้เร็วและไกลกว่า คนนั้นก็จะเป็นผู้นำตลาด....
|